นายกเป็นประธาน สัมภาษณ์ (ปากเปล่า) รุ่น 60 จำนวนกว่า 1,500 คน และให้โอวาทแก่นักศึกษาทนายความผู้เข้ารับการสอบ

  • นายกสภาทนายความ เป็นประธานกรรมการออกข้อสอบสัมภาษณ์ (ปากเปล่า) รุ่น 60 จำนวนกว่า 1,500 คน

  •      ⚖️ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 ธันวาคม 2566 เวลา 08.00 -15.00 น. ที่ห้องประชุม ชั้น 5 สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ : ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ เป็นประธานกรรมการออกข้อสอบสัมภาษณ์ (ปากเปล่า) รุ่น 60 จำนวนกว่า 1,500 คน และให้โอวาทแก่นักศึกษาผู้เข้ารับการสอบ โดยมี นายวีรศักดิ์ โชติวานิช อุปนายกฝ่ายเทคโนโลยีและสารสนเทศ ดร.วิรัลพัชร เวธทาวริทธิ์ธร อุปนายกฝ่ายวิชาการ นายสมพร ดำพริก อุปนายกฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย นายสฤษดิ์ เจียมกมล เหรัญญิก ให้คำแนะนำแนวทางในการสอบ และคณะกรรมการผู้สอบสัมภาษณ์ (ปากเปล่า) 200 คน โดยประธานสภาทนายความจังหวัดต่าง ๆ จากทั่วประเทศกว่า 40 คน ให้เกียรติเดินทางมาทำหน้าที่เป็นอาจารย์สอบสัมภาษณ์ (ปากเปล่า) ในครั้งนี้ด้วย
  • ต

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ

3112.ความหมายผู้ได้ลาภงอกในการเพิกถอนการฉ้อฉล ไม่จำต้องรู้ว่าเป็นใคร

คำพิพากษาฎีกาที่ 1215/2566 (หน้า 1371 เล่ม 6) จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์ไม่มีทรัพย์สินอื่นที่จะให้โจทก์บังคับคดีได้นอกจากที่ดินพิพาท แม้หนี้ตามคำพิพากษานั้นจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์อย่างลูกหนี้ร่วมแต่เป็นเรื่องเฉพาะตัวของจำเลยที่ 1 ซึ่งโจทก์มีสิทธิบังคับชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ได้โดยสิ้นเชิง ตาม ป.พ.พ.มาตรา 291 การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ย่อมมีผลทำให้ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ลดน้อยลง และโจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ไม่สามารถยึดทรัพย์บังคับคดีแก่ที่ดินพิพาทได้ จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์เจ้าหนี้เสียเปรียบ ต้องด้วย ป.พ.พ.มาตรา 237 วรรคหนึ่ง

จำเลยที่ 2 ลงชื่อในหนังสือสัญญาขายและรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวแทนของ น. ซึ่งเป็นตัวการที่ไม่เปิดเผยชื่อและ น.ยอมให้จำเลยที่ 2 ออกหน้าเป็นตัวการตาม ป.พ.พ.มาตรา 806 น.จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทที่แท้จริง หาใช่จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทไม่ เช่นนี้ น.จึงเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นตาม ป.พ.พ. มาตา 237 วรรคหนึ่ง เมื่อ น.รู้ตั้งแต่ทำสัญญาจะซื้อจะขายโครงการว่านิติบุคคลผู้ร่วมลงทุนในโครงการซึ่งรวมถึงจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ของโจทก์ด้วยไม่มีทรัพย์อื่นที่มีมูลค่ามากไปกว่ามูลค่าของโครงการ และทำสัญญาจะซื้อจะขายโครงการโดยสั่งจ่ายแคชเชียร์เช็คให้เจ้าหนี้ของ พ. หรือของนิติบุคคลผู้ร่วมลงทุนในโครงการโดยเฉพาะเจาะจง ย่อมเป็นการกระทำให้เจ้าหนี้อื่นรวมทั้งโจทก์ด้วยเสียเปรียบ โจทก์เจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ และจำเลยที่ 2 ซึ่งแม้เป็นผู้มีชื่อในทะเบียนที่ดินพิพาทแทน น. ซึ่งเป็นเจ้าของที่แท้จริงให้เพิกถอนการฉ้อฉลได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 237 วรรคหนึ่ง

ป.พ.พ.มาตรา 237 วรรคหนึ่ง ที่ว่า “ตามความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้น บุคคลผู้ซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย” มิได้หมายความถึงกับว่า ผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นต้องรู้ถึงตัวเจ้าหนี้ของลูกหนี้โดยเฉพาะเจาะจงว่าเป็นใครด้วยไม่ เพียงแต่รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ของหนี้เสียเปรียบ แม้มิได้รู้ถึงตัวเจ้าหนี้โดยเฉพาะเจาะจงว่าเป็นใครก็อยู่ในความหมายของบทบัญญัตินี้

ศาลพิพากษาให้เพิกถอนการฉ้อฉลการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ย่อมกลับมามีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทตามเดิม เช่นนี้ ศาลต้องยกคำขอของโจทก์ที่ขอให้จำเลยที่ 2 โอนที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 1 หากจำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา

(หมายเหตุ 1 ป.พ.พ. มาตรา 237 วรรคหนึ่ง เป็นบทบัญญัติที่เป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลที่ให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ที่จะสงวนไว้ซึ่งกองทรัพย์สินของลูกหนี้ เพราะทรัพย์สินของลูกหนี้ย่อมเป็นหลักประกันในการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 214 เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉล จึงหมายถึง เจ้าหนี้ที่มีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของหนี้และต้องเสียเปรียบจากการที่ทรัพย์สินของหนี้ลดลงไม่พอชำระหนี้ อันเนื่องมาจากการทำนิติกรรมฉ้อฉลของลูกหนี้

2 และศาลฎีกายังวินิจฉัยต่อไปว่า ผู้ได้รับมอบนั้นไม่จำต้องรู้ว่าตัวเจ้าหนี้ของลูกหนี้โดยเฉพาะเจาะจงว่าเป็นใคร ด้วย เพียงแต่รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ของลูกหนี้เสียเปรียบ แม้มิได้รู้ถึงตัวเจ้าหนี้โดยเฉพาะเจาะจงว่าเป็นใครก็อยู่ในความหมายของบทบัญญัติต้องด้วยหลักเกณฑ์เพิกถอนการฉ้อฉลได้

3 คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

4 ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยข้างต้น โดยพิพากษากลับให้เพิกถอนนิติกรรมตามสัญญาขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

อบรมหลักสูตรไกล่เกลี่ยข้อพิพาท รุ่นที่ 10        

⚖️ อบรมหลักสูตรไกล่เกลี่ยข้อพิพาท รุ่นที่ 10 

      

เมื่อวันเสาร์ที่ 16 ธันวาคม 2566 เวลา 15.00 น. ที่สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร : ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ เป็นวิทยากรบรรยายหัวข้อ ศิลปะในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท นอกจากนี้ยังมี ดร.อภิญญา ดิสสะมาน นักวิชาการชำนาญการ สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า เป็นวิทยากรบรรยายหัวข้อ การจัดการกับบุคคลที่ยากกับการเจรจาและการจัดการอารมณ์ของตนเอง และภาษากายกับการไกล่เกลี่ย การสร้างความสัมพันธ์และบรรยากาศในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้วยสันติวิธี นางสาวณัฐพิมล สมเจษ ผู้ช่วยเลขานุการนายกสภาทนายความ ผู้ดำเนินรายการ

 

สภาทนายความฯจัดวิชาการสัญจร จังหวัดสุพรรณบุรี

 

⚖️ วิชาการสัญจร จังหวัดสุพรรณบุรี

 

เมื่อวันเสาร์ที่ 16 ธันวาคม 2566 เวลา 12.30 น. ที่ชมเดือนคอมเพล็กซ์ จังหวัดสุพรรณบุรี : สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ สภาทนายความภาค 7 และสภาทนายความจังหวัดสุพรรณบุรี ได้ทำการจัดอบรมวิชาการสัญจร เรื่อง การดำเนินคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยมี ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ เป็นประธานเปิดการอบรม นายอรรถพร อัมพวา กรรมการบริหารสภาทนายความภาค 7 กล่าวรายงาน นายภัทราวุฒิ พันธ์รัศมี ประธานสภาทนายความจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวต้อนรับ และนางสาวสรารัตน์ อุณหพิพัฒน์ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครปฐม เป็นผู้ดำเนินรายการ และนายยุทธภูมิ ต่อศิริกุลฑล

กรรมการและเลขานุการสภาทนายความภาค 7 ผู้ประสานงานต่างๆในการจัดอบรม

อีกทั้งยังได้รับความอนุเคราะห์สถานที่จัดอบรมจาก ดร.อุดม โปร่งฟ้า ที่ปรึกษา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และได้รับเกียรติจากนายพรชัย พันธุ์พืช อดีตประธานสภาทนายความจังหวัดสุพรรณบุรี

นอกจากนี้ยังมีทนายความจังหวัดสุพรรณบุรีและทนายความภาค 7 เข้าร่วมอบรมในครั้งนี้ด้วย

 

 

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …


  1. 3110.เจ้าของโครงการที่ดินจัดสรรนำถนนและสวนสาธารณะมาตั้งเป็นร้านขายอาหารโดยนำรายได้มาเป็นค่าบำรุงสาธารณูปโภค เป็นการกระทำละเมิดต่อสิทธิของผู้ซื้อที่ดินจัดสรร
    คำพิพากษาฎีกาที่ 1888/2566 (หน้า 1443 เล่ม 6) ถนนและสวนสาธารณะซึ่งเป็นสาธารณูปโภคในที่ดินที่จำเลยจัดสรรเป็นสิ่งอำนวยประโยชน์เพื่อให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรในโครงการใช้ประโยชน์ร่วมกัน จำเลยจะนำถนนและสวนสาธารณะมาตั้งเป็นร้านขายอาหารและสิ่งปลูกสร้างอื่นๆไม่ได้ แม้จะอ้างว่ากระทำเพื่อนำเงินค่าเช่ามาบำรุงรักษาสาธารณูปโภคโดยมิได้เก็บเงินค่าบำรุงสาธารณูปโภคจากกลุ่มผู้ซื้อที่ดินจัดสรรก็นับว่าเป็นการกระทำเกินกว่าความจำเป็น ตามสมควร เป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก ตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ 2543 มาตรา 43 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 70 ทั้งเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของจำเลยฝ่ายเดียว และตราบใดที่ยังไม่ได้จัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร จำเลยในฐานะผู้จัดสรรที่ดินจึงยังไม่พ้นจากหน้าที่บำรุงรักษาสาธารณูปโภคนั้นเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวม จำเลยจะอ้างว่าเป็นการใช้สิทธิในฐานะเจ้าของที่ดินมิได้ การกระทำของจำเลยเป็นละเมิดต่อโจทก์ทั้งสิบสี่ซึ่งเป็นผู้ซื้อที่ดินจัดสรร
    ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ใช้ดุลพินิจบังคับให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดบนที่ดินสาธารณูปโภคที่ได้จัดทำขึ้นเป็นถนนและสวนสาธารณะเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร เป็นวิธีการที่ทำให้สาธารณูปโภคกลับคืนสู่สภาพเดิมเสมือนมิได้มีการทำละเมิดนับว่าเพียงพอที่จะเยียวยาความเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสิบสี่ซึ่งเป็นผู้ซื้อที่ดินที่จัดสรรในโครงการของจำเลย เนื่องจากจำเลยละเมิดสิทธิของแต่ละคนเพื่อให้ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นหมดสิ้นไป โดยไม่กำหนดค่าเสียหาย เป็นตัวเงินนั้นเหมาะสมแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดแล้ว
    (หมายเหตุ 1 โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงิน 72,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งสิบสี่ ให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดที่ปลูกสร้างขึ้นบนที่ดินพิพาท
    2 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดบนถนนและบนสวนสาธารณะพิพาท คำขออื่นให้ยก
    3 ศาลอุทธรณ์ภาค 8 แผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า จำเลยนำเงินที่ได้มาใช้บำรุงสาธารณูปโภคโดยจำเลยไม่ได้เรียกเก็บเงินค่าบำรุงรักษาสาธารณูปโภคจากโจทก์ทั้งสิบสี่ จึงยังไม่มีความเสียหายและไม่กำหนดค่าเสียหายเป็นตัวเงินให้ แล้วพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
    4 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าการที่จำเลยนำที่ดินซึ่งเป็นสาธารณูปโภคออกให้บุคคลภายนอกเช่า เพื่อตั้งร้านขายอาหาร และสร้างสิ่งปลูกสร้างมีเหตุผลชี้ให้เห็นว่าเพื่อประโยชน์ของจำเลยเพียงฝ่ายเดียว ลักษณะการใช้สาธารณูปโภคเป็นถนนและสวนสาธารณะกับตั้งร้านขายอาหารและสร้างสิ่งปลูกสร้างย่อมแตกต่างกัน การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ย่อมเป็นที่ประจักษ์ว่ามีผลกระทบต่อโจทก์ทั้งสิบสี่ และผู้ซื้อที่ดินจัดสรรอื่นๆ
    5 ศาลฎีกายังวินิจฉัยต่อไปว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาบังคับให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดบนถนนและบนสวนสาธารณะในที่ดินพิพาทเป็นวิธีที่จะเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ทั้งสิบสี่แล้ว การที่จะบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินอีก โจทก์ทั้งสิบสี่ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าแต่ละคนได้รับความเสียหายเพียงใด อันเป็นค่าเสียหายโดยตรงที่เกิดมีขึ้นจากการกระทำละเมิดของจำเลย โจทก์ทั้งสิบสี่อ้างแต่เพียงว่า จำเลยนำถนนและสวนสาธารณะออกให้บุคคลอื่นเช่าในอัตราเดือนละ 400,000 บาท อันเป็นการอ้างตัวเงินที่จำเลยได้รับผลตอบแทนจากการให้เช่ามาเป็นเกณฑ์ในการเรียกร้องเช่นนี้ โดยมิได้แสดงให้เห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสิบสี่ได้รับความเสียหายเช่นใด ขาดประโยชน์จากการใช้สาธารณะเพียงใด ศาลฎีกาพิพากษายืน)
    นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

หลักกฎหมายและแนวคำพิพากษาศาลฎีกา เรื่องพรากผู้เยาว์

หลักกฎหมายและแนวคำพิพากษาศาลฎีกา เรื่องพรากผู้เยาว์
✅มาตรา 317 ผู้ใดโดยปราศจากเหตุอันสมควร พรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึง 15 ปี และปรับตั้งแต่ 60,000 บาท ถึง 300,000 บาท
ผู้ใดโดยทุจริต ซื้อ จำหน่าย หรือรับตัวเด็กซึ่งถูกพรากตามวรรคแรก ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้พรากนั้น
ถ้าความผิดตามมาตรานี้ได้กระทำเพื่อหากำไร หรือเพื่อการอนาจาร ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000 บาท ถึง 400,000 บาท

✅มาตรา 318 ผู้ใดพรากผู้เยาว์อายุกว่า 15 ปี แต่ยังไม่เกิน 18 ปี ไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล โดยผู้เยาว์นั้นไม่เต็มใจไปด้วย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 40,000 บาท ถึง 200,000 บาท
ผู้ใดโดยทุจริต ซื้อ จำหน่าย หรือรับตัวผู้เยาว์ซึ่งถูกพรากตามวรรคแรก ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้พรากนั้น
ถ้าความผิดตามมาตรานี้ได้กระทำเพื่อหากำไร หรือเพื่อการอนาจาร ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึง 15 ปี และปรับตั้งแต่ 60,000 บาท ถึง 300,000 บาท

✅มาตรา 319 ผู้ใดพรากผู้เยาว์อายุกว่า 15 ปี แต่ยังไม่เกิน 18 ปี ไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อหากำไร หรือเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 40,000 บาท ถึง 200,000 บาท
ผู้ใดโดยทุจริต ซื้อ จำหน่าย หรือรับตัวผู้เยาว์ซึ่งถูกพรากตามวรรคแรก ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้พรากนั้น

✅มาตรา 321/1 การกระทำความผิดตามมาตรา 317 หากเป็นการกระทำต่อเด็กอายุไม่เกินสิบสามปี ห้ามอ้างความไม่รู้อายุของเด็กเพื่อให้พ้นจากความผิดนั้น

📍แนวคำพิพากษาฎีกา เรื่องพรากผู้เยาว์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5176/2538
ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 และ 279 ต้องกระทำแก่เด็กอายุไม่เกิน 15 ปี เรื่องอายุของผู้เสียหายเป็นองค์ประกอบความผิดด้วย เมื่อผู้เสียหาย อายุ 14 ปี 5 เดือน แต่จำเลยสำคัญผิดว่าอายุ 18 ปี จำเลยย่อมไม่มีความผิดตามมาตรา 62 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยไม่รู้จักผู้เสียหายมาก่อนก็ไม่มีข้อห้ามที่ไม่ให้จำเลยอ้างความสำคัญผิดมาเป็นข้อแก้ตัว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6405/2539
จำเลยสำคัญผิดโดยเข้าใจว่าผู้เสียหายอายุ 17 ปี ย่อมมีผลให้จำเลยไม่รู้ข้อเท็จจริงว่าผู้เสียหายอายุไม่เกิน 15 ปี ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยไม่รู้ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงถือว่าจำเลยไม่มีเจตนากระทำความผิดฐานนี้ ตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7820/2549
ผู้เสียหายเป็นผู้เยาว์อายุกว่า 15 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปี การที่จำเลยพาผู้เสียหายไปและกระทำชำเราผู้เสียหายโดยผู้เสียหายยินยอมนั้น จำเลยมิได้รับอนุญาตจากบิดามารดาและผู้ปกครองดูแลผู้เสียหาย จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 319 วรรคหนึ่ง
การพรากผู้เยาว์กฎหมายบัญญัติเป็นความผิดไม่ว่าผู้เยาว์จะเต็มใจไปด้วยหรือไม่ แม้ฟ้องโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 318 ก็ตาม แต่ศาลฎีกาก็มีอำนาจลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 319 วรรคหนึ่ง ที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9285/2556
เมื่อจำเลยสำคัญผิดว่าผู้เสียหายพ้นวัยผู้เยาว์ โดยเข้าใจว่าผู้เสียหายมีอายุเกินกว่า 18 ปี แล้ว จึงเป็นการสำคัญผิดในข้อเท็จจริงเรื่องอายุอันเป็นองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 318 วรรคแรก การกระทำของจำเลยจึงขาดเจตนากระทำความผิดฐานดังกล่าวตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 53/2564
ความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม กฎหมายบัญญัติโดยมีความมุ่งหมายที่จะคุ้มครองอำนาจของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลผู้เยาว์ และปกป้องมิให้ผู้ใดมาก่อการรบกวนหรือกระทำการใดอันเป็นการกระทบกระทั่งต่ออำนาจปกครองไม่ว่าโดยตรงหรือโดยปริยาย ผู้เยาว์แม้จะไปอยู่ที่แห่งใด หากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลยังดูแลเอาใจใส่อยู่ ผู้เยาว์ย่อมอยู่ในอำนาจปกครองดูแลของบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลตลอดเวลาโดยไม่ขาดตอน ทั้งเป็นการลงโทษผู้ที่ละเมิดต่ออำนาจปกครองของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล นอกจากนี้กฎหมายมิได้จำกัดคำว่า “พราก” โดยวิธีการอย่างใดและไม่ว่าผู้เยาว์จะเป็นฝ่ายเข้าไปในที่เกิดเหตุโดยมีผู้ชักนำหรือไม่มีผู้ชักนำ หากมีผู้กระทำต่อผู้เยาว์ในทางเสื่อมเสียและเสียหายย่อมถือได้ว่าเป็นความผิด
การที่โจทก์ร่วมที่ 2 ซึ่งอาศัยอยู่กับโจทก์ร่วมที่ 1 ไปเล่นภายในบ้านของจำเลย ไม่ว่าโจทก์ร่วมที่ 2 จะเข้าไปเองหรือจำเลยชักชวนหรือพาเข้าไป เมื่อโจทก์ร่วมที่ 2 ถูกจำเลยกระทำอนาจารโดยใช้กำลังประทุษร้าย การกระทำของจำเลยดังกล่าวทำให้อำนาจปกครองดูแลของโจทก์ร่วมที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาย่อมถูกตัดขาดพรากไปโดยปริยาย ถือได้ว่าเป็นการพาและแยกโจทก์ร่วมที่ 2 ไปจากความปกครองดูแล และล่วงละเมิดอำนาจปกครองของโจทก์ร่วมที่ 2 ซึ่งเป็นมารดา เป็นความหมายของคำว่าพรากแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามมาตรา 317 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4871/2564
จําเลยรับและให้ผู้เสียหายทั้งสองทํางานเป็นเด็กนั่งดริ๊งก์บริการลูกค้า ลูกค้าที่ร่วมโต๊ะจะกอด จูบ ลูบ คลําตัวผู้เสียหายทั้งสอง ค่านั่งดริ๊งก์ชั่วโมงละ 120 บาท จําเลยหักไว้ 20 บาท จําเลยบอกให้ผู้เสียหายที่ 1 ออกไปมีเพศสัมพันธ์กับลูกค้า ได้ค่าตัว 1,500 บาท จําเลยหักไว้ 500 บาท และบอกให้ผู้เสียหายที่ 2 ออกไปกับลูกค้าแต่ผู้เสียหายที่ 2 ปฏิเสธเนื่องจากมีประจำเดือน การกระทำของจำเลยทําให้อํานาจปกครองของ ท. และ ณ. ถูกรบกวน โดย ท. และ ณ. ไม่รู้เห็นยินยอม เป็นการพรากผู้เสียหายทั้งสองไปจากอํานาจปกครองเพื่อการอนาจาร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2425/2564
จำเลยที่ 1 ชักชวนและแนะนำผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งยังเป็นเด็กและผู้เยาว์ไปขายบริการทางเพศโดยผู้เสียหายที่ 1 สมัครใจและเดินทางไปขายบริการทางเพศด้วยตนเองให้แก่บุคคลที่จำเลยที่ 1 แนะนำ จากนั้นก็แบ่งเงินให้จำเลยที่ 1 บ้าง พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นการกระทำที่กระทบกระเทือนต่อการใช้อำนาจปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 2 ที่มีต่อผู้เสียหายที่ 1 แล้ว ไม่ว่าผู้เสียหายที่ 1 จะอยู่ที่ใดและจะยินยอมหรือไม่ เมื่อเป็นการเสื่อมเสียต่อสวัสดิภาพหรือประโยชน์สุขของผู้เสียหายที่ 1 จำเลยที่ 1 ย่อมมีความผิดฐานพรากเด็กและพรากผู้เยาว์ไปเพื่อหากำไรและเพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม และมาตรา 319 วรรคหนึ่ง
#แอดมินและคณะทำงานของ ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ

3109.สร้างกันสาดรุกล้ำเข้าไปในถนนโครงการจัดสรรเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ที่ดินต้องรื้อถอน

คำพิพากษาฎีกาที่ 759/2566 (หน้า 1338 เล่ม 6) ที่ดินทั้งแปลงถูกกันไว้เป็นสาธารณูปโภคประเภทถนนในโครงการจัดสรรของโจทก์ จึงตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินจัดสรรทุกแปลงรวมทั้งที่ดินของจำเลยตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 ข้อ 30 โจทก์ในฐานะเจ้าของภารยทรัพย์ต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อประโยชน์แก่ดินของจำเลย ส่วนจำเลยในฐานะเจ้าของสามยทรัพย์ไม่มีสิทธิทำการเปลี่ยนแปลงในภารยทรัพย์หรือในสามยทรัพย์ซึ่งทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นแก่ภารยทรัพย์ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1388

เมื่อกันสาดรุกล้ำที่ดินของโจทก์ที่ตกเป็นภาระจำยอมประเภทถนนในโครงการจัดสรร ย่อมทำให้ที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภคประเภทถนนมีพื้นที่ใช้สอยตามปกติน้อยลง และส่งผลกระทบแก่บุคคลที่เป็นสมาชิกในโครงการของโจทก์ ต้องด้อยสิทธิใช้สอย แม้โจทก์ได้โฆษณาโครงการของโจทก์ว่า มีฟุตบาทกว้าง 4 เมตร ก็เป็นกรณีที่จำเลยต้องไปว่ากล่าวเอาแก่โจทก์ในเรื่องผิดสัญญาแต่หาได้ก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยหรือเจ้าของกรรมสิทธิ์อาคารพาณิชย์เดิมที่จะทำการก่อสร้างฟุตบาทเสียเองไม่ การที่จำเลยติดตั้งกันสาดและมีการก่อสร้างฟุตบาท เป็นการทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นแก่ที่ดินซึ่งเป็นภาระจำยอมต้องห้ามตาม ป.พ.พ.มาตรา 1388 โจทก์ชอบที่จะให้จำเลยผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและอาคารพาณิชย์ในขณะยื่นฟ้องทำการรื้อถอนกันสาดและฟุตบาทออกจากที่ดินของโจทก์ได้

(หมายเหตุ 1 โจทก์เป็นเจ้าของโครงการจัดสรรได้มีการโฆษณาว่าที่ดินจัดสรรมีทางสาธารณะในโครงการจัดสรร โดยมีฟุตบาทกว้าง 4 เมตร

2 จำเลยเป็นผู้ซื้อที่ดินต่อจากผู้ซื้อที่ดินจากโจทก์ โดยจำเลยได้สร้างฟุตบาทพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กและปูกระเบื้องที่หน้าอาคารพาณิชย์ 3 คูหาของจำเลย และติดตั้งกันสาดมีความกว้างประมาณ 4 เมตร สูง 12 เมตร บริเวณด้านหน้าอาคารพาณิชย์ของจำเลย

3 โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างส่วนที่รุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ พร้อมขนย้าย ทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ และให้จำเลยชำระค่าเสียหายอัตราเดือนละ 30,000 บาท

4 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยหรือถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินพิพาทบริเวณที่ระบายด้วยสี และให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 9,000 บาท นับแต่วันฟ้อง

5 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 2,000 บาท

6 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้โจทก์ได้โฆษณาโครงการของโจทก์ว่า มีฟุตบาทกว้าง 4 เมตร ก็เป็นกรณีที่จำเลยต้องไปว่ากล่าวเอากับโจทก์ในเรื่องผิดสัญญา แต่หาได้ก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยหรือเจ้าของกรรมสิทธิ์อาคารพาณิชย์เดิมที่จะทำการก่อสร้างฟุตบาทเสียเองไม่

7 ส่วนค่าเสียหาย ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1390 โจทก์ไม่อาจนำที่ดินพิพาทซึ่งตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของจำเลยไปใช้ประโยชน์อื่นใดอันจะเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไป หรือเสื่อมความสะดวก จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ศาลฎีกาจึงพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอในส่วนค่าเสียหาย)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3108.จำเลยเคลื่อนย้ายเครื่องปั่นไฟจากจุดเดิมมายังบริเวณหน้าบ้านที่เกิดเหตุ เป็นความผิดฐานลักทรัพย์สำเร็จแล้ว

คำพิพากษาฎีกาที่ 1890/2566 (หน้า 1255 เล่ม 5) จำเลยมีเจตนาลักเครื่องปั่นไฟของกลางมาตั้งแต่ต้น โดยในช่วงเวลากลางวันจำเลยตัดแม่กุญแจประตูบ้านที่เกิดเหตุแล้วเคลื่อนย้ายเครื่องปั่นไฟไปบริเวณหน้าบ้านที่เกิดเหตุและใช้รอกชักลากพร้อมโซ่ไปติดตั้งกับโครงหลังคาในลักษณะเป็นเครื่องทุ่นแรงในการยกเครื่องปั่นไฟของกลางเพื่อเตรียมรอขนย้ายในช่วงเวลากลางคืน เมื่อเครื่องปั่นไฟของกลางมีน้ำหนักประมาณ 40 ถึง 50 กิโลกรัม ซึ่งแรงคนหนึ่งคนสามารถลากได้และถูกเคลื่อนย้ายจากจุดเดิมไปยังบริเวณหน้าบ้านที่เกิดเหตุ และจำเลยใช้มือสาวรอกชักจนเครื่องปั่นไฟยกขึ้นสูงเหนือพื้น ถือว่าเป็นการเอาไปซึ่งเครื่องปั่นไฟของกลาง อันเป็นความผิดข้อหาลักทรัพย์สำเร็จแล้ว หาใช่เป็นเพียงพยายามลักทรัพย์ไม่ จำเลยมีความผิดข้อหาลักทรัพย์ในเวลากลางคืนโดยทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะเพื่อความสะดวกแก่การกระทำความผิดตาม ป.อ.มาตรา 335 (1)(3)วรรคสอง ประกอบมาตรา 336 ทวิ

(หมายเหตุ 1 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ.มาตรา 335 (1)(3) วรรคสอง ประกอบมาตรา 336 ทวิ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ร.บ.จราจรทางบก

2 ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติด พ.ร.บ.จราจรทางบก ป.อ.มาตรา 335 (1)วรรคสอง ประกอบมาตรา 336 ทวิ , 80

3 ศาลฎีกาวินิจฉัยมีคำวินิจฉัยดังกล่าวข้างต้น พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ.มาตรา 335 (1)(3)วรรคสอง ประกอบมาตรา 336 )

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์

3107.ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 เพียงแต่บรรยายความรับผิดของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

คำพิพากษาฎีกาที่ 172/2566 (หน้า 1037 เล่ม 5) คำฟ้องโจทก์แม้ไม่ได้บรรยายความรับผิดของบริษัทจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดในฐานะหนึ่งฐานะใด คือเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 หรือยินยอมเชิดจำเลยที่ 1 ให้เป็นตัวแทน แต่โจทก์บรรยายความรับผิดของจำเลยที่ 2 ว่ามีจำเลยที่ 1 เป็นกรรมการของบริษัทผู้เดียว จึงเป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 2 เพียงผู้เดียวเช่นกัน ทั้งเป็นแพทย์ผู้ผ่าตัดทำศัลยกรรมตกแต่งจมูกให้แก่โจทก์ ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องอ้างว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ซึ่งความประสงค์ของนิติบุคคลย่อมแสดงออกโดยผู้แทนนิติบุคคลและเป็นการกระทำของผู้แทนจำเลยที่ 2 ตามวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 2 ครบถ้วนตาม ป.พ.พ.มาตรา 70 วรรคสอง และมาตรา 76 วรรคหนึ่ง อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ และเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ซึ่งจำเลยที่ 2 ในฐานะนิติบุคคลต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้นจึงเป็นการบรรยายฟ้องความรับผิดของบริษัทจำเลยที่ 2 แล้ว

จำเลยที่ 2 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้วในวันที่โจทก์เข้ารับการทำศัลยกรรมตกแต่งจมูกจากจำเลยที่ 1 โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำแทนแต่ผู้เดียว จำเลยที่ 2 ย่อมกระทำการตามของวัตถุประสงค์ได้นับแต่วันดังกล่าว และความประสงค์ของจำเลยที่ 2 ย่อมแสดงออกโดยจำเลยที่ 1 กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน ตาม ป.พ.พ.มาตรา 70 วรรคสอง จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้แทนของจำเลยที่ 2 จึงมีอำนาจกระทำการผ่าตัดศัลยกรรมโจทก์ตั้งแต่วันจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดเช่นกัน แม้จะยังไม่ได้รับหนังสือรับรองการจดทะเบียนก็ตาม

จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการคลินิกเวชกรรมเฉพาะทางศัลยกรรมตกแต่ง โดยใช้ใบอนุญาตฉบับเดียวกับใบอนุญาตที่ออกให้จำเลยที่ 1 และใบอนุญาตที่ออกให้จำเลยที่ 2 ระบุว่าเป็นการให้ใบแทนใบอนุญาตที่ออกให้จำเลยที่ 1 ย่อมเป็นผลให้ใบอนุญาตที่ออกให้จำนวนที่ 1 สิ้นสุดลง ใบอนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาลที่จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล ณ สถานที่เดียวกับที่จำเลยที่ 1 ได้รับใบอนุญาต และสืบเนื่องต่อจากจำเลยที่ 1 ถือได้ว่ากิจการเดียวกัน ทั้งการอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาลเป็นเรื่องที่ทางราชการควบคุมการประกอบกิจการสถานพยาบาลเฉพาะสถานที่ประกอบกิจการที่ระบุไว้ ในใบอนุญาตเท่านั้น มิได้หมายความว่า จำเลยที่ 1 ผู้แทนของจำเลยที่ 2 กระทำการตามขอบวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 2 ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ในระหว่างที่จำเลยที่ 2 ยังไม่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาลจะทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 การที่จำเลยที่ 1 ผ่าตัดทำศัลยกรรมตกแต่งจมูกให้แก่โจทก์ ซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ในวันเดียวกับที่จำเลยที่ 2 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้ว จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์อันเป็นการโต้แย้งสิทธิ์ของโจทก์ โจทก์มีอำนาจฟ้อง

(หมายเหตุ 1 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

2 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะในส่วนของโจทก์กับจำเลยที่ 1 ย้อมสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทต่อไปว่า จำเลยที่ 1 ทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ และต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด และพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

3 ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยดังกล่าวข้างต้น โดยพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในส่วนของโจทก์กับจำเลยที่ 2 ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทในส่วนความรับผิดของจำเลยที่ 2 ตามรูปคดีต่อไป)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์

3016.ผู้ค้ำประกันยินยอมให้สหกรณ์หักเงินเดือนของผู้ค้ำประกัน กรณีผู้กู้ไม่ชำระหนี้เงินกู้แม้ผู้ค้ำประกันมีเงินเหลือไม่เพียงพอในการดำรงชีพ ก็ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาฎีกาที่ 1498/2566 (หน้า 1199 เล่ม 5) โจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันมีความผูกพันต่อสหกรณ์ออมทรัพย์การสื่อสารแห่งประเทศไทย จำกัด ซึ่งเป็นผู้ให้กู้ว่าจะเข้าชำระหนี้แทน หากผู้กู้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ด้วยการให้ความยินยอมเป็นหนังสือไว้ล่วงหน้าให้จำเลยหักเงินเดือน ค่าจ้าง หรือเงินอื่นใด ที่ถึงกำหนดจ่ายเพื่อชำระหนี้ให้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์การสื่อสารแห่งประเทศไทย จำกัด อันเป็นการสละสิทธิเกี่ยงให้ผู้กู้ชำระหนี้ก่อนตาม ป.พ.พ.มาตรา 688 เป็นจำนวนเกินร้อยละสิบของเงินที่โจทก์มีสิทธิได้รับจากจำเลยได้ และให้หักรวมกับรายการหักอื่นๆเกินกว่าหนึ่งในห้าของเงินที่โจทก์มีสิทธิได้รับได้ ตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ลงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ข้อ 31 วรรคสอง เมื่อผู้กู้ผิดนัดไม่ชำระหนี้เงินกู้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์การสื่อสารแห่งประเทศไทย จำกัด โจทก์จึงมีหนี้ที่ต้องชำระในฐานะผู้ค้ำประกันให้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์การสื่อสารแห่งประเทศไทย จำกัด แล้ว จำเลยมีสิทธิหักเงินเดือน ค่าจ้างของโจทก์เพื่อชำระหนี้เงินกู้แทนผู้กู้ในฐานะที่โจทก์เป็นผู้ค้ำประกันให้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์การสื่อสารแห่งประเทศไทย จำกัด ตามหนังสือยินยอมดังกล่าวได้ แม้คงเหลือเงินไม่เพียงพอที่โจทก์สามารถดำรงชีวิตได้หรือบางเดือนเหลือศูนย์บาทก็ตาม

ประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2549 ข้อ 31 บัญญัติเกี่ยวกับการหักเงินเดือน ค่าจ้าง และเงินอื่นใดเพื่อชำระหนี้สินสหกรณ์ออมทรัพย์ไว้แล้ว หาอาจนำ ป.วิ.พ.มาตรา 302 วรรคหนึ่ง(3) มาปรับใช้ในฐานเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตาม ป.พ.พ.มาตรา 4 วรรคสอง โดยให้ถือว่าจำนวนเงินสองหมื่นบาท เป็นเงินเดือนค่าจ้างที่ต้องคงเหลือภายหลังการหักชำระหนี้หรือให้ศาลเป็นผู้กำหนดจำนวนเงินคงเหลือได้ไม่

พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542 มาตรา 42/1 บัญญัติให้หน่วยงานของรัฐ หรือนายจ้างในสถานประกอบการ หรือหน่วยงานอื่นใดที่สมาชิกปฏิบัติหน้าที่อยู่หักเงินเดือนหรือค่าจ้างหรือเงินอื่นใดที่ถึงกำหนดจ่ายแก่สมาชิกนั้นเพื่อชำระหนี้หรือภาระผูกพันอื่นที่มีต่อสหกรณ์ให้แก่สหกรณ์ตามจำนวนที่สหกรณ์แจ้งไปจนกว่าหนี้หรือภาระผูกพันนั้นจะสิ้นไป โดยไม่ได้กำหนดจำนวนเงินเดือนค่าจ้างหรือเงินอื่นใดคงเหลือภายหลังหักชำระหนี้ไว้ การที่บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด จำเลยหักเงินเดือนค่าจ้างของโจทก์ชำระหนี้ในส่วนของความรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันแทนผู้กู้ที่ผิดนัดให้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์การสื่อสารแห่งประเทศไทย จำกัด แม้บางเดือนเงินเดือนค่าจ้างคงเหลืออยู่ศูนย์บาท ก็ชอบด้วยกฎหมาย

(นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849)