รวมคำพิพากษาศาลฎีกา » ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ

12 ธันวาคม 2023
331   0

Lawyer Council Online Share

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์

3107.ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 เพียงแต่บรรยายความรับผิดของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

คำพิพากษาฎีกาที่ 172/2566 (หน้า 1037 เล่ม 5) คำฟ้องโจทก์แม้ไม่ได้บรรยายความรับผิดของบริษัทจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดในฐานะหนึ่งฐานะใด คือเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 หรือยินยอมเชิดจำเลยที่ 1 ให้เป็นตัวแทน แต่โจทก์บรรยายความรับผิดของจำเลยที่ 2 ว่ามีจำเลยที่ 1 เป็นกรรมการของบริษัทผู้เดียว จึงเป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 2 เพียงผู้เดียวเช่นกัน ทั้งเป็นแพทย์ผู้ผ่าตัดทำศัลยกรรมตกแต่งจมูกให้แก่โจทก์ ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องอ้างว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ซึ่งความประสงค์ของนิติบุคคลย่อมแสดงออกโดยผู้แทนนิติบุคคลและเป็นการกระทำของผู้แทนจำเลยที่ 2 ตามวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 2 ครบถ้วนตาม ป.พ.พ.มาตรา 70 วรรคสอง และมาตรา 76 วรรคหนึ่ง อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ และเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ซึ่งจำเลยที่ 2 ในฐานะนิติบุคคลต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้นจึงเป็นการบรรยายฟ้องความรับผิดของบริษัทจำเลยที่ 2 แล้ว

จำเลยที่ 2 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้วในวันที่โจทก์เข้ารับการทำศัลยกรรมตกแต่งจมูกจากจำเลยที่ 1 โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำแทนแต่ผู้เดียว จำเลยที่ 2 ย่อมกระทำการตามของวัตถุประสงค์ได้นับแต่วันดังกล่าว และความประสงค์ของจำเลยที่ 2 ย่อมแสดงออกโดยจำเลยที่ 1 กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน ตาม ป.พ.พ.มาตรา 70 วรรคสอง จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้แทนของจำเลยที่ 2 จึงมีอำนาจกระทำการผ่าตัดศัลยกรรมโจทก์ตั้งแต่วันจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดเช่นกัน แม้จะยังไม่ได้รับหนังสือรับรองการจดทะเบียนก็ตาม

จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการคลินิกเวชกรรมเฉพาะทางศัลยกรรมตกแต่ง โดยใช้ใบอนุญาตฉบับเดียวกับใบอนุญาตที่ออกให้จำเลยที่ 1 และใบอนุญาตที่ออกให้จำเลยที่ 2 ระบุว่าเป็นการให้ใบแทนใบอนุญาตที่ออกให้จำเลยที่ 1 ย่อมเป็นผลให้ใบอนุญาตที่ออกให้จำนวนที่ 1 สิ้นสุดลง ใบอนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาลที่จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล ณ สถานที่เดียวกับที่จำเลยที่ 1 ได้รับใบอนุญาต และสืบเนื่องต่อจากจำเลยที่ 1 ถือได้ว่ากิจการเดียวกัน ทั้งการอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาลเป็นเรื่องที่ทางราชการควบคุมการประกอบกิจการสถานพยาบาลเฉพาะสถานที่ประกอบกิจการที่ระบุไว้ ในใบอนุญาตเท่านั้น มิได้หมายความว่า จำเลยที่ 1 ผู้แทนของจำเลยที่ 2 กระทำการตามขอบวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 2 ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ในระหว่างที่จำเลยที่ 2 ยังไม่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาลจะทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 การที่จำเลยที่ 1 ผ่าตัดทำศัลยกรรมตกแต่งจมูกให้แก่โจทก์ ซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ในวันเดียวกับที่จำเลยที่ 2 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้ว จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์อันเป็นการโต้แย้งสิทธิ์ของโจทก์ โจทก์มีอำนาจฟ้อง

(หมายเหตุ 1 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

2 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะในส่วนของโจทก์กับจำเลยที่ 1 ย้อมสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทต่อไปว่า จำเลยที่ 1 ทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ และต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด และพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

3 ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยดังกล่าวข้างต้น โดยพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในส่วนของโจทก์กับจำเลยที่ 2 ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทในส่วนความรับผิดของจำเลยที่ 2 ตามรูปคดีต่อไป)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849