สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ จับมือสภาทนายความภาค.5 จัดอบรมทนายอาสาประจำปี 2568 ( ฟรี )

⚖️ สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์


⚖️

เปิดอบรม【 ฟรี 】🚩

🌟 โครงการปฏิรูปทนายความอาสาฯ ประจำปี พ.ศ. 2568

📌 จังหวัดเชียงใหม่

 

— เชิญพบกับ —

 

🔶 ดร.วิเชียร ชุบไธสง

นายกสภาทนายความ

 

🔶 นายสมพร ดำพริก

อุปนายกฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย สภาทนายความ

 

🔶 นายสัญญาภัชระ สามารถ

อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ สภาทนายความ

 

🔶 นายไพบูลย์ แย้มเอม

อุปนายกฝ่ายสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ สภาทนายความ

 

🔶 นายพรศักดิ์ สังข์สังวาลย์

กรรมการบริหารสภาทนายความ ภาค 5

 

🔶 นางพรสวรรค์ สังข์สังวาลย์

ประธานสภาทนายความจังหวัดเชียงใหม่

 

🌟 คุณสมบัติของผู้สมัครเข้ารับการอบรม 🌟

1. ประกอบวิชาชีพทนายความตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528

2. ไม่เคยต้องคำสั่งให้ลงโทษถึงที่สุด ตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528

3. เป็นผู้มีมนุษยสัมพันธ์และมีบุคลิกภาพดี

4. มีความรับผิดชอบและอุทิศตนเพื่อสังคม

 

— วันที่อบรม —

📚 วันเสาร์ที่ 22 มีนาคม 2568

⏰ เวลา 09.00 – 16.00 น.

📍 ณ อาคารหอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่

–––

📝 สมัครผ่านระบบ Google Forms

🌎 Link ลงทะเบียน : https://forms.gle/AHoJQmFFxT8gbCrh7

🔴 รับสมัครวันนี้ ถึง วันพุธที่ 19 มีนาคม 2568 ( รับจำนวน 250 คน )

✅ ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์อบรม วันพฤหัสบดีที่ 20 มีนาคม 2568

–––

☎️สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : สำนักงานคณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์

โทร. 0 2522 7124-27, 0 2522 7143-47 ต่อ 131, 133, 134

อีเมล์ : legalaid.lct@gmail.com

☎ ติดต่อสอบถาม คุณวารินทร์ โทร. 08 3096 5214

⚖_________________⚖

สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับสภาทนายความ ภาค 6 สภาทนายความจังหวัดตาก และวิทยาลัยนอร์ทเทิร์น ⚖️

⚖️ สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับสภาทนายความ ภาค 6 สภาทนายความจังหวัดตาก และวิทยาลัยนอร์ทเทิร์น ⚖️

 

🌟 จัดอบรมวิชาการสัญจร จังหวัดตาก

📣 ให้ความรู้ด้านกฎหมาย (ฟรี)

 

👉 เรื่อง กฎหมายป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี

( ซิมผี บัญชีม้า การฟอกเงิน )

 

— เชิญพบกับ—

 

🔶 ดร.วิเชียร ชุบไธสง

นายกสภาทนายความ

 

🔶 นายสาโรจน์ จันทรศิริ

กรรมการบริหารสภาทนายความ ภาค 6

 

🔶 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไตรรัตน์ ยืนยง

อธิการบดี วิทยาลัยนอร์ทเทิร์น

 

🔶 นายจิระศักดิ์ สุดสังข์

ประธานสภาทนายความจังหวัดตาก

 

— วันที่อบรม —

🗓 วันศุกร์ที่ 21 มีนาคม 2568

⏰ เวลา 09.00 – 12.00 น.

📍 ณ ห้องประชุมวิทยาลัยนอร์ทเทิร์น จังหวัดตาก

 

🌏 Link ลงทะเบียน : https://forms.gle/D3ufvbS3EHExvZdg7

—————————

  • ☎️ ติดต่อสอบถาม: คุณพิมพ์ฉวี และคุณจิดาภา โทร. 06 4291 4640

⚖_______________⚖

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3559.ผู้ให้เช่าซื้อผ่อนปรนการชำระค่าเช่าซื้อเนื่องจากโควิด 19 ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2527/2567 การที่โจทก์มีหนังสือไปยังจำเลยที่ 1 ว่าโจทก์ผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ตามที่กำหนดในสัญญาเช่าซื้อรวม 6 งวด ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 บอกปัดไม่ประสงค์รับการผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ตามเงื่อนไขของโจทก์ เมื่อการพักชำระหนี้ค่าเช่าซื้อ 6 งวด ดังกล่าวเป็นผลให้กำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้องวดสุดท้ายที่กำหนดไว้เลื่อนออกไปจากเดิม พฤติการณ์ถือว่าเป็นกรณีที่โจทก์ยอมผ่อนเวลาให้แก่จำเลยที่ 1 ส่วนหนังสือธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ ธปท.ฝนส.(01) ว.380/2563 เรื่องมาตรการการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติมในช่วงสถานการณ์การระบาดของ COVID -19 ข้อ 2 (3) ระบุว่า ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ตามมาตรการที่ ธปท. กำหนดนี้เป็นเพียงมาตรการผ่อนปรนเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ระยะเร่งด่วน ซึ่งไม่จำเป็นต้องขยายระยะเวลาการชำระหนี้เสร็จสิ้นตามสัญญา อันเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบธุรกิจพึงกระทำได้ แต่หากมีการขยายระยะเวลาการชำระหนี้เสร็จสิ้นตามสัญญาออกไป ขอให้ถือปฏิบัติตาม ป.พ.พ. ที่เกี่ยวข้องกับหลักประกันและผู้ค้ำประกัน ข้อ 2 (3) นี้มีความชัดเจนอยู่ในตัวว่า หากจะขยายระยะเวลาการชำระหนี้เสร็จสิ้นตามมาตรการที่กำหนดนี้ อย่างไรเสียก็จะต้องดำเนินการภายใต้บังคับ ป.พ.พ. ลักษณะ 11 ค้ำประกัน และ พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน 2563 ภายหลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาตรการการให้ความช่วยเหลือและโจทก์มีหนังสือพักชำระหนี้แล้ว จึงฟังไม่ได้ว่าที่โจทก์พักชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นการดำเนินการตามพระราชกำหนดฉบับดังกล่าว พระราชกำหนดฉบับดังกล่าวมีเจตนารมณ์ในการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจซึ่งเป็นภาคธุรกิจที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศและเป็นแหล่งจ้างงานที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจ คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏเพียงว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันเท่านั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 อยู่ในฐานะเป็นผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมตามความหมายที่กำหนดในพระราชกำหนดแต่อย่างใด กรณีจึงไม่อาจนำบทบัญญัติแห่งพระราชกำหนดฉบับดังกล่าวมาใช้บังคับแก่ลูกหนี้รายจำเลยที่ 1 ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันตกลงด้วยในการผ่อนเวลาให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 700 วรรคหนึ่ง

โจทก์อุทธรณ์และฎีกาเฉพาะแต่ในปัญหาเรื่องความรับผิดของจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกัน คดีในชั้นอุทธรณ์และฎีกาจึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาล 200 บาทและไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาลอนาคต แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลมาตามทุนทรัพย์และค่าขึ้นศาลอนาคตมาด้วย จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาส่วนที่เกิน 200 บาท ให้แก่โจทก์

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

นายกสภาทนายความประชุมคณะกรรมการบริหาร สมาพันธ์สภาวิชาชีพแห่งประเทศไทย

เมื่อวันอังคารที่ 11 มีนาคม 2568 เวลา 9.00 น. ณ ห้องประชุมสภาเภสัชกรรม ชั้น 8 ตึกมหิตลาธิเบศร กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารสมาพันธ์สภาวิชาชีพแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 116-2/2568 โดยมีรองศาสตราจารย์พิเศษ เภสัชกรกิตติ พิทักษ์นิตินันท์ นายกสภาเภสัชกรรม เป็นประธานการประชุม และมีผู้แทนจากสภาวิชาชีพ เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย แพทยสภา สภาการพยาบาล สภาเภสัชกรรม ทันตแพทยสภา สภาเทคนิคการแพทย์ สภากายภาพบำบัด สัตวแพทยสภา สภาสถาปนิก สภาวิชาชีพบัญชี สภาวิศวกร สภาสังคมสงเคราะห์ ผ่านระบบ Onsite และ Online โปรแกรม Zoom เพื่อพิจารณาวาระสำคัญต่าง ๆ ประกอบด้วย สรุปการจัดเสวนาวิชาการเรื่อง “บทบาทสภาวิชาชีพกับการคุ้มครองผู้บริโภค” เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 การจัดทำตารางข้อสงวนมาตรการที่ไม่สอดคล้องกับพันธกรณีในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการค้า บริการ และการลงทุนการเจรจาความตกลงการค้าเสรีของไทย การจัดทำแผนยุทธศาสตร์สมาพันธ์วิชาชีพและการดำเนินงานตามแผน รวมถึงการพิจารณาร่างบันทึกข้อตกลงความร่วมมือสมาพันธ์วิชาชีพแห่งประเทศไทย (MOU)

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3558.ผู้เช่าซื้อส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนภายหลังเป็นผู้ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อต้องชำระค่าขาดราคา

คำพิพากษาฎีกาที่ 3521/2567 (เล่ม 7 หน้า 1565) โจทก์เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อมิใช่สถาบันการเงิน ตามความหมาย มาตรา 3 ของ พ.ร.ก. การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ส่วนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 อยู่ในฐานะเป็นผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ตามความหมายที่กำหนดในพระราชกำหนด จึงไม่อาจนำบทบัญญัติแห่งพระราชกำหนด และประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ สกส 1.3/2563 ซึ่งออกตามมาตรา 15 ของพระราชกำหนดมาใช้บังคับแก่โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้

หนี้ตามสัญญาเช่าซื้อเป็นหนี้ที่มีกำหนดเวลาชำระแน่นอน โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงทำบันทึกยินยอมให้จำเลยที่ 1 พักชำระหนี้ตั้งแต่งวดที่ 21 ประจำวันที่ 10 เมษายน 2563 ซึ่งยังค้างชำระอยู่ 64 งวด โดยให้เริ่มผ่อนชำระตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2563 เป็นต้นมา และงวดต่อไปทุกวันที่ 10 ของเดือนถัดไปจนกว่าจะครบถ้วน มีผลให้กำหนดเวลาชำระค่างวดจากเดิมครบกำหนดงวดที่ 84 วันที่ 10 กรกฎาคม 2568 ขยายออกไปถึงวันที่ 10 มกราคม 2569 ถือว่าโจทก์ยอมผ่อนเวลาให้จำเลยที่ 1 ลูกหนี้ โดยจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันไม่ได้ตกลงด้วยในการผ่อนเวลานั้น จำเลยที่ 2 ย่อมหลุดพ้นความรับผิดต่อโจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 700 วรรคหนึ่ง

จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ โดยในขณะส่งคืนทรัพย์สินที่เช่าซื้อ จำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดนัด ชำระหนี้แล้ว กรณีไม่ต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 573 ที่บัญญัติว่า “ผู้เช่าจะบอกเลิกสัญญาในเวลาใดเวลาหนึ่งก็ได้ ด้วยส่งมอบทรัพย์สินกลับคืนให้แก่เจ้าของโดยเสียค่าใช้จ่ายของตนเอง” ซึ่งให้สิทธิผู้เช่าซื้อเลิกสัญญาเช่าซื้อในขณะที่ตนเองยังมิได้ตกเป็นผู้ผิดนัดและส่งผลให้สัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกัน การส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนโจทก์ของจำเลยที่ 1 ไม่ถือว่าเป็นการเลิกสัญญาตามบทบัญญัติดังกล่าว

สัญญาเช่าซื้อข้อ 14 ระบุว่า ผู้เช่าซื้อจะบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อในเวลาใดๆ เสียก็ได้ โดยผู้เช่าซื้อจะต้องคืนและส่งมอบรถในสภาพซ่อมแซมเรียบร้อยใช้การได้ดี ในสภาพเช่นเดียวกับวันที่ได้รับมอบรถไปจากเจ้าของ พร้อมทั้งส่วนควบอุปกรณ์และอะไหล่ของรถที่เช่าซื้อทั้งหมดให้แก่เจ้าของ ณ ที่ทำการของเจ้าของ และชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระหรือเป็นหนี้ตามสัญญานี้อยู่ในเวลานั้นทันที และผู้เช่าซื้อตกลงให้เจ้าของมีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายตามที่กำหนดไว้ในข้อ 13 อีกส่วนหนึ่ง(ถ้ามี) เป็นการให้สิทธิจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ โดยจำเลยที่ 1 ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว

จำเลยที่ 1 ไม่สามารถชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาและนำรถยนต์มาส่งมอบคืนแก่โจทก์ และทำหนังสือแสดงเจตนา บอกเลิกสัญญาโดยยอมรับผิดเช่นเดียวกับที่ระบุไว้ในสัญญาเช่าซื้อ ซึ่งโจทก์ได้รับมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อไว้เท่ากับว่าโจทก์ ยอมผ่อนผันเงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติตามข้อสัญญาข้อ 14 บางส่วน ที่ให้สิทธิแก่ผู้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้โดยส่งมอบรถในสภาพซ่อมแซมเรียบร้อยใช้การได้ดี และชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระหรือเป็นหนี้ตามสัญญานี้อยู่ในเวลานั้นทันที ทั้งเป็นการที่โจทก์ยอมยกเว้นข้อปฏิบัติใดๆ ให้แก่จำเลยที่ 1 บางส่วน ตามสัญญาข้อ 21 ประกอบกับสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 14 กำหนดให้ผู้ให้เช่าซื้อสงวนสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายตามสัญญาข้อ 13 อีกส่วนหนึ่ง ไว้ล่วงหน้าแล้ว ทั้งโจทก์มีหนังสือแจ้งสิทธิการซื้อรถที่เช่าซื้อก่อนประมูลขายทอดตลาด และหนังสือแจ้งกำหนดการประมูลรถยนต์ที่เช่าซื้อแก่จำเลยทั้งสอง และเมื่อขายทอดตลาดรถยนต์ที่เช่าซื้อแล้ว โจทก์มีหนังสือแจ้งผลการขายทอดตลาดและสรุปภาระหนี้ให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ อันเป็นการปฏิบัติไปตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 11 วรรคท้าย และข้อ 13 แสดงว่าโจทก์ยึดถือและปฏิบัติตามสัญญาเช่าซื้อ จึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่โจทก์ตามสัญญาข้อ 14 หาใช่โจทก์และจำเลยที่ 1 สมัครใจเลิกสัญญาเช่าซื้อกันโดยปริยายไม่ จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระค่าขาดราคาแก่โจทก์

ข้อตกลงที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระค่าขาดราคาแก่โจทก์ตามสัญญาเช่าซื้อ เป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าอันเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งหากสูงเกินส่วนศาลย่อมลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 383 วรรคหนึ่ง

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3557.คืนรถยนต์ที่เช่าซื้อภายหลังศาลมีคำพิพากษาแล้ว ผู้เช่าซื้อยังคงต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องของรถยนต์ที่เช่าซื้อ

คำพิพากษาฏีกาที่ 3525/2567 (เล่ม 7 หน้า 1587) โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้รับผิดโดยอาศัยอำนาจแห่งมูลหนี้ตามคำพิพากษาของศาลในคดีก่อนที่พิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องคืนรถที่เช่าซื้อในสภาพที่เรียบร้อยใช้การได้ดี เมื่อรถที่เช่าซื้อคืนโจทก์ไม่อยู่ในสภาพที่เรียบร้อยใช้การได้ดี จึงเป็นการชำระหนี้ที่ไม่ต้องตามความประสงค์อันแท้จริง แห่งมูลหนี้ตามคำพิพากษาในคดีก่อน โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การนั้นก็ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 215 อันเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นใหม่ โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้ชำระค่าเสียหายตามฟ้อง

ค่าขาดราคารถที่คำนวณจากส่วนต่างของเงินที่ได้จากการขายทอดตลาด กับราคารถใช้แทนตามคำพิพากษาในคดีก่อน ไม่อาจใช้เป็นข้อพิสูจน์ถึงความชำรุดของรถได้เพราะมิใช่ความเสียหายที่แท้จริงอันเกิดจากความชำรุดทรุดโทรมของรถที่เช่าซื้อที่เกิดจากการใช้รถโดยปราศจากความระมัดระวังเยี่ยงวิญญูชนพึงใช้ เช่นนี้ ค่าขาดราคารถมิใช่ค่าเสียหาย อันเนื่องจากการคืนรถที่เช่าซื้อที่ไม่อยู่ในสภาพเรียบร้อยและใช้การได้ดี ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องรับผิดตามคำพิพากษา ในคดีก่อน โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดราคาได้

แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ แต่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การมิได้ เว้นแต่ศาลเห็นว่า คำฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 198 ทวิ โจทก์อ้างส่งบันทึกการตรวจสภาพและส่งมอบรถยนต์ และภาพถ่ายรถยนต์ที่ส่งคืน ซึ่งปรากฏว่า รถที่เช่าซื้อมีสภาพชำรุดและได้รับความเสียหายหลายรายการ เช่น กระจังหน้ารถ ไฟหน้า ไฟเลี้ยว กระจังบังลมหน้ารถ และไม่มีฝาปิด กระบะท้ายรถ ดังนั้น ฟ้องโจทก์มีมูลว่า รถที่เช่าซื้อที่โจทก์ได้คืนมานั้นมีความชำรุดบกพร่องที่เกิดจากการใช้รถโดยปราศจากความระมัดระวังเยี่ยงวิญญูชนพึงใช้ แม้โจทก์มิได้นำสืบว่า การซ่อมแซมรถที่เช่าซื้อให้อยู่ในสภาพที่เรียบร้อยใช้การได้ดีนั้นต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนเท่าใด ศาลฎีกาเห็นควรกำหนดค่าเสียหายอันเนื่องจากการคืนรถที่เช่าซื้อไม่อยู่ในสภาพที่เรียบร้อยและใช้การได้ดีให้

หนี้ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นค่าสินไหมทดแทนที่ศาลกำหนดค่าเสียหายตามคำพิพากษาในคดีก่อนที่จำเลยทั้งสามต้องผูกพันรับผิดร่วมกันจนกว่าชำระหนี้เสร็จสิ้น โดยจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ตามคำพิพากษาคดีก่อนต้องผูกพันชำระหนี้เป็นอย่างเดียวกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษา ให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งมิได้ฎีกาได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245(1) , 252 ประกอบ พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7

(หมายเหตุ 1 คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยให้เหตุผลว่า โจทก์ไม่ได้มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามไปยังจำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้ค้ำประกันหลังจากจำเลยที่ 1 ผิดนัด เป็นการไม่ปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ไม่ได้ฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ชอบ

2 ในคดีก่อน ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถที่เช่าซื้อในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดีแก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาเป็นเงิน 480,000 บาท หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากส่งมอบคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 480,000 บาท ต่อมาจำเลยทั้งสามส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนโจทก์ โจทก์นำออกขายทอดตลาดไม่พอชำระหนี้ จึงมาฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3556.บอกเลิกสัญญาจ้างก่อสร้างต้องบอกกล่าวกำหนดระยะเวลาให้ปฏิบัติก่อน

คำพิพากษาฎีกาที่ 2506/2567 (เล่ม 7 หน้า 1464) เมื่อสัญญาจ้างทำงานก่อสร้างยังไม่ครบกำหนด จำเลยทั้งสอง เห็นว่า หากให้โจทก์ทำการก่อสร้างต่อไปจะเกิดความเสียหาย จำเลยทั้งสองจะเลิกสัญญาได้ก็ต้องบอกกล่าวกำหนดระยะเวลาให้โจทก์ปฏิบัติเสียก่อน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 จำเลยทั้งสองเลิกสัญญาโดยไม่บอกกล่าวกำหนดเวลาให้โจทก์ปฏิบัติก่อน เมื่อโจทก์ขอทำการก่อสร้างต่อไป จำเลยทั้งสองไม่ยอม โดยว่าจ้างผู้อื่นก่อสร้าง จะถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ได้ การใช้สิทธิเลิกสัญญาของจำเลยทั้งสองไม่ชอบ และต้องถือว่าจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญา

(หมายเหตุ 1 จำเลยที่ 1 ว่าจ้างให้โจทก์ก่อสร้างอาคารบ้านพักคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้นหนึ่งหลัง

2 จำเลยทั้งสองอ้างว่า โจทก์ทำงานในงวดที่ 5 ในส่วนการก่ออิฐผนัง ฝังท่อไฟ และฉาบผนัง ไม่ได้มาตรฐาน ตามหลักวิชาชีพการก่อสร้าง โดยจำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาด้วยวาจากับตัวแทนของโจทก์ และห้ามโจทก์เข้าพื้นที่ก่อสร้าง

3 ในทางพิจารณาไม่ปรากฏว่า จำเลยทั้งสองเคยท้วงติงหรือโต้แย้งหรือบอกกล่าวให้โจทก์แก้ไขงาน

4 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองจะเลิกสัญญาได้ก็ต้องบอกกล่าวกำหนดระยะเวลาให้โจทก์ปฏิบัติเสียก่อน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 จำเลยทั้งสองจึงบอกเลิกสัญญาโดยเหตุดังกล่าวไม่ได้

5 ส่วนที่โจทก์เรียกค่าขาดกำไร ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ไม่ใช่ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อันเกิดแต่การเลิกสัญญา แต่เป็นผลประโยชน์หรือค่าตอบแทนที่โจทก์คาดหมายว่าจะได้ตามสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้อง ค่าขาดกำไรดังกล่าว

6 คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชำระเงิน 225,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่จำเลยทั้งสองตามฟ้องแย้ง

7 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์

8 ศาลฎีกา พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เสียด้วย)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

สภาทนายความจ่ายเงินให้ทนายความจากกองทุนสวัสดิการทุกประเภทในปี 2567 กว่า 20 ล้านบาท

กองทุนสวัสดิการเริ่มมีมาตั้งแต่ปี 2529 ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทนายความควรรู้มีดังนี้

1.ข้อบังคับของสภาทนายความว่าด้วยสวัสดิการของทนายความ พ.ศ.2529

#กองทุนสวัสดิการทนายความ กรณีน้ำท่วม ไฟไหม้ และพายุพัดบ้านหรือทรัพย์สินเสียหาย หรือเจ็บป่วย เสียชีวิต เบิกได้ตามระเบียบ

2. ข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยกองทุนเพื่อการศึกษาบุตร ธิดา ทนายความ พ.ศ. 2544

#กรณีทนายความเสียชีวิตมีกองทุนช่วยเหลือการศึกษาบุตรธิดา ของทนายความจนจบระดับชั้นปริญญาตรี

3. ข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยการฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ. 2552

 

#นอกจากทนายความจะเป็นสมาชิกแล้วคนในครอบครัวก็สามารถเป็นสมาชิกได้ด้วยการร่วมช่วยทำบุญในกรณีสมาชิกเสียชีวิตศพละ 20 บาท

4.กองทุนเบี้ยทนายความอาวุโส

#อายุเกิน 65 ปีรับเบี้ยรายปีๆละ 5,000 บาท

นอกจากยังมีสหกรณ์ออมทรัพย์สภาทนายความแห่งประเทศ #สามารถฝากเงินและกู้เงินได้

 

 

#ติดต่อสอบถามได้ที่ฝ่ายสวัสดิการและสิทธิประโยชน์

หมายเลขโทรศัพท์ 06-4291-4690

อีเมล lct249service@gmail.com

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3555.สมัครใจเลิกสัญญาเรียกค่าสินไหมทดแทนได้เพียงใด

คำพิพากษาฎีกาที่ 2491/2567 (เล่ม 7 หน้า 1456) โจทก์และจำเลยสมัครใจเลิกสัญญาจ้างต่อกัน โดยโจทก์ไม่ได้ เป็นฝ่ายผิดสัญญาก่อนมีการเลิกสัญญา จำเลยย่อมไม่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหาย การที่จำเลยต้องลงทุนจัดหาสถานที่ทำงาน เสียค่าเช่า จ้างพนักงาน เสียค่าพาหนะ ค่าใช้จ่าย ค่าขนย้าย รื้อถอน เป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายที่จำเลยทำงานให้โจทก์โดยตรง และโจทก์ไม่ได้รับการงานใดจากจำเลย จึงไม่ใช่ค่าแห่งการงานตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคสาม จำเลยไม่มีสิทธิ์เรียกเอาจากโจทก์ตามฟ้องแย้ง

จำเลยฟ้องแย้งว่า หลังเลิกสัญญาโจทก์ว่าจ้างให้จำเลยออกแบบอาคารพาณิชย์ใหม่ ซึ่งจำเลยดำเนินการให้เสร็จ แล้ว แต่โจทก์ไม่ชำระเงินค่าออกแบบให้แก่จำเลย โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งปฏิเสธว่า โจทก์ไม่เคยว่าจ้างให้จำเลยออกแบบ ภาระการพิสูจน์ตกแก่จำเลย

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้อัตราดอกเบี้ยโดยไม่ได้แก้ไขในเรื่องดอกเบี้ยผิดนัดให้บวกเพิ่มอัตราร้อยละ 2 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 (ที่แก้ไขใหม่) ประกอบมาตรา 7 (ที่แก้ไขใหม่) เป็นการไม่ชอบ ปัญหาเรื่องการคิดดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ตามกฎหมายเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน

(หมายเหตุ 1 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคสี่ บัญญัติว่า การใช้สิทธิเลิกสัญญานั้นหากระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายไม่ ซึ่งมีความหมายว่า การเลิกสัญญานั้นไม่ลบล้างความรับผิดที่ลูกหนี้ได้ก่อขึ้นก่อนแล้ว กล่าวคือ ถ้าลูกหนี้มีความรับผิดที่ไม่ชำระหนี้ซึ่งเป็นเหตุให้เจ้าหนี้ได้รับความเสียหาย เจ้าหนี้ก็มีสิทธิเรียก ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้นได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213, 215, 216

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3552.บริษัทรับประกันภัยใช้สิทธิฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้กระทำละเมิดได้อีก แม้ศาลจะมีคำพิพากษาให้ผู้กระทำละเมิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 883/2567 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.951/2562 ของศาลจังหวัดทุ่งสง พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในข้อหาขับรถในขณะเมาสุรา ขับรถโดยประมาทหรือหวาดเสียวอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจและผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ซึ่ง ต. ผู้เอาประกันภัยยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าเสียหายในการซ่อมรถยนต์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 โจทก์คดีนี้ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ของ ต. ไม่ได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าว การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 คดีนี้ จึงมิใช่เป็นเรื่องที่ศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้วคู่ความเดียวกันมารื้อฟ้องกันอีก ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำอันจะต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ทั้งมิใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144

ในคดีอาญาดังกล่าว ต. ผู้เอาประกันภัยได้ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าซ่อมรถยนต์คันเกิดเหตุ โดยอ้างส่งหลักฐานการซ่อมเป็นรายการราคาของอะไหล่แต่ละชิ้นและภาพถ่ายรถยนต์ที่ได้รับความเสียหาย ซึ่งศาลจังหวัดทุ่งสงพิจารณาหลักฐานดังกล่าวแล้ว เห็นว่า รถยนต์ย่อมเสื่อมสภาพลงเพราะการใช้งาน การคิดคำนวนราคาซ่อมไม่อาจคิดคำนวณราคาค่าอะไหล่ทุกชิ้นเป็นเกณฑ์ในการเรียกราคา ทั้งพิจารณาจากสภาพรถยนต์ที่ได้รับความเสียหาย หากทำการซ่อมก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนอะไหล่ทั้งหมด เห็นควรกำหนดค่าเสียหายให้ 400,000 บาท อันเป็นการวินิจฉัยราคาค่าซ่อมรถยนต์จากหลักฐานรายการซ่อมและสภาพความเสียหายที่ปรากฏจากภาพถ่ายรถยนต์คันเกิดเหตุ ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องและนำสืบว่า จากการตรวจสอบสภาพความเสียหายและประเมินราคาค่าซ่อมรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัย ปรากฏว่าได้รับความเสียหาย 254,463 บาท ตามเอกสารสรุปค่าอะไหล่และใบเสนอราคาความเสียหายของอู่ ซึ่งสูงเกินกว่าจำนวนเงินเอาประกันภัยที่กำหนดไว้ 200,000 บาท โจทก์จึงชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยเต็มตามจำนวนเงินเอาประกันภัย 200,000 บาท ตามความผูกพันในสัญญาประกันภัยข้อ 2.1 การชดใช้ความเสียหายต่อรถยนต์ในกรณีรถยนต์เสียหายสิ้นเชิง ค่าเสียหายที่ ต. ได้รับจากจำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาคดีอาญาของศาลจังหวัดทุ่งสง 400,000 บาท และที่ ต. ได้รับจากโจทก์ 200,000 บาท จึงเป็นค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายต่อรถยนต์เช่นเดียวกัน การที่โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ ต. ตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 ก่อนวันที่ศาลจังหวัดทุ่งสงมีคำพิพากษาในคดีอาญาให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าซ่อมรถยนต์แก่ ต. เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 สิทธิของโจทก์ในการเข้ารับช่วงสิทธิของ ต. เรียกให้จำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิดรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายต่อรถยนต์ที่เอาประกันภัย ย่อมเกิดขึ้นแล้วตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 226 วรรคหนึ่ง และมาตรา 880 วรรคหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงในคดีอาญาของศาลจังหวัดทุ่งสง ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 รู้ว่าโจทก์ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวให้แก่ ต. และเข้ารับช่วงสิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 จาก ต. ก่อนวันที่ศาลจังหวัดทุ่งสงมีคำพิพากษาในคดีอาญา ทั้งการที่จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายสำหรับความเสียหายต่อรถยนต์ให้แก่ ต. เป็นการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดทุ่งสงที่กำหนดค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายตามคำร้องขอให้บังคับผู้กระทำความผิดชดใช้ค่าเสียหายในส่วนแพ่ง ตามพฤติการณ์จึงเป็นการชำระหนี้ซึ่งได้ทำให้แก่ผู้ครองตามปรากฏแห่งสิทธิในมูลหนี้ละเมิดโดยสุจริต การชำระหนี้ดังกล่าวย่อมสมบูรณ์ตามมาตรา 316 แม้โจทก์เข้ารับช่วงสิทธิจาก ต. ก่อนจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ดังกล่าว แต่สิทธิของโจทก์มีเท่ากับสิทธิของ ต. ผู้เอาประกันภัยที่มีอยู่โดยมูลหนี้ต่อจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 226 วรรคหนึ่ง และการชำระหนี้ในมูลละเมิดสำหรับความเสียหายต่อทรัพย์สินของ ต. ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้กระทำลงนั้นสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว มูลหนี้ส่วนนี้จึงระงับไป โจทก์ไม่อาจเรียกให้จำเลยทั้งสองรับผิดในค่าเสียหายสำหรับความเสียหายต่อรถยนต์ 200,000 บาท ได้ แต่สำหรับค่าลากรถที่โจทก์ฟ้องเรียกมา 6,400 บาท นั้น เป็นค่าเสียหายคนละส่วนกับค่าเสียหายสำหรับความเสียหายต่อรถยนต์ซึ่งจำเลยที่ 1 ชดใช้ให้แก่ ต. ไปตามคำพิพากษาคดีอาญาของศาลจังหวัดทุ่งสง เมื่อโจทก์ได้ชดให้ค่าเสียหายส่วนนี้ให้แก่ ต. ไป และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ชดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้ให้แก่ ต. แล้ว โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของ ต. เรียกให้จำเลยที่ 1 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้แก่โจทก์ได้

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849