ผู้เขียน: admin
นายกสภาทนายความและคณะให้การต้อนรับ ผู้แทนสำนักการศาลยุติธรรมเมืองเซี่ยเหมิน และคณะผู้แทนจากสภาทนายความ เมืองเซี่ยเหมิน สาธารณรัฐประชาชนจีน
รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมร่วมประชุมกับนายกสภาทนายความครั้งที่12/2566
ประชุมคณะกรรมการสภาทนายความ ครั้งที่ 12/2566
เมื่อวันศุกร์ที่ 22 ธันวาคม 2566 เวลา 09.30 น. ที่ห้องประชุมชั้น 3 สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะสภานายกพิเศษแห่งสภาทนายความ ร่วมประชุมคณะกรรมการสภาทนายความ ครั้งที่ 12/2566 โดยมี ดร. วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ เป็นประธานที่ประชุม โดยมีการหารือร่วมกันระหว่างสภาทนายความกับกระทรวงยุติธรรมในการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน เช่น การแก้ไขปัญหาหนี้สินของภาคประชาชนตามนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะหนี้นอกระบบ หนี้บัตรเครดิต หนี้ที่เกิดจากการเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์
นอกจากนี้ยังได้ร่วมหารือถึงการขับเคลื่อนในการออกกฎหมายที่อำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชน เช่น การเตรียมออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่ประชาชนที่ได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ ในเรื่องที่ดินทำกินของประชาชน เป็นต้น
สถาบันพัฒนาวิชาชีพทนายความ อบรมโครงการทนายความพี่เลี้ยง รุ่นที่ 11
นายกสภาทนายความ เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ โครงการทนายพี่เลี้ยง รุ่นที่ 11
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 ธันวาคม 2566 เวลา 09.00 น. ที่ ห้องประชุม ชั้น 4 และ ห้องศาลจำลอง ชั้น 5 สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ : ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ โครงการทนายพี่เลี้ยง รุ่นที่ 11 โดยมี ดร.วิรัลพัชร เวธทาวริทธิ์ธร อุปนายกฝ่ายวิชาการ กล่าวต้อนรับ และ ดร.พิษณุ โหระกุล กรรมการอำนวยการ พิธีกร มีทนายความใหม่ผู้เข้าร่วมอบรมในครั้งนี้เป็นจำนวนมาก
ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ
ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …
3117.เงินของกลางที่ได้จากจำเลยในคดียาเสพติด ริบไม่ได้
คำพิพากษาฎีกาที่ 2602/2566 (หน้า 1755 เล่ม 7) โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และขอริบเงิน 11,040 บาท ที่จำเลยใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการซื้อขายเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยมีไว้ เป็นความผิดตามฟ้อง ดังนี้เงินของกลางมิใช่เครื่องมือ เครื่องใช้ หรือวัตถุอื่นซึ่งจำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดตามที่โจทย์ฟ้องขอให้ลงโทษตาม มาตรา 102 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ และ ป.ยาเสพติด มาตรา 134 หรือเป็นทรัพย์สินซึ่งจำเลยได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดหรือได้มาโดยได้กระทำความผิด ตาม ป.อ. มาตรา 33 จึงไม่อาจริบ
( หมายเหตุ 1 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า หากจำเลยมีเงินของกลางไว้เป็นเครื่องมือเครื่องใช้เพื่อใช้ซื้อเมทแอมเฟตามีน ตามฟ้อง กล่าวคือ ยังไม่ได้ซื้อเมทแอมเฟตามีนตามฟ้อง เมทแอมเฟตามีนตามฟ้องย่อมจะไม่ได้อยู่ที่ตัวจำเลย หรือหากจำเลยใช้เงินของกลางดังกล่าวซื้อเมทแอมเฟตามินตามฟ้องไป เงินของกลางดังกล่าวย่อมจะไม่ได้อยู่ที่จำเลย หรือหากเงินของกลางดังกล่าวได้จากการขายเมทแอมเฟตามีนตามฟ้อง เมทแอมเฟตามีนตามฟ้องก็ไม่อาจอยู่ที่ตัวจำเลยได้เหมือนกัน เงินของกลางดังกล่าวจึงไม่ใช้เครื่องมือ เครื่องใช้ หรือ วัตถุอื่นซึ่งจำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษ)
นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ และกรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร2565-2568 โทร.081-9663849
ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …
ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …
3116.การกำหนดโทษใหม่ตาม ป.ยาเสพติด
คำพิพากษาฎีกาที่ 2979/2566 (หน้า 1774 เล่ม 7) (ประชุมใหญ่) จำเลยมีพฤติการณ์ลักลอบจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของกลาง จำนวน 4,018 เม็ด คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 70.823 กรัม และจำเลยพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ดังกล่าว 1,996 เม็ด คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 35.180 กรัม ให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อ หากมีการจำหน่ายของกลางออกไป ย่อมทำให้เกิดการแพร่กระจายไปยังผู้เสพหลายคน โดยสภาพเข้าลักษณะเป็นการก่อให้เกิดการแพร่กระจายในกลุ่มประชาชน ดังนี้การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 145 วรรคสอง(2) มิใช่เป็นเพียงความผิดตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นในภายหลัง แต่ยังรับฟังไม่ได้ว่า เป็นการทำให้เกิด ผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความปลอดภัยของประชาชนทั่วไป อันเป็นความผิดตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 145 วรรคสาม(2)
ป.ยาเสพติด มาตรา 145 วรรคสอง(2) มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสองล้านบาท และการมีเมทแอมเฟตามีนในครอบครองเพื่อจำหน่าย และพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเป็นความผิดตามกฎหมายใหม่ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเพียงบทเดียว ตามนิยามคำว่า “จำหน่าย” ตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 1 การที่จำเลยพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 1,996 เม็ด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เป็นการกระทำกรรมเดียวลงโทษได้เพียงกระทงเดียว เมื่อโทษที่กำหนดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หนักกว่าโทษที่กำหนดตาม ป.ยาเสพติดซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังทั้งในเรื่องการกำหนดโทษ และจำนวนกระทงลงโทษ ศาลย่อมมีอำนาจตาม ป.อ. มาตรา 3(1) ที่จะกำหนดโทษจำเลยเสียใหม่ตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 90, 145 วรรคสอง (2) ประกอบมาตรา 126 ป.อ.มาตรา 80 และพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ตามพฤติการณ์การกระทำ ความผิดของจำเลยได้ ไม่ถือว่าเป็นการพิพากษาเกินคำขอ หรือที่ไม่ได้กล่าวในฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3
(หมายเหตุ 1 เดิมศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย รวม 40 ปี และปรับ 800,000 บาท คดีถึงที่สุด
2 จำเลยยื่นคำร้องขอให้กำหนดโทษใหม่ ตาม ป.อ.มาตรา 3(1)
3 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้กำหนดโทษใหม่ คงจำคุก 20 ปี และปรับ 400,000 บาท
4 ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษากลับให้ยกคำร้องของจำเลย
5 ศาลฎีกาพิพากษากลับให้กำหนดโทษจำเลยใหม่ คงจำคุก 8 ปี และปรับ 400,000 บาท)
นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ และกรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849
ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ
ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …
3115.การข่มขู่ว่าจะดำเนินคดีอาญาตามกฎหมาย ไม่ทำให้นิติกรรมตกเป็นโมฆียะ
คำพิพากษาฎีกาที่ 2401/2566 (หน้า 1739 เล่ม 7) ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 61/2 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้มีคณะบุคคลผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทของประชาชนที่คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำเภอในเรื่องที่พิพาททางแพ่งเกี่ยวกับที่ดิน มรดก และข้อพิพาททางแพ่งอื่นที่มีทุนทรัพย์ไม่เกินสองแสนบาท หรือมากกว่านั้นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา เมื่อข้อพิพาทระหว่าง จ. และผู้คัดค้านเป็นข้อพิพาททางแพ่งเกี่ยวกับที่ดิน จึงไม่ต้องพิจารณาว่ามีทุนทรัพย์เท่าใดอีก ย่อมสามารถไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทได้
การข่มขู่ว่าจะดำเนินคดีอาญาตามกฎหมาย ถือเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่จะพึงใช้ได้ตามปกตินิยม ไม่ใช่การข่มขู่ อันจะทำให้นิติกรรมตกเป็นโมฆียะ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 165
คดีร้องขอให้ออกคำบังคับให้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 61/2 วรรคเจ็ด ประกอบ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 42 ถึง 44 มิได้ให้ผู้ซึ่งจะถูกบังคับ ตามสัญญาประนีประนอมยอมความพิสูจน์โต้แย้งข้อเท็จจริงในการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาท และศาลไม่อาจตรวจสอบข้อเท็จจริงในชั้นไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินนั้นซ้ำอีก
( หมายเหตุ 1 เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2563 นาย จ.และผู้คัดค้านทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ตาม กฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง พ.ศ.2553 แต่ผู้คัดค้านไม่ปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว
2 พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ออกคำบังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความ
3 ผู้คัดค้านอ้างว่า นาย จ. ส่งคนมาข่มขู่ผู้คัดค้านให้ยอมรับตามเงื่อนไขหากไม่ยอมครอบครัวของผู้คัดค้าน รวมถึงผู้คัดค้านเองจะได้รับความเดือดร้อน และจะดำเนินคดีแก่บิดาของผู้คัดค้านเนื่องจากถูกกล่าวหาว่าไปลักทรัพย์ของนาย จ.
4 ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า กรณีเป็นเรื่องที่พิพาททางแพ่งเกี่ยวกับที่ดิน แม้มีทุนทรัพย์เกินสองแสนบาท ก็สามารถไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทได้ ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 61/22 วรรคหนึ่ง และมีคำสั่งออกคำบังคับให้ผู้คัดค้านปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความภายใน 30 วัน นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้น
5 ผู้คัดค้านอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์
6 ผู้คัดค้านอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่าไม่มีอำนาจพิจารณา และให้ส่งคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์พร้อมสำนวนไปยังศาลฎีกาเพื่อพิจารณาต่อไป
7 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การข่มขู่ว่าจะดำเนินคดีอาญาตามกฎหมาย ถือเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่จะพึงใช้ได้ ตามปกตินิยม ไม่ใช่การข่มขู่อันจะทำให้นิติกรรมตกเป็นโมฆียะ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 165 โดยพิพากษายืน)
นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ และกรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849
ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …
ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …
3114.ค่าอุปการะเลี้ยงดูของคู่สมรสก่อนถึงแก่ความตายเป็นมรดกเมื่อคู่สมรสถึงแก่ความตาย
คำพิพากษาฎีกาที่ 2107/2566 (หน้า 1728 เล่ม 7) สิทธิที่โจทก์จะได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูจากจำเลยระหว่างเป็นสามีภริยากัน ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1461 วรรคสอง แม้จะสละหรือโอนมิได้และไม่อยู่ในข่ายแห่งการบังคับคดี ตามมาตรา 1578/41 แต่โจทก์มีสิทธินั้นก่อนที่จะถึงแก่ความตายประกอบกับโจทก์ได้ใช้สิทธิยื่นฟ้องคดีเพื่อเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากจำเลยที่ 1 ตามสิทธิแล้ว สิทธิในการได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูจากจำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่สิทธิเฉพาะตัวของโจทก์โดยแท้ และเป็นกองมรดกของโจทก์ตามมาตรา 1600 เมื่อโจทก์ถึงแก่ความตาย สิทธินี้ย่อมตกทอดแก่ทายาท ตามมาตรา 1599
(หมายเหตุ 1 โจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย จดทะเบียนสมรสเมื่อปี 2519 ไม่มีบุตรด้วยกัน ต่อมาปี พ.ศ. 2556 โจทก์เข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาล และต่อมาศาลมีคำสั่งให้โจทก์เป็นคนไร้ความสามารถ โดยมี ป.บุตรโจทก์ซึ่งเกิดจากสามีคนเดิมเป็นผู้อนุบาล และ โจทก์ถึงแก่ความตายในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ
2 โจทก์ฟ้องขอหย่าขาดกับจำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 1 แบ่งสินสมรสให้แก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่ารักษาพยาบาล ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์เดือนละ 100,000 บาท และให้จำเลยทั้งสองชำระค่าทดแทน 50 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย
3 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าทดแทน 1 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 4 ศาลอุทธรณ์คดีชำนาญพิเศษแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าบริการ เดือนละ 30,000 บาท นับแต่วันฟ้อง
5 จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า สิทธิในการให้เข้าอุปการะเลี้ยงดูเป็นสิทธิเฉพาะตัว หาใช่ทรัพย์มรดก เมื่อโจทก์ถึงแก่ความตายสิทธิดังกล่าวย่อมตกไป
6 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิดังกล่าวก่อนที่จะถึงแก่ความตายประกอบกับโจทก์ได้ใช้สิทธิยื่นฟ้องคดีเพื่อเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากจำเลยที่ 1 ตามสิทธิแล้ว สิทธิในการได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูจากจำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่สิทธิเฉพาะตัวของโจทก์โดยแท้ และเป็นกองมรดกของโจทก์
7 จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ค่าทดแทนที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนาญพิเศษกำหนดให้จำเลยที่ 2 ชำระสูงเกินไป
8 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสและอยู่กินด้วยกันตั้งแต่ ปี 2519 จนถึงปี 2543 โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ย้ายภูมิลำเนามาอยู่ด้วยกันในประเทศไทย อันเป็นการครองชีวิตคู่อยู่ด้วยกันมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน จนทั้งคู่ต่างเข้าสู่วัยชราที่คาดหวังเพื่อฝากอนาคตและชีวิตไว้กับอีกฝ่ายเพื่อดูแลซึ่งกันและกัน ประกอบกับโจทก์ซึ่งมีปัญหาเรื่องสุขภาพที่ต้องเข้าพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่องแล้ว ยิ่งต้องการความรักและกำลังใจจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามีมากกว่าคู่สมรสทั่วไป การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นเรื่องที่กระทบต่อความรู้สึกและสะเทือนใจโจทก์เป็นอย่างยิ่ง โดยจำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมและก่อให้เกิดการล่มสลายในชีวิตครอบครัวของโจทก์โดยตรง ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าทดแทน 1,000,000 บาท เหมาะสมแล้ว)
นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ และกรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849
นายกฯเป็นประธานออกข้อสอบสัมภาษณ์ (ปากเปล่า) รุ่น 60 จำนวนกว่า 1,500 คน และให้โอวาทแก่นักศึกษาผู้เข้ารับการสอบ
นายกสภาทนายความ เป็นประธานกรรมการออกข้อสอสัมภาษณ์ (ปากเปล่า) รุ่น 60
⚖️ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 ธันวาคม 2566 เวลา 08.00 -15.00 น. ที่ห้องประชุม ชั้น 5 สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ : ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ เป็นประธานกรรมการออกข้อสอสัมภาษณ์ (ปากเปล่า) รุ่น 60 จำนวนกว่า 1,500 คน และให้โอวาทแก่นักศึกษาผู้เข้ารับการสอบ โดยมี นายวีรศักดิ์ โชติวานิช อุปนายกฝ่ายเทคโนโลยีและสารสนเทศ ดร.วิรัลพัชร เวธทาวริทธิ์ธร อุปนายกฝ่ายวิชาการ นายสมพร ดำพริก อุปนายกฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย นายสฤษดิ์ เจียมกมล เหรัญญิก ให้คำแนะนำแนวทางในการสอบ และคณะกรรมการผู้สอบสัมภาษณ์ (ปากเปล่า) 200 คน โดยประธานสภาทนายความจังหวัดต่าง ๆ จากทั่วประเทศกว่า 40 คน ให้เกียรติเดินทางมาทำหน้าที่เป็นอาจารย์สอบสัมภาษณ์ (ปากเปล่า) ในครั้งนี้ด้วย
ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …
ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …
3113.ทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีฟ้องหย่า จะฟ้องเรียกค่าทดแทนใหม่ไม่ได้
คำพิพากษาฎีกาที่ 1591/2566 (หน้า 1438 เล่ม 6) โจทก์ฟ้องเรียกค่าทดแทนโดยการฟ้องหย่าตาม ป.พ.พ.มาตรา 1523 วรรคหนึ่ง แต่โจทก์กับ พ. หย่ากันโดยทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อศาล แม้ศาลมีคำพิพากษาตามยอมโดยให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความก็เป็นเพียงการสั่งเมื่อสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับจดทะเบียนหย่าได้ตามมาตรา 213 ไม่ใช่กรณีที่ศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุตามมาตรา 1516(1) ทั้งตามคำฟ้องของโจทก์ไม่บรรยายอ้างพฤติการณ์ว่าจำเลยแสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าจำเลยมีความสัมพันธ์กับ พ.สามีโจทก์ในทำนองชู้สาว อันจะเป็นประเด็นแห่งคดีที่โจทก์จะนำสืบถึงข้อเท็จจริงนั้นได้ โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าทดแทนตามมาตรา 1523 วรรคสอง
(หมายเหตุ 1 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1523 เป็นบทบัญญัติแสดงให้เห็นว่า การที่ภรรยาเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นซึ่งแสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทางชู้สาว มีได้ 2 กรณี คือ (1) กรณีที่เรียกค่าทดแทนโดยมีเงื่อนไขต้องฟ้องหย่าและศาลพิพากษาให้หย่ากันตามมาตรา 1523 วรรคหนึ่ง กับ(2) กรณีที่เรียกค่าทดแทนโดยไม่มีเงื่อนไขต้องฟ้องหย่าตามมาตรา 1523 วรรคสอง
2 สำหรับคดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระค่าทดแทนให้แก่โจทก์ เป็นเงิน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
3 ศาลอุทธรณ์คดีชำนาญพิเศษแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษากลับให้ยกฟ้อง
4 ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยดังกล่าวข้างต้น โดยพิพากษายืน)
นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849