สภาทนายความฯ จัดอบรมวิชาการสัญจร จังหวัดตาก นำความรู้สู่ชุมชน

⚖️ เมื่อวันศุกร์ที่ 21 มีนาคม 2568 เวลา 09.00 – 12.00 น. ที่ห้องประชุม วิทยาลัยนอร์ทเทิร์น จังหวัดตาก : ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ เป็นประธานเปิดการอบรมวิชาการสัญจร จังหวัดตาก ในโครงการวิชาการสัญจรเผยแพร่ความรู้สู่ชุมชน เรื่อง กฎหมายป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ซิมผี บัญชีม้า การฟอกเงิน) โดยมี นายจิระศักดิ์ สุดสังข์ ประธานสภาทนายความจังหวัดตาก

โดยได้มีการกล่าวต้อนรับ นายสาโรจน์ จันทรศิริ กรรมการบริหารสภาทนายความ ภาค 6 กล่าวรายงานและเป็นผู้ดำเนินรายการ ทั้งนี้ยังได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไตรรัตน์ ยืนยง อธิการบดีวิทยาลัยนอร์เทิร์น และผู้บริหารวิทยาลัยให้การต้อนรับ

นอกจากนี้ ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ให้เกียรติเป็นวิทยากรบรรยายหัวข้อ “กฎหมายป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ซิมผี บัญชีม้า การฟอกเงิน)” ซึ่งมีทนายความในจังหวัดตาก คณาจารย์นักศึกษาวิทยาลัยนอร์ทเทิร์น และประชาชนเข้าร่วมอบรมในครั้งนี้กว่า 200 คน

 

#ให้ความรู้ได้นำไปใช้ไม่มีวันหมด

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3567.อ้างว่าขายทอดตลาดที่ดินไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องยื่นคำร้องต่อศาลในคดีเดิม)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2564/2567 กระบวนวิธีการบังคับคดีในขั้นตอนต่าง ๆ นั้น หากเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีซึ่งต้องเสียหายเพราะเหตุดังกล่าวเห็นว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีบกพร่อง ผิดพลาด หรือฝ่าฝืนต่อกฎหมาย บุคคลดังกล่าวย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลให้สั่งเพิกถอนหรือแก้ไขกระบวนวิธีการบังคับคดีทั้งปวงหรือวิธีการบังคับใด ๆ โดยเฉพาะหรือมีคำสั่งกำหนดวิธีการอย่างใดแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีตามที่ศาลเห็นสมควรได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 295 วรรคสอง อันเป็นบทกฎหมายที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว เมื่อโจทก์อ้างว่าการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะจำเลยที่ 1 มิได้เป็นเจ้าของทรัพย์ที่แท้จริงและโฉนดที่ดินพิพาทออกโดยไม่ชอบ โจทก์จะต้องยื่นคำร้องต่อศาลในคดีเดิมหรือศาลที่ดำเนินการออกหมายบังคับคดี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 7 (2) ประกอบ มาตรา 271 โจทก์หามีอำนาจที่จะฟ้องเพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทเป็นคดีใหม่ได้ไม่ ถึงแม้ว่าคำฟ้องของโจทก์จะเกี่ยวข้องกับประเด็นการเพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทด้วยก็ตาม ส่วนเจ้าพนักงานบังคับคดีนั้นเป็นเจ้าพนักงานที่ต้องปฏิบัติในการที่จะบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลเท่านั้น ไม่มีอำนาจเข้ามาเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือเป็นคู่ความได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 5

จำเลยที่ 1 มีชื่อเป็นผู้มีสิทธิในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3. ก.) เลขที่ 808 ที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ต้น แม้ต่อมาจำเลยที่ 1 จะขายที่ดินพิพาทและส่งมอบการครอบครองให้แก่โจทก์และโจทก์ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมานานประมาณ 20 ปีเศษ ก็ตาม แต่ตราบใดที่ยังมิได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนก็ยังคงถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาท อีกทั้งจำเลยที่ 1 ยังได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 รับจำนองที่ดินพิพาทไว้โดยไม่สุจริต จึงได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง ประกอบกับได้ความว่าจำเลยที่ 6 ผู้ซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดเพิ่งทราบว่ามีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทหลังจากจำเลยที่ 6 ซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดแล้ว ถือได้ว่าจำเลยที่ 6 เป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทโดยสุจริตในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล สิทธิในที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 6 จึงไม่เสียไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 จำเลยที่ 6 ย่อมมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าโจทก์ กรณีไม่อาจบังคับตามคำขอให้ที่ดินพิพาทกลับคืนมาเป็นของโจทก์ได้

(หมายเหตุ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อโจทก์อ้างว่าการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 5 (สำนักงานบังคับคดีจังหวัดชัยภูมิ)ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะจำเลยที่ 1 มิได้เป็นเจ้าของทรัพย์ที่แท้จริงและโฉนดที่ดินพิพาทออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในกรณีเช่นนี้โจทก์จะต้องยื่นคำร้องต่อศาลในคดีเดิมหรือศาลที่ดำเนินการออกหมายบังคับคดี คือ ศาลแขวงพระนครเหนือ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 7 (2) ประกอบมาตรา 271 เพื่อให้ศาลแขวงพระนครเหนือดำเนินการไต่สวนและมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดหรือแก้ไขกระบวนวิธีการบังคับคดีต่อไป โจทก์หามีอำนาจที่จะฟ้องเพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทเป็นคดีใหม่ได้ไม่

2 และศาลฎีกายังได้วินิจฉัยอีกว่า เมื่อต่อมาจำเลยที่ 3 (กรมที่ดิน)ออกโฉนดที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ผู้มีชื่อเป็นผู้มีสิทธิในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวตามบทบัญญัติ ป.ที่ดิน มาตรา 58 ตรี อันมิใช่เป็นการออกโฉนดที่ดินเฉพาะรายตามคำขอของจำเลยที่ 1 การออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 3 จึงเป็นการออกโฉนดที่ดินที่ชอบด้วยกฎหมายจนกว่าจะมีการพิสูจน์สิทธิครอบครองและโฉนดที่ดินดังกล่าวถูกเพิกถอนหรือแก้ไขโดยอธิบดีกรมที่ดินหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

ประชุมเพื่อบูรณาการหาแนวทางขจัดนอมินีทุนเทา ถือครองที่ดินอำพราง    

 

เมื่อวันพุธที่ 19 มีนาคม 2568 เวลา 09.30 น. ที่ ห้องประชุมกรรมาธิการ N 404 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา : ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ นายอุทัย ไสยสาลี ที่ปรึกษากฎหมายสภาทนายความ เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน เพื่อพิจารณาศึกษาปัญหาข้อกฎหมาย และแนวทางการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการถือครองหรือครอบครองที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์โดยตัวแทนอำพรางของคนต่างด้าว เพื่อให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง หรือแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับเรื่องที่เสนอดังกล่าว รวมทั้งประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมี นางสาวศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ เป็นประธานกรรมาธิการในที่ประชุม โดยมีหน่วยงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กฤษฎีกา กรมพัฒนาธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ กรมที่ดิน และสภาทนายความ

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3566.กำหนดเวลาที่ผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดที่จะขอคืนภาษีจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4847/2566 การที่ผู้คัดค้านในฐานะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายทอดตลาดที่ดินของจำเลย เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดเป็นเงินได้ของกองทรัพย์สินจำเลย จำเลยโดยผู้คัดค้านมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 40 (8) เว้นแต่จะมีข้อตกลงเรื่องภาระภาษีเงินได้กันเป็นอย่างอื่น ที่ผู้คัดค้านกำหนดเงื่อนไขในการประกาศขายทอดตลาดทรัพย์และข้อตกลงในหนังสือสัญญาซื้อขายให้ผู้ซื้อทรัพย์เป็นผู้เสียค่าธรรมเนียมการโอนและค่าภาษีต่าง ๆ จากการขายทอดตลาดและมีสิทธินำใบเสร็จรับเงินที่มีรายการชำระค่าภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายมาขอคืนภาษีภายใน 20 วัน นับแต่วันชำระราคาครบถ้วน หากไม่มาขอคืนภายในกำหนดจะถือว่าผู้ซื้อทรัพย์ไม่ติดใจขอคืนภาษีนั้น ไม่มีลักษณะเป็นข้อตกลงเรื่องภาระภาษีเงินได้กันเป็นอย่างอื่น หากแต่เป็นเพียงเพื่อให้การจัดการทรัพย์สินของจำเลยดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยและสะดวกรวดเร็วอันเป็นประโยชน์แก่ผู้คัดค้านที่ไม่จำต้องนำส่งหรือไปชำระภาษีดังกล่าวด้วยตนเองโดยผลักภาระให้ผู้ซื้อทรัพย์ไปชำระภาษีแล้วนำใบเสร็จรับเงินมาขอคืนเงินที่ชำระเป็นค่าภาษีหัก ณ ที่จ่ายจากผู้คัดค้านเท่านั้น เมื่อผู้คัดค้านจำหน่ายทรัพย์ของจำเลยในคดีล้มละลายแล้ว ทรัพย์สินซึ่งเหลือจากที่กันไว้สำหรับค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่าย ผู้คัดค้านต้องจัดการแบ่งในระหว่างเจ้าหนี้โดยเร็วตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 124 ซึ่งผู้คัดค้านสามารถกันเงินในส่วนที่ผู้ซื้อทรัพย์จะมาขอรับเงินที่จ่ายเป็นค่าภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายคืนได้ในชั้นทำบัญชีแสดงรายการรับ–จ่ายเงิน แล้วแจ้งให้ผู้ซื้อทรัพย์มารับเงินคืน หากผู้ซื้อทรัพย์ไม่มารับเงินดังกล่าวคืนภายในห้าปีนับแต่วันที่ศาลสั่งปิดคดี เงินดังกล่าวก็จะตกเป็นของแผ่นดินตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 176 ผู้คัดค้านจะกำหนดเงื่อนไขหรือข้อตกลงในการขายทอดตลาดทรัพย์หรือหนังสือสัญญาซื้อขายให้ผู้ซื้อทรัพย์มารับเงินดังกล่าวคืนภายในกำหนดเวลาผิดแผกแตกต่างจากบทกฎหมายดังกล่าวหาได้ไม่

(นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849 )

 

มอบรถเข็นวีลแชร์ จำนวน 1 คัน แก่นางสาวสุณี พรมกุล ทนายความอาสา/ทนายความ รุ่น 51 ที่ได้รับอุบัติเหตุขาหัก และมอบวอล์คเกอร์ อุปกรณ์ช่วยเดิน

ไม่มีใครรักเราเท่าเรารักกัน

 

มื่อวันอังคารที่ 18 มีนาคม 2568 เวลา 9.00 น. ณ สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ พร้อมด้วยนายสุนทร บุญยิ่ง รองประธานกรรมการสวัสดิการผู้พิการ สภาทนายความ นายพิชัย วรินทรเวช กรรมการสวัสดิการผู้พิการ นายวรกร ไหลหรั่ง กรรมการสวัสดิการผู้พิการ นายอรรถกร พรนพมงคล กรรมการสวัสดิการผู้พิการ และนางสาวพุทธิดา เลิศสิริปัญญา กรรมการ/เลขานุการคณะกรรมการสวัสดิการผู้พิการ ร่วมมอบรถเข็นวีลแชร์ จำนวน 1 คัน แก่นางสาวสุณี พรมกุล ทนายความอาสา/ทนายความ รุ่น 51 ที่ได้รับอุบัติเหตุขาหัก และมอบวอล์คเกอร์ อุปกรณ์ช่วยเดินให้แก่นายธาดา อิงคณานนท์ ทนายความ เพื่อให้การช่วยเหลือด้านสวัสดิการและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับสมาชิกสภาทนายความ

ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ กล่าวว่าเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง หากผู้ประกอบวิชาชีพทนายความหรือคนในครอบครัวมีปัญหาด้านสุขภาพและไม่สามารถช่วยตัวเองได้สภาทนายความ พร้อมที่จะมอบอุปกรณ์สำหรับอำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่มีปัญหาทางสุขภาพทุกคน

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3565.คำให้การจำเลยในคดีผู้บริโภค การย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4849/2566 ในการพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 25 วรรคหนึ่ง กำหนดว่าศาลต้องดำเนินการไกล่เกลี่ยเพื่อให้คู่ความได้ตกลงหรือประนีประนอมยอมความกัน และมาตรา 26 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า ถ้าคู่ความไม่อาจตกลงกันหรือไม่อาจประนีประนอมยอมความกันได้ และจำเลยยังไม่ได้ยื่นคำให้การ ให้ศาลจัดให้มีการสอบถามคำให้การของจำเลย โดยจำเลยจะยื่นคำให้การเป็นหนังสือหรือจะให้การด้วยวาจาก็ได้ ในกรณีให้การด้วยวาจา ให้ศาลจัดให้มีการบันทึกคำให้การนั้นและให้จำเลยลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ วรรคสอง ถ้าจำเลยไม่ให้การตามวรรคหนึ่ง และไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้ขยายระยะเวลายื่นคำให้การ ให้ถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ

คดีนี้ในวันนัดพิจารณาจำเลยมาศาลและแถลงต่อศาลว่าไม่เคยสมัครสินเชื่อกับโจทก์และไม่เคยเป็นหนี้โจทก์ ขอต่อสู้คดี เป็นพฤติการณ์ที่แสดงว่าคู่ความไม่อาจตกลงหรือประนีประนอมยอมความกันได้ เมื่อจำเลยมาศาลในวันนัดพิจารณาดังกล่าวแต่ยังไม่ยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นจึงต้องดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปตามมาตรา 26 วรรคหนึ่ง กล่าวคือต้องจัดให้มีการสอบถามคำให้การจำเลย โดยจำเลยมีสิทธิยื่นคำให้การเป็นหนังสือหรือจะให้การด้วยวาจาก็ได้ ถ้าจำเลยไม่ให้การตามวรรคหนึ่งและไม่ได้รับอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นคำให้การ จึงจะมีผลตามวรรคสอง คือ ให้ถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ การที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาในวันนัดพิจารณาโดยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีและสืบพยานหลักฐานโจทก์ไปฝ่ายเดียวจนเสร็จการพิจารณา อันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาไปอย่างกรณีจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การไปเสียทีเดียวโดยไม่จัดให้มีการสอบถามคำให้การจำเลยก่อน การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 26 วรรคหนึ่งและวรรคสอง กรณีมีเหตุสมควรยกคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองแล้วให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและมีคำพิพากษาใหม่ไปตามรูปคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (2) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7

(หมายเหตุ 1 ในการพิจารณาวันที่ 22 ธันวาคม 2563 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีเนื่องจากศาลชั้นต้นให้โอกาสจำเลยติดต่อหาทนายความแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย และสืบพยานหลักฐานโจทก์ไปฝ่ายเดียวจนเสร็จการพิจารณาและมีคำพิพากษาในวันเดียวกัน

2. ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่ศาลชั้นต้นไม่จัดให้มีการสอบถามคำให้การจำเลยก่อน ซึ่งหากจำเลยให้การด้วยวาจาในขณะนั้นหรือยื่นคำให้การเป็นหนังสือภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด จำเลยย่อมมีสิทธินำพยานหลักฐานมาสืบหักล้างพยานหลักฐานโจทก์หรือสนับสนุนข้อต่อสู้ตามคำให้การจำเลยได้ ซึ่งมิใช่เป็นกรณีจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การที่ศาลจะมีอำนาจสืบพยานหลักฐานของโจทก์ไปฝ่ายเดียวได้

3.ศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ตั้งแต่สอบถามคำให้การจำเลยแล้วมีคำพิพากษาหรือคำสั่งใหม่ตามรูปคดี)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3564.ปืนแบงค์กันไม่ใช่อาวุธปืนตามกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2802/2567 แม้โจทก์ฟ้องว่า ปืนแบลงค์กันของกลางเป็นอาวุธปืนที่ใช้ยิงทำอันตรายแก่ร่างกายได้ และจำเลยให้การรับสารภาพ และศาลอาจพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้องได้โดยไม่ต้องสืบพยานหลักฐานต่อไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้ศาลชั้นต้นไต่สวนพยานเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงว่า ปืนแบลงค์กันของกลางเป็นอาวุธปืนตามมาตรา 4 (1) หรือสิ่งเทียมอาวุธปืนตามมาตรา 4 (5) แห่ง พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ แล้วส่งสำนวนมายังศาลอุทธรณ์ภาค 2 เพื่อวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย เป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (1) เมื่อศาลชั้นต้นไต่สวนพยานเพิ่มเติมเสร็จแล้ว ศาลฎีกาย่อมรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวได้

เมื่อปืนแบลงค์กันของกลางไม่มีการดัดแปลงลำกล้อง สภาพภายในลำกล้องมีเหล็กแกนขวางไม่อาจส่งกระสุนออกมาจากลำกล้องได้ ไม่สามารถใช้ร่วมกับกระสุนปืนจริงได้ เมื่อยิงกับกระสุนปืนแบลงค์กันมีผลเพียงเกิดเสียง เปลวไฟ แรงระเบิด แรงดันจากการเผาไหม้ดินดอกไม้เพลิงพุ่งออกมาจากปลายลำกล้องเท่านั้น ไม่มีหัวกระสุนปืนออกจากปากลำกล้อง แสดงให้เห็นจุดประสงค์ในการทำหรือประกอบปืนแบลงค์กันขึ้นโดยมิได้ให้เป็นอาวุธปืนที่ใช้ส่งเครื่องกระสุนปืน โดยประสงค์ใช้ยิงให้เกิดเสียงดังและมีเปลวไฟจากการยิงเท่านั้น หากไม่ได้ยิงในระยะประชิดหรือเป็นรัศมีแรงระเบิดหรือกำลังดันของดินดอกไม้เพลิง ก็ไม่มีอานุภาพรุนแรงที่สามารถทำอันตรายแก่กาย ชีวิต หรือวัตถุได้ ดังเช่นอาวุธปืนทั่วไป จึงไม่เข้าตามบทนิยามคำว่า “อาวุธปืน” ตามมาตรา 4 (1) แห่ง พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ การมีรูปร่างลักษณะอันน่าจะทำให้คนทั่วไปหลงเชื่อว่าเป็นอาวุธปืนโดยสภาพ จึงเป็นเพียงสิ่งเทียมอาวุธปืนตามมาตรา 4 (5) แห่ง พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ เท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร และฐานยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้านหรือที่ชุมนุมชน

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับสภาทนายความ ภาค 3  และสภาทนายความจังหวัดศรีสะเกษ ⚖️

⚖️ สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับสภาทนายความ ภาค 3

และสภาทนายความจังหวัดศรีสะเกษ ⚖️

 

🌟 จัดอบรมวิชาการสัญจร จังหวัดศรีสะเกษ

📣 ให้ความรู้ด้านกฎหมาย (ฟรี)

 

👉 เรื่อง กฎหมายป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และการฟอกเงิน

( ซิมผี บัญชีม้า )

 

เชิญพบกับ

 

🔶 ดร.วิเชียร ชุบไธสง

นายกสภาทนายความ

 

🔶 นายวีระศักดิ์ บุญเพลิง

กรรมการบริหารสภาทนายความ ภาค 3

 

🔶 นายบุญประเสริฐ นวลสาย

ประธานสภาทนายความจังหวัดศรีสะเกษ

 

— วันที่อบรม —

🗓 วันเสาร์ที่ 19 เมษายน 2568

⏰ เวลา 09.00 – 12.00 น.

📍 ณ โรงแรมศรีพฤทธาลัย ราชภัฏสัมมนาคาร มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ

 

🌏 Link ลงทะเบียน : https://forms.gle/AXULFCfvuFk653fY8

—————————

☎️ ติดต่อสอบถาม: คุณพิมพ์ฉวี และคุณจิดาภา โทร. 06 4291 4640

⚖_______________⚖

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

 

3563.ผู้สั่งซื้อยาเสพติดมีความผิดฐานพยายามมียาเสพติดตาม ป.ยาเสพติด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2182/2567 จำเลยที่ 1 โทรศัพท์ติดต่อซื้อขายเมทแอมเฟตามีน 2 ถุง ของกลางกับ ช. จากนั้น ช. โทรศัพท์ติดต่อสั่งซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลางจากจำเลยที่ 2 เมื่อ ช. ได้รับเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ 2 แล้วนำมาบรรจุใส่กล่องพัสดุไปรษณีย์ ว่าจ้าง ณ. นำไปส่งให้แก่จำเลยที่ 1 ลักษณะการตกลงกันเช่นนี้ถือได้ว่าเป็นการคบคิดร่วมกันระหว่าง ช. กับจำเลยที่ 1 อันเป็นการสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานสมคบกันเพื่อกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน โดยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตามมาตรา 127 วรรคหนึ่ง แห่ง ป.ยาเสพติด แต่จำเลยที่ 1 ไม่ทันรับมอบ ณ. นำเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวไปให้เจ้าพนักงานตำรวจและ ช. ถูกจับกุมเสียก่อน จำเลยที่ 1 ย่อมมีความผิดฐานสมคบกันเพื่อกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดและได้มีการกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด ฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนโดยการพยายามมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน ซึ่งต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 127 วรรคสอง กับฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ซึ่งต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดสำเร็จตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 90, 145 วรรคหนึ่ ง ประกอบมาตรา 126 แม้จำเลยที่ 1 สมคบกับ ช. เพียงผู้เดียวมิได้สมคบกับจำเลยที่ 2 ด้วย จำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่จัดหาลูกค้าและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนแก่ผู้อื่น จำเลยที่ 1 ติดต่อสั่งซื้อเมทแอมเฟตามีน 2 ถุง ของกลางจาก ช. โดยไม่ปรากฏว่าจะนำไปจำหน่ายต่อแก่ผู้อื่นและไม่มีการแบ่งกำไรกันระหว่าง ช. กับจำเลยที่ 1 ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 รู้เห็นหรือร่วมกับ ช. มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งเมทแอมเฟตามีน 3 ถุง ของกลางที่ค้นพบภายในห้องพักของ ช. แต่ปริมาณเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยที่ 1 พยายามมีไว้ในครอบครองต้องด้วยข้อสันนิษฐานตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) ว่าเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่ง พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง ยังให้มีผลใช้บังคับแก่คดีนี้ และจำเลยที่ 1 ไม่อาจนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวได้ จึงฟังได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำเพื่อจำหน่าย แต่พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อการค้า
นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

นายกฯเปิดการอบรมโครงการปฏิรูปทนายความอาสา ทนายความขอแรง และที่ปรึกษากฎหมายของเด็กและเยาวชน พิษณุโลก

เมื่อวันเสาร์ที่ 15 มีนาคม 2568 เวลา 08.30 – 16.30 น. ที่ห้องคอนเวนชั่น 2 โรงแรมท๊อปแลนด์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก : ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมโครงการปฏิรูปทนายความอาสา ทนายความขอแรง และที่ปรึกษากฎหมายของเด็กและเยาวชน ประจำปีงบประมาณ 2568 โดยมี นายเดชฤทธิ์ ศรีสุพรรณ์ ประธานสภาทนายความจังหวัดพิษณุโลก กล่าวต้อนรับ นายสาโรจน์ จันทรศิริ กรรมการบริหารสภาทนายความ ภาค 6 กล่าวรายงาน และได้รับเกียรติจากนายโชคชัย ม้าทอง ประธานสภาทนายความจังหวัดพิจิตร และนายบัณฑิต ศรีวิไล ประธานสภาทนายความจังหวัดเพชรบูรณ์

 

 

 

นอกจากนี้ ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ให้เกียรติเป็นวิทยากรบรรยายหัวข้อ “จริยธรรมและมรรยาททนายความของทนายความอาสา” และ “กฎหมายเกี่ยวกับการเช่าซื้อ ค้ำประกัน สินเชื่อส่วนบุคคล และบัตรเครดิต” ดร.ชัยชีพ ชโลปถัมภ์ กรรมการฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย บรรยายหัวข้อ “หลักเกณฑ์การทำหน้าที่ทนายความอาสาและที่ปรึกษากฎหมายเด็กและเยาวชน” นายสัญญาภัชระ สามารถ อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ บรรยายหัวข้อ “การคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาในคดีอาญา การทำหน้าที่ทนายความขอแรงและที่ปรึกษากฎหมายของเด็กและเยาวชน” นายวีรศักดิ์ โชติวานิช อุปนายกฝ่ายเทคโนโลยีและสารสนเทศ รองเลขาธิการสภาทนายความ บรรยายหัวข้อ “กฎหมายเกี่ยวกับการปราบปรามธุรกรรมทางเทคโนโลยี การฉ้อโกง ฉ้อโกงประชาชน การฟอกเงิน” ซึ่งมีทนายความในจังหวัดพิษณุโลกและทนายความภาค 6 เข้าร่วมอบรมในครั้งนี้จำนวนมากกว่า 200 คน