ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3572.ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนภายหลังจากที่ผู้ให้เช่าซื้อมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามต้องชำระค่าขาดราคา

คำพิพากษาฎีกาที่ 2704/2567 (เล่ม 7 หน้า 1502) ภายหลังจากจำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อเกินกว่า 3 งวดติดต่อกัน โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยชำระค่าเช่าซื้อภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ จำเลยได้รับหนังสือโดยชอบเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2562 แต่ก่อนครบกำหนดเวลา 30 วัน ตามหนังสือบอกกล่าวทวงถาม และบอกเลิกสัญญาของโจทก์ จำเลยส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ เช่นนี้ เท่ากับยอมรับว่าถึงอย่างไรเสียจำเลยก็จะไม่ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระให้แก่โจทก์ภายในกำหนดเป็นแน่ และไม่ประสงค์จะชำระค่าเช่าซื้อเพื่อให้สัญญาเช่าซื้อมีผลผูกพันต่อไป ถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาเพราะเหตุที่โจทก์ได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาโดยมีหนังสือให้จำเลยผู้เช่าซื้อ ทราบโดยชอบแล้ว ทั้งการส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนในกรณีเช่นนี้มิใช่เป็นกรณีจำเลยใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามสัญญาเช่าซื้อที่กำหนดให้สิทธิจำเลยบอกเลิกสัญญาในเวลาใดๆ เสียก็ได้ ด้วยการส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดีแก่โจทก์ จำเลยจึงต้องรับผิดชำระค่าขาดราคาแก่โจทก์

ข้อสัญญาเช่าซื้อที่กำหนดว่า หนี้และ/หรือความรับผิดที่ระบุในสัญญาข้อนี้ให้ถึงกำหนดชำระภายใน 15 วัน นับแต่วันขายรถยนต์ หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดนัดชำระให้เสียเบี้ยปรับในอัตราเท่ากับอัตราที่กำหนดไว้ในสัญญาในอัตรา MRR+10 ต่อปี เป็นข้อสัญญากำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้ามีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วน

(หมายเหตุ 1 โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระค่าขาดราคาเป็นเงิน 412,601 บาท และ ชำระค่าขาดประโยชน์ เป็นเงิน 8,500 บาท

2 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระค่าขาดประโยชน์เป็นเงิน 34,500 บาท

3 ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษายืน

4 ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยดังกล่าวข้างต้น และมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับค่าขาดราคาว่า ค่าเช่าซื้อเป็นเงินลงทุนของโจทก์ รวมกับผลประโยชน์ที่โจทก์คำนวณไว้ล่วงหน้าสำหรับการลงทุนเป็นเวลา 84 เดือน โดยให้จำเลยชำระเป็นงวด งวดละ 17,312.15 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โจทก์ได้รับค่าเช่าซื้อมาแล้ว 18 งวดเศษ เป็นเงิน 311,618.70 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) และได้รับรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหลังจากทำสัญญาเช่าซื้อประมาณ 2 ปี แต่การที่จะกำหนดให้จำเลยชำระค่าขาดราคาเท่ากับค่าเช่าซื้อส่วนที่ขาดซึ่งได้รวมผลประโยชน์สำหรับการลงทุนจนครบ 7 ปี ตามที่ตกลงกันไว้ย่อมเป็นจำนวนเงินที่สูงเกินส่วนเมื่อคำนึงถึงราคาเงินสดของรถยนต์ที่เช่าซื้อ ค่าเช่าซื้อที่โจทก์ได้รับชำระและเงินที่ได้จากการขายรถยนต์ ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยผู้เช่าซื้อชำระค่าขาดราคาเป็นเงิน 130,000 บาท)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3573.อ้างว่าสัญญากู้ยืมเงินเกิดจากการฉ้อฉลต้องใช้สิทธิบอกล้างภายใน 1 ปี

คำพิพากษาฎีกาที่ 2701/2567 (เล่ม 7 หน้า 1484) สัญญากู้ยืมเงินเป็นนิติกรรมที่เกิดจากกลฉ้อฉลตกเป็นโมฆียะ จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้กู้จะต้องใช้สิทธิบอกล้างนิติกรรมภายในหนึ่งปีนับแต่เวลาที่อาจให้สัตยาบันได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 181 จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และ ที่3 ผู้ค้ำประกันซึ่งได้รับหนังสือแจ้งเตือนการผิดนัดของจำเลยที่ 1 วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2561 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รับหนังสือวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2561 แต่เพิ่งยื่นคำให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์รวมทั้งขอใช้สิทธิบอกล้าง นิติกรรมวันที่ 19 มีนาคม 2562 พ้นเวลาหนึ่งปีนับแต่เวลาที่จำเลยที่ 1 รู้และอาจให้สัตยาบันได้ ต้องถือว่านิติกรรมการกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีผลสมบูรณ์ ไม่อาจบอกล้างได้

ธนาคารโจทก์ตกลงให้จำเลยที่ 1 กู้ยืม มีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกัน โดยโจทก์ส่งมอบเงินตามสัญญากู้ยืมด้วยการสั่งจ่ายเช็คให้แก่สหกรณ์บริการ จ. ตามข้อตกลงระหว่างโจทก์กับสหกรณ์บริการ จ. เมื่อสหกรณ์บริการ จ. ได้รับมอบเงินตามสัญญากู้ยืมแล้วได้นำเงินที่จำเลยที่ 1 กู้ยืมจากโจทก์บางส่วนนำไปเป็นทุนในการจัดซื้อรถสามล้อเครื่อง และส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 1 ไปใช้ประโยชน์ โดยให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินจากสหกรณ์อีกฉบับเป็นเงิน 345,000 บาท และสหกรณ์บริการ จ. จะเป็นผู้ชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์เอง โดยโจทก์ทราบข้อตกลงด้วย ดังนี้ จำเลยที่ 1 ได้รับเงินกู้จากโจทก์เพียง 345,000 บาท เมื่อสัญญากู้ยืมเงินเป็นการยืมใช้สิ้นเปลืองย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืมต่อกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 650 วรรคสอง หนี้ตามสัญญากู้ยืมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ย่อมสมบูรณ์เพียงจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 ได้รับจากโจทก์

จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันจะต้องชำระหนี้เป็นอย่างเดียวกับจำเลยที่ 1 ผู้กู้ เพราะเป็นการชำระหนี้ อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกามีอำนาจที่พิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งมิได้ขออนุญาตฎีกาได้ ตาม ป.วิ.ผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7

(หมายเหตุ 1 โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 501,364 บาท

2 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลย ที่ 1 ชำระเงิน 501,364 บาท หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันรับผิด

3 ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่า โจทก์ปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกู้เงินและส่งมอบเงินที่ได้รับอนุมัติ โดยสั่งจ่ายเช็คให้แก่สหกรณ์บริการ จ. จำกัด เป็นผู้รับแทน นิติกรรมการกู้ยืมเงินและค้ำประกันดังกล่าวเกิดขึ้นจากการฉ้อฉล ของโจทก์ตกเป็นโมฆียะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 159 วรรคหนึ่ง โดยพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น

4 จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 เพิ่งทราบเหตุที่จะบอกล้างในวันที่มอบคดีให้ทนายความยื่นฟ้องต่อศาล

5 ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยข้างต้น โดยพิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 276,076 บาท พร้อมดอกเบี้ย หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ชำระแทนพร้อมดอกเบี้ย)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้รับพระราชทานรางวัล “เทพทอง“ ประเภทองค์กรดีเด่น

เมื่อวันอังคารที่ 25 มีนาคม 2568 เวลา 14.30 น. ณ ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ นายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ มอบรางวัล “เทพทอง” ให้แก่ สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ โดย ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ เป็นผู้รับมอบรางวัลพระราชทาน “เทพทอง” ครั้งที่ 23 ประจำปี 2567 ประเภทองค์กรดีเด่น และทำคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติ ซึ่งสมาคมนักวิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นผู้นำชื่อองค์กรสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ เข้ารับรางวัลพระราชทานในครั้งนี้

ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ กล่าวว่า นับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ได้รับพระราชทานรางวัลเทพทองในครั้งนี้และเป็นครั้งแรกของสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ได้รับพระราชทานรางวัลอันทรงเกียรติเช่นนี้

นอกจากนี้ ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ยังให้ความสำคัญและมีความห่วงใยผู้ประกอบวิชาชีพทนายความ โดยจะเดินหน้าพัฒนาเสริมสร้างวิชาการเพื่อเพิ่มศักยภาพในการประกอบวิชาชีพทางด้านกฎหมาย และจัดหาสวัสดิการต่างๆให้แก่ทนายความอย่างทั่วถึง ตลอดจนจัดให้ทนายความได้มีรายได้จากการนั่งให้คำปรึกษาประจำส่วนราชการ และสถานีตำรวจทั่วประเทศอย่างทั่วถึงต่อไป

สำหรับเกณฑ์การพิจารณารางวัลเทพทอง พระราชทาน ประเภทองค์กรดีเด่น มีเกณฑ์การพิจารณาที่เข้มงวด โดยองค์กรที่ได้รับการคัดเลือกจะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้

1. เป็นองค์กร หน่วยงาน บริษัท ห้างร้าน สมาคม มูลนิธิ ฯลฯ ที่ส่งเสริมกิจกรรมต่าง ๆ อันก่อให้เกิดการสร้างสรรค์สังคมและสิ่งที่ดีต่อประเทศ

2. เป็นองค์กรที่ไม่ประกอบกิจการที่ขัดต่อกฎหมายบ้านเมืองและจารีตประเพณีของไทย

3. เป็นองค์กรที่สนับสนุนกิจการด้านวิทยุ โทรทัศน์ และสื่อออนไลน์ สนับสนุนด้านการประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ข่าวสาร หรือเรื่องราวที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม

การได้รับรางวัลพระราชทานเทพทองในครั้งนี้ จึงถือเป็นเกียรติประวัติและความภาคภูมิใจของสมาชิกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ และเป็นกำลังใจสำคัญในการดำเนินงานเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและอำนวยความยุติธรรม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียมของประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ด้อยโอกาส

สืบต่อไป นอกจากนี้ ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ยังให้ความสำคัญในการประกอบวิชาชีพทนายความโดยเน้นในการที่จะพัฒนาองค์กรเพื่อเพิ่มศักยภาพ ด้วยการเติมเต็มทางวิชาการ การมีจริยธรรม มรรยาททนายความ และด้านการจัดสวัสดิการให้แก่ทนายความอย่างทั่วถึง รวมทั้งการจัดหารายได้สำหรับทนายความที่มีความประสงค์จะเข้ามาทำหน้าที่เป็นทนายความอาสาของสภาทนายความ ซึ่งได้เสนอให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้แก่สภาทนายความ เพื่อให้คำปรึกษา และช่วยเหลือประชาชนทางด้านกฎหมาย โดยเพิ่มงานให้ทนายความอาสา ในการนั่งให้คำปรึกษาประจำส่วนราชการ และสถานีตำรวจ โดยในปีงบประมาณ พ.ศ.2569 ได้ขอเพิ่มสถานีตำรวจ ให้ทนายความอาสาได้ไปนั่งให้คำปรึกษาอีกจำนวน 90 สถานีตำรวจ ซึ่งมีอยู่เดิมจำนวน 344 สถานีตำรวจ รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 434 สถานีตำรวจทั่วประเทศ

 

 

วิชาการสัญจรอำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา

คณะนิติศาสตร์ และสมาคมศิษย์เก่าคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ร่วมกับสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดโครงการอบรมด้านกฎหมาย เรื่องกฎหมายป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ซิมผี บัญชีม้า) โดย ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ และกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา โดย

ดร.อัญธิกา ณ พิบูลย์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เชิญพบกันในวันพุธที่ 26 มีนาคม 2568 เวลา 9.00-16.00 น. ที่สถาบัน

บัณฑิต

พัฒนบริหารศาสตร์ วิทยาเขตสีคิ้ว อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ทนายความและประชาชนท่านใดสนใจลงทะเบียนผ่าน QR Code

เข้าร่วมอบรม (ฟรี)

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3571.ศาลอุทธรณ์ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี เสียค่าขึ้นศาล 200 บาท

คำพิพากษาฎีกาที่ 2703/2567 (เล่ม 7 หน้า 1495) วันนัดสืบพยานโจทก์ซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อน ทนายจำเลยทั้งสองแถลงขอถอนคำให้การ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตและมีคำสั่งว่า เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ยื่นคำให้การถือว่าจำเลยทั้งสอง ขาดนัดยื่นคำให้การ เห็นสมควรให้โจทก์นำพยานหลักฐานเข้าสืบเกี่ยวกับข้ออ้างตามคำฟ้องของโจทก์ไปฝ่ายเดียว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 198 ทวิ วรรค 3(2) ประกอบ พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7 ในการสืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียวในกรณีจำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การเช่นนี้ โจทก์มีหน้าที่นำสืบพอให้เห็นว่า ข้ออ้างตามคำฟ้องมีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย

โจทก์อุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์มาตามทุนทรัพย์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองต้องผูกพันรับผิดตามสัญญา แล้วมิได้วินิจฉัยประเด็นอื่นต่อไป แต่ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและวินิจฉัยใหม่ตามรูปคดี เช่นนี้ชอบที่จะเรียกเก็บค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์อย่างคดี ที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้เพียง 200 บาท

(หมายเหตุ 1 จำเลยทั้งสองฏีกาว่า โจทก์มีภาระการพิสูจน์ตามข้อกล่าวอ้าง แต่โจทก์ไม่ได้นำพยานมาสืบว่า ธนาคาร ธ.จำกัด (มหาชน) ลงชื่อในสัญญาเช่าซื้อ สัญญาเช่าซื้อย่อมตกเป็นโมฆะ

2 ในทางพิจารณา โจทก์มีผู้รับมอบอำนาจโจทก์มาเบิกความเป็นพยานประกอบสัญญาเช่าซื้อและบันทึกข้อตกลง แก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ โดยระบุชื่อธนาคาร ธ. เป็นคู่สัญญาฝ่ายเจ้าของในช่องสำหรับลงลายมือชื่อเจ้าของ

3 ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยว่า โจทก์มีหน้าที่นำสืบพอให้เห็นว่า ข้ออ้างตามคำฟ้องมีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

จำเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขคุมความประพฤติที่ศาลกำหนด ต้องห้ามฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4235/2567 จำเลยไม่ชำระหนี้ให้แก่ผู้เสียหายตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งศาลชั้นต้นกำหนดเป็นเงื่อนไขเพื่อควบคุมความประพฤติของจำเลยไว้ เป็นกรณีที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติที่ศาลกำหนดตาม ป.อ. มาตรา 56 เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกเลิกการคุมประพฤติและให้ลงโทษจำคุกที่รอการลงโทษแก่จำเลย และจำเลยอุทธรณ์คำสั่งนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำพิพากษาแล้ว คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ย่อมเป็นที่สุด ตาม พ.ร.บ.คุมประพฤติ พ.ศ. 2559 มาตรา 34 วรรคสอง จำเลยจะฎีกาไม่ได้ การที่จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้รับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและผู้พิพากษาที่พิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำสั่งอนุญาตให้ฎีกามา จึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

สภาทนายความฯ จัดอบรมปฏิรูปทนายความอาสา ทนายความขอแรง และที่ปรึกษากฎหมายเด็กและเยาวชน ปี 2568 (ภาค 5) จังหวัดเชียงใหม่

เมื่อวันเสาร์ที่ 22 มีนาคม 2568 เวลา 08.30 – 16.30 น. ที่อาคารหอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ : ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมโครงการปฏิรูปทนายความอาสา ทนายความขอแรง และที่ปรึกษากฎหมายของเด็กหรือเยาวชน ประจำปีงบประมาณ 2568 โดยมี นางพรสวรรค์ สังข์สังวาลย์ ประธานสภาทนายความจังหวัดเชียงใหม่

โดยมีนายพรศักดิ์ สังข์สังวาลย์ กรรมการบริหารสภาทนายความภาค 5 กล่าวรายงาน และได้รับเกียรติจาก นายบรรชา ปิ่นใหญ่ ประธานสภาทนายความจังหวัดฝาง

นายวีระพงศ์ ศรีวงค์สงวน ประธานสภาทนายความจังหวัดฮอด นายเอกรัตน์ ชัยศรีสวัสดิ์ ประธานสภาทนายความจังหวัดเชียงราย นายบันดิษฐ์ ปุระตา ประธานสภาทนายความจังหวัดเทิงนายตรีเรก ศรีวิชัย ประธานสภาทนายความจังหวัดพะเยา ว่าที่ร้อยตรี กิตติพล อินนา ประธานสภาทนายความจังหวัดเชียงคำ นายอุเทน สุขทั่วญาติ ประธานสภาทนายความจังหวัดแพร่ และนายกิตติพันธ์ จันทร์หอม ประธานสภาทนายความจังหวัดลำปาง

นอกจากนี้ ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ให้เกียรติเป็นวิทยากรบรรยายหัวข้อ “จริยธรรมและมรรยาททนายความของทนายความอาสา” และ “กฎหมายเกี่ยวกับการเช่าซื้อ ค้ำประกัน สินเชื่อส่วนบุคคล และบัตรเครดิต” ดร.ชัยชีพ ชโลปถัมภ์ กรรมการฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย บรรยายหัวข้อ “หลักเกณฑ์การทำหน้าที่ทนายความอาสาและที่ปรึกษากฎหมายเด็กและเยาวชน” นายสัญญาภัชระ สามารถ อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ บรรยายหัวข้อ “การคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาในคดีอาญา การทำหน้าที่ทนายความขอแรงและที่ปรึกษากฎหมายของเด็กและเยาวชน” นายวีรศักดิ์ โชติวานิช อุปนายกฝ่ายเทคโนโลยีและสารสนเทศ รองเลขาธิการสภาทนายความ บรรยายหัวข้อ “กฎหมายเกี่ยวกับการปราบปรามธุรกรรมทางเทคโนโลยี การฉ้อโกง ฉ้อโกงประชาชน การฟอกเงิน” ซึ่งมีทนายความในจังหวัดเชียงใหม่และทนายความภาค 5 เข้าร่วมอบรมในครั้งนี้จำนวนมาก

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3569.คำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2104/2567 โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นว่าจำเลยที่ 2 เป็นคนร้าย โจทก์คงมีคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีลักษณะเป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกันกระทำผิดด้วยกัน แต่ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายบังคับโดยเด็ดขาดห้ามมิให้รับฟังคำซัดทอดนั้นและข้อเท็จจริงตามคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ก็เป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 บอกเล่าถึงความเป็นไปในการกระทำความผิด มิใช่กระทำไปโดยมุ่งต่อผลเพื่อให้จำเลยที่ 1 พ้นผิดแล้วให้จำเลยที่ 2 รับผิดเพียงลำพัง คำซัดทอดของจำเลยที่ 1 จึงรับฟังได้ แต่อย่างไรก็ตามการวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานบอกเล่า พยานซัดทอด หรือพยานที่จำเลยไม่มีโอกาสถามค้านนั้น ศาลจะต้องกระทำด้วยความระมัดระวังและไม่ควรเชื่อพยานหลักฐานนั้นโดยลำพังเพื่อลงโทษจำเลย เว้นแต่จะมีเหตุผลอันหนักแน่น มีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดี หรือมีพยานหลักฐานประกอบอื่นมาสนับสนุนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227/1 วรรคหนึ่ง สำหรับคดีนี้โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นถึงพฤติการณ์พิเศษแห่งคดีและไม่มีพยานหลักฐานประกอบอื่นมาสนับสนุนคำซัดทอดของจำเลยที่ 1 แม้โจทก์มีพันตำรวจโท พ. พนักงานสอบสวนเบิกความว่า ชั้นสอบสวนจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพก็ตาม แต่คำให้การชั้นสอบสวนดังกล่าวมิใช่พยานหลักฐานที่มีแหล่งที่มาเป็นอิสระต่างหากจากคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ทั้งไม่มีคุณค่าเชิงพิสูจน์ที่สามารถสนับสนุนให้คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 มีความน่าเชื่อถือมากขึ้นด้วย อันถือว่าเป็นพยานหลักฐานประกอบอื่นตามความหมายของพยานหลักฐานประกอบที่บัญญัติไว้ในมาตรา 227/1 วรรคสอง กรณีจึงไม่ใช่พยานหลักฐานประกอบอื่นที่สนับสนุนให้คำซัดทอดของจำเลยที่ 1 มีน้ำหนักรับฟังลงโทษจำเลยที่ 2 ได้ เมื่อโจทก์ไม่มีพยานบุคคลอื่นมานำสืบเกี่ยวกับการร่วมกันกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 อีก เช่นนี้ คำซัดทอดของจำเลยที่ 1 จึงไม่มีเหตุผลอันหนักแน่นไม่อาจนำมารับฟังลงโทษจำเลยที่ 2 ได้ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบจึงมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 2 เป็นคนร้ายที่ขับรถยนต์ของกลางให้จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนของกลางยิงผู้ตายถึงแก่ความตายหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยที่ 2 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง

เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์เป็นที่สงสัยว่า จำเลยที่ 2 เป็นคนร้ายที่ขับรถยนต์ของกลางให้จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนของกลางยิงผู้ตายถึงแก่ความตายดังวินิจฉัยข้างต้นแล้ว ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกันมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับใบอนุญาต แม้ความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกฟ้องในความผิดสองฐานนั้นได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และ 225 เพราะเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกัน

(หมายเหตุ 1 คดีนี้โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นถึงพฤติการณ์พิเศษแห่งคดีและไม่มีพยานหลักฐานประกอบอื่นมาสนับสนุนคำซัดทอดของจำเลยที่ 1 แม้โจทก์จะมีพนักงานสอบสวนมาเบิกความว่า ชั้นสอบสวนจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ แต่คำให้การชั้นสอบสวนดังกล่าวมิใช่พยานหลักฐานที่มีแหล่งที่มาเป็นอิสระต่างหากจากคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ทั้งไม่มีคุณค่าเชิงพิสูจน์ที่สามารถสนับสนุนให้คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 มีความน่าเชื่อถือมากขึ้นด้วย อันถือว่าเป็นพยานหลักฐานประกอบอื่นตามความหมายของพยานหลักฐานประกอบที่บัญญัติไว้ในมาตรา 227/1 วรรคสอง

2 แม้ว่าโจทก์จะมีคำเบิกความของพนักงานสืบสวน แต่ก็ได้มาจากการวิเคราะห์และตรวจสอบจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 เป็นผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ลงท้ายด้วยหมายเลข 7603 ที่อดีตภริยาจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงทะเบียนใช้โทรศัพท์เคลื่อนกับบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่)

(หลักกฎหมาย ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 215, 218 วรรคหนึ่ง, 225, 227 วรรคสอง, 227/1)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3568.ไม่ได้แจ้งวันนัดอ่านคำพิพากษาให้ผู้ร้องตาม ป.วิ.อ.มาตรา 44/1 ทราบ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4136/2567 ศาลชั้นต้นมิได้แจ้งวันนัดให้ผู้ร้องทั้งสองซึ่งยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 มาฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้นและไม่ได้อ่านคำพิพากษาให้ผู้ร้องทั้งสองฟัง อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 182 การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีส่วนแพ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 อย่างไรก็ตาม เมื่อการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ในคดีส่วนอาญาชอบด้วยกฎหมายแล้ว จึงเป็นความบกพร่องเฉพาะในคดีส่วนแพ่ง มิได้มีผลกระทบต่อคดีส่วนอาญา ศาลฎีกามีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีส่วนอาญาไปก่อนแล้วพิจารณาพิพากษาคดีส่วนแพ่งในภายหลังได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/2 วรรคหนึ่ง

(หมายเหตุ 1 คดีนี้จำเลยฎีกาในทำนองว่า ศาลล่างทั้งสองยังไม่ได้กำหนดโทษที่จะลงแก่จำเลย แล้วจึงลดมาตราส่วนโทษ

2 ศาลฎีกาวินิฉัยว่า ตาม ป.อ.มาตรา 76 การลดโทษเพราะเหตุอ่อนอายุตามบทมาตราดังกล่าวเป็นการลดจากมาตราส่วนโทษสำหรับความผิดที่จำเลยได้กระทำ ซึ่งในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นนั้น ป.อ. มาตรา 288 กำหนดระวางโทษไว้ให้ประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี เมื่อศาลชั้นต้นกำหนดโทษจำคุกในความผิดฐานนี้หลังจากลดโทษให้หนึ่งในสามแล้วเป็นจำคุกจำเลย 33 ปี 4 เดือน แสดงชัดอยู่ในตัวว่าศาลชั้นต้นเลือกใช้ระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตในการวางโทษจำเลย เมื่อจะลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 เช่นนี้ ป.อ. มาตรา 53 บัญญัติให้เปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุกห้าสิบปีเสียก่อน แล้วจึงลดมาตราส่วนโทษหนึ่งในสามจากโทษจำคุกห้าสิบปีนั้น คงเหลือโทษจำคุกที่จะลงแก่จำเลย 33 ปี 4 เดือน การลดมาตราส่วนโทษให้แก่จำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ชอบด้วยกฎหมายแล้ว)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

นายกสภาทนายความ เยี่นมให้กำลังใจทนายความอาสา ที่เจ็บป่วยจาก เลือดออกในเนื้อสมอง และนอนป่วยติดเตียง

❤️ไม่มีใครรักเราเท่าเรารักกัน

เมื่อวันศุกร์ที่ 21 มีนาคม 2568 เวลา 15.30 น. ที่สำนักงานว่าที่ร้อยตรีสุวิทย์ มะโน ตำบลล้อมแรด อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ได้เดินทางไปเยี่ยมให้กำลังใจ ว่าที่ร้อยตรีสุวิทย์ มะโน ทนายความอาสาของสภาทนายความ ซึ่งได้เจ็บป่วยจาก เลือดออกในเนื้อสมอง และนอนป่วยติดเตียง โดยมีคุณแม่ซึ่งเป็นผู้สูงอายุและพี่สาวคอยดูแล
เพื่อเป็นกำลังใจ ให้ว่าที่ร้อยตรีสุวิทย์ มะโน ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ได้มอบเงินให้แก่ว่าที่ร้อยตรีสุวิทย์ มะโน ไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาตัวเบื้องต้นด้วย
#เราจะไม่ทิ้งกัน #ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

#เราจะไม่ทิ้งกัน #ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง