ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3268.รวมโฉนดที่ดินไม่ทำให้มีภาระจำยอมในโฉนดที่ดินแปลงใหม่ทั้งหมด

คำพิพากษาฎีกาที่ 4105/2566 (เล่ม 12 หน้า 2941) ภาระจำยอมเป็นทรัพยสิทธิที่ตัดรอนอำนาจแห่งกรรมสิทธิ์ ของเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเรียกว่าภารยทรัพย์ในอันที่ต้องรับกรรมบางอย่างด้วยการงดเว้นการใช้สิทธิในทรัพย์สินของตนเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่นที่เรียกว่าสามายทรัพย์ โจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ได้มีการรวมที่ดิน ภารยทรัพย์กับที่ดินอื่นเป็นแปลงเดียวกันจำต้องผูกพันด้วยการงดเว้นการใช้สิทธิในที่ดินส่วนที่เคยเป็นที่ดินภารยทรัพย์ซึ่งได้จดทะเบียนเป็นภาระจำยอมในเรื่องทางเดิน ทางรถยนต์ ทางสาธารณูปโภคอื่นๆ แก่ที่ดินซึ่งเป็นสามยทรัพย์เท่านั้น

ภาระจำยอมเป็นทรัพยสิทธิซึ่งตัดรอนอำนาจแห่งกรรมสิทธิ์ของเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ ต้องแปลความโดยเคร่งครัดว่าภาระจำยอมที่ยังคงอยู่ในโฉนดที่ดินมีอยู่เฉพาะในที่ดินส่วนที่เคยเป็นที่ดินโฉนดเดิมซึ่งเป็นภารยทรัพย์เท่านั้น การรวมโฉนดที่ดินหลายแปลงเป็นโฉนดเดียวมิได้มีผลทำให้ภาระจำยอมเดิมในโฉนดที่ดินแปลงหนึ่งแปลงใดได้กระจายไปอยู่ในทุกส่วนของโฉนดที่ดินฉบับใหม่ ดังนั้น ที่ดินโฉนดใหม่ที่มีการรวมเป็นแปลงเดียวกันที่มิใช่เป็นส่วนของที่ดินภารยทรัพย์เดิม ย่อมไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับภาระจำยอมเรื่องทางเดิน ทางรถยนต์ ทางสาธารณูปโภคใดๆ แก่ที่ดินอื่นซึ่งมิใช่เป็นที่ดินสามยทรัพย์ ทั้งมิใช่เป็นกรณีที่ภาระจำยอมแตะต้องเพียงส่วนหนึ่งแห่งภารยทรัพย์ที่เจ้าของทรัพย์นั้นอาจเรียกให้ย้ายไปยังส่วนอื่นได้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1392 การที่โจทก์เจ้าของภารยทรัพย์มิได้เรียกให้จำเลยเจ้าของสามยทรัพย์ ย้ายภาระจำยอมจากด้านหลังไปอยู่ด้านหน้าโครงการ จึงไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

นับแต่ที่ได้มีการจดทะเบียนให้ที่ดินโฉนดเดิมตกอยู่ภายใต้บังคับภาระจำยอมบางส่วนเรื่องทางเดิน ทางรถยนต์ ทางสาธารณูปโภคอื่นๆ แก่ที่ดินโฉนดจวบจนถึงวันฟ้อง ไม่เคยมีการใช้ภาระจำยอมเกินกว่า 10 ปี ภาระจำยอมย่อมสิ้นไป ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1399 โจทก์ในฐานะเจ้าของภารยทรัพย์ชอบที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนภาระจำยอมได้

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3267.เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จดทะเบียนภาระจำยอมให้แก่บุคคลภายนอกโครงการ

คำพิพากษาฎีกาที่ 3795/2566 (เล่ม 12 หน้า 2888) การที่โจทก์จดทะเบียนภาระจำยอมในที่ดินที่เป็นถนนอันเป็นสาธารณูปโภคในโครงการหมู่บ้าน ศ. ซึ่งตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรให้แก่ที่ดินของจำเลยตามคำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้น โดยจำเลยเสนอค่าตอบแทน 350,000 บาท ตามมติที่ประชุมเจ้าหนี้ของโจทก์ ถือว่าเป็นการกระทำอันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมของผู้อาศัยในหมู่บ้าน ศ. ลดไปหรือเสื่อมความสะดวก และเป็นการก่อให้เกิดภาระผูกพันแก่ที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภค จะต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดินจังหวัด ตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 33 วรรคหนึ่ง และมาตรา 43 วรรคหนึ่ง

พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 เป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผู้ซื้อที่ดินจัดสรรอันเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การที่โจทก์จดทะเบียนภาระจำยอมในที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภคซึ่งตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรให้แก่ที่ดินของจำเลย โดยมิได้รับอนุญาตเป็นหนังสือ จากคณะกรรมการจัดสรรที่ดินจังหวัด แตกต่างจากบทบัญญัติของ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 33 วรรคหนึ่ง การจดทะเบียนภาระจำยอมตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 150 และมาตรา 151

ปัญหาว่า การจดทะเบียนภาระจำยอมในที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภคเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร อันเป็นการแตกต่างจากบทบัญญัติของ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 33 วรรคหนึ่ง ซึ่งตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 150 และมาตรา 151 เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 142(5) , 246 และ 252

(หมายเหตุ 1 การจดทะเบียนภาระจำยอมในที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภคของที่ดินจัดสรรให้แก่ที่ดินที่อยู่นอกโครงการจัดสรรที่ดิน ต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดินจังหวัด หากไม่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดินจังหวัดย่อมตกเป็นโมฆะ)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ และกรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3266.การยื่นอุทธรณ์ของโจทก์ในศาลแขวง

คำพิพากษาฎีกาที่ 3724/2566 (เล่ม 12 หน้า 2870) โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 350 ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า คดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน ของศาลชั้นต้นที่ฟังว่า จำเลยทั้งสี่ไม่มีเจตนาที่จะไม่ให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา อันเป็นปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 22 เว้นแต่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น พิเคราะห์เห็นว่า ข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์และอนุญาตให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 22 ทวิ

พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 22 ทวิ มิได้บัญญัติวิธีปฏิบัติ ในการยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ไว้โดยเฉพาะ ต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคท้าย มาใช้บังคับโดยอนุโลม ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 กล่าวคือ โจทก์ต้องยื่นคำร้องพร้อมกับคำฟ้องอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้น ขอให้ผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้

คดีต้องห้ามมิให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 22 โจทก์อุทธรณ์โดยมิได้ยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์มาพร้อมกับคำฟ้องอุทธรณ์ ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 224 วรรคสาม ซึ่งนำมาใช้โดยอนุโลม ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ว่า “รับอุทธรณ์ของโจทก์ สำเนาให้จำเลยทั้งสี่แก้ภายใน 15 วัน นับแต่วันรับสำเนาอุทธรณ์ ไม่มีผู้รับโดยชอบให้ปิด” โดยไม่มีข้อความอื่นให้เข้าใจว่าเป็นการอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 22 ทวิ ดังนั้น อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงของโจทก์ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 22

 

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3265.บันทึกข้อตกลงนอกศาล

คำพิพากษาฎีกาที่ 3639/2566 (เล่ม 12 หน้า 2855) คดีก่อนมีประเด็นในชั้นบังคับคดีว่า บันทึกข้อตกลงนอกศาล เป็นเหตุให้ศาลต้องงดการบังคับคดีโจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่ คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงเพิ่มเติมด้วยการถอนการบังคับคดีให้แก่โจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่ เป็นคนละประเด็นและคนละคดีกัน เมื่อประเด็นที่ศาลต้องวินิจฉัยในคดีนี้เป็นคนละประเด็นกับคดีก่อน ฟ้องของโจทก์ทั้งห้าคดีนี้มิใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144

บันทึกข้อตกลงเพิ่มเติมมีสาระสำคัญว่า หากโจทก์ทั้งห้าชำระเงิน 1,150,000 บาทแก่จำเลย ภายในวันที่ 16 ธันวาคม 2558 จำเลยตกลงให้หนี้ตามฟ้องในคดีก่อนของศาลชั้นต้นและหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นอันระงับไป และจะดำเนินการถอนการบังคับคดี แต่ถ้าโจทก์ทั้งห้าผิดนัดยอมชำระเงินเต็มตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นเงิน 1,411,825,399.81 บาท และดอกเบี้ย เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับการชำระหนี้ตามคำพิพากษา ตามยอมและเงื่อนไขการบังคับคดีในคดีก่อนของศาลชั้นต้น โจทก์ทั้งห้าและจำเลยยังคงอ้างและใช้คำพิพากษาตามยอม เป็นหลักในการชำระหนี้ จึงเป็นข้อตกลงในชั้นบังคับคดี มิใช่ข้อตกลงเพื่อลบล้างยกเลิกหรือเพิกถอนคำพิพากษาตามยอมที่ขัดต่อกฎหมายและเป็นโมฆะ ย่อมมีผลบังคับผูกพันจำเลยและโจทก์ทั้งห้า

จำเลยให้การรับว่า ได้ทำบันทึกข้อตกลงเพิ่มเติมซึ่งเป็นข้อตกลงในชั้นบังคับคดีจริง แต่ให้การกล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่ว่า บันทึกข้อตกลงเพิ่มเติมกระทำขึ้นเพราะโจทก์ทั้งห้าหลอกลวงฉ้อฉลโดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จ จำเลยมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามที่กล่าวอ้าง

 

 

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ และกรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3264.บรรยายฟ้องขอให้ปล่อยทรัพย์

คำพิพากษาฎีกาที่ 3484/2566 (เล่ม 12 หน้า 2815) ป.วิ.พ. มาตรา 323 อยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติ มาตรา 55 ผู้ร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ต้องบรรยายคำร้องขอโดยชัดแจ้งว่ามีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ระหว่างผู้ร้องกับโจทก์ตามกฎหมายแพ่งอันเป็นข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา จึงจะมีสิทธินำพยานหลักฐานเข้าสืบตามข้ออ้างได้ การที่ผู้ร้องมิได้บรรยายคำร้องขอว่า โจทก์รับจำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์โดยไม่มีค่าตอบแทนหรือไม่สุจริต หรือไม่ได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต จึงไม่มีประเด็นที่ผู้ร้องจะนำพยานเข้าสืบเป็นข้อต่อสู้โจทก์เพื่อให้ศาลวินิจฉัย เช่นนี้คดีต้องฟังว่าโจทก์รับจำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์โดยเสียค่าตอบแทนและโดยทุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว ผู้ร้องจะอ้างสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทอันเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ผู้ร้องได้มาโดยการส่งมอบการครอบครองแต่ยังมิได้จดทะเบียนการได้มานั้นขึ้นยันโจทก์ไม่ได้

ที่ดินพิพาทไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ มีเพียงสิทธิครอบครองตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) แม้อาจโอนได้โดยการส่งมอบการครอบครองตาม ป.พ.พ.มาตรา 1377 ถึงมาตรา 1380 แต่เมื่อการได้มาซึ่งที่ดินพิพาทตามคำร้องขอของผู้ร้องเป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ย่อมต้องอยู่ในบังคับ มาตรา 1299 วรรคสอง ด้วย

ฎีกาของผู้ร้องที่ว่า จำเลยไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาทไม่มีสิทธินำที่ดินไปจดทะเบียนจำนองแก่โจทก์ การจำนองไม่มีผลผูกพันผู้ร้อง เป็นการฎีกาโต้แย้งข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมาย เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงมิใช่ปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อผู้ร้องมิได้กล่าวในคำร้องขอให้เป็นประเด็นไว้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7

(หมายเหตุ 1 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ โดยบรรยายคำร้องขอว่าได้รับการยกให้ที่ดินพิพาทจากจำเลยและมีการส่งมอบให้ผู้ร้องเข้าครอบครองทำประโยชน์โดยการทำนา ปลูกพืชหมุนเวียนและเลี้ยงสัตว์มาเป็นเวลา 24 ปี โดยไม่ได้บรรยายคำร้องว่า จำเลยไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาทไม่มีสิทธินำที่ดินไปจดทะเบียนจำนองแก่โจทก์ การจำนองไม่มีผลผูกพันผู้ร้อง จึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทดังกล่าว)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3263.ตกลงหย่ากันโดยการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ

คำพิพากษาฎีกาที่ 3755/2566 (เล่ม 12 หน้า 2879) ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1523 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ภริยาจะได้รับค่าทดแทนจากสามีได้ต้องเป็นกรณีที่ศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุที่สามีอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภรรยา เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับหญิงอื่นเป็นอาจิณ ส่วนภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่น ซึ่งแสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาว มีได้ 2 กรณีคือ กรณีที่เรียกค่าแทนโดยมีเงื่อนไขต้องฟ้องหย่า และศาลพิพากษาให้หย่ากันตามมาตรา 1523 วรรคหนึ่ง กับกรณีที่เรียกค่าทดแทนโดยไม่มีเงื่อนไขต้องฟ้องหย่าตามมาตรา 1523 วรรคสอง

โจทก์ฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 1 โดยการฟ้องหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคหนึ่ง แต่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงหย่ากันโดยให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียว ต้องถือว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงประนีประนอมยอมความกันในประเด็นหย่า และอำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ มิใช่กรณีที่ศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุมาตรา 1516(1) โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 1 ส่วนกรณีของจำเลยที่ 2 โจทก์ได้บรรยายคำฟ้องไว้ด้วยว่า จำเลยที่ 2 แสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ไปทำนองชู้สาว โจทก์มีสิทธิเรียกค่าทดแทนได้โดยไม่ต้องมีเงื่อนไขฟ้องหย่าจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยทั้งสองมีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวต่อกันในลักษณะที่จำเลยที่ 2 ได้แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าจำเลยที่ 2 มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยที่ 1 สามีโจทก์ โดยรู้ว่าจำเลยที่ 1 มีโจทก์เป็นภริยาอยู่แล้ว โจทก์มีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ได้ ตามมาตรา 1523 วรรคสอง

(หมายเหตุ 1 ในทางพิจารณาโจทก์นำสืบได้ว่า จำเลยที่ 1 เข้าออกห้องพักของจำเลยที่ 2 ที่พักอาศัยเป็นประจำ และพักค้างคืนกับจำเลยที่ 2 เพียงลำพังที่ห้องพักดังกล่าว และจำเลยทั้งสองพากันเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ โดยเปิดเผย

2 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าทดแทน 200,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย

3 ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรลดลง

4 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงประนีประนอมยอมความกันในประเด็นหย่า มิใช่กรณีที่ศาลพิพากษาให้หย่ากันตามมาตรา 1516(1) โดยมีคำวินิจฉัยดังกล่าวข้างต้นและพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าทดแทน 100,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์)

 

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ และกรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

อบรมโครงการทนายพี่เลี้ยง รุ่นที่ 16

สถาบันพัฒนาวิชาชีพทนายความ เปิดอบรมโครงการทนายพี่เลี้ยง รุ่นที่ 16

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 พฤษภาคม 2567 เวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุม ชั้น 4 สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ : ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ เป็นประธานพิธีเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการในโครงการทนายพี่เลี้ยง รุ่นที่ 16 เรื่อง การเพิ่มทักษะการว่าความให้ทนายความใหม่ การร่างคำฟ้องคดีฉ้อโกง และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 การจัดทำคำให้การ การยื่นคำร้อง และการจัดทำเอกสารต่างๆ โดยมี ดร.วิรัลพัชร เวธทาวริทธิ์ธร อุปนายกฝ่ายวิชาการ เป็นผู้กล่าวรายงาน นายสยุม ไกรทัศน์ กรรมการฝ่ายวิชาการ เป็นผู้ดำเนินรายการ

นอกจากนี้ยังมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒินำโดยนายปฎิกรณ์ คงพิพิธ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ภาค 1 และนายสมชาย พนมรักษ์ อัยการผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานคณะกรรมการอัยการ มาเพิ่มเติมทักษะการว่าความพร้อมด้วยคณะกรรมการฝ่ายวิชาการทนายความ และผู้มีความเชี่ยวชาญด้านคดีความอีกจำนวนมากมาช่วยอำนวยการอบรมในครั้งนี้

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3262.นายจ้างใช้สิทธิไล่เบี้ยลูกจ้างให้รับผิดชำระหนี้ละเมิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4382/2566 ตามคำพิพากษาในคดีก่อน ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยในส่วนความรับผิดของโจทก์เพียงข้อหาเดียวว่า โจทก์เป็นนายจ้างของ ป. และ ป. ได้กระทำละเมิดในทางการที่จ้าง โจทก์จึงต้องร่วมรับผิดชดใช้ความเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสามในคดีก่อน และวินิจฉัยถึงความรับผิดของจำเลยโดยสรุปว่า จำเลยดำเนินการด้วยความประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ ป. มีโอกาสเบียดบังเอาหุ้นของโจทก์ที่มีชื่อ ว. เป็นผู้ถือหุ้นไปโดยทุจริต จึงเป็นการกระทำละเมิดต้องร่วมรับผิดชดใช้ความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามในคดีก่อนด้วย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามคำวินิจฉัยของศาลในคดีก่อนว่า ป. และจำเลยเป็นผู้ทำละเมิด และต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามในคดีก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 และเมื่อเป็นหนี้ร่วม ป. และจำเลยจึงต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 296 ส่วนโจทก์ต้องร่วมรับผิดในฐานะเป็นนายจ้างของ ป. เท่านั้น ความรับผิดของโจทก์และ ป. จึงเสมือนเป็นบุคคลเดียวกันที่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยในการชดใช้ความเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสามในคดีก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 425 และเนื่องจากเป็นลูกหนี้ร่วมตามคำพิพากษา โจทก์จึงต้องร่วมรับผิดชําระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาโดยสิ้นเชิงเช่นเดียวกับ ป. และจำเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 291 แต่ความรับผิดของโจทก์นั้นเป็นผลมาจากบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติให้นายจ้างต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างซึ่งได้กระทำละเมิดในทางการที่จ้างด้วย มิได้เป็นผลมาจากการกระทำของโจทก์แต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อโจทก์ชําระหนี้ตามคำพิพากษาในคดีก่อนไปแล้ว ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับชดใช้จาก ป. ผู้เป็นลูกจ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 426 และรับช่วงสิทธิมาไล่เบี้ยจากจำเลยได้อีกส่วนหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 227

ส่วนที่จำเลยอ้างว่าบันทึกข้อตกลงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ หลังจากบริษัท ม. ได้ชําระหนี้คืนให้แก่โจทก์หนึ่งในสามส่วนแทนจำเลยตามบันทึกข้อตกลงแล้ว หนี้ในส่วนของจำเลยจึงระงับไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 852 นั้น ตามคำให้การจำเลยมิได้ต่อสู้คดีว่า โจทก์และจำเลยได้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันอันมีผลทำให้ข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยระงับสิ้นไปแล้ว ฎีกาของจำเลยในข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 252 ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้

การที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้อุทธรณ์ในข้อใดเป็นดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ตามที่เห็นสมควร หากเห็นว่าแม้จะวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้อุทธรณ์ไปอย่างไรก็ไม่ทำให้ผลคดีตามที่ได้วินิจฉัยแล้วเปลี่ยนแปลงไป ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจไม่วินิจฉัยในข้อนั้นได้

 

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ และกรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ

3261.ทำเอกสารเบิกเงินงบประมาณเพื่อจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4639/2566 จำเลยที่ 1 แม้ไม่มีฐานะหรือคุณสมบัติเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ตามกฎหมายโดยตรงในการดูแลและประสานโครงการจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟบ้านบ่อน้ำใส ประจำปีงบประมาณ 2557 อันจะร่วมกระทำความผิดเป็นตัวการหรือเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่องค์การบริหารส่วนตำบล ต. และปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตได้ แต่การที่จำเลยที่ 1 ให้ ว. ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทำบันทึกตกลงซื้อบั้งไฟและบันทึกตกลงจ้างเหมาวงดนตรีกลองยาวนำขบวนแห่เสนอให้ ร. นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ต. ลงนามในเอกสารดังกล่าว และให้ ว. ทำสัญญายืมเงินอันเป็นเท็จแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ได้นำเงินงบประมาณดังกล่าวไปจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟ เป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นจากเงินงบประมาณ และจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้บังคับบัญชามีอำนาจเหนือสามารถให้คุณให้โทษแก่จำเลยที่ 2 ว. และ ป. ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา ได้พูดจาว่าจะเป็นผู้รับผิดชอบด้วยตนเองเพื่อเร่งรัดให้จำเลยที่ 2 ว. และ ป. ซึ่งเป็นคณะกรรมการตรวจรับพัสดุและมีหน้าที่ทำเอกสาร กรอกข้อความลงในใบตรวจรับพัสดุ ได้จัดทำใบตรวจรับพัสดุว่าผู้ขายส่งมอบบั้งไฟตามบันทึกตกลงซื้อคุณภาพถูกต้องครบถ้วน และคณะกรรมการตรวจรับพัสดุได้รับบั้งไฟซึ่งตรวจรับถูกต้องสมควรจ่ายเงินให้แก่ผู้รับจ้างอันเป็นเท็จ และทำใบตรวจรับพัสดุว่าผู้รับจ้างส่งมอบงานจ้างเหมาวงดนตรีกลองยาวนำขบวนแห่งวดสุดท้ายถูกต้องและครบถ้วน จึงสมควรจ่ายค่าจ้างให้แก่ผู้รับจ้างอันเป็นเท็จนั้น เป็นการกระตุ้นส่งเสริมเร่งเร้าหรือโน้มน้าวชักจูงใจจำเลยที่ 2 ว. และ ป. มุ่งกระทำให้หนักแน่นยิ่งขึ้น จนจำเลยที่ 2 ว. และ ป. ยินยอมลงชื่อในใบตรวจรับพัสดุดังกล่าวทั้งสองฉบับ เพื่อรับรองเป็นหลักฐานว่าตนได้กระทำการอย่างใดขึ้นหรือว่าการอย่างใดได้กระทำต่อหน้าจำเลยที่ 2 ว. และ ป. อันเป็นเท็จและรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการสนับสนุนให้จำเลยที่ 2 ว. และ ป. กระทำความผิดดังกล่าวก่อนหรือขณะกระทำความผิดซึ่งครบองค์ประกอบความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนให้จำเลยที่ 2 ว. และ ป. เจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่องค์การบริหารส่วนตำบล ต. และปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับประโยชน์จากเงินงบประมาณในการจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟที่ไม่ควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย

 

 

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ และกรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3260.ป้ายไวนิลโฆษณา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3765/2566 คดีนี้โจทก์ฟ้องของให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาตรา 3, 32, 43 ซึ่งมาตรา 32 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม” และวรรคสองบัญญัติว่า “การโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ใด ๆ โดยผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภทให้กระทำได้เฉพาะการให้ข้อมูลข่าวสาร และความรู้เชิงสร้างสรรค์สังคม โดยไม่มีการปรากฏภาพของสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น เว้นแต่เป็นการปรากฏของภาพสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสัญลักษณ์ของบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นเท่านั้น ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง” ได้ความจาก ส. พยานโจทก์เบิกความตอบคำถามค้านว่า ภาพช้างสีขาวสองเชือกหันหน้าเข้าหากันภายใต้น้ำพุสีเหลืองทองประกอบข้อความภาษาไทยสีขาวว่า “เครื่องดื่มตราช้าง” ข้อความภาษาอังกฤษสีขาวว่า “Chang” บนพื้นหลังสีเขียวตรงกับเครื่องหมายการค้าของบริษัท บ. ซึ่งจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าประเภทน้ำดื่ม เครื่องดื่มน้ำแร่ น้ำโซดา และขวดน้ำดื่มตราช้าง และมีสัญลักษณ์ตรงกับเครื่องดื่มตราช้างบนแผ่นป้ายไวนิล อีกทั้งภาพถ่ายขวดเบียร์ช้างไม่มีคำว่าเครื่องดื่มตราช้าง มีแต่ถ้อยคำเป็นภาษาอังกฤษว่า “PRODUCT OF THAILAND”, “LAGER BEER”, “CLASSIC BEER” และ ส. ยอมรับอีกว่า บริษัท บ. จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับเบียร์ น้ำดื่ม น้ำโซดาและน้ำแร่ แยกต่างหากจากกัน ย่อมแสดงให้เห็นว่า แผ่นป้ายไวนิลตามฟ้องเป็นเพียงเครื่องหมายการค้าที่แสดงว่าเป็นเครื่องหมายการค้าที่ใช้กับสินค้าน้ำดื่ม น้ำโซดาและน้ำแร่ จึงเป็นการส่งเสริมการขายสินค้าประเภทน้ำดื่ม น้ำโซดาและน้ำแร่ มิใช่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามนิยาม “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาตรา 3 การที่จำเลยติดแผ่นป้ายไวนิลที่หน้าร้านจึงไม่เป็นการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามฟ้อง

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ และกรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849