ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3272.อายุความผู้สาบสูญเรียกทรัพย์สินคืน

คำพิพากษาฎีกาที่ 4656/2566 (เล่ม 12 หน้า 2963) ศาลมีคำสั่งแสดงว่าโจทก์เป็นคนสาบสูญ ถือว่าโจทก์ถึงแก่ความตายเมื่อครบกำหนดระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่โจทก์ได้ไปเสียจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่โดยไม่มีใครรู้แน่ว่าโจทก์ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 62 ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นมรดกของโจทก์ย่อมตกทอดได้แก่ ม. มารดาโจทก์ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมทันทีเมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ตามมาตรา 1602 และ ม. ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของโจทก์ตามคำสั่งศาล ได้จดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินพิพาทมาเป็นของตน แม้ต่อมาศาลได้มีคำสั่งถอนคำสั่งที่ให้โจทก์เป็นคนสาบสูญ คำสั่งนั้นย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงความสมบูรณ์แห่งการทั้งหลายอันได้ทำไปโดยสุจริตในระหว่างเวลาตั้งแต่ศาลมีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญจนถึงเวลาถอนคำสั่งนั้น ตามมาตรา 63 วรรคหนึ่ง ที่ดินพิพาทจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของ ม. โดยผลของกฎหมาย ไม่ใช่เรื่อง ม. ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ เพราะการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382 ต้องเป็นการครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่น จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ม. ไม่อาจอ้างว่า ม. ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์

ศาลมีคำสั่งถอนคำสั่งที่ให้โจทก์เป็นคนสาบสูญเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2563 มีผลให้โจทก์กลับเป็นบุคคลผู้มีสิทธิตามกฎหมาย รวมทั้งการใช้สิทธิทางศาลได้ดังเดิม เช่นนี้ต้องถือว่า วันดังกล่าวเป็นวันที่โจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกที่ดิน พิพาทคืน อายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มากตรา 419 ประกอบมาตรา 63 วรรคท้าย ต้องเริ่มนับแต่วันดังกล่าว โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 22 มิถุนายน 2563 คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ

(หมายเหตุ 1 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์เป็นคนสาบสูญ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2552

2 เมื่อปี พ.ศ. 2557 โจทก์ได้กลับมาบ้าน หลังจากนั้น ม.มารดาถึงแก่กรรม จำเลยทั้งสองจึงเป็นผู้จัดการมรดกของ ม.

3 วันที่ 9 มีนาคม 2563 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพื่อถอนคำสั่งให้โจทก์เป็นคนสาบสูญ

4 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตราบใดที่ศาลยังไม่ได้มีคำสั่งถอนคำสั่งให้โจทก์เป็นคนสาบสูญ ก็ต้องถือว่าโจทก์ยังเป็นบุคคลที่ถึงแก่ความตาย ไม่อาจใช้สิทธิใดๆตามกฎหมายได้ เมื่อปรากฏว่า ศาลเพิ่งมีคำสั่งถอนคำสั่งให้โจทก์เป็นคนสาบสูญ ซึ่งมีผลทำให้โจทก์กลับเป็นบุคคลผู้มีสิทธิตามกฎหมาย รวมทั้งสิทธิในการใช้สิทธิทางศาลได้ดังเดิม โจทก์ต้องฟ้องเรียกเอาทรัพย์คืนภายในกำหนดหนึ่งปี)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

 

นายกฯเป็นประธานในพิธีพระราชทานเพลิงศพ

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 พฤษภาคม 2567 เวลา 16.00 น.ที่วัดเขาป่าแก้ว ตำบลวังน้ำเย็น อำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ได้เดินทางไปเป็นประธานในพิธีพระราชทานเพลิงศพคุณแม่สาคู ชมกุล คุณแม่ของนายสุชาติ ชมกุล อุปนายกสภาทนายความ ฝ่ายกิจการพิเศษ

 

 

 

ดร.วิเชียร เป็นประธานพิธีเปิดการอบรมโครงการปฏิรูปทนายความอาสา ทนายความขอแรง และที่ปรึกษากฎหมายของเด็กหรือเยาวชน ประจำปีงบประมาณ 2567 จังหวัดตรัง

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 พฤษภาคม 2567 เวลา 08.30 – 16.30 น. ที่โรงแรมเรือรัษฎา ถนนพัทลุง ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง : ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมโครงการปฏิรูปทนายความอาสา ทนายความขอแรง และที่ปรึกษากฎหมายของเด็กหรือเยาวชน ประจำปีงบประมาณ 2567 โดยมี นายอรรณนพ ชูอ่อน ประธานสภาทนายความจังหวัดตรัง กล่าวต้อนรับ นายโอฬาร กุลวิจิตร กรรมการบริหารสภาทนายความ ภาค 9 กล่าวรายงาน นายไพบูลย์ แย้มเอม อุปนายกฝ่ายสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ ผู้ดำเนินรายการ

โดยมี ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ให้เกียรติเป็นวิทยากรบรรยายหัวข้อ “ประมวลจริยธรรมและมรรยาททนายความของทนายความอาสา” นายสมพร ดำพริก อุปนายกฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย บรรยายหัวข้อ “บทบาททนายความอาสากับการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย” นายโอฬาร กุลวิจิตร กรรมการบริหารสภาทนายความภาค 9 บรรยาย หัวข้อ “การดำเนินคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ“ นายวีรศักดิ์ โชติวานิช อุปนายกฝ่ายเทคโนโลยีและสารสนเทศ/รองเลขาธิการ บรรยาย หัวข้อ “พระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ.2562” นายสัญญาภัชระ สามารถ อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ บรรยายหัวข้อ “ทนายความอาสากับการคุ้มครองสิทธิมุนษยชนในคดีอาญา” และทั้งนี้ได้รับเกียรติจากทนายความในจังหวัดตรัง และทนายความภาค 9 เข้าร่วมอบรมจำนวนมาก

 

ประชุมคณะกรรมการศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์ 3 จังหวัดชายแดนใต้ สัญจรจังหวัดตรัง

เมื่อวันเสาร์ที่ 25 พฤษภาคม 2567 เวลา 20.00 น. ที่โรงแรมธรรมรินทร์ธนา จังหวัดตรัง ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ได้เดินทางไปเป็นประธานกรรมการประชุมคณะกรรมการศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเป็นการประชุมสัญจรที่จังหวัดตรัง เพื่อหารือแนวทางการจัดสวัสดิการให้ทนายความในพื้นที่เสี่ยงภัย และการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายเชิงรุกและอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนให้ทั่วถึง

อนึ่ง ในการประชุมครั้งนี้ได้รับการต้อนรับจากนายอรรณพ ชูอ่อน ประธานสภาทนายความจังหวัดตรัง นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจากนายโอฬาร กุลวิจิตร กรรมการบริหารสภาทนายความภาค 9 นายจำนงค์ ศรีจันทร์ ประธานสภาทนายความจังหวัดปัตตานี นายรังสฤษดิ์ ศรีสองคอน ประธานสภาทนายความจังหวัดนราธิวาส นายจักรพงษ์ พลรักษ์ ประธานสภาทนายความจังหวัดเบตง นายธีรพงศ์ ดนสวี ประธานสภาทนายความจังหวัดนาทวี นายธีรยุทธ เบญจเดชา ประธานสภาทนายความจังหวัดยะลา ตลอดจนคณะกรรมการศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์ 3 จังหวัดชายแดนใต้ทุกท่านเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3271.โอนขายที่ดินเพื่อนำไปจำนองธนาคาร นำเงินไปใช้ในการลงทุน ไม่มีเจตนาซื้อขายจริง

คำพิพากษาฎีกาที่ 3636/2566 (เล่ม 12 หน้า 2844) จำเลยยินยอมจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่ น. เพื่อเป็นการช่วยเหลือครอบครัว น. ให้นำที่ดินพิพาทพร้อมบ้านพักอาศัยไปจำนองแก่ธนาคารเพื่อนำเงินมาใช้ในการลงทุน โดยมิได้มีเจตนาซื้อขายกันจริง การทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทพร้อมบ้านระหว่างจำเลยกับ น. เป็นการแสดงเจตนาลวง โดยสมรู้กันระหว่างจำเลยกับ น. นิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทพร้อมบ้านย่อมตกเป็นโมฆะกรรม ตาม ป.พ.พ.มาตรา 155

โจทก์ทั้งสองรู้เห็นว่า จำเลยมีข้อพิพาทเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทกับ น. โดยจำเลยเคยเตือนโจทก์ทั้งสองมิให้ทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินพิพาทพร้อมบ้านซึ่งจำเลยยังพักอาศัยในที่ดินพิพาทตลอดมา โจทก์ทั้งสองกลับทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทจาก น. ย่อมไม่อาจรับฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสองเป็นบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตซึ่งต้องเสียหายอันเกิดแต่การแสดงเจตนาลวง โจทก์จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ.มาตรา 155 เมื่อการทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาท และบ้านระหว่างจำเลยกับ น. เป็นโมฆะกรรม น. ย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทพร้อมบ้าน โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้รับโอนต่อจาก น. ย่อมไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน โจทก์ทั้งสองไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทพร้อมบ้าน ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่ และเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลย

(หมายเหตุ 1 เดิมจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทพร้อมบ้าน ต่อมาจำเลยจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทพร้อมบ้านให้แก่นาง น.น้องสะใภ้จำเลย และในวันเดียวกันนาง น.นำที่ดินพิพาทพร้อมบ้านจดทะเบียนจำนองเป็นประกันการชำระหนี้แก่ธนาคาร

2 ต่อมาธนาคารได้โอนสิทธิการรับจำนองให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ ส. หลังจากนั้นบริษัทบริหารสินทรัพย์ ส.ยื่นฟ้องบังคับนาง น.ชำระหนี้ และนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทพร้อมบ้านเพื่อนำออกขายทอดตลาด

3 โจทก์ที่ 1 ยื่นคำร้องขัดทรัพย์อ้างว่า ได้ซื้อที่ดินพิพาทพร้อมบ้านจากนาง น. แล้วตั้งแต่เดือนกันยายน 2556

4 จำเลยยื่นคำคัดค้านคำร้องขัดทรัพย์ ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนคำร้องขัดทรัพย์

5 วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 จำเลยไปหาโจทก์ที่ 1 ที่บ้านและบอกว่าอย่าซื้อที่ดินพิพาทเพราะจำเลยมีข้อพิพาทกับ น.

6 วันที่ 17 มีนาคม 2563 จำเลยมอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือแจ้งโจทก์ที่ 1 ระงับการทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินพิพาท

7 วันที่ 18 มีนาคม 2563 นาง น.จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทพร้อมบ้าน แล้วจดทะเบียนโอนขายให้แก่โจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงฟ้องขับไล่จำเลยเป็นคดีนี้

8 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินพิพาทพร้อมบ้าน

9 ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง

10 ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยข้างต้น โดยพิพากษายืน)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ และกรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

 

 

สภาทนายความ จัดอบรมวิชาการสัญจรจังหวัดพัทลุง

วิชาการสัญจรจังหวัดพัทลุง

⚖️เมื่อวันเสาร์ที่ 25 พฤษภาคม 2567 เวลา 09.00-12.00 น. ที่ โรงแรมศิวา รอยัล พัทลุง จังหวัดพัทลุง : ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ เป็นประธานเปิดการอบรมวิชาการสัญจร จังหวัดพัทลุง เรื่อง “พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 โดยมี นายโกสิทธิ์ บุญมณี ประธานสภาทนายความจังหวัดพัทลุง กล่าวต้อนรับ นายโอฬาร กุลวิจิตร กรรมการบริหารสภาทนายความภาค 9 กล่าวรายงาน นายโอภาส หนูชิด กรรมการสภาทนายความจังหวัดพัทลุง เป็นผู้ดำเนินรายการ

นอกจากนี้ ดร. วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ นายวีรศักดิ์ โชติวานิช อุปนายกฝ่ายเทคโนโลยีและสารสนเทศ/รองเลขาธิการสภาทนายความ นายโอฬาร กุลวิจิตร กรรมการบริหารสภาทนายความภาค 9 ให้เกียรติเป็นวิทยากรบรรยาย หัวข้อ “พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565” และ “พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559” ซึ่งมีทนายความจังหวัดพัทลุงและทนายความภาค 9 ลงทะเบียนเข้าร่วมอบรมในครั้งนี้เป็นจำนวนมาก

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ออกโฉนดที่ดินทับที่ดินที่มีการครอบครองกันเป็นส่วนสัด 

คำพิพากษาฎีกาที่ 5136/2566 (เล่ม 12 หน้า 3001) ฟ้องโจทก์ยืนยันว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์มาแต่เดิมตั้งแต่เป็นที่ดินมือเปล่า แม้ภายหลังทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก) แล้วเปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดิน ปรากฏว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตโฉนดที่ดินของจำเลย แต่โจทก์ก็ยังคงยืนยันว่า โจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทในฐานะเจ้าของที่ดินพิพาทอยู่ จำเลยให้การต่อสู้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยไม่ใช่ของโจทก์ คดีมีประเด็นว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่ ไม่มีประเด็นว่า โจทก์ครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทหรือไม่ด้วย เพราะการครอบครองปรปักษ์จะเกิดมีขึ้นได้แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น

จ. แบ่งที่ดินให้แก่โจทก์ และ ท. โจทก์และ ท. เข้าครอบครองที่ดินเป็นส่วนสัดในฐานะ เจ้าของตลอดมาโดยมีคันนาและต้นไม้เป็นแนวเขต และที่ดินพิพาทอยู่ในเขตที่ดินที่โจทก์ได้รับการยกให้จาก จ. ขณะนั้นที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่ามีเพียงสิทธิครอบครอง การที่ จ. แบ่งที่ดินพิพาทให้โจทก์ แล้วโจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์โดยเจตนา ยึดถือเพื่อตน เป็นกรณี จ. สละการครอบครองและโจทก์ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367, 1377 วรรคหนึ่ง, 1378 โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท การที่เจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดที่ดินครอบคลุมที่ดินพิพาทให้แก่ ช. ซึ่งไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาท จึงเป็นการออกโฉนดที่ดินทับที่ดินพิพาทของโจทก์ เป็นการออกโฉนดที่ดินโดยไม่ชอบด้วย ป.ที่ดิน มาตรา 58 ทวิ

แม้โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยการครอบครองปรปักษ์ ศาลก็มีอำนาจพิพากษาให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเฉพาะส่วนที่ทับที่ดินพิพาทได้ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 61 วรรคแปด และกรณีเป็นคดี ฟ้องเรียกอสังหาริมทรัพย์ ศาลมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนเสาปูนรั้วลวดหนาม ออกจากที่ดินพิพาทได้ ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 142(1)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3269.ขายที่ดินตามใบจอง

คำพิพากษาฎีกาที่ 5116/2566 (เล่ม 12 หน้า 2993) ที่ดินพิพาทมีหนังสือที่ทางราชการได้ยอมให้เข้าครอบครอง ที่ดินชั่วคราวหรือใบจอง (น.ส. 2) อยู่ในบังคับตาม พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 8 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า “ที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้จับจองแต่ยังไม่ได้รับคำรับรองจากนายอำเภอว่าได้ทำประโยชน์แล้ว ผู้ได้รับอนุญาตจะโอนไปไม่ได้เว้นแต่จะตกทอดโดยทางมรดก” ทั้งยังต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับ ข้อกำหนด และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดโดยครบถ้วน ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 30 การที่ ม.บิดาโจทก์ได้รับใบจอง (น.ส 2) ให้ครอบครองที่ดินพิพาท แล้วขายให้แก่ ป. โดยส่งมอบการครอบครองที่ดินและใบจอง (น.ส.2) ให้แก่ ป. ยึดถือไว้ ซึ่งเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งตามกฎหมายเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 150 (มาตรา 113 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น) ที่ดินพิพาทจึงยังเป็นของรัฐ และแสดงว่า ม. สละเจตนาครอบครองไม่ยึดถือที่ดินพิพาทอีกต่อไป ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1377 วรรคหนึ่ง ม. จึงไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทที่จะเป็นมรดกตกทอดแก่โจทก์ผู้เป็นทายาทตั้งแต่ ม.ขายที่ดินพิพาทให้แก่ ป.

ที่ดินพิพาทตามใบจอง (น.ส.2) ยังเป็นของรัฐ ผู้ซื้อที่ดินพิพาทตามใบจองไม่สามารถอ้างยันต่อรัฐได้ แต่ระหว่างราษฎรด้วยกัน เมื่อจำเลยและบริวารเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตามใบจองหลังจาก ป. ซึ่งเป็นพี่สาวร่วมบิดามารดาถึงแก่ความตาย โดย ม. บิดาโจทก์และโจทก์ไม่เคยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทหลังจากที่บิดาโจทก์ ขายให้แก่ ป. โดยส่งมอบการครอบครองที่ดินและใบจอง (น.ส. 2) ให้แก่ ป.ยึดถือไว้ จำเลยจึงมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทดีกว่าโจทก์ซึ่งสืบสิทธิในที่ดินพิพาทต่อมาจาก ม.ผู้เป็นบิดา ไม่ใช่โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทเป็นของตนเอง เมื่อ ม.ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทนับตั้งแต่ขายโดยส่งมอบที่ดินให้แก่ ป. โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย

(หมายเหตุ 1 การที่ ม.บิดาโจทก์ได้รับใบจอง (น.ส 2) ให้ครอบครองที่ดินพิพาท แล้วขายให้แก่ ป. โดยส่งมอบการครอบครองที่ดินและใบจอง (น.ส.2) ให้แก่ ป. ยึดถือไว้ แสดงว่า ม. สละเจตนาครอบครองไม่ยึดถือที่ดินพิพาทอีกต่อไป ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1377 วรรคหนึ่ง)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3268.รวมโฉนดที่ดินไม่ทำให้มีภาระจำยอมในโฉนดที่ดินแปลงใหม่ทั้งหมด

คำพิพากษาฎีกาที่ 4105/2566 (เล่ม 12 หน้า 2941) ภาระจำยอมเป็นทรัพยสิทธิที่ตัดรอนอำนาจแห่งกรรมสิทธิ์ ของเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเรียกว่าภารยทรัพย์ในอันที่ต้องรับกรรมบางอย่างด้วยการงดเว้นการใช้สิทธิในทรัพย์สินของตนเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่นที่เรียกว่าสามายทรัพย์ โจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ได้มีการรวมที่ดิน ภารยทรัพย์กับที่ดินอื่นเป็นแปลงเดียวกันจำต้องผูกพันด้วยการงดเว้นการใช้สิทธิในที่ดินส่วนที่เคยเป็นที่ดินภารยทรัพย์ซึ่งได้จดทะเบียนเป็นภาระจำยอมในเรื่องทางเดิน ทางรถยนต์ ทางสาธารณูปโภคอื่นๆ แก่ที่ดินซึ่งเป็นสามยทรัพย์เท่านั้น

ภาระจำยอมเป็นทรัพยสิทธิซึ่งตัดรอนอำนาจแห่งกรรมสิทธิ์ของเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ ต้องแปลความโดยเคร่งครัดว่าภาระจำยอมที่ยังคงอยู่ในโฉนดที่ดินมีอยู่เฉพาะในที่ดินส่วนที่เคยเป็นที่ดินโฉนดเดิมซึ่งเป็นภารยทรัพย์เท่านั้น การรวมโฉนดที่ดินหลายแปลงเป็นโฉนดเดียวมิได้มีผลทำให้ภาระจำยอมเดิมในโฉนดที่ดินแปลงหนึ่งแปลงใดได้กระจายไปอยู่ในทุกส่วนของโฉนดที่ดินฉบับใหม่ ดังนั้น ที่ดินโฉนดใหม่ที่มีการรวมเป็นแปลงเดียวกันที่มิใช่เป็นส่วนของที่ดินภารยทรัพย์เดิม ย่อมไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับภาระจำยอมเรื่องทางเดิน ทางรถยนต์ ทางสาธารณูปโภคใดๆ แก่ที่ดินอื่นซึ่งมิใช่เป็นที่ดินสามยทรัพย์ ทั้งมิใช่เป็นกรณีที่ภาระจำยอมแตะต้องเพียงส่วนหนึ่งแห่งภารยทรัพย์ที่เจ้าของทรัพย์นั้นอาจเรียกให้ย้ายไปยังส่วนอื่นได้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1392 การที่โจทก์เจ้าของภารยทรัพย์มิได้เรียกให้จำเลยเจ้าของสามยทรัพย์ ย้ายภาระจำยอมจากด้านหลังไปอยู่ด้านหน้าโครงการ จึงไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

นับแต่ที่ได้มีการจดทะเบียนให้ที่ดินโฉนดเดิมตกอยู่ภายใต้บังคับภาระจำยอมบางส่วนเรื่องทางเดิน ทางรถยนต์ ทางสาธารณูปโภคอื่นๆ แก่ที่ดินโฉนดจวบจนถึงวันฟ้อง ไม่เคยมีการใช้ภาระจำยอมเกินกว่า 10 ปี ภาระจำยอมย่อมสิ้นไป ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1399 โจทก์ในฐานะเจ้าของภารยทรัพย์ชอบที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนภาระจำยอมได้

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3267.เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จดทะเบียนภาระจำยอมให้แก่บุคคลภายนอกโครงการ

คำพิพากษาฎีกาที่ 3795/2566 (เล่ม 12 หน้า 2888) การที่โจทก์จดทะเบียนภาระจำยอมในที่ดินที่เป็นถนนอันเป็นสาธารณูปโภคในโครงการหมู่บ้าน ศ. ซึ่งตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรให้แก่ที่ดินของจำเลยตามคำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้น โดยจำเลยเสนอค่าตอบแทน 350,000 บาท ตามมติที่ประชุมเจ้าหนี้ของโจทก์ ถือว่าเป็นการกระทำอันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมของผู้อาศัยในหมู่บ้าน ศ. ลดไปหรือเสื่อมความสะดวก และเป็นการก่อให้เกิดภาระผูกพันแก่ที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภค จะต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดินจังหวัด ตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 33 วรรคหนึ่ง และมาตรา 43 วรรคหนึ่ง

พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 เป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผู้ซื้อที่ดินจัดสรรอันเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การที่โจทก์จดทะเบียนภาระจำยอมในที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภคซึ่งตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรให้แก่ที่ดินของจำเลย โดยมิได้รับอนุญาตเป็นหนังสือ จากคณะกรรมการจัดสรรที่ดินจังหวัด แตกต่างจากบทบัญญัติของ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 33 วรรคหนึ่ง การจดทะเบียนภาระจำยอมตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 150 และมาตรา 151

ปัญหาว่า การจดทะเบียนภาระจำยอมในที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภคเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร อันเป็นการแตกต่างจากบทบัญญัติของ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 33 วรรคหนึ่ง ซึ่งตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 150 และมาตรา 151 เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 142(5) , 246 และ 252

(หมายเหตุ 1 การจดทะเบียนภาระจำยอมในที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภคของที่ดินจัดสรรให้แก่ที่ดินที่อยู่นอกโครงการจัดสรรที่ดิน ต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดินจังหวัด หากไม่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดินจังหวัดย่อมตกเป็นโมฆะ)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ และกรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849