ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ

3280.บรรยายฟ้องขอให้บวกโทษ

คำพิพากษาฎีกาที่ 3546/2566 (เล่ม 12 หน้า 2827) โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดฐานหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถจัดหางานหรือส่งไปฝึกงานในต่างประเทศได้ และฐานฉ้อโกง อันเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทภายในเวลาที่ศาลรอการลงโทษในคดีก่อนทั้งสามคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษและภายหลังจากนั้น จึงไม่ต้องตาม ป.อ.มาตรา 58 วรรคแรก และไม่อาจนำโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนทั้งสามคดีมาบวกเข้ากับโทษจำคุกของจำเลยในคดีนี้ได้

(หมายเหตุ 1 คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 4, 91 ตรี ป.อ. มาตรา 58 , 341 โดยโจทก์บรรยายฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 23 กรกฎาคม 2561 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 เวลากลางวันต่อเนื่องกันตลอดมา

2 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่ศาลที่พิพากษาคดีหลังจากนำโทษจำคุกที่รอการลงโทษจำเลยไว้ในคดีก่อนทั้งสามคดี มาบวกเข้ากับโทษจำคุกจำเลยในคดีหลังได้ จะต้องได้ความว่าจำเลยกระทำความผิดในคดีหลังในระหว่างเวลาที่ยังอยู่ภายในกำหนดเวลาการรอการลงโทษจำคุกจำเลยในคดีก่อน

3 ศาลฎีกายังวินิจฉัยต่อไปอีกว่า ความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวล้วนเป็นความผิดสำเร็จ เมื่อผู้กระทำความผิดลงมือหลอกลวงและได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้เสียหาย จึงมิใช่ความผิดต่อเนื่องกันดังที่โจทก์ฎีกา)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

ดร.วิเชียร เปิดการอบรมโครงการปฏิรูปทนายความอาสา ทนายความขอแรง และที่ปรึกษากฎหมายของเด็กหรือเยาวชน จังหวัดสงขลา ประจำปี 2567

มื่อวันอาทิตย์ที่ 2 มิถุนายน 2567 เวลา 08.30 – 17.00 น.

ที่โรงแรมหรรษา เจบี ตำบลหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา : ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมโครงการปฏิรูปทนายความอาสา ทนายความขอแรง และที่ปรึกษากฎหมายของเด็กหรือเยาวชน ประจำปีงบประมาณ 2567

โดยมี นายสัญญวีณ์ สาสุธรรม อดีตประธานสภาทนายความจังหวัดสงขลา กล่าวต้อนรับ นายโอฬาร กุลวิจิตร กรรมการบริหารสภาทนายความ ภาค 9 กล่าวรายงาน นายไพบูลย์ แย้มเอม อุปนายกฝ่ายสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ ผู้ดำเนินรายการ

นอกจากนี้ ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ให้เกียรติเป็นวิทยากรบรรยายหัวข้อ “ประมวลจริยธรรมและมรรยาททนายความของทนายความอาสา” นายสมพร ดำพริก อุปนายกฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย บรรยายหัวข้อ “บทบาททนายความอาสากับการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย” นายโอฬาร กุลวิจิตร กรรมการบริหารสภาทนายความภาค 9 บรรยาย หัวข้อ “การดำเนินคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ“ นายวีรศักดิ์ โชติวานิช อุปนายกฝ่ายเทคโนโลยีและสารสนเทศ รองเลขาธิการ บรรยาย หัวข้อ “พระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ.2562” นายสัญญาภัชระ สามารถ อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ บรรยายหัวข้อ “ทนายความอาสากับการคุ้มครองสิทธิมุนษยชนในคดีอาญา” ดร.ชัยชีพ ชโลปถัมภ์ กรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย บรรยาย หัวข้อ “กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับทนายความอาสา” ซึ่งมีทนายความในจังหวัดสงขลา และทนายความภาค 9 เข้าร่วมอบรมในครั้งนี้เป็นจำนวนมาก

 

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3279.พลัดตกเตียงขณะทำการตรวจอัลตราซาวด์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 171/2566 (เล่ม 5 หน้า 31) การที่จำเลยที่ 2 ทำการตรวจอัลตร้าซาวด์ให้แก่โจทก์เป็นการให้บริการทางการแพทย์อย่างหนึ่งอันเป็นข้อเท็จจริงที่อยู่ในความรู้เห็นโดยเฉพาะของคู่ความฝ่ายจำเลยทั้งสอง ภาระการพิสูจน์ในประเด็นดังกล่าวจึงตกอยู่แก่จำเลยทั้งสองว่า จำเลยที่ 2 มิได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อ ตาม พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 29

โจทก์ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ เมื่อจำเลยที่ 2 ทำการตรวจภาพถ่ายไตด้านขวาของโจทก์ไม่ชัดเจน จึงสอบถามโจทก์ว่า สามารถพลิกตะแคงตัวไปด้านซ้ายเพื่อถ่ายภาพใหม่ได้หรือไม่ โจทก์ตอบว่าได้ หากโจทก์ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ก็น่าจะต้องแจ้งจำเลยที่ 2 เสียตั้งแต่ในขณะนั้น ขณะเกิดเหตุโจทก์และจำเลยที่ 2 อยู่ภายในห้องเพียงลำพัง โดยจำเลยที่ 2 ถือหัวตรวจอัลตราซาวด์ไว้ในมือและต้องเพ่งมองจอภาพเครื่องดังกล่าวซึ่งตั้งอยู่ข้างหัวเตียงด้านขวาของโจทก์ เมื่อโจทก์พลิกตะแคงตัวตามที่จำเลยที่ 2 บอก แม้เตียงมีขนาดกว้างเพียง 60 เซนติเมตร แต่ก็เป็นขนาดมาตรฐานบุคคลทั่วไปในภาวะเช่นจำเลยที่ 2 ย่อมไม่อาจคาดคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์ถึงขนาดที่โจทก์จะพลัดตกจากเตียง เพราะการนอนตะแคงตัวใช้พื้นที่ไม่มาก อีกทั้งจำเลยที่ 2 ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรสอบถามโจทก์ก่อนหน้านั้นแล้ว เหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นจึงเป็นเหตุสุดวิสัย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 8 มิใช่การกระทำโดยประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2

(หมายเหตุ 1 ในขณะเกิดเหตุ โจทก์มีอายุ 82 ปี น้ำหนัก 90 กิโลกรัม มีอาการป่วยหลายโรค วันเกิดเหตุแพทย์นัดโจทก์ตรวจอัลตราซาวด์เส้นโลหิตของไตบริเวณช่องท้อง

2 ขณะโจทก์นอนอยู่บนเตียงตรวจ โจทก์พลัดตกจากเตียงได้รับบาดเจ็บบริเวณหัวเข่าต้องเย็บแผล โดยโจทก์ได้พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตั้งแต่วันเกิดเหตุ (9 มีนาคม 2560) จนถึงวันที่ 6 สิงหาคม 2560 จึงออกจากโรงพยาบาล โจทก์จึงได้มาฟ้องโรงพยาบาลและแพทย์ผู้ทำการตรวจ

3 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 กระทำโดยประมาทเลินเล่อ แต่การขาดความระมัดระวังของจำเลยที่ 2 ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่โจทก์ตอบรับว่าโจทก์สามารถตะแคงตัวได้ และโจทก์มิได้ระมัดระวังตัวความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงเห็นสมควรตกเป็นพับแก่โจทก์ แล้วพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

4 ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยว่า เหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นเป็นเหตุสุดวิสัย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 8 มิใช่การกระทำโดยประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 โดยมีคำวินิจฉัยดังกล่าวข้างต้น)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3278.จำเลยถึงแก่ความตายในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 534-535/2566 (เล่ม 5 หน้า 68) เมื่อจำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตายระหว่างพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์ภาค 1 สิทธิในการนำคดีอาญาของจำเลยที่ 2 มาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39(1) แต่สำหรับส่วนแพ่งนั้น ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 47 วรรคหนึ่ง ดังนี้ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ต้องดำเนินการตาม ป.วิ.พ.มาตรา 42 เสียก่อน กล่าวคือ หากครบกำหนดหนึ่งปีนับแต่ จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตายแล้ว ไม่มีบุคคลใดร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนหรือเข้ามาตามหมายเรียกของศาล จึงให้จำหน่ายคดีส่วนแพ่งออกเสียจากการระบบความ ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ด่วนมีคำสั่งจำหน่ายคดีส่วนแพ่งในส่วนของจำเลยที่ 2 ออกเสียจากสารบบความ ย่อมเป็นการไม่ชอบ

(หมายเหตุ 1 ระหว่างพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์ภาค 1 จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 เป็นอันระงับไปตาม ป.วิ.อ.มาตรา 39(1) คำขอให้คืนเงินในส่วนของจำเลยที่ 2 ย่อมตกไปด้วย จึงให้จำหน่ายคดีเฉพาะในส่วนของจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ

2 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า หากครบกำหนดหนึ่งปีนับแต่ จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตายแล้ว ไม่มีบุคคลใดร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนหรือเข้ามาตามหมายเรียกของศาล จึงให้จำหน่ายคดีส่วนแพ่งออกเสียจากการระบบความ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ในคดีส่วนแพ่ง)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

นายกฯเดินสายจัดวิชาการสัญจรเพื่อทนายความและเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชน จังหวัดนราธิวาส

วิชาการสัญจรเพื่อทนายความและเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชน จังหวัดนราธิวาส

 

⚖️เมื่อวันเสาร์ที่ 1 มิถุนายน 2567 เวลา 08.30 – 12.30 น. ที่ โรงแรมเก็นติ้ง อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส : ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ เป็นประธานเปิดการอบรมวิชาการสัญจรเพื่อทนายความและเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชน จังหวัดนราธิวาส โดยมี นายรังสฤษดิ์ ศรีสองคอน ประธานสภาทนายความจังหวัดนราธิวาส รองประธานศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวต้อนรับ นายโอฬาร กุลวิจิตร กรรมการบริหารสภาทนายความภาค 9 ประธานศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวรายงาน

นอกจากนี้ ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ได้ให้เกียรติปฐากถาพิเศษเรื่อง “บทบาททนายความในการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายของศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์ 3 จังหวัดชายแดนใต้” และได้ร่วมกับนายวีรศักดิ์ โชติวานิช อุปนายกฝ่ายเทคโนโลยีและสารสนเทศ รองเลขาธิการสภาทนายความ นายโอฬาร กุลวิจิตร กรรมการบริหารสภาทนายความ ภาค 9 ประธานศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์ 3 จังหวัดชายแดนใต้ บรรยายหัวข้อเรื่องการดำเนินคดีทุจริตและประพฤติมิชอบตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 นอกจากนี้นายวีรศักดิ์ โชติวานิช อุปนายกฝ่ายเทคโนโลยีและสารสนเทศ รองเลขาธิการสภาทนายความ บรรยายหัวข้อ

เรื่องสิทธิมนุษยชนตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ซึ่งมีทนายความจังหวัดนราธิวาส และทนายความภาค 9 พร้อมประชาชนทั่วไป ลงทะเบียนเข้าร่วมอบรมในครั้งนี้เป็นจำนวนมากกว่า 200 คน

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ

3277.อุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 728/2566 (เล่ม 5 หน้า 92) ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 196 การอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณา นอกจากจะอุทธรณ์ได้เมื่อศาลพิพากษาแล้ว จะต้องมีการอุทธรณ์คำพิพากษานั้นด้วย ซึ่งหมายความว่า ผู้อุทธรณ์นอกจากจะโต้แย้งว่าคำสั่งระหว่างพิจารณาไม่ชอบอย่างไรแล้ว จะต้องโต้แย้งในเนื้อหาของคำพิพากษาว่าไม่ถูกต้องอย่างไรด้วย โดยในส่วนหลังนี้ต้องบรรยายให้ได้ความครบถ้วนตามความใน ป.วิ.อ. มาตรา 193 วรรคสอง จึงจะเป็นอุทธรณ์ที่จะพึงรับไว้พิจารณา

(หมายเหตุ 1 วันที่ 22 ธันวาคม 2563 โจทก์ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี(ครั้งที่ 3) ศาลชั้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี

2 วันที่ 24 ธันวาคม 2563 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

3 โจทก์อุทธรณ์ทำนองว่า ศาลชั้นต้นไม่ควรงดสืบพยานเพียงประการเดียว

4 ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้โจทก์เลื่อนคดีเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาที่ไม่ทำให้คดีเสร็จสำนวน อุทธรณ์ของโจทก์ไม่มีข้อความตอนใดเป็นการอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาด้วย อุทธรณ์ของโจทก์จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 196

5 ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยข้างต้น โดยพิพากษายืน)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3276.แก้ไขเพิ่มเติมร่างข้อบัญญัติงบประมาณ

คำพิพากษาฎีกาที่ 5020/2566 (เล่ม 12 หน้า 2970) จำเลยปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยวิธีการงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2541 และขัดต่อ พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 มาตรา 87 โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยมีมูลเหตุจูงใจกระทำการไปเพื่อกลั่นแกล้งผู้หนึ่งผู้ใด หรือเพื่อมุ่งประสงค์ให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดโดยเฉพาะ แม้การกระทำของจำเลยจะทำให้เกิดความเสียหายแก่องค์การบริหารส่วนตำบล แต่เป็นผลโดยตรงที่เกิดจากเจตนาธรรมดาของจำเลย ฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหาย แก่ผู้หนึ่งผู้ใด การกระทำของจำเลยขาดองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 (เดิม)

จำเลยจงใจแก้ไขเพิ่มเติมร่างข้อบัญญัติงบประมาณเพื่อให้ประกาศเป็นกฎใช้บังคับในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นการปลอมเอกสารเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นข้อบัญญัติงบประมาณที่แท้จริง เมื่อจำเลยเป็นปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล มีหน้าที่จัดทำงบประมาณ สั่งการ ควบคุม กำกับ ดูแล เจ้าหน้าที่จัดทำเอกสาร งบประมาณ และรวบรวมเป็นร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยวิธีการงบประมาณขององค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2541 แต่อาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่นั้นปลอมร่างข้อบัญญัติงบประมาณ การกระทำของจำเลย เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 161 (เดิม)

(หมายเหตุ 1 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อบัญญัติงบประมาณท้องถิ่นที่จำเลยปลอมเป็นกฎที่จะประกาศใช้บังคับในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงเป็นเอกสารสำคัญมาก ทั้งการกระทำของจำเลยกระทบกระเทือนต่อระบบตรวจสอบ ของสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และทำให้การกระจายงบประมาณของแผ่นดินคลาดเคลื่อนไป อันไม่เป็นธรรมแก่สังคม สภาพความผิดนับว่าร้ายแรง ไม่สมควรรอการลงโทษจำคุก แม้จำเลยจะชดใช้เงินแก่องค์การบริหารส่วนตำบลแล้ว และจำเลยไม่มีประวัติการกระทำความผิดมาก่อนก็ตาม

2 ศาลฎีกาพิพากษาให้จำคุกจำเลย ลดโทษให้แล้วคงจำคุก 1 ปี 4 เดือน)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

 

จัดอบรมโครงการปฏิรูปทนายความอาสา ทนายความขอแรงและที่ปรึกษากฎหมายของเด็กหรือเยาวชน ประจำปี พ.ศ. 2567

⚖️ สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ⚖️ 

เปิดอบรม ฟรี

👉 โครงการปฏิรูปทนายความอาสา ทนายความขอแรงและที่ปรึกษากฎหมายของเด็กหรือเยาวชน ประจำปี พ.ศ. 2567🌟

 

—- เชิญพบกับ—-

🔶 ดร.วิเชียร ชุบไธสง

นายกสภาทนายความ

 

🔶 นายสมพร ดำพริก

อุปนายกฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย สภาทนายความ

 

🔶 นายสัญญาภัชระ สามารถ

อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ สภาทนายความ

 

🔶 นายไพบูลย์ แย้มเอม

อุปนายกฝ่ายสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ สภาทนายความ

 

🔶 ดร.ชัยชีพ ชโลปถัมภ์

กรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย สภาทนายความ

 

🔶 นายสาโรจน์ จันทรศิริ

กรรมการบริหารสภาทนายความภาค 6

 

🔶 นายรุ่งธรรม สมคิด

ประธานสภาทนายความจังหวัดนครสวรรค์

 

🌟 คุณสมบัติของผู้สมัครเข้ารับการอบรม 🌟

1. ประกอบวิชาชีพทนายความตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 มาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี

2. ไม่เคยต้องคำสั่งให้ลงโทษถึงที่สุด ตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528

3. เป็นผู้มีมนุษยสัมพันธ์และมีบุคลิกภาพดี

4. มีความรับผิดชอบและอุทิศตนเพื่อสังคม

–––

📆 รับสมัครวันนี้ ถึง วันจันทร์ที่ 17 มิถุนายน 2567 (รับจำนวน 150 คน)

✅ ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์อบรมวันพุธที่ 19 มิถุนายน 2567

–––

📚 วันเสาร์ที่ 22 มิถุนายน 2567

⏰ เวลา 08.30 – 16.30 น.

📍 ณ ภัตตาคารเล่งหงษ์ นครสวรรค์ ตำบลวัดไทร อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์

–––

📝 สมัครผ่านระบบ Google Forms

🌎 Link ลงทะเบียน : https://docs.google.com/forms/d/e/1FAIpQLSepCP4Vwev_E0OUpnfRTQ_A-FYF59S5L3C4gTISGx75UXoQnA/viewform

–––

☎️สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : สำนักงานคณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์

โทร. 02 522 7124-27, 02 522 7143-47 ต่อ 131, 133, 134

มือถือ 08 3096 5214 อีเมล์ : legalaid.lct@gmail.com

☎ ติดต่อสอบถาม คุณวารินทร์ โทร. 08 3096 5214

⚖_________________⚖

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3275.ตรวจดีเอนเอม้าแข่ง

คำพิพากษาฎีกาที่ 3444/2566 (เล่ม 12 หน้า 2779) โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ไม่รับจดทะเบียนประวัติสายพันธุ์ลูกม้าในประเทศไทยให้กับโจทก์ โดยโจทก์ทราบภายหลังว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยทำการตรวจสอบดีเอ็นเอลูกม้าเทียบกับพ่อม้าชื่อ อ. ซึ่งเป็นสายพันธุ์ม้าแข่งที่แท้จริง แต่จำเลยที่ 1 กลับแจ้งผลในเอกสารการตรวจดีเอ็นเอว่า ลูกม้ามีดีเอ็นเอไม่ตรงกับพ่อม้าชื่อ อ.ดังกล่าว อันเป็นข้อความเท็จ นอกจากนั้นเอกสารใบรับรองการผสมพันธุ์ม้าตามเอกสารท้ายฟ้องของโจทก์ได้บันทึกการผสมพันธุ์ลูกม้าระหว่างแม่ม้ากับพ่อม้าชื่อ อ. ซึ่งเป็นสายพันธุ์ม้าแข่งที่แท้จริงดังกล่าว จึงเป็นไปไม่ได้ที่ลูกม้าจะมีดีเอ็นเอตรงกับพ่อม้าชื่อ ด. การที่จำเลยที่ 1 ได้รับเอกสารรายงานผลการตรวจสอบหาลักษณะดีเอ็นเอ ของม้าจากจำเลยที่ 2 ซึ่งแจ้งผลว่าการตรวจดีเอ็นเอของลูกม้ากับดีเอ็นเอของพ่อม้าชื่อ ด. ไม่ขัดแย้งกันอันเป็นข้อเท็จจริง จำเลยที่ 1 ได้ทำการจดบันทึกทะเบียนลูกม้าลงในสมุดทะเบียนประวัติสายพันธุ์ม้าแข่งแห่งประเทศไทยโดยระบุชื่อพ่อม้าว่า ด. มิใช่ชื่อ อ. ซึ่งเป็นพ่อม้าสายพันธุ์ม้าแข่งที่แท้จริง อันเป็นผลให้ลูกม้าของโจทก์ได้รับการจดทะเบียนผิดไปตามความเป็นจริง จึงเป็นเอกสารปลอม คำบรรยายฟ้องของโจทก์ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ.มาตรา 264 แล้ว ส่วนข้อเท็จจริงที่ว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการปลอมลายมือชื่อของผู้อื่นลงในเอกสารฉบับใด หรือจำเลยที่ 1 กรอกข้อความหรือตัดทอนข้อความในเอกสารฉบับใดซึ่งมีลายมือชื่อของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้อื่นนั้น มิใช่องค์ประกอบความผิดตามฟ้องโจทก์ ฟ้องโจทก์ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158(5)

จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการสมุดทะเบียนประวัติสายพันธุ์ม้าแข่ง สำนักงานสมุดทะเบียนประวัติสายพันธุ์ม้าแข่งแห่งประเทศไทย หรือ ส.ท.ส. อยู่ในกำกับดูแลของราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ทำหน้าที่รับผิดชอบในการจดทะเบียนรูปพรรณพ่อม้า แม่ม้า และลูกม้าที่นำเข้าหรือเกิดในประเทศไทย รวมทั้งจัดทำเอกสารบรรยายรูปพรรณและบันทึกข้อมูลจำเพาะสำหรับใช้ในการตรวจรูปพรรณม้า แม้ข้อความในหนังสือบันทึกทะเบียนลูกม้า ในสมุดทะเบียนประวัติสายพันธุ์ม้าแข่งประเทศไทย ซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดทำขึ้นบางส่วนอาจเป็นข้อความเท็จหรือไม่ก็ตาม แต่ไม่ทำให้จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานปลอมเอกสารเพราะจำเลยที่ 1 มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำเอกสารนั้น

ข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่า จำเลยที่ 1 ปลอมเอกสารดีเอ็นเอโปรไฟล์พ่อม้าชื่อ ด. โดยการนำรหัสดีเอ็นเอโปรไฟล์ของพ่อม้าที่แท้จริงไปใส่เป็นรหัสดีเอ็นเอในเอกสารดีเอ็นเอโปรไฟล์ของพ่อม้าชื่อ ด. แล้ววินิจฉัยว่าเป็นเอกสารปลอม การที่จำเลยที่ 1 นำเอกสารดังกล่าวไปใช้เพื่อแลกกับการที่โจทก์ถอนฟ้องคดีแพ่งเป็นการใช้เอกสารปลอม เป็นข้อเท็จจริงนอกคำฟ้อง ไม่สามารถนำมารับฟังลงโทษจำเลยที่ 1 ได้

(หมายเหตุ 1 จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการสมุดทะเบียนประวัติสายพันธุ์ม้าแข่ง แม้ข้อความในหนังสือบันทึกทะเบียนลูกม้า ในสมุดทะเบียนประวัติสายพันธุ์ม้าแข่งประเทศไทย ซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดทำขึ้นบางส่วนอาจเป็นข้อความเท็จหรือไม่ก็ตาม แต่ไม่ทำให้จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานปลอมเอกสารเพราะจำเลยที่ 1 มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำเอกสารนั้น)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3274.เจตนาในการทำหนังสือแบ่งทรัพย์สินสมรส

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 42/2566 (เล่ม 5 หน้า 13) ตามหนังสือแบ่งทรัพย์สินมีข้อความว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 10653 และบ้านเลขที่ 335 ให้ตกเป็นของโจทก์ ส่วนบ้านเลขที่ 426/2 ตกเป็นของจำเลย โดยไม่ได้กล่าวถึงที่ดินเนื้อที่ 1 งาน ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก) เลขที่ 2226 ซึ่งเป็นสินสมรสและเป็นที่ตั้งของบ้านเลขที่ 426/2 ด้วย แต่เมื่อโจทก์และจำเลยมีบ้าน 2 หลัง เป็นสินสมรสเป็นที่อยู่อาศัย และจำเลยเป็นผู้เลี้ยงดูบุตรหลังจากจดทะเบียนหย่า ประกอบกับข้อความท้ายหนังสือแบ่งทรัพย์สินระบุว่า ทั้งสองฝ่ายจะไม่มีการเรียกร้องสิทธิใดๆ หลังจากนี้ไม่ว่ากรณีใด เชื่อว่าโจทก์และจำเลยทำหนังสือแบ่งทรัพย์สินโดยมีเจตนาเพื่อแบ่งทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันหรือสินสมรสให้แล้วเสร็จไปทั้งหมด โดยให้โจทก์และจำเลยต่างเป็นเจ้าของบ้านคนละหลังรวมถึงการเป็นเจ้าของที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของบ้านเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยอย่างสมบูรณ์มั่นคงต่อไปในอนาคตด้วย ทั้งที่ดินเนื้อที่ 1 งาน ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก) เลขที่ 2226 มีชื่อ จ. เป็นเจ้าของโดยยังไม่มีการแบ่งแยกเอกสารสิทธิ ทำให้มีเหตุผลน่าเชื่อว่า โจทก์และจำเลยไม่อาจระบุถึงรายละเอียดของที่ดินเนื้อที่ 1 งาน ซึ่งเป็นที่ตั้งของบ้านเลขที่ 426/2 ในหนังสือแบ่งทรัพย์สินได้ ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 171 บัญญัติว่า ในการตีความการแสดงเจตนานั้น ให้เพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษร จึงไม่น่าเชื่อว่า ในการทำหนังสือแบ่งทรัพย์สินโจทก์และจำเลยจะมีเจตนาให้คงเหลือที่ดินเนื้อที่ 1 งาน ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก) เลขที่ 2226 ไว้โดยมิได้ตกลงแบ่งกันให้แล้วเสร็จไปในคราวเดียวโดยไม่มีเหตุผล เชื่อว่าโจทก์ และจำเลยตกลงยกบ้านเลขที่ 426/2 รวมถึงที่ดินเนื้อที่ 1 งาน ซึ่งเป็นที่ตั้งของบ้านให้แก่จำเลยตามหนังสือแบ่งทรัพย์สินแล้ว

 

 

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849