ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …
3304.บอกกล่าวผู้ค้ำประกันเกิน 60 วัน ผู้ค้ำประกันไม่หลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3541/2566 (เล่ม 6หน้า 177) แม้โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 2 เกินกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 วรรคหนึ่ง แต่นอกจากจำเลยที่ 2 จะถูกฟ้องในฐานะเป็นผู้ค้ำประกันแล้ว ยังถูกฟ้องในฐานะเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างจำเลยที่ 1 อีกด้วย จำเลยที่ 2 จึงเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดซึ่งต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างจำเลยที่ 1 ไม่มีจำกัด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1070, 1077(2) ประกอบมาตรา 1087 จำเลยที่ 2 ในฐานะเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดไม่ถูกจำกัดความรับผิดดังเช่นในฐานะที่เป็นผู้ค้ำประกัน จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในต้นเงินและดอกเบี้ย ตลอดจนค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยของค่าธรรมเนียมดังกล่าว
นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

สภาทนายความ ร่วมบันทึกเทปโทรทัศน์ถวายพระพรชัยมงคลแด่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา วันที่ 28 กรกฎาคม 2567

เมื่อวันพุธที่ 26 มิถุนายน 2567 เวลา 10.30 น. ณ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วยนายวีรศักดิ์ โชติวานิช อุปนายกฝ่ายเทคโนโลยีและสารสนเทศ กรรมการประชาสัมพันธ์และรองเลขาธิการ นายไพบูลย์ แย้มเอม อุปนายกฝ่ายสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ นายศิริศักดิ์ อมาตยกุล ประธานสภาทนายความจังหวัดนนทบุรี นายพงษ์ศิริ ส่งศิลป์สะอาด ประธานสภาทนายความจังหวัดชลบุรี นายคชาชาญ พิณประภัศร์ ประธานสภาทนายความจังหวัดราชบุรี นายภัทราวุฒิ พันธ์รัศมี ประธานสภาทนายความจังหวัดสุพรรณบุรี นายสุริยา สถาวรสมิต ประธานสภาทนายความจังหวัดสมุทรสาคร นายอภิวัฒน์ นาวีระ ประธานสภาทนายความจังหวัดสิงห์บุรี นายอธิพล สืบจากลา กรรมการสภาทนายความจังหวัดสระบุรี นายพงศพัศ ฟุ้งลัดดา กรรมการสภาทนายความจังหวัดตลิ่งชัน นายสงกราน์ ปัทมะทิน กรรมการสภาทนายความจังหวัดนนทบุรี นางสาวณัฐพิมล สมเจษ ผู้ช่วยเลขานุการนายกสภาทนายความ นางสาวจิรารัตน์ จันดี อนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ นางสาวภูษณิศา ทับทิมทอง กรรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ดร. ชัดติยาพร คำแสน ที่ปรึกษาคณะกรรมไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ว่าที่ร้อยตรี ธนศรต์ สุขจิตต์ กรรมการและเลขานุการ ช่วยเหลือประชาชนฝ่ายคุ้มครองสาธารณประโยชน์ พร้อมเจ้าหน้าที่สภาทนายความ ร่วมบันทึกเทปโทรทัศน์ถวายพระพรชัยมงคลแด่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา วันที่ 28 กรกฎาคม 2567

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3303.บอกกล่าวโดยวิธีการประกาศหนังสือพิมพ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3661/2566 จำเลยที่ 1 ขอสินเชื่อจากโจทก์โดยตกลงชำระดอกเบี้ยโดยใช้อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงระยะสั้นกรุงเทพ (BIBOR) (3 เดือน) บวกร้อยละ 3 ต่อปี และสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ: อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงลอนดอน (LIBOR) บวกร้อยละ 3 ต่อปี แต่หากจำเลยที่ 1 ไม่ได้ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดจำเลยที่ 1 จะต้องชำระดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราสูงสุดตามประกาศการเรียกเก็บเงินให้กู้ยืมหรือหนี้ที่ผิดนัดชำระในช่วงเวลานั้น ๆ ของธนาคารที่ได้มีการประกาศเป็นคราว ๆ ตามขอบเขตที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายจากยอดเงินกู้หรือภาระหนี้ที่ผิดนัด โดยอัตราดอกเบี้ยผิดนัดขณะทำสัญญาเท่ากับอัตราร้อยละ 22.25 ต่อปี กรณีเช่นนี้จึงเป็นภาระชำระดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้นหลังจากผิดนัดชำระหนี้ ข้อสัญญาเรื่องดอกเบี้ยเช่นนี้จึงมีลักษณะเป็นการกำหนดค่าเสียหายในรูปดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดไว้ล่วงหน้าอันถือเป็นเบี้ยปรับ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 หากศาลเห็นว่าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วนก็มีอำนาจที่จะให้ลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง เมื่อตามสัญญาดังกล่าวจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยก่อนผิดนัดแก่โจทก์ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษากำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดโดยใช้อัตราดอกเบี้ยลอยตัว คือ อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงระยะสั้นกรุงเทพ (3 เดือน) บวกส่วนต่างร้อยละ 6 ต่อปี ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ประกาศตามช่วงระยะเวลามีผลใช้บังคับ แต่ทั้งนี้ไม่เกินร้อยละ 12 ต่อปี ถือว่าเป็นคุณและเหมาะสมแก่โจทก์แล้ว

กรณีหนี้ในส่วนสินเชื่อเพื่อการส่งออกจำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดนัดเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2561 กรณีจึงเป็นการที่ลูกหนี้ชั้นต้นผิดนัดภายหลังวันที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 มีผลใช้บังคับ ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ผู้ค้ำประกัน จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับ ป.พ.พ. มาตรา 686 ที่แก้ไขใหม่ ตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 ซึ่งมาตรา 686 วรรคหนึ่ง วรรคสอง ในการส่งคำบอกกล่าวของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ผู้ค้ำประกันนั้น ต้องพิจารณาประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 169 วรรคหนี่ง โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้จึงต้องมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามไปถึงจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวแจ้งการผิดนัดไปถึงจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2561 จึงถือว่าโจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ลูกหนี้ผิดนัด จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ผู้ค้ำประกันจึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ย แต่ในส่วนจำเลยที่ 3 นั้น เมื่อหนังสือบอกกล่าวแจ้งการผิดนัดไปถึงจำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2561 อันเป็นเวลาพ้นกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ลูกหนี้ผิดนัด จำเลยที่ 3 ผู้ค้ำประกันจึงหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้บรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว แต่ส่วนจำเลยที่ 2 นั้น โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวแจ้งการผิดนัดไปถึงจำเลยที่ 2 ที่บ้านเลขที่ 184/165 แต่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าที่อยู่ของจำเลยที่ 2 ตามสัญญาค้ำประกันและหนังสือรับรองระบุว่า จำเลยที่ 2 ตั้งอยู่เลขที่ 95 ประกอบกับในสัญญาค้ำประกัน ระบุว่า “ที่อยู่ของผู้ค้ำประกันที่ระบุไว้ข้างต้น เป็นที่อยู่ทางธุรกิจหรือที่อยู่อาศัยของผู้ค้ำประกันและจะถือว่าเป็น “ภูมิลำเนา” ตามกฎหมายตามลำดับ ที่ธนาคารจะใช้ในการจัดส่งการบอกกล่าว คำแถลง และจดหมายไปยังผู้ค้ำประกัน และเพื่อจัดส่งเอกสารอื่น ๆ ที่อยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาล การบอกกล่าว คำแถลง และจดหมายทั้งปวง (ไม่ว่าจัดส่งโดยวิธีไปรษณีย์ลงทะเบียนหรือไปรษณีย์ธรรมดาหรือโดยพนักงานส่งเอกสาร) ให้ถือว่าผู้ค้ำประกันได้รับไปครบถ้วนแล้ว…” แสดงว่าโจทก์ยังไม่ได้มีหนังสือบอกกล่าวแจ้งการผิดนัดไปถึงจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันตามที่อยู่ที่ระบุในหนังสือค้ำประกันหรือที่ตั้งของสำนักงานของจำเลยที่ 2 ตามหนังสือรับรองถือว่ายังไม่ได้มีหนังสือบอกกล่าวแจ้งการผิดนัด เมื่อปรากฏว่าโจทก์ยังไม่เคยส่งหนังสือบอกกล่าวไปตามที่อยู่ที่ระบุในหนังสือค้ำประกันหรือที่ตั้งของสำนักงานของจำเลยที่ 2 การบอกกล่าวโดยวิธีการประกาศหนังสือพิมพ์จึงไม่ชอบ โจทก์จึงยังไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดในหนี้สินเชื่อเพื่อการส่งออกตามสัญญาค้ำประกัน สำหรับหนี้ค่าธรรมเนียมการออกหนังสือค้ำประกันนั้น โจทก์ระบุในคำฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ยังคงค้างชำระหนี้ดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 326,666.30 บาท และโจทก์ได้ทวงถามจำเลยทั้งหกแล้ว แต่เมื่อพิจารณาจากเอกสารที่โจทก์นำสืบเกี่ยวกับหนังสือบอกกล่าวทวงถามและบังคับจำนอง ปรากฏว่าโจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามและบังคับจำนองเฉพาะหนี้สินเชื่อเพื่อการส่งออกและเป็นการบอกกล่าวก่อนที่จะเกิดหนี้ค่าธรรมเนียมการออกหนังสือค้ำประกันดังกล่าวข้างต้น ถือว่าหนี้ในส่วนนี้โจทก์ยังไม่ได้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ผู้ค้ำประกัน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ในหนี้ดังกล่าว ปัญหาว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 รับผิดตามสัญญาค้ำประกันได้หรือไม่ เพียงใด เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252

(หมายเหตุ 1 คดีนี้ ตามสัญญาค้ำประกันและหนังสือรับรองระบุว่า ที่อยู่ของผู้ค้ำประกัน(จำเลยที่ 2) ตั้งอยู่เลขที่ 95 เป็นที่อยู่ทางธุรกิจหรือที่อยู่อาศัยของผู้ค้ำประกันและจะถือว่าเป็น “ภูมิลำเนา” ตามกฎหมายตามลำดับ ที่ธนาคารจะใช้ในการจัดส่งการบอกกล่าว คำแถลง และจดหมายไปยังผู้ค้ำประกัน และเพื่อจัดส่งเอกสารอื่น ๆ ที่อยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาล การบอกกล่าว คำแถลง และจดหมายทั้งปวง (ไม่ว่าจัดส่งโดยวิธีไปรษณีย์ลงทะเบียนหรือไปรษณีย์ธรรมดาหรือโดยพนักงานส่งเอกสาร) ให้ถือว่าผู้ค้ำประกันได้รับไปครบถ้วนแล้ว…” แต่โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวแจ้งการผิดนัดไปถึงจำเลยที่ 2 ที่บ้านเลขที่ 184/165 เมื่อส่งไม่ได้ โจทก์จึงใช้วิธีการประกาศหนังสือพิมพ์

2 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ยังไม่ได้มีหนังสือบอกกล่าวแจ้งการผิดนัดไปถึงจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันตามที่อยู่ที่ระบุในหนังสือค้ำประกันหรือที่ตั้งของสำนักงานของจำเลยที่ 2 ตามหนังสือรับรองถือว่ายังไม่ได้มีหนังสือบอกกล่าวแจ้งการผิดนัด เมื่อปรากฏว่าโจทก์ยังไม่เคยส่งหนังสือบอกกล่าวไปตามที่อยู่ที่ระบุในหนังสือค้ำประกันหรือที่ตั้งของสำนักงานของจำเลยที่ 2 การบอกกล่าวโดยวิธีการประกาศหนังสือพิมพ์จึงไม่ชอบ)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

นายกสภาทนายความ ได้นำคณะทำงานของสภาทนายความ ให้ความรู้ทางด้านกฎหมายแก่ผู้ต้องขังก่อนฟ้อง และผู้ต้องขัง

เมื่อวันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน 2567 เวลา 09.00 -15.00 น. ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ได้นำคณะทำงานของสภาทนายความ ร่วมกับ คณะทำงานของ

โดยมีนายศิริศักดิ์ อมาตยกุล ประธานสภาทนายความจังหวัดนนทบุรี เข้าให้ความรู้ทางด้านกฎหมายแก่ผู้ต้องขังก่อนฟ้อง และผู้ต้องขังหลังฟ้องซึ่งยังไม่ได้ยื่นคำร้องขออนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว หรือไม่ทราบเรื่องการขอปล่อยตัวชั่วคราว พร้อมได้ให้คำแนะนำในการจัดหาทนายความในการแก้ต่างต่อสู้คดีตามกฎหมาย โดยมีผู้ต้องขังอยู่ระหว่างฝากขังและระหว่างพิจารณาจำนวนกว่า 1,800 คน ทั้งนี้

คณะทำงานที่ร่วมเดินทางไปทำกิจกรรมจิตอาสา ของทนายความหลายรุ่นในครั้งนี้ประกอบด้วย

1. ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ

2. นายศิริศักดิ์ อำมาตยกุล ประธานสภาทนายความจังหวัดนนทบุรี

3. นายอุทัย ไสยสำลี หัวหน้าสำนักงานนางสาวณัสภาทนายความ

4. นางสาวณัฐสินี วันทมาตย์ รองหัวหน้าสำนักงานสภาทนายความ และ หัวหน้าฝ่ายฝีกอบรมวิชาว่าความสภาทนายความ

5. นายประพัฒน์ ปัญญาวัฒนานนท์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ

6. นางจินตนา ปัญญาวัฒนานนท์

7. นางสาวกิตติยากร คำลือ ผู้ติดตามนายกสภาทนายความ

8. นางสาวณัฐมาน์ สุกันทะ

9. นายดวงมงคล อดิศรสุธีพชร

10. นางสาวณัฐภลัฎฐ์ เดเช

11. นายทวีป บุญประโคน

12. นายปาณัสม์ เอี่ยมวรพงษ์ ทนายความ

13. นายชัยวัฒน์ มัทธวรัตน์ ทนายความ

14. นางสาวอุไร เบญจพงศาพันธุ์ ทนายความ

15. นายศักดิ์ชาย ปัณณจเร

16. นายปัณจะศักดิ์ อินทร์สุ

17. พ.ต.อ.วิชัย ประทุมสุวรรณ

18. นายมงคล ศรีวิภช

19. นายราชศักดิ์ รักษ์กำเนิด

20. นายนาราภัทร สิงห์โต

21. นางสาวธิติรัชต์ สืบเนียม

#ทนายความจิตอาสาไม่มีค่าตอบแทน#สภาทนายความ

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3302.ดอกเบี้ยในคดีรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2047/2566 (เล่ม 6 หน้า 69) ตาม พ.ร.บ. การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 8 วรรคสอง กำหนดให้ระบุการขอค่าทดแทนหรือขอรับสิทธิคืนไว้ในคำร้องนั้นด้วย แม้ตามคำร้องของจำเลยทั้งสองขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่มีคำขอท้ายคำร้องเพียงว่าขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่และพิพากษายกฟ้อง มิได้ระบุการขอค่าทดแทนหรือขอรับสิทธิคืนไว้ในคำร้องนี้ด้วย ต่อมาเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้รับคำร้องของจำเลยทั้งสองให้ศาลชั้นต้นยกคดีนี้ขึ้นพิจารณาแล้วพิพากษาใหม่ในชั้นพิจารณาคดีที่รื้อฟื้นขึ้นพิจารณาใหม่ จำเลยทั้งสอง จึงเพิ่งยื่นคำร้องขอเงินค่าปรับคืนจากศาลพร้อมดอกเบี้ยก็ตาม ก็พออนุโลมได้ว่า จำเลยทั้งสองประสงค์จะขอค่าทดแทน หรือขอรับสิทธิคืนดังกล่าว และระบุการขอค่าทดแทนหรือขอรับสิทธิคืนไว้ในคำร้องขอรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่แล้ว และตามมาตรา 14(2) ตอนแรกที่บัญญัติว่า “ถ้าต้องรับโทษปรับและได้ชำระค่าปรับต่อศาลแล้ว ให้ได้รับเงินค่าปรับคืน……” เป็นการบังคับว่าต้องให้ได้รับเงินค่าปรับคืน จะใช้ดุลพินิจไม่ให้ได้รับเงินค่าปรับคืนไม่ได้ ส่วนตอนท้ายที่บัญญัติว่า “…….โดยศาลจะคิดดอกเบี้ยให้ในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีของจำนวนเงินค่าปรับนับตั้งแต่วันชำระค่าปรับ จนถึงวันที่ศาลเห็นสมควรกำหนดก็ได้” เป็นการให้ศาลใช้ดุลพินิจว่าจะคิดดอกเบี้ยให้หรือไม่ก็ได้ ซึ่งศาลจะพิจารณาจากข้อเท็จจริงในสำนวนว่าสมควรจะคิดดอกเบี้ยจะให้หรือไม่ หาใช่ว่าศาลต้องคิดดอกเบี้ยให้โดยศาลคงใช้ดุลพินิจคิดดอกเบี้ยให้เพียงถึงวันใดเท่านั้น

คดีรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ตาม พ.ร.บ. การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มีเจตนารมณ์ให้บุคคลผู้ต้องรับโทษทางอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดมีสิทธิขอรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ในภายหลัง หากปรากฏหลักฐานขึ้นใหม่ว่าบุคคลนั้นมิได้เป็นผู้กระทำความผิด และให้มีสิทธิที่จะได้รับค่าทดแทนและได้รับบรรดาสิทธิที่เสียไปเพราะผลแห่งคำพิพากษานั้นคืน หากปรากฏตามคำพิพากษาของศาลที่พิจารณาคดีที่รื้อฟื้นขึ้นพิจารณาใหม่ว่าบุคคลผู้นั้นมิได้กระทำความผิด ซึ่งการที่จะให้มีสิทธิที่จะได้รับค่าทดแทนและได้รับบรรดาสิทธิ ที่เสียไปเพราะผลแห่งคำพิพากษานั้นคืน ศาลที่พิพากษาคดีในชั้นรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่นี้ไม่จำต้องถูกผูกพันว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้หนึ่งผู้ใดที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีที่ทำให้จำเลยทั้งสองถูกดำเนินคดีไม่ได้กระทำความผิดแล้วจะกำหนดให้จำเลยทั้งสองได้รับค่าทดแทนไม่ได้ เพราะเห็นได้ว่าส่วนหนึ่งแห่งเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัตินี้ก็เพื่อต้องการให้บุคคลที่มิได้เป็นผู้กระทำความผิด ได้รับการแก้ไขเยียวยาให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ด้วย ดังนั้น ศาลที่พิจารณาคดีในชั้นรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่นี้ ซึ่งรวมทั้งศาลฎีกายังคงมีอำนาจกำหนดค่าทดแทนให้จำเลยทั้งสองได้ และเมื่อข้อเท็จจริงและเชื่อว่าจำเลยทั้งสองได้รับความเสียหายมาก สมควรที่จำเลยที่ 2 จะได้รับการเยียวยาด้วยการคิดดอกเบี้ยให้ในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีของจำนวนเงินค่าปรับนับตั้งแต่วันชำระค่าปรับจนถึงวันที่ได้รับเงินค่าปรับคืนด้วย ส่วนที่เกี่ยวกับรถยนต์ของกลางเพื่อมิให้มีปัญหาที่อาจมีในชั้นการขอคืน ศาลฎีกาเห็นสมควรสั่งเสียด้วย

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

  • ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3301.คิดดอกเบี้ยทบต้นเป็นการกำหนดค่าเสียหายล่วงหน้าเป็นเบี้ยปรับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3290/2566 ตามสัญญาเงินกู้ ข้อ 4 ระบุว่า “หากผู้กู้ค้างชำระดอกเบี้ยเกินกว่าหนึ่งปี ผู้กู้ยอมให้นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระ มารวมกับเงินต้นเดิมเป็นเงินต้นใหม่ และให้คิดดอกเบี้ยจากเงินต้นใหม่นี้ โดยจะคิดทบไปทุกปีจนกว่าจะได้รับการชำระหนี้ครบถ้วนตามสัญญา” จึงเป็นกรณีที่โจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญากู้ยืมได้ตกลงกันเป็นหนังสือให้เอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระไม่น้อยกว่าหนึ่งปีทบเข้ากับต้นเงินแล้วให้คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้น ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวมีผลใช้บังคับได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 655 วรรคหนึ่ง และไม่อยู่ในบังคับของข้อห้ามไม่ให้คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง ทั้งข้อตกลงดังกล่าวกฎหมายไม่ได้บัญญัติว่าต้องกระทำเมื่อดอกเบี้ยค้างชำระครบหนึ่งปีแล้วเท่านั้น ดังนั้น ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่ใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง วรรคสาม (9) ฉะนั้น ตราบใดที่จำเลยยังคงค้างชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธินำดอกเบี้ยที่ค้างชำระไม่น้อยกว่าหนึ่งปีทบเข้ากับต้นเงินและคิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้นได้ทุกครั้งที่มีการค้างชำระดอกเบี้ยถึงหนึ่งปีเช่นนั้น แม้ว่าจะครบกำหนดชำระคืนและลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดแล้วก็ตาม จะถือว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหาได้ไม่ แต่ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นการเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนที่กำหนดในรูปดอกเบี้ยทบต้นไว้ล่วงหน้าเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการที่จำเลยไม่ชำระหนี้ จึงเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 หากสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจลดเบี้ยปรับลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อตกลงดังกล่าวเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วน เห็นสมควรลดเบี้ยปรับลง โดยกำหนดให้โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นได้ครั้งเดียว

(หมายเหตุ 1 โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 6,727,681 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี แบบทบต้นของต้นเงิน 6,332,177 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

2 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 1,800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2552 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

3 ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2553 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

4 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นการเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนที่กำหนดในรูปดอกเบี้ยทบต้นไว้ล่วงหน้าเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการที่จำเลยไม่ชำระหนี้ จึงเป็นเบี้ยปรับ หากสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจลดเบี้ยปรับลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ โดยกำหนดให้โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นได้ครั้งเดียว

5 โดยมีคำวินิจฉัยข้างต้น และพิพากษากลับให้จำเลยชำระเงิน 2,070,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2554 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ

3300.หนังสือรับสภาพหนี้ไม่มีอายุความในตัวเอง ต้องถืออายุความตามมูลหนี้เดิม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4557/2566 โจทก์ฟ้องโดยไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือมาแสดง แต่โจทก์มีหนังสือรับสภาพหนี้มีใจความว่าผู้ตายเป็นหนี้โจทก์ โดยนำโฉนดที่ดินมาให้ยึดถือไว้เป็นประกัน และจำเลยในฐานะทายาทของผู้ตายรับจะชดใช้เงินแก่โจทก์ กับมีลายมือชื่อของจำเลยในสัญญา และโจทก์มี ส. บุตรของโจทก์และในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์และเป็นพยานลงชื่อในหนังสือรับสภาพหนี้มาเบิกความยืนยันว่า ผู้ตายซึ่งเป็นบิดาของจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์จริงและมารดาพยานซึ่งเป็นพี่ของผู้ตายต้องการช่วยน้อง จึงให้นำโฉนดที่ดินมาวางเป็นประกัน มีการทำสัญญากู้ยืมเงินกันไว้ ต่อมาเมื่อจำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ โจทก์ได้คืนสัญญากู้ยืมเงินให้จำเลย โจทก์และ ส. เป็นญาติของจำเลย เชื่อว่า ส. เบิกความไปตามความจริงที่ได้รู้เห็นมา อันเป็นการนำสืบถึงความเป็นมาของมูลหนี้เดิมและหลักทรัพย์ที่นำมาเป็นประกันประกอบกับโจทก์มีโฉนดที่ดินของผู้ตายอยู่ในครอบครอง จึงฟังได้ว่าผู้ตายกู้ยืมเงินโจทก์โดยมีการทำสัญญากู้ยืมเงินกันไว้จริง และมีการคืนให้จำเลยเมื่อมีการทำหนังสือรับสภาพหนี้

การที่ ง. โทรศัพท์แจ้งให้จำเลยทราบว่าผู้ตายเป็นหนี้โจทก์ให้จำเลยไปลงชื่อรับชำระหนี้ มิฉะนั้นจะเอาตำรวจมาจับและต้องติดคุก แสดงว่า ง. ได้แจ้งข้อเท็จจริงในหนังสือให้จำเลยทราบแล้วก่อนที่จะมีการทำหนังสือดังกล่าวขึ้น ส่วนถ้อยคำที่ว่า “ให้จำเลยไปลงชื่อรับชำระหนี้มิเช่นนั้นจะเอาตำรวจมาจับจะต้องติดคุก” นั้น จากพฤติการณ์ที่ผู้ตายเสียชีวิตและยังไม่มีผู้ใดชำระหนี้ การที่ ง. พูดขู่จำเลยดังกล่าว และจำเลยยอมลงลายมือชื่อในหนังสือรับสภาพหนี้ยอมรับผิดจะใช้เงินที่กู้คืนแก่โจทก์ เป็นกรณีที่ ง. ทำไปโดยเชื่อว่าตนมีสิทธิทำได้ตามกฎหมาย ถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิตามปกตินิยม หาใช่เป็นการหลอกลวงข่มขู่อันจะทำให้นิติกรรมเป็นโมฆียะไม่ หนังสือรับสภาพหนี้จึงมีผลใช้บังคับได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 165 วรรคหนึ่ง และมาตรา 166

ผู้ตายถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2556 จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้วันที่ 1 พฤษภาคม 2557 เมื่อการทำหนังสือรับสภาพหนี้ของจำเลยต่อโจทก์ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมทำให้อายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม สะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) โจทก์ไม่ต้องห้ามฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม และต้องเริ่มต้นนับอายุความใหม่ตามอายุความแห่งมูลหนี้เดิมนับแต่เหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงนั้นสิ้นสุดลง เมื่อกฎหมายไม่ได้กำหนดอายุความของการกู้ยืมเงินไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ส่วนหนังสือรับสภาพหนี้ไม่มีอายุความในตัวเองเพียงแต่มีผลทำให้อายุความในมูลหนี้เดิมสะดุดหยุดลง โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ได้ภายในกำหนด 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2557 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/15 และมาตรา 193/30 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 ภายในกำหนด 10 ปี ดังกล่าว ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

การทำหนังสือรับสภาพหนี้ของจำเลยมีข้อตกลงระบุให้โจทก์มีสิทธิยึดโฉนดที่ดินไว้เป็นประกันอันเป็นข้อตกลงที่คู่สัญญาสมัครใจทำต่อกัน ซึ่งไม่ขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน โจทก์จึงมีสิทธิยึดโฉนดที่ดินอันเป็นทรัพย์ที่นำมาประกันไว้จนกว่าจำเลยจะชำระหนี้ตามสัญญา จำเลยไม่มีสิทธิขอโฉนดที่ดินคืนจนกว่าจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ครบถ้วนและไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากโจทก์

(หมายเหตุ 1 คดีนี้เป็นกรณีที่จำเลยซึ่งเป็นทายาทของผู้ตายได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ให้แก่โจทก์พร้อมกับส่งมอบโฉนดที่ดินไว้ให้เป็นหลักประกันแก่โจทก์ ภายหลังจากที่ผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว ส่วนหนังสือสัญญากู้ได้มีการส่งมอบคืนให้แก่จำเลยไปแล้ว โจทก์จึงฟ้องคดีนี้โดยไม่มีหลักฐานหนังสือสัญญากู้เป็นพยานหลักฐาน คงมีแต่เพียงหนังสือรับสภาพหนี้เท่านั้น

2 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า หนังสือรับสภาพหนี้ไม่มีอายุความในตัวเองเพียงแต่มีผลทำให้อายุความในมูลหนี้เดิมสะดุดหยุดลง โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ได้ภายในกำหนด 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2557 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/15 และมาตรา 193/30 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 ภายในกำหนด 10 ปี ดังกล่าว ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

นายกสภาทนายความ เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมโครงการปฏิรูปทนายความอาสา ทนายความขอแรง และที่ปรึกษากฎหมายของเด็กหรือเยาวชน ประจำปีงบประมาณ 2567

เมื่อวันเสาร์ที่ 22 มิถุนายน 2567 เวลา 08.30 – 16.30 น. ที่ ภัตตาคารเล่งหงษ์ นครสวรรค์ ตำบลวัดไทร อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ : ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมโครงการปฏิรูปทนายความอาสา ทนายความขอแรง และที่ปรึกษากฎหมายของเด็กหรือเยาวชน ประจำปีงบประมาณ 2567

โดยมี นายรุ่งธรรม สมคิด ประธานสภาทนายความจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวต้อนรับ นายสาโรจน์ จันทรศิริ กรรมการบริหารสภาทนายความภาค 6 กล่าวรายงาน นายไพบูลย์ แย้มเอม อุปนายกฝ่ายสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ ผู้ดำเนินรายการ ยังได้รับเกียรติจาก นายเดชฤทธิ์ ศรีสุพรรณ์ ประธานสภาทนายความจังหวัดพิษณุโลก

นายโชคชัย ม้าทอง ประธานสภาทนายความจังหวัดพิจิตร

นายปริญญา สุระทักษะ ประธานสภาทนายความจังหวัดสวรรคโลก นายรังสรรค์ ช้างกลาง ประธานสภาทนายความจังหวัดกำแพงเพชร นายพจ สิทธิชัย ประธานสภาทนายความจังหวัดอุทัยธานี นายบัณฑิต ศรีวิไล ประธานสภาทนายความจังหวัดเพชรบูรณ์ และนายสุทธิกาญจน์ ชมชื่น ประธานสภาทนายความจังหวัดหล่มสัก

นอกจากนี้ ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ให้เกียรติเป็นวิทยากรบรรยายหัวข้อ “ประมวลจริยธรรมและมรรยาททนายความของทนายความอาสา พระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565” นายสัญญาภัชระ สามารถ อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ บรรยายหัวข้อ “ทนายความอาสากับการคุ้มครองสิทธิมุนษยชนในคดีอาญา” ดร.ชัยชีพ ชโลปถัมภ์ กรรมการฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย บรรยายหัวข้อ “กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับทนายความอาสา” ซึ่งมีทนายความในจังหวัดนครสวรรค์ และทนายความภาค 6 ลงทะเบียนเข้าร่วมอบรมในครั้งนี้กว่า 300 คน

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3298.ทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาลมีผลเฉพาะคู่ความที่ทำสัญญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 128/2566 การทำสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ในศาลภายหลังจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองแล้วเกิดขึ้นในศาลขณะที่คดีอยู่ระหว่างพิจารณา ซึ่งเห็นได้ว่าเป็นกรณีที่คู่ความเฉพาะโจทก์กับจำเลยที่ 1 แสดงเจตนาระงับข้อพิพาทตามฟ้องโดยประสงค์ให้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้บังคับหนี้ตามฟ้องตามข้อตกลงดังกล่าว มิใช่เพื่อระงับหนี้เดิม จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาเฉพาะโจทก์กับจำเลยที่ 1 มิได้มีผลเกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 2 ที่โจทก์ฟ้องให้รับผิดในฐานะผู้จัดการมรดก กรณีจึงไม่มีผลทำให้หนี้ตามสัญญากู้เงินระงับหรือเป็นการเปลี่ยนแปลงสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้อันเป็นการแปลงหนี้ใหม่

(หมายเหตุ 1 คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดในฐานะผู้กู้ และจำเลยที่ 2 ทายาทของ น. ให้รับผิดแทน น.ในฐานะผู้ค้ำประกัน โดยจะชำระเงินคืนภายในวันที่ 1 มีนาคม 2559 ซึ่งจำเลยที่ 1 กับ น. มีศักดิ์เป็นอาหลานกัน

2 จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระเงินคืน โจทก์มีหนังสือลงวันที่ 12 กันยายน 2560 บอกเลิกสัญญาและทวงถามไปยังจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกและทายาทของ น. ภายหลังจากที่ น.ตายไปเกือบ 11 เดือน

3 กลุ่มงานตรวจเอกสาร กองพิสูจน์หลักฐานกลางตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อในช่องผู้ค้ำประกันในหนังสือค้ำประกัน ด้านหลัง เปรียบเทียบกับตัวอย่างลายมือชื่อของ น. แล้วลงความเห็นว่าไม่ใช่ลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกัน

4 ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2561 โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน

5 ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า น. ทำสัญญาค้ำประกันตามฟ้องให้ไว้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ น. จึงต้องรับผิดนำทรัพย์สินจากกองมรดกมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ โดยพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย โดยให้จำเลยที่ 2 นำทรัพย์สินจากกองมรดกของ น. มาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ แต่ทั้งนี้จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดก็ต่อเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ดังกล่าว สำหรับสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ทำกับโจทก์ในระหว่างพิจารณานั้น พิจารณาแล้วเห็นว่าชอบด้วยกฎหมาย จึงพิพากษาให้คดีเสร็จเด็ดขาดไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความ

6 ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า การทำสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมแล้ว ทำให้หนี้ตามสัญญากู้เงินระงับเกิดเป็นหนี้ใหม่อันถือได้ว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่ จึงไม่มีหนี้ที่จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดอีกตาม ป.พ.พ. มาตรา 698 โดยพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2

7 ประเด็นว่า ลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันเป็นลายมือชื่อของ น. หรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์และจำเลยที่ 2 ไม่ได้ตกลงท้ากันให้ถือตามความเห็นของผู้เชี่ยวชาญเป็นข้อแพ้ชนะ ในขณะที่ความแตกต่างของลายมือชื่อที่เป็นปัญหากับตัวอย่างลายมือชื่อที่ตรวจพิสูจน์อาจเกิดจากบุคคลที่เป็นเจ้าของลายมือชื่อนั้นเองเจตนาลงลายมือชื่อที่เป็นปัญหาให้ผิดไปจากที่เคยลงลายมือชื่อไว้ หรืออาจเกิดจากปัจจัยอย่างอื่น เช่น ความเร่งรีบ อิริยาบถ สภาวะอารมณ์ อาการเจ็บป่วย หรืออาจมีสาเหตุมาจากกระดาษที่ลงลายมือชื่อหรือปากกาที่ใช้ก็เป็นได้ หาใช่ว่าเมื่อผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นอย่างไรแล้ว ศาลจะต้องรับฟังตามนั้นเสมอไป

8 ประเด็นว่า จำเลยที่ 2 หลุดพ้นความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันที่จะต้องใช้เงินแก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 หรือไม่ ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยข้างต้น โดยพิพากษาแก้เป็นว่า หากจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ให้จำเลยที่ 2 นำทรัพย์สินจากกองมรดกของ น. มาชำระหนี้ต้นเงิน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2558 ถึงวันที่ 1 มีนาคม 2559 และนับถัดจากวันที่ 1 มีนาคม 2559 ไปอีก 60 วัน)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3299.ทำสัญญากู้ยืมเพื่อเป็นหลักประกันการร่วมลงทุน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4209/2566 แม้สัญญากู้ยืมเงินเป็นสัญญาที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง แต่กฎหมายไม่ให้ถือว่าเป็นการตัดสิทธิคู่ความในอันที่จะกล่าวอ้างและนำพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างว่า สัญญาหรือหนี้อย่างอื่นที่ระบุไว้ในเอกสารนั้นไม่สมบูรณ์ เมื่อจำเลยต่อสู้ว่าหนี้ไม่สมบูรณ์ จำเลยจึงมีสิทธินำสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างดังกล่าวได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 วรรคท้าย กรณีเชื่อว่าก่อนทำสัญญากู้ยืมเงิน โจทก์กับจำเลยตกลงร่วมลงทุนกันจริงโดยมีการส่งมอบเงินตามสัญญากู้เป็นเงินร่วมลงทุนเบื้องต้น และโจทก์กับจำเลยมีเจตนาผูกพันกันตามนิติกรรมร่วมลงทุน แต่ทำนิติกรรมกู้ยืมเงินเพื่อเป็นประกันในการปฏิบัติตามสัญญา นิติกรรมกู้ยืมจึงเป็นนิติกรรมอำพรางนิติกรรมการร่วมลงทุน นิติกรรมการกู้เงินย่อมตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ในวรรคสองของมาตราดังกล่าวบัญญัติว่า “ถ้าการแสดงเจตนาลวงตามวรรคหนึ่งทำขึ้นเพื่ออำพรางนิติกรรมอื่น ให้นำบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวกับนิติกรรมที่ถูกอำพรางมาใช้บังคับ” แต่โจทก์ไม่ได้ฟ้องจำเลยให้รับผิดตามสัญญาร่วมลงทุน แต่ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินที่เป็นโมฆะ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตามมูลหนี้เงินกู้ที่โจทก์ฟ้อง

(หมายเหตุ 1 (หมายเหตุ 1 เมื่อเดือนพฤษภาคม 2561 บริษัทของจำเลยว่าจ้างบริษัทของโจทก์ขนเถ้าลอย โจทก์ติดต่อบิดาจำเลยขอร่วมลงทุนในธุรกิจเถ้าลอย นัดหมายและเจรจาเกี่ยวกับการร่วมธุรกิจกัน

2 หลังจากนั้นโจทก์โอนเงิน 450,000 บาท ให้แก่จำเลย ต่อมาบิดาจำเลยพาโจทก์และ ส. เข้าร่วมประชุมกับผู้แทนรัฐวิสาหกิจถือหุ้นลาว ซึ่งเป็นคู่สัญญาของบริษัทจำเลยในการทำธุรกิจเถ้าลอยที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

2 ข้อเท็จจริงในทางพิจารณา มีการสนทนากันในแอปพลิเคชันไลน์ โดยไม่ปรากฏการพูดคุยเกี่ยวกับการกู้เงินระหว่างโจทก์กับจำเลย กลับมีการพูดคุยปรึกษาเกี่ยวกับการจัดตั้งบริษัทร่วมลงทุน ทั้งจำเลยนำสัญญาต่อเรือมาแสดงว่า มีการนำเงินไปลงทุนจริงตามที่แจ้งโจทก์ไว้

3 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ไม่ได้ฟ้องจำเลยให้รับผิดตามสัญญาร่วมลงทุน แต่ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินที่เป็นโมฆะ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตามมูลหนี้เงินกู้ที่โจทก์ฟ้อง)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849