ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3310.สร้างกำแพงที่ดินจัดสรรล้อมรอบที่ดินจัดสรร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3638/2566 ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคสาม บัญญัติว่า “ที่และวิธีทำทางผ่านนั้นต้องเลือกให้พอควรแก่ความจำเป็นของผู้มีสิทธิจะผ่าน กับทั้งให้คำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายน้อยแต่ที่สุดที่จะเป็นไปได้…” ดังนั้น ในการที่จะพิจารณาว่าบุคคลใดจะใช้สิทธิผ่านที่ดินแปลงที่ล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะในฐานะทางจำเป็นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง ได้หรือไม่ เพียงใด ต้องคำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดแก่ที่ดินแปลงที่ล้อมอยู่ให้น้อยที่สุดเป็นประการสำคัญด้วย เมื่อจำเลยได้รับอนุญาตให้จัดสรรที่ดินในปี 2528 จากนั้นดำเนินการแบ่งแยกที่ดินเป็นแปลงย่อยประเภทที่อยู่อาศัย บ้านเดี่ยว บ้านแฝดและอาคารพาณิชย์ รวมกันเกินกว่า 200 แปลง กับจัดสร้างถนนคอนกรีตและกำแพงคอนกรีตเป็นรั้วล้อมรอบที่ดินจัดสรรและบนที่ดินโฉนดเลขที่ 60883 ด้านที่ติดกับที่ดินของโจทก์เพื่อให้เป็นสาธารณูปโภคของที่ดินจัดสรรนับแต่นั้นเป็นต้นมา นาย ส. เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 77725 ในขณะนั้นก็ดี และโจทก์ที่ได้รับโอนที่ดินมาในฐานะผู้จัดการมรดกของ นาย ส. เมื่อปี 2551 ระยะเวลารวมกันนานกว่า 30 ปี นาย ส. และโจทก์ต่างไม่เคยกล่าวอ้างว่าที่ดินของโจทก์ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้เลย จนกระทั่งเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2561 โจทก์จึงมอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือแจ้งให้จำเลยรื้อถอนกำแพงคอนกรีตออกยาว 8 เมตร บ่งชี้ว่าการจัดสรรที่ดินของจำเลยที่ดำเนินการมาเป็นเวลานานก่อนถึงวันที่โจทก์บอกกล่าวมิได้มีผลใด ๆ ต่อการออกสู่ทางสาธารณะต่อที่ดินของโจทก์ ทั้งข้อเท็จจริงจากทางนำสืบของโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่า ที่และวิธีทำทางผ่านนั้น โจทก์ได้เลือกให้พอควรแก่ความจำเป็นของผู้มีสิทธิจะผ่าน กับทั้งได้คำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ตามบทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคสาม นอกจากนี้ พฤติการณ์ที่เจ้าของที่ดินของโจทก์เดิมมิได้ขวนขวายหาทางออกสู่ทางสาธารณะให้ที่ดินเสียตั้งแต่ได้มาเมื่อปี 2510 และปล่อยทิ้งร้างที่ดินไว้เป็นเวลานาน ครั้นเมื่อปี 2528 จำเลยเข้าไปปรับปรุงที่ดินหลายแปลงด้วยการขออนุญาตจัดสรรและด้วยเงินลงทุนที่สูงมากจนสามารถพัฒนาที่ดินทำให้สภาพแวดล้อมมีความเจริญ มีคนอาศัยอยู่จำนวนมาก ถนนคอนกรีตมีความสะดวกสบายในการใช้สอยสืบต่อมาจนถึงปัจจุบันยังบ่งชี้ว่าโจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีนี้เพื่อฉกฉวยโอกาสให้ตนเองกับบริวารสามารถใช้ถนนคอนกรีตในที่ดินจัดสรรได้โดยไม่ต้องลงทุนในการทำถนนด้วยค่าใช้จ่ายของตนเองและยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่ที่ดินของโจทก์ไปในตัว ซึ่งมิใช่เป็นการกระทำโดยสุจริต ตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 อีกด้วย โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนกำแพงคอนกรีตและเข้าไปใช้สอยถนนคอนกรีตบนที่ดินโฉนดเลขที่ 60883 ของจำเลยในฐานะที่เป็นทางจำเป็นแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 77725 ของโจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง ได้

(หมายเหตุ 1 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้จำเลยรื้อถอนกำแพงคอนกรีตที่ปิดกั้นที่ดินของโจทก์ตามระวางแผนที่ให้มีความกว้าง 4 เมตร ให้ที่ดินบางส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ 60883 ของจำเลยซึ่งเป็นถนนที่ระบายด้วยสีน้ำเงินเฉพาะเส้นทางตั้งแต่ที่มีหมายเลข 1 กำกับจนถึงที่มีหมายเลข 2 กำกับเป็นทางจำเป็นออกสู่ทางสาธารณะแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 77725 ของโจทก์

2 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ใช้ค่าทดแทนเป็นเงิน 30,000 บาท แก่จำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

3 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การลงทุนจัดสร้างถนนคอนกรีตผ่านที่ดินแปลงย่อยทุกแปลงเพื่อให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรที่อาศัยอยู่ร่วมกันใช้เป็นทางสัญจรออกสู่ทางสาธารณะ กับการจัดสร้างกำแพงคอนกรีตเป็นรั้วล้อมรอบโครงการแสดงอาณาเขตไว้เฉพาะกลุ่มบุคคลที่ตกลงมาอาศัยอยู่ร่วมกัน เพื่อให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรมีความมั่นใจได้ว่าตนเองและบริวารจะสามารถอยู่อาศัยในที่ดินจัดสรรที่ได้จัดให้มีสาธารณูปโภคเพื่ออำนวยความสะดวกสบายทุก ๆ ด้านไว้อย่างครบครันได้อย่างมีความสงบสุข มีการบริหารจัดการเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีระบบ ไม่ถูกรบกวนในสิ่งที่วิญญูชนทั่วไปไม่พึงประสงค์ให้เกิดขึ้นในหมู่บ้านที่ตนพักอาศัยอันเกิดจากการกระทำของบุคคลภายนอก ชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินมีความมั่นคงปลอดภัยสูงกว่าการอาศัยอยู่ในที่ดินที่มิได้มีการจัดสรร ค่าใช้จ่ายอันเกี่ยวด้วยการจัดสร้างสาธารณูปโภคอันจำเป็นต้องมีทั้งสองกรณีและอื่น ๆ เช่น การติดตั้งเสาไฟฟ้าและโคมไฟผ่านหน้าที่ดินทุกแปลงและตามเส้นทางของถนนเพื่อให้มีแสงสว่างในเวลากลางคืน ผู้จัดสรรที่ดินเช่นจำเลยย่อมต้องนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวไปคิดคำนวณเป็นต้นทุนของการจัดสรรแล้วนำไปรวมอยู่ในราคาของที่ดินจัดสรรแปลงย่อยทุกแปลง อันส่งผลทำให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อที่ดินจัดสรรเพื่อการอยู่อาศัยในราคาที่สูงมากกว่าการซื้อที่ดินและบ้านที่ไม่มีการจัดสรรหลายเท่าตัว เท่ากับว่าผู้ซื้อที่ดินจัดสรรทุกแปลงได้ร่วมกันลงทุนสร้างสาธารณูปโภคต่าง ๆ โดยปริยายนั่นเอง โดยสาธารณูปโภคที่ผู้จัดสรรจัดให้มีขึ้นได้รับความคุ้มครองให้คงสภาพเช่นที่ได้จัดทำตลอดไปและผู้ซื้อที่ดินจัดสรรทุกแปลงยังเป็นผู้มีภาระหน้าที่ต้องชำระค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคเป็นรายเดือนตามที่คณะกรรมการการจัดสรรที่ดินกลางกำหนด เช่นนี้ ที่ดินแปลงที่ได้มีการปรับปรุงแปรสภาพจัดให้เป็นสาธารณูปโภคอันเกิดจากการได้รับอนุญาตให้จัดสรรที่ดินซึ่งหากเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับที่ดินเกิดขึ้นแล้วอาจมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของกลุ่มบุคคลในที่ดินจัดสรรจำนวนมาก จึงพึงได้รับความคุ้มครองมากกว่าที่ดินแปลงที่ยังไม่ผ่านกระบวนการในการจัดสรรที่ดินตามกฎหมาย

4 และศาลฎีกามีคำวินิจฉัยข้างต้น โดยพิพากษายกฟ้องโจทก์)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3309.สหกรณ์จัดสรรที่ดินโดยไม่ได้รับอนุญาตให้จัดสรร ทำสัญญาเช่าซื้อที่ดินให้กับสมาชิก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3365/2566 (ประชุมใหญ่) โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประเภทสหกรณ์ มีวัตถุประสงค์ให้บริการจัดหาที่อยู่อาศัยให้แก่สมาชิก ซึ่งตาม พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ. 2542 มาตรา 46 บัญญัติว่า เพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ให้สหกรณ์มีอำนาจกระทำการดังต่อไปนี้… (6) .. ให้เช่า ให้เช่าซื้อ (7) จัดให้ได้มา ซื้อ… เช่าซื้อ… (9) ดำเนินกิจการอย่างอื่นบรรดาที่เกี่ยวกับ หรือเนื่องในการจัดให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ของสหกรณ์ การที่โจทก์นำที่ดินโฉนดเลขที่ 38760 เนื้อที่ 36 ไร่ 54 ตารางวา มาดำเนินการแบ่งแยกออกเป็นแปลงย่อยจำหน่ายให้แก่สมาชิกสหกรณ์รวมทั้งจำเลยในรูปแบบการทำสัญญาเช่าซื้อโดยโจทก์ได้รับค่าเช่าซื้อเป็นประโยชน์ตอบแทน จึงต้องด้วยนิยามศัพท์ จัดสรรที่ดิน ตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 4 ที่บัญญัติว่า การจัดสรรที่ดิน หมายถึง การจำหน่ายที่ดินที่ได้แบ่งเป็นแปลงย่อยรวมกันตั้งแต่สิบแปลงขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งจากที่ดินแปลงเดียวหรือแบ่งแยกจากที่ดินหลายแปลงที่มีพื้นที่ติดต่อกัน โดยได้รับทรัพย์สินหรือประโยชน์เป็นค่าตอบแทน และต้องอยู่ในบังคับ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 21 ที่บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ใดทำการจัดสรรที่ดิน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ… เพราะโจทก์มิได้อยู่ในข้อยกเว้นตามมาตรา 5 (2) ที่บัญญัติว่า การจัดสรรที่ดินที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายอื่น เนื่องจากกรณีของโจทก์ไม่มีบทบัญญัติใดกำหนดรองรับ ควบคุมดูแลการดำเนินการให้ได้มาตรฐานที่ดีเป็นการเฉพาะ แต่อย่างไรก็ดี แม้โจทก์จะไม่ได้ขออนุญาตจัดสรรที่ดินตามพระราชบัญญัติดังกล่าวก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าขณะทำสัญญาเช่าซื้อ โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อและจำเลยผู้เช่าซื้อต่างก็ไม่ทราบว่ากรณีของโจทก์ต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการก่อน วัตถุประสงค์แห่งสัญญาจึงไม่ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 เมื่อจำเลยไม่ชำระค่าเช่าซื้อเป็นเวลา 3 งวดติดต่อกัน และโจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแล้ว โจทก์ชอบที่จะริบบรรดาค่าเช่าซื้อที่จำเลยได้ชำระมาแล้วและกลับเข้าครอบครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 574 วรรคหนึ่ง

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

สภาทนายความจัดแข่งกอล์ฟการกุศล…   

สภาทนายความจัดแข่งกอล์ฟการกุศล…   

เมื่อวันอาทิตย์ 30 มิถุนายน 2567 เวลา 14.00 น.ที่สนามกอล์ฟบลูแคนยอนคันทรีคลับ จังหวัดภูเก็ต ท่านวัชเรศร วิวัชรวงศ์ ประธานที่ปรึกษากิติมศักดิ์นายกสภาทนายความ เป็นประธานเปิดการแข่งขันกอล์ฟการกุศล LAWYERS COUNCIL CHARITY GOLF TOURNAMENT 2024 โดยมี ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ นายไพบูลย์ แย้มเอม อุปนายกฝ่ายสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ นางรุ่งนภา พุฒแก้ว ประธานสภาทนายความจังหวัดภูเก็ต

นายโรม จุไร ประธานสภาทนายความจังหวัดตะกั่วป่า

นายอุดม ยกทอง ประธานสภาทนายความจังหวัดระนอง

นายวันชัย บุญฤทธิ์ ประธานสภาทนายความจังหวัดสุราษฏร์ธานี

นายสุพจน์ หนูเพ็ง ประธานสภาทนายความจังหวัดไชยา

นายศิลปประเสริฐ คงยงค์ ประธานสภาทนายความจังหวัดกระบี่

นายกฤษฎิ์ สุดถนอม ประธานสภาทนายความจังหวัดเกาะสมุย

นายสรรเพชร ทิพย์มณเฑียร ประธานสภาทนายความจังหวัดพังงา นายชลสิทธิ แก้วยะรัตน์ กรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฏหมาย คณะกรรมการสภาทนายความจังหวัดภูเก็ต คณะกรรมการชมรมกอล์ฟ และก๊วนกอล์ฟร่วมงานจำนวนมาก

ชาวบ้านจากจังหวัดตากแห่ขอบคุณสภาทนายความในพระบรมราชูปภัมถ์ ที่ช่วยฟ้องคดีสารแคดเมียม จนศาลฎีกาพิพากษาให้ชาวบ้านชนะคดี พร้อมให้ชดใช้ความเสียกว่า 30 ล้านบาท

ชาวบ้านแห่ขอบคุณสภาทนายความในพระบรมราชูปภัมถ์ ที่ช่วยฟ้องคดีสารแคดเมียม   จนศาลฎีกาพิพากษาให้ชาวบ้านชนะคดี

 

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2567 เวลา 9.00 น. ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ นัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ในคดีสิ่งแวดล้อม คดีแพ่ง หมายเลขดำ 63/2552 คดีแพ่งหมายเลขแดง 1083/2558 ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ กรณีการรั่วไหลของสารแคดเมียม ในลุ่มน้ำแม่ตาว ตำบลแม่ตาว อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

โดยศาลพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ให้บริษัท ผ.จำเลยที่ 1 และบริษัท ต.จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายให้กับชาวบ้านแต่ละราย ตามคำพิพากษาศาลของศาลอุทธรณ์ กว่าสามสิบล้านบาท และให้บริษัท ผ.ทำการแก้ไขฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อม และให้ติดตามตรวจสอบ และส่งแผนการฟื้นฟูให้ศาลทราบทุก 6 เดือน และให้ส่งคำพิพากษาศาลฎีกาให้ทุกหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องทราบ

หลังจากฟังคำพิพากษาของศาลฎีกาแล้ว นายอรรถกร แสนอุ่น และตัวแทนกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนดังกล่าวได้เดินทางมาขอบคุณสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์

โดย ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ได้มอบหมายให้ว่าที่ร้อยตรี สมชาย อามีน ประธานอนุกรรมการสิ่งแวดล้อมฝ่ายคดีและปฏิบัติการ นายไพโรจน์ จำลองราษฎร์ รองประธานอนุกรรมการสิ่งแวดล้อมฝ่ายคดีสิ่งแวดล้อมและปฏิบัติการ และนายอุทัย ไสยสาลี หัวหน้าสำนักงานสภาทนายความให้การต้อนรับ

#สภาทนายความที่พึ่งทางกฎหมายของประชาชน

 

 

 

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3308.ถุงลมนิรภัยไม่ทำงาน ผู้ขายต้องรับผิดชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1166/2566 โจทก์กล่าวอ้างว่า ถุงลมนิรภัยรถยนต์ของโจทก์ไม่ทำงานในขณะเกิดอุบัติเหตุ อันเป็นการกล่าวอ้างว่าสินค้าของจำเลยร่วมเป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัยตาม พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 มาตรา 4 โดยจำเลยทั้งสองถือเป็นผู้ประกอบการในฐานะผู้ขาย ส่วนจำเลยร่วมเป็นผู้ประกอบการในฐานะผู้ผลิตรถยนต์ จึงต้องด้วยมาตรา 7 ที่กำหนดให้ผู้ประกอบการไม่ต้องรับผิดหากพิสูจน์ได้ว่า (1) สินค้านั้นมิได้เป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ทั้งข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมกล่าวอ้างเกี่ยวกับการผลิตการประกอบซึ่งอยู่ในความรู้เห็นโดยเฉพาะของจำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจ จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมจึงมีภาระการพิสูจน์ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 29 แต่เมื่อพยานหลักฐานที่จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมนําสืบมายังไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า ถุงลมนิรภัยทำงานเป็นปกติและไม่ชํารุดบกพร่อง ข้อเท็จจริงย่อมรับฟังได้ว่า ถุงลมนิรภัยรถยนต์ของโจทก์ไม่ทำงานในขณะเกิดเหตุ จึงเป็นสินค้าที่มีความบกพร่องในการผลิตและเป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัย เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติแล้วว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายได้รับความเสียหายจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัยดังกล่าว และการใช้หรือการเก็บรักษาสินค้านั้นเป็นไปตามปกติและธรรมดาของโจทก์ จำเลยร่วมในฐานะผู้ผลิตสินค้าที่ไม่ปลอดภัยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดจำหน่ายที่มอบให้จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ให้แก่โจทก์ และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ขายรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ เมื่อสามารถระบุตัวจำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้ผลิตได้แล้ว จำเลยทั้งสองจึงไม่ใช่ผู้ประกอบการที่จะต้องรับผิดต่อโจทก์ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551

การบรรยายฟ้องของโจทก์นอกจากให้จำเลยทั้งสองรับผิดตาม พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 แล้ว ยังเป็นการฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดจากการที่รถยนต์คันพิพาทไม่เป็นไปตามที่จำเลยทั้งสองได้โฆษณาไว้ อันอยู่ในเกณฑ์ต้องบังคับตาม ป.พ.พ. และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 อยู่ด้วย การที่โจทก์ซื้อรถยนต์คันพิพาทจากจำเลยที่ 2 เพราะเชื่อตามคําโฆษณาว่า รถยนต์คันพิพาทมีความปลอดภัยสูง มีถุงลมนิรภัยป้องกันการกระแทกสำหรับผู้ขับขี่และผู้โดยสารให้ได้รับความปลอดภัยเมื่อเกิดอุบัติเหตุ คําโฆษณาดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 11 เมื่อถุงลมนิรภัยไม่ทำงานโดยไม่ออกมาป้องกันอันตรายขณะเกิดอุบัติเหตุ จนเป็นเหตุให้โจทก์และสามีโจทก์ได้รับบาดเจ็บไม่เป็นไปตามคําโฆษณาของจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ขายจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาและต้องร่วมรับผิด สำหรับจำเลยที่ 1 ได้ความว่าในการประกอบธุรกิจ จำเลยร่วมจะเป็นผู้ผลิตและประกอบรถยนต์แล้วจึงจำหน่ายและส่งมอบรถยนต์ที่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนดให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงจำหน่ายและส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่าย การประกอบกิจการจำหน่ายรถยนต์ของศูนย์บริการของจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 1 ต้องทำสัญญาระหว่างกัน โดยศูนย์จำหน่ายต้องใช้เครื่องหมายและสัญลักษณ์ของ ช. การดำเนินการของจำเลยที่ 2 ต้องยึดถือตามมาตรฐานของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ต้องมีบริการหลังการขาย ตามพฤติการณ์ในการประกอบธุรกิจดังกล่าว ประกอบกับหลังเกิดเหตุ พนักงานจำเลยที่ 1 เป็นผู้ตรวจสอบสภาพรถรวมถึงถุงลมนิรภัยเองและได้ร่วมเจรจากับโจทก์ ย่อมแสดงให้เห็นว่า จำเลยทั้งสองมีฐานะต่างเป็นตัวการตัวแทนซึ่งกันและกันในการร่วมกันประกอบธุรกิจจำหน่ายและให้บริการซ่อมบํารุงรถยนต์ยี่ห้อ ช. รวมทั้งรถยนต์คันพิพาท โดยจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ของตน เช่นนี้ จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกตามสัญญาซื้อขายด้วย

มูลหนี้ที่ทำให้จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นเรื่องสัญญา ส่วนความรับผิดของจำเลยร่วมนั้นมาจากมูลหนี้ละเมิด โจทก์นําสืบถึงความเสียหายที่เกิดขึ้น อันเป็นผลทั้งจากการผิดสัญญาและละเมิด ขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายทั้งหมดรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 500,000 บาท เมื่อถุงลมนิรภัยมีไว้เพื่อป้องกันความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินและเพื่อรองรับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น หากถุงลมนิรภัยทำงานผิดปกติ จำเลยทั้งสองผู้ขายรถยนต์พิพาทย่อมคาดเห็นได้ว่าโจทก์ผู้ใช้รถรวมทั้งคนโดยสารจะได้รับบาดเจ็บและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่แต่เฉพาะความเสียหายต่อตัวทรัพย์ที่ขาย แต่รวมไปถึงความเสียหายดังกล่าวด้วย อันเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นแต่พฤติการณ์พิเศษ แม้โจทก์ไม่ได้นําสืบแจกแจงรายละเอียดของค่าเสียหายแต่ละส่วน ศาลก็สามารถกำหนดค่าเสียหายให้ตามพฤติการณ์แห่งคดีได้และค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมาตามฟ้องนั้นเหมาะสมแล้ว กำหนดให้ตามขอ ส่วนค่าเสียหายในมูลละเมิดที่จำเลยร่วมต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น การที่ถุงลมนิรภัยไม่ทำงานถือเป็นพฤติการณ์ที่ร้ายแรง ซึ่งอาจทำให้เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้น่าจะสูงกว่าค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการผิดสัญญา แต่ตามฟ้องโจทก์ประสงค์จะเรียกค่าสินไหมทดแทนเท่าที่ขอมาและไม่เกินสมควร จึงให้จำเลยร่วมรับผิดเป็นหนี้จำนวนเดียวกันซึ่งโจทก์อาจเรียกให้แต่ละคนชําระหนี้โดยสิ้นเชิงได้ เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมมีพฤติการณ์ที่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะกำหนดค่าเสียหายเชิงลงโทษตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 42 จึงไม่กำหนดค่าเสียหายเชิงลงโทษให้

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3307.เป็นผู้รับมอบอำนาจในคดีเดิม กระทำผิดในที่ดินพิพาทแปลงเดิม เป็นความผิดตามกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 185/2566 เดิมโจทก์ร่วมฟ้อง ส. เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 902/2556 หมายเลขแดงที่ 2060/2557 ของศาลชั้นต้น ขอให้ขับไล่และรื้อถอนเสาปูนและรั้วลวดหนามออกไปจากที่ดินโจทก์ร่วม และห้าม ส. กับบริวารเกี่ยวข้อง จำเลยเป็นผู้รับมอบอำนาจ ส. ต่อสู้คดี ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ร่วม ทางที่อยู่ระหว่างที่ดินโจทก์ร่วมและ ส. เป็นทางสาธารณะ พิพากษาให้ ส. รื้อถอนเสาปูนและรั้วลวดหนามออกไปจากที่ดินของโจทก์ร่วมและห้าม ส. กับบริวารเข้าเกี่ยวข้องหรือกระทำการใด ๆ ในที่ดินของโจทก์ร่วม คดีถึงที่สุด โดยคดีก่อน ส. กับจำเลยในฐานะผู้รับมอบอำนาจ ส. ให้การและเบิกความรับว่า พ. บิดาจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทและที่ดินมือเปล่าหลายพันไร่ โดยใส่ชื่อ พ. ส. จำเลย กับบุตรอื่นของ พ. ในเอกสารสิทธิหลายฉบับ บางฉบับใส่ชื่อผู้จัดการมรดกของ พ. เยี่ยงนี้ ส. จึงมีชื่อเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทแทน พ. นับแต่วันออกเอกสารสิทธิ เมื่อ พ. ถึงแก่ความตาย ที่ดินย่อมเป็นทรัพย์มรดกตกทอดแก่ ส. และจำเลยรวมทั้งทายาทอื่นของ พ. การที่ ส. ผู้ถูกโจทก์ร่วมฟ้องในคดีเดิมย่อมอยู่ในฐานะเจ้าของรวมคนหนึ่งใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอกแทนจำเลยและทายาทอื่นของ พ. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1745, 1356 และ 1359 จึงต้องถือว่าจำเลยเป็นคู่ความเดียวกันกับ ส. และถูกผูกพันตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในคดีเดิมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 หาใช่บุคคลภายนอกที่ไม่ถูกผูกพันตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในคดีเดิมไม่ เมื่อคดีเดิมถึงที่สุดและเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการตามคำพิพากษาเสร็จแล้ว จำเลยกระทำละเมิดขึ้นใหม่ กรณีจึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลล่างทั้งสองในคดีเดิมวินิจฉัยไว้ว่าการกระทำของจำเลยจึงถือเป็นการละเมิดด้วยการปักเสาปูนและล้อมรั้วลวดหนามบนทางสาธารณประโยชน์ปิดกั้นเส้นทางรถยนต์ที่ใช้เข้าออกจากที่ดินของโจทก์ร่วม เมื่อคดีเดิม ส. ฎีกาโดยโจทก์ร่วมมิได้ฎีกา และต่อมา ส. แถลงขอยุติคดีโดยไม่ต้องการฎีกาต่อไปและขอถอนจำเลยจากการเป็นผู้รับมอบอำนาจ ศาลชั้นต้นอนุญาต คดีเดิมจึงถึงที่สุดตั้งแต่วันแถลงดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง และผูกพันโจทก์ร่วมกับจำเลย การที่จำเลยยังคงดื้อรั้นดันทุรังไม่ยอมรับผลแห่งคำพิพากษาตามกฎหมายโดยยังคงเข้าไปปักเสาปูนและกั้นรั้วลวดหนาม ทั้งศาลชั้นต้นในคดีเดิมมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้รื้อถอนเสาปูนและรั้วรวดหนามบางส่วนตามที่คู่ความตกลงกัน จึงเป็นการกระทำโดยรู้อยู่แก่ใจว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในคดีเดิมวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ร่วม ทางที่อยู่ระหว่างที่ดินโจทก์ร่วมและ ส.เป็นทางสาธารณะ ทั้งประสงค์ให้เกิดผลเป็นการปิดกั้นเส้นทางรถยนต์ที่โจทก์ร่วมใช้เข้าออกจากที่ดินพิพาทสู่ทางสาธารณะ ซึ่งจิตใจของวิญญูชนคนธรรมดาทั่วไปโดยวิสัยและพฤติการณ์เยี่ยงจำเลยพึงรับรู้และคาดหมายได้อย่างแน่แท้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคสอง และเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 362 เดิม

(หมายเหตุ 1 ข้อเท็จจริง พ. บิดาจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทและที่ดินมือเปล่าใช้ปลูกยางพาราประมาณ 2,000 ไร่ โดยใส่ชื่อ พ. ส. จำเลย และบุตรคนอื่นของ พ. ไว้ในเอกสารสิทธิหลายฉบับ บางฉบับใส่ชื่อ ช. และ ฉ. ผู้จัดการมรดกของ พ.

2 ส. มีชื่อเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1685 แทน พ.ตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2521 พ. ตายเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 ที่ดินจึงเป็นทรัพย์มรดกตกทอดแก่ ส. และจำเลยรวมทั้งทายาทอื่นของ พ.

3 ส. ถูกโจทก์ร่วมฟ้องในคดีเดิมย่อมอยู่ในฐานะเจ้าของรวมคนหนึ่งใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอกแทนจำเลยและทายาทอื่นของนายไพศาลตาม ป.พ.พ. มาตรา 1745, 1356 และ 1359 จำเลยเป็นผู้รับมอบอำนาจจาก ส. จึงต้องถือว่าจำเลยเป็นคู่ความเดียวกันกับ ส.

4 คดีเดิมถึงที่สุดตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2558 โดยศาลล่างทั้งสองในคดีเดิมวินิจฉัยไว้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ร่วม ทางที่อยู่ระหว่างที่ดินโจทก์ร่วมและ ส. เป็นทางสาธารณะ

5 วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2559 จำเลยเข้าไปปักเสาปูน 6 เหลี่ยมที่แนวรั้วลวดหนาม ซึ่งเป็นแนวรั้วลวดหนามพิพาทในคดีเดิมที่โจทก์ร่วมยื่นฟ้อง ส.ต่อศาลชั้นต้น

6 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 362 (เดิม) จำคุก 1 ปี

7 ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยข้างต้น และวินิจฉัยเกี่ยวกับการรอการลงโทษว่า จำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน ความประพฤติทั่วไปไม่มีข้อเสียหายร้ายแรง มีภาระครอบครัว ธุรกิจ และลูกจ้างในกิจการที่ต้องรับผิดชอบดูแล เหตุที่จำเลยกระทำไปอาจเป็นเพราะหลงยึดติดในความเชื่อผิด ๆ ว่าที่พิพาทเป็นของบิดา สมควรให้โอกาสกลับตนเป็นพลเมืองดีด้วยการรอการลงโทษและคุมความประพฤติไว้ จักเป็นประโยชน์แก่สังคมโดยรวมมากกว่าจำคุกไปเสียทีเดียว)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

 

สถาบันวิชาชีพทนายความ จัดอบรมวิชาการ เรื่อง “กฎหมายภาษีอากร รุ่นที่ 2”

สถาบันวิชาชีพทนายความ จัดอบรมวิชาการ เรื่อง “กฎหมายภาษีอากร รุ่นที่ 2”

⚖️ เมื่อวันเสาร์ที่ 29 มิถุนายน 2567 เวลา 08.30 น. ที่ห้องประชุม ชั้น 4 สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ : ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ เป็นประธานเปิดการอบรมวิชาการ เรื่อง “กฎหมายภาษีอากร รุ่นที่ 2” โดยมี ดร.วิรัลพัชร เวธทาวริทธิ์ธร อุปนายกฝ่ายวิชาการ กล่าวรายงาน

นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจาก นายศุภชัย บำรุงศรี สรรพากรพื้นที่นครสวรรค์ นายผจญกร อุดมธรรมภักดี นิติกรชำนาญการพิเศษ กองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่กรมสรรพากร วิทยากรบรรยาย หัวข้อ “การเตรียมตัวและเตรียมพร้อมเพื่อชี้แจงและให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานประเมิน” “อำนาจเจ้าพนักงานประเมินตามประมวลรัษฎากร” “ระยะเวลาและอายุความตามประมวลรัษฎากร การขอคืนภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร” “ขั้นตอน เทคนิค วิธีการอุทธรณ์การประเมินภาษีอากรและการอุทธรณ์คำสั่งทางปกครอง เพื่อรองรับการฟ้องคดีภาษีอากร และคดีปกครอง

ทั้งนี้ สำหรับการอบรมวิชาการ เรื่อง “กฎหมายภาษีอากร รุ่นที่ 2” มีผู้สมัครเข้ารับการอบรมจำนวน 61 คน ซึ่งมีระยะเวลาในการอบรม 2 วัน ระหว่างวันเสาร์ที่ 29 และวันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายน 2567

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3306.นำคำเบิกความของบุคคลอื่นในคดีหนึ่งไปใช้ในการพิจารณาอีกคดีหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4129/2566 ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 177 เป็นเรื่องที่ผู้กระทำความผิดนำเอาความอันเป็นเท็จไปเบิกความต่อศาลในคดีใดคดีหนึ่งซึ่งความเท็จนั้นต้องเป็นข้อสำคัญแก่คดีที่เข้าเบิกความเป็นพยานต่อศาลนั้น การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เบิกความอันเป็นเท็จไว้ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1554/ 2562 ของศาลชั้นต้น แล้วจำเลยที่ 3 นำคําเบิกความที่จำเลยที่ 1 เคยเบิกความอันเป็นเท็จอันเป็นข้อสำคัญในคดีดังกล่าว ไปยื่นในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.242/2563 ของศาลชั้นต้น โดยจำเลยที่ 1 ไม่เคยเข้าเบิกความรับรองยืนยันข้อเท็จจริงตามเอกสารดังกล่าวแต่อย่างใด จึงถือว่า ฟ้องโจทก์มิได้บรรยายให้ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 177 ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

สภาทนายความจีนฯ เยือนสภาทนายความไทย เพื่อหารือวิชาการ และเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างทนายความทั้งสองประเทศ 

 

เมื่อวันศุกร์ที่ 28 มิถุนายน 2567 เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุมชั้น 4 สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์

ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ พร้อมด้วย นายสุนทร พยัคฆ์ เลขาธิการสภาทนายความ นายวีรศักดิ์ โชติวานิช อุปนายกฝ่ายเทคโนโลยีและสารสนเทศ กรรมการประชาสัมพันธ์ และรองเลขาธิการ นายสงคราม สกุลพราหมณ์ อุปนายกฝ่ายบริหาร นางสาวศรินทร เลืองวัฒนะวณิช อุปนายกฝ่ายต่างประเทศ นางสาวศิริพร เมืองศรีนุ่น นางสาวจุฑาทิพย์ ลิ้มพงษ์ประเสริฐ คณะกรรมการสำนักงานกิจการระหว่างประเทศ ดร.สิทธิชัย เครือวุฒิกุล ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ นายประพัฒน์ ปัญญาวัฒนานนท์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ นายดำรงศักดิ์ มนัสวานิช ประธานคณะขับเคลื่อนเขตห้วยขวาง และ นายดาวิน หยาง นายกสมาคมการค้าอาเซียน – จีน พร้อมด้วยคณะกรรมการกิจการต่างประเทศ และคณะกรรมการชมรมทนายความภาษาจีน สภาทนายความ ร่วมให้การต้อนรับ Mr. ZHANG ZHIWU ผู้บริหารJINGSH LAW FIRM (THAILAND) CO., LTD. และคณะผู้แทนจาก JINGSH LAW FIRM กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ขอเข้าเยี่ยมชมสภาทนายความ และหารือทางวิชาการ เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างทนายความไทยและทนายความจีน

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3305.ปลอมแบบส่งเงินอายัด และปลอมใบ ภ.บ.ท.5

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4009/2566 (ประชุมใหญ่) แบบส่งเงินอายัด เป็นเอกสารที่ธนาคารจัดส่งเงินฝากในบัญชีของจำเลยที่ 1 มาให้สำนักงานบังคับคดีจังหวัดเพชรบุรี ตามคำสั่งอายัดเงินของจำเลยที่ 1 ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 326/2558 ของศาลจังหวัดเพชรบุรี ไม่ใช่เอกสารที่เจ้าพนักงานได้ทำขึ้นหรือรับรองในหน้าที่ รวมทั้งไม่เป็นเอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิตาม ป.อ. มาตรา 1 (8) และ (9) จึงเป็นเอกสารตาม ป.อ. มาตรา 1 (7) เท่านั้น

ส่วนใบเสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.บ.ท. 5) เป็นเอกสารที่เจ้าพนักงานได้ทำขึ้นในหน้าที่เพื่อมอบให้แก่ผู้ครอบครองที่ดินเพื่อเป็นหลักฐานในการชำระภาษีบำรุงท้องที่ จึงเป็นเอกสารราชการตาม ป.อ. มาตรา 1 (8) แต่ไม่เป็นเอกสารสิทธิตาม ป.อ. มาตรา 1 (9) ในความผิดฐานปลอมเอกสาร ใช้เอกสารปลอม และฉ้อโกง ล้วนเป็นการกระทำต่อเนื่องกันโดยมีเจตนาเดียวเพื่อหลอกลวงโจทก์ทั้งสอง การที่โจทก์ทั้งสองทยอยมอบเงินกู้ยืมให้แก่จำเลยที่ 1 ในแต่ละครั้ง รวม 70 ครั้ง เป็นการกระทำต่อเนื่องด้วยเจตนาเดียวเพื่อฉ้อโกงโจทก์ทั้งสองเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท

(หมายเหตุ 1 โจทก์ทั้งสองประกอบกิจการซื้อขายรถยนต์บรรทุก จำเลยที่ 3 เคยซื้อรถยนต์บรรทุกจากโจทก์ทั้งสองลักษณะผ่อนส่ง จำเลยที่ 1 เป็นบุตรของจำเลยที่ 3 ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นบุตรสะใภ้ของจำเลยที่ 3 และเป็นน้องสะใภ้ของจำเลยที่ 1 โจทก์ทั้งสองจึงรู้จักจำเลยที่ 1 และที่ 2

2 ก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถูกฟ้องขับไล่ออกจากที่ดินและบ้าน คดีถึงที่สุดโดยศาลพิพากษาให้ขับไล่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ออกจากที่ดินพร้อมให้ชดใช้ค่าเสียหาย และธนาคาร ก. ส่งเงินในบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 จำนวน 300,000 บาท มาให้ผู้อำนวยการสำนักงานบังคับคดีจังหวัดเพชรบุรี

3 จำเลยที่ 1 นำสำเนาแบบส่งเงินอายัดของธนาคาร ก. มาแก้ไขจำนวนเงินจาก 300,000 บาท เป็น 116,000,000 บาท แล้วจำเลยที่ 1 ส่งเอกสารที่ทำปลอมขึ้นดังกล่าวไปให้โจทก์ที่ 1 ทางแอปพลิเคชันไลน์เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการหลอกลวงโจทก์ทั้งสองว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิจะได้รับเงินตามคำสั่งอายัดจำนวน 116,000,000 บาท และขอกู้ยืมเงินจากโจทก์ทั้งสอง

4 โจทก์ทั้งสองหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง จึงให้จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินรวม 17,650,000 บาท โดยมอบเช็คให้จำเลยที่ 1 จำนวน 2 ฉบับ และทยอยโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 จำนวน 11 ครั้ง บัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 3 จำนวน 57 ครั้ง

5 จำเลยที่ 1 ปลอมใบเสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.บ.ท. 5) ขององค์การบริหารส่วนตำบล แล้วจำเลยที่ 1 นำเอกสารที่ทำปลอมขึ้นดังกล่าวพร้อมหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินและหนังสือมอบอำนาจที่จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อไว้ในฐานะผู้ขายและผู้มอบอำนาจ รวมทั้งสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนที่จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้องมามอบให้โจทก์ที่ 1 เพื่อให้โจทก์ทั้งสองหลงเชื่อว่าจำเลยที่ 1 มีที่ดินเนื้อที่ 72 ไร่ ราคาไร่ละ 300,000 บาท เป็นประกันการชำระหนี้ ซึ่งเป็นความเท็จ เพราะองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยตรวจสอบแล้วพบว่า ที่ดินตามใบเสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.บ.ท. 5) ที่จำเลยที่ 1 ทำปลอมขึ้น มีนาง ม.และนาง อ. เป็นผู้ครอบครอง โดยมีเนื้อที่เพียง 10 ไร่

6 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265, 341 มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 4 ปี จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 341 ประกอบมาตรา 86 มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสาม จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 1 ปี 4 เดือน

7 ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคแรก, 265, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก อีกบทด้วย การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสาม รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 4 ปี ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3

8 ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่วินิจฉัยว่า แบบส่งเงินอายัดเป็นเอกสารตาม ป.อ. มาตรา 1 (7) เท่านั้น ส่วนใบเสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.บ.ท. 5) เป็นเอกสารราชการตาม ป.อ. มาตรา 1 (8) แต่ไม่เป็นเอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิตาม ป.อ. มาตรา 1 (9) และมีคำวินิจฉัยข้างต้น โดยพิพากษายืน)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849