สภาทนายความฯจัดอบรมโครงการปฏิรูปทนายความอาสา ทนายความขอแรง และที่ปรึกษากฎหมายของเด็กหรือเยาวชน ประจำปีงบประมาณ 2567 ณ เมืองรถม้า จังหวัดลำปาง ( ฟรี )

เมื่อวันเสาร์ที่ 13 กรกฎาคม 2567 เวลา 08.30 – 16.30 น. ที่ห้องวังธาร โรงแรมรีเจนท์ ลอด์จ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง : ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมโครงการปฏิรูปทนายความอาสา ทนายความขอแรง และที่ปรึกษากฎหมายของเด็กหรือเยาวชน ประจำปีงบประมาณ 2567

โดยมี นายกิตติพันธ์ จันทร์หอม ประธานสภาทนายความจังหวัดลำปาง กล่าวต้อนรับ นายพรศักดิ์ สังข์สังวาลย์ กรรมการบริหารสภาทนายความภาค 5 กล่าวรายงาน และบรรยายสรุปการเบิกจ่ายเงินของทนายความอาสา ซึ่งมีนายไพบูลย์ แย้มเอม อุปนายกฝ่ายสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ เป็นผู้ดำเนินรายการ และยังได้รับเกียรติจาก นายตรีเรก ศรีวิชัย ประธานสภาทนายความจังหวัดพะเยา นายวีระพงศ์ ศรีวงค์สงวน ประธานสภาทนายความจังหวัดฮอด ว่าที่ร้อยตรีกิตติพล อินนา ประธานสภาทนายความจังหวัดเชียงคำ

นอกจากนี้ ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ให้เกียรติเป็นวิทยากรบรรยายหัวข้อ “ประมวลจริยธรรมและมรรยาททนายความของทนายความอาสา” “ทนายความอาสากับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในคดีอาญา” “พระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ.2562” “พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565” ดร.ชัยชีพ ชโลปถัมภ์ กรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย บรรยายหัวข้อ “บทบาททนายความอาสากับการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย” ซึ่งมีทนายความในจังหวัดลำปาง และทนายความภาค 5 เข้าร่วมอบรมในครั้งนี้เป็นจำนวนมาก

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3320.การขอรับรางวัลที่ปรึกษากฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3875/2565 (เล่ม 11 หน้า 71) ศาลชั้นต้นแต่งตั้งให้ผู้ร้องเป็นที่ปรึกษากฎหมายให้แก่จำเลย โดยจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นให้ใช้มาตรการแทนการพิพากษาคดีแก่จำเลย ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 132 วรรคหนึ่ง โดยวางเงื่อนไขให้จำเลยปฏิบัติกับจำหน่ายคดีออกจากสารบบความไว้ชั่วคราว โดยนัดฟังผลการปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งและหากจำเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือปฏิบัติตามเงื่อนไขครบถ้วนแล้วให้เจ้าหน้าที่ศูนย์ให้คำปรึกษารายงานต่อศาลชั้นต้นเพื่อยกคดีขึ้นพิจารณาต่อไป ผู้ร้องยื่นคำร้องขอรับเงินรางวัลค่าป่วยการที่ปรึกษากฎหมายในวันเดียวกับที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว ซึ่งตามมาตรา 123 แห่ง พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว ที่ปรึกษากฎหมายซึ่งศาลแต่งตั้งให้ได้รับค่าป่วยการตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมกำหนดโดยความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง คือ ระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม ว่าด้วยค่าป่วยการที่ปรึกษากฎหมายที่ศาลแต่งตั้งให้แก่เด็กหรือเยาวชน พ.ศ. 2555 และระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม ว่าด้วยค่าป่วยการที่ปรึกษากฎหมายที่ศาลแต่งตั้งให้แก่เด็กหรือเยาวชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557 โดยระเบียบข้อ 5 กำหนดว่า ให้ศาลกำหนดเงินรางวัล ให้แก่ที่ปรึกษากฎหมายตามอัตราค่าป่วยการท้ายระเบียบ ดังนี้ (1) ในกรณีที่มีการวินิจฉัยชี้ขาดคดี ให้กำหนดตามระเบียบบัญชี 1 และตามวรรคสอง กำหนดว่า “ในคดีที่จำเลยให้การรับสารภาพ คดีที่ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว คดีที่ศาลสั่งยุติคดี โดยไม่ต้องมีคำพิพากษาหรือคดีเสร็จไปโดยศาลไม่ได้มีคำพิพากษา” และวรรคสาม กำหนดว่า “ทั้งนี้ ให้กำหนดเมื่อศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้ว” ซึ่งคดีนี้เป็นคดีที่จำเลยให้การรับสารภาพ ทั้งยังเป็นคดีที่ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราวที่ให้ศาลกำหนดเงินรางวัลให้ได้ตามระเบียบข้อ 5(1) วรรคสอง แต่ต้องอยู่ในบังคับแห่งวรรคสาม ที่ศาลจะกำหนดให้ได้ต่อเมื่อมีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้ว เมื่อคดีนี้ศาลชั้นต้นให้ใช้มาตรการแทนการพิพากษาคดีแก่จำเลย แล้วจำหน่ายคดีออกจากสารบบความไว้ชั่วคราว โดยยังมิได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่ง กรณีจึงยังไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่ศาลจะสั่งให้จ่ายเงินรางวัลค่าป่วยการที่ปรึกษากฎหมายให้แก่ผู้ร้องได้

(หมายเหตุ ค่าป่วยการที่ปรึกษากฎหมายของศาลเยาวชนและครอบครัว ศาลจะสั่งจ่ายรางวัลค่าป่วยการที่ปรึกษากฎหมายได้ต่อเมื่อศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้วเท่านั้น)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

นายกสภาทนายความ เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมวิชาการ เรื่อง พระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียม

เมื่อวันศุกร์ที่ 12 กรกฎาคม 2567 เวลา 13.00 น. ที่ห้องประชุม ชั้น 4 สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ : ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมวิชาการ เรื่อง พระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียม โดยมี ดร.วิรัลพัชร เวธทาวริทธิ์ธร อุปนายกฝ่ายวิชาการ กล่าวรายงาน และนางสาวอรปรียา งามสง่า ผู้ช่วยเลขานุการนายกสภาทนายความ ผู้ดำเนินรายการ 

นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจาก นายเอกราช อุดมอำนวย สส.พรรคก้าวไกล กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ. …. บรรยายในหัวข้อ เรื่อง พระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียม โดยมีผู้เข้าร่วมรับการอบรมหลักสูตรดังกล่าวทั้งในออนไลน์จำนวนเกือบ 1,000 คน และออนไซต์เป็นจำนวน 200 คน

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3319.เคยต้องคำพิพากษาว่ากระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ แม้ในภายหลังกฎหมายบัญญัติว่าไม่เป็นความผิดก็ยังถือว่าขาดคุณสมบัติการเป็นผู้ใหญ่บ้าน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3558/2565 (เล่ม 11 หน้า 57) จำเลยกับพวกร่วมกันทำไม้สัก ซึ่งเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ที่ขึ้นในที่ดินมีกรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายที่ดินของวัด ไม้ของกลางที่ขึ้นในที่ดินเกิดเหตุดังกล่าวจึงไม่เป็นไม้หวงห้าม ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) อันเป็นบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติใหม่ภายหลัง เมื่อคดีดังกล่าวมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำเลยไปแล้ว มีผลให้ถือว่าจำเลยไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดฐานร่วมกันทำไม้หวงห้ามในคดีอาญาของศาลชั้นต้นมาก่อน ตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง เท่านั้น แต่เมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาว่า ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ซึ่งเป็นจำเลยคดีนี้ตกเป็นผู้เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำผิดเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ อันมีลักษณะต้องห้าม ไม่อาจรับเลือกตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้านได้ ตามมาตรา 12(11) แห่ง พ.ร.บ. ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ซึ่งเป็นจำเลยคดีนี้เป็นผู้ขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านตามมาตรา 14 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2554 ซึ่งเป็นวันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดย่อมมีผลผูกพันจำเลยซึ่งเป็นคู่ความ ตามมาตรา 70 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 จำเลยจึงต้องพ้นจากตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน นับแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2554 เป็นต้นมา จำเลยมีสิทธิได้รับเงินค่าตอบแทนตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านเพียงก่อนวันที่ระบุในคำสั่งให้พ้นตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านตามข้อ 7 ข(1) ของระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนตำแหน่ง และเงินอื่นๆ ให้แก่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ พ.ศ. 2546 เท่านั้น

แม้ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) มีผลตามกฎหมาย โดยให้ถือว่าจำเลยไม่เคยต้อง คำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดตามกฎหมายโดยให้ถือว่า จำเลยไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดฐานร่วมกันทำไม้มาก่อนดังที่วินิจฉัยมาแล้ว แต่ก็หาเป็นเหตุให้มีผลลบล้างบทบัญญัติ มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (2) แห่ง พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 ที่บัญญัติให้ผู้ใหญ่บ้านต้องพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามการเป็นผู้ใหญ่บ้าน ตามมาตรา 12 (11) และศาลปกครองสูงสุดให้กลับกลายเป็นว่าจำเลยไม่เคยขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 14 วรรคหนึ่ง (2) มาก่อนแต่อย่างใด การเข้าสู่ตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านยังคงเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 แยกต่างหากจากกรณีกฎหมายบัญญัติในภายหลังให้มีผลทำให้การกระทำนั้นไม่เป็นความผิด ตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง

โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐมีหน้าที่จ่ายเงินตามบทบัญญัติของกฎหมายให้แก่จำเลยตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินตอบแทนตำแหน่ง และอื่นๆให้แก่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ พ.ศ. 2546 ข้อ 4 (ข) โดยจำเลยไม่มีสิทธิได้รับซึ่งมีมูลเหตุจากการที่จำเลยปกปิดไม่แจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำเลยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำผิดฐานร่วมกันทำไม้หวงห้ามอันเป็นกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญ โดยจำเลยจะไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าตอบแทนตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน จึงเป็นกรณีโจทก์เบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านให้แก่จำเลย ปโดยสำคัญผิดว่า จำเลยมีสิทธิได้รับ การรับเงินค่าตอบแทนตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านของจำเลยไปจากโจทก์ จึงเป็นการรับไปโดยมิชอบ โจทก์ในฐานะเจ้าของเงินค่าตอบแทนตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านจ่ายให้แก่จำเลยไปโดยสำคัญผิด ย่อมมีสิทธิติดตามเอาเงินของโจทก์คืนจากจำเลยผู้ไม่มีสิทธิที่จะได้รับหรือยึดถือไว้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1336 จำเลยจึงต้องรับผิดคืนเงินค่าตอบแทน ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านให้แก่โจทก์

 

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

สภาทนายความ ร่วมงานโครงการเทิดไท้องค์ราชันเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา

เมื่อวันพุธที่ 10 กรกฎาคม 2567 เวลา 8.30 น. ณ ลานเอนกประสงค์ นิคมรถไฟ กม.11 เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร : ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ร่วมงานโครงการเทิดไท้องค์ราชันเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2567 จัดกิจกรรมหน่วยงานแพทย์เคลื่อนที่บริการประชาชน ซึ่งจัดโดยสภาสังคมสงเคราะห์ กระทรวงสาธารณสุข

โดยมีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีเปิดงาน พร้อมด้วยหน่วยงานสาธารณสุข ประกอบด้วย สภาสังคมสงเคราะห์ ทันตแพทยสภา มูลนิธิมิราเคิล ออฟไลฟ์ โรงพยาบาลราชวิถี และสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานหลักในการให้ความช่วยเหลือประชาชนทางด้านกฎหมาย สภาทนายความตั้งบูธและจัดทนายความอาสา ให้คำปรึกษาทางกฎหมายแก่ประชาชนที่มาร่วมงาน

ทั้งนี้ ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ มีดำริจัดทำกิจกรรมโครงการจิตอาสาทางด้านกฎหมายของสภาทนายความ เพื่อบริการให้คำปรึกษาแนะนำทางกฎหมายแก่ประชาชนได้เข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมด้วยความสะดวก รวดเร็วและประหยัดค่าใช้จ่าย เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยส่วนกลาง (กรุเทพมหานคร) มีสำนักงานคณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายดำเนินการ ภูมิภาค ( ต่างจังหวัด) มีสภาทนายความจังหวัดทั่วประเทศ ดำเนินการ ตั้งแต่วันที่ 1-28 กรกฎาคม 2567

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3317.ตำรวจตั้งจุดตรวจโดยไม่มีแผ่นป้ายแสดงรายชื่อตำรวจประจำจุดตรวจ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4285- 4286/2565 (เล่ม 11 หน้า 97) การตั้งจุดตรวจเป็นการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตำรวจภายในเขตท้องที่รับผิดชอบของตนให้เป็นไปตามนโยบายและคำสั่งของผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น จำเลยทั้งสาม ได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติหน้าที่ในการนี้ โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ควบคุม เป็นการตั้งจุดตรวจโดยเปิดเผย มีการวางกรวยบังคับช่องทางเดินรถให้ตรงมายังจุดตรวจ กับมีแผงกั้นที่มีเครื่องหมายจราจรว่า “หยุด” และสัญญาณไฟแสดงให้เห็นว่าเป็นจุดตรวจที่ตั้งโดยเจ้าพนักงานตำรวจ ทั้งจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าพนักงานชั้นสัญญาบัตรที่ประจำอยู่จุดตรวจ อันเป็นการปฏิบัติ ตามมาตรการที่กำหนดโดยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ การตั้งจุดตรวจนี้เป็นไปโดยชอบด้วยระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องแล้ว การที่ไม่ปรากฏแผ่นป้ายแสดงยศ ชื่อ ชื่อสกุล และตำแหน่งเจ้าพนักงานตำรวจที่ประจำจุดตรวจแม้จะเป็นข้อบกพร่องแต่ก็ไม่ถึงขนาดทำให้การตั้งจุดตรวจดังกล่าวกลายเป็นจุดที่ไม่ชอบด้วยกฎระเบียบแต่อย่างใด สภาพการตั้งจุดตรวจประสงค์จะตรวจยานพาหนะและบุคคลที่โดยสารมาด้วย อันเป็นมาตรการในการป้องกันและปราบปราม อาชญากรรมตามอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจเป็นหลัก หาได้มีเจตนาพิเศษเพื่อจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์หรือผู้หนึ่งผู้ใดหรือโดยทุจริต เพื่อหวังส่วนแบ่งรายได้จากเงินค่าปรับที่เปรียบเทียบปรับจากผู้สัญจรบนถนนดังกล่าว โจทก์เป็นฝ่ายเดินเข้าไปสอบถามถึงความชอบด้วยระเบียบของการตั้งจุดตรวจ ทั้งๆที่ตนเองไม่ใช่ผู้ขับขี่ยานพาหนะผ่านจุดตรวจและถูกเรียกให้หยุดเพื่อขอตรวจค้น เป็นไปในลักษณะที่โจทก์พูดจาต่อล้อต่อเถียงไม่รับฟังเหตุผลและคำชี้แจงของเจ้าพนักงานตำรวจ มีการใช้คำพูดทำนองยั่วยุ ซ้ำๆ และใช้คำถามนำเพื่อให้เจ้าพนักงานตำรวจ ตอบคำถามตามที่โจทก์ต้องการ โดยระหว่างนั้นโจทก์ก็ใช้กล้องในโทรศัพท์เคลื่อนที่บันทึกภาพเคลื่อนไหวพร้อมบทสนทนาถ่ายทอดสดผ่านแอปพลิเคชั่นเฟซบุ๊ก เพื่อให้สมาชิกผู้เข้าชมทางแอปพลิเคชั่นดังกล่าวเห็นเหตุการณ์ไปพร้อมกัน พฤติการณ์ดังกล่าวส่อไปทำนองก่อความเดือดร้อนและรบกวนการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานโดยไม่มีเหตุสมควร ซึ่งผิดวิสัยที่วิญญูชนพึงปฏิบัติ กรณีจึงมีเหตุอันควรที่เจ้าพนักงานตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในขณะนั้นจะสงสัยว่าโจทก์มีสิ่งของที่เกี่ยวกับการกระทำผิดใดไว้ในครอบครอง หรือเสพสิ่งเสพติด หรือวัตถุออกฤทธิ์ใดหรือไม่ การที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ภายใต้การควบคุมของจำเลยที่ 2 ขอตรวจค้นตัวโจทก์ก็ดี ขอตรวจสอบบุคคลโดยให้โจทก์แสดงบัตรประจำตัวประชาชนก็ดี ขอตรวจหาสารเสพติดจากปัสสาวะของโจทก์ทั้งในที่เกิดเหตุก็ดี รวมทั้งการขอตรวจหาสารเสพติดอื่นๆจากปัสสาวะของโจทก์ที่สถานีตำรวจก็ดี ล้วนเป็นการปฏิบัติไปตามกรอบอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานโดยชอบ ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 93 คำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 452/2542 เรื่องแต่งตั้งเจ้าพนักงานตรวจบัตรและพนักงานเจ้าหน้าที่กับ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 58/1 และ พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 มาตรา 94 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุแล้ว แม้จำเลยที่ 1 และที่ 3 จะไม่ใช่เจ้าพนักงานตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ร้อยตำรวจตรีหรือเทียบเท่าขึ้นไปที่จะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข แต่ก็ปฏิบัติภายใต้การกำกับดูแลของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ควบคุมจุดตรวจ ทั้งเป็นผู้สั่งการให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ตรวจหาสารเสพติดจากปัสสาวะของโจทก์ คือ ร้อยตำรวจเอก ส. รองสารวัตรป้องกันและปราบปรามประกอบกับการตรวจหรือทดสอบหาสารเสพติดในร่างกาย มิใช่การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2519 อันจะต้องพิจารณาถึงระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด แต่อย่างใด

เจ้าพนักงานตำรวจขอให้โจทก์แสดงบัตรประจำตัวประชาชน นอกจากโจทก์จะไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน แสดงแล้ว ยังพูดจาโยกโย้จะขอแสดงบัตรเอทีเอ็มแทนบ้าง และให้เจ้าพนักงานตำรวจไปขอคัดเอกสารทะเบียนราษฎรเองบ้าง เพื่อเจ้าพนักงานตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาแก่โจทก์ว่า ไม่อาจแสดงบัตรประจำตัวประชาชนเมื่อเจ้าพนักงานขอตรวจ และเชิญโจทก์ไปสถานีตำรวจได้ปฏิเสธและมีการพูดจาโต้ตอบเป็นระยะ เป็นในทำนองขัดขืนที่จะไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ของเจ้าพนักงานตำรวจ จึงย่อมมีความจำเป็นที่เจ้าพนักงานตำรวจจะต้องจับตัวโจทก์ ไปโดยแม้ความผิดที่โจทก์ถูกกล่าวหาจะเป็นเพียงความผิดลหุโทษ แต่ก็เป็นความผิดซึ่งหน้า การจับกุมโจทก์จึงเป็นไปโดยชอบ ด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 78 ,80 และ 83 แล้ว

การที่มีการแจ้งความให้ดำเนินคดีแก่โจทก์ในข้อหาไม่อาจแสดงบัตรประจำตัวประชาชนเมื่อเจ้าพนักงานขอตรวจ กับต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ จึงเป็นไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏต่อจำเลยทั้งสาม การกระทำของจำเลยทั้งสามตามพยานหลักฐานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องล้วนเป็นการปฏิบัติไปตามอำนาจหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ หรือกลั่นแกล้งโจทก์ แต่เหตุตามฟ้องล้วนเกิดขึ้นด้วยเจตนาของโจทก์ที่ต้องการแพร่ภาพและเสียงของเหตุการณ์ เพื่อสื่อไปยังบุคคลอื่นให้มีความเชื่อคล้อยตามที่โจทก์พยายามพูดชี้นำว่า มีการปฏิบัติหน้าที่ของ เจ้าพนักงานโดยไม่ชอบ ทั้ง ๆที่ยังไม่มีการพิสูจน์ทราบความจริง สุ่มเสี่ยงต่อการสร้างความเข้าใจผิดต่อกลุ่มบุคคล ก่อให้เกิดทัศนคติ ในทางลบต่อเจ้าพนักงานของรัฐ ส่อแสดงให้เห็นถึงเจตนาไม่สุจริตของโจทก์ คดีโจทก์สำหรับข้อหาความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 และ 200 วรรคสอง ไม่มีมูลให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ระหว่าง สภาทนายความ กับ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

🌟 เชิญร่วมรับฟังปาฐกถาพิเศษ 🌟 ฟรี 🚩

และร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ระหว่าง สภาทนายความ กับ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

พร้อมรับฟังปาฐกถาพิเศษ

👉 เรื่อง “บทบาททนายความกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน”

—- เชิญพบกับ—-

🔶 ดร.วิเชียร ชุบไธสง

นายกสภาทนายความ

🔶 ศ.ดร.ทิพวรรณ หล่อสุวรรณรัตน์

อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

🔶 รศ.ดร.อมรรัตน์ กุลสุจริต

คณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

🔶 นายสัญญาภัชระ สามารถ

อุปนายกนายฝ่ายปฏิบัติการ สภาทนายความ

📆 วันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม 2567

⏱ เวลา 10.00 – 12.00 น.

📍 ณ ห้องประชุม ดร.สมศักดิ์ และคุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ชั้น 2 อาคารสยามบรมราชกุมารี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

🌎Link ลงทะเบียน : https://forms.gle/Z5oFzA8pEyAfV3Qy6

👉ติดต่อสอบถาม คุณพิมพ์ฉวี คุณจิดาภา ☎️ 06 4291 4640

นายกสภาทนายความ เป็นวิทยากรบรรยาย ในหัวข้อเรื่อง “การเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่ที่ปรึกษากฎหมายของศาลเยาวชนและครอบครัว

เมื่อวันจันทร์ที่ 8 กรกฎาคม 2567 เวลา 08.30 น. ที่ห้องประชุม ชั้น 4 และชั้น 5 สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ : ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ได้รับเกียรติให้เป็นวิทยากรบรรยาย ในหัวข้อเรื่อง “การเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่ทปรึกษากฎหมายของศาลเยาวชนและครอบครัว“ เพื่อให้ทนายความที่เข้ารับการอบรมจำนวน 527 คนจะได้เพิ่มความรู้ ความเข้าใจ และสามารถให้คำปรึกษาตามที่กฎหมายกำหนดได้อย่างเหมาะสม มีบรรทัดฐานในการปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เด็กและเยาวชน

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3316.ปลูกต้นปาล์มในเขตป่าสงวนแห่งชาติ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4456/2566 บริษัท ย. เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ปลูกปาล์มน้ำมันในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ มีโจทก์และผู้อื่นเป็นผู้ถือหุ้น กับมีจำเลยและผู้อื่นเป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทน ก่อนคดีนี้ บริษัท ย. โดยจำเลยฟ้องบุคคลอื่นอ้างว่าบุกรุกที่ดินสวนปาล์มน้ำมันในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าว ระหว่างพิจารณาคดีก่อน ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้บริษัท ย. มีอำนาจเก็บผลผลิตปาล์มน้ำมันในที่ดินพิพาทฝ่ายเดียวแล้วนำเงินที่ได้จากการขายหลังหักค่าใช้จ่ายพร้อมบัญชีรับ-จ่ายมาวางศาลทุกเดือน หลังจากศาลอุทธรณ์ภาค 8 คดีก่อนมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวแล้ว จำเลยได้บริหารจัดการสวนปาล์มน้ำมันโดยมอบอำนาจให้บุคคลภายนอกรวมถึง ฉ. เข้าทำประโยชน์แทนบริษัท ย. ดังนี้ แม้บริษัท ย. จะไม่ได้ตัดเก็บผลปาล์มน้ำมันเอง แต่ก็ได้มอบอำนาจให้บุคคลอื่นทำแทน โดยบริษัท ย. ได้รับเงินเป็นค่าตอบแทน ถือได้ว่าเป็นเงินที่ได้รับจากการขายผลปาล์มน้ำมันที่จำเลยในฐานะกรรมการของบริษัท ย. ซึ่งต้องปฏิบัติตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลอุทธรณ์ภาค 8 คดีก่อน ต้องนำมาวางต่อศาลพร้อมบัญชีรับ-จ่าย การที่ ฉ. ตัดเก็บผลปาล์มน้ำมันในสวนปาล์มน้ำมันที่พิพาทที่จำเลยมอบอำนาจให้ ฉ. ตัดเก็บผลปาล์มน้ำมันได้ ฟังได้ว่า จำเลยตัดเก็บผลปาล์มน้ำมันในสวนปาล์มน้ำมันที่พิพาทแล้วไม่นำเงินที่ได้จากการขายผลปาล์มน้ำมันหลังหักค่าใช้จ่ายพร้อมบัญชีรับ-จ่ายไปวางต่อศาลตามคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 8 คดีก่อน แต่กลับนำไปใช้เป็นการส่วนตัว ทำให้บริษัท ย. ไม่มีรายได้ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทดังกล่าวซึ่งโจทก์เป็นผู้ถือหุ้น

จำเลยหยุดเก็บผลปาล์มน้ำมันในสวนปาล์มน้ำมันที่พิพาทในวันที่ศาลมีคำสั่งออกหมายจับจำเลยฐานจงใจไม่ปฏิบัติตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว จำเลยจึงหยุดกระทำละเมิดในวันดังกล่าว และต้องรับผิดชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัท ย. ถึงวันดังกล่าวเท่านั้น

การทำสวนปาล์มน้ำมันเป็นวัตถุประสงค์หลักของบริษัท ย. ดังนั้น การบริหารจัดการเกี่ยวกับการปลูกหรือการตัดต้นปาล์มน้ำมันย่อมมีผลต่อรายได้ของบริษัท จึงต้องขอความเห็นชอบจากกรรมการอื่นด้วย การที่จำเลยในฐานะกรรมการบริหารจัดการงานไปโดยลำพังในการขุดคูและตัดต้นปาล์ม 20 ต้น แล้วเกิดความเสียหายแก่บริษัท ย. จึงเป็นการละเมิดและต้องรับผิดต่อบริษัท ย.

จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้คดีไว้ในปัญหาอำนาจฟ้องว่า ต้นปาล์มน้ำมันและผลปาล์มน้ำมันในสวนปาล์มน้ำมันที่พิพาทอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เป็นของป่า ไม่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ปลูกและไม่มีใครเป็นเจ้าของ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

 

สภาทนายความฯจัดอบรมโครงการปฏิรูปทนายความ อาสาฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ( ฟรี )

⚖️ สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ⚖️

เปิดอบรม【 ฟรี 】🚩

🌟 โครงการปฏิรูปทนายความอาสาฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

 

—- เชิญพบกับ—-

 

🔶 ดร.วิเชียร ชุบไธสง

นายกสภาทนายความ

 

🔶 นายสมพร ดำพริก

อุปนายกฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย สภาทนายความ

 

🔶 นายสัญญาภัชระ สามารถ

อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ สภาทนายความ

 

🔶 นายไพบูลย์ แย้มเอม

อุปนายกฝ่ายสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ สภาทนายความ

 

🔶 ดร.ชัยชีพ ชโลปถัมภ์

กรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย สภาทนายความ

 

🔶 นายฉัตรประพล แย้มเพริศศรี

กรรมการบริหารสภาทนายความภาค 1

 

🔶 ดร.คุณานนต์ นงนุช

ประธานสภาทนายความจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

 

🌟 คุณสมบัติของผู้สมัครเข้ารับการอบรม 🌟

1. ประกอบวิชาชีพทนายความตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 มาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี

2. ไม่เคยต้องคำสั่งให้ลงโทษถึงที่สุด ตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528

3. เป็นผู้มีมนุษยสัมพันธ์และมีบุคลิกภาพดี

4. มีความรับผิดชอบและอุทิศตนเพื่อสังคม

–––

📚 วันเสาร์ที่ 27 กรกฎาคม 2567

⏰ เวลา 08.30 – 16.30 น.

📍 ณ ห้องประชุมอาคาร 12 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ศูนย์หันตรา ตำบลหันตรา อำเภอพระนครศรีอยุธยาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

📝 สมัครผ่านระบบ Google Forms

🌎 Link ลงทะเบียน : https://forms.gle/Eh6k84qv8C16pB1z9

–––

📆 รับสมัครวันนี้ ถึง วันพุธที่ 17 กรกฎาคม 2567 (รับจำนวน 200 คน)

✅ ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์อบรม วันจันทร์ที่ 22 กรกฎาคม 2567

–––

☎️สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : สำนักงานคณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์

โทร. 0 2522 7124-27, 0 2522 7143-47 ต่อ 131, 133, 134

อีเมล์ : legalaid.lct@gmail.com

☎ ติดต่อสอบถาม คุณวารินทร์ โทร. 08 3096 5214

⚖_________________⚖