สภาทนายความอบรมวิชาการสภาทนายความภาค 3 สัญจร จังหวัดนครราชสีมา 【 ฟรี

📣 ประกาศสภาทนายความ ภาค 3 📣

🌟 รับสมัครอบรมวิชาการสภาทนายความภาค 3 สัญจร จังหวัดนครราชสีมา 【 ฟรี 】🚩

👉 เรื่อง “ กระบวนการดำเนินคดีทางปกครองและการพิจารณาคดีปกครอง “ และ “ การดำเนินคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาคปฏิบัติ ”

📆 วันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม 2567

⏱ เวลา 08.30 – 16.30 น.

📍 ณ ห้องประชุมแคแสด มหาวิทยาลัย วงษ์ชวลิตกุล

 

🔖การลงทะเบียน 🔖

 

🌎 Link ลงทะเบียน :

https://forms.gle/c2pnziBHEi2QRGaJ8

—————————

 

👉ติดต่อสอบถาม คุณลัญชนา เนียมสาคร ☎️ 08 1977 5568

 

⚖___________ ⚖

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3325.ผู้จัดการมรดกขายฝากทรัพย์มรดก ถือว่าผู้รับซื้อฝากไม่สุจริต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4187/2566 จำเลยที่ 2 ทำนิติกรรมรับซื้อฝากที่ดินพิพาทจาก จ. โดยไม่สุจริต โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมอันอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนเสียเปรียบ โจทก์ทั้งสามย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทเพื่อกลับคืนสู่กองมรดกได้ เมื่อคำฟ้องของโจทก์ทั้งสามมีคำขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวกลับมาเป็นของ จ. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. หรือ ต. เพื่อให้ที่ดินพิพาทกลับสู่กองมรดกของ ก. หรือ ต. ดังนี้ ตามคำขอดังกล่าวจึงมีความหมายรวมอยู่ในตัวว่า โจทก์ทั้งสามมีคำขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทระหว่าง จ. ในฐานะส่วนตัวกับ จ. ในฐานะผู้จัดการมรดกด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 เพียงพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนขายฝากและสัญญาขยายกำหนดเวลาไถ่จากการขายฝากที่ดินระหว่าง จ. กับจำเลยที่ 2 เท่านั้น จึงยังไม่ครบถ้วนตามคำฟ้องและคำขอของโจทก์ แต่ที่โจทก์ทั้งสามฎีกาขอให้จำเลยทั้งสองปฏิบัติตามคำพิพากษา หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง โดยให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายนั้น เมื่อศาลพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมตามคำขอท้ายดังกล่าวของโจทก์แล้ว ย่อมมีผลทำให้ที่ดินกลับสู่กองมรดกของ ก. หรือ ต. โดยผลของคำพิพากษา อีกทั้ง ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 61 วรรคแปด บัญญัติไว้ว่า ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดให้เพิกถอนหรือแก้ไขอย่างใดแล้ว ให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นตามวิธีการที่อธิบดีกำหนด จึงไม่จำต้องบังคับให้จำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวโดยให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายอีก

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3324.หนังสือยอมรับผิดว่าเป็นหนี้ผู้ตาย ถือเป็นหนี้สินที่ค้างชำระอยู่ต่อกองมรดก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2833/2566 หนังสือแจ้งความจำนงชำระเงินที่ยืมมีข้อความว่า ธ. ได้ยืมเงินจากผู้ตาย จำนวน 1,000,000 บาท โดยผู้ตายให้ ธ. ผ่อนชำระเดือนละ 4,000 บาท จนเดือนสิงหาคม 2561 ผู้ตายถึงแก่ความตาย ธ. ผ่อนชำระไปแล้ว 48,000 บาท คงเหลือ 952,000 บาท และจะขอผ่อนชำระกับโจทก์ทั้งสอง (ภริยาผู้ตาย) เริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2561 เป็นต้นไปจนกว่าจะครบ และ ธ. ได้เบิกความยอมรับว่าเป็นผู้ทำเอกสารดังกล่าวด้วยตนเองโดยทำขึ้นหลังจากผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว เหตุที่ทำเอกสารดังกล่าวเนื่องจากโจทก์ทั้งสองทวงถามเงินจาก ธ. เมื่อ ธ. มีความรับผิดที่จะต้องชำระหนี้แก่ผู้ตายในขณะที่ผู้ตายถึงแก่ความตายจึงเป็นหนี้สินซึ่งค้างชำระอยู่แก่กองมรดกที่จำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกหรือทายาทอื่นจะเรียกให้ชำระแก่กองมรดกได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1736 วรรคสอง จำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกจึงมีเพียงสิทธิเรียกร้องให้ ธ. ชำระหนี้แก่กองมรดกเท่านั้น สิทธิเรียกร้องดังกล่าวไม่อาจแบ่งแยกแก่โจทก์ทั้งสองได้ ทั้งข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าหลังจากผู้ตายถึงแก่ความตาย ธ. ได้ชำระเงินคืนแก่กองมรดกเพียงใด จึงยังไม่มีตัวเงินที่จะแบ่งให้แก่โจทก์ทั้งสอง กรณีจึงเป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกต้องไปว่ากล่าวเรียกร้องให้ ธ. ชำระหนี้แก่กองมรดกเพื่อรวบรวมและแบ่งปันให้แก่โจทก์ทั้งสองต่อไป

(หมายเหตุ 1 คดีนี้ ธ. บุตรของผู้ตายกับโจทก์ที่ 2 ทำหนังสือแจ้งความจำนงขอผ่อนชำระเงินที่ยืมมาจากผู้ตายเป็นค่าสินสอด 1,000,000 บาท โดยผู้ตายให้ ธ. ผ่อนชำระเดือนละ 4,000 บาท จนเดือนสิงหาคม 2561 ผู้ตายถึงแก่ความตาย ธ. ผ่อนชำระเงินไปแล้ว 48,000 บาท คงเหลือ 952,000 บาท คงค้างชำระ 952,000 บาท

2 โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายชำระเงินในบัญชีและตามหนังสือแจ้งความจำนง

3 ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืนเฉพาะในส่วนแบ่งเงินที่ได้จาก ธ. กู้ยืมไปให้แก่โจทก์ทั้งสองคนละ 317,333.33 บาท

4 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อ ธ. มีความรับผิดที่จะต้องชำระหนี้ค่าสินสอดแก่ผู้ตายในขณะที่ผู้ตายถึงแก่ความตายจึงเป็นหนี้สินซึ่งค้างชำระอยู่แก่กองมรดกที่จำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกหรือทายาทอื่นจะเรียกให้ชำระแก่กองมรดกได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1736 วรรคสอง จำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกจึงมีเพียงสิทธิเรียกร้องให้ ธ. ชำระหนี้แก่กองมรดกเท่านั้น สิทธิเรียกร้องดังกล่าวไม่อาจแบ่งแยกแก่โจทก์ทั้งสองได้ ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าหลังจากผู้ตายถึงแก่ความตาย ธ. ได้ชำระเงินคืนแก่กองมรดกเพียงใด จึงยังไม่มีตัวเงินในส่วนนี้ที่จะแบ่งให้แก่โจทก์ทั้งสอง)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3323.ร้องขอกันส่วนภายหลังศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2416/2566 (เล่ม 7 หน้า 87) เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดแล้ว อำนาจในการจัดการทรัพย์สินของจำเลยย่อมตกอยู่แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่เพียงผู้เดียว และทรัพย์สินของจำเลยทั้งหมดย่อมต้องถูกรวบรวมเข้ามาเพื่อการจัดการในคดีละลายเท่านั้น ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 แม้ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลย แต่ผู้คัดค้านที่ 2 จะบังคับชำระได้ก็แต่โดยปฏิบัติตามวิธีการที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ล้มละลาย ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 27 การที่ผู้คัดค้านที่ 2 ดำเนินการบังคับคดีในคดีแพ่งโดยนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยซึ่งรวมทั้งห้องชุดพิพาทในวันที่ 15 มีนาคม 2560 อันเป็นเวลาภายหลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดแล้วย่อมเป็นการไม่ชอบ และผู้ร้องก็ไม่อาจยื่นคำร้องขอกันส่วนเป็นคดีสาขาในคดีแพ่งดังกล่าวได้เช่นกัน ผลคำพิพากษาที่ขอกันส่วนไม่มีผลผูกพันคู่ความในคดีดังกล่าวรวมถึงผู้คัดค้านที่ 1 เพราะกระบวนพิจารณาในชั้นขอกันส่วนในคดีแพ่งเป็นกระบวนพิจารณาที่ทำขึ้นภายหลังศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดแล้ว ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายมีอำนาจ หยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง ประกอบมาตรา 252 และ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 28/2 วรรคสอง

ผู้คัดค้านที่ 2 รับจำนองห้องชุดพิพาทไว้จากจำเลยโดยไม่สุจริต ทำให้ผู้ร้องซึ่งชำระราคาห้องชุดครบถ้วนแล้วเสียหาย เมื่อการจดทะเบียนจำนองระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้านที่ 2 เป็นทางเสียเปรียบแก่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้อยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนสิทธิได้อยู่ก่อน ผู้ร้องจึงเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองห้องชุดดังกล่าวได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งมีหน้าที่ในการรวบรวมและจัดการทรัพย์สินของจำเลย จึงต้องโอนกรรมสิทธิ์ในห้องชุดพิพาทให้แก่ผู้ร้อง โดยปลอดจำนองและไม่จำต้องนำเงินจากกองทรัพย์สินของจำเลยไปไถ่ถอนจำนองห้องชุดพิพาทจากผู้คัดค้านที่ 2

(หมายเหตุ 1 ผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับจำนองนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยซึ่งรวมถึงห้องชุดพิพาทด้วย ภายหลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดแล้ว

2 ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ซื้อห้องชุดจากจำเลยและชำระเงินครบถ้วนแล้วยื่นคำร้องขอกันส่วน เป็นคดีสาขาในคดีแพ่ง

3 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การบังคับคดีของผู้คัดค้านที่ 2 เป็นการไม่ชอบ ผลคำพิพากษาคดีที่ขอกันส่วนไม่มีผลผูกพันคู่ความในคดี เพราะกระบวนพิจารณาในชั้นขอกันส่วนในคดีแพ่งเป็นกระบวนพิจารณาที่ทำขึ้นภายหลังศาลมีคำสั่ง พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดแล้ว)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3322.ครอบครองปรปักษ์หุ้นบริษัท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2475- 2476/2566 (เล่ม 7 หน้า 94) วิธีการใช้อำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายในคดีล้มละลาย ต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่จะให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไว้เป็นพิเศษ

การเพิกถอนการโอนหุ้นต้องเป็นไปโดยผลของคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลและไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ให้อำนาจผู้คัดค้านที่ 1 สั่งเพิกถอนการโอนหุ้นระหว่างผู้ร้องที่ 1 กับผู้ร้องที่ 2 และระหว่างผู้ร้องที่ 2 กับผู้ร้องที่ 3 และที่ 4 ได้เอง ผู้คัดค้านที่ 1 จะต้องยื่นคำร้องในคดีล้มละลายเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการโอนหุ้นโดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีใหม่

การโอนหุ้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นคนละกรณีกับการจะได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ แม้การโอนหุ้นไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1129 วรรคหนึ่ง แต่ก็ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายห้ามมิให้ครอบครองปรปักษ์ ในหุ้นดังกล่าว

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

นายกสภาทนายความ เป็นประธานปิดการอบรมและมอบประกาศณียบัตรให้แก่ผู้เข้ารับการอบรมวิชาการหลักสูตรกฎหมายที่ดิน รุ่นที่ 1

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 กรกฎาคม 2567 เวลา 16.00 น. ที่ห้องประชุมชั้น 4 สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ เป็นประธานปิดการอบรมและมอบประกาศณียบัตรให้แก่ผู้เข้ารับการอบรมวิชาการหลักสูตรกฎหมายที่ดิน รุ่นที่ 1

โดยมี นางสาวอัจฉรา แสงขาว กรรมการและเลขานุการ เป็นผู้ดำเนินรายการ และได้รับเกียรติจาก นายสุรพล ศรีวิโรจน์ อดีตรองอธิบดีกรมที่ดิน เป็นผู้บรรยายในหัวข้อเรื่อง สิทธิครอบครองและกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ที่ดิน ทั้งนี้การจัดอบรมมีทนายความและบุคคลทั่วไป เข้าร่วมอบรมหลักสูตรดังกล่าวจำนวนมาก

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3321.ผู้จัดการมรดกในคดีล้มละลาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4122/2565 (เล่ม 11 หน้า 75) จำเลยที่ 1 ได้รับสิทธิครอบครองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทโดยการยกให้จากนาย ส. ก่อนที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาด ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 มีอยู่ในเวลาเริ่มต้นแห่งการล้มละลาย จึงเป็นทรัพย์สินในคดีล้มละลายอันอาจแบ่งแก่เจ้าหนี้ได้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 109(1) และเป็นอำนาจของผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียวในการรวบรวมและจัดการทรัพย์สินดังกล่าว โดยจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจกระทำการใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตนอีกต่อไป ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 และมาตรา 24

จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตายภายหลังจากที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาด ซึ่งถือเป็นเหตุให้ต้องมีการจัดการทรัพย์มรดกของจำเลยที่ 1 ผู้ตายต่อไป ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 84 และศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้จัดการทรัพย์มรดกของจำเลยที่ 1 ตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว ผู้ร้องจึงยังคงมีอำนาจเก็บรวบรวมจัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ผู้ตายต่อไปจนกว่าคดีสิ้นสุด ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22(1) และ(2) แม้ว่าต่อมาศาลจังหวัดพังงามีคำสั่งตั้ง อ. เป็นผู้จัดการมรดกของจำเลยที่ 1 อ. ในฐานะผู้จัดการมรดกของจำเลยที่ 1 ก็ไม่อาจจัดการทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ที่กระทบอำนาจของผู้ร้อง ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 และมาตรา 24 ได้

อ. ในฐานะผู้จัดการมรดกของจำเลยที่ 1 ไถ่ถอนการจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากสหกรณ์ ก. และในวันเดียวกัน อ. ในฐานะผู้จัดการมรดกของจำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมจดทะเบียนโอนขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้แก่ ล.คู่สมรสของ อ. ซึ่งถือเสมือนเป็นการกระทำของจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 85 อันเป็นเวลาภายหลังจากที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาด จึงเป็นการกระทำที่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย การจดทะเบียนนิติกรรมของ อ. ดังกล่าว จึงตกเป็นโมฆะเสียเปล่ามาแต่เริ่มแรก ตาม ป.พ.พ.มาตรา 150 ซึ่งมีผลให้ ล. ไม่ใช่ผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาท และไม่อาจจดทะเบียนโอนขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง พิพาทต่อไปให้ผู้คัดค้านได้ แม้ผู้คัดค้านจะรับโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทไว้โดยสุจริต เสียค่าตอบแทน และจดทะเบียนโดยสุจริต ก็ไม่มีสิทธิดีไปกว่า ล. ซึ่งเป็นผู้โอน ผู้ร้องในฐานะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างตาม ป.พ.พ.มาตรา 172 เพื่อขอให้ศาลเพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมดังกล่าวให้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทกลับเป็นชื่อจำเลยที่ 1 ผู้ถือกรรมสิทธิ์ดังเดิมได้

การยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้าง มิใช่เป็นการก่อให้เพิกถอนนิติกรรมการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ.มาตรา 237 จึงไม่ตกอยู่ในบังคับบทบัญญัติของ ป.พ.พ.มาตรา 240 ที่บังคับให้ผู้ร้องต้องใช้สิทธิร้องขอเพิกถอนภายใน 1 ปี นับแต่เวลาที่รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน แต่เป็นการใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์สินของเจ้าของคืนจากผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีอายุความ ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลเพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรม เพื่อให้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทกลับเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ดังเดิมได้

ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้จัดการทรัพย์มรดกของจำเลยที่ 1 เนื่องจากจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 84 จึงไม่อาจปลดจำเลยที่ 1 จากการล้มละลายตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 81/1 ได้อีก

(หมายเหตุ 1 ผู้จัดการมรดกของผู้ตายซึ่งศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว ไม่มีอำนาจจัดการทรัพย์มรดกของผู้ตาย แต่เป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

นายกสภาทนายความฯ เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมและปาฐกถา ในโครงการเพื่อพัฒนาทักษะและประสิทธิภาพในการสอบสวนคดีมรรยาททนายความ

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 กรกฎาคม 2567 เวลา 09.00 – 17.00 น. ที่ห้องประชุมราชพฤกษ์ อาคารอเนกประสงค์ ชั้น 3 ศูนย์อาหาร วิทยาลัยเทคนิคราชบุรี จังหวัดราชบุรี : ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมและปาฐกถา ในโครงการเพื่อพัฒนาทักษะและประสิทธิภาพในการสอบสวนคดีมรรยาททนายความ

โดยมี นายอรรถพร อัมพวา กรรมการบริหารสภาทนายความ ภาค 7 กล่าวต้อนรับ นายไพฑูรย์ พฤฒาสัจธรรม กรรมการมรรยาทและเลขานุการ กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ นายคชาชาญ พิณประภัศร์ ประธานสภาทนายความจังหวัดราชบุรี และนายขจร มูลสวัสดิ์ กรรมการสภาทนายความจังหวัดราชบุรี ผู้ดำเนินรายการ

อีกทั้งยังได้รับเกียรติจาก นายวีรศักดิ์ โชติวานิช อุปนายกฝ่ายเทคโนโลยีและสารสนเทศ กรรมการประชาสัมพันธ์และรองเลขาธิการสภาทนายความ นายสุชาติ ชมกุล อุปนายกฝ่ายกิจการพิเศษ นายสฤษดิ์ เจียมกมล เหรัญญิก สภาทนายความ นายฉัตรประพล แย้มเพริศศรี กรรมการบริหารสภาทนายความ ภาค 1 นายสมชาย ลิ้มสกุล รองกรรมการบริหารสภาทนายความ ภาค 7 และอดีตประธานสภาทนายความจังหวัดสมุทรสงคราม นายยอดมิ่ง แสนพิริยะ ประธานสภาทนายความจังหวัดนครปฐม นายชัยยศ ชูประเสริฐ ประธานสภาทนายความจังหวัดทองผาภูมิ นายวรรษณ แสงเป่า ประธานสภาทนายความจังหวัดกาญจนบุรี นายภัทราวุฒิ พันธ์รัศมี ประธานสภาทนายความจังหวัดสุพรรณบุรี และนางนุชนารถ อึ้งตระกูล กรรมการมรรยาททนายความ

นอกจากนี้ ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ให้เกียรติเป็นวิทยากรบรรยายหัวข้อ “สภาพปัญหาในการพิจารณาคดีมรรยาททนายความ” นายสุชาติ ชมกุล อุปนายกฝ่ายกิจการพิเศษ บรรยายหัวข้อ “การแก้ไขข้อบังคับสภาทนายความ ว่าด้วยการพิจารณาคดีมรรยาททนายความ พ.ศ. 2546” นายคณิต วัลยะเพ็ชร์ ประธานกรรมการมรรยาททนายความ บรรยายหัวข้อ “ข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529” นายมะโน ทองปาน รองประธานกรรมการมรรยาททนายความ บรรยายหัวข้อ “ทนายความกับสื่อสาธารณะ” นายเจษฎา คงรอด รองประธานกรรมการมรรยาททนายความ บรรยายหัวข้อ “การพิจารณาคดีมรรยาททนายความตามข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยการพิจารณาคดีมรรยาททนายความ พ.ศ. 2546” และนายไพฑูรย์ พฤฒาสัจธรรม กรรมการมรรยาทและเลขานุการ บรรยายหัวข้อ “การทำความเห็นคดีมรรยาททนายความ” ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการอบรมในครั้งนี้เป็นจำนวนมาก

สภาทนายความฯจัดอบรมโครงการปฏิรูปทนายความอาสา ทนายความขอแรง และที่ปรึกษากฎหมายของเด็กหรือเยาวชน ประจำปีงบประมาณ 2567 ณ เมืองรถม้า จังหวัดลำปาง ( ฟรี )

เมื่อวันเสาร์ที่ 13 กรกฎาคม 2567 เวลา 08.30 – 16.30 น. ที่ห้องวังธาร โรงแรมรีเจนท์ ลอด์จ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง : ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมโครงการปฏิรูปทนายความอาสา ทนายความขอแรง และที่ปรึกษากฎหมายของเด็กหรือเยาวชน ประจำปีงบประมาณ 2567

โดยมี นายกิตติพันธ์ จันทร์หอม ประธานสภาทนายความจังหวัดลำปาง กล่าวต้อนรับ นายพรศักดิ์ สังข์สังวาลย์ กรรมการบริหารสภาทนายความภาค 5 กล่าวรายงาน และบรรยายสรุปการเบิกจ่ายเงินของทนายความอาสา ซึ่งมีนายไพบูลย์ แย้มเอม อุปนายกฝ่ายสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ เป็นผู้ดำเนินรายการ และยังได้รับเกียรติจาก นายตรีเรก ศรีวิชัย ประธานสภาทนายความจังหวัดพะเยา นายวีระพงศ์ ศรีวงค์สงวน ประธานสภาทนายความจังหวัดฮอด ว่าที่ร้อยตรีกิตติพล อินนา ประธานสภาทนายความจังหวัดเชียงคำ

นอกจากนี้ ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ให้เกียรติเป็นวิทยากรบรรยายหัวข้อ “ประมวลจริยธรรมและมรรยาททนายความของทนายความอาสา” “ทนายความอาสากับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในคดีอาญา” “พระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ.2562” “พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565” ดร.ชัยชีพ ชโลปถัมภ์ กรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย บรรยายหัวข้อ “บทบาททนายความอาสากับการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย” ซึ่งมีทนายความในจังหวัดลำปาง และทนายความภาค 5 เข้าร่วมอบรมในครั้งนี้เป็นจำนวนมาก

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3320.การขอรับรางวัลที่ปรึกษากฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3875/2565 (เล่ม 11 หน้า 71) ศาลชั้นต้นแต่งตั้งให้ผู้ร้องเป็นที่ปรึกษากฎหมายให้แก่จำเลย โดยจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นให้ใช้มาตรการแทนการพิพากษาคดีแก่จำเลย ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 132 วรรคหนึ่ง โดยวางเงื่อนไขให้จำเลยปฏิบัติกับจำหน่ายคดีออกจากสารบบความไว้ชั่วคราว โดยนัดฟังผลการปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งและหากจำเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือปฏิบัติตามเงื่อนไขครบถ้วนแล้วให้เจ้าหน้าที่ศูนย์ให้คำปรึกษารายงานต่อศาลชั้นต้นเพื่อยกคดีขึ้นพิจารณาต่อไป ผู้ร้องยื่นคำร้องขอรับเงินรางวัลค่าป่วยการที่ปรึกษากฎหมายในวันเดียวกับที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว ซึ่งตามมาตรา 123 แห่ง พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว ที่ปรึกษากฎหมายซึ่งศาลแต่งตั้งให้ได้รับค่าป่วยการตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมกำหนดโดยความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง คือ ระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม ว่าด้วยค่าป่วยการที่ปรึกษากฎหมายที่ศาลแต่งตั้งให้แก่เด็กหรือเยาวชน พ.ศ. 2555 และระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม ว่าด้วยค่าป่วยการที่ปรึกษากฎหมายที่ศาลแต่งตั้งให้แก่เด็กหรือเยาวชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557 โดยระเบียบข้อ 5 กำหนดว่า ให้ศาลกำหนดเงินรางวัล ให้แก่ที่ปรึกษากฎหมายตามอัตราค่าป่วยการท้ายระเบียบ ดังนี้ (1) ในกรณีที่มีการวินิจฉัยชี้ขาดคดี ให้กำหนดตามระเบียบบัญชี 1 และตามวรรคสอง กำหนดว่า “ในคดีที่จำเลยให้การรับสารภาพ คดีที่ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว คดีที่ศาลสั่งยุติคดี โดยไม่ต้องมีคำพิพากษาหรือคดีเสร็จไปโดยศาลไม่ได้มีคำพิพากษา” และวรรคสาม กำหนดว่า “ทั้งนี้ ให้กำหนดเมื่อศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้ว” ซึ่งคดีนี้เป็นคดีที่จำเลยให้การรับสารภาพ ทั้งยังเป็นคดีที่ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราวที่ให้ศาลกำหนดเงินรางวัลให้ได้ตามระเบียบข้อ 5(1) วรรคสอง แต่ต้องอยู่ในบังคับแห่งวรรคสาม ที่ศาลจะกำหนดให้ได้ต่อเมื่อมีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้ว เมื่อคดีนี้ศาลชั้นต้นให้ใช้มาตรการแทนการพิพากษาคดีแก่จำเลย แล้วจำหน่ายคดีออกจากสารบบความไว้ชั่วคราว โดยยังมิได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่ง กรณีจึงยังไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่ศาลจะสั่งให้จ่ายเงินรางวัลค่าป่วยการที่ปรึกษากฎหมายให้แก่ผู้ร้องได้

(หมายเหตุ ค่าป่วยการที่ปรึกษากฎหมายของศาลเยาวชนและครอบครัว ศาลจะสั่งจ่ายรางวัลค่าป่วยการที่ปรึกษากฎหมายได้ต่อเมื่อศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้วเท่านั้น)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849