นายกสภาทนายความชี้แจงคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ปี 2568 

นายกสภาทนายความชี้แจงคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ปี 2568 

 

เมื่อวันพุธที่ 24 กรกฎาคม 2567 เวลา 13.00 น. ที่ห้องประชุมกรรมาธิการ CB 406 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา : ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ได้เข้าร่วมชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ซึ่งสภาทนายความขอรับการสนับสนุนเป็นเงินอุดหนุนจากรัฐบาลผ่านกระทรวงยุติธรรม เพื่อขับเคลื่อนงานแผนปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมในแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ ตามรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2560 ซึ่งปีงบประมาณนี้จะได้รับงบประมาณเพิ่มประมาณ 20 ล้านบาท

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3331.ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชนะคดี แต่วินิจฉัยว่าข้อต่อสู้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น จำเลยสามารถคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น ในคำแก้อุทธรณ์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 588/2566 (เล่ม 8 หน้า 24) จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การต่อสู้คดีว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม และโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 หาจำต้องอุทธรณ์ประเด็นที่ว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เพราะจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งชนะคดีในศาลชั้นต้นย่อมคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นในคำแก้อุทธรณ์สำหรับประเด็นที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้นนั้นได้ แต่เมื่อโจทก์อุทธรณ์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่กล่าวในคำแก้อุทธรณ์ถึงประเด็นที่ว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ ทั้งปัญหาว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ มิใช่ปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ส่วนประเด็นที่ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 แก้อุทธรณ์ในประเด็นนี้ก็ตาม แต่คำแก้อุทธรณ์ของจำเลย ที่ 1 และที่ 2 มิได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องนั้นไม่ถูกต้องอย่างไร เพราะเหตุใด ในชั้นอุทธรณ์จึงไม่มีประเด็นที่ศาลอุทธรณ์ต้องวินิจฉัย การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาในประเด็นนี้ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ต้องห้ามมิให้ฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 252

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ เพราะจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำละเมิดต่อโจทก์ จึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาฝากเก็บรักษาข้าวสารว่าเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ ทั้งข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้อย่างนั้น ต้องเป็นข้อกฎหมายที่ได้มาจากข้อเท็จจริงในการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบ เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 เพิ่งยกประเด็นดังกล่าวขึ้นในชั้นฎีกา จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 252 เช่นกัน แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับอนุญาตให้ฎีกา ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้

โจทก์ซื้อข้าวสารชนิดข้าวเหนียวขาว 10 เปอร์เซ็นต์ ที่เก็บในคลังสินค้าของจำเลยที่ 1 จากองค์การคลังสินค้าซึ่งเป็นคู่สัญญาตามสัญญาฝากเก็บข้าวสารกับจำเลยที่ 1 และโจทก์ได้ชำระราคาข้าวสารชนิดข้าวเหนียวขาว 10 เปอร์เซ็นต์ ในคลังสินค้าของจำเลยที่ 1 งวดแรกให้องค์การคลังสินค้าแล้ว โจทก์ย่อมได้กรรมสิทธิ์ข้าวสารชนิดข้าวเหนียวขาว 10 เปอร์เซ็นต์ ตามสัญญาดังกล่าว เมื่อข้าวสารชนิดข้าวเหนียวขาว 10 เปอร์เซ็นต์ ที่โจทก์ซื้อจากโครงการคลังสินค้าเป็นข้าวสารชนิดข้าวเหนียวขาว 10 เปอร์เซ็นต์ เพียง 54,734 กระสอบ ข้าวปลอมปน 215,359 กระสอบ ข้าวเจ้า 121,500 กระสอบ และข้าวเปียกน้ำ 1,540 กระสอบ การที่โจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้ จึงมิใช่เป็นการฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดเกี่ยวกับ การผิดสัญญาฝากเก็บข้าวสารและลักษณะละเมิดอันเนื่องมาจากการติดสัญญาดังกล่าวเพราะโจทก์ไม่มีนิติสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1 แต่เป็นการฟ้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากข้าวสารชนิดข้าวเหนียวขาว 10 เปอร์เซ็นต์ ที่โจทก์ซื้อจากองค์การคลังสินค้าและเก็บรักษาไว้ในคลังสินค้าของจำเลยที่ 1 มีการปลอมปน ซึ่งทำให้โจทก์ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในข้าวสารชนิดข้าวเหนียวขาว 10 เปอร์เซ็นต์ อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์

โจทก์นำสืบข้อเท็จจริงครบถ้วนตามภาระการพิสูจน์แล้วว่า ความเสียหายเกิดขึ้นแก่ข้าวสารขณะอยู่ในความครอบครองและเก็บรักษาของจำเลยที่ 1 โจทก์จึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84/1 เพราะถือว่าเป็นข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็น ซึ่งปรากฏตามสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณต่อโจทก์ จำเลยมีหน้าที่ต้องพิสูจน์เพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว

ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคหนึ่ง บัญญัติหลักเกณฑ์ในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนในมูลละเมิดว่า “…..ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใด เพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด …..”กล่าวคือ นอกจากจะคำนึงถึงความเสียหายที่ผู้เสียหายได้รับจากการกระทำละเมิดแล้ว ยังต้องพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์แห่งการกระทำละเมิดประกอบด้วย เมื่อโจทก์บรรยายถึงเรื่องค่าเสียหายในคำฟ้องและมีคำขอท้ายฟ้องไว้แล้ว แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้ให้การต่อสู้หรือฎีกาในเรื่องจำนวนค่าเสียหาย ศาลฎีกาก็วินิจฉัยเรื่องค่าเสียหายได้ว่าควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดหรือไม่

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3330.หลอกลวงเอาหนังสือค้ำประกันของธนาคารไปจากผู้ว่าจ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 403/2566 จำเลยที่ 1 เบิกเงินค่าจ้างล่วงหน้าไปจากโจทก์โดยนำหนังสือค้ำประกันของธนาคารมาวางเพื่อเป็นหลักประกัน การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 หลอกหลวงโจทก์เอาไปซึ่งหนังสือค้ำประกันดังกล่าว ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามหนังสือค้ำประกันไม่มีหลักประกันที่จะเรียกร้องเอาจากธนาคารซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงเป็นละเมิดต่อโจทก์ และทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายซึ่งเท่ากับจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระต่อโจทก์

 

 

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3329.ให้กู้ยืมเงินโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลัง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 916/2566 ประกาศกระทรวงการคลังที่โจทก์บรรยายมาในฟ้อง เป็นการประกาศประเภทกิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ซึ่งกิจการที่ต้องขออนุญาตตามประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวเป็นเรื่องการให้สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพอันเป็นกิจการที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับการธนาคาร เมื่อผู้ใดประกอบกิจการดังกล่าวหลังจากประกาศกระทรวงการคลังใช้บังคับแล้ว จะต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คำฟ้องของโจทก์ข้อ 1.2 บรรยายว่า …จำเลยทั้งสองร่วมกันประกอบสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ ประเภทการให้กู้ยืมเงินแก่บุคคลธรรมดา ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปใช้ในการประกอบอาชีพที่ไม่มีทรัพย์หรือทรัพย์สินเป็นหลักประกัน โดยการร่วมกันจัดหาซึ่งเงินทุนแล้วให้ผู้อื่นกู้ยืมเงินนั้น และจำเลยทั้งสองมิได้เป็นสถาบันการเงิน ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพแก่ผู้บริโภค…อันเป็นการร่วมกันประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ลงวันที่ 26 มกราคม 2515 ว่าด้วยการควบคุมกิจการค้าขายอันกระทบถึงความปลอดภัยผาสุกแห่งสาธารณชน และประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องกิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 (เรื่อง สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ) ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2557 ซึ่งประกาศทั้งสองฉบับดังกล่าวได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและจำเลยทั้งสองทราบประกาศทั้งสองฉบับดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้ โดยจำเลยทั้งสองมิได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อันเป็นการฝ่าฝืนต่อประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 และประกาศกระทรวงการคลัง จึงเป็นการบรรยายฟ้องถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด และเป็นการยืนยันว่าจำเลยที่ 2 ทราบประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวแล้ว แม้โจทก์ไม่แนบประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวมาพร้อมกับฟ้อง และส่งประกาศดังกล่าวในชั้นพิจารณา ก็หาทำให้ฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด

ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ข้อ 5 บัญญัติว่า “เมื่อได้มีประกาศของรัฐมนตรีกำหนดกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดดังระบุไว้ต่อไปนี้ หรือกิจการอันมีสภาพคล้ายคลึงกัน ให้เป็นกิจการที่ต้องขออนุญาต ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบกิจการนั้น เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี …(3) การธนาคาร..” แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่ากฎหมายมุ่งไปถึงลักษณะของกิจการเป็นสำคัญ หากเข้าลักษณะของกิจการอันมีสภาพคล้ายคลึงกับการธนาคารแล้ว ก็ให้อำนาจรัฐมนตรีประกาศกำหนดให้กิจการในลักษณะนี้ต้องถูกควบคุมดูแลและตรวจสอบโดยทางราชการด้วยระบบการขออนุญาตได้ หากฝ่าฝืนประกอบกิจการโดยไม่ได้รับใบอนุญาตย่อมมีโทษทางอาญาตามข้อ 16 คำว่า “ผู้ใด” ตามข้อ 5 ประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าวย่อมใช้บังคับเป็นการทั่วไปไม่ว่ากับบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ดังนั้น เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนดให้การประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพอันเป็นกิจการที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับการธนาคารเป็นกิจการที่ต้องขออนุญาตแล้ว กิจการในลักษณะนี้จึงมิใช่กิจการที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งกระทำได้โดยเสรีอีกต่อไป แต่ต้องกระทำผ่านระบบใบอนุญาตเท่านั้น หากนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาเช่นจำเลยที่ 2 จะให้ยืมเงินในลักษณะดังกล่าวก็ต้องขออนุญาตด้วยกันหมดทั้งสิ้น ส่วนที่ประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะยื่นขออนุญาตว่าต้องเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดเท่านั้น ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าทางราชการไม่ประสงค์ให้บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลประเภทอื่นประกอบกิจการในลักษณะนี้นั่นเอง การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาไม่อาจยื่นขออนุญาตตามประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวได้ ไม่ได้แสดงว่าจำเลยที่ 2 สามารถประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับอันเป็นกิจการที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับการธนาคารได้โดยเสรี การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงครบองค์ประกอบและเป็นความผิดตามฟ้อง

ความผิดฐานร่วมกันประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ อันเป็นกิจการที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับการธนาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานร่วมกันให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด เป็นการกระทำความผิดที่ผู้กระทำจะต้องมีเจตนาประสงค์ต่อผลต่างกัน กฎหมายจึงได้บัญญัติเป็นความผิดและมีบทลงโทษสำหรับความผิดแต่ละอย่างแตกต่างกัน และลักษณะแห่งการกระทำความผิดสามารถแยกส่วนจากกันได้ แสดงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายมุ่งประสงค์ที่จะลงโทษผู้กระทำความผิดแต่ละการกระทำเป็นกรณีไป แม้จำเลยที่ 2 กระทำความผิดต่อเนื่องกัน แต่เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องแยกเจตนาของจำเลยที่ 2 ในการกระทำความผิดตามฟ้องแต่ละข้อได้อย่างชัดเจน และจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ การกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 ฐานร่วมกันประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ อันเป็นกิจการที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับการธนาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานร่วมกันให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

 

 

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3328.ข้อตกลงดอกเบี้ยตามสัญญาจำนองคิดเกินอัตรา สามารถนำพยานบุคคลสืบหักได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 882/2566 แม้ตามสำเนาหนังสือสัญญาจำนองรวมแปดโฉนด ข้อ 5 ระบุให้สัญญาฉบับนี้เป็นหลักฐานการกู้เงิน ข้อ 6 ระบุว่า ไม่มีดอกเบี้ย กำหนดชำระคืนภายในหนึ่งปี และตามบันทึกข้อตกลง ข้อ 1 ระบุว่า หากผู้กู้ผิดสัญญากู้โดยไม่ชำระหนี้คืนให้แก่ผู้ให้กู้ภายในกำหนดเวลาไถ่ถอนจำนอง ผู้กู้จะต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนองแก่ผู้ให้กู้ นับแต่วันผิดนัดชำระหนี้จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น อันเป็นการระบุว่าการกู้เงินระหว่างโจทก์และจำเลยนั้น โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ซึ่งไม่เกินกว่าที่ ป.พ.พ. มาตรา 654 กำหนดไว้ก็ตาม แต่การที่จำเลยนำสืบพยานบุคคลและพยานวัตถุฟังได้ว่า ในการทำสัญญาจำนองตกลงกันว่าจะไม่มีการคิดดอกเบี้ย แต่ความจริงโจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยตั้งแต่วันทำสัญญาจำนองอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ซึ่งจะต้องเสียดอกเบี้ยเดือนละ 204,300 บาท แต่พยานขอลดหย่อนเหลือเดือนละ 200,000 บาท โดยโจทก์ให้จำเลยแบ่งชำระเงิน 2 ยอด ยอดแรกชำระ 150,000 บาท อีกยอดชำระ 50,000 บาท โจทก์ออกใบเสร็จรับเงินให้เฉพาะยอดเงิน 150,000 บาท เพราะเกรงว่าจะถูกกล่าวหาว่าคิดดอกเบี้ยจากจำเลยเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เป็นการผิดกฎหมาย ซึ่งต้นเงิน 13,620,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ต้องเสียดอกเบี้ยเดือนละ 170,250 บาท จำเลยชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์เท่าที่รวบรวมใบเสร็จรับเงินได้ 12 ฉบับ รวมเป็นเงิน 1,150,000 บาท เป็นการนำสืบถึงข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยเป็นโมฆะอันเป็นผลทำให้หนี้ตามสัญญาบางส่วนไม่สมบูรณ์ อันเป็นการนำสืบถึงความไม่สมบูรณ์แห่งหนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 วรรคท้าย การรับฟังพยานบุคคลว่าหนี้บางส่วนที่ระบุไว้ในเอกสารไม่สมบูรณ์ จึงไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94

(หมายเหตุ 1 จำเลยให้การขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยนำดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไปหักจากต้นเงินที่จำเลยได้รับจากโจทก์ตามความเป็นจริง

2 คดีนี้ เป็นกรณีที่จำเลยนำสืบถึงข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยเป็นโมฆะอันเป็นผลทำให้หนี้ตามสัญญาบางส่วนไม่สมบูรณ์ อันเป็นการนำสืบถึงความไม่สมบูรณ์แห่งหนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 วรรคท้าย ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เป็นการรับฟังพยานบุคคลว่าหนี้บางส่วนที่ระบุไว้ในเอกสารไม่สมบูรณ์ จึงไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 แต่อย่างใด)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

สภาทนายความ เพิ่มโรงพักให้ทนายอาสานั่งเวร 303 โรงพัก

สภาทนายความ เพิ่มโรงพักให้ทนายอาสานั่งเวร 303 โรงพัก

ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป สภาทนายความ ได้เพิ่ม สถานีตำรวจนำร่องอีก 50 สถานีตำรวจ เพื่อให้ทนายความอาสาได้นั่งให้คำปรึกษาด้านกฎหมายแก่ประชาชน รวมจนถึงปัจจุบันมีทั้งหมด 303 สถานีตำรวจ รายชื่อ สถานีตำรวจที่เพิ่มใหม่ ดังนี้

1. สถานีตำรวจภูธรสำโรงใต้

2. สถานีตำรวจภูธรบางแก้ว

3. สถานีตำรวจภูธรท่าหิน

4. สถานีตำรวจภูธรสามโคก

5. สถานีตำรวจภูธรหนองแค

6. สถานีตำรวจภูธรชัยพฤกษ์

7. สถานีตำรวจภูธรนิคมพัฒนา

8. สถานีตำรวจภูธรบ้านค่าย

9. สถานีตำรวจภูธรนาดี

10. สถานีตำรวจภูธรองครักษ์

11. สถานีตำรวจภูธรบ้านฉาง

12. สถานีตำรวจภูธรบ้านค่าย

13. สถานีตำรวจภูธรหนองกี่

14. สถานีตำรวจภูธรกุดชุม

15. สถานีตำรวจภูธรแก้งคร้อ

16. สถานีตำรวจภูธรสูงเนิน

17. สถานีตำรวจภูธรกันทรารมย์

18. สถานีตำรวจภูธรบ้านเป็ด

19. สถานีตำรวจภูธรกุมภาวาปี

20. สถานีตำรวจภูธรท่าบ่อ

21. สถานีตำรวจภูธรคำชะอี

22. สถานีตำรวจภูธรท่าอุเทน

23. สถานีตำรวจภูธรเต่างอย

24. สถานีตำรวจภูธรสูงเม่น

25. สถานีตำรวจภูธรจอมทอง

26. สถานีตำรวจภูธรดอกคำใต้

27. สถานีตำรวจภูธรสันกำแพง

28. สถานีตำรวจภูธรบ้านดู่

29. สถานีตำรวจภูธรบางมูลนาก

30. สถานีตำรวจภูธรหนองปลิง

31. สถานีตำรวจภูธรลานกระบือ

32. สถานีตำรวจภูธรกงไกรลาศ

33. สถานีตำรวจภูธรชลแดน

34. สถานีตำรวจภูธรท่ามะกา

35. สถานีตำรวจภูธรอัมพวา

36. สถานีตำรวจภูธรบางสะพาน

37. สถานีตำรวจภูธรโคกขาม

38. สถานีตำรวจภูธรกำแพงแสน

39. สถานีตำรวจภูธรท่าแซะ

40. สถานีตำรวจภูธรหัวไทร

41. สถานีตำรวจภูธรทุ่งใหญ่

42. สถานีตำรวจภูธรถลาง

43. สถานีตำรวจภูธรฉลอง

44. สถานีตำรวจภูธรท่าศาลา

45. สถานีตำรวจภูธรยะหา

46. สถานีตำรวจภูธรละงู

47. สถานีตำรวจภูธรโคกโพธิ์

48. สถานีตำรวจภูธรย่านตาขาว

49. สถานีตำรวจภูธรนาหม่อม

50. สถานีตำรวจภูธรตะโหมด

นายกสภาทนายความ เป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ “นโยบายการขับเคลื่อนของสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อการป้องกันและการแก้ไขปัญหาในสังคม“ ให้แก่นักศึกษาปริญญาเอก หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ รุ่นที่ 1

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 กรกฎาคม 2567 เวลา 09.00-12.00 น. ที่ห้อง R2210 มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ วิทยาเขตรังสิต : ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ เป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ “นโยบายการขับเคลื่อนของสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อการป้องกันและการแก้ไขปัญหาในสังคม“ ให้แก่นักศึกษาปริญญาเอก หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ รุ่นที่ 1 คณะรัฐศาสตร์

โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ ธรรมชาลัย คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ รองศาสตราจารย์ ดร.บรรพต วิรุณราช ผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ พร้อมคณาจารย์ ให้การต้อนรับ ซึ่งมีนักศึกษาปริญญาเอกเข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก

สภาทนายความจับมือนิด้าลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ

สภาทนายความจับมือนิด้าลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ

เมื่อวันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม 2567 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุม ดร.สมศักดิ์ และคุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ได้ทำพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างสภาทนายความ

โดย ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ โดย รองศาสตราจารย์ ดร. ประพนธ์ สหพัฒนา รองอธิการบดี ฝ่ายบริหารและเทคโนโลยีดิจิทัล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ร่วมลงนาม และมีนายสัญญาภัชระ สามารถ อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ สภาทนายความ และรองศาสตราจารย์ ดร.อมรรัตน์ กุลสุจริต คณบดี คณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ลงนามเป็นพยาน ซึ่งได้รับเกียรติจากคณะกรรมการ สำนักงานคดีปกครอง สภาทนายความ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านคนพิการ ทุพพลภาพและผู้ด้อยโอกาส สภาทนายความ และคณาจารย์จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ร่วมเป็นสักขีพยาน ในโอกาสนี้ ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ได้ให้เกียรติปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “บทบาทของสภาทนายความกับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน”

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3327.จำเลยตายในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา คดีส่วนแพ่งไม่ระงับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2659/2566 คดีนี้โจทก์มีคำขอให้จำเลยชดใช้เงินที่ยักยอกไปจากผู้ร้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 จำเลยถึงแก่ความตายระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา อันส่งผลให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (1) แต่เมื่อปรากฏว่าผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินที่โจทก์ขอมาด้วย คดีในส่วนแพ่งจึงต้องดำเนินการเพื่อให้บุคคลที่กฎหมายกำหนดเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่จำเลยผู้มรณะตาม ป.วิ.พ. มาตรา 42 ต่อไป

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3326.สัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 244/2567 คำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความมีที่มาจากบันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. ทำกับทายาทของ ก. เพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ก. ให้แก่ทายาท โดยตกลงให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 8235 (เลขที่ 96870) ให้แก่โจทก์ จึงเป็นสัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดกอันมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญตาม ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคสอง โจทก์และจำเลยที่ 1 ต้องผูกพันตามข้อตกลงในสัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าว จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกมีหน้าที่จัดการมรดกโดยทั่วไปและแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนภายใต้ขอบอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719, 1723, 1724 วรรคหนึ่ง และ 1745 การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกรู้ว่าโฉนดที่ดินพิพาทอยู่กับโจทก์ แต่กลับมอบอำนาจให้ผู้มีชื่อไปยื่นคำขอออกใบแทนโฉนดที่ดินพิพาท เมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับใบแทนโฉนดที่ดินพิพาทวันที่ 22 มีนาคม 2561 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ในวันที่ 10 เมษายน 2561 เป็นเวลาหลังจากได้รับใบแทนโฉนดที่ดินพิพาทเพียง 18 วัน แสดงให้เห็นถึงความต้องการของจำเลยที่ 1 ที่จะเอาที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกมาเป็นประโยชน์ของตนเพียงผู้เดียว ย่อมไม่เป็นไปเพื่อการจัดการทรัพย์มรดกเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทอันเป็นการกระทำผิดหน้าที่ของผู้จัดการมรดกและนอกขอบอำนาจของผู้จัดการมรดก จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิจดทะเบียนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 1 ให้ผู้มีชื่อไปขอใบแทนทั้งที่โฉนดที่ดินไม่ได้สูญหาย ใบแทนโฉนดที่ดินซึ่งจำเลยที่ 1 นำไปจดทะเบียนขายให้แก่จำเลยที่ 2 จึงออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีผลให้โฉนดที่ดินถูกยกเลิกไป และถือไม่ได้ว่าใบแทนโฉนดที่ดินเป็นหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่คู่กรณีจะนำไปใช้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตาม ป.พ.พ. ได้ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 63 วรรคแรกและวรรคสอง, 72 การจดทะเบียนซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ย่อมใช้สิทธิในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกฟ้องเรียกที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยที่ 2 ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336

(หมายเหตุ 1 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ใช้สิทธิในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกฟ้องเรียกที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยที่ 2 ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1336 กรณีมิใช่โจทก์ใช้สิทธิฟ้องโดยเป็นบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ได้รับโอนที่ดินพิพาทโดยมีค่าตอบแทนและกระทำการโดยสุจริตหรือไม่

2 และการขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เพื่อให้ที่ดินพิพาทกลับคืนมาเป็นของโจทก์โดยบริบูรณ์ ไม่มีผลกระทบต่อสิทธิของจำเลยที่ 1 หรือมีผลบังคับให้จำเลยที่ 1 ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษา ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้

3 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยพิพากษายืน ศาลฎีกาพิพากษากลับ ให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนขายที่ดิน และเพิกถอนใบแทนโฉนดที่ดินเลขที่ 96870 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849