ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3334.อุทธรณ์ในคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ในส่วนคดีแพ่งไม่ต้องชำระค่าธรรมเนียม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3330/2566 คดีนี้เป็นคดีอาญา ซึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 252 กำหนดไว้ว่า ในคดีอาญาทั้งหลายห้ามมิให้ศาลยุติธรรมเรียกค่าธรรมเนียมนอกจากที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้ ซึ่งบทบัญญัติในหมวดนี้ในส่วนของจำเลยไม่ได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น จึงต้องบังคับไปตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อค่าขึ้นศาลเป็นค่าธรรมเนียมอย่างหนึ่ง จำเลยจึงไม่ต้องเสีย ดังนั้น แม้จำเลยทั้งสามมิได้เสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์มาด้วย ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ก็มีอำนาจวินิจฉัยในคดีส่วนแพ่ง

(หมายเหตุ 1 คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานฉ้อโกง ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง และให้จำเลยชำระเงินคืนแก่โจทก์

2 ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องในคดีส่วนแพ่งใหม่

3 โจทก์ฎีกาว่า จำเลยทั้งสามอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นในคดีส่วนแพ่ง แต่จำเลยทั้งสามมิได้วางค่าฤชาธรรมเนียมที่เป็นค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ในคดีส่วนแพ่ง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 149 จึงไม่ชอบที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยในคดีส่วนแพ่ง ถือได้ว่าจำเลยทั้งสามมิได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีส่วนแพ่ง คดีในส่วนแพ่งถือว่าถึงที่สุดแล้ว

4 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้จำเลยทั้งสามมิได้เสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์มาด้วยตามที่โจทก์ฎีกามาก็ตาม ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ก็มีอำนาจวินิจฉัยคดีส่วนแพ่งได้ และมีคำวินิจฉัยข้างต้น)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

นายกสภาทนายความ ได้เดินทางไปให้กำลังใจแก่ทนายความอาสาซึ่งได้ไปปฏิบัติหน้าที่ในการนั่งให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมายแก่ประชาชน

เมื่อวันเสาร์ที่ 27 กรกฎาคม 2567 เวลา 9.00 น. ที่ วัดยาง พระอารามหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร : ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ มอบหมายให้นายสุนทร พยัคฆ์ เลขาธิการสภาทนายความ เป็นประธานร่วมพิธีเปิดโครงการน้ำพระทัยพระราชทานสาธารณะสุขเพื่อชุมชน เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา

โดยหน่วยงานที่ร่วมจัดกิจกรรม มีดังนี้ได้แก่มูลนิธิสมาคมสตรีอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย ทันตกรรมจิตอาสา บุญญานุภาพ สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ วิทยาลัยสารพัดช่างธนบุรี โรงพยาบาลมหาชัย พร้อมแพทย์จังหวัดราชบุรี สำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักงานเขตสวนหลวง และแพทย์แผนไทย

ต่อมาเมื่อเวลา 13.00 น. ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ได้เดินทางไปให้กำลังใจแก่ทนายความอาสาซึ่งได้ไปปฏิบัติหน้าที่ในการนั่งให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมายแก่ประชาชนที่มาร่วมงานในครั้งนี้จำนวนมาก

 

สภาทนายความ ช่วย ผู้เอาประกันโควิด เจอ (ไม่) จ่าย จบ

 

เมื่อวันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม 2567 เวลา 11.30 น. ณ ห้องประชุมชั้น 5 สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ : ผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบจากบริษัทประกัน COVID – 19 กว่า 200 คน เดินทางมาที่สภาทนายความเพื่อขอความช่วยเหลือทางกฎหมายจากสภาทนายความและหาทางออกให้แก่ผู้เสียหาย โดยเฉพาะเรื่องแหล่งเงินเยียวยาและเอกสารเพื่อยืนยันตัวตนของผู้เสียหาย

โดยมี ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ในฐานะประธานคณะทำงานให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน กรณีไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการทำสัญญาประกันภัย COVID – 19 นายสมพร ดำพริก อุปนายกฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย นายวีรศักดิ์ โชติวานิช อุปนายกฝ่ายเทคโนโลยีและสารสนเทศ กรรมการประชาสัมพันธ์และรองเลขาธิการ นายสุชาติ ชมกุล อุปนายกฝ่ายกิจการพิเศษ เป็นผู้รับเรื่อง โดยสภาทนายความจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเจรจากับหน่วยงานและส่วนงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยแก้ปัญหาให้แก่ผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบจากบริษัทประกัน COVID – 19

ทั้งนี้ผู้เสียหายจากประกันโควิด-19 ทั้งหมดที่มาในวันนี้ ได้ร่วมลงรายชื่อเพื่อขอความช่วยเหลือทางกฎหมายจากสภาทนายความ และประสงค์จะขอเจรจากับกระทรวงการคลังและนายกรัฐมนตรีในการร่วมกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อไป

ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ครั้งที่ 16

 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคม 2567 เวลา 13.00 น. ที่ห้องประชุมกรรมาธิการ CA 308 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา : ดร.วิเชียร ชุบไธสง ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการ ร่วมประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ครั้งที่ 16

โดยมี รศ.ชูศักดิ์ ศิรินิล เป็นประธานกรรมาธิการ

นายกสภาทนายความ ได้เดินทางไปร่วมฟังสวดพระอภิธรรม นายแสง ตามจิตเจริญ (ทนายความอาสา)

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคม 2567 เวลา 18.00 น. ที่ วัดราษฎร์บำรุง ซ.เพชรเกษม 69 แขวงหลักสอง เขตบางแค กรุงเทพมหานคร : ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ได้เดินทางไปร่วมฟังสวดพระอภิธรรม นายแสง ตามจิตเจริญ (ทนายความอาสา)

ขอให้ดวงวิญญาณของนายแสง ตามจิตเจริญ จงสู่สุคติ ในสัมปรายภพ ตราบนิรันดร์

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3333.คำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1994/2566 (เล่ม 7 หน้า 71) คณะอนุญาโตตุลาการรับฟังพยานหลักฐานแล้ววินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า ข้อตกลงระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้านดังกล่าวมิใช่สัญญาซื้อขายเสร็จ เด็ดขาด แต่เป็นเพียงสัญญาจะซื้อจะขายที่สามารถเรียกร้องและบังคับกันได้ระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้าน ส่วนการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบที่กฎหมายกำหนดอันจะมีผลใช้ยันบุคคลภายนอกนั้น ก็เป็นเรื่องที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านต้องไปดำเนินการ ให้เป็นไปตามกฎหมาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป ไม่ใช่ประเด็นที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาด ดังนั้น คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในส่วนที่ว่า สัญญาระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้านเป็นสัญญาซื้อขายที่ดิน เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตกเป็นโมฆะ จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการวินิจฉัยเจตนาของผู้ร้อง และผู้คัดค้านในขณะทำสัญญาอันเป็นปัญหาข้อเท็จจริง และเป็นอำนาจของอนุญาโตตุลาการซึ่งศาลจะแทรกแซงโดยเข้ามาตรวจสอบการใช้ดุลพินิจของคณะอนุญาโตตุลาการ แก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือทำลายคำชี้ขาดไม่ได้ เว้นแต่กฎหมายให้อำนาจไว้อย่างชัดแจ้ง เพราะมิฉะนั้นแล้วระบบอนุญาโตตุลาการย่อมไม่อาจบรรลุผลสมดังเจตนารมณ์ของกฎหมาย ที่ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำชี้ขาดเฉพาะส่วนที่ผู้คัดค้านมีกรรมสิทธิ์เหนือวิลล่า 16 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย

(หมายเหตุ 1 ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการการก่อสร้าง ผู้ลงทุน และนายหน้า สำหรับสิทธิในการครอบครองบ้านพัก และห้องชุดในโครงการของผู้ร้อง

2 เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2559 ผู้ร้องมีหนังสือถึงผู้คัดค้านเพื่อเสนอให้ผู้คัดค้านมีสิทธิซื้อแปลงที่ดินวิลล่า 16 ในราคา 1 บาท และมีข้อตกลงว่า ข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับข้อตกลงนี้ซึ่งไม่สามารถตกลงกันได้ให้ระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ

3 หลังจากนั้น ผู้คัดค้านใช้เงินส่วนตัวสร้างบ้านพักหมายเลข 16 บนที่ดินดังกล่าวจนเสร็จ แล้วทำสัญญาขายบ้านพักดังกล่าวไป โดยผู้ซื้อชำระเงินไปแล้วร้อยละ 50

4 ผู้ร้องติดต่อผู้ซื้อให้ลงนามในสัญญาซื้อขายบ้านพักใหม่แทนสัญญาเดิมกับผู้ร้อง และให้โอนเงินส่วนที่เหลือ เข้าบัญชีของผู้ร้อง

5 วันที่ 15 สิงหาคม 2561 ผู้คัดค้านยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม

6 คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดโดยวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานรับฟังได้ว่า ผู้คัดค้านได้สนองรับคำเสนอของผู้ร้องในการขายที่ดินดังกล่าวแล้ว และผู้คัดค้านลงทุนก่อสร้างและตกแต่งบ้านพักหมายเลข 16 หรือวิลล่า 16 ให้ผู้คัดค้าน มีกรรมสิทธิ์เหนือวิลล่า 16

7 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ

8 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการตามคำร้องขอเฉพาะส่วนที่ผู้เสนอข้อพิพาทมีกรรมสิทธิ์เหนือวิลล่า 16

9 ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยดังกล่าวข้างต้น โดยพิพากษากลับให้ยกคำร้องของผู้ร้อง)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

สถาบันพัฒนาวิชาชีพทนายความ เปิดอบรมโครงการทนายพี่เลี้ยง รุ่นที่ 18

สถาบันพัฒนาวิชาชีพทนายความ เปิดอบรบโครงการทนายพี่เลี้ยง รุ่นที่ 18

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคม 2567 เวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุม ชั้น 4 สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ : ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ เป็นประธานพิธีเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการในโครงการทนายพี่เลี้ยง รุ่นที่ 18 เรื่อง “การเพิ่มทักษะการว่าความให้ทนายความใหม่ การร่างคำฟ้องคดีร่วมกันปล้นทรัพย์ กระบวนพิจารณาในคดีอาญาและศิลปะการถามความ จัดทำคำให้การ การยื่นคำร้อง และการจัดทำเอกสารต่างๆ” โดยมี ดร.วิรัลพัชร เวธทาวริทธิ์ธร อุปนายกฝ่ายวิชาการ เป็นผู้กล่าวรายงาน นายสยุม ไกรทัศน์ กรรมการฝ่ายวิชาการ เป็นผู้ดำเนินรายการ

นอกจากนี้ ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ยังให้เกียรติเป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ “สอบถามรายละเอียดข้อเท็จจริง การดำเนินคดีร่วมกันปล้นทรัพย์ กระบวนพิจารณาในคดีอาญา และศิลปการถามความ” และ “จัดทำคำให้การ การร่างคำฟ้องร่วมกันปล้นทรัพย์ กระบวนพิจารณาในคดีอาญา และศิลปการถามความ การยื่นคำร้อง และการจัดทำเอกสารต่าง ๆ” มีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากคณะกรรมการฝ่ายวิชาการทนายความ และผู้มีความเชี่ยวชาญด้านคดีความอีกจำนวนมากมาช่วยอำนวยความสะดวกการอบรมในครั้งนี้

รับมอบรถเข็นวีลแชร์ จำนวน 2 คัน เพื่อให้กับคนพิการ

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคม 2567 เวลา 8.30 น. ณ สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ รับมอบรถเข็นวีลแชร์ จำนวน 2 คัน จากนายพิชัย วรินทรเวช ตัวแทนศิษย์เก่าโรงเรียนวัดราชบพิธ รุ่นที่ 102 และคณะกรรมการสวัสดิการทนายความผู้พิการ สภาทนายความ เพื่อให้สภาทนายความนำไปช่วยเหลือสมาชิกทนายความและสมาชิกในครอบครัวที่เป็นผู้พิการ

ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ กล่าวขอบคุณสำหรับรถเข็นวีลแชร์ จำนวน 2 คัน โดยจะได้นำไปมอบให้สมาชิกทนายความและสมาชิกในครอบครัวที่เป็นผู้พิการ เพื่อใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน อันเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมและสนับสนุนการทำงานด้านสวัสดิการและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับสมาชิกทนายความ ภายใต้แนวคิด “ไม่มีใครรักเราเท่าเรารักกัน”

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ

3332.ข้ออุทธรณ์คำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2987/2566 พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง บัญญัติห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ (1) การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน (2) คำสั่งหรือคำพิพากษานั้นฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน (3) คำสั่งหรือคำพิพากษานั้นไม่ตรงกับคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ (4) ผู้พิพากษาหรือตุลาการซึ่งพิจารณาคดีนั้นได้ทำความเห็นแย้งไว้ในคำพิพากษา หรือ (5) เป็นคำสั่งเกี่ยวด้วยการใช้วิธีการชั่วคราวเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของคู่พิพาทตามมาตรา 16 คดีนี้ คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยในคำชี้ขาดว่า ผู้ร้องมิได้นำสืบให้ฟังได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้ เพียงแต่นำสืบว่าผู้ร้องเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถตามคำสั่งศาลเท่านั้น และคำสั่งศาลดังกล่าวก็มีคำสั่งหลังจากผู้ตายถึงแก่ความตายถึง 1 ปีเศษ อีกทั้งเหตุแห่งการเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถก็เป็นเพราะความบกพร่องทางจิต คือเป็นคนไอคิวต่ำเท่านั้น มิใช่เหตุทุพพลภาพแต่อย่างใด นอกจากนี้ข้อเท็จจริงยังปรากฏด้วยว่า ผู้ร้องเคยมีสามีและเคยมีบุตรมาแล้ว 3 คน อันเป็นข้อสนับสนุนได้อีกข้อหนึ่งว่า ผู้ร้องมิได้เป็นผู้ทุพพลภาพ ส่วนข้อที่อ้างว่าขณะที่ผู้ตายยังมีชีวิตอยู่เคยให้การอุปการะเลี้ยงดูผู้ร้องนั้น ก็ไม่มีพยานหลักฐานใดมาแสดงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้ จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าขาดไร้อุปการะ การที่ผู้ร้องอุทธรณ์โต้แย้งว่า ทางนำสืบในชั้นอนุญาโตตุลาการผู้ร้องอ้างใบรับรองแพทย์ว่าผู้ร้องหย่อนกำลังความสามารถที่จะประกอบการงานได้ตามปกติ แพทย์ได้ให้ความเห็นว่าผู้ร้องมีความสามารถทางเชาวน์ปัญญาอยู่ระดับปัญญาอ่อน ไอคิวเท่ากับ 65 เทียบเท่ากับอายุ 9 ปี มีพยาธิทางสมอง และสภาพจิตใจในลักษณะการรับรู้ความเป็นจริงไม่เหมาะสม มีปัญหาการตัดสินใจและการปรับตัว จำเป็นต้องมีผู้ดูแลในการดำเนินชีวิต มีความบกพร่องในการวางแผนการตัดสินใจ การรับรู้ความเป็นจริง ถูกชักจูงใจได้ง่าย สามารถทำกิจวัตรประจำวันขั้นปกติได้ กิจกรรมที่มีความซับซ้อนต้องมีผู้ช่วยเหลือดูแล ความเห็นแพทย์ดังกล่าวจึงแสดงให้เห็นชัดแล้วว่าผู้ร้องเป็นผู้หย่อนความสามารถที่จะประกอบการงานตามปกติได้ จึงไม่อาจหาเลี้ยงตนเองได้ตามปกติ แต่คณะอนุญาโตตุลาการมิได้หยิบยกใบรับรองแพทย์ซึ่งเป็นสาระสำคัญในการวินิจฉัยว่าผู้ร้องเป็นผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้ขึ้นพิจารณา จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน อุทธรณ์ของผู้ร้องดังกล่าวเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นอ้างเพื่อโต้แย้งการวิเคราะห์พยานหลักฐานและดุลพินิจในการวินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานในสำนวนของคณะอนุญาโตตุลาการ เพื่อให้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าผู้ร้องเป็นผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้ โดยไม่ปรากฏว่ามีการวินิจฉัยผิดจากวิธีพิจารณาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด การที่คณะอนุญาโตตุลาการจะหยิบยกหลักฐานใดขึ้นวินิจฉัยภายในขอบเขตของกฎหมายและสัญญาที่พิพาทกัน ย่อมกระทำได้โดยชอบ อุทธรณ์ของผู้ร้องจึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ข้อยกเว้นตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง (1) ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์

(หมายเหตุ 1 ผู้คัดค้านเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการรับประกันวินาศภัยทุกประเภท

2 ผู้ร้องยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เรียกร้องให้ผู้คัดค้านชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเป็นค่าขาดไร้อุปการะ จำนวน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย จากเหตุที่นาง ร. มารดาของผู้ร้อง ถูกรถยนต์ซึ่งผู้คัดค้านรับประกันภัยไว้เฉี่ยวชน เป็นเหตุให้นาง ร. ถึงแก่ความตาย

3 ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า หลังเกิดเหตุทายาทผู้ตายได้รับเงินตามคำสั่งของนายทะเบียนไปแล้ว และผู้ร้องมิได้เป็นผู้ทุพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้ จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าขาดไร้อุปการะ

4 ต่อมาคณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดว่า ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าขาดไร้อุปการะในกรณีที่ผู้ตายถูกทำละเมิดถึงแก่ความตาย และมีคำชี้ขาดให้ยกคำเสนอข้อพิพาทของผู้ร้อง

5 ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยข้างต้น โดยพิพากษายกอุทธรณ์ของผู้ร้อง)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

นายกสภาทนายความชี้แจงคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ปี 2568 

นายกสภาทนายความชี้แจงคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ปี 2568 

 

เมื่อวันพุธที่ 24 กรกฎาคม 2567 เวลา 13.00 น. ที่ห้องประชุมกรรมาธิการ CB 406 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา : ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ได้เข้าร่วมชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ซึ่งสภาทนายความขอรับการสนับสนุนเป็นเงินอุดหนุนจากรัฐบาลผ่านกระทรวงยุติธรรม เพื่อขับเคลื่อนงานแผนปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมในแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ ตามรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2560 ซึ่งปีงบประมาณนี้จะได้รับงบประมาณเพิ่มประมาณ 20 ล้านบาท