สภาทนายความและคณะกรรมการสภาทนายความจังหวัดภูเก็ต ตั้งโต๊ะขอรับความช่วยเหลือทางกฎหมายกรณีเกิดภัยพิบัติ กับผู้ได้รับผลกระทบจากดินสไลด์และน้ำไหลท่วม มีประชาชนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต

เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2567

ที่ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย วัดกิตติสังฆาราม ตำบลกะรน อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ มอบหมายให้นางรุ่งนภา พุฒแก้ว ประธานสภาทนายความจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยนายมนชัย ตาดทอง รองประธานสภาทนายความจังหวัดภูเก็ต คณะกรรมการสภาทนายความจังหวัดภูเก็ต และทนายความจังหวัดภูเก็ต เดินทางไปให้คำปรึกษาและรับเรื่องขอรับความช่วยเหลือทางกฎหมายเบื้องต้นกรณีเกิดภัยพิบัติ จาก ดินสไลด์และน้ำไหลท่วมลงพื้นที่ตำบลกะรน มีผู้เสียชีวิต 13 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 11 ราย และบ้านเรือนได้รับความเสียหายประมาณ 200 หลังคาเรือน

ในการนี้ทางสภาทนายความจังหวัดภูเก็ตได้นำอาหารขนมจีน น้ำดื่มและผลไม้มามอบให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ซึ่งมีประชาชนที่เป็นเจ้าของบ้านเรือน ที่ถูกดินและหินสไลด์ลงมาทำให้บ้านพังเสียหาย โดยมีญาติของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บมาปรึกษาและขอความช่วยเหลือทางกฎหมายเป็นจำนวน 10 ราย โดยนอกจากนี้ยังมีประชาชนผู้ได้รับความเสียหายรวมทั้งญาติชาวต่างชาติแจ้งความประสงค์ผ่านผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และผู้บริหารท้องถิ่นเทศบาลตำบลกะรนว่าจะมาขอความช่วยเหลือซึ่งทางสภาทนายความจังหวัดภูเก็ตจะไปให้คำปรึกษาและรับคำขอการช่วยเหลือทางกฎหมายต่อไปในวันที่ 29 สิงหาคม 2567 เวลา 11.00 – 14.00 น. ณ ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย วัดกิตติสังฆาราม กะตะ ตำบลกะรน อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3366.ชักชวนให้ร่วมลงทุนโดยโฆษณาผ่านเว๊บไซด์ในประเทศไทย เป็นการกระทำความผิดในราชอาณาจักร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1172/2566 นอกจากคดีมีปัญหาวินิจฉัยในชั้นฎีกาตามฎีกาของโจทก์และจำเลยทั้งสองในข้อกฎหมายแล้ว ปัญหาตามฎีกาของของจำเลยที่ 1 ที่ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และฐานร่วมกันประกอบธุรกิจเงินทุนโดยมิได้รับอนุญาตหรือไม่ เป็นปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับปัญหาตามฎีกาของโจทก์ที่ฎีกาว่า สามารถลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และฐานร่วมกันประกอบธุรกิจเงินทุนโดยมิได้รับอนุญาตตามกฎหมายไทยได้หรือไม่ ศาลฎีกาจึงสามารถยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยได้ คดีจึงมีปัญหาวินิจฉัยในชั้นฎีกาตามฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และฐานร่วมกันประกอบธุรกิจเงินทุนโดยมิได้รับอนุญาต

การที่จำเลยที่ 1 โดย ก. โฆษณาชักชวนโจทก์ร่วมทั้งยี่สิบหกให้ร่วมลงทุนโดย ก. เดินทางไปโฆษณาชักชวนและจัดสัมมนาบรรยายแผนการลงทุนที่ประเทศญี่ปุ่น ผ่านทางโบรชัวร์โฆษณาการลงทุนและผ่านทางเว็บไซต์ managedsavings.com การโฆษณาชักชวนให้ร่วมลงทุนผ่านทางเว็บไซต์ดังกล่าวซึ่งเปลี่ยนที่อยู่จากประเทศสิงคโปร์เป็นประเทศไทยขณะเกิดเหตุ โดยใช้เว็บไชต์ซึ่งมีที่อยู่ในประเทศไทยเป็นสื่อนำเสนอข้อมูลในการโฆษณาชักชวน จึงเป็นการกระทำในราชอาณาจักร เมื่อการโฆษณาชักชวนผ่านทางเว็บไซต์ดังกล่าวที่เป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดได้กระทำในราชอาณาจักร ถือว่าความผิดนั้นได้กระทำในราชอาณาจักร จึงต้องรับโทษตามกฎหมาย ตาม ป.อ. มาตรา 4 วรรคหนึ่ง และมาตรา 5 วรรคหนึ่ง

พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 3 กำหนดความผิดมูลฐานไว้ 21 ประการ ตาม (1) ถึง (21) โดย (3) กำหนดให้ความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญาหรือความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน เป็นความผิดมูลฐานประการหนึ่ง โดยความผิดอาญาตามความผิดมูลฐานทั้งยี่สิบเอ็ดประการเป็นมูลเหตุ เป็นที่มา หรือเป็นฐานก่อให้เกิดหรือให้ได้มาซึ่งเงินหรือทรัพย์สินจากการกระทำความผิด จึงได้มีการกำหนดเป็นความผิดหลักไว้เพื่อเชื่อมโยงในการนำเอากฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินไปใช้บังคับเท่านั้น ดังจะเห็นได้จาก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ไม่ได้กำหนดให้ต้องมีการดำเนินคดีในความผิดมูลฐานหรือมีคำพิพากษาลงโทษผู้กระทำความผิดมูลฐานก่อน จึงจะดำเนินคดีฐานฟอกเงินได้ ความผิดฐานฟอกเงินจึงแยกต่างหากจากความผิดมูลฐาน แม้ความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนที่เป็นความผิดมูลฐานจะขาดอายุความ ไม่อาจลงโทษจำเลยทั้งสองได้ เมื่อความผิดฐานฟอกเงินไม่จำต้องอาศัยความผิดมูลฐานเป็นเงื่อนไขในการดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิดฐานฟอกเงิน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันฟอกเงิน

(หมายเหตุ 1 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การแจ้งข้อหา การสอบปากคำ และการทำความเห็นควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องเป็นขั้นตอนของการสอบสวน การแจ้งข้อหาและการสอบปากคำผู้ต้องหาตาม ป.วิ.อ.มาตรา 134 กำหนดให้เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะดำเนินการ แต่หาได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนทุกคนหรือผู้ที่มีหน้าที่สอบสวนทุกคนต้องอยู่ร่วมกันในขณะแจ้งข้อหาหรือสอบปากคำผู้ต้องหา การที่นาย ค. พนักงานอัยการที่อัยการสูงสุดมอบหมายให้ทำการสอบสวนร่วมกับพนักงานสอบสวนไม่ได้อยู่ร่วมในขณะแจ้งข้อหาและสอบปากคำจำเลยที่ 1 จึงไม่ทำให้การสอบสวนเสียไป)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3365.สิทธิในการอุทธรณ์คดีที่รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5161/2566 เมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาคดีที่รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่แล้วพิพากษายกคำพิพากษาเดิมและพิพากษาใหม่เป็นยกฟ้องตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 13 (1) แล้ว สิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกาคำพิพากษาใหม่ดังกล่าวต้องพิจารณาตามมาตรา 15 ซึ่งบัญญัติว่า “เมื่อศาลได้มีคำพิพากษาอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา 13 แล้ว พนักงานอัยการผู้ร้องหรือโจทก์ในคดีเดิมซึ่งเป็นคู่ความมีสิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาได้ดังนี้ (1) ถ้าคำพิพากษานั้นเป็นคำพิพากษาของศาลชั้นต้น มีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษานั้นต่อศาลอุทธรณ์ คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในกรณีเช่นนี้ให้เป็นที่สุด…” ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาอย่างหนึ่งอย่างใดดังกล่าวแล้วคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ย่อมเป็นที่สุด จำเลยที่ 8 ไม่อาจฎีกาต่อไปได้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 8 มาจึงเป็นการไม่ชอบ อย่างไรก็ดี เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่าในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.2651/2560 ของศาลแขวงพระนครเหนือ ที่บริษัท พ. เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 8 คดีนี้ (คือจำเลยที่ 9 ในคดีดังกล่าว) กับพวก ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง ส่วนคดีนี้พนักงานอัยการโจทก์กล่าวหาว่า จำเลยที่ 8 ร่วมกับพวก กระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยบรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 8 กับพวก ร่วมกันกระทำความผิด 3 กรรม แม้การกล่าวข้อความหมิ่นประมาทจะกระทำขึ้นหลายคราวต่างวันต่างเวลาแต่การกระทำในแต่ละคราวมีเจตนามุ่งประสงค์ต่อผลอย่างเดียวกันคือ เพื่อให้บริษัท พ. หลงเชื่อและตกลงเข้าทำสัญญารับเหมาก่อสร้างกับส่งมอบเงินจำนวน 50 ล้านบาท ให้จำเลยที่ 8 กับพวก อันถือเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียว การกระทำของจำเลยที่ 8 กับพวก จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวมิใช่หลายกรรม เมื่อได้ความว่าคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.2651/2560 ของศาลแขวงพระนครเหนือนั้น ศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 8 ไปแล้วเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2560 ก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาคดีนี้เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2560 จึงเป็นกรณีที่การกระทำของจำเลยที่ 8 ศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) ถือเป็นเหตุตามกฎหมายที่จำเลยที่ 8 มิต้องรับโทษ และเป็นเหตุในลักษณะคดีซึ่งย่อมมีผลถึงผู้ร่วมกระทำความผิดทุกคน ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จะเป็นที่สุดตาม พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 15 (1) ทำให้คดีต้องห้ามฎีกา แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง, 215 และ 225 ทั้งเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมและให้สอดคล้องกับผลในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.2105/2561 และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.2618/2561 ของศาลชั้นต้น ที่โจทก์แยกฟ้องจำเลยอื่นตามคำสั่งศาลชั้นต้นและศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องเนื่องจากเป็นฟ้องช้ำซึ่งคดีถึงที่สุดไปแล้ว

(หมายเหตุ 1 คดีนี้เป็นกรณีที่คำพิพากษาถึงที่สุดในคดีเดิมที่จำเลยที่ 8 ขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่

2 ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีที่รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่แล้วพิพากษายกคำพิพากษาเดิมและพิพากษาใหม่เป็นยกฟ้องโจทก์

3 ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้บังคับโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 30 มิถุนายน 2560 (คำพิพากษาศาลชั้นต้นเดิม)

4 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกาคำพิพากษาใหม่ ต้องพิจารณาตามตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 15 คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในกรณีเช่นนี้ให้เป็นที่สุด จำเลยที่ 8 ไม่อาจฎีกาต่อไปได้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 8 มาจึงเป็นการไม่ชอบ

5 ศาลฎีกายังวินิจฉัยต่อไปว่า เมื่อมีเหตุตามกฎหมายที่จำเลยที่ 8 มิต้องรับโทษ และเป็นเหตุในลักษณะคดีซึ่งย่อมมีผลถึงผู้ร่วมกระทำความผิดทุกคน ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จะเป็นที่สุดตาม พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 15 (1) ทำให้คดีต้องห้ามฎีกา แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง, 215 และ 225)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3364.ยึดทรัพย์สินจำนองต้องกระทำภายในสิบปีนับแต่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 314/2567 (ประชุมใหญ่) ผู้รับจำนองซึ่งทรงทรัพยสิทธิจำนองย่อมมีสิทธิบังคับจำนองแม้หนี้ที่ประกันหรือสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความ เพียงแต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระเกินกว่าห้าปีไม่ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/27 และ 745 แต่บทบัญญัติดังกล่าวเป็นกฎหมายสารบัญญัติ เมื่อคดีเข้าสู่ศาล กระบวนพิจารณาก็ต้องบังคับตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. ดังนั้น เมื่อ ป.วิ.พ. ภาค 4 ลักษณะ 2 การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง มาตรา 274 บัญญัติให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องร้องขอให้บังคับคดีภายในสิบปีนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ซึ่งหมายถึงตั้งแต่มีคำพิพากษาของศาลชั้นที่สุดในคดีนั้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2543 ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ และจำเลยผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความตั้งแต่งวดแรกวันที่ 30 มิถุนายน 2543 ดังนี้ การร้องขอให้บังคับคดีโดยการยึดทรัพย์สินจำนองจึงต้องกระทำภายในสิบปีนับแต่วันที่จำเลยผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว โจทก์ยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ดำเนินการบังคับคดียึดทรัพย์สินจำนองของจำเลยล่วงพ้นระยะเวลาสิบปีนับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2543 แล้ว โจทก์จึงสิ้นสิทธิบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินจำนองของจำเลย อย่างไรก็ตาม ทรัพยสิทธิจำนองยังคงอยู่ และโจทก์สามารถใช้ยันต่อลูกหนี้จำนองหรือต่อบุคคลภายนอกที่รับโอนทรัพย์สินจำนองต่อไปได้

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

ดร.วิเชียร เป็นประธานในพิธีพระราชทานเพลิงศพ มารดาดร.เกรียงศักดิ์ พินทุสรศรี ประธานสภาทนายความพระโขนง

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 25 สิงหาคม 2567 เวลา 16.00 น. ที่วัดลานบุญ แขวงลาดกระบัง เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร : ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ได้เดินทางไปเป็นประธานในพิธีพระราชทานเพลิงศพของคุณแม่ฐิติกนกกรณ์ ธนพิพิธนารอด มารดาของ ดร.เกรียงศักดิ์ พินทุสรศรี ประธานสภาทนายความพระโขนง

 

ขอให้ดวงวิญญาณคุณแม่ฐิติกนกกรณ์ ธนพิพิธนารอด จงสู่สุคติในสัมปรายภพตราบนิรันดร์

 

นายกสภาทนายความ ร่วมงาน“จัดเลี้ยงอาหารโครงการน้ำพระทัยพระราชทาน และมอบเครื่องอุปโภค บริโภค แก่ผู้ต้องขังเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 25 สิงหาคม 2567 เวลา 10.00 น. ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และทัณฑสถานหญิงกลาง ถนนงามวงศ์วาน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร : ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ได้เดินทางไปร่วมงาน “จัดเลี้ยงอาหารโครงการน้ำพระทัยพระราชทาน และมอบเครื่องอุปโภค บริโภค แก่ผู้ต้องขังเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และผู้ต้องขังหญิงทัณฑสถานหญิงกลาง”

โดยมี พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี ร้อยตำรวจโท ดร.มนัส โนนุช ประธานสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย กล่าววัตถุประสงค์ นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวขอบคุณ และยังได้รับเกียรติจากผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม ผู้บริหารกรมราชทัณฑ์ และคณะกรรมการสภาสังคมสงเคราะห์ เข้าร่วมโครงการดังกล่าว

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3363.ไม่ได้ส่งประกาศขายทอดตลาดให้แก่ทายาทของลูกหนี้ตามคำพิพากษา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2836/2566 ที่ดินพิพาทมีชื่อ ป. ท. ส. จำเลยที่ 2 และ น. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมโดยเจ้าของรวมเหล่านั้นมิได้แบ่งการครอบครองที่ดินพิพาทเป็นส่วนสัด เมื่อ น. ถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทส่วนของ น. ย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมซึ่งมีผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 รวมอยู่ด้วย สำหรับที่ดินพิพาทส่วนของ ส. เมื่อ ส. ถึงแก่ความตายย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมซึ่งรวมถึงผู้ร้องที่ 4 ด้วย บุตรของ น. และ ส. ทุกคนจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีเช่นเดียวกับ น. และ ส. ผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาทอยู่แต่เดิม เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหน้าที่ต้องแจ้งประกาศการขายทอดตลาดให้ทายาททุกคนของ น. และ ส. ทราบ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 331 วรรคสอง และมาตรา 287 (4) การที่จำเลยที่ 2 ป. และ ท. ได้รับแจ้งประกาศขายทอดตลาดนั้นไม่อาจถือได้ว่าเป็นการรับแจ้งประกาศขายทอดตลาดแทนผู้ร้องทั้งสี่ด้วย เพราะมิใช่เป็นการใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1359 ทั้งไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติให้ทายาทของเจ้ามรดกที่ได้รับแจ้งข้อเท็จจริงใดให้ถือว่าเป็นการได้รับแจ้งแทนทายาทคนอื่นด้วย การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้แจ้งประกาศขายทอดตลาดให้ผู้ร้องทั้งสี่ทราบจึงเป็นการดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 331 วรรคสอง แม้การส่งหมายแจ้งประกาศขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีจะฝ่าฝืนต่อกฎหมาย แต่ความตอนท้ายมาตรา 295 วรรคสอง บัญญัติให้ศาลมีอำนาจสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขกระบวนวิธีการบังคับคดีทั้งปวงหรือวิธีการบังคับใด ๆ โดยเฉพาะหรือมีคำสั่งกำหนดวิธีการอย่างใดแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีตามที่ศาลเห็นสมควร ข้อเท็จจริงได้ความแต่เพียงว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้แจ้งประกาศขายทอดตลาดให้ผู้ร้องทั้งสี่ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียทราบ โดยไม่ปรากฏว่าผู้ร้องทั้งสี่จะสามารถหาบุคคลภายนอกมาประมูลซื้อที่ดินพิพาทในราคาสูงกว่าที่ผู้คัดค้านที่ 2 ประมูลซื้อได้ เมื่อที่ดินพิพาทมีราคาตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาไว้ 276,300 บาท ผู้คัดค้านที่ 2 ประมูลซื้อได้ในราคา 375,000 บาท สูงกว่าราคาประเมินดังกล่าว ประกอบกับจำเลยที่ 2 และผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมคนอื่นซึ่งได้รับหมายแจ้งประกาศขายทอดตลาดโดยชอบแล้วไม่มาดูแลการขาย จึงเป็นการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทในราคาที่เหมาะสมแล้ว กรณีไม่มีเหตุสมควรที่จะเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาท

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

นายกสภาทนายความ เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมโครงการปฏิรูปทนายความอาสา ทนายความขอแรง และที่ปรึกษากฎหมายของเด็กและเยาวชน จ.นครศรีธรรมราช

เมื่อวันเสาร์ที่ 24 สิงหาคม 2567 เวลา 08.30 – 17.30 น. ที่ห้องแก้วกัลยาแกรนด์บอลรูม โรงแรมเมืองลิกอร์ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช : ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมโครงการปฏิรูปทนายความอาสา ทนายความขอแรง และที่ปรึกษากฎหมายของเด็กและเยาวชน

โดยมี นายคำนวน โสมนิล ประธานสภาทนายความจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวต้อนรับ นายยุทธนา เนติศุภชีวิน กรรมการบริหารสภาทนายความภาค 8 กล่าวรายงาน นายไพบูลย์ แย้มเอม อุปนายกฝ่ายสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ เป็นผู้ดำเนินรายการ นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจาก นายสุทัศน์ หนูเดช ประธานสภาทนายความจังหวัดปากพนัง นายวัชรินทร์ เพ็ชรัตน์ ประธานสภาทนายความจังหวัดทุ่งสง นายกฤษฎิ์ สุดถนอม ประธานสภาทนายความจังหวัดเกาะสมุย นายวันชัย บุญฤทธิ์ ประธานสภาทนายความจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายเรืองเดช เติมทอง ประธานสภาทนายความจังหวัดเวียงสระ นางรุ่งนภา พุฒแก้ว ประธานสภาทนายความจังหวัดภูเก็ต นายอุดม ยกทอง ประธานสภาทนายความจังหวัดระนอง นายสรรเพชร ทิพย์มณเฑียร

ประธานสภาทนายความจังหวัดพังงา

ทั้งนี้ ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ให้เกียรติเป็นวิทยากรบรรยายหัวข้อ “ประมวลจริยธรรมและมรรยาททนายความของทนายความอาสา” “พระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ.2562” “พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565” นายสมพร ดำพริก อุปนายกฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย บรรยายหัวข้อ “บทบาททนายความอาสากับการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย” นายสัญญาภัชระ สามารถ อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ บรรยายหัวข้อ “ทนายความอาสากับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในคดีอาญา” ซึ่งมีทนายความในจังหวัดนครศรีธรรมราชและทนายความภาค 8 เข้าร่วมอบรมในครั้งนี้เป็นจำนวนมาก

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3362.ประวิงการขายทอดตลาดต้องใช้ค่าเสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4117/2566 (เล่ม 9 หน้า 141) แม้ผู้ร้องจะได้ยื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งความคืบหน้าของคดีที่ผู้ร้องเป็นผู้ประมูลซื้อทรัพย์ได้ไปยังภูมิลำเนาหรือสำนักงานที่ทำการใหม่ คือ เลขที่ 124 ซึ่งเป็น บ้านพักอาศัยของกรรมการและที่ตั้งของผู้ร้องตามหนังสือรับรองก็ตาม แต่ในคำร้องดังกล่าวผู้ร้องระบุอ้างแต่เพียงว่า มี เหตุขัดข้องได้การแจ้งให้ผู้ร้องทราบผลคดี ทำให้ทราบในระยะเวลากระชั้นชิดเท่านั้น มิได้ประสงค์ที่จะให้ที่อยู่ที่แจ้ง มาเป็นภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานแต่เพียงแห่งเดียวของผู้ร้องแต่อย่างใด กรณีจึงยังต้องถือว่าอาคารเลขที่ 13/47 เป็นภูมิลำเนาอีกแห่งหนึ่งของผู้ร้องตาม ป.พ.พ.มาตรา 69 การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีส่งประกาศขายทอดตลาดใหม่ครั้งที่ 2 ให้แก่ผู้ร้องที่อาคารเลขที่ 13/47 ดังกล่าว โดยวิธีปิดหมายจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ยึดเงินมัดจำ ศาลชั้นต้นเห็นว่ากรณีมีพยานหลักฐาน เบื้องต้นแสดงว่า คำร้องของผู้ร้องไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงให้ชักช้า จึงมีคำสั่งให้ผู้ร้องวางเงินหรือหลักประกัน เพื่อประกันความเสียหาย ผู้ร้องไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ศาลชั้นต้นจึงยกคำร้อง คำสั่งดังกล่าวย่อมเป็นที่สุด ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 296 วรรคห้า (เดิม) แต่ผู้ร้องกลับอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น ทั้งๆที่คำสั่งศาลชั้นต้นเป็นที่สุดแล้ว ซึ่งที่สุดแล้ว ศาลฎีกาได้มีคำสั่งไม่รับฎีกาและพิพากษายกฎีกา หลังจากนั้นผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดใหม่ ครั้งที่ 2 นัดวันที่ 20 ตุลาคม 2559 อีก แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน และศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ฎีกาและไม่รับฎีกาของผู้ร้อง พฤติการณ์ของผู้ร้องที่ดำเนินกระบวนพิจารณาดังกล่าวเป็นเหตุให้บริษัท ค. ผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดใหม่ครั้งที่ 2 ต้องขยายระยะเวลาวางเงินออกไปและไม่อาจนำเงินที่เหลือมาวางชำระต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี จึงทำให้เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่สามารถจ่ายเงินให้แก่โจทก์ได้ ดังนี้ ถือเป็นการประวิงให้ชักช้า โดยไม่มีมูล มีผลให้การขายทอดตลาดไม่เสร็จสิ้น และผู้ซื้อทรัพย์รายใหม่ไม่อาจชำระราคาทรัพย์พิพาทอันเป็นผลมาจากการกระทำของผู้ร้องได้ หาใช่เป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตไม่ และเมื่อก่อให้เกิดความเสียหายผู้ร้องจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

(หมายเหตุ 1 คดีนี้ โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน โดยอ้างว่าการกระทำของผู้ร้องเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เพราะผู้ร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดโดยไม่มีมูลและประวิงคดี โจทก์ต้องจ้างทนายความและเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีเป็นเงิน 255,809 บาท คิดค่าเสียหายโดยให้ผู้ร้องชดใช้เป็นดอกเบี้ยผิดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นเงินประมาณ 13 ล้านบาทเศษ

2 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์เรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเป็นดอกเบี้ย แต่โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่า หากได้รับชำระหนี้ดังกล่าวแล้ว โจทก์จะได้รับประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์หรือเงินฝากประจำที่ธนาคารพาณิชย์จ่ายให้แก่โจทก์ในอัตราเท่าใด อย่างไร จึงเห็นควรกำหนดค่าสินไหมทดแทนตัวนี้ให้โจทก์ 10 ล้านบาท

3 ส่วนค่าทนายความและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีพร้อมดอกเบี้ยนั้น โจทก์นำสืบใบเสร็จรับจ่ายเงินแต่บางรายการเป็นค่าใช้จ่ายแบบเหมารวม จึงควรกำหนดค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้ให้โจทก์เป็นเงิน 1 แสนบาท และศาลฎีกามีคำวินิจฉัยดังกล่าวข้างต้น)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849