นายกสภาทนายความ เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมโครงการปฏิรูปทนายความอาสา ทนายความขอแรง และที่ปรึกษากฎหมายของเด็กหรือเยาวชน ประจำปีงบประมาณ 2567 จังหวัดร้อยเอ็ด :

เมื่อวันเสาร์ที่ 31 สิงหาคม 2567 เวลา 08.30 – 17.30 น. ที่ห้องประดับดาว โรงแรมเพชรรัชต์การ์เด้น จังหวัดร้อยเอ็ด : ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมโครงการปฏิรูปทนายความอาสา ทนายความขอแรง และที่ปรึกษากฎหมายของเด็กหรือเยาวชน ประจำปีงบประมาณ 2567

โดยมี นายธเนศ ขามช่วง รองประธานสภาทนายความจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวต้อนรับ นายพิเชฐ คูหาทอง กรรมการบริหารสภาทนายความภาค 4 กล่าวรายงาน นายจีรศักดิ์ เอี่ยมดิลก ประธานสภาทนายความจังหวัดมหาสารคาม เป็นผู้ดำเนินรายการ ยังได้รับเกียรติจาก นายประภาส แสงสุกวาว ประธานสภาทนายความจังหวัดสกลนคร นายเกรียงศักดิ์ สุวพงษ์ รองกรรมการบริหารสภาทนายความภาค 4 นายชาติชาย จงสมชัย ประธานกรรมการสภาทนายความภาค 4 ประจำจังหวัดกาฬสินธุ์ และนายปรัตถกร เพ็งวิภาค ประธานกรรมการสภาทนายความภาค 4 ประจำจังหวัดร้อยเอ็ด

นอกจากนี้ ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ให้เกียรติเป็นวิทยากรบรรยายหัวข้อ “ประมวลจริยธรรมและมรรยาททนายความของทนายความอาสา” “พระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ.2562” “พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565” ดร.ชัยชีพ ชโลปถัมภ์ กรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย บรรยายหัวข้อ “บทบาททนายความอาสากับการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย” นายสัญญาภัชระ สามารถ อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ บรรยายหัวข้อ “ทนายความอาสากับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในคดีอาญา” ซึ่งมีทนายความในจังหวัดร้อยเอ็ดและทนายความภาค 4 เข้าร่วมอบรมในครั้งนี้เป็นจำนวนมาก

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3368.ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4084 – 4085/2566 การยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินของบุคคลตกเป็นของแผ่นดินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 อันเป็นกฎหมายที่กำหนดทั้งความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงินซึ่งมีโทษทั้งอาญาและมาตรการทางแพ่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน โดยความผิดอาญาและโทษทางอาญามุ่งบังคับแก่บุคคล ส่วนมาตรการทางแพ่งมุ่งบังคับแก่ตัวทรัพย์สินซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะป้องปรามไม่ให้มีการกระทำความผิดมูลฐาน เพราะถึงอย่างไรทรัพย์สินที่ได้มาหรือเกี่ยวกับการกระทำความผิดก็ไม่เป็นของผู้กระทำความผิด ผู้เกี่ยวข้องหรือผู้ใด เพื่อตัดวงจรการกระทำความผิดมิให้นำทรัพย์สินนั้นไปใช้สนับสนุนการก่ออาชญากรรมต่อไป ดังนั้น หากเพียงปรากฏว่ามีการกระทำความผิดมูลฐานเกิดขึ้น ไม่ว่าจะจับตัวผู้กระทำความผิดได้หรือไม่ หรือผู้กระทำความผิดถูกลงโทษหรือไม่ แต่มีทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกิดขึ้น และแม้เจ้าของหรือผู้รับโอนทรัพย์ไม่ได้ร่วมกระทำความผิดและไม่ได้ถูกฟ้อง ก็สามารถดำเนินมาตรการทางแพ่งแก่ตัวทรัพย์สินนั้นได้ เพราะเป็นมาตรการส่วนแพ่งในการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินที่เชื่อได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 3 มิใช่เป็นการดำเนินการเกี่ยวกับตัวบุคคลที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ดังนั้น พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 49 ได้บัญญัติมาตรฐานการสั่งคดีของพนักงานอัยการที่จะพิจารณาว่าจะยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินหรือไม่นั้น ย่อมมีเพียงการปรากฏเป็นที่เชื่อได้ว่าทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ตามบทนิยาม “ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด” ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 3 เท่านั้น โดยไม่จำต้องพิจารณาว่าเจ้าของทรัพย์สินเป็นผู้กระทำความผิดมูลฐานหรือไม่ โดยการสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเป็นอำนาจของศาล ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 51 ศาลต้องไต่สวนพยานหลักฐานจนเชื่อว่าทรัพย์สินนั้นเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ดังนี้ แม้จะมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องผู้คัดค้านที่ 1 แต่หากผู้ร้องเห็นว่าทรัพย์สินตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ผู้ร้องก็มีอำนาจยื่นคำร้องขอต่อศาลได้

เมื่อพิจารณา พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 50 วรรคหนึ่ง มาตรา 51 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม ประกอบกันแล้ว ย่อมหมายความว่า ผู้ที่อ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดินสามารถแยกออกได้เป็น 2 กรณี คือ กรณีที่ 1 ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 50 (1) หากเป็นผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องหรือไม่เคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงินมาก่อน จะต้องแสดงให้ศาลเห็นรวม 2 ประการ คือ ประการที่หนึ่ง ต้องแสดงว่าตนเป็นเจ้าของที่แท้จริง และประการที่สอง ต้องแสดงว่าทรัพย์สินนั้นไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด หรือตามมาตรา 50 (2) เป็นผู้รับโอนโดยสุจริตหรือมีค่าตอบแทน หรือได้มาโดยสุจริตและตามสมควรในทางศีลธรรมอันดีหรือในทางกุศลสาธารณะ และกรณีที่ 2 ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 51 วรรคสาม หากเป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงินมาก่อน กฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบรรดาทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือได้รับโอนมาโดยไม่สุจริต ทั้งการให้คำจำกัดความ “ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด” ตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงทำให้คำว่า ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นทรัพย์สินในคดีที่ศาลมีคำพิพากษาว่าเจ้าของทรัพย์สินเป็นผู้กระทำความผิดและถูกลงโทษเท่านั้น เพียงแต่หากปรากฎว่ามีการกระทำความผิดมูลฐานเกิดขึ้น ไม่ว่าจะจับกุมตัวผู้กระทำความผิดได้หรือไม่ หรือผู้กระทำความผิดจะถูกลงโทษหรือไม่ แต่มีทรัพย์สินเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น หรือเป็นทรัพย์สินอื่นที่ได้มาจากการจำหน่าย จ่าย โอนทรัพย์สินจากการกระทำดังกล่าวหรือเป็นดอกผลของทรัพย์สินจากการกระทำดังกล่าว ก็ถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดแล้ว

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

นายกสภาทนายความและคณะร่วมเป็นเจ้าภาพสวดอภิธรรม อดีต ส.ส.จังหวัดฉะเชิงเทรา อดีตสมาชิกวุฒิสภา อดีตนายกสภาทนายความ และอดีตประธานกรรมการมรรยาททนายความ

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม 2567 เวลา 19.00 น. ณ ศาลา 1 วัดกลางบางปะกง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา : สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ โดย ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ นายสุนทร พยัคฆ์ เลขาธิการสภาทนายความ นายสุชาติ ชมกุล อุปนายกฝ่ายกิจการพิเศษ นายสมพร ดำพริก อุปนายกฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย นายโอฬาร กุลวิจิตร กรรมการบริหารสภาทนายความ ภาค 9 นายชลิต ขวัญแก้ว กรรมการบริหารสภาทนายความ ภาค 2 นายมะโน ทองปาน รองประธานกรรมการมรรยาททนายความ นายอมร ไชยยงค์ กรรมการมรรยาททนายความ นายชัยวัฒน์ ศรีคชา ประธานสภาทนายความจังหวัดฉะเชิงเทรา นายวิทยา จงวรกุล ประธานคณะกรรมการงบประมาณและบัญชี และเจ้าหน้าที่สภาทนายความ ร่วมเป็นเจ้าภาพสวดอภิธรรมนายเกษม สรศักดิ์เกษม อดีต ส.ส.จังหวัดฉะเชิงเทรา อดีตสมาชิกวุฒิสภา อดีตนายกสภาทนายความ และอดีตประธานกรรมการมรรยาททนายความ ซึ่งมีทนายความร่วมงาน สวดพระอภิธรรม เป็นจำนวนมาก

และได้รับเกียรติจาก

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้เดินทางไปร่วมพิธีสวดพระอภิธรรมด้วย

สำหรับงานพิธีสวดพระอภิธรรม เริ่มตั้งแต่วันที่ 27 – 31 สิงหาคม 2567 เวลา 19.00 น. และพิธีพระราชทานเพลิงศพ ในวันอาทิตย์ที่ 1 กันยายน 2567 เวลา 16.00 น.

ชมรมแบดมินตัน สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ เข้าร่วมการแข่งขัน BADMINTON BACK INTERNATIONAL TOURNAMENT ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม 2567 เวลา 15.00 น. ที่ห้องประชุมชั้น 4 สภาทนายความ ถนนพหลโยธินกรุงเทพมหานคร ชมรมแบดมินตัน สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดแถลงข่าว ส่งตัวแทนนักกีฬาทนายความเข้าร่วมการแข่งขัน BADMINTON BACK INTERNATIONAL TOURNAMENT ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา

โดยมี ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ นายไพบูลย์ แย้มเอม อุปนายกฝ่ายสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ นายสุวิทย์ ดาราสิชฌน์ ประธานชมรมแบดมินตัน นายวสันต์ เอมรุจิ กรรมการและเลขานุการ ชมรมแบดมินตัน และนายทักขศิษฏ์ จิตติวาณิชย์ ผู้บริหาร บริษัทไอมาเน่ (ไทยแลนด์) จำกัด ร่วมแถลงข่าว

สำหรับการแข่งขัน BADMINTON BACK INTERNATIONAL TOURNAMENT ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา มีขึ้นระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม ถึงวันที่ 1 กันยายน 2567 โดยมีสภาทนายความประเทศกัมพูชา เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ซึ่งมีตัวแทนทนายความจากประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมแข่งขัน ได้แก่ ไทย กัมพูชา จีน ญี่ปุ่น อินเดีย ฮ่องกง และประเทศอื่น ๆ รวม 200 คน

ด้าน ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ กล่าวว่า ชมรมแบดมินตันสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ส่งตัวแทนทนายความไทยเข้าร่วมแข่งขัน ประเภทคู่ผสม ชายคู่ หญิงคู่ ประมาณ 10 -15 คู่ เพื่อมุ่งเน้นความรัก ความสามัคคี การสานสัมพันธ์ในหมู่เหล่าทนายความระหว่างประเทศต่าง ๆ อย่างไรก็ตามเชื่อมั่นว่าตัวแทนนักกีฬาทนายความไทยที่เข้าร่วมการแข่งขันในรายการต่าง ๆ จะคว้ารางวัลมาครองได

อนึ่งในการเดินทางขอทนายความไทยไปแข่งขันแบดมินตันที่กรุงพนมเปญในครั้งนี้ทุกคนออกค่าใช้จ่ายด้วยตนเอง พร้อมได้รับการสนับสนุนชุดเดินทางและชุดแข่งขันจากไอมาเน่

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ 

3367.วัคซีนพระราชทาน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1137/2566 (เล่ม 8 หน้า 55) การพิจารณาว่าข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่แพร่หลายซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่จะขอให้ศาลมีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ได้นั้น อาจเป็นเพียงกรณีที่ข้อมูลคอมพิวเตอร์อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามที่กำหนดไว้ในภาค 2 ลักษณะ 1 หรือลักษณะ 1/1 แห่ง ป. อ. ตามที่ พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 20(2) บัญญัติไว้โดยไม่จำต้องพิจารณาว่าข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นเป็นความผิดตามพระราชบัญญัตินี้หรือเป็นความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามที่กำหนดไว้ในภาค 2 ลักษณะ 1 หรือลักษณะ 1/1 แห่ง ป.อ. แล้วหรือไม่

การแสดงความเห็นด้วยข้อความตามข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เมื่อมีผู้เห็นถ้อยคำดังกล่าวแล้วได้ออกมาแสดง ความเห็นวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดหาวัคซีนของรัฐบาล การกระทำของผู้ที่ออกมา แสดงความเห็นดังกล่าว อาจเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามที่กำหนดไว้ในภาค 2 ลักษณะ 1 แห่ง ป.อ. ดังนั้น หากให้ข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้คัดค้านดังกล่าวแพร่หลายต่อไป อาจทำให้มีผู้ออกมาแสดงความเห็นที่อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรได้ กรณีจึงมีเหตุให้ระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ ดังกล่าว โดยไม่จำเป็นต้องพิจารณาว่า ถ้อยคำของผู้คัดค้านตามข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวเป็นการใช้เสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลโดยสุจริตหรือไม่ และเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรืออาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์แล้วหรือไม่

( หมายเหตุ 1 พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 20 บัญญัติว่า ในกรณีที่มีการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังต่อไปนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีอาจยื่นคำร้องพร้อมแสดงพยานหลักฐานต่อศาลที่มีเขตอำนาจ ขอให้มีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลาย หรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นออกจากระบบคอมพิวเตอร์ได้ (1) ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ (2) ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามที่กำหนดไว้ ในภาค 2 ลักษณะ 1 หรือลักษณะ 1/1 แห่งประมวลกฎหมายอาญา)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

สภาทนายเดินหน้า เรียกคณะทำงานคดีปลาหมอคางดำประชุมพิจารณาร่างคำฟ้องคดีปกครองและคดีแพ่งเตรียมยื่นฟ้อง 5 กันยายนนี้

เมื่อวันพุธที่ 28 สิงหาคม 2567 เวลา 9.30 น. ที่ห้องประชุมชั้น 4 สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ : ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ นายสัญญาภัชระ สามารถ อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ และว่าที่ รต.สมชาย อามีน ประธานคณะอนุกรรมการสิ่งแวดล้อมฝ่ายคดีและปฏิบัติการ สภาทนายความ พร้อมด้วยคณะทำงานสำนักงานสิ่งแวดล้อมและสำนักงานคดีปกครอง ให้ความช่วยเหลือ กรณีการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ได้ร่วมประชุมในการพิจารณาร่างคำฟ้องคดีปกครองและคดีแพ่ง ซึ่งในวันนี้ได้ข้อสรุปได้เกี่ยวกับสำนวนทั้งคดีแพ่งและคดีปกครองและกำหนดจะยื่นฟ้องในวันที่ 5 กันยายน 2567 โดยฟ้องและคดีแพ่งและคดีปกครองในวันเดียวกัน

 

สภาทนายความประชุมเพื่อช่วยเหลือทางกฎหมาย กรณีถูกบริษัทเอกชนชักชวนด้วยการโฆษณาผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย โดยใช้บุคคลมีชื่อเสียงให้ประชาชนลงทุนธุรกิจผลิตเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ซื้อหุ้นและจ่ายเงินปันผล ทำให้กลุ่มผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินเข้าบัญชีของบริษัท

ประชุมช่วยเหลือทางกฎหมาย กรณีนางอภันตรี เจริญศักดิ์ และกลุ่มผู้เสียหาย ครั้งที่ 3/2567

เมื่อวันพุธที่ 28 สิงหาคม 2567 เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุม 2 ชั้น 3 สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการรับผิดชอบให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย นางอภันตรี เจริญศักดิ์ และกลุ่มผู้เสียหาย จำนวน 299 ราย ครั้งที่ 3/2567 โดยมีนายสุชาติ ชมกุล อุปนายกฝ่ายกิจการพิเศษ และรองประธานคณะอนุกรรมการฯ พร้อมด้วยคณะอนุกรรมการ เข้าร่วมประชุมพิจารณาให้ความช่วยเหลือ กรณีถูกบริษัทเอกชนชักชวนด้วยการโฆษณาผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย โดยใช้บุคคลมีชื่อเสียงให้ประชาชนลงทุนธุรกิจผลิตเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ซื้อหุ้นและจ่ายเงินปันผล ทำให้กลุ่มผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินเข้าบัญชีของบริษัท

สภาทนายความและคณะกรรมการสภาทนายความจังหวัดภูเก็ต ตั้งโต๊ะขอรับความช่วยเหลือทางกฎหมายกรณีเกิดภัยพิบัติ กับผู้ได้รับผลกระทบจากดินสไลด์และน้ำไหลท่วม มีประชาชนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต

เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2567

ที่ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย วัดกิตติสังฆาราม ตำบลกะรน อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ มอบหมายให้นางรุ่งนภา พุฒแก้ว ประธานสภาทนายความจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยนายมนชัย ตาดทอง รองประธานสภาทนายความจังหวัดภูเก็ต คณะกรรมการสภาทนายความจังหวัดภูเก็ต และทนายความจังหวัดภูเก็ต เดินทางไปให้คำปรึกษาและรับเรื่องขอรับความช่วยเหลือทางกฎหมายเบื้องต้นกรณีเกิดภัยพิบัติ จาก ดินสไลด์และน้ำไหลท่วมลงพื้นที่ตำบลกะรน มีผู้เสียชีวิต 13 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 11 ราย และบ้านเรือนได้รับความเสียหายประมาณ 200 หลังคาเรือน

ในการนี้ทางสภาทนายความจังหวัดภูเก็ตได้นำอาหารขนมจีน น้ำดื่มและผลไม้มามอบให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ซึ่งมีประชาชนที่เป็นเจ้าของบ้านเรือน ที่ถูกดินและหินสไลด์ลงมาทำให้บ้านพังเสียหาย โดยมีญาติของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บมาปรึกษาและขอความช่วยเหลือทางกฎหมายเป็นจำนวน 10 ราย โดยนอกจากนี้ยังมีประชาชนผู้ได้รับความเสียหายรวมทั้งญาติชาวต่างชาติแจ้งความประสงค์ผ่านผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และผู้บริหารท้องถิ่นเทศบาลตำบลกะรนว่าจะมาขอความช่วยเหลือซึ่งทางสภาทนายความจังหวัดภูเก็ตจะไปให้คำปรึกษาและรับคำขอการช่วยเหลือทางกฎหมายต่อไปในวันที่ 29 สิงหาคม 2567 เวลา 11.00 – 14.00 น. ณ ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย วัดกิตติสังฆาราม กะตะ ตำบลกะรน อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3366.ชักชวนให้ร่วมลงทุนโดยโฆษณาผ่านเว๊บไซด์ในประเทศไทย เป็นการกระทำความผิดในราชอาณาจักร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1172/2566 นอกจากคดีมีปัญหาวินิจฉัยในชั้นฎีกาตามฎีกาของโจทก์และจำเลยทั้งสองในข้อกฎหมายแล้ว ปัญหาตามฎีกาของของจำเลยที่ 1 ที่ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และฐานร่วมกันประกอบธุรกิจเงินทุนโดยมิได้รับอนุญาตหรือไม่ เป็นปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับปัญหาตามฎีกาของโจทก์ที่ฎีกาว่า สามารถลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และฐานร่วมกันประกอบธุรกิจเงินทุนโดยมิได้รับอนุญาตตามกฎหมายไทยได้หรือไม่ ศาลฎีกาจึงสามารถยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยได้ คดีจึงมีปัญหาวินิจฉัยในชั้นฎีกาตามฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และฐานร่วมกันประกอบธุรกิจเงินทุนโดยมิได้รับอนุญาต

การที่จำเลยที่ 1 โดย ก. โฆษณาชักชวนโจทก์ร่วมทั้งยี่สิบหกให้ร่วมลงทุนโดย ก. เดินทางไปโฆษณาชักชวนและจัดสัมมนาบรรยายแผนการลงทุนที่ประเทศญี่ปุ่น ผ่านทางโบรชัวร์โฆษณาการลงทุนและผ่านทางเว็บไซต์ managedsavings.com การโฆษณาชักชวนให้ร่วมลงทุนผ่านทางเว็บไซต์ดังกล่าวซึ่งเปลี่ยนที่อยู่จากประเทศสิงคโปร์เป็นประเทศไทยขณะเกิดเหตุ โดยใช้เว็บไชต์ซึ่งมีที่อยู่ในประเทศไทยเป็นสื่อนำเสนอข้อมูลในการโฆษณาชักชวน จึงเป็นการกระทำในราชอาณาจักร เมื่อการโฆษณาชักชวนผ่านทางเว็บไซต์ดังกล่าวที่เป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดได้กระทำในราชอาณาจักร ถือว่าความผิดนั้นได้กระทำในราชอาณาจักร จึงต้องรับโทษตามกฎหมาย ตาม ป.อ. มาตรา 4 วรรคหนึ่ง และมาตรา 5 วรรคหนึ่ง

พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 3 กำหนดความผิดมูลฐานไว้ 21 ประการ ตาม (1) ถึง (21) โดย (3) กำหนดให้ความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญาหรือความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน เป็นความผิดมูลฐานประการหนึ่ง โดยความผิดอาญาตามความผิดมูลฐานทั้งยี่สิบเอ็ดประการเป็นมูลเหตุ เป็นที่มา หรือเป็นฐานก่อให้เกิดหรือให้ได้มาซึ่งเงินหรือทรัพย์สินจากการกระทำความผิด จึงได้มีการกำหนดเป็นความผิดหลักไว้เพื่อเชื่อมโยงในการนำเอากฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินไปใช้บังคับเท่านั้น ดังจะเห็นได้จาก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ไม่ได้กำหนดให้ต้องมีการดำเนินคดีในความผิดมูลฐานหรือมีคำพิพากษาลงโทษผู้กระทำความผิดมูลฐานก่อน จึงจะดำเนินคดีฐานฟอกเงินได้ ความผิดฐานฟอกเงินจึงแยกต่างหากจากความผิดมูลฐาน แม้ความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนที่เป็นความผิดมูลฐานจะขาดอายุความ ไม่อาจลงโทษจำเลยทั้งสองได้ เมื่อความผิดฐานฟอกเงินไม่จำต้องอาศัยความผิดมูลฐานเป็นเงื่อนไขในการดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิดฐานฟอกเงิน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันฟอกเงิน

(หมายเหตุ 1 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การแจ้งข้อหา การสอบปากคำ และการทำความเห็นควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องเป็นขั้นตอนของการสอบสวน การแจ้งข้อหาและการสอบปากคำผู้ต้องหาตาม ป.วิ.อ.มาตรา 134 กำหนดให้เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะดำเนินการ แต่หาได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนทุกคนหรือผู้ที่มีหน้าที่สอบสวนทุกคนต้องอยู่ร่วมกันในขณะแจ้งข้อหาหรือสอบปากคำผู้ต้องหา การที่นาย ค. พนักงานอัยการที่อัยการสูงสุดมอบหมายให้ทำการสอบสวนร่วมกับพนักงานสอบสวนไม่ได้อยู่ร่วมในขณะแจ้งข้อหาและสอบปากคำจำเลยที่ 1 จึงไม่ทำให้การสอบสวนเสียไป)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3365.สิทธิในการอุทธรณ์คดีที่รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5161/2566 เมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาคดีที่รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่แล้วพิพากษายกคำพิพากษาเดิมและพิพากษาใหม่เป็นยกฟ้องตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 13 (1) แล้ว สิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกาคำพิพากษาใหม่ดังกล่าวต้องพิจารณาตามมาตรา 15 ซึ่งบัญญัติว่า “เมื่อศาลได้มีคำพิพากษาอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา 13 แล้ว พนักงานอัยการผู้ร้องหรือโจทก์ในคดีเดิมซึ่งเป็นคู่ความมีสิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาได้ดังนี้ (1) ถ้าคำพิพากษานั้นเป็นคำพิพากษาของศาลชั้นต้น มีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษานั้นต่อศาลอุทธรณ์ คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในกรณีเช่นนี้ให้เป็นที่สุด…” ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาอย่างหนึ่งอย่างใดดังกล่าวแล้วคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ย่อมเป็นที่สุด จำเลยที่ 8 ไม่อาจฎีกาต่อไปได้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 8 มาจึงเป็นการไม่ชอบ อย่างไรก็ดี เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่าในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.2651/2560 ของศาลแขวงพระนครเหนือ ที่บริษัท พ. เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 8 คดีนี้ (คือจำเลยที่ 9 ในคดีดังกล่าว) กับพวก ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง ส่วนคดีนี้พนักงานอัยการโจทก์กล่าวหาว่า จำเลยที่ 8 ร่วมกับพวก กระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยบรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 8 กับพวก ร่วมกันกระทำความผิด 3 กรรม แม้การกล่าวข้อความหมิ่นประมาทจะกระทำขึ้นหลายคราวต่างวันต่างเวลาแต่การกระทำในแต่ละคราวมีเจตนามุ่งประสงค์ต่อผลอย่างเดียวกันคือ เพื่อให้บริษัท พ. หลงเชื่อและตกลงเข้าทำสัญญารับเหมาก่อสร้างกับส่งมอบเงินจำนวน 50 ล้านบาท ให้จำเลยที่ 8 กับพวก อันถือเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียว การกระทำของจำเลยที่ 8 กับพวก จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวมิใช่หลายกรรม เมื่อได้ความว่าคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.2651/2560 ของศาลแขวงพระนครเหนือนั้น ศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 8 ไปแล้วเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2560 ก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาคดีนี้เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2560 จึงเป็นกรณีที่การกระทำของจำเลยที่ 8 ศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) ถือเป็นเหตุตามกฎหมายที่จำเลยที่ 8 มิต้องรับโทษ และเป็นเหตุในลักษณะคดีซึ่งย่อมมีผลถึงผู้ร่วมกระทำความผิดทุกคน ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จะเป็นที่สุดตาม พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 15 (1) ทำให้คดีต้องห้ามฎีกา แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง, 215 และ 225 ทั้งเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมและให้สอดคล้องกับผลในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.2105/2561 และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.2618/2561 ของศาลชั้นต้น ที่โจทก์แยกฟ้องจำเลยอื่นตามคำสั่งศาลชั้นต้นและศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องเนื่องจากเป็นฟ้องช้ำซึ่งคดีถึงที่สุดไปแล้ว

(หมายเหตุ 1 คดีนี้เป็นกรณีที่คำพิพากษาถึงที่สุดในคดีเดิมที่จำเลยที่ 8 ขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่

2 ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีที่รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่แล้วพิพากษายกคำพิพากษาเดิมและพิพากษาใหม่เป็นยกฟ้องโจทก์

3 ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้บังคับโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 30 มิถุนายน 2560 (คำพิพากษาศาลชั้นต้นเดิม)

4 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกาคำพิพากษาใหม่ ต้องพิจารณาตามตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 15 คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในกรณีเช่นนี้ให้เป็นที่สุด จำเลยที่ 8 ไม่อาจฎีกาต่อไปได้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 8 มาจึงเป็นการไม่ชอบ

5 ศาลฎีกายังวินิจฉัยต่อไปว่า เมื่อมีเหตุตามกฎหมายที่จำเลยที่ 8 มิต้องรับโทษ และเป็นเหตุในลักษณะคดีซึ่งย่อมมีผลถึงผู้ร่วมกระทำความผิดทุกคน ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จะเป็นที่สุดตาม พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 15 (1) ทำให้คดีต้องห้ามฎีกา แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง, 215 และ 225)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849