รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมร่วมแสดงความยินดี เนื่องในวันสถาปนาสภาทนายความ ครบรอบ 39 ปี

 

สภาทนายความจัดงานวันสถาปนาสภาทนายความ ครบรอบ 39 ปี “ทวี สอดส่อง” ร่วมยินดี พร้อมฝากให้ช่วยสื่อสารการเข้าถึงสิทธิกระบวนยุติธรรมของประชาชน

เมื่อวันอังคารที่ 10 กันยายน 2567 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุม ชั้น 5 สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ถนนพหลโยธิน กรุงเทพมหานคร สภาทนายความได้จัดให้มีพิธีทำบุญและเจริญพระพุทธมนต์ เนื่องในวันสถาปนาสภาทนายความ ครบรอบ 39 ปี (นับจากมีพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528) เพื่อความเป็นสิริมงคลและอุทิศบุญกุศลให้ทนายความที่ล่วงลับไปแล้ว โดยมีสมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์

 

ในโอกาสนี้ได้รับเกียรติจาก พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ร่วมงาน โดยมี ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ เป็นประธานจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย และถวายเครื่องไทยธรรมแก่พระภิกษุสงฆ์ จากนั้นพระสงฆ์สวดอนุโมทนา เจริญชัยมงคลคาถา พร้อมประพรมน้ำพระพุทธมนต์ให้แก่ผู้ร่วมงานในพิธี โดยมีคณะกรรมการบริหารสภาทนายความ บุคคลสำคัญ ๆ ทางด้านกฎหมาย ผู้แทนสภาวิชาชีพทั้ง 11 องค์กร ผู้แทนจากภาคเอกชนและสมาชิกทนายความเข้าร่วมงานอย่างอย่างคับคั่ง

สำหรับบรรยากาศภายในงานเป็นไปอย่างชื่นมื่นและอบอุ่น โดย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะสภานายกพิเศษแห่งสภาทนายความ กล่าวแสดงความยินดี เนื่องในโอกาสวันสถาปนาสภาทนายความ ครบรอบ 39 ปี พร้อมกล่าวว่า ทนายความนั้นเป็นเสาหลักในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะคดีอาญา ซึ่งเป็นหนึ่งใน 5 เสาหลัก ประกอบด้วย (ศาล อัยการ ทนายความ พนักงานสอบสวน ราชทัณฑ์) ซึ่งจะขาดอันหนึ่งอันใดไม่ได้ จึงเป็นเรื่องที่ท้าท้ายของสภาทนายความที่เป็นเสาหลักในกระบวนการยุติธรรมที่อยู่คู่กับประชาชน เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมให้ได้รับความเป็นธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้สึกของประชาชนที่มีความรู้สึกว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรม ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญต้องสร้างการสื่อสารและความเข้าใจที่ดี ขอให้สภาทนายความช่วยสื่อสารให้สังคมรับรู้รับทราบและเข้าใจต่อไป

ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ กล่าวว่า ผู้ประกอบวิชาชีพทนายความจะต้องอยู่บนพื้นฐานประโยชน์ของประชาชน คือ การอำนวยความยุติธรรม โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือทางคดี การให้คำปรึกษาทางกฎหมาย โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายและการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ ซึ่งต้องมีจิตอาสา และเป็นมิติใหม่ของวิชาชีพทนายความที่มี “ทนายความจิตอาสา” ในการให้บริการทางกฎหมายแก่สังคม โดยบริบทของสภาทนายความต่อการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนนั้น จะเป็นการดำเนินงานตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ เพื่อให้สังคมเกิดความสงบสุข

นอกจากนี้สภาทนายความยังได้จัดกิจกรรมอื่น ๆ ได้แก่ การจัดอบรมวิชาการ เรื่อง การดำเนินคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มพูนความรู้และทักษะด้านวิชาการให้แก่สมาชิกทนายความ และจัดกิจกรรมเพื่อสังคม โดยสภาทนายความร่วมกับชมรมทันตกรรมจิตอาสาบุญญานุภาพจังหวัดเชียงรายและชมรมทันตกรรมจิตอาสา ให้บริการทันตกรรม และร่วมมือกับสมาคมทัศนมาตรแห่งประเทศไทย ให้บริการตรวจวัดสายตาแก่สมาชิกสภาทนายความ ทนายความอาสา พนักงานเจ้าหน้าที่และประชาชน โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น

สำหรับวันสถาปนาสภาทนายความ สืบเนื่องจากวันที่ 10 กันยายน 2528 ซึ่งเป็นวันที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระมหากษัตริย์ไทย รัชกาลที่ 9 ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 และพระองค์ท่านได้ทรงพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯให้สภาทนายความอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2553 ซึ่งในปีนี้สภาทนายความ ครบรอบ 39 ปี

 

 

 

ดร.วิเชียร เป็นประธานพิธีสวดพระอภิธรรมของท่านทนายพงษ์พันธ์ ขวัญตา

 เมื่อวันอังคารที่ 10 กันยายน 2567 เวลา 18.00 น. ที่ ศาลา 14 วัดพระศรีมหาธาตุ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร : ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ได้เดินทางไปเป็นประธานพิธีสวดพระอภิธรรมของท่านทนายพงษ์พันธ์ ขวัญตา

 

ขอให้ดวงวิญญาณของท่านทนายพงษ์พันธ์ ขวัญตา จงสู่สุคติในสัมปรายภพตราบนิรันดร์

นายกสภาทนายความ เป็นประธานในพิธีปิดการอบรมวิชาการ เรื่อง กฎหมายทางการแพทย์ รุ่นที่ 1

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 8 กันยายน 2567 เวลา 16.00 น. ที่ห้องประชุม ชั้น 4 สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ : ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ เป็นประธานในพิธีปิดการอบรมวิชาการ เรื่อง กฎหมายทางการแพทย์ รุ่นที่ 1 โดยมี ดร.วิรัลพัชร เวธทาวริทธิ์ธร อุปนายกฝ่ายวิชาการ กล่าวรายงาน นางสาวอัจฉรา แสงขาว กรรมการและเลขานุการฝ่ายวิชาการ อาจารย์สยุม ไกรทัศน์ กรรมการฝ่ายวิชาการ เป็นผู้ดำเนินรายการ

นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจาก ดร.นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย อาจารย์คณะนิติศาสตร์ปรีดีพนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ นายแพทย์วิฑูรย์ ตรีสุนทรรัตน์ ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำกองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ (พิเศษ) พลอากาศตรี อาภัสร์ เพชรผุด ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการแพทย์ทหารอากาศ กรมแพทย์ทหารอากาศ และนายนพพร โพธิรังสิยากร ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา อดีตรองประธานศาลฎีกา ซึ่งเป็นวิทยากรในการบรรยายหลักสูตรดังกล่าว

ปิดการอบรมและมอบวุฒิบัตรให้แก่ผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรการเจรจาและร่างสัญญาทางธุรกิจ (Business Contract Drafting & Negotiations) รุ่นที่ 3

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 8 กันยายน 2567 เวลา 16.30 น. ที่ห้องประชุม ชั้น 5 สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ : ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ เป็นประธานปิดการอบรมและมอบวุฒิบัตรให้แก่ผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรการเจรจาและร่างสัญญาทางธุรกิจ (Business Contract Drafting & Negotiations) รุ่นที่ 3 โดยมีนางสาวศรินทร เลืองวัฒนะวณิช อุปนายกฝ่ายต่างประเทศ นางสาวจุฑาทิพย์ ลิ้มพงษ์ประเสริฐ กรรมการสำนักงานกิจการระหว่างประเทศ ผู้ดำเนินรายการ และคณะทำงานร่วมในพิธีปิดการอบรมหลักสูตรดังกล่าว

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3378.คำรับสารภาพตามบันทึกการจับกุม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 642/2567 แม้ในชั้นจับกุมจำเลยและ ก. จะให้การรับสารภาพตามบันทึกการจับกุมว่าเมทแอมเฟตามีนและอาวุธปืนเป็นของทั้งสองคน แต่คำให้การดังกล่าวเป็นถ้อยคำรับสารภาพของจำเลยผู้ถูกจับที่ให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับ จึงต้องห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 84 วรรคสี่ ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3 ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยและ ก. ได้ให้ถ้อยคำต่อผู้จับกุมยอมรับว่ายาเสพติดเป็นของตัวเองจริง โดยซื้อมาจาก ค. เพื่อนำมาจำหน่ายให้แก่กลุ่มวัยรุ่นและผู้ใช้แรงงานในพื้นที่ ถ้อยคำดังกล่าวมิได้เป็นเพียงถ้อยคำรับสารภาพว่าได้กระทำความผิด หากแต่เป็นถ้อยคำอื่นซึ่งจำเลยและ ก. ได้ให้ถ้อยคำอื่นนั้นต่อเจ้าพนักงานผู้จับกุมภายหลังที่เจ้าพนักงานได้แจ้งสิทธิแก่จำเลยและผู้ถูกจับตามกฎหมายแล้ว ทั้งโจทก์มีภาพถ่ายประกอบสำนวนที่ได้ให้จำเลยและ ก. ชี้ของกลางที่ยึดได้ในที่เกิดเหตุซึ่งอยู่ในความครอบครองของจำเลยและ ก. จึงเป็นพยานหลักฐานของโจทก์ที่เกิดขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมาย สามารถนำมารับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 84 วรรคสี่ ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3 นั้น ถ้อยคำอื่นตามบทบัญญัติดังกล่าวจะต้องไม่ใช่ถ้อยคำที่เป็นส่วนหนึ่งของคำรับสารภาพของจำเลย เมื่อพิจารณาข้อความตามบันทึกจับกุมที่ระบุว่าเมทแอมเฟตามีนของกลางเป็นของจำเลย โดยมีรายละเอียดด้วยว่าซื้อมาจากบุคคลอื่นเพื่อนำมาจำหน่ายต่อซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำรับสารภาพของจำเลยนั่นเอง จึงต้องห้ามไม่ให้รับฟังเป็นพยาน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 84 วรรคสี่ ส่วนคำรับสารภาพชั้นจับกุมของ ก. แม้จะไม่ห้ามรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีของจำเลย แต่ก็ถือเป็นพยานบอกเล่าและซัดทอดซึ่งมีเงื่อนไขให้รับฟังและมีน้ำหนักน้อยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/3 และ 227/1

(หมายเหตุ 1 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ถ้อยคำอื่น” ตามบทบัญญัติ ป.วิ.อ.มาตรา 84 จะต้องไม่ใช่ถ้อยคำที่เป็นส่วนหนึ่งของคำรับสารภาพของจำเลยด้วย

2 นอกจากนี้ ศาลฎีกายังได้วินิจฉัยภาพถ่ายที่เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมถ่ายรูปไว้ โดยวินิจฉัยว่า ภาพถ่ายระบุเพียงว่า เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมถ่ายรูปไว้ขณะทำการตรวจค้นและตรวจยึดของกลางได้จากสถานที่เกิดเหตุเท่านั้น ไม่ได้มีข้อความว่าจำเลยให้การรับว่าเมทแอมเฟตามีนและอาวุธปืนพร้อมเครื่องกระสุนปืนของกลางเป็นของตน

3 และยังได้วินิจฉัยภาพถ่ายประกอบสำนวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวน โดยวินิจฉัยว่า เป็นเอกสารที่พนักงานสอบสวนเป็นผู้ทำขึ้นซึ่งระบุว่า จำเลย และ ก. ชี้ยืนยันเมทแอมเฟตามีนและอาวุธปืนพร้อมเครื่องกระสุนปืน 1 ชุด ของกลาง ที่เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมยึดได้จากกระท่อมที่เกิดเหตุและอยู่ในความครอบครองของจำเลย และ ก. เท่านั้น)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

ดร.วิเชียร ได้รับเกียรติเป็นประธาน ในพิธีฉลองมงคลสมรส บุตรประธานสภาทนายความจังหวัดอ่างทอง

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 8 กันยายน 2567 เวลา 12.30 น. ที่หอประชุมศาลาเฉลิมพระเกียรติ (ศาลเจ้าพ่อกวนอู) ตำบลตลาดหลวง อำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง : ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ได้รับเกียรติเป็นประธานในพิธีฉลองมงคลสมรส ระหว่าง นายชินธรณ์ แสวงศักดิ์ และ นางสาวจุฑารัตน์ อนันตรสุชาติ ซึ่งเป็นบุตรของ นายธีระเกียรติ อนันตรสุชาติ ประธานสภาทนายความจังหวัดอ่างทอง ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดอ่างทอง คณะผู้พิพากษา ผู้ประนีประนอม ศาลจังหวัดอ่างทอง กรรมการ สภาทนายความและประธานสภาทนายความในภาค 1 พร้อมแขกผู้มีเกียรติ มาร่วมงาน พิธีฉลองมงคลสมรสในครั้งนี้จำนวนมาก

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3377.ติดตามเอาทรัพย์คืนจากผู้ไม่มีสิทธิครอบครอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 296/2567 โจทก์ร่วมและจำเลยมีความสัมพันธ์ฉันเครือญาติและต่างเป็นสมาชิกกลุ่ม อสม. เมื่อจำเลยทราบว่าสมาชิกผู้สั่งซื้อเสื้อยังไม่ได้รับเสื้อ จำเลยซึ่งเป็นผู้ดำเนินการรับสั่งจองเสื้อจึงไปสอบถามและทวงเสื้อคืนจากโจทก์ร่วมโดยเปิดเผย ทั้งยังฝากเงินค่าซื้อเสื้อคืนให้แก่โจทก์ร่วมและนำเสื้อไปให้สมาชิกทันที พฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจำเลยเข้าใจโดยสุจริตว่าเสื้อที่โจทก์ร่วมมีไว้ในครอบครอง โจทก์ร่วมได้รับไปโดยไม่ถูกต้อง การกระทำของจำเลยหาใช่เจตนาเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายที่เป็นประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน ไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์

(หมายเหตุ 1 มูลเหตุของคดีนี้มาจากทางกลุ่ม อสม. จัดให้สมาชิกสั่งซื้อเสื้อยืดคอกลม 1 ตัว ราคา 120 บาท เพื่อสวมใส่ไปทัศนศึกษาที่จังหวัดระยอง โดยจำเลยเป็นผู้ร่วมดำเนินการรับสั่งจองเสื้อดังกล่าวด้วย

2 โจทก์ร่วมมิได้สั่งจองซื้อเสื้อจากจำเลย ต่อมาเมื่อจำเลยทราบเหตุว่าสมาชิกผู้สั่งซื้อยังไม่ได้รับเสื้อ จึงไปพบเพื่อสอบถามและทวงเสื้อคืนจากโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมยืนยันว่าได้สั่งซื้อมาโดยถูกต้อง

3 ต่อมาจำเลยได้แจ้งให้ผู้อื่นไปเอาเสื้อคืนจากบ้านของโจทก์ร่วม แล้วฝากเงินค่าซื้อเสื้อคืนให้โจทก์ร่วมแล้วด้วย

4 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (1) (8) วรรคสอง จำคุก 1 ปี และปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี

5 ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่าจำเลยกระทำโดยขาดเจตนาทุจริตในการลักทรัพย์ พิพากษายกฟ้อง

6 ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยข้างต้น โดยพิพากษายืน

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3376.เอาสมุดบัญชีเงินฝากและบัตรเอทีเอ็มของผู้เสียหายไปเพื่อไม่ให้ผู้เสียหายใช้เบิกถอนเงิน ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13/2566 (เล่ม 10 หน้า 1) ผู้เสียหายที่ 1 เป็นหนี้กู้ยืมเงินจำเลยที่ 1 แล้วไม่ผ่อนชำระตามข้อตกลง จำเลยที่ 1 จึงมาทวงถามผู้เสียหายที่ 1 ให้ชำระหนี้ถึงบ้านที่เกิดเหตุ การที่จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันเอาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร ท. ของผู้เสียหายที่ 1 และสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร ก. พร้อมบัตรเอทีเอ็มของผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นสามีของผู้เสียหายที่ 1 ไป ก็เพียงประสงค์ที่จะเข้าควบคุมดูแลไม่ให้ผู้เสียหายทั้งสองสามารถนำสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร หรือบัตรเอทีเอ็มไปใช้เบิกถอนเงินจากบัญชีดังกล่าวได้อีกเมื่อมีเงินเข้ามาในบัญชีในภายภาคหน้า หากแต่ต้องนำมาชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 เสียก่อน หาได้ประสงค์จะได้รับประโยชน์จากมูลค่าในทางทรัพย์สินของสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร และบัตรเอทีเอ็มของผู้เสียหายทั้งสองด้วยการแย่งการครอบครองเอาทรัพย์ดังกล่าวไปโดยเด็ดขาดไม่ การกระทำของจำเลยทั้งสองกับพวกจึงยังไม่พอรับฟังว่าเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยทุจริตหรือเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น อันจะเป็นความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ ซึ่งเมื่อจำเลยทั้งสองกับพวกไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์เสียแล้วย่อมไม่มีความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ด้วย

(หมายเหตุ 1 ผู้เสียหายที่ 1 กู้ยืมเงินจากจำเลยที่ 1 หลายครั้ง ต่อมาผู้เสียหายที่ 1 ลาออกจากบริษัท โดยจำเลยที่ 1 ไม่สามารถติดต่อผู้เสียหายที่ 1 ได้ และจำเลยที่ 1 สืบพบที่อยู่ของผู้เสียหายที่ 1

2 คืนเกิดเหตุจำเลยที่ 1 พร้อมด้วยจำเลยที่ 2 กับพวกร่วมกันบุกรุกเข้าไปภายในบริเวณบ้านของผู้เสียหายทั้งสอง เพื่อทวงถามหนี้เงินกู้ที่ผู้เสียหายที่ 1 ค้างชำระ

3 จำเลยที่ 1 ให้ผู้เสียหายที่ 1 ลบแอปพลิเคชั่นของธนาคารบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายที่ 1 และของผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งผู้เสียหายที่ 1 ใช้ในการโอนเงินชำระหนี้กู้ให้แก่จำเลยที่ 1

4 จำเลยที่ 1 พูดข่มขู่ผู้เสียหายทั้งสองให้มอบสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารและให้ผู้เสียหายที่ 1 กรอกข้อความและลงลายมือชื่อในสัญญากู้ทั่วไป ให้ผู้เสียหายที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญากู้

5 ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลล่างทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองไม่มีความผิดฐานปล้นทรัพย์ แต่ยังคงมีความผิด ฐานร่วมกันบุกรุกในเวลากลางคืน และร่วมกันกรรโชก)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

3 สถาบันยักษ์ จับมือ เพื่อจัดการประชุมวิชาการระดับชาติ… 

เมื่อวันเสาร์ที่ 7 กันยายน 2567 เวลา 09.30 – 12.00 น. ที่ห้องประชุม ดร.สมศักดิ์ และคุณหญิงปัทมา ชั้น 2 อาคารสยามบรมราชกุมารี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ นิด้า 

: ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ร่วมเสวนาในการประชุมวิชาการระดับชาติ นิติพัฒน์-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 9 ในหัวข้อ “นักกฎหมายกับการเปลี่ยนแปลงสังคม” โดยมี รศ.ดร.อมรรัตน์ กุลสุจริต คณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และรศ.สาวตรี สุขศรี รองคณบดีฝ่ายวางแผน วิจัย และนวัตกรรม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเปิดงาน

นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจาก ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง สำนักงานอัยการสูงสุด และนายเผ่าพันธ์ ชอบน้ำตาล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม วิทยากรร่วมเสวนาวิชาการ ซึ่งการเสวนาในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ในการสร้างโอกาสทางวิชาการให้นักวิชาการ อาจารย์ นักศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา สนับสนุนให้มีการเผยแพร่ผลงานวิชาการและผลงานวิจัยสู่สาธารณชนให้ได้รับทราบ ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นร่วมกันระหว่างนักวิจัยในสาขานิติศาสตร์ อันจะนำไปสู่การพัฒนาผลงานวิจัยให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.พีรพล เจตโรจนานนท์ ผู้อำนวยการหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

ทั้งนี้ในการจัดงานประชุมวิชาการระดับชาติในครั้งนี้เป็นการร่วมมือกันระหว่างสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3376.เอาสมุดบัญชีเงินฝากและบัตรเอทีเอ็มของผู้เสียหายไปเพื่อไม่ให้ผู้เสียหายใช้เบิกถอนเงิน ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13/2566 (เล่ม 10 หน้า 1) ผู้เสียหายที่ 1 เป็นหนี้กู้ยืมเงินจำเลยที่ 1 แล้วไม่ผ่อนชำระตามข้อตกลง จำเลยที่ 1 จึงมาทวงถามผู้เสียหายที่ 1 ให้ชำระหนี้ถึงบ้านที่เกิดเหตุ การที่จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันเอาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร ท. ของผู้เสียหายที่ 1 และสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร ก. พร้อมบัตรเอทีเอ็มของผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นสามีของผู้เสียหายที่ 1 ไป ก็เพียงประสงค์ที่จะเข้าควบคุมดูแลไม่ให้ผู้เสียหายทั้งสองสามารถนำสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร หรือบัตรเอทีเอ็มไปใช้เบิกถอนเงินจากบัญชีดังกล่าวได้อีกเมื่อมีเงินเข้ามาในบัญชีในภายภาคหน้า หากแต่ต้องนำมาชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 เสียก่อน หาได้ประสงค์จะได้รับประโยชน์จากมูลค่าในทางทรัพย์สินของสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร และบัตรเอทีเอ็มของผู้เสียหายทั้งสองด้วยการแย่งการครอบครองเอาทรัพย์ดังกล่าวไปโดยเด็ดขาดไม่ การกระทำของจำเลยทั้งสองกับพวกจึงยังไม่พอรับฟังว่าเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยทุจริตหรือเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น อันจะเป็นความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ ซึ่งเมื่อจำเลยทั้งสองกับพวกไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์เสียแล้วย่อมไม่มีความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ด้วย

(หมายเหตุ 1 ผู้เสียหายที่ 1 กู้ยืมเงินจากจำเลยที่ 1 หลายครั้ง ต่อมาผู้เสียหายที่ 1 ลาออกจากบริษัท โดยจำเลยที่ 1 ไม่สามารถติดต่อผู้เสียหายที่ 1 ได้ และจำเลยที่ 1 สืบพบที่อยู่ของผู้เสียหายที่ 1

2 คืนเกิดเหตุจำเลยที่ 1 พร้อมด้วยจำเลยที่ 2 กับพวกร่วมกันบุกรุกเข้าไปภายในบริเวณบ้านของผู้เสียหายทั้งสอง เพื่อทวงถามหนี้เงินกู้ที่ผู้เสียหายที่ 1 ค้างชำระ

3 จำเลยที่ 1 ให้ผู้เสียหายที่ 1 ลบแอปพลิเคชั่นของธนาคารบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายที่ 1 และของผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งผู้เสียหายที่ 1 ใช้ในการโอนเงินชำระหนี้กู้ให้แก่จำเลยที่ 1

4 จำเลยที่ 1 พูดข่มขู่ผู้เสียหายทั้งสองให้มอบสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารและให้ผู้เสียหายที่ 1 กรอกข้อความและลงลายมือชื่อในสัญญากู้ทั่วไป ให้ผู้เสียหายที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญากู้

5 ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลล่างทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองไม่มีความผิดฐานปล้นทรัพย์ แต่ยังคงมีความผิด ฐานร่วมกันบุกรุกในเวลากลางคืน และร่วมกันกรรโชก)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849