ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3589.ข้อความในพินัยกรรมที่มีพิมพ์บาง เขียนบ้าง ถือว่าเป็นพินัยกรรมแบบเอกสารเขียนเองทั้งฉบับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4044/2567 แม้เอกสารหมาย ค.4 จะมีข้อความบางตอนเป็นตัวพิมพ์ โดยตอนบนตรงกลางมีหัวข้อพิมพ์ว่าหนังสือพินัยกรรม จากนั้นมีการพิมพ์ตัวหนังสือแล้วเว้นช่องว่างให้ผู้ทำพินัยกรรมเขียนหรือกรอกข้อความเกี่ยวกับสถานที่ วัน เดือน ปี ที่ทำพินัยกรรม ชื่อ ที่อยู่ของผู้ทำพินัยกรรม และความประสงค์ในการจัดการทรัพย์สิน ซึ่งตามเอกสารปรากฏว่าผู้ตายได้เขียนรายละเอียดดังกล่าวด้วยลายมือ จากนั้นตอนท้ายมีข้อความพิมพ์ด้วยตัวพิมพ์สรุปได้ว่า ผู้ตายได้พิมพ์ข้อความที่เป็นตัวพิมพ์ โดยได้อ่านเข้าใจข้อความที่เป็นตัวพิมพ์ทั้งหมดเห็นว่าถูกต้องตามเจตนาทุกประการโดยไม่มีผู้ใดข่มขู่ จึงได้เขียนข้อความที่เป็นตัวกลางลงในหนังสือพินัยกรรมฉบับนี้ด้วยตนเองขณะที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ทุกประการ ผู้ตายสมัครใจทำหนังสือนี้เองปราศจากบุคคลอื่นใดข่มขู่ หรือทำโดยสำคัญผิด หรือถูกฉ้อฉลแต่อย่างใด โดยได้ทำหนังสือพินัยกรรมนี้ขึ้นไว้ 4 ฉบับ มีข้อความถูกต้องตรงกันและเก็บรักษาไว้ที่ผู้คัดค้าน และมีลายมือชื่อผู้ตายลงไว้ในช่องที่พิมพ์ว่า ผู้ทำพินัยกรรม และผู้พิมพ์/ผู้เขียน เอกสารหมาย ค.4 จึงมีลักษณะเป็นคำสั่งสุดท้ายที่ผู้ตายแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนไว้โดยต้องการยกให้แก่บุคคลต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้ อันจะเกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1646 และ 1647 จึงเป็นพินัยกรรมและเข้าลักษณะเป็นพินัยกรรมแบบเอกสารเขียนเองทั้งฉบับตาม ป.พ.พ. มาตรา 1657

(หมายเหตุ 1 สาระสำคัญของพินัยกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1646 และ 1647 คือคำสั่งครั้งสุดท้ายของผู้ตายเกี่ยวกับกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเอง หรือในเรื่องอื่นที่จะให้เกิดผลบังคับเมื่อตนตาย)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

ดร.วิเชียร เป็นประธานในพิธีสวดพระอภิธรรมศพของคุณสุรศักดิ์ รอนใหม่ อดีตกรรมการบริหารสภาทนายความ ภาค 3

สู่สุคติในสัมปรายภพ….
เมื่อวันพุธที่ 9 เมษายน 2568 เวลา 18.30 น. ที่ ศาลาฌาปนสถาน วัดผาสุการาม ต.วารินชำราบ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี : ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ได้เดินทางไปเป็นประธานในพิธีสวดพระอภิธรรมศพของคุณสุรศักดิ์ รอนใหม่ อดีตกรรมการบริหารสภาทนายความ ภาค 3 โดยมี นายบุญประเสริฐ นวลสาย ประธานสภาทนายความจังหวัดศรีสะเกษ และ นายคำพันธ์ วรรณโท ประธานสภาทนายความจังหวัดเดชอุดม ร่วมเป็นเจ้าภาพสวดพระอภิธรรมในครั้งนี้
ขอให้ดวงวิญญาณของท่านสุรศักดิ์ รอนใหม่ จงสู่สุคติในสัมปรายภพตราบนิรันดร์

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ 
3588.กรณีคู่สมรสมีหนี้ร่วม คู่สมรสจะต้องดำเนินการชำระหนี้ร่วมให้เสร็จก่อน จึงจะแบ่งสินสมรสได้
คำพิพากษาฏีกาที่ 3657/2567 (เล่ม 8 หน้า 1852) โจทก์จำเลยโต้แย้งว่า เงินที่จำเลยโอนให้แก่โจทก์เป็นเงินที่ โจทก์กับจำเลยประกอบธุรกิจร่วมกันอันเป็นเงินที่ได้มาระหว่างสมรส จึงเป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 วรรคท้าย บัญญัติว่า “ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่า ทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือมิใช่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรสโจทก์จึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐาน เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายกล่าวอ้างว่าเงินดังกล่าวเป็นสินส่วนตัวของจำเลย ภาระการพิสูจน์ตกแก่จำเลย
จำเลยนำเงินสินสมรสไปชำระเงินดาวน์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของราคาที่ดินและบ้านที่โจทก์กับจำเลยร่วมกันซื้อมาในระหว่างสมรส เมื่อเงินที่ชำระราคาที่ดินและบ้านส่วนที่เหลือเป็นเงินที่กู้ยืมจากธนาคารและยังคงมีภาระหนี้สิน อันเป็นหนี้ร่วมกันระหว่างสามีภริยา เมื่อมีการหย่าขาดจากกัน การจะแบ่งสินสมรสจะต้องดำเนินการชำระหนี้ร่วมให้เสร็จสิ้นก่อนจึงนำสินสมรสมาแบ่งกันได้ เมื่อที่ดินและบ้านยังติดจำนองโดยโจทก์ยังผ่อนชำระหนี้ เช่นนี้ ยังไม่อาจแบ่งสิน สมรสกันได้ โจทก์ไม่ต้องคืนเงินที่จำเลยชำระเป็นเงินดาวน์ในการซื้อที่ดินและบ้านแก่จำเลย
(หลักกฎหมาย ป.พ.พ.มาตรา 1474 , 1489 , 1490)
นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

พิธีรดน้ำดำหัว นายกสภาทนายความ เนื่องในเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี 2568

เมื่อวันอังคารที่ 8 เมษายน 2568 เวลา 17.30 น. ที่ สมาคมศิษย์เก่าวิศวกรรมศาสตร์ชลประทาน ถนนติวานนท์ ตำบลบางตลาด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี : สภาทนายความจังหวัดนนทบุรีและชมรมฟุตบอลทนายความจังหวัดนนทบุรี จัดพิธีรดน้ำดำหัวเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ โดยมี ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ เป็นประธานเปิดงาน อีกทั้งยังได้รับเกียรติจาก นายสงคราม สกุลพราหมณ์ อุปนายกฝ่ายบริหาร พร้อมทนายความอาวุโสจำนวนมากร่วมในพิธีการดังกล่าวโดยมี นายศิริศักดิ์ อมาตยกุล ประธานสภาทนายความจังหวัดนนทบุรี คณะกรรมการสภาทนายความจังหวัดนนทบุรี

ให้การต้อนรับ และทนายความจังหวัดนนทบุรีร่วมงานเป็นจำนวนมากกว่า 400 คน

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3587.เรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่มีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5579/2567 เมื่อพิจารณาจากคำฟ้องในคดีนี้ประกอบกับคดีที่โจทก์ฟ้อง ล. เรียกค่าอุปการะเลี้ยงดู จึงเห็นได้ว่าโจทก์ทราบมานานแล้วว่า ล. มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับหญิงอื่นหลายคนรวมทั้งจำเลยในคดีนี้ สอดคล้องกับที่โจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ในช่วงปี 2559 ล. เลี้ยงดูผู้หญิงหลายคน และ ร. พยานโจทก์ที่เบิกความว่า ได้สมัครทำงานเป็นเชฟให้แก่ ล. เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2560 พยานเป็นผู้ส่งภาพถ่ายแสดงความสัมพันธ์ระหว่าง ล. กับจำเลย รวมทั้งคลิปวิดีโอต่าง ๆ ให้แก่โจทก์ พฤติการณ์ที่โจทก์ทราบดีว่า ล. มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับผู้หญิงหลายคนรวมทั้งจำเลยในคดีนี้ แต่โจทก์กลับมิได้ใช้สิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนในการกระทำดังกล่าวจากจำเลย แต่กลับทำสัญญาแยกกันอยู่กับ ล. สองฉบับดังกล่าวข้างต้นและให้ ล. จ่ายเงินค่าเลี้ยงดูให้แก่โจทก์ตลอดจนให้ใช้บัตรเครดิตอย่างไม่จำกัดวงเงิน ต่อมาโจทก์กลับมาฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยในคดีนี้เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2563 เป็นจำนวนเงินสูงถึง 300,000,000 บาท หรือการที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจาก ล. เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2563 จำนวน 78,600,000 บาท อันเป็นระยะเวลาภายหลังจากที่โจทก์ทราบถึงเหตุดังกล่าวและแยกกันอยู่กับ ล. เมื่อปี 2557 เป็นเวลาถึงเกือบ 6 ปี จึงเชื่อว่าเกิดจากโจทก์ที่โกรธแค้นจำเลยและ ล. ที่ ล. ไม่จ่ายเงินค่าเลี้ยงดูให้แก่โจทก์อีกต่อไปรวมทั้งยกเลิกการใช้บัตรเครดิตของโจทก์ หาใช่มาจากจำเลยแสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับ ล. สามีโจทก์ในทำนองชู้สาวตามที่โจทก์ฟ้องในคดีนี้ไม่ ซึ่งสอดคล้องกับที่โจทก์เบิกความตอบทนายโจทก์ถามว่า ในช่วงที่บัตรเครดิตของโจทก์หมดอายุ ได้มีการส่งบัตรเครดิตใหม่ไปให้ที่ที่พักของ ล. สามี จำเลยเห็นจึงบอกให้ ล. ตัดบัตรทิ้ง ทั้ง ป.พ.พ. มาตรา 5 บัญญัติว่า “ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี บุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต” การที่โจทก์ใช้สิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยในคดีนี้จึงสืบเนื่องมาจากการที่ ล. ระงับการจ่ายเงินค่าเลี้ยงดูและการใช้บัตรเครดิตของโจทก์ตามข้อตกลงเป็นสำคัญ มิได้มีเจตนาที่จะใช้บทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง มาเรียกค่าทดแทนจากจำเลยอย่างแท้จริง การฟ้องคดีของโจทก์ดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดให้กระทำได้ อีกทั้งยังเป็นการใช้สิทธิฟ้องจำเลยโดยไม่สุจริต ตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 ด้วย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ไว้ ศาลฎีกามีสิทธิยกขึ้นในชั้นฎีกาได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) มาตรา 246 และมาตรา 252 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตา 182/1 วรรคสอง

(หมายเหตุ 1 คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องตั้งแต่ปี พ.ศ.2563 ก่อนที่จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์(ฉบับที่ 24) ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 โดย ป.พ.พ.มาตรา 1523 วรรคสาม ที่แก้ไขใหม่ บัญญัติว่า “ถ้าคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจให้อีกฝ่ายหนึ่งกระทำการตามมาตรา 1516(1) หรือให้ผู้อื่นกระทำการตามวรรคสอง คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนั้นจะเรียกค่าทดแทนไม่ได้” ฉะนั้นจึงต้องติดตามคำพิพากษาศาลฎีกาในภายหน้าว่า ภายหลังจากมีการแก้ไข ป.พ.พ. แล้ว จะมีคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่

2 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า บทบัญญัติตาม ป.พ.พ.มาตรา 1523 วรรคสาม(เดิม) เป็นบทบัญญัติยกเว้นความรับผิด หากคู่สมรสอีกฝ่ายยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจให้ผู้อื่น หรือคู่สมรสอีกฝ่ายกระทำการเช่นว่านั้น แต่จำเลยต้องให้การต่อสู้เป็นประเด็นไว้ เมื่อจำเลยไม่ได้ต่อสู้เป็นประเด็นไว้ ศาลฎีกาไม่อาจวินิจฉัยให้ได้

3 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระค่าทดแทน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระค่าทดแทน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย

4 ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยข้างต้น โดยพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์)

(หลักกฎหมาย ป.พ.พ. มาตรา 5, 1523 วรรคสอง ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246, 252 พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 182/1 วรรคสอง)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3586.ภริยาฟ้องเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นจะต้องบรรยายฟ้องถึงพฤติการณ์แสดงตนโดยเปิดเผยของหญิงอื่นด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5856/2567 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า “สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาวก็ได้และภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวก็ได้” จากบทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า การที่ภริยาเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นโดยไม่มีเงื่อนไขต้องฟ้องหย่าสามีมาด้วยนั้น ต้องปรากฏพฤติการณ์ด้วยว่าหญิงอื่นนั้นได้แสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์อย่างไร เมื่อโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยมีพฤติการณ์แสดงตนโดยเปิดเผยอย่างไร อันเป็นประเด็นแห่งคดีที่โจทก์จะนำสืบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าทดแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง

(หมายเหตุ 1 คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องตั้งแต่ปี พ.ศ.2564 ก่อนที่จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์(ฉบับที่ 24) ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 โดย ป.พ.พ.มาตรา 1523 วรรคสอง ที่แก้ไขใหม่ บัญญัติว่า “คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งไปในทำนองชู้หรือจากผู้ซึ่งแสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งในทำนองชู้ก็ได้” ฉะนั้นจึงต้องติดตามคำพิพากษาศาลฎีกาในภายหน้าว่า ภายหลังจากมีการแก้ไข ป.พ.พ. แล้ว จะมีคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่)

2 คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า สามีโจทก์แอบไปคบหากับจำเลยในลักษณะชู้สาวและร่วมประเวณีกันหลายครั้ง โจทก์พบภาพถ่ายในโทรศัพท์ของสามีหลายภาพที่ถ่ายคู่กับจำเลยในสถานที่ต่าง ๆ โจทก์พยายามสืบตามหาสามีกับจำเลยกระทั่งเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2563 โจทก์พบว่าสามีโจทก์แอบพาจำเลยไปร่วมหลับนอนอยู่ด้วยกันในลักษณะชู้สาวที่บ้านของสามีโจทก์ซึ่งเคยเปิดเป็นบ้านเช่า โจทก์จึงถ่ายภาพและบันทึกวิดีโอโดยโทรศัพท์เคลื่อนที่ไว้เป็นหลักฐาน การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง อับอายขายหน้า จึงเป็นการใช้สิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง

3 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยมีพฤติการณ์แสดงตนโดยเปิดเผยอย่างไร อันเป็นประเด็นแห่งคดีที่โจทก์จะนำสืบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าทดแทน)

(หลักกฎหมาย ป.พ.พ.1523)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3585.จดทะเบียนหย่าเพื่อมิให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้รับชำระหนี้ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนหย่าไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1241/2567 การที่โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า การแสดงเจตนาจดทะเบียนหย่าระหว่างจำเลยทั้งสองทำขึ้นมีเจตนาลวงโดยสมรู้กันมิได้มีเจตนาหย่ากันจริง แต่จดทะเบียนหย่าเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกบังคับคดี การจดทะเบียนหย่าตกเป็นโมฆะ และเป็นการจดทะเบียนหย่าโดยไม่สุจริต ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย ย่อมต้องด้วยกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะเรื่องการแสดงเจตนาและโมฆะกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า “การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นโมฆะ…” และตามมาตรา 172 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า “โมฆะกรรมนั้นไม่อาจให้สัตยาบันแก่กันได้ และผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างก็ได้” ศาลจึงต้องใช้บทกฎหมายเฉพาะดังกล่าวเป็นหลักในการวินิจฉัยชี้ขาดคดีนี้ตามที่มาตรา 4 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ โดยไม่จำต้องอาศัยมาตรา 5 เรื่องการใช้สิทธิแห่งตนที่ให้บุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต อันเป็นบทกฎหมายทั่วไปมาใช้ในการวินิจฉัยคดีนี้

การจดทะเบียนหย่าเพื่อหลีกเลี่ยงการบังคับคดีนี้นั้น กฎหมายบัญญัติทางแก้ไว้หลายกรณีด้วยกันเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและสังคมสงบสุข แม้จำเลยทั้งสองอยู่ในสถานะจดทะเบียนหย่า แต่สิทธิของโจทก์ทั้งสองในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในการที่จะบังคับแก่จำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น โจทก์ทั้งสองชอบที่จะบังคับแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ด้วยการร้องขอต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีให้มีการบังคับคดีโดยวิธียึดทรัพย์สิน อายัดสิทธิเรียกร้อง หรือบังคับโดยวิธีอื่นแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ได้ แม้ว่ามีชื่อบุคคลอื่นเป็นเจ้าของในทะเบียนหรือปรากฏตามหลักฐานอย่างอื่นว่าเป็นของบุคคลอื่น ทั้งนี้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 274 วรรคหนึ่ง, 296 (1) (2) (3), 297 (1) และมาตรา 298 ส่วนขั้นตอนในการบังคับคดีตามบทกฎหมายดังกล่าวซึ่งกำหนดขึ้นเพื่อคุ้มครองให้เกิดความเป็นธรรมแก่คู่ความและป้องกันมิให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น โจทก์ทั้งสองจะอ้างว่าทำให้สิทธิในการบังคับคดีของโจทก์ทั้งสองไม่ได้รับความคุ้มครองหาได้ไม่ กรณียังฟังไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสองถูกโต้แย้งสิทธิ โจทก์ทั้งสองจึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่จะยกขึ้นกล่าวอ้างได้ว่าการจดทะเบียนหย่าระหว่างจำเลยทั้งสองเป็นโมฆะ หากจำเลยทั้งสองจดทะเบียนหย่าโดยเจตนาลวงอันมีผลให้การหย่าเป็นโมฆะ และมีการทำนิติกรรมใด ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการบังคับคดี ย่อมเป็นการทำนิติกรรมที่จำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์ทั้งสองผู้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเสียเปรียบ โจทก์ทั้งสองชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 วรรคหนึ่ง เนื่องจากโจทก์ทั้งสองถูกโต้แย้งสิทธิ ย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะยกขึ้นกล่าวอ้างได้ว่าการจดทะเบียนหย่าระหว่างจำเลยทั้งสองเป็นโมฆะ แต่ในคดีนี้โจทก์ทั้งสองไม่ได้ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำนิติกรรมใดลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์ทั้งสองผู้เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ รวมทั้งไม่ได้ร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมใด ๆ คงฟ้องแต่เพียงว่าจำเลยที่ 2 มีชื่อเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองรถกระบะ ภายหลังการจดทะเบียนหย่าทำให้โจทก์ทั้งสองยึดรถคันดังกล่าวไม่ได้ และมีคำขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนหย่าเท่านั้น คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองจึงไม่ใช่การขอให้เพิกถอนนิติกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 วรรคหนึ่ง และศาลไม่อาจพิพากษาให้เพิกถอนการเป็นเจ้าของรถของจำเลยที่ 2 ในทะเบียนรถ เพราะจะเป็นการพิพากษาให้สิ่งใด ๆ เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 182/1 วรรคสอง ดังนั้น แม้ศาลพิพากษาว่าการจดทะเบียนหย่าเป็นโมฆะและให้เพิกถอนการจดทะเบียนหย่า แต่จำเลยที่ 2 ก็ยังมีชื่อเป็นเจ้าของในทะเบียนรถเช่นเดิม ผลของคำพิพากษาดังกล่าวทำให้สิทธิของโจทก์ทั้งสองยังมีเท่ากับการไม่ได้ฟ้อง ซึ่งแสดงได้ว่าตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสองถูกโต้แย้งสิทธิ โจทก์ทั้งสองจึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่จะยกขึ้นกล่าวอ้างได้ว่าการจดทะเบียนหย่าระหว่างจำเลยทั้งสองเป็นโมฆะ

(หมายเหตุ 1 โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้การจดทะเบียนหย่าระหว่างจำเลยทั้งสองตกเป็นโมฆะ และเพิกถอนทะเบียนการหย่าระหว่างจำเลยทั้งสอง โดยอ้างว่ารถกระบะที่จำเลยที่ 2 ได้มาภายหลังการจดทะเบียนหย่า ไม่ใช่สินสมรสของจำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่โจทก์ทั้งสองจะยึดเพื่อบังคับคดีได้

2 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสองไม่ได้ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้กระทำนิติกรรมใดลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์ทั้งสองผู้เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ รวมทั้งไม่ได้ร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมใด ๆ คงฟ้องแต่เพียงว่าจำเลยที่ 2 มีชื่อเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองรถกระบะภายหลังการจดทะเบียนหย่าทำให้โจทก์ทั้งสองยึดรถคันดังกล่าวไม่ได้ และมีคำขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนหย่าเท่านั้น คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองจึงไม่ใช่การขอให้เพิกถอนนิติกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 วรรคหนึ่ง

3 แม้ศาลพิพากษาว่า การจดทะเบียนหย่าเป็นโมฆะและให้เพิกถอนการจดทะเบียนหย่า แต่จำเลยที่ 2 ก็ยังมีชื่อเป็นเจ้าของในทะเบียนรถเช่นเดิม)

(หลักกฎหมาย ป.พ.พ. มาตรา 237 ป.วิ.พ. มาตรา 274 วรรคหนึ่ง, 296 (1), 296 (2), 296 (3), 297 (1), 298)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

ทีม Lawyer All Stars ผงาดคว้าแชมป์ฟุตบอลทนายความชิงแชมป์แห่งเอเชีย 

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 เมษายน 2568 ที่สนามทรู อารีนา หัวหิน : ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ได้นำเหล่าทัพนักฟุตบอลทนายความ พร้อมสต๊าฟโค้ช ทำการแข่งขันฟุตบอลทนายความแห่งเอเชียครั้งที่ 6 และเป็นประธานมอบถ้วยรางวัลและเหรียญรางวัล (ASIALAWYERS FOOTBALL CUP BY MONDIAVOCAT THAILAND HUA HIN 2-6 April 2025) อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประเทศไทย ซึ่งในวันนี้เป็นการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศและชิงอันดับที่สามของแต่ละรุ่น โดยเมื่อเวลา 08.00 น. เป็นการแข่งขันคู่ชิงชนะเลิศทนายความเอเชีย รุ่น Master ระหว่างทีม Lawyer All Stars พบกับทีมทนายความประเทศอิหร่าน ผลการแข่งขันปรากฏว่า ทีม Lawyer All Stars ทนายความจากประเทศไทย เอาชนะทีมทนายความประเทศ อิหร่าน จำนวน 3 ประตูต่อ 1 ผงาดคว้าแชมป์เป็นครั้งที่สามติดต่อกัน และในการแข่งขันครั้งนี้

นายสุรพันธ์ สาระพันธ์ หมายเลข 21 ได้รับรางวัลนักเตะยอดเยี่ยม และนายธณวัฒน์ โสพิกุล หมายเลข 24 ได้รับรางวัลผู้รักษาประตูยอดเยี่ยม

ต่อมาเวลา 10.00 น. เป็นการชิงชนะเลิศในรุ่น Classic ระหว่างทีมทนายความจากประเทศจีน ชิงชนะเลิศกับทีมทนายความจากประเทศอินโดนีเซียผลการแข่งขันปรากฏว่าทนายความจากประเทศจีน เอาชนะ ทีมทนายความจากประเทศอินโดนีเซียด้วยการดวลจุดโทษ

ส่วนทีมฟุตบอลจากสภาทนายความ ในรุ่น Classic ชิงอันดับสามพบกับทีมทนายความเกาหลีใต้ ซึ่งทีมฟุตบอลจากสภาทนายความเอาชนะทีมฟุตบอลทนายความจากประเทศเกาหลีใต้ด้วยจำนวน 3 ประตูต่อ 1 คว้าอันดับสามไปครอง

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …
3584.หัวหน้างานลงโทษปรับพนักงานที่กระทำผิด โดยไม่มีระเบียบข้อบังคับการทำงานกำหนดไว้ นายจ้างเลิกจ้างโดยไม่มีหนังสือเตือนต้องจ่ายค่าชดเชย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3306/2567 ระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลย หมวดที่ 10 ระเบียบวินัยและมาตรการในการลงโทษทางวินัย ข้อ 14 กำหนดโทษสำหรับพนักงานที่กระทำผิดวินัยไว้ทั้งสิ้น 7 ประการ โดยไม่มีเรื่องการลงโทษปรับเงิน แต่การที่โจทก์ลงโทษปรับเงินผู้ใต้บังคับบัญชานั้นเกิดจากมติของที่ประชุมพนักงานขาย อีกทั้งโจทก์เบิกความยอมรับว่า ในการทำงานโจทก์ต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลย และทราบว่าจำเลยมีปรัชญาและสำนึกในการปฏิบัติงาน รวมทั้งโจทก์ได้ลงชื่อในเอกสารความผูกพันส่วนตัวของข้าพเจ้าต่อ “ปรัชญาและสำนึกในการปฏิบัติงาน” (The spirit & The Letter หรือ S&L) ไว้ด้วย แสดงให้เห็นว่า โจทก์ทราบอย่างดีว่าจำเลยให้ความสำคัญกับการที่พนักงานของจำเลยทุกคนซึ่งรวมถึงตัวโจทก์จะต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับการทำงานซึ่งรวมถึงการลงโทษพนักงานที่กระทำความผิดอย่างเคร่งครัด การที่โจทก์ประชุมพนักงานขายแล้วมีมติให้ลงโทษปรับพนักงานที่กระทำความผิด ซึ่งเป็นโทษที่ไม่ได้กำหนดไว้ในข้อบังคับการทำงานของจำเลยเป็นการกระทำโดยพลการ จึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย แต่การจะพิจารณาว่าการกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีที่ร้ายแรงหรือไม่นั้น ต้องคำนึงถึงลักษณะของการกระทำ พฤติการณ์ที่เกิดขึ้น ตลอดจนสภาพแวดล้อมต่าง ๆ เป็นแต่ละกรณีไปว่าเป็นกรณีที่ร้ายแรงหรือไม่ เมื่อโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้จัดการภาค มีหน้าที่ดูแลพนักงานขายและบริหารยอดขาย และทางสอบสวนของจำเลยไม่ปรากฏพยานหลักฐานที่บ่งชี้ว่าโจทก์นำเงินของผู้ใต้บังคับบัญชาที่ปรับมาได้ไปใช้เพื่อประโยชน์ของโจทก์หรือบุคคลอื่นอย่างชัดเจน ทั้งข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยคู่ความทั้งสองฝ่ายไม่โต้แย้งว่า พนักงานที่ถูกลงโทษปรับเงินเป็นพนักงานที่กระทำความผิดหรือปฏิบัติงานคลาดเคลื่อน บกพร่องจริง การลงโทษปรับประมาณครั้งละ 300 บาท แสดงว่าโจทก์ลงโทษปรับเงินเพื่อต้องการให้พนักงานปฏิบัติให้ถูกต้องตามหน้าที่และระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย การกระทำของโจทก์จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีที่ร้ายแรง และเมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เคยตักเตือนเป็นหนังสือมาก่อน จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 วรรคหนึ่ง (5)
โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยนับแต่วันเลิกจ้าง เมื่อจำเลยไม่ชำระภายในกำหนด โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง นับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2563 ซึ่งเป็นวันเลิกจ้าง โจทก์ยังคงเหลือวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่เลิกจ้างที่ยังไม่ได้ใช้สิทธิจำนวน 1.5 วัน จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่เลิกจ้างตามส่วนให้แก่โจทก์ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 67 วรรคหนึ่ง โดยโจทก์มีสิทธิได้รับเงินจำนวนดังกล่าวเมื่อพ้นกำหนดสามวันนับแต่วันที่เลิกจ้าง ตามมาตรา 70 วรรคสอง เมื่อจำเลยไม่ชำระภายในกำหนด โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง นับแต่วันที่ 5 สิงหาคม 2563 ซึ่งเป็นเวลาเมื่อพ้นกำหนดสามวันนับแต่วันที่เลิกจ้าง
(หลักกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง, 67, 70 วรรคสอง, 118, 119 วรรคหนึ่ง (4))
นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3582.เลิกจ้างเนื่องจากสถานการณ์โควิด 19

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3119 – 3135/2567 การพิจารณาว่าการเลิกจ้างจะเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 หรือไม่ ศาลจำต้องพิจารณาว่านายจ้างมีเหตุแห่งการเลิกจ้างหรือไม่ หากมีสาเหตุแห่งการเลิกจ้างตามที่นายจ้างกล่าวอ้างจริง สาเหตุนั้นสมควรและเพียงพอแก่การเลิกจ้างลูกจ้างหรือไม่ นอกจากนี้ยังจะต้องพิจารณาด้วยว่านายจ้างได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ เท่าที่จำเป็นและเหมาะสมเพื่อแก้ไขปัญหาก่อนการเลิกจ้าง รวมทั้งมีกระบวนการคัดเลือกลูกจ้างที่ต้องออกจากงานอย่างเหมาะสมและเป็นธรรมหรือไม่ประกอบกันด้วย

จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบเจ็ดซึ่งเป็นลูกจ้างโดยอ้างเหตุผลความจำเป็นด้านการจัดการ ได้ความว่าจำเลยมีโครงสร้างองค์กร แบ่งหน่วยงานผลิตสินค้าออกเป็น 3 ฝ่าย ฝ่ายผลิต 1 และฝ่ายผลิต 2 ผลประกอบการมีกำไร แต่ฝ่ายผลิต 3 ซึ่งเป็นฝ่ายผลิตสินค้าอาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง ผักและผลไม้แช่แข็ง ที่โจทก์ทั้งสิบเจ็ดทำงานอยู่ มีผลประกอบการขาดทุนอย่างต่อเนื่องมานานนับสิบปี และมีผลประกอบการขาดทุนเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในช่วง 4 ปี ย้อนหลังก่อนมีการเลิกจ้าง โดยปี 2559 ขาดทุน 2,257,902 บาท คิดเป็นร้อยละ 0.5 ของยอดจำหน่ายสินค้า ปี 2560 ขาดทุน 10,851,518 บาท คิดเป็นร้อยละ 2.5 ของยอดจำหน่ายสินค้า ปี 2561 ขาดทุน 21,419,971 บาท คิดเป็นร้อยละ 4.9 ของยอดจำหน่ายสินค้า ปี 2562 ขาดทุน 30,546,274 บาท คิดเป็นร้อยละ 7.3 ของยอดจำหน่ายสินค้า ส่วนปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่เลิกจ้าง ขาดทุน 18,609,922 บาท คิดเป็นร้อยละ 5.5 ของยอดจำหน่ายสินค้า แม้ในปี 2563 ภายหลังเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 แล้ว ผลประกอบการของฝ่ายผลิต 3 จะขาดทุนลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับผลประกอบการในปี 2562 แต่ก็เห็นได้ว่าฝ่ายผลิต 3 ยังมีสถานะขาดทุนต่อเนื่องอยู่เช่นเดิม โดยมียอดขายลดลงอย่างมาก และการขาดทุนในอัตราส่วนที่ลดลงบ้างดังกล่าวก็ยังไม่มีนัยสำคัญหรือบ่งชี้ว่าการดำเนินงานของฝ่ายผลิต 3 จะสามารถรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ได้ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในประเทศไทยช่วงเดือนมกราคม 2563 ยังไม่มียารักษาโรคหรือวัคซีนป้องกันโรคได้ แนวโน้มของการแพร่ระบาดจึงรุนแรงจนรัฐบาลต้องกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อควบคุมยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดต่อดังกล่าว ถึงขั้นปิดสถานบริการหรือสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค และแม้รัฐบาลจะมีมาตรการที่เข้มงวดแต่ก็ปรากฏว่ามีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น สาเหตุที่จำเลยหยิบยกขึ้นเป็นเหตุเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบเจ็ดโดยอ้างว่าสืบเนื่องมาจากกิจการของจำเลยประสบปัญหาการดำเนินงานและปริมาณงานของแผนกลดน้อยลงเป็นอย่างมากจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 จำเป็นต้องปรับปรุงหน่วยงานของจำเลยเพื่อความอยู่รอดขององค์กร จึงนับเป็นสาเหตุที่มีอยู่จริงและแม้ขณะเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบเจ็ดกิจการทั้งหมดของจำเลยยังมีกำไรไม่ได้มีผลประกอบการขาดทุนก็ตาม แต่ในฝ่ายผลิต 3 ที่โจทก์ทั้งสิบเจ็ดทำงานอยู่มีผลประกอบการขาดทุนในแต่ละปีเป็นจำนวนมากและต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเวลานานหลายปี ประกอบในช่วงระยะเวลาดังกล่าวประเทศไทยยังประสบกับภาวะวิกฤติด้านสาธารณสุขจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้ยอดคำสั่งซื้อสินค้าลดน้อยลง และยังไม่เป็นการแน่นอนว่าวิกฤติการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจเพียงใดและจะยุติจบสิ้นลงเมื่อใด หากจำเลยไม่ดำเนินมาตรการต่าง ๆ ที่จำเป็นเพื่อปรับปรุงแก้ไขฝ่ายผลิต 3 ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีผลการดำเนินงานขาดทุนให้ดีขึ้นแล้ว ย่อมมีผลกระทบโดยตรงต่อผลประกอบการโดยรวมของจำเลยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งอาจทำให้กิจการทั้งหมดของจำเลยมีผลกำไรลดน้อยลงหรือถึงกับขาดทุนได้ ดังนั้น การที่จำเลยผู้เป็นนายจ้างดำเนินการปรับปรุงหน่วยงานฝ่ายผลิต 3 โดยลดจำนวนลูกจ้างทำงานในหน่วยงานดังกล่าวให้น้อยลงเพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรให้เหมาะสมกับปริมาณงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในหน่วยผลิตที่เป็นปัญหา จึงเป็นอำนาจจัดการของนายจ้างที่สามารถทำได้ภายใต้การประกอบการค้าเสรีและตามสภาวะการแข่งขันในทางธุรกิจ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบเจ็ดซึ่งเป็นลูกจ้างในฝ่ายผลิต 3 เพราะสาเหตุดังกล่าวจึงนับได้ว่ามีเหตุผลที่สมควรและเพียงพอแก่การเลิกจ้างได้ ก่อนเลิกจ้างจำเลยมอบหมายให้หัวหน้างานของแต่ละแผนกไปแจ้งลูกจ้างให้ทราบถึงสถานการณ์ของจำเลยในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และจำเลยมีมาตรการต่าง ๆ เพื่อประคับประคองกิจการในภาพรวม เช่น การปรับลดลูกจ้างในหน่วยประสานงานและติดต่อลูกค้า หน่วยงานสนับสนุน และหน่วยงานผลิตสินค้า ฯลฯ ลดการทำงานล่วงเวลาไม่จ้างลูกจ้างใหม่เพิ่ม เป็นต้น ทั้งจำเลยยังได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกลูกจ้างที่จำเลยจะเลิกสัญญา ได้แก่ การพิจารณาลูกจ้างที่สมัครใจลาออกก่อน การพิจารณาความซ้ำซ้อนของหน้าที่ในการทำงานและประสิทธิภาพในการทำงาน การพิจารณาลูกจ้างที่ถูกดำเนินการทางวินัย การพิจารณาลูกจ้างที่อายุงานน้อยหรือลูกจ้างที่เข้าใหม่ การพิจารณาลูกจ้างที่มีความเสี่ยงต่อผลกระทบจากการติดเชื้อโรคโควิด 19 สูง และการพิจารณาลูกจ้างที่มีผลการทำงานและความรู้ความสามารถเหมาะสมที่จะทำงานกับจำเลยต่อไป เพื่อให้อัตรากำลังเหมาะสมกับปริมาณงาน แสดงให้เห็นว่าจำเลยได้พยายามดำเนินการต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาก่อนการเลิกจ้างอย่างเป็นขั้นตอน รวมทั้งมีหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกลูกจ้างที่จะถูกเลิกจ้างอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ยังรุนแรงและส่งผลต่อกิจการของจำเลย ฝ่ายผลิต 3 ยังคงขาดทุนอย่างต่อเนื่อง การที่จำเลยปรับปรุงองค์กรและลดจำนวนลูกจ้างโดยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบเจ็ดซึ่งทำงานในหน่วยงานที่ประสบปัญหาตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว บ่งชี้ว่าจำเลยเลิกจ้างเนื่องจากความจำเป็นด้านการจัดการไม่ได้เลือกปฏิบัติหรือกลั่นแกล้งเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบเจ็ด ดังนั้น เมื่อจำเลยมีเหตุแห่งการเลิกจ้างและสาเหตุดังกล่าวสมควรและเพียงพอแก่การเลิกจ้างรวมทั้งจำเลยได้ใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาก่อนการเลิกจ้าง ตลอดจนใช้กระบวนการคัดเลือกลูกจ้างที่ถูกออกจากงานซึ่งรวมถึงโจทก์ทั้งสิบเจ็ดอย่างเหมาะสมและเป็นธรรมแล้ว การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบเจ็ดจึงไม่ใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 โจทก์ทั้งสิบเจ็ดไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

(หลักกฎหมาย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849