ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3400.โอนเงินตามสัญญาจ้างให้แก่ผู้รับผิดคน ผู้โอนมีสิทธิติดตามเอาเงินคืนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4569/2566 (ประชุมใหญ่) โจทก์เป็นหน่วยงานของรัฐมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการประจำทั่วไปของกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งกำกับและเร่งรัดการปฏิบัติราชการของส่วนราชการในกระทรวงให้เป็นไปตามนโยบายและแผนการปฏิบัติราชการของหน่วยงาน โจทก์โดยสำนักงบประมาณได้โอนจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556 ถึงปี 2558 เป็นเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นให้แก่สำนักงานจังหวัดโดยตรง เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล จากนั้นจังหวัดขอนแก่นเห็นชอบหลักเกณฑ์ ขั้นตอน แนวทางและคู่มือการดำเนินงานมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบลตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ จึงมอบอำนาจให้นายอำเภอพระยืนเป็นผู้มีอำนาจปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นในการสั่งซื้อสั่งจ้างและดำเนินการเกี่ยวกับการพัสดุทุกขั้นตอนในวงเงินสั่งซื้อสั่งจ้างไม่เกิน 5,000,000 บาท โจทก์โดยนายอำเภอพระยืนในฐานะผู้รับมอบอำนาจได้ตกลงทำสัญญาจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัด ท. ให้ดำเนินการปรับปรุงผิวจราจรลูกรังวงเงิน 439,000 บาท ตามสัญญาจ้างเลขที่ 15/2559 ต่อมาห้างหุ้นส่วนจำกัด ท. ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องในเงินค่าจ้างตามสัญญาจ้างเลขที่ 15/2559 จำนวนเงินค่าจ้าง 439,000 บาท ให้แก่ ก. โดยห้างหุ้นส่วนจำกัด ท. มีหนังสือบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวให้โจทก์ทราบแล้ว แต่โจทก์กลับโอนเงินตามสัญญาจ้างดังกล่าวให้แก่จำเลยโดยคลาดเคลื่อนซึ่งเป็นการโอนเงินให้ผู้รับผิดคนและเป็นการผิดหลง ซึ่งจำเลยให้การและนำสืบรับว่าจำเลยได้รับเงินดังกล่าวจากโจทก์จริง เช่นนี้ เมื่อปรากฏว่าเงินที่โจทก์โอนให้แก่จำเลยเป็นเงินงบประมาณแผ่นดินอันเป็นทรัพย์ของแผ่นดินโดยผิดหลง โจทก์จึงมีหน้าที่และสิทธิติดตามนำเงินงบประมาณแผ่นดินดังกล่าวคืนกลับมาเพื่อใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินจากจำเลยผู้ไม่มีสิทธิรับเงินงบประมาณแผ่นดิน แม้จำเลยจะอ้างว่าจำเลยเข้าใจว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างที่จำเลยจะต้องได้รับจากโจทก์ และได้ใช้เงินจำนวนดังกล่าวไปแล้วก่อนที่โจทก์จะทวงถามให้จำเลยคืนก็ตาม จำเลยก็ต้องส่งเงินที่ได้รับไปโดยไม่มีสิทธิพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องคืนให้แก่โจทก์ผู้เป็นเจ้าของงบประมาณที่มีสิทธิติดตามเอาคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 และไม่ใช่กรณีที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องในฐานะเจ้าหนี้ฟ้องให้จำเลยคืนทรัพย์ในฐานะลาภมิควรได้

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3398.ร้องขอเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่อาคารชุด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4469/2566 ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้เข้าร่วมประชุมนิติบุคคลอาคารชุด ส. จัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2559 และวันที่ 14 พฤษภาคม 2559 โดยเจ้าของร่วมจำนวนมากที่มอบฉันทะให้ผู้อื่นเข้าร่วมประชุมออกเสียงลงคะแนนแทนโดยใบมอบฉันทะมิได้ปิดอากรแสตมป์ ผู้รับมอบฉันทะจึงไม่มีสิทธิเข้าร่วมประชุมและออกเสียงแทนได้ นอกจากนี้ลายมือชื่อเจ้าของร่วมที่เข้าร่วมประชุมทั้งสองครั้งตามบัญชีรายชื่อนั้นไม่ปรากฏรายละเอียดว่าเกี่ยวข้องกับการประชุมอย่างไรจึงไม่สามารถใช้จดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินได้ การประชุมและการลงคะแนนตามมติที่ประชุมจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย รายงานการประชุมใหญ่เป็นเท็จ ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการประชุมใหญ่ทั้งสองครั้งและให้เพิกถอนรายงานการประชุมทั้งสองฉบับ ตามคำร้องดังกล่าวเท่ากับผู้ร้องกล่าวอ้างว่าการประชุมใหญ่สามัญดังกล่าวมีผู้มาประชุมซึ่งมีเสียงลงคะแนนรวมกันน้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนเสียงลงคะแนนทั้งหมดตามพ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 43 แต่พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 ไม่มีบทบัญญัติถึงการดำเนินการเกี่ยวกับการประชุมที่ฝ่าฝืนนั้นแต่อย่างใด จึงต้องวินิจฉัยอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 ซึ่งตามคำร้องของผู้ร้องเป็นการกล่าวอ้างว่า การลงมติของคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดมีเจ้าของร่วมร่วมประชุมไม่ครบองค์ประชุมไม่มีลักษณะเป็นการประชุมกันจริง เช่นนี้ การประชุมดังกล่าวถือไม่ได้ว่าเป็นการประชุมใหญ่สามัญของเจ้าของร่วมซึ่งเป็นเจ้าของห้องชุดในวันที่ 30 เมษายน 2559 และวันที่ 14 พฤษภาคม 2559 แต่ต้องถือว่าการประชุมใหญ่สามัญของนิติบุคคลอาคารชุดมิได้เกิดขึ้นจริงและไม่มีการประชุมกันจริง คงมีเพียงการลงมติซึ่งนำไปใช้อ้างต่อนายทะเบียนเพื่อใช้ในการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงอันเป็นการมิชอบด้วยกฎหมาย การที่ผู้ร้องขอให้เพิกถอนมติดังกล่าวจึงมิใช่การร้องขอให้เพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่ที่ผิดระเบียบตาม ป.พ.พ. มาตรา 1195 ที่ต้องขอให้เพิกถอนภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันลงมติ เมื่อวินิจฉัยว่ากรณีไม่ใช่เป็นการยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมตามมาตรา 1195 การที่บุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาลโดยยื่นคำร้องขอฝ่ายเดียวเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 และมาตรา 188 (1) จะต้องมีกฎหมายบัญญัติรับรองให้ใช้สิทธิทางศาลโดยยื่นคำร้องขอในกรณีนั้น ๆ ได้ แต่กรณีตามคำร้องของผู้ร้องไม่มีกฎหมายใดสนับสนุนรับรองให้ผู้ร้องกระทำเช่นนั้นได้ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องเป็นคดีนี้ หากผู้ร้องถูกโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ประการใด ผู้ร้องชอบที่จะเสนอคดีต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอำนาจได้โดยเป็นโจทก์ยื่นฟ้องอย่างคดีมีข้อพิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7

(หมายเหตุ 1 คดีนี้ ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการประชุมใหญ่สามัญเจ้าของร่วมทั้งสองครั้งดังกล่าวและให้เพิกถอนรายงานการประชุมทั้งสองฉบับ

2 ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า ผู้ร้องไม่ได้ยื่นคำขอให้เพิกถอนภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันลงมติ พิพากษายกฟ้อง

3 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่ผู้ร้องขอให้เพิกถอนมติดังกล่าวจึงมิใช่การร้องขอให้เพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่ที่ผิดระเบียบตาม ป.พ.พ. มาตรา 1195 ที่ต้องขอให้เพิกถอนภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันลงมติดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย แต่เป็นกรณีที่ผู้ร้องเป็นกล่าวอ้างว่า การลงมติของคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดมีเจ้าของร่วมร่วมประชุมไม่ครบองค์ประชุม ไม่มีลักษณะเป็นการประชุมกันจริง

6 ศาลฎีกาวินิจฉัยต่อไปว่า กรณีของผู้ร้องไม่มีกฎหมายใดสนับสนุนรับรองให้ผู้ร้องกระทำเช่นนั้นได้ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องเป็นคดีนี้ พิพากษายืน)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3399.ปรับเปลี่ยนอัตราค่าใช้จ่ายส่วนกลางของอาคารชุดโดยที่ประชุมใหญ่ไม่ครบองค์ประชุม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3127/2566 (เล่ม 9 หน้า 103) กรณีมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการนัดเรียกหรือการนัดประชุมหรือการลงมติในการประชุมใหญ่เจ้าของร่วมว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุดต้องได้รับการวินิจฉัยชี้ขาดโดยเร็ว เพื่อให้กิจการของนิติบุคคลอาคารชุดดำเนินไปอย่างต่อเนื่องไม่กระทบต่อความเป็นอยู่ของเจ้าของร่วม เมื่อไม่มีบทบัญญัติตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 บังคับใช้โดยเฉพาะแก่การนัดเรียกหรือการประชุมหรือการลงมติที่ฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติดังกล่าวหรือข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุด การนำบทบัญญัติ มาตรา 1195 แห่ง ป.พ.พ. มาใช้บังคับแก่การประชุมใหญ่เจ้าของร่วม ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 ในฐานะเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง จึงนับว่ามีความเหมาะสมสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้การจัดการตลอดจนการแก้ไขปัญหานิติบุคคล อาคารชุดเป็นไปอย่างรวดเร็วและตรงตามความประสงค์ของเจ้าของร่วมทั้งหลาย

การนำบทบัญญัติ มาตรา 1195 แห่ง ป.พ.พ. มาใช้บังคับกรณีการลงมติในการประชุมใหญ่เจ้าของร่วมที่ฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 หรือข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุดได้นั้น ต้องเป็นกรณีมติของที่ประชุมเจ้าของร่วมที่ได้ดำเนินการครบถ้วนตามกระบวนการและขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้ด้วย เมื่อการประชุมใหญ่สามัญของแต่ละปีมีการลงมติแก้ไขเปลี่ยนแปลงปรับอัตราส่วนค่าใช้จ่ายส่วนกลาง โดยอ้างว่าเป็นการจัดเก็บเพื่อการบำรุงรักษาสำหรับห้องชุดในอัตรา 10 บาท ต่อตารางเมตรต่อเดือน ด้วยคะแนนเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนเสียงของเจ้าของร่วมทั้งหมดตามมาตรา 48 วรรคหนึ่ง แต่คณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดซึ่งมีหน้าที่จัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญกลับมิได้เรียกให้มีการประชุมใหม่ เพื่อให้เจ้าของร่วมลงมติกันใหม่อันเป็นขั้นตอนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 48 วรรคสอง การเรียกเงินเพิ่มดังกล่าว จึงยังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ตามขั้นตอนของกฎหมาย มติของที่ประชุมเจ้าของร่วมที่เรียกเก็บเงินเพิ่มสำหรับห้องชุดในอัตรา 10 บาท ต่อตารางเมตรต่อเดือน จึงสิ้นสภาพไปโดยที่ไม่มีผลบังคับตามกฎหมายโดยไม่จำต้องร้องขอให้เพิกถอนตาม ป.พ.พ.มาตรา 1195 แต่อย่างใด

(หมายเหตุ 1 ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า คณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญเจ้าของร่วม ประจำปี 2559 ปี 2560 และปี 2561 มีการพิจารณาจัดเก็บเงินเพื่อบำรุงรักษาสำหรับห้องชุด อัตรา 10 บาท ต่อตารางเมตรต่อเดือน อ้างว่าเป็นเงินอื่นเพื่อปฏิบัติตามมติที่ประชุมใหญ่ภายใต้เงื่อนไขซึ่งที่ประชุมใหญ่กำหนด ตามมาตรา 40(3) แห่ง พ.ร.บ. อาคารชุด พ.ศ. 2522 โดยได้รับคะแนนเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งของคะแนนเสียงของเจ้าของร่วมทั้งหมด

2 โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงิน 23,477 บาท พร้อมดอกเบี้ย

3 ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เงินดังกล่าวมีลักษณะเป็นค่าใช้จ่ายร่วมกับนของเจ้าของร่วมตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุด ตามมาตรา 18 ประกอบมาตรา 32(8) โดยพิพากษายกฟ้อง

4 ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า เมื่อโจทก์เจ้าของร่วมมิได้ร้องขอเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ของเจ้าของร่วมภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันลงมติที่ประชุมใหญ่ของเจ้าของร่วม ย่อมมีผลสมบูรณ์และบังคับได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินที่ชำระไปแล้วคืนจากจำเลยได้ พิพากษายืน

5 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การเรียกเก็บเงินเพิ่มดังกล่าวยังไม่สมบูรณ์ตามขั้นตอนของกฎหมาย มติของที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมที่เรียกเก็บเงินเพิ่มจึงสิ้นสภาพไปไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย โดยไม่จำต้องร้องขอให้เพิกถอน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1195 แต่อย่างใด และมีคำวินิจฉัย ดังกล่าวข้างต้น โดยพิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 17,505.60 บาท พร้อมดอกเบี้ย)

 

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3397.นำทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดไปทำเป็นร้านกาแฟ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3615/2566 มาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ.อาคารชุด (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 บัญญัติมิให้นําบทบัญญัติในมาตรา 17/1 และมาตรา 65 แห่ง พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ มาใช้บังคับแก่อาคารชุดซึ่งได้จดทะเบียนเป็นอาคารชุดและมีห้องชุดที่ใช้เพื่อประกอบการค้าอยู่ก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ดังนั้น นอกจากจะต้องจดทะเบียนเป็นอาคารชุดก่อนวันที่ พ.ร.บ.อาคารชุด (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 มีผลใช้บังคับแล้วยังต้องมีห้องชุดที่ใช้เพื่อประกอบการค้าอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัติอาคารชุดฉบับดังกล่าวมีผลใช้บังคับด้วย เมื่อจำเลยเพิ่งนําพื้นที่ซึ่งเป็นทรัพย์ส่วนกลางของนิติบุคคลอาคารชุด ช. ก่อสร้างร้านกาแฟ ร้านตัดผม ร้านสปา ห้องสำนักงานบริหารโรงแรมของจำเลย ห้องเก็บของและห้องน้ำของจำเลย ภายหลังจาก พ.ร.บ.อาคารชุด (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 มีผลใช้บังคับแล้ว มิใช่กรณีห้องชุดที่ใช้เพื่อประกอบการค้ามีอยู่ก่อนวันที่ พ.ร.บ.อาคารชุด (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 มีผลใช้บังคับ มาตรา 17/1 และมาตรา 65 แห่ง พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.อาคารชุด (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 จึงมีผลใช้บังคับแก่นิติบุคคลอาคารชุด ช. ด้วย และเมื่อข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุด ช. ข้อที่ 26.18 กำหนดว่าเจ้าของร่วมหรือผู้ใช้ประโยชน์ห้องชุดจะใช้พื้นที่จอดรถเพื่อการอื่นมิได้นอกจากการใช้เพื่อจอดรถ และจะต้องจอดรถตามตำแหน่งที่จอดรถของอาคารชุดตามข้อตกลงที่ได้กำหนดไว้เท่านั้น และข้อบังคับข้อที่ 26.19 กำหนดให้คณะกรรมการหรือที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมโดยผู้จัดการมีอำนาจในการงดให้บริการสาธารณูปโภคมีอำนาจริบเงินค่าประกันใด ๆ หรือเรียกเก็บค่าเสียหาย หรือระงับยกเลิกมิให้ดำเนินการ หรือสั่งการให้รื้อถอนหรือเข้ารื้อถอนส่วนใด ๆ รวมทั้งสั่งการให้ปรับปรุงแก้ไขให้อยู่ในสภาพเดิมด้วยค่าใช้จ่ายของเจ้าของร่วมนั้น อันเป็นบทบังคับมิให้มีการใช้ประโยชน์จากทรัพย์ส่วนกลางโดยฝ่าฝืนข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุด ช. และฝ่าฝืนต่อมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 การลงมติในการประชุมใหญ่สามัญเจ้าของร่วมครั้งที่ 1/2553 ที่อนุญาตให้จำเลยสามารถนําพื้นที่ส่วนบุคคลของจำเลยและพื้นที่ส่วนกลางไปทำประโยชน์ในเชิงพาณิชย์โดยสร้างร้านกาแฟ ร้านตัดผม ร้านสปา ห้องสำนักงานของจำเลย ห้องเก็บของและห้องน้ำของจำเลยได้ จึงเป็นการขัดต่อข้อบังคับข้อที่ 26.18 นอกจากนั้นจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุดในอาคารชุด ช. โดยมีอัตราส่วนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดเกินกว่ากึ่งหนึ่งของอัตราส่วนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนกลางทั้งหมด จำเลยเพียงผู้เดียวจึงมีคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนคะแนนเสียงทั้งหมด แต่ในการลงมติในการประชุมครั้งดังกล่าวไม่มีการลดจำนวนคะแนนเสียงของจำเลยลงมาเหลือเท่ากับคะแนนเสียงของเจ้าของร่วมอื่น ๆ รวมกัน ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 45 วรรคสอง มติดังกล่าวจึงไม่ชอบ จำเลยไม่อาจอ้างเอาผลการลงมติดังกล่าวเป็นประโยชน์แก่ตน การที่จำเลยนําเอาพื้นที่จอดรถส่วนกลางไปประกอบการค้าเพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ของจำเลยโดยนิติบุคคลอาคารชุด ช. มิได้มีการจัดพื้นที่ของอาคารชุดเพื่อประกอบการค้าไว้ก่อนแล้ว จึงเป็นความผิดตามฟ้อง

(หมายเหตุ 1 คดีนี้ เจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุดห้องหนึ่ง ฟ้องเจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุดอีกห้องหนึ่ง ที่ได้นำทรัพย์สินส่วนกลางของนิติบุคคลอาคารชุด ซึ่งมติที่ประชุมใหญ่ของเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมอาคารชุดให้นิติบุคคลอาคารชุดนำทรัพย์สินส่วนกลางของนิติบุคคลอาคารชุด ให้เจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุดที่ถูกฟ้องไปก่อสร้างเป็นร้านกาแฟ

2 ศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่พิพากษาให้จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 17/1 วรรคสอง, 65 ปรับ 50,000 บาท และปรับอีกวันละ 5,000 บาท ตลอดเวลาที่ฝ่าฝืน)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

สภาทนายความ เปิดอบรมคณะกรรมการ สอบสวนคดีมรรยาททนายความ จังหวัดสุรินทร์

สภาทนายความ เปิดอบรมคณะกรรมการ สอบสวนคดีมรรยาททนายความ

เมื่อวันเสาร์ที่ 28 กันยายน 2567 เวลา 08.30 – 17.00 น. ที่โรงแรมทองธารินทร์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ : ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ เป็นประธานในพิธีเปิดและปาฐกถาพิเศษในโครงการอบรมสัมมนาเพื่อพัฒนาทักษะประสิทธิภาพในการสอบสวนคดีมรรยาททนายความ และขึ้นทะเบียน โดยมี นายสัมฤทธิ์ แดงมันฮับ ประธานสภาทนายความจังหวัดสุรินทร์ และนายวีระศักดิ์ บุญเพลิง กรรมการบริหารสภาทนายความ ภาค 3 กล่าวต้อนรับ นายไพฑูรย์ พฤฒาสัจธรรม กรรมการมรรยาททนายความ กล่าวรายงาน และนายปัญญา ธีระรัตนนนท์ เลขานุการกรรมการสภาทนายความภาค 3 เป็นผู้ดำเนินรายการ

ยังได้รับเกียรติจาก นายสิทธิพร สาระคำ อดีตประธานสภาทนายความจังหวัดชัยภูมิ นายสุเนตร แก้วอมตะวงศ์ อดีตประธานสภาทนายความจังหวัดอุบลราชธานี นายพลกฤต เนาประโคน อดีตประธานสภาทนายความจังหวัดบุรีรัมย์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ นายชาติชาย พิเชษฐชัยกุล รองประธานกรรมการสภาทนายความภาค 3 นายนราธิป สิงขรอาสน์ ประธานสภาทนายความจังหวัดชัยภูมิ นายวุฒิกาญจน์ กุลสุวรรณ ประธานสภาทนายความจังหวัดบุรีรัมย์ นายวิทยา วัฒนะ ประธานสภาทนายความจังหวัดนางรอง นายพรเทพ เจริญพงศ์อนันต์ ประธานสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา นายประสิทธิ์ ทองนาเมือง ประธานสภาทนายความจังหวัดบัวใหญ่ นายสมศักดิ์ นาคสมบูรณ์ ประธานสภาทนายความจังหวัดพิมาย นายบุญประเสริฐ นวลสาย ประธานสภาทนายความจังหวัดศรีสะเกษ นายธรรมกาญจน์ สังวาลย์ ประธานสภาทนายความจังหวัดรัตนบุรี นายไพศาล ยศธรกีรติ ประธานสภาทนายความจังหวัดยโสธร นางสาวเสาวลักษณ์ ทิฏฐิมานะวิสุทธิ ประธานสภาทนายความจังหวัดสีคิ้ว นายคำพันธ์ วรรณโท ประธานสภาทนายความจังหวัดเดชอุดม และ นายประสิทธิ์ศักดิ์ ฝอยทอง ประธานสภาทนายความจังหวัดกันทรลักษ์

 

นอกจากนี้ ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ให้เกียรติเป็นวิทยากรบรรยายหัวข้อ “สภาพปัญหาในการพิจารณาคดีมรรยาททนายความ” นายสุชาติ ชมกุล อุปนายกฝ่ายกิจการพิเศษ บรรยายหัวข้อ “การแก้ไขข้อบังคับสภาทนายความ ว่าด้วยการพิจารณาคดีมรรยาททนายความ พ.ศ.2546” นายคณิต วัลยะเพ็ชร์ ประธานกรรมการมรรยาททนายความ บรรยายหัวข้อ “ข้อบังคับสภาทนายความ ว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ.2529”

ต่อมาเวลา 13.00 น. นายมะโน ทองปาน รองประธานกรรมการมรรยาททนายความ บรรยายหัวข้อ “ทนายความกับสื่อสาธารณะ” นายคณิต วัลยะเพ็ชร์ ประธานกรรมการมรรยาททนายความ นายเจษฎา คงรอด รองประธานกรรมการมรรยาททนายความ และนายไพฑูรย์ พฤฒาสัจธรรม กรรมการมรรยาททนายความ ร่วมบรรยายหัวข้อ “การพิจารณาคดีมรรยาททนายความ ข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยการพิจารณาคดีมรรยาททนายความ พ.ศ.2546” “การพัฒนาทักษะและประสิทธิภาพในการสอบสวนคดีมรรยาททนายความ” และ “การทำความเห็นคดีมรรยาททนายความ”

ซึ่งมี คณะกรรมการบริหารสภาทนายความภาค 3 คณะกรรมการสอบสวนคดีมรรยาททนายความ และทนายความในจังหวัดสุรินทร์ เข้าร่วมอบรม เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นกรรมการสอบสวนมรร ยาททนายความ ในครั้งนี้เป็นจำนวนมาก

ต

 

 

“ไม่มีใครรักเราเท่าเรารักกัน” ดร.วิเชียร เดินทางให้กำลังใจ อดีตกรรมการบริหารสภาทนายความภาค 3 เมืองบุรีรัมย์

เมื่อวันศุกร์ที่ 27 กันยายน 2567 เวลา 16.30 น. : ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ นายสุชาติ ชมกุล อุปนายกฝ่ายกิจการพิเศษ นายวีระศักดิ์ บุญเพลิง กรรมการบริหารสภาทนายความภาค 3 นายวุฒิกาญจน์ กุลสุวรรณ ประธานสภาทนายความจังหวัด บุรีรัมย์ และคณะกรรมการสภาทนายความจังหวัดบุรีรัมย์ ได้เดินทางไปเยี่ยมและให้กำลังใจทนายความอาวุโส นายถาวร จันทร์สม อดีตกรรมการบริหารสภาทนายความภาค 3 ที่บ้านพักในเมืองบุรีรัมย์

#ไม่มีใครรักเราเท่าเรารักกัน

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3396.เจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุด ฟ้องผู้ก่อสร้างอาคารชุด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3417/2566 (เล่ม 9 หน้า 114) ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 17 บัญญัติว่า การจัดการและการใช้ทรัพย์ส่วนกลางให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ และตามข้อบังคับมาตรา 33 วรรคสอง บัญญัติว่า นิติบุคคลอาคารชุดมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลาง และให้มีอำนาจกระทำการใดๆ เพื่อประโยชน์ ตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว ทั้งนี้ ตามมติของเจ้าของร่วมภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้ มาตรา 35 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ให้นิติบุคคลอาคารชุดมีผู้จัดการคนหนึ่ง…….. มาตรา 36 บัญญัติว่า ผู้จัดการมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ (1) ปฏิบัติการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตามมาตรา 33 ตามข้อบังคับหรือตามมติของที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วม หรือคณะกรรมการ ทั้งนี้โดยไม่ขัดต่อกฎหมาย……… ซึ่งในมาตรา 39 บัญญัติว่า นิติบุคคลอาคารชุดอาจใช้สิทธิของเจ้าของร่วมครอบไปถึงทรัพย์ส่วนกลางทั้งหมดในการต่อสู้บุคคลภายนอก หรือเรียกร้องเอาทรัพย์สินคืนเพื่อประโยชน์ของเจ้าของร่วมทั้งหมด เห็นได้ชัดว่า การจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางของนิติบุคคลอาคารชุดยังคงเป็นอำนาจเด็ดขาดของเจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุดอยู่ เพียงแต่ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 ให้อำนาจเพิ่มเติมแก่นิติบุคคลอาคารชุดในการใช้สิทธิของเจ้าของร่วมครอบไปถึงทรัพย์ส่วนกลางทั้งหมดในการต่อสู้บุคคลภายนอก หรือเรียกร้องเอาทรัพย์สินคืน เพื่อประโยชน์ของเจ้าของร่วมทั้งหมด โดยบทบัญญัติของกฎหมายไม่จำต้องแสดงเจตนามอบอำนาจให้แก่นิติบุคคลไปดำเนินการเป็นรายๆไปอีก ในการปกปักรักษาทรัพย์ส่วนกลางเพื่อความสะดวกแก่เจ้าของร่วมอาคารชุด เนื่องจากเจ้าของร่วมแต่ละอาคารชุดมีเป็นจำนวนมาก เมื่อไม่มีบทบัญญัติมาตราใดโดยชัดแจ้งตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 ลบล้างอำนาจของเจ้าของรวมในการจัดการทรัพย์สิน ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1358 การฟ้องคดีเพื่อขอให้บังคับจำเลยในฐานะผู้ประกอบธุรกิจขายห้องชุดชำระค่าเสียหายจากการที่ทรัพย์ส่วนกลางเกิดความชำรุดบกพร่องตามฟ้องเพื่อให้เกิดประโยชน์ตามสภาพปกติของทรัพย์สินนั้นตามแผนผัง แบบแปลน และรายการประกอบแบบแปลน ที่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงเป็นการจัดการทรัพย์สินตามธรรมดาเพื่อรักษาทรัพย์สินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1358 วรรคสอง โจทก์ทั้งเจ็ดสิบสี่หรือเจ้าของร่วมคนใดคนหนึ่งมีสิทธิจัดการได้เสมอโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของร่วมคนอื่นก่อน ส่วนข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุด อ. หมวด 3 ว่าด้วยวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลอาคารชุด หมวด 4 ว่าด้วยผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด หมวด 13 ว่าด้วยการประชุมใหญ่เจ้าของร่วม เป็นข้อบังคับที่อนุวัติการตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 หามีผลทำให้อำนาจแห่งเจ้าของกรรมสิทธิ์อันเป็นทรัพยสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โจทก์ทั้งเจ็ดสิบสี่บรรยายฟ้องมาด้วยว่า นิติบุคคลอาคารชุดเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิฟ้องแทนโจทก์ทั้งเจ็ดสิบสี่ตามกฎหมาย โจทก์ทั้งเจ็ดสิบสี่จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ และจะขอให้หมายเรียกนิติบุคคลอาคารชุด เข้ามาเป็นส่วนร่วมต่อไป เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งเรียกให้โจทก์ร่วมเข้ามาในคดีตามคำร้องขอของโจทก์ทั้งเจ็ดสิบสี่ โดยโจทก์ร่วมมิได้คัดค้านข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมาย โจทก์ทั้งเจ็ดสิบสี่และโจทก์ร่วมต่างมีอำนาจฟ้อง และการที่โจทก์ร่วมเข้าร่วมเป็นโจทก์จึงชอบแล้ว

(หมายเหตุ 1 คดีนี้โจทก์ทั้งเจ็ดสิบสี่ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 62 ล้านบาทเศษ พร้อมดอกเบี้ย ให้จำเลย ดำเนินการเปลี่ยนโต๊ะอ่านหนังสือในห้องสมุดให้มีขนาดเล็กลงสำหรับนั่งคนเดียว แก้ไขน้ำท่วมขังถนน ฝาท่อ บ่อบำบัดน้ำเสีย พื้นที่ทางเดินส่วนกลางแต่ละชั้น ให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงกระจกอลูมิเนียมทั้งอาคารให้เป็นไปตามแบบ แก้ไขน้ำประปามีกลิ่นเหม็น โดยติดตั้งระบบกันซึม และแก้ไขข้อบกพร่องในส่วนประตูล็อบบี้ มอเตอร์เติมอากาศในบ่อบำบัด และอื่นๆ

2 ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยข้างต้น โดยพิพากษาให้จำเลยดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกระจกที่ติดตั้งในพื้นที่ทรัพย์ส่วนกลางทั้งอาคารให้เป็นไปตามแบบแปลนและ รายการตามที่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน 180 วัน นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

นายกสภาทนายความ เป็นประธานในพิธีฌาปนกิจ บิดาอดีตกรรมการสภาทนายความจังหวัดสมุทรสงคราม      

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน 2567 เวลา 15.00 น. ที่วัดป้อมแก้ว ตำบลแม่กลอง อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม : ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ นายสมชาย ลิ้มสกุล ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสิทธิมนุษยชนสภาทนายความ และประธานอนุกรรมการด้านคดีสิทธิมนุษยชนสภาทนายความ ได้เดินทางไปเป็นประธานในพิธีฌาปนกิจคุณพ่อประเวศน์ เพชรพุ่ม บิดาของทนายธวัช เพชรพุ่ม อดีตกรรมการสภาทนายความจังหวัดสมุทรสงคราม

ขอให้ดวงวิญญาณของคุณพ่อประเวศน์ เพชรพุ่ม จงสู่สุคติในสัมปรายภพตราบนิรันดร์

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3395.ศาลตั้งผู้ชำระบัญชีให้กับบริษัทร้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4538/2566 บริษัทผู้ร้องเป็นบริษัทร้างซึ่งนายทะเบียนได้ขีดชื่อออกจากทะเบียน ตามมาตรา 1273/3 แห่ง ป.พ.พ. บริษัทผู้ร้องย่อมสิ้นสภาพนิติบุคคลตั้งแต่เมื่อนายทะเบียนขีดชื่อออกจากทะเบียนโดยผลแห่งกฎหมาย และเป็นกรณีที่ต้องบังคับตาม ป.พ.พ. บรรพ 3 ลักษณะ 22 หมวด 6 ว่าด้วยการถอนทะเบียนบริษัทจำกัดร้างมิใช่การเลิกบริษัทที่จะต้องมีการชำระบัญชีตามบทบัญญัติในหมวด 4 ส่วนที่ 8 ซึ่งจะต้องดำเนินการชำระบัญชีตามบทบัญญัติในหมวด 5 การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้ชำระบัญชีบริษัทผู้ร้องจึงไม่ถูกต้อง หลังจากนั้นผู้คัดค้านยื่นคำร้องเข้ามาในคดีนี้อ้างว่าศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบทำให้คดีกลับเข้ามาสู่การพิจารณาของศาลอีก อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ดังกล่าว เมื่อความปรากฏต่อศาลฎีกาว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายโดยกรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยและพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ที่ตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้ชำระบัญชีบริษัทผู้ร้องนั้นเสียได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วผู้คัดค้านย่อมมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียหามีสิทธิยื่นคำร้องเข้ามาในคดีนี้ไม่

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849