นายกสภาทนายความ ได้มอบหมายให้นายพจ สิทธิชัย ประธานสภาทนายความจังหวัดอุทัยธานี และคณะกรรมการ สภาทนายความจังหวัดอุทัยธานี นำพวงหรีดของสภาทนายความ และสภาทนายความจังหวัดอุทัยธานี ไปแสดงความเสียใจและไว้อาลัยต่อการสูญเสียนักเรียนและคุณครูที่ได้เสียชีวิตเนื่องจากไฟไหม้รถบัส

เมื่อวันศุกร์ที่ 4 ตุลาคม 2567 เวลา 11.00 น. ที่โรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ได้มอบหมายให้นายพจ สิทธิชัย ประธานสภาทนายความจังหวัดอุทัยธานี และคณะกรรมการ สภาทนายความจังหวัดอุทัยธานี นำพวงหรีดของสภาทนายความ และสภาทนายความจังหวัดอุทัยธานี ไปแสดงความเสียใจและไว้อาลัยต่อการสูญเสียนักเรียนและคุณครูที่ได้เสียชีวิตเนื่องจากไฟไหม้รถบัส พร้อมให้กำลังใจผู้ปกครองเด็ก นักเรียนที่เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ ตลอดจนญาติของคุณครูที่เสียชีวิต จากเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งสภาทนายความ พร้อมที่จะให้การช่วยเหลือทางด้านกฎหมายต่อไป

 

ดร.วิเชียร นายกสภาทนายความ ได้เดินทางไปร่วมเป็นเกียรติในงาน ” 7 ปี โรงเรียนกฎหมายและการเมือง สู่การเป็นอัตลักษณ์ที่ 5 มหาวิทยาลัยสวนดุสิต“

เมื่อวันศุกร์ที่ 4 ตุลาคม 2567 เวลา 09.00 น. ที่ห้อง Graduate studio ชั้น 5 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต (แยกสวนรื่นฤดี) : ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ได้เดินทางไปร่วมเป็นเกียรติในงาน ” 7 ปี โรงเรียนกฎหมายและการเมือง สู่การเป็นอัตลักษณ์ที่ 5 มหาวิทยาลัยสวนดุสิต“ โดย รศ.ดร.ธนภัทร ปัจฉิมม์ คณบดีโรงเรียนกฎหมายและการเมือง พร้อมด้วยคณาจารย์ โรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ให้การต้อนรับ

นายกสภาทนายความ พร้อมด้วยคณะอนุกรรมการสิ่งแวดล้อม และเจ้าหน้าที่สภาทนายความ ร่วมเป็นเจ้าภาพงานสวดอภิธรรม อนุกรรมการสิ่งแวดล้อม ฝ่ายฝึกอบรมและวิชาการ สภาทนายความ 

 

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม 2567 เวลา 18.30 น. ณ ศาลา 1 วัดนวลจันทร์ กรุงเทพมหานคร : สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ โดย ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ พร้อมด้วยคณะอนุกรรมการสิ่งแวดล้อม และเจ้าหน้าที่สภาทนายความ ร่วมเป็นเจ้าภาพงานสวดอภิธรรมนายสุรศักดิ์ สุกปลั่ง สามี นางรุ่งฤดี คำแหง อนุกรรมการสิ่งแวดล้อม ฝ่ายฝึกอบรมและวิชาการ สภาทนายความ

สำหรับงานสวดอภิธรรม จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2- 4 ตุลาคม 2567 เวลา 18.30 น. และประชุมเพลิงในวันที่ 5 ตุลาคม 2567 เวลา 16.00 น. ณ วัดนวลจันทร์ กรุงเทพมหานคร

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3403.สหกรณ์จัดสรรที่ดินโดยไม่ได้รับอนุญาตให้จัดสรรที่ดิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3364/2566 (ประชุมใหญ่) โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประเภทสหกรณ์ มีวัตถุประสงค์ให้บริการจัดหาที่อยู่อาศัยให้แก่สมาชิก ซึ่งตาม พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ. 2542 มาตรา 46 บัญญัติว่า เพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ให้สหกรณ์มีอำนาจกระทำการดังต่อไปนี้…(6) ให้เช่า ให้เช่าซื้อ (7) จัดให้ได้มา ซื้อ เช่าซื้อ (9) ดำเนินกิจการอย่างอื่นบรรดาที่เกี่ยวกับ หรือเนื่องในการจัดให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ของสหกรณ์ การที่โจทก์นำที่ดินโฉนดเลขที่ 38760 เนื้อที่ 36 ไร่ 54 ตารางวา มาดำเนินการแบ่งแยกออกเป็นแปลงย่อยจำหน่ายให้แก่สมาชิกสหกรณ์รวมทั้งจำเลยในรูปแบบการทำสัญญาเช่าซื้อโดยโจทก์ได้รับค่าเช่าซื้อเป็นประโยชน์ตอบแทน จึงต้องด้วยนิยามศัพท์ จัดสรรที่ดิน ตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 4 ที่บัญญัติว่า การจัดสรรที่ดิน หมายถึง การจำหน่ายที่ดินที่ได้แบ่งเป็นแปลงย่อยรวมกันตั้งแต่สิบแปลงขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งจากที่ดินแปลงเดียวหรือแบ่งจากที่ดินหลายแปลงที่มีพื้นที่ติดต่อกัน โดยได้รับทรัพย์สินหรือประโยชน์เป็นค่าตอบแทน และต้องอยู่ในบังคับ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 21 ที่บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ใดทำการจัดสรรที่ดิน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ เพราะโจทก์มิได้อยู่ในข้อยกเว้นตามมาตรา 5 (2) ที่บัญญัติว่า การจัดสรรที่ดินที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายอื่น เนื่องจากกรณีของโจทก์ไม่มีบทบัญญัติใดกำหนดรับรอง ควบคุมดูแลการดำเนินการให้ได้มาตรฐานที่ดีเป็นการเฉพาะ แต่อย่างไรก็ดี แม้โจทก์จะไม่ได้ขออนุญาตจัดสรรที่ดินตามพระราชบัญญัติดังกล่าวก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าขณะทำสัญญาเช่าซื้อโจทก์ผู้ให้เช่าซื้อและจำเลยผู้เช่าซื้อต่างก็ไม่ทราบว่ากรณีของโจทก์ต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการก่อน วัตถุประสงค์แห่งสัญญาจึงไม่ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 เมื่อจำเลยไม่ชำระค่าเช่าซื้อเป็นเวลา 3 งวดติดต่อกัน และโจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแล้ว โจทก์ชอบที่จะริบบรรดาค่าเช่าซื้อที่จำเลยได้ชำระมาแล้ว และกลับเข้าครอบครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 574 วรรคหนึ่ง

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3402.ฟ้องให้คณะกรรมการสหกรณ์รับผิดชดใช้ค่าเสียหาย อายุความ 10 ปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1765/2566 แม้โจทก์จะไม่ได้กล่าวมาในคำฟ้องให้ชัดเจนว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 21 ให้รับผิดในความเสียหายจากการกระทำละเมิด หรือให้รับผิดในฐานะผู้แทนนิติบุคคลหรือตัวแทนกระทำโดยประมาทเลินเล่อหรือไม่ทำการเป็นตัวแทนหรือทำการโดยปราศจากอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจตาม ป.พ.พ. มาตรา 77 ประกอบมาตรา 812 แต่เมื่อโจทก์บรรยายข้อเท็จจริงมาให้เป็นที่เข้าใจตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไรแล้ว เป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องปรับข้อเท็จจริงตามคำฟ้องว่าจะต้องด้วยบทกฎหมายใด ซึ่งสหกรณ์ น. เป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ. 2542 มาตรา 37 วรรคสอง และโจทก์บรรยายฟ้องแล้วว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 21 เป็นคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์และเป็นผู้แทนสหกรณ์ น. ในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 21 จึงเป็นผู้แทนสหกรณ์ น. ตาม พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ. 2542 มาตรา 51 ความเกี่ยวพันระหว่างสหกรณ์ น. กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 21 จึงต้องพิจารณาตามบทบัญญัติว่าด้วยตัวแทนซึ่งนำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตาม ป.พ.พ. มาตรา 77 ข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายฟ้องจึงเป็นการแสดงให้เห็นว่าเป็นกรณีที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายได้ทั้งสองทาง โดยให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 21 รับผิดทั้งในฐานะผู้แทนนิติบุคคลหรือตัวแทนและในมูลละเมิด แม้ว่าโจทก์จะรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนอย่างช้าในวันที่ 20 ธันวาคม 2555 และโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2562 อันทำให้สิทธิเรียกร้องในมูลละเมิดของโจทก์ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่สิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 21 รับผิดในฐานะผู้แทนนิติบุคคลหรือในฐานะตัวแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 77 ประกอบมาตรา 812 นั้น ไม่มีกฎหมายกำหนดเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องถืออายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ซึ่งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 21 กระทำการฝ่าฝืนระเบียบสหกรณ์ น. ในวันที่ 17 มิถุนายน 2552 โดยการทำบันทึกข้อตกลงซื้อขายปาล์มน้ำมันกับบริษัท ภ. เป็นเงินเชื่อและมิได้ให้บริษัท ภ. จัดหาหนังสือค้ำประกันของธนาคารตามระเบียบ เมื่อนับถึงวันฟ้องยังไม่เกิน 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

(หมายเหตุ 1 คดีนี้ รองนายทะเบียนสหกรณ์ทำหน้าที่เป็นโจทก์ดำเนินคดีแทนสหกรณ์ น. ในกรณีที่คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ กรรมการ ผู้จัดการหรือเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ทำให้สหกรณ์ได้รับความเสียหาย และสหกรณ์ไม่ร้องทุกข์หรือฟ้องคดีตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542

2 โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 21 เป็นคดีนี้แทนสหกรณ์ น. เพื่อบังคับให้ชำระค่าเสียหายแก่สหกรณ์อันเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 21 ในฐานะคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์กระทำการฝ่าฝืนระเบียบของสหกรณ์ในการทำสัญญาขายปาล์มน้ำมันแก่บริษัท ภ. เป็นเงินเชื่อ โดยไม่ได้ให้บริษัทดังกล่าวจัดหาธนาคารมาค้ำประกันการขายเงินเชื่อนั้น ทำให้สหกรณ์ได้รับความเสียหายเพราะไม่ได้รับชำระหนี้

3 ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ที่พิพากษายกฟ้อง

4 ศาลฎีกาพิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 21 ร่วมกันชำระเงิน 60,309,065.34 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2.5 ต่อปี ของต้นเงิน 48,834,265 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 14 มิถุนายน 2562) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่สหกรณ์ น.

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

นายกสภาทนายความฯร่วมประชุมของสมาคมออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย เรื่อง ก้าวไปด้วยกัน “Together…We are stronger”

เมื่อวันพุธที่ 2 ตุลาคม 2567 เวลา 17.00 น. ที่ห้องประชุมลุมพินี 1,2 โรงแรมเจดับบลิว แมริออท กรุงเทพมหานคร : ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ได้รับเชิญร่วมการประชุมของสมาคมออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย เรื่อง ก้าวไปด้วยกัน “Together…We are stronger” โดยมี ศ.นพ.กีรติ เจริญชลวานิช นายกสมาคมออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย พร้อมด้วยคณะกรรมการสมาคมให้การต้อนรับ และร่วมประชุมหารือแนวทางในการที่จะแลกเปลี่ยนทางวิชาการทางการแพทย์เกี่ยวกับโรคข้อและกระดูก และจัดสวัสดิการให้การช่วยเหลือแก่ทนายความที่มีปัญหาทางด้านข้อและกระดูกจากแพทย์ของสมาคมออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย

สภาทนายความ มอบรถสามล้อโยกให้กับคนพิการ จากสมาคมส่งเสริมอาชีพแกคนพิการ

เมื่อวันพุธที่ 2 ตุลาคม 2567 เวลา 13.30 น. ณ ที่ทำการสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ : ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ นายไพบูลย์ แย้มเอม อุปนายกฝ่ายสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ ดร.วิรัลพัชร เวธทาวริทธิ์ธร อุปนายกฝ่ายวิชาการ ร่วมรับมอบรถสามล้อโยก จำนวน 1 คัน สำหรับคนพิการ จากสมาคมส่งเสริมอาชีพคนพิการ โดยมีนายประกิต จันทร์สมวงศ์ ประธานคณะกรรมการสวัสดิการทนายความผู้พิการ สภาทนายความ นายสุนทร บุญยิ่ง รองประธานกรรมการ นายอรรธกร พรนพมงคล กรรมการ นายธีระศักดิ์ สุวรรณสงวน กรรมการ นายพิชัย วรินทรเวช กรรมการ นางสาวพุทธิดา เลิศสิริปัญญา กรรมการและเลขานุการ เป็นสักขีพยาน และได้ส่งมอบรถสามล้อโยกให้แก่นายพิศาล ทิพย์พิมล ทนายความผู้พิการ ไว้ใช้ช่วยเหลือในการใช้ชีวิตประจำวัน

#ไม่มีใครรักเราเท่าเรารักกัน

สภาทนายความฯ ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บและขอร่วมไว้อาลัยต่อเหตุการณ์อุบัติเหตุในครั้งนี้ และพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายกับครอบครัวผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ โดยจะจัดหาทนายความอาสาเพื่อให้การช่วยเหลือฟรี

 

ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ กล่าวถึงกรณีเด็กนักเรียนโรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆารามจังหวัดอุทัยธานีที่ได้เดินทางมาทัศนศึกษาในพื้นที่จังหวัดนนทบุรีและรถบัสที่นั่งมาได้เกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนกับแบริเออร์เกาะกลางถนนส่งผลให้รถบัสคันดังกล่าว เกิดเพลิงไหม้บนถนนวิภาวดีรังสิต ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ซึ่งพบว่ามีผู้โดยสาร จำนวนทั้งสิ้น 44 คน เป็นเหตุให้นักเรียน และครูเสียชีวิตรวม 23 ราย และบาดเจ็บจำนวน 5 ราย

ทั้งนี้ สภาทนายความฯ ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งกับครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บและขอร่วมไว้อาลัยต่อเหตุการณ์อุบัติเหตุในครั้งนี้ และสภาทนายความพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายกับครอบครัวผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ โดยจะทำการจัดหาทนายความอาสาเพื่อให้การช่วยเหลือฟรีไม่ว่าจะเป็นการฟ้องคดีหรือขอเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการรวมถึงการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากคนขับรถ และผู้ประกอบการซึ่งเป็นเจ้าของรถตลอดจนบริษัทประกันภัยที่ได้รับประกันในกรณีที่เจ้าของรถที่เกิดเหตุซึ่งได้เอาประกันภัยเอาไว้ โดยในเบื้องต้นทราบว่ารถคันดังกล่าวทำประกันรถภาคบังคับ(พ.ร.บ.)กับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่งซึ่งกรมธรรม์เริ่มคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2567 สิ้นสุดในวันที่ 30 มิถุนายน 2568 ซึ่งตามกฎหมาย กรณีเอาประกันภัยรถภาคบังคับผู้ประสบเหตุย่อมได้รับความคุ้มครองกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงเป็นเงินจำนวน 500,000 บาทต่อคน กรณีบาดเจ็บค่ารักษาสูงสุดไม่เกิน 80,000 บาทต่อคน กรณีสูญเสียอวัยวะ รับผิดตั้งแต่ 200,000-500,000 บาทต่อคนกรณีทุพพลภาพอย่างถาวร 300,000 บาทต่อคน ส่วนกรณีเข้ารักษาในสถานพยาบาลในฐานะที่เป็นคนไข้ จะได้รับค่าชดเชยวันละ 200 บาทต่อวันรวมไม่เกิน 20 วัน

นอกจากนี้ ยังทราบว่าผู้ประกอบการรถคันดังกล่าวได้ทำประกันภาคสมัครใจ ประเภท 3ไว้กับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง ตามกรมธรรม์เริ่มคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนา 2567 จะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 มิถุนายน 2568 ในกรมธรรม์ดังกล่าว ได้คุ้มครองต่อความเสียหายในชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของบุคคลภายนอก 500,000 บาทต่อคน ไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อครั้ง ความรับผิดต่อทรัพย์สิน 600,000 บาทต่อครั้งรวมถึงการคุ้มครองอุบัติเหตุส่วนบุคคล ตามกรมธรรม์ กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพของผู้ขับขี่ 50,000 บาท ผู้โดยสาร 40 คน คนละ 50,000 บาท และค่ารักษาพยาบาล 50,000 บาทต่อคน ประกันตัวผู้ขับขี่ 300,000 บาทต่อครั้ง

อย่างไรก็ตาม ทางโรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆารามจังหวัดอุทัยธานีได้ทำประกันอุบัติเหตุกลุ่มสำหรับสถานศึกษาเอาไว้กับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง ซึ่งกรมธรรม์ได้เริ่มคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2567 และจะสิ้นสุดลงในวันที่ 15 พฤษภาคม 2568 คุ้มครองกรณีเสียชีวิต 80,000 บาทต่อคน ค่ารักษาพยาบาล 8,000 บาท ต่อคนต่อครั้ง

 

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3401.สัญญาว่าจ้างผลิตเครื่องสำอาง เป็นสัญญาจ้างทำของ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2835/2566 (เล่ม 7 หน้า 127) สัญญาว่าจ้างผลิตเครื่องสำอางแบบเบ็ดเสร็จที่โจทก์ทำกับจำเลยทั้งสองมีลักษณะเป็นการเฉพาะมุ่งประสงค์ถึงผลสำเร็จของงานเป็นสำคัญ คือผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่เสร็จสมบูรณ์ พร้อมที่โจทก์สามารถนำไปวางจำหน่ายได้ แต่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองยังไม่เคยผลิตเครื่องสำอางเป็นผลสำเร็จและส่งมอบผลงานให้แก่โจทก์ตามสัญญาได้แม้แต่ชิ้นเดียว แม้จำเลยทั้งสองจะได้ดำเนินการคิดค้น วิเคราะห์วิจัย และพัฒนาสูตร ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางให้โจทก์จนสามารถนำไปขอจดแจ้งต่อนายทะเบียนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และตระเตรียมวัสดุอุปกรณ์และเคมีภัณฑ์ที่ใช้ในการผลิตไว้บ้างแล้วก็ตาม แต่จำเลยทั้งสองไม่ได้บอกสูตรในการผลิตเครื่องสำอางดังกล่าว ตลอดจนส่วนประกอบหรือส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ที่จะผลิตนั้นให้โจทก์ทราบ เนื่องจากต้องเก็บไว้เป็นความลับ หากโจทก์ประสงค์จะผลิตเครื่องสำอางที่จำเลยทั้งสองคิดค้นจะต้องว่าจ้างให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้ผลิตเท่านั้น แสดงให้เห็นชัดแจ้งว่า โจทก์ไม่สามารถนำสูตรผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่จำเลยทั้งสองคิดค้นตลอดจนวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตที่จำเลยทั้งสองตระเตรียมไว้ไปใช้ประโยชน์หรือว่าจ้างบุคคลภายนอกทำการผลิตต่อให้แล้วเสร็จได้เลย ดังนั้น จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการงานที่จำเลยทั้งสองทำให้โจทก์ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 391 วรรคสาม

(หมายเหตุ 1 เมื่อเดือนธันวาคม 2560 โจทก์ได้ว่าจ้างให้จำเลยทั้งสองผลิตสินค้าประเภทเครื่องสำอางและบรรจุภัณฑ์แบบเบ็ดเสร็จ 3 รายการ

2 ต่อมาวันที่ 12 มกราคม 2562 โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาและเรียกให้จำเลยทั้งสองชำระเงินมัดจำและค่าดำเนินการขอหนังสือรับรองผลิตภัณฑ์ฮาลาลคืน

3 วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2562 จำเลยทั้งสองมีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ และให้โจทก์มารับวัสดุอุปกรณ์ไปจากโรงงานและชำระค่าใช้ประโยชน์ในพื้นที่จัดเก็บวัสดุอุปกรณ์และเคมีภัณฑ์ที่ตระเตรียมไว้สำหรับผลิตเครื่องสำอางแก่จำเลยทั้งสอง

4 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สัญญาว่าจ้างผลิตเครื่องสำอางแบบเบ็ดเสร็จระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสอง เป็นสัญญาจ้างทำของตาม ป.พ.พ.มาตรา 587

5 และศาลฎีกายังได้วินิจฉัยว่า เมื่อจำเลยทั้งสองไม่สามารถผลิตเครื่องสำอางให้แล้วเสร็จตามสัญญาว่าจ้างได้โดยแน่แท้ จำเลยทั้งสองจึงไม่อาจอ้างประโยชน์แห่งเงื่อนเวลา กรณีถือได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ในฐานะผู้ว่าจ้างย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ ตราบใดที่การว่าจ้างยังทำไม่เสร็จ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 605 และมาตรา 386

เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว สัญญาว่าจ้างผลิตเครื่องสำอางระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองย่อมเป็นอันสิ้นสุดลง แม้ต่อมาจำเลยทั้งสองจะมีหนังสือบอกเลิกสัญญาต่อโจทก์ในภายหลังก็ไม่มีผลเป็นการเลิกสัญญาได้อีก กรณีหาใช่เป็นการที่โจทก์กับจำเลยทั้งสองสมัครใจเลิกสัญญาต่อกัน

6 กรณีที่จำเลยเรียกให้โจทก์ชำระค่าใช้ประโยชน์ในพื้นที่จัดเก็บอุปกรณ์และเคมีภัณฑ์ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเป็นการเรียกค่าเสียหายจากการเลิกสัญญา เมื่อจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญาจึงไม่อาจเรียกค่าเสียหายดังกล่าวจากโจทก์และนำมาหักกลบลบหนี้ได้)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

นายกสภาทนายความฯ ร่วมไว้อาลัย&แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ไฟไหม้รถบัสขนส่งนักเรียนไปทัศนศึกษาอุทัยธานีฯ พร้อมยื่นมือให้การช่วยเหลือทากฎหมายฟรี

ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า จากกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้รถบัสโดยสารนักเรียน บนถนนวิภาวดีรังสิต ตรงข้ามพหลโยธิน 72 กรุงเทพมหานครฯ ซึ่งเป็นรถจากโรงเรียนวัดเขาพระยา จ.อุทัยธานี ซึ่งกำลังพานักเรียนไปทัศนศึกษา ตามที่สื่อมวลชนนำเสนอข่าวไปแล้วนั้น กระผมในฐานะเป็นนายกสภานายความฯ และอาชีพทนายความทั่วประเทศ จึงขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งต่อเหตุการณ์ไฟไหม้รถบัสขนส่งนักเรียนไปทัศนศึกษาดังกล่าว และขอเป็นกำลังใจให้ครอบครัวผู้เสียชีวิต และผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ และขอร่วมไว้อาลัยต่อเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย

อย่าไรก็ตามในทางคดี หากไม่ได้ความความเป็นธรรมไม่ว่ากรณีใดๆ สภาทนายความฯ พร้อมให้การช่วยเหลือทางกฎหมายเสมอโดยผู้ปกครอง สามารถประสานมายังภาทนายความได้โดยต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด