ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3429.ตกลงระงับข้อพิพาทโดยถอนฟ้องคดีอาญา จะฟ้องเรียกค่าเสียหายตามสัญญาไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2229/2566 (เล่ม9 หน้า 38) สัญญาประนีประนอมยอมความที่มีข้อตกลงให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยในข้อหาปลอมเอกสารและใช้เอกสารสิทธิปลอม ตาม ป.อ. มาตรา 264, 268 อันเป็นคดีความผิดอาญาแผ่นดิน มีวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนย่อมตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องบังคับเรียกค่าเสียหายส่วนที่เหลือตามสัญญาที่เป็นโมฆะได้

(หมายเหตุ 1 โจทก์และจำเลยตกลงไกล่เกลี่ยกันในคดีอาญา โดยมีรายละเอียดว่า จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์ 200,000 บาท และโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องในวันดังกล่าว ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องคดีอาญา

2 ต่อมาจำเลยไม่ชำระหนี้ โจทก์จึงมาฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย

3 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย

4 ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยข้างต้น โดยพิพากษายืน)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

 

ดร.วิเชียร นายกสภาทนายความ จับมือประธานกรรมการมรรยาททนายความ จัดระเบียบทนายฯ เล็งฟันทนายหิวเเสง โซเชียลผิดมรรยาททนายความ พบบางคนถูกร้องกว่า 20 เรื่อง  

เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2567 ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ได้เปิดเผยเกี่ยวกับการดำเนินคดีมรรยาททนายโซเชียล หรือทนายหิวแสง ต่อสื่อมวลชนว่าได้ประสานความร่วมมือกับประธานกรรมการมรรยาท สภาทนายความ เพื่อตรวจสอบเอาผิดทนายความที่ประพฤติผิดมรรยาทอย่างจริงจัง และเร่งรัดการพิจารณาคดีมรรยาทที่ทนายโซเชียล ได้ละเมิดต่อข้อบังคับของสภาทนายความ ว่าด้วยมรรยาททนายความ จนส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงขององค์กร และสมาชิกทนายความส่วนใหญ่ หากมีข้อเท็จจริงปรากฏตามสื่อต่างๆสามารถที่จะหยิบยกนำมาเป็นคดีมรรยาทได้ทันที เพราะเป็นเรื่องที่ความปรากฏอย่างชัดแจ้ง

ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ได้กล่าวต่อไปว่าในการพิจารณาคดีมรรยาท ในเบื้องต้นนั้นเป็นอำนาจหน้าที่ของประธานกรรมการมรรยาท และกรรมการมรรยาทสภาทนายความ เมื่อคณะกรรมการมรรยาท พิจารณาคดีแล้วเสร็จ จึงจะส่งสำนวนคดีมรรยาทให้แก่นายกสภาทนายความเพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสภาทนายความ พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งคณะกรรมการบริหารสภาทนายความมีอำนาจในการที่จะทำคำสั่ง หรือคำวินิจฉัย โดยมีอำนาจอิสระที่จะจำหน่ายคดี ยกข้อกล่าวหา ลดโทษ หรือเพิ่มโทษได้ด้วย เมื่อมีการพิจารณาคดีเสร็จ นายกสภาทนายความจะส่งเรื่องคืนไปยังประธานกรรมการมรรยาท เพื่อแจ้งให้คู่กรณีได้รับทราบผลคดี และเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ประธาน กรรมการมรรยาท จะแจ้งคำสั่งลงโทษนั้นไปยังสำนักงานศาลยุติธรรม และเนติบัณฑิตยสภา เพื่อทราบต่อไป อนึ่ง โทษที่จะลงแก่ทนายความที่ประพฤติผิดมรรยาททนายความนั้นมีอยู่ 3 ประการ คือ 1.ภาคทัณฑ์

2. ห้ามการเป็นทนายความไม่เกิน 3 ปี

3. ลบชื่อจากทะเบียนทนายความ

อย่างไรก็ตาม หากทนายความคนใดได้มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการยักยอก ฉ้อโกง หรือตระบัดสินลูกความ หรือประกอบอาชีพ ดำเนิน หรือประพฤติตนอันเป็นการฝ่าฝืนต่อศีลธรรมอันดี หรือเป็นการเสื่อมเสียต่อศักดิ์ศรีและเกียรติคุณของทนายความ ถือว่าเป็นเหตุที่จะทำการลบชื่อจากทะเบียนทนายความได้ รวมถึงการเสี้ยมสอนให้พยานเบิกความเท็จ หรือทำพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ การอวดอ้างว่าตนเองเก่งกว่าทนายคนอื่น หรือ อวดอ้างว่ามีพรรคพวกรู้จักคุ้นเคยกับผู้ใดอันกระทำให้ลูกความหลงเชื่อว่าตนสามารถทำให้ลูกความได้รับประโยชน์พิเศษนอกจากทางว่าความ หรือจะชักจูงใจผู้นั้นช่วยเหลือทางคดีได้ หรือแอบอ้างขู่ว่าถ้าไม่ให้ตนทำคดีนั้นแล้วจะหาทางให้ผู้นั้นทำให้คดีลูกความแพ้ หรือการเรียกรับเงินไปวิ่งเต้นคดี การแย่งคดี หรือจงใจขาดนัดหรือทอดทิ้งคดี เป็นต้น ล้วนแต่เป็นการประพฤติผิดมรรยาททั้งสิ้น

ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ กล่าวทิ้งท้ายเอาไว้ว่าขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่ามีเพียงทนายความบางคนเท่านั้นที่สร้างปัญหา และคนเหล่านี้จะต้องถูกจัดระเบียบอย่างจริงจัง และสมาชิกทนายความส่วนใหญ่รักองค์กร พร้อมที่จะอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชน และพร้อมที่จะช่วยกันรักษาองค์กรให้เป็นที่พึ่งประชาชนสืบต่อไป

 

 

 

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3428.ภูมิลำเนาของผู้ถูกจำคุก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 226/2567 โจทก์ฟ้องว่าจำเลยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก 6 ปี 10 เดือน ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3099/2559 ของศาลจังหวัดเลย จำเลยจึงเป็นผู้ถูกจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีดังกล่าวอยู่ในเรือนจำกลางอุดรธานี เรือนจำกลางอุดรธานีจึงเป็นภูมิลำเนาของจำเลยในช่วงระยะเวลาที่จำเลยถูกจำคุกในคดีดังกล่าวไม่ใช่ที่อยู่ตามฟ้อง เมื่อศาลชั้นต้นส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยไปยังที่อยู่ของจำเลยตามฟ้อง จึงไม่ใช่ภูมิลำเนาของจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 47 ที่บัญญัติว่า ภูมิลำเนาของผู้ที่ถูกจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลหรือตามคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายได้แก่ เรือนจำ หรือทัณฑสถานที่ถูกจำคุกอยู่จนกว่าจะได้รับการปล่อยตัว ศาลชั้นต้นต้องส่งสำเนาอุทธรณ์ของโจทก์เพื่อให้จำเลยแก้ไปที่เรือนจำกลางอุดรธานี หาใช่ส่งไปยังที่อยู่ตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิจารณาคดีโดยมิได้มีการส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยเพื่อแก้นั้นเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 200 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3427.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4213/2566 พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 4 ให้คำจำกัดความของคำว่า “หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า “กระทรวง ทบวง กรม หรือ … และรัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา และ…” โจทก์จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2545 โดยมาตรา 5 บัญญัติว่า ให้จัดตั้งธนาคารขึ้นเรียกว่า “ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย” และให้ธนาคารเป็นนิติบุคคล และมาตรา 7 กำหนดทุนเรือนหุ้นของธนาคารไว้หนึ่งพันล้านบาท โดยให้ธนาคารขายหุ้นให้แก่กระทรวงการคลัง หรือบุคคลอื่น โดยให้กระทรวงการคลังซื้อหุ้นของธนาคารได้ตามจำนวนที่เห็นสมควร แต่จะต้องไม่เกินร้อยละสี่สิบเก้าของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด เห็นได้ว่า พ.ร.บ.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2545 มีจุดมุ่งหมายให้โจทก์เป็นนิติบุคคล แต่ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายให้โจทก์มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจเพราะกระทรวงการคลังซื้อหุ้นของโจทก์ได้ไม่เกินร้อยละ 49 แม้ต่อมากระทรวงการคลัง ธนาคาร ม. และธนาคาร ก. เข้าถือหุ้นของโจทก์รวมกันเกินกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดหรืออีกนัยหนึ่งโจทก์มีส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจมีทุนรวมอยู่ด้วยเกินร้อยละห้าสิบ ซึ่งส่งผลทำให้โจทก์มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจตามคำจำกัดความของคำว่า รัฐวิสาหกิจ ตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 แต่ความเป็นรัฐวิสาหกิจของโจทก์มิได้เป็นมาตั้งแต่วาระแรกที่ พ.ร.บ.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2545 ใช้บังคับ โจทก์เพิ่งเปลี่ยนสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจในภายหลังเพราะมีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนผู้ถือหุ้น โจทก์จึงไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติ จึงไม่ใช่หน่วยงานของรัฐตามความหมายของมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า การที่ลูกค้ารายบริษัท ด. ทำคำขอสินเชื่อสำหรับใช้ในโครงการวงเงิน 650,000,000 บาท ต่อคณะกรรมการบริหารของโจทก์ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ซึ่งมีหน้าที่ร่วมกันจัดทำเอกสารและเสนอข้อมูลเพื่อขออนุมัติสินเชื่อตามระเบียบปฏิบัติงานด้านสินเชื่อของโจทก์ ไม่ให้ความสำคัญต่อประเด็นที่ฝ่ายโครงการสินเชื่อแจ้งความเสี่ยงว่าที่ตั้งโครงการอยู่ในเขตที่กำหนดให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินประเภทอนุรักษ์ป่าไม้และใบอนุญาตก่อสร้างอยู่ระหว่างดำเนินการ ยังไม่แน่ชัดว่าลูกค้าจะได้รับใบอนุญาตก่อสร้างหรือไม่ และเร่งรีบเสนอขออนุมัติคณะกรรมการบริหารให้อนุมัติและเบิกใช้สินเชื่อค่าที่ดิน 430,000,000 บาท ให้ลูกค้าไปก่อน และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ยังยินยอมให้ลูกค้าเบิกถอนสินเชื่อเพื่อการก่อสร้างและสาธารณูปโภคอีก 16,695,947.66 บาท ทั้งที่ยังไม่มีข้อยุติเรื่องการได้รับใบอนุญาตก่อสร้าง เป็นการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนและระเบียบปฏิบัติของโจทก์และประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง และผิดสัญญาจ้าง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ซึ่งเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ให้ชดใช้ค่าเสียหายอันเนื่องมาจากทั้งมูลผิดสัญญาจ้างแรงงานและมูลละเมิด โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง

กรณีโจทก์โอนสินทรัพย์ของลูกค้ารายบริษัท ด. ให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ธนาคาร อ. ก่อนฟ้องคดีนี้แล้ว แม้โจทก์ขายสินทรัพย์ซึ่งรวมถึงสิทธิเรียกร้องของลูกค้ารายดังกล่าวไปก่อนฟ้องคดีนี้ก็ส่งผลทำให้โจทก์สิ้นสิทธิเรียกร้องจากลูกค้ารายดังกล่าวตามมูลหนี้ผิดสัญญาให้สินเชื่อเท่านั้น แต่โจทก์ยังคงได้รับความเสียหายจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานและละเมิดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 อยู่ แม้โจทก์มีคำขอบังคับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ชำระค่าเสียหายเท่ากับจำนวนหนี้สินเชื่อของลูกค้าหักออกด้วยจำนวนเงินที่โจทก์ขายสินทรัพย์ของลูกค้านั้นก็เป็นเรื่องการคำนวณค่าเสียหายของโจทก์ ซึ่งต้องพิจารณาในประเด็นว่าโจทก์ได้รับความเสียหายหรือไม่เพียงใด ส่วนภายหลังบริษัทบริหารสินทรัพย์ธนาคาร อ. จะได้รับชำระหนี้จากลูกค้ารายดังกล่าวหรือไม่นั้นเป็นเรื่องระหว่างบริษัทกับลูกค้ารายดังกล่าว เมื่อโจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องได้ตามสัญญาจ้างแรงงานและมูลละเมิด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5

(หมายเหตุ 1 คดีนี้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่า คำฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐฟ้องจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตามความหมายของมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 10 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 8

2 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐวิสาหกิจของโจทก์มิได้เป็นมาตั้งแต่วาระแรกที่พระราชบัญญัติธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2545 ใช้บังคับ โจทก์เพิ่งเปลี่ยนสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจในภายหลังเพราะมีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนผู้ถือหุ้น โจทก์จึงไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติ จึงไม่ใช่หน่วยงานของรัฐตามความหมายของมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

สภาทนายความจัดอบรมเผยแพร่ความรู้ในการดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ของผู้เสียหายเครือข่ายขายตรงหรือแชร์ลูกโซ่ 

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม 2567 เวลา 9.00 น ห้องประชุมชั้น 5 สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ สถาบันพัฒนาวิชาชีพทนายความ ได้จัดอบรมวิชาการ เรื่องการดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ของผู้เสียหายเครือข่ายขายตรงหรือแชร์ลูกโซ่ การขายตรงและตลาดแบบตรงและสัญญากู้ยืมที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนผ่านระบบ Onsite และ Online

โดย ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ มอบหมายให้นายวีระศักดิ์ โชติวานิช อุปนายกฝ่ายเทคโนโลยีและสารสนเทศ กรรมการประชาสัมพันธ์ และรองเลขาธิการ เป็นประธานเปิดการอบรมวิชาการ พร้อมด้วย นายมะโน ทองปาน รองประธานกรรมการมรรยาททนายความ นายศิริศักดิ์ อมาตยกุล ประธานสภาทนายความจังหวัดนนทบุรี ร่วมให้เกียรติในการอบรม และนายอุทัย ไสยสาลี หัวหน้าสำนักงาน สภาทนายความ ให้การต้อนรับวิทยากรผู้บรรยาย และสมาชิกทนายความผู้เข้ารับการอบรม มีนางสาวอัจฉรา แสงขาว กรรมการฝ่ายวิชาการและเลขานุการฝ่ายวิชาการ สภาทนายความเป็นผู้กล่าวรายงานและพิธีกรดำเนินรายการ

การจัดอบรมในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย อดีตรองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 / อดีตอุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ/นายทะเบียนสภาทนายความ บรรยายหัวข้อ “การดำเนินคดีแบบกลุ่ม( Class Action) ของผู้เสียหาย เครือข่ายขายตรงหรือแชร์ลูกโซ่ โดยขอบเขตเนื้อหา เริ่มตั้งแต่หลักการและเหตุผลของกฎหมายในการดำเนินคดีแบบกลุ่ม การเตรียมตัวของสมาชิกทนายความที่จะดำเนินการคดีแบบกลุ่ม สิทธิประโยชน์ของคู่ความในคดี รวมถึงอายุความในการดำเนินคดี ทั้งคดีแบบกลุ่มและคดีแพ่งสามัญทั่วไป ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่คู่ความผู้มีอรรถคดี

ในช่วงบ่ายนายณัชภัทร ขาวแก้ว นักสืบสวนสอบสวนชำนาญการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ให้เกียรติบรรยาย หัวข้อ การขายตรงและตลาดแบบตรงสัญญากู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และในเวลา 16.00 น. ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ เป็นประธานปิดการอบรม พร้อมกล่าวถึงที่มาของการจัดอบรมวิชาการ เรื่อง การดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ของผู้เสียหายเครือข่ายขายตรงหรือแชร์ลูกโซ่ การขายตรงและตลาดแบบตรงและสัญญากู้ยืมที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญและอยู่ในความสนใจของสังคมและประชาชนผู้ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก และเพื่อเป็นการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ จึงได้จัดอบรมเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายในครั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างวิชาการให้กับสมาชิกสภาทนายความ รวมถึงให้ความรู้แก่ประชาชนได้มีภูมิคุ้มกันทางกฎหมายและเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ม  ในการอบรมครั้งนี้ได้รับความสนใจจากสมาชิกสภาทนายความอย่างท่วมท้น โดยมีทนายความเข้าอบรมทาง Onsite จำนวน 320 คน และ Online จำนวน 1,200 คน

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3426.ธนาคารหักเงินจากบัญชีจากเจ้าของบัตรเอทีเอ็ม/เดบิต ที่มีบุคคลอื่นใช้บัตร ธนาคารต้องคืนเงินให้แก่เจ้าของบัตร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4568/2566 เมื่อพิจารณาที่มาและข้อตกลงการใช้บัตรเอทีเอ็ม/บัตรเดบิต คำนึงถึงสิทธิและหน้าที่ของผู้ถือบัตรและผู้ประกอบธุรกิจบัตรเอทีเอ็ม/บัตรเดบิต โดยพิจารณาความสุจริต ความรู้ ความเข้าใจ แนวทางที่เคยปฏิบัติและทางได้เสียของคู่สัญญาตามสภาพที่เป็นจริงแล้ว ไม่ปรากฏว่าโจทก์ถูกบังคับหรือไม่ยินยอมในการทำข้อตกลงและเงื่อนไขการถือบัตรเอทีเอ็ม/บัตรเดบิต ข้อตกลงและเงื่อนไขดังกล่าวมิได้กำหนดให้จำเลยซึ่งเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขได้เปรียบโจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือบัตรเกินสมควร ประกอบกับโจทก์ยังมีโอกาสทักท้วงโต้แย้งรายการใช้บัตรที่ไม่ถูกต้องตามข้อตกลงดังกล่าว ข้อตกลงการใช้บริการบัตรเอทีเอ็ม/บัตรเดบิตมิได้เป็นผลให้จำเลยซึ่งเป็นผู้กำหนดข้อตกลงได้เปรียบโจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือบัตรที่เป็นคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเกินสมควร ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม จึงมีผลผูกพันโจทก์จำเลยได้

ร้านค้าที่รับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยบัตรเดบิตไม่ได้ตรวจสอบลายมือชื่อที่ลงบนเซลล์สลิปเปรียบเทียบกับลายมือชื่อด้านหลังบัตร กรณีจึงต้องถือว่าร้านค้าที่รับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยบัตรเดบิตที่พิพาทปฏิบัติผิดเงื่อนไขข้อตกลงการเป็นร้านค้าต่อธนาคารพาณิชย์เจ้าของเครื่อง EDC จำเลยซึ่งถือว่าเป็นตัวการของธนาคารพาณิชย์เจ้าของเครื่อง EDC จึงไม่อาจยกเอาข้อตกลงการใช้บริการบัตรเอทีเอ็ม/บัตรเดบิตขึ้นอ้างเพื่อที่จะไม่คืนเงินที่หักไปจากบัญชีเงินฝากโจทก์ได้ โจทก์ไม่จำต้องไปเรียกร้องเงินคืนจากธนาคารพาณิชย์เจ้าของเครื่อง EDC หรือร้านค้าที่รับชำระค่าสินค้าหรือบริการที่พิพาท จำเลยจึงต้องคืนเงินที่หักไปจากบัญชีเงินฝากให้แก่โจทก์ แต่โจทก์เบิกความเพียงว่าโจทก์เก็บรักษาบัตรและรหัสประจำตัวในการเบิกถอนเงินสดแต่เพียงผู้เดียว แต่ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าโจทก์เก็บรักษาบัตรเดบิตอย่างไร ที่บัตรเดบิตหายไปนั้นถูกลักไปได้อย่างไร ทั้งโจทก์เพิ่งมาทราบเรื่องหลังจากบัตรหายไปแล้วเป็นเวลามากกว่า 10 วัน โดยในช่วงเวลาดังกล่าวบัตรเดบิตถูกนำไปใช้ชำระค่าสินค้าและบริการเรื่อยมา ถือว่าโจทก์ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังในการเก็บรักษาตลอดจนตรวจตราบัตรเดบิตซึ่งเป็นเอกสารสำคัญตามที่พึงกระทำ ถือว่าโจทก์มีส่วนประมาทเลินเล่อเป็นกรณีที่ความเสียหายได้เกิดขึ้นเพราะความผิดของโจทก์เองด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 223 วรรคหนึ่ง จึงเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์เป็นจำนวนสามในสี่ของจำนวนเงินที่มีการใช้บัตรเดบิต

เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกร้องเพียงให้จำเลยคืนเงินที่หักไปจากบัญชีเงินฝากของโจทก์พร้อมดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่จำเลยหักเงินครั้งสุดท้าย ซึ่งเงินดังกล่าวมิใช่ค่าเสียหายตามความใน พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 42 จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะกำหนดให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษได้

 

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3425.ผู้มอบอำนาจไม่ได้ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจต่อหน้าพยาน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 765/2567 ศาลอุทธรณ์ภาค 6 เห็นพ้องด้วยกับศาลชั้นต้นในการรับฟังพยานหลักฐานแล้วนำมาวินิจฉัยทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมายแล้ว แม้ข้อเท็จจริงซึ่งพิจารณาได้ความและเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยรวมทั้งบทมาตราที่ยกขึ้นปรับตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 จะเป็นอย่างเดียวกับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ก็ไม่ถือว่าเป็นการคัดลอกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและเป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำเบิกความของโจทก์ในคดีแพ่งอื่นมิได้เบิกความต่อหน้าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในคดีนี้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีโอกาสถามค้านจึงมีน้ำหนักน้อย ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ปลอมและใช้หนังสือมอบอำนาจปลอม

ศ. และ อ. เจ้าพนักงานที่ดินเป็นผู้บอกให้จำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อและข้อความตามหนังสือมอบอำนาจและสัญญาขายฝากเป็นไปตามระเบียบของกรมที่ดินที่จัดทำขึ้นเพื่อป้องกันการฟ้องร้องเจ้าพนักงานที่ดินให้รับผิดในภายหลังเท่านั้น เมื่อบันทึกถ้อยคำดังกล่าวเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งกรมที่ดินเพื่อป้องกันมิให้กรมที่ดินและเจ้าพนักงานที่ดินถูกฟ้องร้องให้รับผิดทางแพ่ง จึงมิใช่บันทึกถ้อยคำตามนัยแห่งกฎหมายหรือตามหน้าที่ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ทั้งเนื้อความแห่งบันทึกถ้อยคำยังมีข้อความว่าถ้าเกิดความผิดพลาดเพราะผิดตัวเจ้าของ จำเลยที่ 3 ขอรับผิดชอบเองทั้งสิ้น เมื่อโจทก์ได้ลงลายมือชื่อตามหนังสือมอบอำนาจจริง แม้ความจริงโจทก์ไม่ได้ลงลายมือชื่อต่อหน้าจำเลยที่ 3 การกระทำของจำเลยที่ 3 ก็ไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานตาม ป.อ. มาตรา 137 ประกอบมาตรา 83

(หมายเหตุ 1 ข้อเท็จจริงที่ว่า ข้อความตามที่จำเลยที่ 3 แจ้งข้อความแก่เจ้าพนักงานที่ดินโดยให้ถ้อยคำและลงลายมือชื่อรับรองตามหนังสือมอบอำนาจซึ่งมีข้อความตามตราประทับว่า “… จำเลยที่ 3 ผู้รับซื้อฝากขอให้ถ้อยคำว่าผู้มอบได้ลงลายมือชื่อต่อหน้าข้าพเจ้า และมีเจตนาจะทำการตามหนังสือมอบอำนาจนี้จริง…” กับแจ้งข้อความโดยให้ถ้อยคำและลงลายมือชื่อรับรองตามหนังสือสัญญาขายฝากที่ดิน แผ่นที่ 2 ซึ่งมีข้อความตามตราประทับว่า “…ในการทำสัญญานี้ จำเลยที่ 3 ได้ติดต่อกับเจ้าของที่ดินโดยตรง…” และแจ้งข้อความแก่เจ้าพนักงานที่ดินโดยให้ถ้อยคำและลงลายมือชื่อรับรองตามหนังสือมอบอำนาจซึ่งมีข้อความที่เขียนด้วยปากกาว่า “…จำเลยที่ 3 ผู้รับซื้อฝากขอให้ถ้อยคำว่า ผู้มอบได้ลงลายมือชื่อต่อหน้าข้าพเจ้า และมีเจตนาจะทำการตามหนังสือมอบอำนาจนี้จริง…”

2 ได้ความจาก ศ. และ อ. เจ้าพนักงานที่ดิน เบิกความว่า เป็นผู้บอกให้จำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อและข้อความตามหนังสือมอบอำนาจและสัญญาขายฝากข้างต้นว่า เป็นไปตามระเบียบของกรมที่ดินที่จัดทำขึ้นเพื่อป้องกันการฟ้องร้องเจ้าพนักงานที่ดินให้รับผิดในภายหลังเท่านั้น

3 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อบันทึกถ้อยคำดังกล่าวเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งกรมที่ดินเพื่อป้องกันมิให้กรมที่ดินและเจ้าพนักงานที่ดินถูกฟ้องให้รับผิดทางแพ่ง จึงมิใช่บันทึกถ้อยคำตามนัยแห่งกฎหมายหรือตามหน้าที่ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ทั้งตามเนื้อความแห่งบันทึกถ้อยคำนั้นยังมีข้อความว่า ถ้าเกิดความผิดพลาดเพราะผิดตัวเจ้าของ จำเลยที่ 3 ขอรับผิดชอบเองทั้งสิ้น อันเป็นการกำหนดให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับผิดในกรณีมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น เมื่อโจทก์ได้ลงลายมือชื่อตามหนังสือมอบอำนาจจริง แม้ความจริงโจทก์มิได้ลงลายมือชื่อต่อหน้าจำเลยที่ 3 การกระทำของจำเลยที่ 3 ก็ไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานตาม ป.อ. มาตรา 137)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3424.ความผิดฐานซ่องโจรเป็นความผิดสำเร็จเมื่อมีการสมคบกันวางแผนแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 83/2567 โจทก์บรรยายคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งหกฐานเป็นซ่องโจรอีกกรรมหนึ่ง โดยการกระทำความผิดฐานนี้ย่อมเป็นความผิดสำเร็จเมื่อมีการสมคบกันวางแผนเพื่อกระทำการอันเป็นความผิด แม้ยังมิได้มีการกระทำการตามที่ได้สมคบ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า ความผิดฐานเป็นซ่องโจรเป็นการกระทำกรรมเดียวกับฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและร่วมกันยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้านหรือที่ชุมนุมชนนั้น ไม่ถูกต้อง ทั้งปัญหาดังกล่าวแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 แต่เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งหกซึ่งกระทำผิดฐานดังกล่าวเพิ่มขึ้นจึงมิอาจแก้ไขโทษที่จะลงแก่จำเลยทั้งหกได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งหก ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3423.มีคำพิพากษาในวันเดียวกันหลายเรื่อง นับโทษต่อกันได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4884/2566 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 รวม 4 คดี จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 2 ในคดีดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ในวันเดียวกัน โดยเปลี่ยนโทษจำคุกจำเลยที่ 2 เป็นกักขังแทนทั้ง 4 คดี ตาม ป.อ. มาตรา 23 เมื่อโทษกักขังเป็นโทษที่ลงแทนโทษจำคุก จำเลยที่ 2 ยังคงต้องถูกบังคับโทษตามคำพิพากษา แม้คดียังไม่ถึงที่สุดและอยู่ระหว่างอุทธรณ์ ก็มิใช่เหตุที่จะนำโทษกักขังจำเลยที่ 2 มานับต่อจากโทษในคดีอื่นไม่ได้ ศาลจึงอาศัยอำนาจตาม ป.อ. มาตรา 22 ให้นับโทษกักขังติดต่อกันได้

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

นายกสภาทนายความ ให้โอวาทและรับมอบของที่ระลึกจากคณาจารย์และนักศึกษานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี

 

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 ตุลาคม 2567 เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุม ชั้น 4 สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ : ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ให้โอวาทและรับมอบของที่ระลึกจากคณาจารย์และนักศึกษานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี โดยมี นายพิเชฐ คูหาทอง กรรมการบริหารสภาทนายความ ภาค 4 ดร.วิรัลพัชร เวธทาวริทธิ์ธร อุปนายกฝ่ายวิชาการ นายชัยวัฒน์ บุญเกื้อ นายทะเบียน ร่วมรับมอบในครั้งนี้