สภาทนายความร่วมหารือประธานศาลฎีกาคนใหม่ ประสานความร่วมมือหน่วยงานเพื่ออำนวยยุติธรรมแก่ประชาชน

 

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 พฤศจิกายน 2567 เวลา 09.00 น. ณ ศาลฎีกา (สนามหลวง) ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ พร้อมด้วยคณะบริหารสภาทนายความและตัวแทนประธานสภาทนายความจังหวัด ได้เข้าพบนางชนากานต์ ธีรเวชพลกุล ประธานศาลฎีกา พร้อมคณะ เพื่อหารือแนวทางการทำงานร่วมกันในการส่งเสริมความยุติธรรมให้แก่ประชาชน ซึ่งในการหารือครั้งนี้ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นสำคัญต่างๆ อาทิ การปฏิบัติหน้าที่ของทนายความขอแรง โครงการปฏิรูปทนายความอาสา ทนายความขอแรง และที่ปรึกษากฎหมายของเด็กและเยาวชน ระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ว่าด้วยการจัดทำบัญชีรายชื่อทนายความและการตั้งทนายความให้ผู้ต้องหาหรือจำเลย พ.ศ. 2567 การส่งเสริมความร่วมมือในการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนระหว่างสำนักงานศาลยุติธรรมและสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ การเชื่อมข้อมูลระหว่างสำนักงานศาลยุติธรรมและสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อลดขั้นตอนการใช้สำเนาใบอนุญาตให้เป็นทนายความ เมื่อมีการดำเนินคดีทางศาล และป้องกันทนายความปลอมในการว่าความ

สำหรับการหารือในครั้งนี้มีนายสงคราม สกุลพราหมณ์ อุปนายกฝ่ายบริหาร นายสุชาติ ชมกุล อุปนายกฝ่ายกิจการพิเศษ นายศิริศักดิ์ อมาตยกุล ประธานสภาทนายความจังหวัดนนทบุรี นายธีระเกียรติ อนันตรสุชาติ ประธานสภาทนายความจังหวัดอ่างทอง นายภัทราวุฒิ พันธ์รัศมี ประธานสภาทนายความจังหวัดสุพรรณบุรี นายวีรยุทธ ชูสุวรรณ ประธานสภาทนายความจังหวัดสมุทรปราการ และนายอุทัย ไสยสาลี หัวหน้าสำนักงานสภาทนายความ ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดและสะท้อนข้อติดขัดในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์และศาลฎีกา เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม

ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ กล่าวอีกว่า สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์จะได้รวบรวมปัญหา อุปสรรคข้อคิดเห็นต่าง ๆ เกี่ยวกับระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ว่าด้วยการจัดทำบัญชีรายชื่อทนายความและการตั้งทนายความให้ผู้ต้องหาหรือจำเลย พ.ศ. 2567 จากกรรมการบริหารภาค ประธานสภาทนายความจังหวัด และสมาชิกสภาทนายความ เพื่อรวบรวมเป็นข้อมูลนำเสนอต่อประธานศาลฎีกาและสำนักงานศาลยุติธรรมอย่างเร่งด่วนต่อไป

 

ร่วมประชุมเพื่อยกระดับทนายความอาสาเตรียมการรองรับปีงบประมาณ 2569 สภาทนายความภาค 4 จังหวัดขอนแก่น

 

เมื่อวันพุธที่ 13 พฤศจิกายน 2567 เวลา 16.30 น. โรงแรมโฆษะ จังหวัดขอนแก่น : ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ พร้อมด้วยนายพิเชฐ คูหาทอง กรรมการบริหารสภาทนายความภาค 4 ได้เดินทางไปร่วมประชุมเพื่อยกระดับทนายความอาสาเตรียมการรองรับปีงบประมาณ 2569 โดยได้รับเกียรติจากนายสิทธิพร สาระพาณิชย์ ประธานที่ปรึกษาด้านกฎหมายนายกสภาทนายความ นายธวัชชัย ละครชัย ประธานสภาทนายความจังหวัดขอนแก่น ว่าที่ร้อยตรีโกวิทย์ บุตรลำภู ประธานสภาทนายความจังหวัดชุมแพ นายญาณณิญ ฉายชยาณณณ์ รักษาการประธานสภาทนายความจังหวัดพล และทนายอาวุโสพร้อมด้วยทนายความอาสาในเขตพื้นที่จังหวัดขอนแก่นจำนวนมากให้การต้อนรับ และร่วมหารือการเพิ่มศักยภาพในการทำงานของทนายความอาสา เพื่ออำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน

 

นายกสภาทนายความ เป็นวิทยากรบรรยายในการอบรมวิชาว่าความภาคทฤษฎี รุ่นที่ 64 ในหัวข้อ “การยื่นบันทึกถ้อยคำแทนการสืบพยานในคดีแพ่งและคดีอาญา”

⚖️ อบรมวิชาว่าความ ภาคทฤษฎี รุ่นที่ 64

เมื่อวันพุธที่ 13 พฤศจิกายน 2567 เวลา 09.00 – 12.00 น. ที่ห้องประชุม ชั้น 5 สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ : ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ให้เกียรติเป็นวิทยากรบรรยายในการอบรมวิชาว่าความภาคทฤษฎี รุ่นที่ 64 ในหัวข้อ เรื่อง “การยื่นบันทึกถ้อยคำแทนการสืบพยานในคดีแพ่งและคดีอาญา” ให้แก่ผู้รับการฝึกอบรม โดยมี อาจารย์ธีรพล ลิมวัฒนานนท์ กรรมการอำนวยการ เป็นผู้ดำเนินรายการ มีผู้เข้ารับการอบรมวิชาว่าความภาคทฤษฎี รุ่นที่ 64 ทั้งออนไลน์และออนไซต์ เป็นจำนวนมาก

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3443.ถูกตัดไม่ให้ได้รับมรดก จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 633/2567 (เล่ม 1 หน้า 171) ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์โดยอาศัยสิทธิตามคำฟ้อง ของพนักงานอัยการ กรณีจึงไม่อาจฟังข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นนอกเหนือจากคำฟ้องได้ เมื่อฟ้องโจทก์ระบุเพียงว่าเป็นการกระทำต่อทรัพย์มรดกของผู้ตาย มิได้กล่าวอ้างว่ากระทำต่อทรัพย์มรดกของบิดาผู้ร้องที่ผู้ตายครอบครองแทน ดังนั้น ที่ผู้ร้องฎีกาอ้างว่าทรัพย์มรดกของผู้ตายมีส่วนของบิดาผู้ร้องรวมอยู่ด้วยและผู้ร้องเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับทรัพย์มรดกในส่วนของบิดา จึงเป็นการนำข้อเท็จจริงซึ่งมิใช่การกระทำทั้งหลายที่โจทก์อ้างว่า จำเลยได้กระทำผิดและเป็นข้อที่มิได้กล่าวมา ในฟ้องมาขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัย ฎีกาของผู้ร้องในข้อนี้จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง

ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาถึงที่สุดวินิจฉัยว่า ผู้ตายทำพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับโดยแสดงเจตนาไว้ชัดแจ้ง ด้วยการระบุตัวผู้ร้องเป็นทายาทผู้ถูกตัดที่ให้รับมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1608 วรรคสอง คำพิพากษาดังกล่าวย่อมผูกพันผู้ร้อง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ว่า ผู้ร้องไม่มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตาย การที่จำเลยจะใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้ตายโอนเงินโดยมิชอบหรือลักทรัพย์ของผู้มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายหรือไม่ ย่อมไม่ทำให้ผู้ร้อง ได้รับความเสียหาย ผู้ร้องจึงไม่ใช่ผู้เสียหาย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2(4) และไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ตามมาตรา 30

(หมายเหตุ 1 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ อ้างว่าทรัพย์มรดกของผู้ตายมีส่วนของ บิดาผู้ร้องรวมอยู่ด้วย ผู้ร้องจึงเป็นผู้เสียหาย

2 ก่อนคดีนี้ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า ผู้ตายทำพินัยกรรมตัดไม่ให้ผู้ร้องรับมรดก

3 ศาลฎีกาจึงวินิจฉัยว่าผู้ร้องไม่ใช่ผู้เสียหาย ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 2(4)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3444.มารดาผู้ตายขอเข้าเป็นคู่ความแทนบิดาผู้ตายซึ่งเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2101/2567 จ. เป็นบุพการีของ น. ผู้ตาย จ. จึงอยู่ในฐานะผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายเช่นเดียวกับ ร. โจทก์ร่วม ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) เมื่อโจทก์ร่วมถึงแก่ความตาย การที่ จ. ยื่นคำร้องขอเข้าแทนที่โจทก์ร่วมเดิมถือได้ว่า จ. ประสงค์ขอใช้สิทธิของตนที่มีอยู่เดิมตั้งแต่แรกในฐานะผู้มีอำนาจจัดการแทนด้วยอีกคนหนึ่งเช่นเดียวกับโจทก์ร่วมเพื่อสืบสิทธิดำเนินคดีแทนโจทก์ร่วม ย่อมถือว่า จ. เข้าสืบสิทธิดำเนินคดีแทน ร. โจทก์ร่วม เมื่อ ร. ได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ จ. เข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการและรับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมไว้พิจารณาต่อไปจึงชอบด้วยกฎหมาย จ. จึงมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ได้

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

ประกาศสถาบันพัฒนาวิชาชีพทนายความ สภาทนายความ📣 ⚖ รับสมัครอบรมวิชาการ ✨ ฟรี‼️

📣ประกาศสถาบันพัฒนาวิชาชีพทนายความ สภาทนายความ📣

⚖ รับสมัครอบรมวิชาการ ✨ ฟรี‼️

 

👉 เรื่อง “ การดำเนินคดีตาม พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ”

✅ การดำเนินคดี แพ่งก่อนฟ้องคดีอาญาฐานฟอกเงิน

✅ มูลฐานความผิดตามกฏหมายฟอกเงิน ( ฉ้อโกงเป็นปกติธุระ )

✅ การดำเนินคดีอาญาความผิดฐานฟอกเงิน

 

👨🏻‍⚖️ เชิญพบกับ

🔸 ดร.วิเชียร ชุบไธสง

นายกสภาทนายความ

 

🔸 นายสุนทร พยัคฆ์

เลขาธิการสภาทนายความ

 

🔸 ดร.วิรัชพัชร เวธทาวริทธิ์ธร

อุปนายกฝ่ายวิชาการ สภาทนายความ

 

👨🏻‍🎓 วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ

🔸 นายปกาศิต เหลืองทอง

อัยการพิเศษฝ่ายคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร 1

 

🗓️ วันอาทิตย์ที่ 17 พฤศจิกายน 2567

⏰ เวลา 13.30 – 16.30 น.

📍 ณ ห้องประชุม ชั้น 5 สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์

 

การลงทะเบียนมี 2 ช่องทาง 🔖

🪑 Onsite

🌎 Link ลงทะเบียน : https://forms.gle/sinMqMD4GFzAoDam6

—————————

💻 Online

🌏 Link ลงทะเบียน : https://forms.gle/rZoDgUXTi7JCFkXp8

—————————

ติดต่อสอบถาม: คุณพิมพ์ฉวี และคุณจิดาภา โทร. 06 4291 4640

⚖_______________⚖

คณะกรรมการบริหารสมาพันธ์สภาวิชาชีพฯ ร่วมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การประชาสัมพันธ์และจัดเสวนาวิชาการ

เมื่อวันอังคารที่ 12 พฤศจิกายน 2567 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุม ดร.ทัศนา บุญทอง ชั้น 3 สภาการพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสมาพันธ์สภาวิชาชีพแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 114-6/2567 โดยมีผู้แทนจากสภาวิชาชีพต่างๆ เข้าร่วมประชุมอย่างคับคั่ง ทั้งในรูปแบบ Onsite และ Online ผ่านโปรแกรม Zoom โดยที่ประชุมได้มีการพิจารณาวาระสำคัญเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านประชาสัมพันธ์ โดยคณะกรรมการได้ร่วมกันพิจารณาและวางแผนกลยุทธ์ในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของสมาพันธ์ฯ ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความเข้าใจและรับรู้ในบทบาทและภารกิจของสมาพันธ์ฯ ต่อสาธารณชน

นอกจากนี้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบการจัดงานเสวนาวิชาการสมาพันธ์สภาวิชาชีพแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1 ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 ณ ห้องประชุมชั้น 5 สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยมี ดร.วิรัลพัชร เวธทาวริทธิ์ธร อุปนายกฝ่ายวิชาการ สภาทนายความ เป็นประธานคณะทำงานด้านวิชาการ ซึ่งงานเสวนาครั้งนี้จะเป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำเสนอองค์ความรู้ด้านวิชาชีพต่างๆ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ประกอบด้วย สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ แพทยสภา สภาการพยาบาล สภาเภสัชกรรม ทันตแพทยสภา สภาเทคนิคการแพทย์ สภากายภาพบำบัด สัตวแพทยสภา สภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3442.ผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ.มาตรา 1722

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1653/2567 บทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 1722 ที่ว่าผู้จัดการมรดกจะทำนิติกรรมใด ๆ ซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกหาได้ไม่ เว้นแต่พินัยกรรมจะอนุญาตไว้หรือได้รับอนุญาตจากศาล เป็นกรณีที่ใช้บังคับเฉพาะผู้จัดการมรดกที่มิได้เป็นทายาท แต่สำหรับจำเลยที่ 1 นอกจากเป็นผู้จัดการมรดกของ ส. ตามคำสั่งศาลแล้วยังเป็นหนึ่งในทายาทที่มีสิทธิรับมรดกของ ส. การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของ ส. ให้แก่ตนเองเป็นส่วนตัวในฐานะที่จำเลยที่ 1 เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกในที่ดินพิพาทด้วย จึงเป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดกที่มีอยู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากทายาทหรือได้รับอนุญาตจากศาล จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำการอันเป็นการปฏิปักษ์ต่อกองมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1722 อันจะมีผลทำให้นิติกรรมตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150

(หมายเหตุ 1 เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2519 ส.เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย โดยมีทายาททั้งหมด 10 คน ซึ่งที่ดินพิพาทในคดีนี้ เป็นที่ปลูกบ้านอยู่อาศัยมี ส.เจ้ามรดกและโจทก์ที่ 7 ถือกรรมสิทธิ์รวมกัน

2 เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2554 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของ ส.

3 วันที่ 4 มกราคม 2555 จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1

4 วันที่ 12 มิถุนายน 2558 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินเฉพาะส่วนให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรของจำเลยที่ 1 โดยเสน่หา ไม่มีค่าตอบแทน หลังจากจำเลยทั้งสองครอบครองปลูกสร้างบ้านอยู่อาศัย ไม่มีทายาทคนใดโต้แย้งคัดค้านเลย

5 วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562 โจทก์ที่ 7 และจำเลยที่ 2 ยื่นคำขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวมที่ดินพิพาท

6 โจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนมรดกเฉพาะส่วนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. ผู้ตาย โอนที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัว กับให้เพิกถอนนิติกรรมการยกให้ที่ดินดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2

7 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า นิติกรรมการโอนที่ดินมรดกเฉพาะส่วนของที่ดินพิพาทซึ่งทำเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2555 และนิติกรรมการให้ที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ซึ่งทำเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2558 ให้เพิกถอนเฉพาะส่วนที่เป็นของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 และที่ 7 คิดเป็น 6 ส่วน จาก 11 ส่วน

8 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า บทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 1722 เป็นกรณีที่ใช้บังคับเฉพาะผู้จัดการมรดกที่มิได้เป็นทายาท

9 ศาลฎีกายังวินิจฉัยต่อไปว่า เมื่อทายาททุกคนต่างรู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอจัดการมรดกของ ส. แล้วจำเลยที่ 1 นำคำสั่งศาลไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทมาเป็นของจำเลยที่ 1 เป็นส่วนตัวเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2555 หลังจากนั้นอีกกว่า 3 ปี จำเลยที่ 1 จึงจดทะเบียนโอนให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2558 โดยไม่ปรากฏว่ามีการกระทำใดที่ไม่สุจริต แล้วหลังจากจำเลยทั้งสองครอบครองปลูกสร้างบ้านอยู่อาศัยไม่มีทายาทคนใดโต้แย้งคัดค้านเลยว่าจำเลยที่ 1 จัดการทรัพย์มรดกไปโดยไม่ชอบ จึงเชื่อได้ว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 ได้ขายสิทธิในที่ดินพิพาทส่วนของแต่ละคนให้แก่จำเลยทั้งสองและได้รับเงินไปครบถ้วนแล้ว

10 ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งเจ็ดเสียทั้งหมด)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

สัมมนาวิชาการเชิงปฏิบัติการนานาชาติ

เมื่อวันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน 2567 เวลา 09.00 น. ที่ โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ สีลม กรุงเทพมหานคร : ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ เป็นประธานกล่าวต้อนรับและเปิดงานสัมมนาวิชาการเชิงปฏิบัติการนานาชาติ THE ROLE OF BAR ASSOCIATIONS/LAW SOCIETY IN SUPPORTING PRO BONO โดยองค์กร Pro Bono SG และ BABSEACLE ร่วมกับสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ภายใต้หัวข้อ “การส่งเสริมความยุติธรรมด้วยบทบาทของสภาทนายความและองค์กรด้านกฎหมายในการให้บริการทางกฎหมายแก่ประชาชนโดยไม่มีค่าตอบแทน” ซึ่งได้รับเกียรติจาก นางสาวศรินทร เลืองวัฒนะวณิช อุปนายกฝ่ายต่างประเทศ นายสัญญาภัชระ สามารถ อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และทนายความจากประเทศออสเตรเลีย สิงคโปร์ สปป.ลาว มองโกเลีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส อังกฤษ เนปาล เพื่อการให้บริการด้านกฎหมายแก่สังคมในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และยุโรป โดยไม่เรียกค่าตอบแทน การสัมมนาในครั้งนี้จะเป็นการผสมผสานระหว่างการบรรยาย การประชุมกลุ่มแบบย่อย และการฝึกปฏิบัติจริง เพื่อให้ผู้เข้าร่วมมีโอกาสได้เรียนรู้ แบ่งปันประสบการณ์ และพัฒนากลยุทธ์ร่วมกัน

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3441.ผู้กู้ไม่ได้แจ้งให้ผู้ให้กู้ทราบว่าถูกฟ้องล้มละลาย มีโทษทางอาญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1505/2567 พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 165 บัญญัติว่า “ในระหว่างเวลาตั้งแต่ศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จนถึงเวลาที่พ้นจากล้มละลาย ลูกหนี้คนใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาทหรือจำคุกไม่เกินสองปี หรือทั้งปรับทั้งจำ (1) รับสินเชื่อจากผู้อื่นมีจำนวนตั้งแต่สองพันบาทขึ้นไป โดยมิได้แจ้งให้ผู้นั้นทราบว่าตนถูกพิทักษ์ทรัพย์หรือล้มละลาย” โจทก์บรรยายฟ้องในข้อ 3.1 ว่า เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2560 ธนาคาร อ. เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยให้ล้มละลาย เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2561 ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลย จำเลยทราบวันนัดฟังคำสั่งโดยชอบ แต่ไม่ไปฟังคำสั่งศาล จำเลยกลับยื่นขอกู้เงินโจทก์จำนวน 3,165,000 บาท โดยจำเลยตั้งใจจะทุจริตฉ้อโกงโจทก์โดยปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้ทราบว่า จำเลยถูกฟ้องล้มละลายและศาลนัดฟังคำสั่งและศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์เด็ดขาดจำเลยแล้วในวันที่ 26 เมษายน 2561 ซึ่งโจทก์ได้ตรวจสอบสถานะของจำเลยแล้วไม่พบว่าเป็นบุคคลล้มละลายและเข้าเงื่อนไขการกู้ โจทก์จึงอนุมัติเงินกู้และโอนเงินกู้ให้จำเลยเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2561 … จึงเป็นคำฟ้องที่สมบูรณ์ ครบองค์ประกอบของฐานความผิดตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 165 (1) ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 14

คดีที่ธนาคาร อ. เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยในคดีล้มละลาย จำเลยแต่งตั้งทนายความเข้ามาต่อสู้คดี รายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 2 มีนาคม 2561 ระบุว่าคดีเสร็จการพิจารณาแล้ว ศาลนัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งในวันที่ 26 เมษายน 2561 เวลา 9.00 นาฬิกา โดยจำเลยและทนายความซึ่งไปศาลในวันดังกล่าวลงลายมือชื่อทราบนัดไว้ ครั้นถึงวันนัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งมีเพียงทนายความจำเลยไปฟังคำสั่งศาล ส่วนจำเลยไม่ไป จำเลยจะอ้างว่าไม่ทราบคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดย่อมมิอาจรับฟังได้ จึงต้องฟังว่าจำเลยทราบคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้วในวันที่ 26 เมษายน 2561 การที่ในวันเดียวกันจำเลยได้ทำหนังสือขอกู้และสัญญาเงินกู้สามัญพิเศษเสนอต่อโจทก์ และโจทก์ส่งมอบเงินตามสัญญากู้ให้แก่จำเลยด้วยการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2561 โดยไม่ปรากฎว่าหลังจากจำเลยทำหนังสือขอกู้และสัญญาเงินกู้สามัญพิเศษเสนอโจทก์จนกระทั่งได้รับโอนเงินกู้เข้าบัญชีธนาคารของจำเลยดังกล่าว จำเลยได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่าตนถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด และหลังจากได้รับโอนเงินแล้วก็ไม่ปรากฎว่าจำเลยได้ปฏิเสธไม่รับเงินตามสัญญากู้หรือบอกเลิกสัญญากู้กับโจทก์ การกระทำของจำเลยดังที่กล่าวมาจึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 165 (1) ตามที่โจทก์ฟ้อง

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849