สภาทนายความฯ จัดอบรมปฏิรูปทนายความอาสา ทนายความขอแรง และที่ปรึกษากฎหมายเด็กและเยาวชน ปี 2568 (ภาค 2) จังหวัดปราจีนบุรี

เมื่อวันศุกร์ที่ 18 เมษายน 2568 เวลา 08.30 – 16.30 น. ที่ ห้อง Pure Moon สยามดาษดารีสอร์ท เขาใหญ่ ตำบลเนินหอม อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี : ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมโครงการปฏิรูปทนายความอาสา ทนายความขอแรง และที่ปรึกษากฎหมายของเด็กหรือเยาวชน ประจำปีงบประมาณ 2568 โดยมี นายจตุรงค์ จักสาน ประธานสภาทนายความจังหวัดปราจีนบุรี กล่าวต้อนรับ นายชลิต ขวัญแก้ว กรรมการบริหารสภาทนายความภาค 2 กล่าวรายงาน นางสาวรัมภา สุวรรณหงส์ คณะกรรมการสภาทนายความจังหวัดปราจีนบุรี และนายธรรมนิตย์ รอดบุญมา เป็นผู้ดำเนินรายการ ได้รับเกียรติจาก นายวรพงษ์ วรัญญานนท์ ประธานสภาทนายความจังหวัดสระแก้ว นายสุรกานต์ พงษ์สามารถ รองประธานสภาทนายความจังหวัดกบินทร์บุรี

นอกจากนี้ ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ให้เกียรติเป็นวิทยากรบรรยายหัวข้อ “จริยธรรมและมรรยาททนายความของทนายความอาสา” และ “กฎหมายเกี่ยวกับการเช่าซื้อ ค้ำประกัน สินเชื่อส่วนบุคคล และบัตรเครดิต” นายวีรศักดิ์ โชติวานิช อุปนายกฝ่ายเทคโนโลยีและสารสนเทศ รองเลขาธิการสภาทนายความ บรรยายหัวข้อ “หลักเกณฑ์การทำหน้าที่ทนายความอาสาและที่ปรึกษากฎหมายเด็กและเยาวชน” และ “กฎหมายเกี่ยวกับการปราบปรามธุรกรรมทางเทคโนโลยี การฉ้อโกง ฉ้อโกงประชาชน การฟอกเงิน” นายสัญญาภัชระ สามารถ อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ บรรยายหัวข้อ “การคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาในคดีอาญา การทำหน้าที่ทนายความขอแรงและที่ปรึกษากฎหมายของเด็กและเยาวชน” ซึ่งมีทนายความในจังหวัดปราจีนบุรีและทนายความภาค 2 เข้าร่วมอบรมในครั้งนี้จำนวนมาก

สภาทนายความฯจัดสัมมนาวิชาการ หัวข้อกฎหมายควบคุมอาคารในสถานการณ์แผ่นดินไหว

⚖ สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ⚖

📣 ประกาศสถาบันพัฒนาวิชาชีพทนายความ สภาทนายความ 📣

🌟 รับสมัครสัมมนาวิชาการ 【 ฟรี 】

🔻 เรื่อง 🔻

👉 “ กฎหมายควบคุมอาคารในสถานการณ์แผ่นดินไหว ”

📌 หัวข้อการบรรยาย

– กระบวนการในการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม

– สถานการณ์แผ่นดินไหว กับมิติงานทางวิชาชีพสังคมสงเคราะห์

 

🔶 เชิญพบกับ 🔶

🔸 ดร.วิเชียร ชุบไธสง

นายกสภาทนายความ

 

🔸 ดร.วิรัลพัชร เวธทาวริทธิ์ธร

อุปนายกฝ่ายวิชาการ สภาทนายความ

 

🔸 นายชาญณรงค์ แก่นทอง

อุปนายกสภาสถาปนิก คนที่ 1

 

🔸 สค.ร.วรรภา ลำเจียกเทศ

เลขาธิการสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์

 

🔷 ดำเนินรายการโดย 🔷

🔹 นายสยุม ไกรทัศน์

คณะกรรมการฝ่ายวิชาการ

 

📆 วันพุธที่ 23 เมษายน 2568

⏱ เวลา 13.00 – 16.30 น.

📍 ณ ห้องประชุมชั้น 5 สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์

 

การลงทะเบียนมี 2 ช่องทาง

🪑 Onsite

💻 Online ผ่าน facebook LIVE

🌎 Link ลงทะเบียน : https://forms.gle/3edpaeuG2oTnWPVJ6

—————————

☎️ติดต่อสอบถาม : คุณพิมพ์ฉวี คุณจิดาภา โทร. 06 4291 4640, 0 2522 7167, คุณสมยศ โทร. 0 2522 7124-27 ต่อ 325

⚖_______________⚖

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3596.ฟ้องเรียกคืนเงินตามสัญญาซื้อขาย อายุความ 10 ปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5783/2567 โจทก์ทำสัญญาซื้อขายที่ดินจากจำเลย มีบันทึกข้อตกลงแนบท้ายสัญญาซื้อขายที่ดินอันเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาซื้อขายที่ดินว่า หากรังวัดที่แล้วปรากฏว่ามีเนื้อที่ไม่ครบถ้วนตามที่ระบุในโฉนดที่ดิน จำเลยยินยอมคืนเงินโจทก์ตามส่วนที่ดินซึ่งขาดไป เป็นกรณีที่โจทก์กับจำเลยทำสัญญาซื้อขายที่ดินโดยมีข้อตกลงการคืนเงินถ้าที่ดินไม่ครบถ้วน เมื่อรังวัดที่ดินแล้วพบว่าที่ดินขาดหายไปบางส่วนจริง การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเพื่อเรียกเงินราคาที่ดินบางส่วนคืนเป็นกรณีสืบเนื่องจากจำเลยผิดสัญญาซื้อขายที่ดิน จะนำอายุความ 1 ปี ฐานลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 419 มาบังคับไม่ได้ เมื่อไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องบังคับใช้อายุความสิบปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

(หมายเหตุ 1 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เงินที่โจทก์จ่ายไปตามสัญญาซื้อขายไม่ถือว่าเป็นเงินส่วนที่โจทก์ชำระเกินไปและเป็นเงินที่จำเลยได้มาเพราะการที่โจทก์กระทำเพื่อชำระหนี้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ อันจะถือได้ว่าเป็นลาภมิควรได้ที่ตกแก่จำเลยซึ่งโจทก์จะต้องใช้สิทธิเรียกร้องเอาเงินคืนจากจำเลยภายในอายุความ 1 ปี )

(หลักกฎหมาย ป.พ.พ. มาตรา 193/30, 419)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3595.คดีเดิมศาลยกฟ้องเพราะโจทก์ไม่ได้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกัน ต่อมาโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวจึงได้มาฟ้องใหม่ ไม่เป็นฟ้องซ้ำ

คำพิพากษาฎีกาที่ 3570/2567 (เล่ม 7 หน้า 1596) คดีเดิมศาลยกฟ้องโจทก์เพราะโจทก์ไม่ได้มีหนังสือบอกกล่าว ไปยังจำเลยทั้งสองผู้ค้ำประกันภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด โดยศาลยังไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาดว่าจำเลยทั้งสองผิดสัญญาค้ำประกันและต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันหรือไม่ เพียงใด เมื่อโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยทั้งสองผู้ค้ำประกันและฟ้องใหม่เป็นคดีนี้โดยขอให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกัน จึงไม่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้ วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีเดิม ฟ้องโจทก์ไม่เป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ประกอบ พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7

จำเลยทั้งสองทำสัญญาค้ำประกันหนี้เงินกู้ของ บ. ต่อโจทก์เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2554 ก่อนวันที่ พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 ใช้บังคับ ข้อตกลงตามสัญญาค้ำประกันที่กำหนดให้จำเลยทั้งสองผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วม จึงไม่ตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 681/1 ที่แก้ไขใหม่

พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 มาตรา 19 บัญญัติว่า ในกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ สิทธิและหน้าที่ของเจ้าหนี้และผู้ค้ำประกันให้เป็นไปตามมาตรา 686 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัตินี้ บ. ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้แก่โจทก์วันที่ 23 ธันวาคม 2562 ภายหลังจากที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 ใช้บังคับ ดังนั้น บทบัญญัติมาตรา 686 ที่แก้ไขใหม่ต้องใช้บังคับกับสัญญาค้ำประกันที่จำเลยทั้งสองทำไว้กับโจทก์ด้วย

คดีเดิม ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยทั้งสองแล้ว โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยทั้งสอง ผู้ค้ำประกันแจ้งเหตุผิดนัดของลูกหนี้พ้นระยะเวลาหกสิบวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน หลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาหกสิบวัน ตาม ป.พ.พ.มาตรา 686 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ที่แก้ไขใหม่ มิใช่หลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ทั้งหมด

(หมายเหตุ 1 คดีนี้ ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นที่พิพากษายกฟ้อง

2 ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยข้างต้น โดยพิพากษากลับให้จำเลยทั้งสองร่วมกับนาย บ. ผู้กู้ ชำระเงินแก่โจทก์)

(หลักกฎหมาย ป.พ.พ.มาตรา 686 ป.วิ.พ.มาตรา 148 พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์(ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 มาตรา 19 พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3594.ผู้เช่าซื้อไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดแรก แล้วส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อ ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิเรียกค่าขาดราคาได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4836/2567 การที่จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดแรก ต่อมาจำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนให้แก่โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อโดยไม่ปรากฏว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีข้อพิพาทโต้แย้งในส่วนที่เกี่ยวกับรถยนต์ที่เช่าซื้อกัน พฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าเป็นเพราะจำเลยที่ 1 ไม่สามารถชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์ได้ และที่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนให้แก่โจทก์ภายหลังจากที่ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ บ่งชี้ถึงเจตนาที่แสดงว่าจำเลยที่ 1 ต้องการที่จะเลิกสัญญาเช่าซื้อ เช่นนี้ แม้จำเลยที่ 1 ได้ชื่อว่าเป็นลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ และสัญญาเช่าซื้อไม่มีข้อตกลงให้สิทธิจำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อต่อโจทก์ได้ จำเลยที่ 1 ก็ยังบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อต่อโจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 573 ที่บัญญัติว่า ผู้เช่าจะบอกเลิกสัญญาในเวลาใดเวลาหนึ่งก็ได้ ด้วยส่งมอบทรัพย์สินกลับคืนให้แก่เจ้าของโดยเสียค่าใช้จ่ายของตนเอง อันเป็นบทบัญญัติกำหนดสิทธิและวิธีบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยผู้เช่าซื้อไว้เป็นการเฉพาะนอกจากการเลิกสัญญาตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. บรรพ 2 ลักษณะ 2 สัญญา หมวด 4 ดังนั้น ที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนให้แก่โจทก์โดยมีเจตนาจะเลิกสัญญา และโจทก์รับมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อไว้ สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นอันเลิกกันด้วยเหตุที่จำเลยที่ 1 ซึ่งผิดนัดเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 573 พฤติการณ์แห่งคดีหาใช่เป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยที่ 1 สมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยาย โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าขาดราคาตามข้อกำหนดและเงื่อนไขในสัญญาเช่าซื้อรถยนต์

(หมายเหตุ 1 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า บทบัญญัติตาม ป.พ.พ.มาตรา 573 เป็นบทบัญญัติกำหนดสิทธิและวิธีบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยผู้เช่าซื้อไว้เป็นการเฉพาะนอกจากการเลิกสัญญาตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. บรรพ 2 ลักษณะ 2 สัญญา หมวด 4

2 คดีนี้ หลังจากทำสัญญาเช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 1 ประจำวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นต้นมา ต่อมาวันที่ 28 เมษายน 2562 ผู้เช่าซื้อจึงได้ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนผู้ให้เช่าซื้อ เป็นการบ่งชี้ถึงเจตนาที่แสดงออกมาของผู้เช่าซื้อว่าต้องการที่จะเลิกสัญญาเช่าซื้อ มิใช่เป็นการสมัครใจเลิกสัญญา ผู้ให้เช่าซื้อจึงมีสิทธิเรียกค่าขาดราคาได้

3 แต่ข้อตกลงที่กำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดในส่วนที่ขาดนี้เป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้า มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ.มาตรา 379 หากสูงเกินส่วนศาลย่อมมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 383 วรรคหนึ่ง)

(หลักกฎหมาย ป.พ.พ. มาตรา 379, 383, 391, 573)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3593.นำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปเป็นหลักประกันการกู้ยืมเงิน ผู้ให้กู้ไม่คืนรถมีความผิดฐานยักยอก

คำพิพากษาฎีกาที่ 2209/2567 (เล่ม 8 หน้า 1787) จำเลยรับมอบรถยนต์ไว้ในครอบครองเพื่อเป็นประกันเงินกู้ยืม พฤติการณ์ที่จำเลยย้ายบ้านและไม่แจ้งให้ผู้เสียหายที่ 2 ทราบถึงที่อยู่แห่งใหม่เพื่อที่จะได้นำเงินไปไถ่ถอนและรับรถยนต์ และตัดขาดการติดต่อกับผู้เสียหายที่ 2 ไม่ทวงถามให้ผู้เสียหายที่ 2 ชำระเงินกู้ทั้งที่ผู้เสียหายที่ 2 ชำระหนี้มาเพียง 2 งวด ยังไม่ครบถ้วนที่กู้ยืมไป และปฏิเสธว่าจำเลยไม่ได้รับมอบรถยนต์ไว้จากผู้เสียหายที่ 2 บ่งชี้ว่าจำเลยมีเจตนาเบียดบังเอารถยนต์ไปเป็นของจำเลยหรือบุคคลที่ 3 โดยทุจริต เป็นความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. 352 วรรคหนึ่ง

(หมายเหตุ 1 ในทางนำสืบ โจทก์มีข้อความสนทนาแอปพลิเคชั่นไลน์ระหว่างผู้เสียหายที่ 2 กับจำเลย ที่มีการสนทนากันเกี่ยวกับการชำระดอกเบี้ย และการต่อประกันรถยนต์คันพิพาทที่ผู้เสียหายที่ 2 นำไปเป็นหลักประกัน

2 จำเลยให้ผู้เสียหายที่ 2 กู้ยืมเงินเป็นเงิน 195,000 บาท โดยไม่มีสัญญากู้ยืมเป็นหนังสือ ซึ่งจำเลยไม่รู้จักสนิทสนมกับผู้เสียหายที่ 2 มาก่อน

3 สำหรับรถยนต์ที่นำไปหลักประกันเป็นรถยนต์ที่ผู้เสียหายที่ 1 เช่าซื้อมาจากธนาคาร แต่ผู้เสียหายที่ 1 ยังคงผ่อนชำระค่าเช่าซื้อตามปกติ

4 จำเลยให้การปฏิเสธว่าจำเลยไม่ได้รับมอบรถยนต์คันเกิดเหตุไว้จากผู้เสียหายที่ 2

5 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ.มาตรา 352 วรรคแรก ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

6 ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยข้างต้น โดยพิพากษากลับให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น)

(หลักกฎหมาย ป.อ. มาตรา 352)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3592.จำเลยอุทธรณ์คำสั่งขอให้พิจารณาคดีใหม่โดยไม่ได้นำค่าธรรมเนียมมาวางศาล คำสั่งรับอุทธรณ์ไม่ชอบ

คำพิพากษาฎีกาที่ 3737/2567(เล่ม 7 หน้า 1621) พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 18 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้การฟ้องคดีของผู้บริโภคได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง แต่ไม่รวมถึงความรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่กำหนดให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ อันเป็นความรับผิดในความรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมที่จำเลยที่ 2 ผู้อุทธรณ์ต้องวางเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งพร้อมอุทธรณ์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7 มิใช่เป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 ผู้อุทธรณ์ได้รับการยกเว้น

อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ แม้มิใช่เป็นอุทธรณ์ที่โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยตรง แต่ถ้าหากศาลอุทธรณ์ภาค 6 เห็นว่า จำเลยที่ 2 มิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การและมีคำสั่งอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 จะทำให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินแก่โจทก์เป็นอันต้องถูก เพิกถอนไป อุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 2 เท่ากับเป็นการอุทธรณ์ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 โดยที่มิได้ให้จำเลยที่ 2 วางเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งก่อน จึงเป็นการสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 โดยผิดหลง เช่นนี้จำเลยที่ 2 ย่อมเข้าใจว่าตนได้ปฏิบัติตามกฎหมายแล้ว กรณีไม่อาจถือได้ว่า จำเลยที่ 2 จงใจไม่วางเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมศาลฎีกา เห็นสมควรให้โอกาสจำเลยที่ 2 นำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งมาวางศาลให้ถูกต้องครบถ้วนก่อน

(หมายเหตุ 1 ป.วิ.พ. มาตรา 229 เป็นบทบัญญัติที่มุ่งประสงค์ให้คู่ความฝ่ายที่แพ้คดีที่ประสงค์จะอุทธรณ์ต้องรับ ผิดชอบค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งก่อน ด้วยการวางงานต่อศาลเพื่อเป็นหลักประกันต่อคู่ความฝ่ายที่ชนะคดีว่า หากคดีถึงที่สุดโดยคู่ความฝ่ายนั้นยังคงชนะคดีก็สามารถได้รับชำระหนี้ค่าธรรมเนียมที่วางต่อศาลได้ โดยไม่ต้องบังคับคดี

2 ศาลฎีกาวินิจฉัยเพิ่มเติมว่า มาตรา 229 มิใช่บทบัญญัติบังคับเด็ดขาดว่า หากผู้อุทธรณ์มิได้นำเงิน ค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์แล้ว ศาลต้องมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ทันทีไม่ แต่เป็นบทบัญญัติให้ศาลใช้ดุลพินิจพิจารณาเป็นกรณีไปเพื่อความเป็นธรรมว่าสมควรที่จะให้โอกาสผู้อุทธรณ์ที่มิได้นำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่กรณีฝ่ายหนึ่งนำเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าวมาวางต่อศาลภายในกำหนด หรือสมควรมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์โดยไม่ให้โอกาสก็ได้)

(หลักกฎหมาย ป.วิ.พ.มาตรา 229 พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …
3591.ผู้ตายไม่มีทายาท ทรัพย์มรดกตกเป็นของแผ่นดิน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5560/2567 โจทก์และจำเลยทั้งห้าไม่ใช่ทายาทโดยธรรมหรือทายาทโดยพินัยกรรมของ ต. ผู้ตาย โจทก์และจำเลยทั้งห้าจึงไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตาย เมื่อผู้ตายไม่มีทายาทโดยธรรมหรือทายาทโดยพินัยกรรม ทรัพย์มรดกย่อมตกเป็นของแผ่นดิน การจะวินิจฉัยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องขอส่วนแบ่งหรือไม่ หรือจำเลยทั้งห้าจะต้องคืนเงินให้แก่โจทก์หรือไม่ ต้องพิจารณาวินิจฉัยว่าเงินดังกล่าวโจทก์และจำเลยทั้งห้ามีสิทธิในเงินดังกล่าวหรือไม่ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าเงินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน โจทก์และจำเลยทั้งห้าไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตาย จึงมิใช่การวินิจฉัยนอกหรือเกินกว่าฟ้อง
(หมายเหตุ 1 โจทก์และจำเลยทั้งห้าเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนาย ส.กับนาง บ. ทั้งสองคนถึงแก่ความตายแล้ว
2 นาย ต. ผู้ตาย ไม่มีภริยาและบุตร ส่วนบิดามารดาถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว นาย ต.รับนาย ส.เป็นบุตรบุญธรรมแต่ไม่ได้จดทะเบียนตามกฎหมาย
3 เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2563 ต. ถึงแก่ความตาย ขณะถึงแก่ความตายผู้ตายมีทรัพย์สินเป็นเงินตามบัญชีเงินฝากธนาคารหลายธนาคารและหลายบัญชี มีชื่อผู้ตายเป็นเจ้าของบัญชีร่วมกับโจทก์ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 นางสาว ป. และนางสาว ช.
4 ต่อมา ศาลมีคำสั่งตั้งโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 4 เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันเฉพาะบัญชีเงินฝากธนาคาร ก. และบัญชีเงินฝากธนาคาร อ.
5 แต่ปรากฏว่า จำเลยทั้งห้าไม่แบ่งเงินจากบัญชีธนาคารอี่นให้แก่โจทก์ โจทก์จึงมาฟ้องเป็นคดีนี้ และศาลฎีกาได้มีคำวินิจฉัยข้างต้น)
(หลักกฎหมาย ป.พ.พ. มาตรา 1753 ป.วิ.พ.มาตรา 142)
นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

นายกสภาทนายความอวยพรเนื่องในวันมหาสงกรานต์ ปีใหม่ไทย

 

วันที่ 13 เมษายน 2568 และเป็นวันมหาสงกรานต์ ขอให้ผู้ประกอบวิชาชีพทนายความพร้อมทั้งครอบครัว และประชาชนทุกท่าน จงประสบแต่ความสุขความเจริญ ขอให้ทุกท่านมีสุขภาพจิตแจ่มใส สุขภาพกายแข็งแรง ปราศจากโรคร้าย ภัยร้าย คิดและทำการสิ่งใดขอให้ประสบความสำเร็จตามความมุ่งหมายทุกประการ

 

ดร.วิเชียร ชุบไธสงนายกสภาทนายความ

วันที่ 13 เมษายน มหาสงกรานต์  2568

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3590.แบ่งปันทรัพย์มรดกโดยวิธีการจับสลาก ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2128/2567 ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า การแบ่งปันทรัพย์มรดกนั้น อาจทำได้โดยทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัด หรือโดยการขายทรัพย์มรดกแล้วเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกันระหว่างทายาท วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าการแบ่งมิได้เป็นไปตามวรรคก่อน แต่ได้ทำโดยสัญญาจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ เว้นแต่จะมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ ในกรณีเช่นนี้ให้นำมาตรา 850, 852 แห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยประนีประนอมยอมความมาใช้บังคับโดยอนุโลม เห็นว่า การแบ่งปันทรัพย์มรดกนั้น ป.พ.พ. บรรพ 6 ลักษณะ 4 หมวด 3 บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ตามหลักกฎหมายดังกล่าวแบ่งได้ 3 วิธี กล่าวคือ 1) โดยทายาทต่างเข้าครอบครองเป็นส่วนสัดด้วยการแบ่งตัวทรัพย์ตามความยินยอมโดยตรงหรือโดยปริยายและต่างเข้าครอบครองตามทรัพย์มรดกที่ได้รับแบ่งนั้น กรณีนี้ไม่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือก็บังคับได้ 2) โดยการขายทรัพย์มรดกแล้วเอาเงินที่ขายได้แบ่งปันกันระหว่างทายาท กรณีเกิดจากทายาทผู้มีสิทธิในทรัพย์มรดกไม่อาจแบ่งตัวทรัพย์กันได้ การขายอาจตกลงกันว่าให้ประมูลกันระหว่างทายาท หรือประกาศขาย หรือถ้าตกลงกันไม่ได้ก็ต้องนำคดีมาฟ้องเรียกให้แบ่งมรดกโดยขอให้ศาลพิพากษาให้แบ่งระหว่างเจ้าของรวม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1364 และ 3) การแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยสัญญาที่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ มิเช่นนั้นจะฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่ เมื่อโจทก์ยืนยันตามที่บรรยายฟ้องว่า ฉ. และ ล. ในฐานะผู้จัดการมรดกได้นัดประชุมทายาทโดยธรรมของ พ. เพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก ในวันนัดมีโจทก์ และทายาททุกคน ยกเว้นจำเลยมาประชุมโดยพร้อมกัน ที่ประชุมตกลงให้มีการจับฉลากแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนในสัดส่วนเท่า ๆ กัน เมื่อจำเลยไม่มาประชุม ที่ประชุมจึงมอบหมายให้ ล. เป็นผู้จับฉลากแทน เมื่อการแบ่งปันทรัพย์มรดกโดย ฉ. และ ล. ในฐานะผู้จัดการมรดกนั้นมิชอบด้วย ป.พ.พ. บรรพ 6 ลักษณะ 4 หมวด 3 ที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะตามหลักกฎหมายข้างต้น แม้ ฉ. และ ล. ในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนที่พิพาทให้แก่โจทก์แล้ว ที่พิพาทก็ยังเป็นทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งซึ่งจำเลยผู้เป็นทายาทด้วยกันย่อมมีส่วนกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทเท่ากันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1745, 1746 และย่อมมีสิทธิครอบครองและใช้ประโยชน์ในที่พิพาทได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1360 วรรคหนึ่ง โจทก์ไม่อาจอ้างความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้ กรณีตามคำฟ้องถือว่ายังไม่มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของจำเลยต่อโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ทั้งข้ออ้างอันเป็นหลักแห่งข้อหาตามฟ้องมิใช่เรื่องขอแบ่งมรดกในอันที่ศาลจะพิจารณาพิพากษาให้ได้ เพราะเป็นการเกินไปกว่าหรือนอกเหนือจากที่ปรากฏในคำฟ้องซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

(หมายเหตุ 1 คดีนี้ ทายาทของเจ้ามรดกยกเว้นจำเลยได้แบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายโดยวิธีการจับสลาก ซึ่งโจทก์ได้รับส่วนแบ่งเป็นที่ดินซึ่งจำเลยเป็นผู้ครอบครองอยู่ โจทก์จึงมาฟ้องขับไล่จำเลย

2 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แบ่งปันทรัพย์มรดกต้องเป็นไปตาม ป.พ.พ.มาตรา 1750 การแบ่งปันทรัพย์มรดกในคดีนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้ผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนที่พิพาทให้แก่โจทก์แล้ว ที่พิพาทก็ยังเป็นทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง ซึ่งจำเลยผู้เป็นทายาทด้วยกันย่อมมีส่วนกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทเท่ากัน และย่อมมีสิทธิครอบครองและใช้ประโยชน์ในที่พิพาทได้ โจทก์ไม่อาจอ้างความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้)

(หลักกฎหมาย ป.พ.พ. มาตรา 1745, 1746, 1748, 1750 วรรคหนึ่ง)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849