ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3461.กรรมการบริษัทไม่ต้องรับผิดชอบเมื่อมีการกระทำละเมิดเกิดขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1235/2567 จำเลยที่ 2 เป็นเพียงกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการอันอยู่ในฐานะผู้แทนบริษัทจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 70 วรรคหนึ่ง การมีเสือไว้ในครอบครองและดูแลรักษาก็เพื่อกิจการตามวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 ซึ่งแสดงออกโดยจำเลยที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 70 วรรคสอง และเหตุเกิดขึ้นที่สวนสัตว์อันเป็นกิจการของจำเลยที่ 1 ทั้งตามพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบก็ได้ความว่า มีพนักงานจำเลยที่ 1 เป็นผู้ดูแลเสือโดยเฉพาะ โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 เข้าไปเกี่ยวข้องในฐานะผู้รับเลี้ยงเสือด้วย จำเลยที่ 2 คงมีความเกี่ยวข้องในฐานะผู้แทนของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเพียงตัวแทนของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1167 มิได้เลี้ยงหรือดูแลเสือโดยตรง จึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ดูแลหรือรับเลี้ยงรับรักษาสัตว์ไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 433 อันจะก่อให้เกิดหน้าที่และความรับผิดชอบ ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 กระทำการใดนอกขอบวัตถุประสงค์ของบริษัทจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3460.ธนาคารฟ้องลูกหนี้ภายหลังจากลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้เป็นเวลานาน ไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 610/2567 พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 12 บัญญัติหลักแห่งการใช้สิทธิและการชำระหนี้ของผู้ประกอบธุรกิจไว้ว่า “ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี ผู้ประกอบธุรกิจต้องกระทำด้วยความสุจริตโดยคำนึงถึงมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสมภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรม” บทบัญญัติดังกล่าวแตกต่างจากการใช้สิทธิและการชำระหนี้ของบุคคลตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 ที่บัญญัติให้บุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต เพราะต้องการยกระดับมาตรฐานความสุจริตของผู้ประกอบธุรกิจในการใช้สิทธิและในการชำระหนี้ให้ยิ่งไปกว่าบุคคลทั่วไปจะพึงมีตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยผู้ประกอบธุรกิจต้องปฏิบัติต่อผู้บริโภคไม่ด้อยไปกว่ามาตรฐานทางการค้าของผู้ประกอบธุรกิจในกิจการทำนองเดียวกับประพฤติปฏิบัติต่อผู้บริโภค ทั้งต้องมีจริยธรรมในการประกอบกิจการภายใต้ระบบธุรกิจที่มีการแข่งขันกันอย่างเสรีและเป็นธรรม มีความรับผิดชอบ ดำเนินการด้วยความโปร่งใสและตรวจสอบได้ เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ผู้บริโภค อันจะส่งผลต่อความก้าวหน้าในกิจการของผู้ประกอบธุรกิจควบคู่กันไป หากผู้ประกอบธุรกิจใช้สิทธิหรือชำระหนี้ในเกณฑ์ที่ด้อยกว่ามาตรฐานความสุจริตดังกล่าวแล้ว ย่อมเท่ากับว่าผู้ประกอบธุรกิจใช้สิทธิไม่สุจริต และศาลไม่อาจบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้แก่ผู้ประกอบธุรกิจที่ใช้สิทธิไม่สุจริตเช่นนั้นได้ เมื่อข้อเท็จจริงอันเป็นที่มาแห่งการใช้สิทธิทางศาลเพื่อบังคับให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้แก่โจทก์ซึ่งประกอบธุรกิจบริษัทบริหารสินทรัพย์ และรับโอนสิทธิเรียกร้องที่ธนาคาร น. เจ้าหนี้เดิมมีอยู่ต่อจำเลยทั้งสอง ไม่ปรากฏหลักฐานแสดงรายละเอียดการชำระหนี้ของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองชำระหนี้ครั้งสุดท้ายตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้แก่ธนาคาร น. ในวันใด และธนาคาร น. เจ้าหนี้เดิมอาจใช้สิทธิเรียกร้องตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ฉบับลงวันที่ 23 เมษายน 2550 ได้ตั้งแต่เวลาใด รวมถึงโจทก์ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องมาแล้วได้ใช้สิทธิบังคับชำระหนี้จากจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ในทันทีที่มีโอกาสกระทำได้หรือภายในระยะเวลาอันสมควรหรือไม่ พฤติการณ์ของธนาคาร น. เจ้าหนี้เดิมกับโจทก์ซึ่งรับโอนสิทธิเรียกร้องมาในปี 2557 ยังคงทอดเวลาให้เนิ่นช้ากว่าจะนำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2563 เป็นเวลาถึงห้าปีเศษ จนเป็นเหตุให้ภาระหนี้ในส่วนดอกเบี้ยที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดสูงเกินไปกว่าต้นเงินที่ค้างชำระ แสดงให้เห็นว่าเจ้าหนี้เดิมและโจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจใช้สิทธิเรียกร้องต่อลูกหนี้โดยมิได้คำนึงถึงความเสียหายของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้บริโภค กรณีนับเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตและไม่คำนึงถึงมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสมภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรม ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 12 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 อาศัยอำนาจตามบทบัญญัติดังกล่าวไม่กำหนดให้โจทก์ได้รับดอกเบี้ยหลังจากวันฟ้องจึงสมควรแก่รูปคดีแล้ว

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3459.บอกเลิกสัญญานายหน้าก่อนครบกำหนดสัญญา ไม่ต้องจ่ายค่านายหน้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 822/2567 จำเลยทำสัญญาให้โจทก์เป็นนายหน้าขายที่ดินตกลงค่านายหน้าในอัตราร้อยละ 3 จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดได้ โจทก์ฟ้องตั้งรูปคดีว่าจำเลยใช้สิทธิบอกเลิกสัญญากับโจทก์โดยไม่สุจริตปราศจากมูลที่จะอ้างตามสัญญาหรือกฎหมายได้ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย มีคำขอให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์เป็นค่าใช้จ่ายในการปรับถมที่ดิน 125,000 บาท ค่าที่ดินเพิ่มขึ้นจากการปรับถมที่ดิน 14,355,099 บาท และค่าเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ 5,000,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่า จำเลยขายที่ดินให้แก่ผู้ซื้อถือได้ว่าเป็นผลจากการที่โจทก์ได้ติดต่อให้ผู้ซื้อตัดสินใจซื้อ พิพากษาให้จำเลยใช้ค่านายหน้าร้อยละ 3 ของราคาซื้อขายจำนวน 2,712,000 บาท เป็นเงิน 81,360 บาท เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่ปรากฏในคำฟ้องหรือที่โจทก์มีคำขอบังคับ อันเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 246 โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยใช้ค่านายหน้าแก่โจทก์จากราคาที่ผู้ซื้อกับจำเลยทำการซื้อขายกันจริงจำนวน 6,000,000 บาท เป็นเงิน 180,000 บาท และที่จำเลยฎีกาว่าการซื้อขายที่ดินระหว่างผู้ซื้อกับจำเลยไม่ได้เป็นผลมาจากการชี้ช่องหรือจัดการให้ของโจทก์ จำเลยไม่ต้องใช้ค่านายหน้าแก่โจทก์ เป็นฎีกาในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 เป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 252 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

การที่โจทก์ปรับปรุงถมดินในที่ดินของจำเลยที่มีโจทก์เป็นนายหน้าเพื่อจูงใจให้มีผู้สนใจมาซื้อที่ดิน โจทก์แจ้งให้จำเลยทราบถึงเรื่องนี้แล้วจำเลยไม่ได้คัดค้าน จึงถือได้ว่าโจทก์ทำการปรับถมดินในที่ดินของจำเลยโดยสุจริต แม้ค่าใช้จ่ายนี้โจทก์รับว่า ตามสัญญานายหน้าไม่มีการระบุเรื่องของการถมดินและค่าใช้จ่ายในการถมดิน ซึ่งทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับชดใช้ค่าใช้จ่ายที่ได้เสียไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 845 แต่ดินที่ถมดังกล่าวเป็นทรัพย์ที่ตกติดไปกับที่ดินที่จะซื้อจะขายกันอันเป็นประโยชน์ในการขายต่อไป กรณีย่อมถือได้ว่าจำเลยได้มาซึ่งทรัพย์คือดินที่ถมนั้นโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และเป็นทางให้โจทก์นั้นเสียเปรียบลักษณะลาภมิควรได้ จำเลยจึงต้องคืนทรัพย์นั้นให้แก่โจทก์ แต่เมื่อสภาพทรัพย์ดังกล่าวเป็นสิ่งที่ตรึงตรากับที่ดินอย่างถาวรโดยสภาพย่อมไม่อาจคืนทรัพย์นั้นกันได้ จำเลยจึงต้องคืนโดยใช้ราคาทรัพย์นั้นแก่โจทก์ มิใช่ชดใช้ราคาค่าที่ดินที่เพิ่มขึ้นโดยใช้ดินในการถมประมาณ 97 ลูกบาศก์เมตร ถมดินสูงขึ้นมาจากพื้นดินประมาณ 30 เซนติเมตร ค่าใช้จ่ายในการปรับถมที่ดินจำนวน 125,000 บาท จำเลยไม่ได้แก้อุทธรณ์โจทก์หรือฎีกาโต้แย้งว่าไม่ถูกต้องอย่างไร กรณีจึงฟังได้ว่าโจทก์เสียค่าใช้จ่ายในการปรับถมที่ดินไปจำนวน 125,000 บาท อันถือเป็นราคาทรัพย์ที่จำเลยต้องชดใช้คืนแก่โจทก์

(หมายเหตุ 1 คดีนี้ วันที่ 10 มีนาคม 2561 จำเลยทำสัญญาให้โจทก์เป็นนายหน้าขายที่ดินของจำเลย โดยมีข้อตกลงว่า ในกรณีที่จำเลยสามารถขายที่ดินให้แก่ผู้ซื้อเนื่องมาจากผลแห่งการที่โจทก์ได้ชี้ช่องหรือจัดการให้ได้ราคาไม่ต่ำกว่า 10,271,250 บาท จำเลยตกลงยินยอมจ่ายค่านายหน้าให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 3 สัญญานายหน้าให้ใช้บังคับได้เพียงวันที่ 9 มีนาคม 2562 และในกรณีที่โจทก์ยังไม่สามารถชี้ช่องหรือจัดการให้ผู้ซื้อมาทำการซื้อที่ดิน จำเลยมีสิทธิเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดได้

2 เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2562 จำเลยมีหนังสือบอกเลิกสัญญานายหน้าไปยังโจทก์

3 วันที่ 27 กันยายน 2562 จำเลยจดทะเบียนขายที่ดินให้แก่ น. ได้ โจทก์จึงมาฟ้องเป็นคดีนี้)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

สภาทนายความ มูลนิธิพิทักษ์สตรี นักกฎหมาย ทนายความ สปป.ลาว แลกเปลี่ยนแนวทางช่วยเหลือผู้เสียหายคดีค้ามนุษย์ 

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน 2567 เวลา 10.30 น. ณ ห้องประชุม 6 ชั้น 4 สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ พร้อมด้วยนายสัญญาภัชระ สามารถ อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ นางสาวศรินทร เลืองวัฒนะวณิช อุปนายกฝ่ายต่างประเทศ ร้อยตำรวจตรีสุรศิษฎ์ เหลืองอรัญนภา รองประธานกรรมการสิทธิมนุษยชน และนายไพโรจน์ จำลองราษฎร์ กรรมการสิทธิมนุษยชน ให้การต้อนรับ คณะมูลนิธิพิทักษ์สตรี (ALLIANCE ANTI TRAFIC) นักกฎหมาย ทนายความ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานของสภาทนายความ ตามโครงการ “ฝึกอบรมการสร้างความเข้มแข็ง การดำเนินคดีค้ามนุษย์” ให้แก่ทนายความใน สปป. ลาว เพื่อสร้างศักยภาพและเสริมทักษะความรู้ เพื่อปกป้องคุ้มครองผู้หญิงและเด็กใน สปป.ลาว

นอกจากนี้ยังได้ร่วมกันหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์แนวทางการช่วยเหลือผู้เสียหายคดีค้ามนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทนายความจาก สปป.ลาว ให้ความสนใจในบทบาทหน้าที่ของสภาทนายความของไทย การให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน รวมถึงกระบวนการดำเนินคดีในประเทศไทยเกี่ยวกับคดีค้ามนุษย์

ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ กล่าวว่า สภาทนายความยินดีให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนผู้เสียหายจาก สปป.ลาว ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างสภาทนายความไทยกับสภาทนายความ สปป.ลาว

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3458.บุตรบุญธรรมด่าทอผู้รับบุตรบุญธรรมว่า “ไม่มีศีลธรรม ไม่ยุติธรรม”

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1665/2567 แม้โจทก์มีโจทก์อ้างตนเองเป็นพยานเพียงปากเดียวที่เบิกความว่า จำเลยด่าทอโจทก์และไล่โจทก์ออกจากบ้าน ไม่มีพยานโจทก์ปากอื่นเบิกความสนับสนุนก็ตาม ซึ่งจำเลยก็นำสืบปฏิเสธว่าไม่ได้ด่าทอโจทก์ตามที่โจทก์กล่าวอ้างและไม่ได้ไล่โจทก์ออกจากบ้าน ทำให้ต้องวินิจฉัยว่าคำเบิกความฝ่ายใดจะมีน้ำหนักน่าเชื่อถือมากกว่ากัน เมื่อพิจารณาถึงพฤติการณ์เริ่มแรก ก่อนที่จำเลยจะเข้ามาเป็นบุตรบุญธรรมของโจทก์ โจทก์เบิกความว่าก่อนที่โจทก์จะจดทะเบียนรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรม โจทก์และ พ. เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ม. เป็นเวลาไม่ถึง 1 สัปดาห์ มี ส. และ ท. พ่อตาแม่ยายของจำเลยมาเฝ้าดูแลและพาไปโรงพยาบาลจนเกิดความสนิทสนมคุ้นเคยกัน จนกระทั่งโจทก์จดทะเบียนรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรม ทำให้เห็นว่าจำเลยและครอบครัวทางภริยาพยายามเข้ามาช่วยเหลือเกื้อกูลโจทก์และ พ. น้องสาวโจทก์เป็นพิเศษทั้งที่ไม่ได้เป็นเครือญาติกัน จึงเป็นเรื่องผิดวิสัยที่บุคคลภายนอกจะเข้ามาดูแลเอาใจใส่พาโจทก์และ พ. ไปโรงพยาบาล ให้ที่พักอาศัย พาไปทำบุญและท่องเที่ยวตามที่ต่าง ๆ แต่ตามข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยนำสืบรับกันว่า ทั้งโจทก์และ พ. น้องสาวโจทก์ต่างเป็นหญิงชรา โจทก์มีโรคประจำตัวหลายโรคทั้งเบาหวานและความดัน ส่วน พ. ป่วยด้วยโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ติดเชื้อในกระแสเลือด และเป็นผู้ป่วยติดเตียงต้องการผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด เมื่อโจทก์และ พ. มีทรัพย์สินและเงินฝากในบัญชีธนาคารมูลค่าไม่ใช่น้อย จึงเป็นเรื่องที่น่าสงสัยในการกระทำของจำเลยและครอบครัวว่ากระทำด้วยความสุจริตหรือไม่ ซึ่งต่อมาโจทก์จดทะเบียนรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรม และทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินที่เป็นที่ดินและเงินสดให้แก่จำเลย แต่โจทก์ก็ยังเป็นห่วงจำเลยว่าเครือญาติของโจทก์จะมีเรื่องทรัพย์สินพิพาทกับจำเลย จึงจดทะเบียนยกที่ดินทั้งสามแปลงพิพาทให้แก่จำเลย แสดงว่าโจทก์ย่อมรักไว้ใจและผูกพันจำเลยเสมือนบุตรและหวังฝากผีฝากไข้ไว้กับจำเลย ต่อมาเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2560 โจทก์ได้รับเงินประกันชีวิต 4,770,000 บาท และนำไปฝากไว้ที่ธนาคาร ก. ปรากฏว่าในวันเดียวกันมีการถอนเงินออกไป 2,700,000 บาท และเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2560 มีการถอนเงินออกจากบัญชีดังกล่าวอีก 2,010,000 บาท โจทก์เบิกความว่าไม่ได้เป็นผู้เบิกถอน ซึ่งจำเลยนำสืบรับว่า เงินที่ถอน 2,700,000 บาท โจทก์ยกให้จำเลยนำไปชำระหนี้ส่วนตัวของจำเลยและภริยา ส่วนเงินที่ถอน 2,010,000 บาท โจทก์ให้นำไปใช้ในครอบครัวและดูแลความเป็นอยู่ของโจทก์ แม้ให้การไม่สอดคล้องกัน แต่ก็ทำให้เห็นว่าจำเลยได้รับประโยชน์จากการที่ดูแลโจทก์เพียงไม่กี่เดือนนับแต่ที่โจทก์รับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรมและจำเลยพาโจทก์มาพักอาศัยอยู่ด้วยกัน หลังจากที่โจทก์ย้ายออกมาจากบ้านพ่อตาแม่ยายของจำเลยแล้ว ปรากฏว่าโจทก์ตรวจสอบบัญชีเงินฝากจึงทราบว่าเหลือยอดเงินฝากเพียง 68.03 บาท โจทก์จึงไปแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยในข้อหาลักทรัพย์ และพนักงานอัยการจังหวัดมหาสารคามยื่นฟ้องจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์ และความผิดเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์ จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้อง แสดงว่าจำเลยมีพฤติการณ์ที่ลักเงินฝากในบัญชีธนาคารของโจทก์ไปโดยใช้บัตรกดเงินสด (บัตรเอทีเอ็ม) รวม 37 ครั้ง และลักเงินสดรวมยอดเงินที่จำเลยลักไปในคดีดังกล่าว 560,504 บาท ในระหว่างวันที่ 2 ตุลาคม 2560 ถึงวันที่ 27 ตุลาคม 2561 ช่วงที่โจทก์พักอาศัยอยู่กับจำเลย ทำให้เห็นว่าจำเลยไม่ได้มีเจตนาสุจริตที่รับเลี้ยงดูแลโจทก์ดังที่จำเลยนำสืบ แต่การกระทำของจำเลยแฝงไว้ด้วยเล่ห์เพทุบายในการหลอกล่อเอาทรัพย์สินของโจทก์ไปโดยทุจริต จนเงินฝากในบัญชีธนาคารของโจทก์เหลือเพียง 68.03 บาท และโจทก์ยกที่ดินทั้งสามแปลงพิพาทให้เป็นของจำเลยแล้วจนโจทก์แทบไม่มีทรัพย์สินเหลืออยู่ พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยด่าทอโจทก์ด้วยถ้อยคำตามที่โจทก์กล่าวอ้างจริง และไล่โจทก์ออกจากบ้าน เมื่อพิเคราะห์ถ้อยคำที่จำเลยด่าทอโจทก์ที่ว่า “ไม่มีศีลธรรม ไม่ยุติธรรม ไม่รักลูก เงินแค่นี้ก็ทวง จะไปตายที่ไหนก็ไป หน้าด้านหน้ามึนอยู่ทำไม” กับการที่โจทก์จดทะเบียนรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรม โจทก์ก็เปรียบเสมือนเป็นมารดาของจำเลยคนหนึ่ง จำเลยย่อมต้องให้ความเคารพและยกย่องเชิดชูโจทก์ คำว่า “ไม่มีศีลธรรม ไม่ยุติธรรม” เป็นการกล่าวหาโจทก์ว่า ไม่รู้จักชอบชั่วดี ไม่ให้ความเป็นธรรมแก่จำเลย ทำให้ถูกคนอื่นเกลียดชัง เสียชื่อเสียง ส่วนคำว่า “หน้าด้านหน้ามึนอยู่ทำไม” แสดงให้เห็นว่าโจทก์ไม่มีความละอายแก่ใจที่มาอาศัยอยู่กับจำเลยและครอบครัว อันเป็นถ้อยคำที่ไร้ความเคารพนับถือ เป็นการลบหลู่เหยียดหยาม อกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ ถือได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรง จึงเป็นเหตุให้โจทก์เรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุจำเลยประพฤติเนรคุณได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 531 (2)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

สภาทนายความหารือแนวทางด้านวิชาการ ในการจัดอบรมร่วมกับ สถาบันอนุญาโตตุลาการ

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน 2567 เวลา 10.00 น. ที่ ห้องประชุม 1 ชั้น 4 สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ : คณะผู้แทนจากสถาบันอนุญาโตตุลาการ นำโดย นายสุริยพงศ์ ทับทิมแท้ ผอ.สถาบันอนุญาโตตุลาการ นางสาวมัชฌิมธร คัมภิรานนท์ รอง ผอ.สถาบันฯ นายราชศรุต จันทร์โชติ ผอ.ฝ่ายอนุญาโตตุลาการและการประนอมข้อพิพาท นางสาววรัฐญา หุ่นเจริญ ผอ.ฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจ และนางสาวรุ่งตะวัน ทิพย์รอด ผู้จัดการฝ่ายการตลาด เข้าพบ ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ และ ดร.วิรัลพัชร เวธทาวริทธิ์ธร อุปนายกฝ่ายวิชาการ เพื่อหารือแนวทางด้านวิชาการ ในการจัดอบรมร่วมกับสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้ด้านกฎหมายและการทำหน้าที่ของสถาบันอนุญาโตตุลาการให้แก่นักกฎหมาย ทนายความ ภาคเอกชน ภาคประชาชน รวมทั้งนักศึกษา

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3457.ให้ อ.บ.ต. ยืมสินค้าไปใช้งาน ต้องฟ้องภายใน 2 ปี

คำพิพากษาฎีกาที่ 204/2567 (เล่ม 1 หน้า 64) (ประชุมใหญ่) ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 คืนสินค้าจำพวกวัสดุ อุปกรณ์ และครุภัณฑ์สำหรับใช้ในสำนักงานที่รับไปจากโจทก์และยังไม่ได้ชำระราคา หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน และยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่กระทบสิทธิของจำเลยที่ 2 ที่อาจใช้สิทธิ ฎีกาได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2

สินค้าตามใบยืมสินค้าที่โจทก์ส่งมอบให้จำเลยที่ 1 เป็นสินค้าจำพวกวัสดุ อุปกรณ์ และครุภัณฑ์ใช้ในสำนักงาน บางรายการเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใช้สิ้นเปลืองหมดไป โดยสภาพของสินค้าเมื่อมีการใช้ประโยชน์แล้วโจทก์ไม่สามารถติดตามเอาคืนได้ ตลอดระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 ได้รับสินค้าไปจากโจทก์รวม 35 ครั้ง จำเลยที่ 1 ไม่เคยคืนสินค้า ให้แก่โจทก์ แต่จะชำระค่าสินค้าบางส่วนให้แก่โจทก์ แสดงว่าโจทก์ไม่ได้ประสงค์ที่จะรับสินค้าคืนแต่ประสงค์ที่จะรับค่าสินค้า ส่วนจำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้ประสงค์คืนสินค้าแต่ประสงค์ที่จะชำระค่าสินค้า ลักษณะการกระทำระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มุ่งประสงค์ในการที่จะซื้อขายสินค้าและให้มีการชำระราคาสินค้าที่จำเลยที่ 1 รับไปจากโจทก์ สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด ตาม ป.พ.พ.มาตรา 453 กรรมสิทธิ์ในสินค้าตกเป็นของจำเลยที่ 1 แล้วตั้งแต่มีการซื้อขายและส่งมอบสินค้ากัน ไม่ใช่สัญญาซื้อขายมีเงื่อนไข โจทก์ไม่มีสิทธิติดตามเอาสินค้าคืน ตามมาตรา 1336

โจทก์มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการค้าจำหน่ายเครื่องเขียน เครื่องใช้สำนักงาน ครุภัณฑ์ ถือว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าเรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบ มีกำหนดอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 193/34(1) จำเลยที่ 1 รับมอบสินค้าจากโจทก์ครั้งสุดท้าย วันที่ 23 มิถุนายน 2559 โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องค่าสินค้าจากจำเลยที่ 1 อย่างช้าที่สุดตั้งแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไป โจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 3 มกราคม 2563 พ้นกำหนดเวลา 2 ปี ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ

(หมายเหตุ 1 โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็น อ.บ.ต. และจำเลยที่ 2 ซึ่งดำรงตำแหน่งนายก อ.บ.ต. ว่ายืมสินค้าไปจากโจทก์ ขอให้คืนสินค้าที่ยืมไป หากคืนไม่ได้ให้ร่วมกันชำระเงิน 275,277 บาท

2 ใบยืมสินค้าแต่ละใบ มีหมายเหตุว่า ข้าพเจ้า(จำเลยที่ 1) ผู้ยืมสินค้าได้รับสินค้าตามรายการสินค้าดังกล่าวข้างต้นไปครบถ้วนถูกต้องแล้ว และข้าพเจ้า(จำเลยที่ 1) สัญญาว่าจะนำสินค้าตามรายการดังกล่าวข้างต้นมาส่งคืนให้แก่ผู้ให้ยืม(โจทก์) ภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันยืมสินค้า หากส่งคืนสินค้าให้แก่ผู้ให้ยืม(โจทก์)ไม่ได้ ผู้ยืมสินค้า(จำเลยที่ 1) ตกลงชำระเงินให้แก่ผู้ให้ยืม(โจทก์) แทนค่าสินค้าจนครบถ้วน และตกลงให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ให้ยืม(โจทก์) ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ยืมสินค้า และยินยอมให้ผู้ให้ยืมสินค้า(โจทก์) ฟ้องร้องบังคับคดีได้ทันทีนับแต่วันผิดนัดผิดสัญญา

3 ทางพิจารณา ผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงินของโจทก์ ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า เกี่ยวกับการฟ้องคดีนี้ โจทก์ประสงค์จะเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าสินค้าแทนการคืนสินค้า

4 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 คืนสินค้า หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2

5 ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไข บังคับไว้ และโจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ติดตามเอาทรัพย์คืนจากผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น

6 ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยดังกล่าวข้างต้น โดยพิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ด้วย)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

นายกสภาทนายความเป็นประธานพิธีพระราชทานเพลิงศพ มารดาประธานสภาทนายความจังหวัดวิเชียรบุรี

ใจ

สุดอาลัย…

เมื่อวันพุธที่ 27 พฤศจิกายน 2567 เวลา 16.00 น. ที่ เมรุวัดวิเชียรบำรุง (วัดท่าน้ำ) ตำบลท่าโรง อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ : ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ได้เดินทางไปเป็นประธานในพิธีพระราชทานเพลิงศพ คุณแม่พนม ด้วงทอง มารดาของนายจตุพล ด้วงทอง ประธานสภาทนายความจังหวัดวิเชียรบุรี โดยมีนายอุทัย ไสยสาลี หัวหน้าสำนักงาน สภาทนายความ พร้อมด้วยประธานสภาทนายความในจังหวัดภาค 6 สมาชิกทนายความในภาค 6 และประชาชนร่วมพิธีพระราชทานเพลิงศพจำนวนมาก

ขอให้ดวงวิญญาณของคุณแม่พนม ด้วงทอง จงสู่สุคติในสัมปรายภพตราบนิรันดร์

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3456.ลูกจ้างร้านซ่อมรถขับรถที่เอาประกันไปเฉี่ยวชนกับรถคันอื่น ต้องรับผิดต่อบริษัทประกันภัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 882/2567 กรมธรรม์ประกันภัย ข้อ 6 ระบุเหตุที่โจทก์สละสิทธิไล่เบี้ยจากผู้ใช้รถยนต์โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยว่า ในกรณีที่มีความเสียหายต่อรถยนต์ เมื่อบุคคลอื่นเป็นผู้ใช้รถยนต์โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัย โจทก์สละสิทธิในการไล่เบี้ยจากผู้ใช้รถยนต์นั้น แต่กรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวระบุข้อยกเว้นที่โจทก์ยังสงวนสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์จ่ายไปคืนจากผู้ใช้รถยนต์โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยไว้ด้วยว่า กรณีการใช้โดยบุคคลของสถานให้บริการเกี่ยวกับการซ่อมแซมรถ การทำความสะอาดรถ การบำรุงรักษารถ หรือการติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติมเมื่อรถยนต์ได้ส่งมอบให้เพื่อรับบริการนั้น โจทก์จะเรียกค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์จ่ายไปคืนจากบุคคลเหล่านั้น คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ผู้เอาประกันภัยประสงค์จะนำรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยเข้าซ่อมที่บริษัท บ. แต่ไม่สามารถนำรถไปส่งซ่อมเองได้ จึงมอบหมายให้บริษัท บ. จัดหาบุคคลไปรับรถยนต์มาเพื่อซ่อม เมื่อบริษัท บ. เป็นสถานให้บริการเกี่ยวกับการซ่อมแซมรถ การที่บริษัท บ. ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ไปรับรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยจากผู้เอาประกันภัย จึงเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการนำรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยเข้ารับบริการซ่อมตามการมอบหมายและความยินยอมของผู้เอาประกันภัย ต่อมาจำเลยที่ 2 มอบหมายให้จำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกจ้างไปรับรถและขับรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยจากผู้เอาประกันภัยไปส่งที่บริษัท บ. จึงเป็นการกระทำในวัตถุประสงค์และการมอบหมายของบริษัท บ. เช่นเดียวกัน ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งรับดำเนินการในกรณีนี้เป็นตัวแทนของบริษัท บ. ในการรับมอบรถยนต์จากผู้เอาประกันภัยเพื่อนำไปรับบริการซ่อมแซมจากบริษัท บ. ผู้เป็นตัวการ การที่จำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยจึงเป็นการกระทำโดยบุคคลของสถานให้บริการเกี่ยวกับการซ่อมแซมรถเมื่อรถยนต์ได้ส่งมอบให้เพื่อรับบริการนั้น อันเป็นข้อยกเว้นซึ่งโจทก์ยังสงวนสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์จ่ายไปคืนจากผู้ใช้รถยนต์ที่ได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยนั้น โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยไล่เบี้ยจากจำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิด จำเลยที่ 2 ผู้เป็นนายจ้าง และจำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยความรับผิดของจำเลยที่ 2 ให้ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 วรรคหนึ่ง มาตรา 420 และมาตรา 425

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

ถกเข้ม! นายกสภาทนายความ เป็นประธานในการประชุมหารือเกี่ยวกับปัญหาทนายความอาสา ทนายขอแรง และปัญหาเรื่องมรรยาททนายความ

เมื่อวันอังคารที่ 26 พฤศจิกายน 2567 เวลา 14.00 น. ที่ โรงแรมอโยธยา ริเวอร์ไซด์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา : ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ เป็นประธานในการประชุมหารือเกี่ยวกับปัญหาทนายความอาสา ทนายขอแรง และปัญหาเรื่องมรรยาททนายความ โดยมี นายสุชาติ ชมกุล อุปนายกฝ่ายกิจการพิเศษ สภาทนายความ ร่วมเป็นวิทยากร และดร.คุณานนต์ นงนุช ประธานสภาทนายความจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้การต้อนรับ ซึ่งมีทนายความในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และทนายความในภาค 1 เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้เป็นจำนวนมาก