ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3469.ขอให้ศาลเรียกจำเลยมาไต่สวนหาทรัพย์ของจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1363/2567 ป.วิ.พ. มาตรา 274 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาร้องขอให้มีการบังคับคดี หากลูกหนี้ตามคำพิพากษามิได้ปฏิบัติตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษา ด้วยการยื่นคำร้องขอฝ่ายเดียวต่อศาลตามมาตรา 275 วรรคหนึ่ง ทั้งนี้ ในการบังคับคดีดังกล่าวเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจยื่นคำขอฝ่ายเดียวเพื่อให้ศาลทำการไต่สวนว่า ลูกหนี้ตามคำพิพากษามีทรัพย์สินที่จะต้องถูกบังคับคดีมากกว่าที่ตนทราบ หรือมีทรัพย์สินที่จะต้องถูกบังคับคดีแต่ไม่ทราบว่าทรัพย์สินนั้นตั้งอยู่หรือเก็บรักษาไว้ที่ใด หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าทรัพย์สินใดเป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาตามมาตรา 277 วรรคหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตามกฎหมายไม่ได้บัญญัติให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาสามารถยื่นคำขอฝ่ายเดียวให้ศาลทำการไต่สวนเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาก่อนมีการขอให้บังคับคดีได้ เมื่อคดีนี้ โจทก์ยังไม่ได้ยื่นคำขอต่อศาลให้มีการบังคับคดีจึงไม่อาจยื่นคำขอให้ศาลออกหมายเรียกจำเลยมาไต่สวนเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยได้ ทั้งยังเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องสืบหาทรัพย์สินของจำเลยเพื่อดำเนินการบังคับคดีต่อไปด้วยตนเอง

(หมายเหตุ 1 คดีนี้โจทก์ฎีกาว่า โจทก์มีหน้าที่สืบทรัพย์ของจำเลยจึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอต่อศาลออกหมายเรียกจำเลยมาไต่สวนได้ หากไม่เป็นผล โจทก์จึงค่อยดำเนินการขั้นตอนต่อไปโดยขอให้ศาลตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อไต่สวนสืบทรัพย์ของจำเลย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 276

2 ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยข้างต้น โดยพิพากษายืนตามศาลล่างทั้งสอง ซึ่งศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า มีการส่งคำบังคับให้แก่จำเลยแล้วเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2558 หากจำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์ชอบที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อยึดหรืออายัดทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องที่จำเลยมีต่อบุคคลภายนอกเพื่อขายทอดตลาดและนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ แต่ไม่มีบทกฎหมายใดให้อำนาจศาลออกหมายเรียกลูกหนี้มาทำการไต่สวนได้ตามคำร้องของโจทก์)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3468.ประกาศขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1464/2567 ประกาศเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรื่องขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระบุเลขที่ดิน ที่ตั้งของที่ดิน สภาพของที่ดินและด้านหลังของประกาศดังกล่าวได้ทำแผนที่สังเขปแสดงการไปที่ดินพิพาทไว้ โดยประกาศอย่างเปิดเผยต่อประชาชนทั่ว ๆ ไป ผู้ร้องหรือบุคคลอื่น ๆ ที่ประสงค์จะเข้าประมูลซื้อที่ดินพิพาทย่อมมีโอกาสตรวจสอบความถูกต้องของที่ดินพิพาทก่อนที่จะเข้าประมูลสู้ราคาได้ นอกจากนี้แผนที่สังเขปแนบท้ายประกาศดังกล่าวก็ระบุสภาพของที่ดินพิพาทไว้ชัดเจนว่า ถนนด้านหน้าที่ดินพิพาทคือถนนกำแพงเพชร 7 ซึ่งผู้ร้องสามารถตรวจสอบได้โดยไม่ยากว่า ถนนดังกล่าวเป็นถนนเลียบทางรถไฟสายตะวันออกและเป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทยเพราะเป็นข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณชนทั่วไปและสามารถสืบค้นได้ทางอินเทอร์เน็ต เมื่อผู้ร้องไม่ได้ทำการตรวจสอบก่อนเข้าประมูลซื้อ ทั้งข้อสัญญาท้ายประกาศขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็ระบุไว้ด้วยว่า ผู้ซื้อทรัพย์มีหน้าที่ต้องตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์ที่จะซื้อตามสถานที่ และแผนที่สังเขปแนบท้ายประกาศ และถือว่าผู้ซื้อได้ทราบถึงสภาพทรัพย์โดยละเอียดครบถ้วนแล้ว จึงเป็นความบกพร่องและประมาทเลินเล่อของผู้ร้องเอง เมื่อประกาศขายทอดตลาดที่ดินพิพาทได้ระบุถึงสภาพที่ดินไว้โดยชัดแจ้งแล้ว ถือว่าผู้ร้องได้ทราบถึงสภาพทรัพย์ที่ทำการขายทอดตลาดและทราบถึงการขายทอดตลาดซึ่งเป็นการกระทำของผู้คัดค้านที่ 1 ในวันขายทอดตลาดวันที่ 22 เมษายน 2562 แล้ว การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทเป็นคดีนี้ในวันที่ 21 เมษายน 2564 จึงเกินกำหนดระยะเวลา 14 วัน นับแต่วันที่ผู้ร้องทราบถึงการกระทำหรือคำวินิจฉัยของผู้คัดค้านที่ 1 ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 146

(หมายเหตุ 1 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาท โดยอ้างว่าผู้ร้องสำคัญผิดในข้อสาระสำคัญเกี่ยวกับทรัพย์ เนื่องจากผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ได้ระบุไว้ในประกาศขายทอดตลาดถึงสภาพที่ดินพิพาทว่ามิได้ติดถนนสาธารณะ ทำให้ผู้ร้องซื้อที่ดินพิพาทในราคาที่สูงเกินสมควร

2 ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลาย วินิจฉัยว่าเป็นกรณีที่ผู้ร้องอ้างว่าได้รับความเสียหายจากการกระทำของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้ร้องชอบที่จะยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลภายในกำหนดเวลา 14 วัน นับแต่วันที่ได้ทราบการกระทำหรือคำวินิจฉัยนั้น ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 146

3 ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาท ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง

4 ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายมีคำวินิจฉัยข้างต้น โดยพิพากษายืน)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3467.ขอแก้ไขเพิ่มเติมคำขอรับชำระหนี้จากเจ้าหนี้ไม่มีประกันเป็นเจ้าหนี้มีประกัน

คำพิพากษาฎีกาที่ 1463/2567 (เล่ม 3 หน้า 623) ผู้ร้องยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำขอรับชำระหนี้จากเจ้าหนี้ไม่มีประกันเป็นเจ้าหนี้มีประกันโดยขอเพิ่มเติมหลักประกันที่ดินโฉนดเลขที่ 12446 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง อันเป็นการกล่าวอ้างว่าผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ที่ขอรับชำระหนี้เป็นเจ้าหนี้มีประกันเหนือที่ดินโฉนดเลขที่ 12446 ของจำเลยด้วย แต่ผู้ร้องไม่ได้แจ้งว่าเป็นเจ้าหนี้มีประกันเหนือที่ดินดังกล่าวโดยการละเว้นนั้นเกิดขึ้นโดยพลั้งเผลอ กรณีต้องตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 97 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำร้องโดยเห็นว่าการละเว้นนั้นไม่น่าเชื่อว่าเกิดจากการพลั้งเผลอและคดีถึงที่สุดแล้ว คำสั่งศาลล้มละลายกลางดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันผู้ร้อง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 14 และมีผลให้ผู้ร้องจะต้องคืนทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันดังกล่าวแก่ผู้คัดค้านและสิทธิเหนือทรัพย์หลักประกันนั้นเป็นอันระงับสิ้นไป ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 97 ผู้ร้องจึงมิใช่เจ้าหนี้มีประกันเหนือที่ดินโฉนดเลขที่ 12446 ที่จะขอใช้สิทธิเหนือทรัพย์หลักประกันดังกล่าวตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 95 ได้

(หมายเหตุ 1 เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2553 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด

2 โจทก์(บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย) ยื่นคำขอรับชำระหนี้อย่างเจ้าหนี้ไม่มีประกันตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 94 ต่อมาโจทก์(บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย) โอนสิทธิเรียกร้องรวมถึงสิทธิรับจำนองที่มีต่อจำเลยให้แก่ผู้ร้อง(บริษัทบริหารสินทรัพย์ ส.)

3 ผู้ร้อง(บริษัทบริหารสินทรัพย์ ส.) ยื่นคำร้องขอแก้ไขรายการแห่งคำขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 97 จากเจ้าหนี้ไม่มีประกันเป็นเจ้าหนี้มีประกันตามมาตรา 96 (3) และขอเพิ่มเติมทรัพย์หลักประกันที่ดินโฉนดเลขที่ 12446 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง

4 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำร้อง

5 ผู้ร้อง(บริษัทบริหารสินทรัพย์ ส.) ยื่นคำร้องต่อผู้คัดค้าน(เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์)ขอใช้สิทธิเหนือทรัพย์หลักประกันที่ดินโฉนดเลขที่ 12446 ตามมาตรา 95 ผู้คัดค้าน(เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์) มีคำสั่งว่า ผู้ร้อง(บริษัทบริหารสินทรัพย์ ส.) ไม่อาจยื่นคำร้องขอใช้สิทธิเหนือทรัพย์หลักประกันในที่ดินโฉนดเลขที่ 12446 ตามมาตรา 95 ได้ ให้ยกคำร้องผู้ร้อง(บริษัทบริหารสินทรัพย์ ส. )

6 ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายมีคำวินิจฉัยข้างต้น โดยพิพากษายืนตามศาลล่างทั้งสอง)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3466.คำพิพากษาคดียาเสพติด ศาลต้องลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ

คำพิพากษาฎีกาที่ 111/2567 (เล่ม 1 หน้า 54) ป.ยาเสพติด มาตรา 152 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ความผิดร้ายแรง เกี่ยวกับยาเสพติดตามประมวลกฎหมายนี้ที่มีโทษจำคุกและปรับ ให้ศาลลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ โดยมิได้ให้ อำนาจศาลใช้ดุลพินิจเลือกลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่ลงโทษปรับด้วย แม้ พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 66วรรคหนึ่ง กับ ป.ยาเสพติด มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ต่างมีส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลย ซึ่งต้องใช้กฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลยไม่ว่าในทางใด ตาม ป.อ. มาตรา 3 วรรคแรก ก็ตาม แต่เมื่อมีการปรับบทกฎหมายโดยลงโทษจำเลยในความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 145 วรรคหนึ่ง จึงต้องลงโทษปรับจำเลยด้วยเสมอ ตาม ป. ยาเสพติด มาตรา 152 วรรคหนึ่ง

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

นายกสภาทนายความ เป็นประธานในพิธีฌาปนกิจศพ

เมื่อวันศุกร์ที่ 6 ธันวาคม 2567 เวลา 15.00 น. ที่สำนักปฏิบัติธรรมศรีมงคล ตำบลบางแม่นาง อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี : ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ได้เดินทางไปเป็นประธานในพิธีฌาปนกิจศพของ ทนายวิชัย อ่ำบุญธรรม โดยมีนายอุทัย ไสยสาลี หัวหน้าสำนักงาน สภาทนายความ พร้อมด้วยทนายความในจังหวัดนนทบุรีและทนายความจังหวัดใกล้เคียง ร่วมงานข

อให้ดวงวิญญาณของทนายวิชัย อ่ำบุญธรรม จงสู่สุคติในสัมปรายภพตราบนิรันดร์

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3465.จำเลยไม่ได้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น จะฎีกาว่าไม่ได้กระทำความผิดไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1446 – 1447/2567 (เล่ม 2 หน้า 169) เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 2 ไม่อุทธรณ์ แสดงว่าจำเลยที่ 2 พอใจคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เมื่อต่อมาศาลอุทธรณ์ได้พิจารณาคดีสำหรับจำเลยที่ 2 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 16 แล้ววินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดจริงตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ประเด็นว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่จึงยุติแล้ว การที่จำเลยที่ 2 กลับมาฎีกาอีกว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิด ขอให้ยกฟ้องนั้น จึงเป็นฎีกาในประเด็นที่ยุติไปแล้ว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ปัญหาว่าการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 กับพวกจะเป็นความผิดตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 90, 145 วรรคใด นั้น ป.ยาเสพติด มาตรา 145 ได้บัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้นโดยถือเอาพฤติการณ์ในการกระทำความผิดหรือบทบาทหน้าที่ในการกระทำความผิดเป็นสำคัญตามลำดับความร้ายแรง หากผู้กระทำความผิดไม่มีพฤติการณ์หรือบทบาทหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.ยาเสพติด มาตรา 145 วรรคสองหรือวรรคสาม ศาลย่อมไม่อาจปรับบทกำหนดโทษตามมาตรา 145 วรรคสองหรือวรรคสาม ได้ คงปรับบทกำหนดโทษได้เพียงมาตรา 145 วรรคหนึ่ง เมื่อ ป.ยาเสพติดกำหนดโทษสำหรับผู้กระทำความผิดโดยถือเอาพฤติการณ์ในการกระทำความผิดหรือบทบาทหน้าที่ในการกระทำความผิดเป็นสำคัญตามลำดับความร้ายแรง ดังนั้น การจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชนทั่วไปตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 145 วรรคสาม (2) จึงจะต้องเป็นการกระทำที่ก่ออันตรายแก่สังคมอย่างร้ายแรงเป็นวงกว้าง อันเป็นการเพิ่มกระจายความรุนแรงของยาเสพติดและทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง กฎหมายจึงต้องกำหนดโทษไว้สูงถึงประหารชีวิตทำนองเดียวกับทำให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 145 วรรคสาม (2)

แต่ข้อเท็จจริงคดีนี้ได้ความเพียงว่า เจ้าพนักงานตำรวจให้สายลับล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ 2 จำนวน 400 เม็ด ในราคา 14,000 บาท เมื่อจับกุม ข. ที่นำเมทแอมเฟตามีนมาส่งแล้ว ข. พาไปยึดเมทแอมเฟตามีนได้อีก 3,600 เม็ด รวม 4,000 เม็ด คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 40.045 กรัม ซึ่งไม่ถึงขนาดที่ก่ออันตรายแก่สังคมอย่างร้ายแรงเป็นวงกว้างได้ จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชนทั่วไปตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 145 วรรคสาม (2) แต่ปรากฏพฤติการณ์ว่าก่อนเกิดเหตุคดีนี้จำเลยที่ 2 เคยร่วมกับพวกจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนในลักษณะเช่นเดียวกันนี้มาหลายครั้งแล้ว ซึ่งเป็นการขายเมทแอมเฟตามีนเพื่อแสวงหากำไรเป็นปกติถือได้ว่าเป็นการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเพื่อการค้าตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 145 วรรคสอง (1) ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3464.อ่านอุทธรณ์ลับหลังจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 122/2567 (เล่ม 1 หน้า 29) ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ลับหลังจำเลย โดยที่ยังไม่สามารถส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้จำเลยทราบโดยชอบ ซึ่งไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 182 วรรคสาม ประกอบมาตรา 215 แม้ภายหลังจำเลยจะยื่นใบแต่งตั้งทนายความต่อศาลชั้นต้น แต่เจ้าหน้าที่งานเก็บสำนวนลงรับใบแต่งตั้งทนายความเวลา 16.25 นาฬิกา และไม่ปรากฎว่าทนายความคนดังกล่าวได้ขอตรวจสำนวนหรือดำเนินกระบวนพิจารณาใดๆ ในคดีจนกระทั่งจำเลยถูกจับและได้แต่งตั้งทนายความคนใหม่ แล้วทนายความคนใหม่ขอตรวจสำนวนจึงพบกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ และได้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบในวันเดียวกัน ย่อมถือว่าจำเลยรู้ถึงข้อค้านเรื่องผิดระเบียบและยกขึ้นอ้างไม่ช้ากว่าแปดวันนับแต่วันที่จำเลยได้ทราบข้อความ หรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคสอง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 แล้ว

( หมายเหตุ 1 ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ลับหลังจำเลยเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2558

2 วันที่ 19 มกราคม 2565 จำเลยยื่นคำร้องว่า การอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลยเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณา ที่ผิดระเบียบ

3 ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้อง

4 ศาลฎีกาพิพากษากลับให้เพิกถอนการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ลับหลังจำเลย และกระบวนพิจารณา หลังจากนั้นทั้งหมดให้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้จำเลยฟังใหม่ แล้วดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3463.ค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์ที่มีฟ้องแย้ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1399/2567 จำเลยอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเพียงประเด็นเดียวว่า สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะเพราะเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้เงินหรือไม่ และขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ซึ่งประเด็นดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงตามคำฟ้องของโจทก์และคำให้การของจำเลยที่ให้การต่อสู้ว่าสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้เงินตกเป็นโมฆะและฟ้องแย้งขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายดังกล่าว จึงเป็นประเด็นข้อพิพาทโดยตรงที่จำเลยยกขึ้นต่อสู้และยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์จึงต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่าสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้เงินหรือไม่ แล้วจึงวินิจฉัยฟ้องแย้งของจำเลยต่อไป ดังนั้น การที่จำเลยเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เพียงจำนวนเดียว 200,000 บาท และวางเงินค่าธรรมเนียมใช้แทนอีก 215,500 บาท นั้น แม้ในอุทธรณ์ของจำเลยแผ่นสุดท้ายจะมีลายมือเขียนคำว่า “ฟ้องแย้ง” ไว้เหนือตราประทับเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมศาลซึ่งเป็นลายมือเขียนของพนักงานรับฟ้องอุทธรณ์ ที่อาจทำให้เข้าใจว่าเป็นการเสียค่าขึ้นศาลในส่วนฟ้องแย้ง แต่คดีนี้ทุนทรัพย์ในส่วนฟ้องเดิมและในส่วนฟ้องแย้งมีจำนวน 28,000,000 บาทเท่ากัน และตามสำเนาใบรับเงินค่าธรรมเนียมท้ายอุทธรณ์ก็ไม่ได้ระบุว่าเป็นค่าขึ้นศาลในส่วนฟ้องเดิมหรือฟ้องแย้ง ทั้งการตรวจรับอุทธรณ์ของจำเลยไว้พิจารณานั้นเป็นกระบวนพิจารณาที่ศาลชั้นต้นทำการแทนศาลอุทธรณ์ เมื่ออุทธรณ์ของจำเลยโดยรวมเป็นการโต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้เงิน มิใช่นิติกรรมที่สมบูรณ์ดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย การที่จำเลยเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์มาเพียงจำนวนเดียว 200,000 บาท ย่อมถือได้ว่าเป็นการเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ในส่วนฟ้องเดิมครบถ้วนแล้ว ศาลอุทธรณ์ต้องพิจารณาคดีในส่วนฟ้องเดิมตามอุทธรณ์ของจำเลยต่อไป ส่วนที่จำเลยเพิกเฉยไม่ดำเนินการเสียค่าขึ้นศาลให้ครบถ้วนตามคำสั่งศาลอุทธรณ์ภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด จึงเป็นกรณีที่จำเลยทิ้งฟ้องอุทธรณ์เฉพาะในส่วนฟ้องแย้ง

(หมายเหตุ 1 คดีนี้ จำเลยให้การและฟ้องแย้ง แต่ในชั้นอุทธรณ์จำเลยเสียค่าขึ้นศาลขาดไป 200,000 บาท ศาลอุทธรณ์จึงให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เพิ่มให้ถูกต้องครบถ้วนภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด เสร็จแล้วจึงให้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไปได้

2 วันที่ 26 ธันวาคม 2562 วันนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เพิ่มให้ถูกต้องครบถ้วนภายใน 15 วัน

3 วันที่ 13 มกราคม 2563 จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินเกินระยะเวลาการวางเงิน ยกคำร้อง

4 ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยทิ้งฟ้องอุทธรณ์ในส่วนฟ้องเดิม ให้จำหน่ายคดีในส่วนฟ้องเดิมเสียจากสารบบความศาลอุทธรณ์ และให้ยกอุทธรณ์จำเลยในส่วนฟ้องแย้ง

5 จำเลยฎีกาว่า จำเลยอุทธรณ์ทั้งในส่วนของฟ้องเดิมและฟ้องแย้ง ซึ่งจำเลยต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ในส่วนของฟ้องเดิม 200,000 บาท และในส่วนของฟ้องแย้ง 200,000 บาท จำเลยได้เสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์แล้ว 200,000 บาท จึงถือได้ว่าจำเลยได้เสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ในส่วนของฟ้องเดิมครบถ้วนแล้ว

6 ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยว่า จำเลยเพิกเฉยไม่ดำเนินการเสียค่าขึ้นศาลให้ครบถ้วนตามคำสั่งศาลอุทธรณ์ภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด จึงเป็นกรณีที่จำเลยทิ้งฟ้องอุทธรณ์เฉพาะในส่วนฟ้องแย้ง ที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้จำหน่ายคดีจำเลยในส่วนฟ้องเดิมเสียจากสารบบความศาลอุทธรณ์ และยกอุทธรณ์จำเลยในส่วนฟ้องแย้งนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3462.ผู้พิพากษาอนุญาตให้ฎีกา โดยจำเลยไม่ได้ยื่นคำร้องขออนุญาต

คำพิพากษาฎีกาที่ 518/2567 (เล่ม 1 หน้า 187) (ประชุมใหญ่) ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะคดีส่วนแพ่งที่ยกคำร้องของโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นว่าให้จำเลย ชำระเงินค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมที่ 1 และแก่โจทก์ร่วมที่ 2 พร้อมดอกเบี้ย เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาคดีส่วนอาญายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหา ข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ฎีกาของจำเลยในคดีส่วนอาญาโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 9 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว

ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นมีอำนาจตรวจฎีกาและสั่งอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหา ข้อเท็จจริงในคำฟ้องฎีกา และรับฎีกาของจำเลยได้ แม้จำเลยจะมิได้ยื่นคำร้องเพื่อขอให้มีคำสั่งอนุญาตให้ฎีกาในปัญหา ข้อเท็จจริงมาด้วยก็ตาม เพราะถือเป็นดุลพินิจเด็ดขาดของผู้พิพากษาที่สั่งอนุญาต การที่ผู้พิพากษาดังกล่าวตรวจฎีกาแล้วเห็นว่า ข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงนั้น ต้องตามเจตนารมณ์ ป.วิ.อ. มาตรา 221 แล้ว

ผู้ตายมีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดด้วย แม้ผู้ตายไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย ห. ซึ่งเป็นมารดาของผู้ตาย และเด็กหญิง น. ซึ่งเป็นบุตรของผู้ตายย่อมไม่มีอำนาจเข้ามาจัดการแทนผู้ตายและไม่มีสิทธิขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ ก็ตาม แต่บุคคลทั้งสองเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำละเมิดของจำเลย จึงเป็นผู้ที่ถูกโต้แย้ง สิทธิในทางแพ่งและมีสิทธิเรียกร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 โดยไม่ต้อง คำนึงว่า ผู้ตายเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือไม่ ส่วนจะกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้มากน้อยเพียงใด ย่อมต้องเป็นไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 ประกอบมาตรา 223 วรรคหนึ่ง และมาตรา 438 วรรคหนึ่ง ซึ่งให้พิจารณาว่าความเสียหายนั้น ได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

สภาทนายความจัดอบรมจริยธรรมครอบคลุมทุกศาสนาเป็นครั้งแรก

 

เมื่อวันจันทร์ที่ 2 ธันวาคม 2567 ณ ห้องประชุมชั้น 4 และ 5 สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ สำนักฝึกอบรมวิชาว่าความ แห่งสภาทนายความ ได้จัดการอบรมจริยธรรมให้แก่ผู้ผ่านการสอบข้อเขียนภาคปฏิบัติ รุ่นที่ 62/ผู้รักษาสถานภาพ และผู้ผ่านการฝึกหัดงานในสำนักงานฯ มาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี ครั้งที่ 2/2567 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่การอบรมครอบคลุมทั้งหลักธรรมทางศาสนาพุทธและศาสนาอิสลาม เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้ตระหนักถึงความสำคัญของจริยธรรมในทุกมิติ

ในโอกาสนี้ ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ได้ให้โอวาทแก่ผู้เข้ารับการอบรม พร้อมทั้งแนะนำเทคนิคการสอบและข้อคิดในการประกอบวิชาชีพทนายความ โดยเน้นย้ำให้ทุกคนดำรงตนด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต และมีคุณธรรม จริยธรรมมรรยาททนายความ เพื่อเป็นที่ไว้วางใจของสังคมและสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนในการใช้บริการทางกฎหมาย

 

สำหรับผู้ที่ไม่สามารถเข้าร่วมอบรม ณ ที่ทำการสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ถนนพหลโยธิน กรุงเทพมหานคร สามารถเข้ารับฟังการอบรมออนไลน์ได้ตั้งแต่วันที่ 1-13 ธันวาคม 2567 ผ่าน QR CODE หรือติดตามรายละเอียดได้ในเพจ สำนักฝึกอบรมวิชาว่าความฯ ของสภาทนายความ