เปิดอบรมวิชาการ 【 ฟรี 】 🔻 เรื่อง 🔻 ” การว่าความและการดำเนินคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล “

⚖ สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ⚖

📣 ประกาศสถาบันพัฒนาวิชาชีพทนายความ สภาทนายความ 📣

🌟 เปิดอบรมวิชาการ 【 ฟรี 】

🔻 เรื่อง 🔻

” การว่าความและการดำเนินคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล ”

 

🔶 เชิญพบกับ 🔶

🔸 ดร.วิเชียร ชุบไธสง

นายกสภาทนายความ

 

🔸 ดร.วิรัลพัชร เวธทาวริทธิ์ธรี

อุปนายกฝ่ายวิชาการ สภาทนายความ

 

🔸 นายนันทน อินทนนท์

ทนายความหุ้นส่วนบริหาร (Managing Partner) บริษัท สำนักงานกฎหมายเล็กซ์เพอร์ติส จำกัด

 

📆 วันเสาร์ที่ 26 เมษายน 2568

⏱ เวลา 13.00 – 15.30 น.

📍 ณ ห้องประชุมชั้น 5 สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์

 

📝การลงทะเบียนมี 2 ช่องทาง

🪑 Onsite :https://forms.gle/kdGiatLHiRKDmqD67

💻 Online :https://forms.gle/XLA1tVEigRPr6fR99

—————————

📞ติดต่อสอบถาม : คุณพิมพ์ฉวี คุณจิดาภา

  • โทร. 06 4291 4640, 0 2522 7167

⚖_______________⚖

นายกสภาทนายความ เป็นประธานในพิธีฌาปนกิจศพ มารดา อดีตรองประธานสภาทนายความจังหวัดนนทบุรี

สู่สุคติในสัมปรายภพ….

เมื่อวันพุธที่ 23 เมษายน 2568 เวลา 16.00 น. ที่ ศาลา 2 (ศาลารั้วอินทร์) วัดบางรักใหญ่ ตำบลบางรักใหญ่ อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี : ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ได้เดินทางไปเป็นประธานในพิธีฌาปนกิจศพของคุณแม่สมพร พูนเจ้าทรัพย์ มารดาของนายเสกสรร พูนเจ้าทรัพย์ อดีตรองประธานสภาทนายความจังหวัดนนทบุรี โดยมี นายศิริศักดิ์ อมาตยกุล ประธานสภาทนายความจังหวัดนนทบุรี ซึ่งมีทนายความในจังหวัดนนทบุรี และทนายความจังหวัดใกล้เคียง ร่วมพิธีฌาปนกิจ ขอให้ดวงวิญญาณของคุณแม่สมพร พูนเจ้าทรัพย์ จงสู่สุคติในสัมปรายภพตราบนิรันดร์

นายกสภาทนายความร่วมวิพากษ์หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต ภาควิชาสังคมวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มศว.

เมื่อวันอังคารที่ 22 เมษายน 2568 เวลา 09.00 น. ที่โรงแรมแลงคาสเตอร์ : ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ได้รับเกียรติเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในโครงการพัฒนาศักยภาพทางวิชาการ : กิจกรรมสร้างความร่วมมือและรับฟังผู้มีส่วนได้เสียประกันคุณภาพการศึกษาของหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต ในประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการออกแบบการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับการประกันคุณภาพการศึกษาของหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ให้มีความทันสมัยและสอดคล้องกับความต้องการของสังคมและวิชาชีพกฎหมาย โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง และคณาจารย์จากสถาบันการศึกษาต่างๆ จากหลากหลายภาคส่วนเข้าร่วมงานดังกล่าว

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3601.ส่งสำเนาคำร้องขออนุญาตฎีกาและฎีกาให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งแล้ว ไม่ต้องส่งสำเนาคำฟ้องฎีกาซ้ำอีก

คำพิพากษาฏีกาที่ 4009/2567 (เล่ม 9 หน้า 1949) ขณะโจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกา ศาลชั้นต้นส่งสำเนาคำร้องและคำฟ้องฎีกาให้จำเลยแล้ว ทั้งจำเลยทราบวันนัดฟังคำสั่งศาลฎีกาโดยชอบ หากจำเลยประสงค์จะยื่นคำแก้ฎีกาต่อศาลชั้นต้น จำเลยต้องยื่นคำแก้ฎีกาภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันฟังคำสั่งศาลฎีกาตามข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยการขออนุญาตฎีกาในคดีแพ่ง พ.ศ. 2558 ข้อ 14 วรรคสอง ไม่มีเหตุที่ศาลชั้นต้นต้องมีคำสั่งให้โจทก์นำส่งสำเนาคำฟ้องฎีกาให้จำเลยแก้ฎีกาซ้ำอีก คำสั่งของศาลชั้นต้นเป็นการสั่งที่ผิดหลง การที่โจทก์ไม่ได้นำส่งสำเนาคำฟ้องฎีกาให้จำเลยภายในระยะเวลาดังกล่าว ถือไม่ได้ว่าโจทก์จงใจเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีในการนำส่งสำเนาคำฟ้องฎีกาให้จำเลยตามคำสั่งศาลชั้นต้น โจทก์มิได้ทิ้งฟ้องฎีกาและเมื่อครบกำหนดระยะเวลาแก้ฎีกาแล้ว จำเลยไม่ยื่นคำแก้ฎีกาถือว่าจำเลยไม่ติดใจยื่นคำแก้ฎีกา

คำฟ้องของโจทก์มีสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า จำเลยกระทำผิดเงื่อนไขไม่ชำระหนี้ ตามรายงานกระบวนพิจารณาในคดีอาญาซึ่งพนักงานอัยการเป็นโจทก์ โดยโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ อันเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความในการระงับข้อพิพาทในคดีอาญาซึ่งมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญและเป็นหลักฐานในการฟ้องร้องให้บังคับคดีตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 และมาตรา 851 ทั้งโจทก์และจำเลยตกลงกำหนดเวลาชำระหนี้เป็นงวดๆ มิใช่การแยกหนี้ทั้งจำนวนออกเป็นรายๆต่างรายกัน แม้ข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความไม่มีข้อความว่า หากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมด แต่การที่จำเลยไม่ชำระหนี้ตามกำหนดเวลาที่ตกลงกันไว้แม้แต่งวดใดงวดหนึ่งก็ย่อมตกเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความทั้งหมด หาใช่ผิดนัดแต่เฉพาะงวดไม่ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยให้รับผิดชำระหนี้ทั้งหมดได้

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยวินิจฉัยว่า โจทก์ยังไม่มีอำนาจฟ้องหรือมิได้แสดงอำนาจฟ้องให้ปรากฏ โดยไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาดประเด็นข้อพิพาท ซึ่งเป็นการวินิจฉัยที่คลาดเคลื่อนไม่ถูกต้อง แต่โจทก์มิได้อุทธรณ์ โจทก์ย่อมมีสิทธินำคดีมาฟ้องใหม่โดยไม่ถือว่าเป็นการฟ้องซ้ำ พอถือได้ว่าศาลชั้นต้นได้ตัดสินให้ยกฟ้องในชั้นตรวจคำฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องคดีใหม่ ศาลชั้นต้นมีอำนาจที่จะสั่งคืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดหรือบางส่วนได้ตามที่เห็นสมควรตาม ป.วิ.พ. มาตรา 151 วรรคสอง แต่เมื่อโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอรับเงินค่าขึ้นศาลคืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นกลับใช้ดุลพินิจเพิกถอนคำสั่งเดิม แล้วมีคำสั่งใหม่ให้ค่าขึ้นศาลตกเป็นพับ หากโจทก์ยื่นฟ้องให้บังคับชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความใหม่ โจทก์จะต้องเสียค่าขึ้นศาลใหม่ซ้ำอีกน่าจะเป็นภาระแก่โจทก์ โดยมิใช่เป็นความผิดของโจทก์ ทั้งค่าขึ้นศาลเป็นจำนวนเงินสูง คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ใช้ดุลพินิจให้ค่าขึ้นศาลเป็นพับ เป็นการไม่ชอบ

(หลักกฎหมาย ป.วิ.พ.มาตรา 151, 174, 237, 247, 252)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3600.แก้ไขวรรคของความผิดในบทมาตราเดียวกัน เป็นการแก้ไขเล็กน้อย

คำพิพากษาฎีกาที่ 1051/2567 (เล่ม 8 หน้า 1696) ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสี่ จำคุกจำเลยที่ 1 ตลอดชีวิต จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 33 ปี 4 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคหนึ่ง จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 9 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 ปี เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้วรรคของความผิดในบทมาตราเดียวกัน ไม่ถือเป็นการแก้บทความผิด แม้จะแก้โทษด้วย ก็เป็นการแก้ไขเล็กน้อย และคงให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองเกินห้าปี ห้ามโจทก์มิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคสอง

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังมีข้อที่น่าสงสัยว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการโทรมเด็กหญิงหรือไม่ ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยทั้งสอง เท่ากับศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้กระทำความผิดฐานร่วมกันกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตนอันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิง โจทก์ฎีกาว่า พยานหลักฐานของโจทก์รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานร่วมกันกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตนอันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิง เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 1 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

(หลักกฎหมาย ป.วิ.อ.มาตรา 218)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

2599.ยื่นอุทธรณ์ต้องมีข้อโต้แย้งคำพิพากษาของศาลชั้นต้นว่าไม่ถูกต้องอย่างไร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5668/2567 อุทธรณ์ไม่ว่าจะเป็นข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายจะต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งถึงข้อโต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าไม่ถูกต้องอย่างไร ด้วยเหตุผลใด และที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไร ซึ่งจะเป็นประเด็นในการวินิจฉัยในชั้นอุทธรณ์ เมื่ออุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 เป็นการคัดลอกคำให้การของจำเลยทั้งสามมาเกือบทั้งสิ้นมิได้โต้แย้งคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นไว้โดยชัดแจ้งดังกล่าว จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอันจะพึงรับไว้พิจารณา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ทั้งการที่ศาลอุทธรณ์จะดำเนินกระบวนพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 240 (2) นั้น อุทธรณ์ดังกล่าวต้องเป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยกฎหมายเสียก่อน

(หมายเหตุ 1 ข้อเท็จจริงฟังในคดีนี้ นาย ส. เจ้ามรดกทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองระบุให้จำเลยทั้งสามเป็นผู้รับทรัพย์มรดกและเป็นผู้จัดการมรดก มีนาง ม. และนาย ว. สามีโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อเป็นพยาน

2 ปลัดอำเภอผู้ทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองได้แจ้งให้ผู้ทำพินัยกรรมทราบว่าพยานต้องไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสีย แต่มิได้แจ้งเรื่องห้ามมิให้คู่สมรสของผู้รับมรดกตามพินัยกรรมเป็นพยานในพินัยกรรม

3 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ข้อกำหนดในพินัยกรรมในส่วนที่ยกทรัพย์มรดกให้แก่จำเลยที่ 1 ตกเป็นโมฆะและให้ส่วนที่ตกเป็นโมฆะตกทอดแก่โจทก์ทั้งสองและทายาทโดยธรรมอื่นของนาย ส.เจ้ามรดก

4 ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยข้างต้น)

(หลักกฎหมาย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง, 240 (2))

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3598.สมาชิกสหกรณ์ที่ยังคงมีหนี้ต่อสหกรณ์จะลาออกจากการเป็นสมาชิกสหกรณ์ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4442/2567 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หมวด 5 เรื่อง ความระงับแห่งหนี้ กำหนดไว้ว่า หนี้ระงับไปต้องมีการชำระหนี้ การปลดหนี้ การหักกลบลบหนี้ การแปลงหนี้ใหม่ หรือหนี้เกลื่อนกลืนกัน เมื่อโจทก์กับจำเลยยังไม่ได้ดำเนินการเรื่องความระงับแห่งหนี้ หนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยก็ยังคงมีอยู่ แม้ล่วงเลยเวลาบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 274 แล้วก็ตาม ก็เป็นเรื่องที่ไม่อาจบังคับคดีได้เท่านั้น เป็นคนละส่วนกับหนี้ที่โจทก์มีต่อจำเลย เมื่อตามข้อบังคับสหกรณ์จำเลยระบุว่า สมาชิกผู้ไม่มีหนี้สินต่อสหกรณ์ในฐานะผู้กู้หรือผู้ค้ำประกันหรือหนี้สินอื่นที่ผูกพันจะต้องชำระต่อสหกรณ์ อาจลาออกได้โดยแสดงความจำนงเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการฯ ได้ ดังนั้น เมื่อหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมยังไม่ระงับไป และโจทก์ไม่ชำระหนี้ที่มีต่อจำเลย ถือว่าโจทก์ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามเงื่อนไขและข้อตกลงที่ทำไว้กับจำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิลาออกจากสมาชิกของจำเลยและขอถอนเงินค่าหุ้นออกจากสหกรณ์จำเลย และโจทก์ไม่อาจฟ้องจำเลยให้คืนเงินค่าหุ้นแก่โจทก์ได้

(หมายเหตุ 1 โจทก์เป็นสมาชิกสหกรณ์ซึ่งเคยถูกศาลมีคำพิพากษาให้รับผิดชำระหนี้ในฐานะผู้ค้ำประกัน และในคดีดังกล่าวยังไม่ได้มีการชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาล สำหรับคดีนี้โจทก์ได้ไถ่ถอนจำนองที่ดินของตนเองแล้วและขอลาออกจากการเป็นสมาชิกสหกรณ์และขอรับเงินค่าหุ้นจากสหกรณ์ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อโจทก์ยังไม่ชำระหนี้ให้แก่สหกรณ์ จึงไม่มีสิทธิลาออกจากการเป็นสมาชิกสหกรณ์)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

บรรยายในหัวข้อ “เส้นทางสู่วิชาชีพทนายความ” เพื่อปลูกฝังความรู้ตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการประกอบวิชาชีพทนายความ

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 เมษายน 2568 เวลา 10.00 – 15.00 น. ที่ ห้องประชุม Graduate studio ชั้น 5 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต : ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ได้รับเชิญเป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ “เส้นทางสู่วิชาชีพทนายความ” เพื่อปลูกฝังความรู้ตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการประกอบวิชาชีพทนายความ และเป็นแนวทางในการประกอบวิชาชีพทนายความให้แก่นักศึกษาหลักสูตรนิติศาสตร์ โรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต พร้อมด้วย อาจารย์สยุม ไกรทัศน์ กรรมการฝ่ายวิชาการ พร้อมกับคณะวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากคณะกรรมการฝ่ายวิชาการทนายความ และผู้มีความเชี่ยวชาญมาช่วยอำนวยกิจกรรมศาลจำลอง โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ธนภัทร ปัจฉิมม์ คณบดีโรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต พร้อมด้วยคณาจารย์ ให้การต้อนรับ

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3597.ขับรถชนคนเมาข้ามถนน คนขับรถต้องชดใช้ค่าเสียหาย

คำพิพากษาฎีกาที่ 995/2567 (เล่ม 8 หน้า 1686) ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงในคดีส่วนแพ่งว่า จำเลยประมาทและผู้ตายมีส่วนประมาทก่อให้เกิดความเสียหายไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าจำเลย โจทก์ร่วมอุทธรณ์ว่า จำเลยขับรถชนผู้ตายเป็นผลโดยตรงจากความประมาทของจำเลยเพียงผู้เดียว จำเลยแก้อุทธรณ์ว่า ผู้ตายมีส่วนประมาทด้วย ดังนี้ ปัญหาว่าผู้ตายหรือจำเลยเป็นฝ่ายประมาทมากกว่ากันยังไม่เป็นที่ยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

แม้ ป.วิ.อ. มาตรา 46 บัญญัติให้ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษา คดีส่วนอาญา แต่ข้อเท็จจริงที่ฟังยุติในคำพิพากษาคดีอาญามีเพียงว่า จำเลยกระทำโดยประมาท ไม่ปรากฏว่าผู้ตายหรือจำเลยเป็นฝ่ายประมาทมากกว่ากัน ในการดำเนินคดีส่วนแพ่ง โจทก์ร่วมและจำเลยย่อมสามารถนำสืบให้เห็นได้ว่าฝ่ายใดประมาทมากกว่ากัน และโจทก์ร่วมควรจะได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากจำเลยหรือไม่ เพียงใด ซึ่งตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง ในกรณีต่างฝ่ายต่างประมาททำให้เกิดเป็นมูลหนี้ละเมิด ป.พ.พ. มาตรา 442 ให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา 223 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

แม้ผู้ตายซึ่งมีส่วนประมาทอยู่ด้วยไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยสำหรับความผิดตาม ป.อ. มาตรา 291 ตาม ป.วิ.อ. มากตรา 2(4) ม.บิดาผู้ตายไม่มีอำนาจเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30 แต่ ม. ยังคงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 โดยไม่จำต้องคำนึงว่าผู้ตายจะเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือไม่ ม.ซึ่งเป็นบิดาของผู้ตายมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายของผู้ตายได้

( หมายเหตุ 1 คดีส่วนอาญา จำเลยให้การรับสารภาพ คดีส่วนแพ่ง จำเลยให้การว่าผู้ตายมีอาการมึนเมาสุรา อาจเป็นต้นเหตุให้เกิดคดีนี้

2 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ฟังในคดีฟังได้เพียงว่า จำเลยขับรถโดยประมาทชนผู้ตาย ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายเท่านั้น หาได้ฟังถึงว่าการชนเป็นเพราะความประมาทของจำเลยฝ่ายเดียวไม่ เมื่อจำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งทำนองว่า ผู้ตายมีอาการมึนเมาสุราและเป็นฝ่ายประมาทด้วย ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจวินิจฉัยว่า ผู้ตายเป็นฝ่ายประมาทด้วยหรือไม่ และฝ่ายใดประมาทมากกว่ากันเพื่อกำหนดค่าสินไหมทดแทนอันจะพึงต้องชดใช้ให้แก่กัน

3 และศาลฎีกายังวินิจฉัยว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยประมาทเพียงฝ่ายเดียว จึงเป็นการไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142

4 คดีนี้ศาลชั้นต้นยกคำร้องขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของโจทก์ร่วม ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 300,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินแก่นาย ม. บิดาผู้ตายเป็นเงิน 164,000 บาท)

(หลักกฎหมาย ป.วิ.อ.มาตรา 40, 44/1 , 46 , 200)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

นายกสภาทนาย เปิดอบรมวิชาการสัญจร จังหวัดศรีสะเกษ

⚖️ เมื่อวันเสาร์ที่ 19 เมษายน 2568 เวลา 09.00 – 12.00 น. ที่ โรงแรมศรีพฤทธาลัย ราชภัฏสัมมนาคาร มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ตำบลโพธุ์ อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ : ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ เป็นประธานเปิดการอบรมวิชาการสัญจร จังหวัดศรีสะเกษ ในโครงการวิชาการสัญจร เรื่อง กฎหมายป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และกฎหมายการฟอกเงิน (ซิมผี บัญชีม้า) โดยมี นายบุญประเสริฐ นวลสาย ประธานสภาทนายความจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวต้อนรับ นายวีระศักดิ์ บุญเพลิง กรรมการบริหารสภาทนายความ ภาค 3 กล่าวรายงาน ทั้งนี้ยังได้รับเกียรติจาก นายวิทยา วัฒนะ ประธานสภาทนายความจังหวัดนางรอง นายคำพันธ์ วรรณโท ประธานสภาทนายความจังหวัดเดชอุดม นายสุเนตร แก้วอมตวงศ์ รองกรรมการบริหารสภาทนายความภาค 3 นายปัญญา ธีระรัตนานนท์ เลขานุการสภาทนายความภาค 3 และอดีตประธานสภาทนายความจังหวัดในภาค 3 เดินทางไปร่วมการอบรมในครั้งนี้ด้วย

นอกจากนี้ ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ให้เกียรติเป็นวิทยากรบรรยายหัวข้อ “กฎหมายป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และกฎหมายการฟอกเงิน (ซิมผี บัญชีม้า)” และ นายอติวัณณ์ สุภานิชย์ อดีตพนักงานไต่สวน ป.ป.ช. ให้เกียรติเป็นวิทยากรบรรยายหัวข้อ “เทคนิคการชี้แจงข้อกล่าวหาชั้น ป.ป.ช.” ซึ่งมีทนายความในจังหวัดศรีสะเกษ จำนวนมากเข้าร่วมการอบรมในครั้งนี้