ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3536.กำหนดวันเริ่มนับชำระภาษีมรดก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2656/2567 กำหนดระยะเวลาฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรกรณีที่ผู้อุทธรณ์ไม่พอใจคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 มาตรา 26 วรรคห้า เป็นระยะเวลาที่เกี่ยวด้วยวิธีพิจารณาความแพ่งที่ศาลภาษีอากรกลางมีอำนาจขยายได้โดยอาศัยอำนาจตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 17

พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 ไม่ได้นิยามความหมายของคำว่า มรดก ไว้ จึงต้องพิจารณาความหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1600 ซึ่งบัญญัติว่า กองมรดกของผู้ตายได้แก่ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ โดยมาตรา 1599 บัญญัติให้มรดกนั้นตกทอดแก่ทายาททันทีเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ดังนั้น วันที่ได้รับมรดกที่เป็นเหตุให้ผู้รับมรดกมีหน้าที่เสียภาษีการรับมรดกจึงหมายถึงวันที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย เพราะหากถือวันที่ผู้รับมรดกได้รับเอามรดกตามจริง นอกจากไม่เป็นไปตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้วก็ยังจะเป็นผลให้เกิดความไม่แน่นอนในการจัดเก็บภาษีที่ขึ้นอยู่กับอำเภอใจของผู้รับมรดกว่าจะรับเอามรดกเมื่อใดซึ่งยากต่อการบังคับใช้กฎหมายของทุกฝ่าย ดังนี้ การคำนวณมูลค่าของเงินฝากหรือเงินอื่นใดที่มีลักษณะทำนองเดียวกันตามบัญชีเงินฝากธนาคารพิพาทที่เจ้ามรดกมีสิทธิเรียกถอนคืนหรือมีสิทธิเรียกร้องจากสถาบันการเงิน ซึ่งตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณมูลค่าของทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2559 ข้อ 5 ให้ถือเอาตามมูลค่าของเงินฝากหรือเงินอื่นใดที่มีลักษณะทำนองเดียวกันรวมทั้งดอกเบี้ยหรือผลประโยชน์อื่นใดที่จะได้รับจากเงินดังกล่าวในวันที่ได้รับมรดกนั้นจึงต้องถือเอาตามมูลค่าของเงินฝากรวมทั้งดอกเบี้ยที่ได้รับจากเงินดังกล่าวที่พึงมีในวันที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ดังนั้น รายการฝาก รายการดอกเบี้ย และรายการเงินปันผลที่มีขึ้นหลังจากเจ้ามรดกถึงแก่ความตายซึ่งไม่อาจฟังได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่เจ้ามรดกมีสิทธิได้รับในขณะถึงแก่ความตาย ตลอดจนรายการหนี้สินต่าง ๆ ที่มีขึ้นหลังจากเจ้ามรดกถึงแก่ความตายซึ่งฟังไม่ได้ว่าเป็นหนี้ของกองมรดกในขณะที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย จึงไม่ต้องนำมารวมคำนวณและหักมูลค่าเพื่อเสียภาษีการรับมรดก

การจัดเก็บภาษีเงินได้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 57 ทวิ เป็นการเก็บภาษีจากกองมรดกของเจ้ามรดกที่มีหลักเกณฑ์เป็นการเฉพาะ แต่การจัดเก็บภาษีตาม พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 เป็นการเก็บภาษีจากทายาทผู้รับมรดกซึ่งเป็นคนละหน่วยภาษีกัน โดย พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 บัญญัติถึงกรณีการเสียภาษีการรับมรดกของทายาทไว้โดยเฉพาะ ไม่จำต้องถือตาม ป.รัษฎากร มาตรา 57 ทวิ

เจ้ามรดกเป็นเจ้าของหุ้นกู้ของบริษัท ซ. ซึ่งในขณะที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายหุ้นกู้ดังกล่าวยังไม่ครบกำหนดไถ่ถอน ทรัพย์มรดกที่โจทก์ได้รับขณะเจ้ามรดกถึงแก่ความตายคือหุ้นกู้และสิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้นั้น ไม่ใช่เงินฝากจากเงินค่าไถ่ถอนหุ้นกู้ที่เข้ามาในบัญชีเงินฝากธนาคารหลังจากเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย การคำนวณมูลค่าของหุ้นกู้ที่เป็นทรัพย์มรดกจึงต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 มาตรา 15 (3) และกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณมูลค่าของทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2559 ข้อ 3 (2)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

ดร.วิเชียรและประธานสภาทนายความ จังหวัดลพบุรี เข้ากราบนมัสการมุฑิตาจิตแสดงความขอบพระคุณ และถวายเงินร่วมทำบุญแด่ท่านพระราชวิสุทธิประชานาถ (หลวงพ่ออลงกต) เจ้าอาวาสพระบาท

 

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 10.30 น. ที่วัดพระบาทน้ําพุ ตำบล เขาสามยอด อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี : ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ พร้อมด้วยนายไพบูลย์ แย้มเอม อุปนายกฝ่ายสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ และดร.ยุทธนา มาสำราญ ประธานสภาทนายความจังหวัดลพบุรี ได้เข้ากราบนมัสการมุฑิตาจิตแสดงความขอบพระคุณ และถวายเงินร่วมทำบุญแด่ท่านพระราชวิสุทธิประชานาถ (หลวงพ่ออลงกต) เจ้าอาวาสพระบาทน้ำพุ ที่ท่านได้มีเมตตาธรรมสนับสนุนสถานที่ตลอดจนอำนวยความสะดวก สำหรับงานจัดการแข่งขันฟุตบอลประเพณี Lawyer’s Cup ครั้งที่ 26 ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 17-19 มกราคม 2568 ณ สนามฟุตบอลใจฟ้า อคาเดมี่ จังหวัดลพบุรี ที่ผ่านมา

อบรมทักษะคณะกรรมการสอบสวนคดีมรรยาททนายความ

 

เมื่อวันเสาร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 08.30 – 17.00 น. ที่ ห้องประชุมร่มยูงทอง ชั้น 10 อาคาร 12 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี : ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ เป็นประธานในพิธีเปิดและปาฐกถาพิเศษในโครงการอบรมสัมมนาเพื่อพัฒนาทักษะประสิทธิภาพในการสอบสวนคดีมรรยาททนายความ และขึ้นทะเบียน โดยมีดร.ยุทธนา มาสำราญ ประธานสภาทนายความจังหวัดลพบุรี นายฉัตรประพล แย้มเพริศศรี กรรมการบริหารสภาทนายความภาค 1 กล่าวต้อนรับ นายไพฑูรย์ พฤฒาสัจธรรม กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการมรรยาททนายความ กล่าวรายงาน และว่าที่ร้อยตรีเอกชัย จันทพึ่ง ประธานสภาทนายความจังหวัดสระบุรี เป็นผู้ดำเนินรายการ

 

ยังได้รับเกียรติจาก นายวัลลภ ปัญโยยิ่ง ประธานสภาทนายความจังหวัดชัยนาท นายเรืองชีพ จรัสเจษฎา ประธานสภาทนายความจังหวัดชัยบาดาล นายอภิวัฒน์ นาวีระ ประธานสภาทนายความจังหวัดสิงห์บุรี ดร.คุณานนต์ นงนุช ประธานสภาทนายความจังหวัดอยุธยา นายนคร อารยะวงศ์ ประธานสภาทนายความจังหวัดปทุมธานี นายศิริศักดิ์ อมาตยกุล ประธานสภาทนายความจังหวัดนนทบุรี

นอกจากนี้ ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ให้เกียรติเป็นวิทยากรบรรยายหัวข้อ “สภาพปัญหาในการพิจารณาคดีมรรยาททนายความ” นายสุชาติ ชมกุล อุปนายกฝ่ายกิจการพิเศษ บรรยายหัวข้อ “การแก้ไขข้อบังคับสภาทนายความ ว่าด้วยการพิจารณาคดีมรรยาททนายความ พ.ศ.2546” นายคณิต วัลยะเพ็ชร์ ประธานกรรมการมรรยาททนายความ บรรยายหัวข้อ “ข้อบังคับสภาทนายความ ว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ.2529”

ต่อมาเวลา 13.00 น. นายมะโน ทองปาน รองประธานกรรมการมรรยาททนายความ บรรยายหัวข้อ “ทนายความกับสื่อสาธารณะ” นายคณิต วัลยะเพ็ชร์ ประธานกรรมการมรรยาททนายความ นายเจษฎา คงรอด รองประธานกรรมการมรรยาททนายความ และนายไพฑูรย์ พฤฒาสัจธรรม กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการมรรยาททนายความ ร่วมบรรยายหัวข้อ “การพิจารณาคดีมรรยาททนายความ ข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยการพิจารณาคดีมรรยาททนายความ พ.ศ.2546” “การพัฒนาทักษะและประสิทธิภาพในการสอบสวนคดีมรรยาททนายความ” และ “การทำความเห็นคดีมรรยาททนายความ”

ซึ่งมี คณะกรรมการบริหารสภาทนายความ คณะกรรมการสอบสวนคดีมรรยาททนายความ และทนายความในจังหวัดลพบุรีและทนายความในภาค 1 เข้าร่วมอบรม เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นกรรมการสอบสวนมรรยาททนายความ ในครั้งนี้จำนวน 230 คน

 

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3535.ตกลงซื้อขายกันทางโทรศัพท์ ยื่นฟ้องต่อศาลใด

คำพิพากษาฎีกาที่ 1824/2567 (เล่ม 4 หน้า 754) ขณะจำเลยที่ 2 หรือพนักงานร้าน บ. ของจำเลยที่ 2 โทรศัพท์สั่งซื้อสินค้าตามฟ้องจากโจทก์อยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรี โจทก์เจรจาอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ ทั้งจังหวัดสมุทรปราการและจังหวัดกาญจนบุรีต่างเป็นสถานที่ก่อให้เกิดสัญญาซื้อขายรายนี้ร่วมกัน ตาม ป.พ.พ.มาตรา 356 โจทก์ฟ้องเรียกค่าสินค้าตามฟ้องจากจำเลยที่ 2 ต่อศาลชั้นต้น (ศาลแขวงสมุทรปราการ) อันเป็นศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลได้ ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 4(1) มิได้ทำให้จังหวัดกาญจนบุรีซึ่งเป็นสถานที่ที่จำเลยที่ 2 ได้รับคำสนองอยู่เป็นสถานที่มูลคดีเกิดเพียงแห่งเดียว (หมายเหตุ 1 โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีสำนักงานตั้งอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น (ศาลแขวงสมุทรปราการ)

2 จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของร้าน บ. ประกอบธุรกิจจำหน่ายยางรถยนต์ ตั้งอยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจศาลจังหวัดกาญจนบุรี

3 การติดต่อสั่งซื้อสินค้าทั้งหมดตามฟ้อง จำเลยที่ 2 หรือพนักงานร้าน บ. ของจำเลยที่ 2 โทรศัพท์สั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ หากโจทก์มีสินค้าก็จะตอบตกลงขายให้ทางโทรศัพท์ โดยโจทก์ออกหลักฐานสำเนาใบกำกับภาษี/สำเนาใบกำกับสินค้า อันเป็นหลักฐานการซื้อขายที่บริษัทโจทก์

4 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในการเสนอคำฟ้องนั้น ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1) บัญญัติว่า “คำฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่” คำว่า “มูลคดี” หมายถึง เหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันจะทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้อง มูลคดีของเรื่องนี้เป็นเรื่องสัญญาซื้อขาย ทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้อง)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3535.การได้สิทธิในทางภาระจำยอมโดยอายุความ

คำพิพากษาฎีกาที่ 2313/2567 (เล่ม 5 หน้า 1098) การได้สิทธิในทางเป็นภาระจำยอมโดยอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1401 ประกอบมาตรา 1382 ต้องเป็นการใช้ทางโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาให้ทางนั้นตกเป็นภาระจำยอม ติดต่อกันไม่น้อยกว่า 10 ปี จึงจะมีผลให้ทางนั้นตกเป็นภาระจำยอมโดยอายุความ โจทก์ฟ้องอ้างว่า ได้สิทธิภาระจำยอมทางพิพาทบนที่ดินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยอายุความ ภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงตกอยู่แก่โจทก์

โจทก์มิได้ใช้ทางพิพาทบนที่ดินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาให้ได้สิทธิ ภาระจำยอม แม้โจทก์ใช้ทางพิพาทผ่านที่ดินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นเวลานานกว่า 10 ปี ทางพิพาทก็ไม่ตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์โดยอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1401 ประกอบมาตรา 1382

จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินร่วมกัน โดยไม่ปรากฏว่าได้มีการแบ่งการครอบครอง เป็นส่วนสัด จึงเป็นหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้จำเลยที่ 2 จะฎีกาฝ่ายเดียว เมื่อศาลฎีกาฟังว่าทางพิพาทบนที่ดิน กรรมสิทธิ์รวมของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์โดยอายุความ ศาลฎีกาให้มีผลถึงจำเลยที่ 3 ที่มิได้ฎีกาด้วยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245(1) ประกอบมาตรา 252

(หมายเหตุ 1 เดิมทางพิพาทเป็นคันนากว้างประมาณ 50 เซนติเมตร นาย ซ. ใช้คันนาเดินผ่านที่ดินของนาย บ. ไปออกสู่ถนนสาธารณะได้ เพราะนาย ซ. และนาย บ. มีความเกี่ยวพันเป็นญาติกัน

2 วันที่ 27 พฤศจิกายน 2539 นาย ซ. บิดาจำเลยที่ 1 แบ่งขายที่ดินจำนวนเนื้อที่ 3 ไร่เศษ ให้แก่โจทก์

3 โจทก์เข้าไปขุดบ่อเลี้ยงปลาในที่ดินของตนเอง และใช้ทางพิพาทด้วยการขับรถจักรยานยนต์พ่วงข้างบรรทุกอาหารปลาเข้าไปที่บ่อเลี้ยงปลาในที่ดินของโจทก์ และนำปลาที่เลี้ยงไปขายเป็นเวลาต่อเนื่องกันกว่า 20 ปี

4 ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่า ขณะซื้อที่ดินนาย ซ. ได้พาโจทก์ไปพบนาง ฉ. ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินด้านทิศใต้ซึ่งอยู่ติดกับทางพิพาท เพื่อขอใช้ที่ดินบางส่วนเป็นทางเดินออกสู่ถนนสาธารณะ นาง ฉ. อนุญาตให้ใช้ทางได้

5 และโจทก์ยังนำสืบอีกว่า ได้นำดินลูกรังไปถมบนทางพิพาททุกปี เพราะช่วงหน้าฝนน้ำท่วมทางโดยไม่ได้ขออนุญาตผู้ใด และไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน

6 เมื่อประมาณเดือนมิถุนายน 2562 โจทก์ขอซื้อที่ดินส่วนที่เป็นทางพิพาทจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 แต่ไม่สามารถตกลงราคากันได้

7 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์

8 ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษากลับให้ทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอม

9 ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์ โดยมีคำวินิจฉัยข้างต้น)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3534.มอบต้นฉบับใบเสร็จรับเงินให้แก่จำเลยแล้ว แต่ยังไม่ได้รับชำระหนี้

คำพิพากษาฎีกาที่ 500/2567 (เล่ม 3 หน้า 555) โจทก์มอบใบเสร็จรับเงินให้ พ. ซึ่งปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่การเงินของสำนักงานจำเลยไปก่อน เพราะเชื่อถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของสถาบันพัฒนาข้าราชการ และ พ. เคยโอนเงิน ให้แก่โจทก์ตามใบเสร็จรับเงินที่โจทก์ออกให้ก่อนมาแล้วหลายครั้ง เมื่อ พ. เบิกเงินจากจำเลยแล้วไม่นำมาชำระแก่โจทก์ เหมือนที่เคยปฏิบัติ จำเลยต้องรับผิดชำระค่าอาหาร ค่าอาหารว่าง และเครื่องดื่ม ที่ยังไม่ได้ชำระแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย ผิดนัดตามฟ้อง แล้วไปไล่เบี้ยเอาแก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่อไป

โจทก์เรียกเก็บเงินค่าจ้างจากจำเลยโดยนำต้นฉบับใบวางบิลและใบเสร็จรับเงินไปส่งให้แก่จำเลยในวันศุกร์ของแต่ละสัปดาห์ที่มีการจัดเลี้ยง แล้วจำเลยจะชำระเงินโดยโอนเงินเข้าบัญชีของโจทก์ในวันนั้น วันเสาร์หรือวันอาทิตย์ ถือได้ว่าเป็นหนี้ที่ไม่ได้กำหนดเวลาอันจะพึงชำระหนี้ไว้ โจทก์เจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 วรรคหนึ่ง โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระค่าจ้างแก่โจทก์ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ จำเลยได้รับหนังสือวันที่ 13 กันยายน 2561 จำเลยเพิกเฉย จึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องเสียดอกเบี้ยแก่โจทก์ ตามมาตรา 204วรรคหนึ่ง นับแต่วันที่ 29 กันยายน 2561 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์

( หมายเหตุ 1 คดีนี้ โจทก์นำสืบถึงแนวปฏิบัติการรับชำระที่จากจำเลย โดยโจทก์จะนำใบเสร็จรับเงินไปวางชำระหนี้ให้กับ พ. ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลย แล้ว พ. จะโอนเงินเข้าบัญชีของโจทก์

2 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ตามฟ้องของโจทก์

3 ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยไม่ได้กำหนดหรือตกลงให้โจทก์นำต้นฉบับใบวางบิล และต้นฉบับ ใบเสร็จรับเงินไปส่งจำเลย แล้วจำเลยจะโอนเงินเข้าบัญชีโจทก์ จึงไม่มีเหตุที่จำเลยจะต้องขอให้โจทก์ออกใบเสร็จรับเงิน ให้จำเลยก่อนจ่ายเงินให้แก่โจทก์ เมื่อจำเลยมีใบเสร็จรับเงินอันเป็นหลักฐานว่าผู้ออกใบเสร็จได้รับเงินตามจำนวนที่ระบุไว้ในใบเสร็จดังกล่าวแล้ว น่าเชื่อว่า โจทก์ได้รับเงินค่าอาหาร ค่าอาหารว่าง และเครื่องดื่ม ตามฟ้องแก่โจทก์แล้ว พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

4 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยไม่มีหลักฐานการจ่ายเงินให้แก่โจทก์ คงมีเพียงใบเสร็จรับเงินที่โจทก์ออกให้เท่านั้น และมิได้นำสืบว่าได้ชำระหนี้แก่โจทก์แล้วอย่างไร พิพากษากลับเป็นว่าให้จำเลยชำระเงินตามฟ้องแก่โจทก์

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3532.การส่งหนังสือนัดประชุมของสมาคม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 909/2567 (เล่ม 2 หน้า 134)การจดทะเบียนกรรมการของสมาคมตาม ป.พ.พ. มาตรา 85 นั้น การตรวจสอบฐานะและความประพฤติของกรรมการก่อนจดทะเบียนเป็นสาระสำคัญในการควบคุมสมาคมเพื่อให้ทราบบุคคลผู้บริหารกิจการสมาคมได้จากหลักฐานทางทะเบียน ผู้คัดค้านจึงมีคณะกรรมการตามจำนวนที่จดทะเบียนไว้ เมื่อกรรมการของผู้คัดค้านเข้าร่วมประชุมครบองค์ประชุม การประชุมและลงมติให้จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปีจึงเป็นไปตามข้อบังคับของผู้คัดค้าน

ในการเรียกประชุมใหญ่ผู้คัดค้านส่งหนังสือนัดประชุมและเอกสารที่เกี่ยวข้องไปยังสมาชิกที่มีชื่อในทะเบียนของผู้คัดค้านก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวันชอบด้วยข้อบังคับของผู้คัดค้านและ ป.พ.พ. มาตรา 95 วรรคหนึ่งแล้ว แม้มีสมาชิกของผู้คัดค้านได้รับหนังสือนัดประชุมก่อนวันนัดน้อยกว่าเจ็ดวัน หรือสมาชิกบางคนไม่ได้รับหนังสือนัดประชุมหากมีจำนวนน้อยมิได้ถึงขนาดที่มีนัยสำคัญต่อผลการลงมติสำคัญใด ๆ ก็ไม่ทำให้การส่งหนังสือนัดประชุมดังกล่าวเป็นการไม่ปฏิบัติตามหรือฝ่าฝืนข้อบังคับของผู้คัดค้านหรือกฎหมาย ในวันประชุมมีสมาชิกผู้มีสิทธิออกเสียงมาประชุมครบเป็นองค์ประชุมและมีการลงมติโดยชอบแล้ว ย่อมไม่มีเหตุเพิกถอนมติในการประชุมใหญ่ดังกล่าว

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3531.จ้างเหมาโดยวิธีตกลงราคาแทนการจ้างโดยวิธีสอบราคา เป็นการทุจริตต่อหน้าที่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2934/2566 จำเลยที่ 1 ตำแหน่งนายกเทศมนตรี มีหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและรับผิดชอบในการบริหารราชการของเทศบาลให้เป็นไปตามกฎหมาย กับมีอำนาจอนุมัติสั่งซื้อและสั่งจ้างในฐานะที่เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 จำเลยที่ 1 ลงนามอนุมัติสั่งซื้อและสั่งจ้างโดยทราบข้อเท็จจริงเป็นอย่างดีแล้วว่า การดำเนินการจ้างเหมาประกอบอาหารขัดต่อระเบียบกระทรวงมหาดไทย จำเลยที่ 1 จะอ้างเหตุไม่รู้ระเบียบมาเป็นข้อแก้ตัวเพื่อให้พ้นความรับผิดหาได้ไม่ ส่วนจำเลยที่ 2 ในฐานะปลัดเทศบาล มีหน้าที่ควบคุมดูแลราชการประจำของเทศบาลให้เป็นไปตามนโยบาย แม้จะไม่มีหน้าที่ในการตรวจสอบระเบียบการดำเนินการจ้างโดยตรงและไม่มีอำนาจอนุมัติการจ้าง รวมทั้งไม่มีหน้าที่ในการตรวจรับการจ้างก็ตาม แต่จำเลยที่ 2 มีหน้าที่ให้ความเห็นชอบรายงานที่ต้องเสนอจำเลยที่ 1 พิจารณาอนุมัติตามลำดับชั้น จำเลยที่ 2 ลงนามในบันทึกขออนุมัติตกลงจ้างโดยวิธีตกลงราคาทั้งที่รู้ว่าเป็นการจัดซื้อจัดจ้างที่ผิดระเบียบ เสนอให้จำเลยที่ 1 ลงนาม โดยมีการดำเนินการในลักษณะเร่งรีบและรวบรัดเพื่อจะกำหนดตัวผู้รับจ้างได้เอง อันเป็นพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริต จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำไปเพื่อช่วยเหลือให้ ก. และ ส. เป็นผู้รับจ้างทำสัญญากับเทศบาลตำบล น. เป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เป็นเหตุให้เทศบาลตำบล น.ได้รับความเสียหายไม่อาจพิจารณาคัดเลือกหาผู้รับจ้างที่เสนอราคาต่ำที่สุดจากการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีสอบราคาได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตาม ป.อ. มาตรา 157 แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีหน้าที่โดยตรงในการซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาเงินค่าอาหาร หรือทรัพย์ใด ๆ ของเทศบาลตำบล น. ในโครงการส่งเสริมสนับสนุนงานสืบสานประเพณีวันสงกรานต์ การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 151

สำหรับจำเลยที่ 3 ซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองคลัง ย่อมมีอำนาจหน้าที่เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบกำกับดูแลภายในกองคลัง ทั้งยังมีฐานะเป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 และมีหน้าที่ตรวจสอบรับรองความถูกต้องเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงิน การรับรองสิทธิการเบิกเงินงบประมาณ การควบคุมการปฏิบัติเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงิน และเป็นฝ่ายตรวจอนุมัติฎีกาและควบคุมงบประมาณ มีหน้าที่ตรวจสอบรับรองความถูกต้อง การปฏิบัติตามระเบียบ กฎหมาย ข้อบังคับ และมติรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ตามคำสั่งเทศบาลตำบล น. การดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัสดุของเทศบาลตำบล น. ย่อมอยู่ในอำนาจหน้าที่โดยตรงของจำเลยที่ 3 ในฐานะที่เป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ของเทศบาลตำบล น. แต่จำเลยที่ 3 กลับปล่อยให้มีการอนุมัติจัดจ้างด้วยวิธีการที่ขัดต่อระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 โดยไม่ทักท้วงและเสนอความเห็นทำนองรับรองความถูกต้องในการปฏิบัติตามระเบียบ เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 151 (เดิม) ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว จึงไม่จำต้องปรับบทลงโทษจำเลยที่ 3 ตามมาตรา 157 (เดิม) ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และจำเลยที่ 3 ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต ในการอนุมัติและเห็นชอบให้มีดำเนินการจ้างเหมาประกอบโดยวิธีตกลงราคาทั้งที่ตามระเบียบจะต้องดำเนินการจ้างโดยวิธีสอบราคา จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กระทำไปโดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม และเป็นไปในทางเอื้ออำนวยให้ ก. และ ส. เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญาจ้างกับเทศบาลตำบล น. โดยจำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบล น. จึงเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 4 ด้วย การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12

(หมายเหตุ 1 ศาลฎีกาวินิจฉัยเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเพื่อทำงานในหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการใช้งบประมาณของแผ่นดิน จำเลยที่ 1 ย่อมต้องศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับระเบียบที่เกี่ยวข้องกับงานในอำนาจหน้าที่ จำเลยที่ 1 จะอ้างเหตุการณ์ไม่รู้ระเบียบมาเป็นข้อแก้ตัวเพื่อให้พ้นความรับผิดหาได้ไม่

2 ศาลฎีกาวินิจฉัยเกี่ยวกับจำเลยที่ 3 ว่า มีการตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในโครงการส่งเสริมสนับสนุนงานสืบสานประเพณีวันสงกรานต์ปี 2551 มาตั้งแต่ก่อนสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 ดังนี้ หากเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดมีเจตนาจะดำเนินการให้ถูกต้องตามระเบียบมาแต่แรกก็อยู่ในวิสัยที่ดำเนินการในทุกขั้นตอนให้เสร็จสิ้นได้ไม่ยาก แต่กลับไม่กระทำการใดโดยปล่อยเวลาล่วงมาจนเป็นเวลากระชั้นชิดซึ่งนับเป็นข้อพิรุธในการจ้าง

3 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุก ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นเจ้าพนักงานและเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐซึ่งจะต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามระเบียบและตามที่กฎหมายกำหนด การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ซึ่งมุ่งเอาแต่ประโยชน์แก่พวกพ้องส่งผลกระทบต่องบประมาณของรัฐในการพัฒนาประเทศ ทำให้รัฐต้องเสียหาย พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องร้ายแรง แม้จำเลยที่ 1 ไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จะได้วางเงินเพื่อบรรเทาผลร้ายแล้ว ก็ไม่เป็นเหตุเพียงพอที่จะรอการลงโทษจำคุกให้

4 ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นที่พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 151 (เดิม) พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 มีเหตุบรรเทาโทษ คงจำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คนละ 3 ปี 4 เดือน ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4

5 ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยข้างต้น โดยพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 (เดิม) พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 3 ปี 4 เดือน ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 151 (เดิม)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

 

ศึกมวยไทย วันทนายความ ประจำปี 2568 สนามมวยบางลาบ๊อกซิ่ง ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 21.00 น. ที่สนามมวยบางลาบ๊อกซิ่ง ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ได้เดินทางไปเป็นประธานเปิดงานชกมวยไทย วันทนายความ ประจำปี 2568

โดยมี นางรุ่งนภา พุฒแก้ว ประธานสภาทนายความจังหวัดภูเก็ต เป็นผู้กล่าวต้อนรับ ดร.นัทชา โฮมควิสต์ ประธานจัดงาน และได้รับเกียรติจาก นายชลสิทธิ แก้วยะรัตน์ รองกรรมการและคณะกรรมการภาค 8

นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจาก

นายวันชัย บุญฤทธิ์ ประธานสภาทนายความจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายกฤษฎิ์ สุดถนอม ประธานสภาทนายความจังหวัดเกาะสมุย นายสรรเพชร ทิพย์มณเฑียร ประธานสภาทนายความจังหวัดพังงา นายโรม จุไร ประธานสภาทนายความจังหวัดตะกั่วป่า และคณะกรรมสภาทนายความจังหวัดภูเก็ต

โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงาน ห้างร้าน บริษัท และสำนักงานทนายความในจังหวัดภูเก็ตเป็นจำนวนมาก

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3530.ใช้อาวุธปืนที่ไม่มีเข็มแทงชนวนยิงผู้เสียหาย เป็นความผิดฐานพยายามฆ่า

คำพิพากษาฎีกาที่ 483/2567 (เล่ม 3 หน้า 524) จำเลยใช้อาวุธปืนซึ่งเป็นอาวุธร้ายแรงโดยสภาพยิงโจทก์ร่วมในระยะใกล้ เป็นการกระทำโดยมีเจตนาฆ่า จำเลยกระทำการไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่อาจบรรลุผลได้อย่างแน่แท้ เพราะอาวุธปืนของกลางซึ่งเป็นปัจจัยซึ่งใช้ในการกระทำความผิดไม่อาจใช้ยิงได้เพราะเหตุไม่มีเข็มแทงชนวน การกระทำ ของจำเลยเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 81

(หมายเหตุ 1 ผู้เสียหายเป็นเจ้าของบ้านที่เกิดเหตุ โจทก์ร่วมและจำเลยรู้จักกันมาตั้งแต่เด็กเพราะพักอาศัยอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน

2 จำเลยเข้ามาในบ้านที่เกิดเหตุ แล้วพูดจาหาเรื่องแล้วจำเลยออกจากบ้านที่เกิดเหตุไป

3 หลังจากนั้น จำเลยกลับเข้ามาในบ้านที่เกิดเหตุพร้อมทั้งอาวุธปืนลูกซองและกระสุนปืนติดตัวมาด้วย จำเลย ใช้อาวุธปืนลูกซองภายในมีกระสุนปืนบรรจุอยู่ 1 นัด ชี้หน้าผากโจทก์ร่วม แล้วลั่นไกปืนเสียงดังแป๊ก แต่กระสุนปืนไม่ลั่น

4 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 81 ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกฟ้องฐานพยายามฆ่า

5 ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 81

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849