ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3540.หน้าที่ของทนายความเมื่อตัวความถึงแก่ความตาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2232/2567 เมื่อจำเลยถึงแก่ความตายระหว่างขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (1) จึงให้จำหน่ายคดีในคดีส่วนอาญาออกจากสารบบความ สำหรับคดีส่วนแพ่ง การดำเนินกระบวนพิจารณาต้องเป็นไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 47 วรรคหนึ่ง สิทธิในคดีส่วนแพ่งของโจทก์ร่วมที่พนักงานอัยการขอให้จำเลยชดใช้เงินแก่โจทก์ร่วมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 และสิทธิของโจทก์ร่วมที่ขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ยังคงมีอยู่ ไม่ระงับไป

ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 เป็นบทบัญญัติที่มีเจตนารมณ์เพื่อช่วยให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายในทางแพ่งได้รับทรัพย์สินคืนหรือได้รับการชดใช้ราคาทรัพย์สินที่สูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิดของจำเลยได้โดยสะดวกรวดเร็ว และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแพ่งเป็นอีกคดีหนึ่ง จึงให้อำนาจพนักงานอัยการใช้สิทธิเรียกร้องและดำเนินคดีแทนโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายและโจทก์ร่วมสามารถใช้สิทธิของตนเองต่อเนื่องไปในคดีอาญา เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีทั้งคดีส่วนแพ่งและคดีส่วนอาญาเสร็จสิ้นไปในคราวเดียวกัน

ดังนั้น การที่จำเลยแต่งตั้งทนายความให้ว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาแทนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 60 จึงเป็นการแต่งตั้งตัวแทน เมื่อจำเลยซึ่งเป็นตัวการถึงแก่ความตาย ทนายจำเลยคงมีอำนาจและหน้าที่จัดการดำเนินคดีเพื่อปกปักรักษาประโยชน์ของจำเลยต่อไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 828 จนกว่าทายาทหรือผู้แทนของจำเลยจะเข้ามาปกปักรักษาประโยชน์ของจำเลย อำนาจของทนายจำเลยหาได้หมดสิ้นไปทันทีเมื่อจำเลยถึงแก่ความตายไม่ เมื่อทนายจำเลยมิได้ดำเนินการในคดีส่วนแพ่งภายในกำหนด 1 ปี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 42 โจทก์จึงมีสิทธิที่จะบังคับคดีต่อไปได้ สิทธิในการบังคับคดีที่เป็นสิทธิในทรัพย์สินมิใช่สิทธิเฉพาะตัว ความรับผิดตามคำพิพากษาย่อมตกทอดแก่ทายาทของจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 และมาตรา 1600

(หมายเหตุ 1 เมื่อตัวความถึงแก่ความตาย ทนายความยังคงมีหน้าที่เป็นทนายความให้แก่ตัวความต่อไปอีก 1 ปี ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 42)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3541.ข้อความที่ระบุในการแจ้งความร้องทุกข์

คำพิพากษาฎีกาที่ 9/2567 (เล่ม 7 หน้า 1411) ตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีระบุว่า บริษัท ช. โจทก์มอบอำนาจให้ ท. แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่บริษัท จ. จำเลยที่ 1 ในความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค จนคดีถึงที่สุด มิได้ระบุให้ร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 หรือผู้ร่วมกระทำความผิด และไม่มีหลักฐานว่า โจทก์ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ในความผิดอันยอมความได้เกินสามเดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ขาดอายุความ

(หมายเหตุ 1 ในคดีความผิดอันยอมความได้ การแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีต้องระบุบุคคลที่ต้องการแจ้งความร้องทุกข์ให้ครบถ้วน มิฉะนั้นแล้วคดีจะขาดอายุความเฉพาะในส่วนบุคคลที่ไม่ได้ระบุไว้ในคำร้องทุกข์)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3539.กู้เพื่อชำระหนี้และทุนการศึกษาของบุตร เป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4008/2567 การที่จำเลยที่ 1 ยื่นแบบคำขอกู้และรับรองสิทธิโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค. ระบุวัตถุประสงค์ไว้ในข้อ 3 ว่า เพื่อชำระหนี้และทุนการศึกษาบุตร แสดงว่าหนี้ที่จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินดังกล่าวเป็นหนี้เกี่ยวแก่การศึกษาของบุตรตามสมควรแก่อัตภาพ โดยจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้องในสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนแนบท้ายแบบคำขอกู้ดังกล่าว อันแสดงว่าจำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาทำสัญญากู้ยืมเงิน ดังนั้น หนี้ที่จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินดังกล่าวจึงเป็นหนี้ร่วมระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490 (1) ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องร่วมกันรับผิดต่อธนาคาร อ. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1489 แต่เมื่อได้ความว่า ในคดีที่ธนาคาร อ. ฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้กู้ และ ท. กับโจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันเป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดพะเยานั้น ต่อมา ธนาคาร อ. จำเลยที่ 1 ท. และโจทก์ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมและคดีถึงที่สุดแล้ว ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมทำให้สิทธิเรียกร้องตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวระงับสิ้นไป โดยธนาคาร อ. ได้ถือสิทธิใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 852 การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาของจำเลยที่ 2 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับธนาคาร อ. โดยจำเลยที่ 2 ไม่ได้ร่วมด้วย สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ไม่ใช่คู่สัญญาในสัญญาประนีประนอมยอมความ จึงไม่มีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญากับโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 เพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยตาม ป.พ.พ. มาตรา 693 ได้

(หมายเหตุ 1 คดีนี้เป็นกรณีโจทก์ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันซึ่งได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา(ธนาคาร)ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ แล้วมาใช้สิทธิไล่เบี้ยกับผู้กู้และภริยาของผู้กู้

2 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สัญญาประนีประนอมยอมความไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นภริยาของผู้กู้ เพราะจำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นคู่สัญญาประนีประนอมยอมความด้วย)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

สภาทนายความจัดงานวันทนายความ’68 สุดยิ่งใหญ่  ระลึกถึงอดีตทนายความที่ล่วงลับ 

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 10.00 น. ที่สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ถนนพหลโยธิน ได้ทำการจัดงานวันทนายความ โดยมี ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความเป็นประธานเปิดงานวันสภาทนายความ ประจำปี 2568 นายนิยม เติมศรีสุข ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายคนิต วัลยเพ็ชร ประธานกรรมการมรรยาททนายความ ให้เกียรติร่วมงาน พร้อมด้วย วุฒิสมาชิก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ศ.พิเศษ ดร. เดชอุดม ไกรฤทธิ์ อดีตนายกสภาทนายความ นายเสรี สุวรรณภานนท์ นายวันชัย สอนศิริ อดีตสมาชิกวุฒิสภา นายประมาณ เลืองวัฒนะวณิช อดีตกรรมการบริหารสภาทนายความ คณะกรรมการบริหารสภาทนายความ ประธานสภาทนายความจังหวัด คณะกรรมการมรรยาทนายความ อดีตกรรมการบริหารสภาทนายความ สมาชิกทนายความ เข้าร่วมกันอย่างคับคั่ง ร่วมพิธีทำบุญและเจริญพระพุทธมนต์ ซึ่งได้รับความเมตตาธรรมจากท่านสมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ มาร่วมพิธี เพื่อบำเพ็ญกุศลให้แก่ทนายความที่ล่วงลับ และเพิ่มความเป็นสิริมงคลให้แก่สภาทนายความและผู้ที่ประกอบวิชาชีพทนายความ

พร้อมกันนี้ยังมีพิธีมอบรางวัลทนายความดีเด่นประจำปี 2568 โดยมีนายสุนทร พยัคฆ์ เลขาธิการสภาทนายความ เป็นผู้กล่าวรายงาน นอกจากนี้ยังมีพิธีการมอบโล่รางวัลสำหรับนักศึกษาที่ชนะเลิศการโต้วาทีเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งนางสาวศรินทร เลืองวัฒนะวนิช อุปนายกฝ่ายต่างประเทศ เป็นผู้ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการ และในภาคบ่าย ดร.วิรัลพัชร เวทธาวริทธร อุปนายกฝ่ายวิชาการได้รับมอบหมายให้จัดอบรมวิชาการเรื่อง กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและพระราชกำหนดการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับใหม่)

ด้าน ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ กล่าวว่า วันที่ 20 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวันทนายความเพื่อระลึกถึงทนายความในอดีตที่เป็นผู้ล่วงลับไปแล้ว และเป็นการทำบุญเพื่อความเป็นสิริมงคลให้แก่องค์กรสภาทนายความ โดยสภาทนายความมุ่งหวังที่จะเพิ่มสวัสดิการและพัฒนาทักษะให้แก่ทนายความทุกคน ไม่ว่าจะเป็นทนายความที่มีประสบการณ์ หรือทนายความใหม่ โดยจะมีการจัดการฝึกอบรมเพิ่มทักษะในการประกอบวิชาชีพทนายความตลอดไป และที่ผ่านมาได้มีการตอบรับจากทนายความทั่วประเทศเป็นอย่างดี และยังให้ความสำคัญเกี่ยวกับมรรยาททนายความอย่างต่อเนื่อง

สภาทนายความภาค 5 ร่วมทำบุญเนื่องในวันทนายความประปึ 2568

เมื่อเวลา 10.00 น วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 ณวัดฟ้าฮ่ามอำเภอเมืองจังหวัดเชียงใหม่นายพรศักดิ์ สังข์สังวาลย์ กรรมการบริหารสภาทนายความภาค 5 นายพชรพล ตระกูลชัย ประธานชมรมทนายความจังหวัดเชียงใหม่ 2566-2568 จัดกิจกรรมทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ทนายที่ล่วงลับไปแล้ว ถวายจตุปัจจัยเครื่องเพื่อนไทยทาน และภัตตาหารเพล เนื่องในวันทนายความประจำปี 2568 จากนั้นได้มีการปล่อยปลาจำนวน จำนวน 70ถุง ปลาจำนวน1,000 ตัว

โดยมีทนายความร่วมกิจกรรมในครั้งนี้จำนวนกว่า 50 คน

เสวนาเรื่อง การถอดบทเรียนข้อพิพาทวิชาชีพทนายความ

เมื่อวันพุธที่ 19 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 16.00 น. ที่โรงแรม ปัญจดารา จังหวัดนครราชสีมา : ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ได้เดินทางไปร่วมการเสวนาเรื่อง การถอดบทเรียนข้อพิพาทวิชาชีพทนายความ และร่วมรับประทานอาหาร พร้อมมอบเงินกองทุนสวัสดิการทนายความ ให้แก่ นายวีรเกียรติ อโณทัยไพบูลย์ อดีตกรรมการบริหารสภาทนายความภาค 3 เนื่องจากปัญหาด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการต้อนรับจาก นายวีระศักดิ์ บุญเพลิง กรรมการบริหารสภาทนายความภาค 3 นายพรเทพ เจริญพงศ์อนันต์ ประธานสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และทนายความในจังหวัดนครราชสีมา จำนวนมาก

นอกจากนี้ได้มีทนายความอาวุโสในจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งประสบผลสำเร็จในการประกอบวิชาชีพทนายความ ได้มอบเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดงานวันทนายความให้แก่ กรรมการบริหารสภาทนายความภาค 3 ประธานสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา

 

 

วันทนายความ สภาทนายความฯ จัดอบรมวิชาการ กฎหมายที่เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและพระราชกำหนดไซเบอร์(ฉบับใหม่) ฟรี

 

ดร. วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่าในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งเป็นวันทนายความประจำปี สถาบันพัฒนาวิชาชีพทนายความ สภาทนายความได้จับอบรมวิชาการ เรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและพระราชกำหนดไซเบอร์(ฉบับใหม่) โดยแบ่งออกหัวข้อย่อยในการบรรยายดังนี้

1 กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและกฎหมาย สำคัญที่เกี่ยวข้อง

2 ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตามพระราชกำหนดไซเบอร์ (ฉบับใหม่)

3 มาตรการเยียวยาผู้เสียหายตามพระราชกำหนดไซเบอร์(ฉบับใหม่)

4 อัตราโทษของผู้กระทำความผิดและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตามพระราชกำหนดไซเบอร์ฉบับใหม่

การจัดอบรมวิชาการเนื่องในวันทนายความในครั้งนี้ จัดขึ้นที่ห้องประชุมชั้น 5 สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ เริ่มบรรยายตั้งแต่เวลา 13:00 น ถึง 16.00 น. การบรรยายวิชาการในครั้งนี้ ได้มีวิทยากรผู้มากประสบการณ์เฉพาะด้านมาบรรยายให้กับผู้เข้ารับการอบรมในครั้งนี้ ผู้ที่สนใจเข้ารับการอบรมสามารถติดต่อสอบถามได้ที่สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3537.ผู้จัดการมรดกคนเดียวฟ้องเรียกทรัพย์มรดกของผู้ตายจากบุคคลภายนอกได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3681/2567 ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 มรดก ลักษณะ 4 วิธีการจัดการและปันทรัพย์มรดก หมวด 1 ผู้จัดการมรดก ว่าด้วยการจัดตั้งผู้จัดการมรดกคนเดียวหรือหลายคน และวิธีการจัดการมรดก ซึ่งมาตรา 1726 บัญญัติเกี่ยวกับกรณีผู้จัดการมรดกหลายคนซึ่งต้องตกลงกันด้วยเสียงข้างมาก เมื่อตกลงกันได้แล้วจึงดำเนินการรวบรวมจำหน่ายทรัพย์มรดกเป็นตัวเงินทำการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้กองมรดก กับการแบ่งปันทรัพย์มรดก ตามที่บัญญัติไว้ในหมวด 2 ว่าด้วยการรวบรวมจำหน่ายทรัพย์มรดกเป็นตัวเงินและการชำระหนี้กับแบ่งปันทรัพย์มรดก ซึ่งมาตรา 1736 วรรคสอง บัญญัติว่า ในระหว่างเวลาเช่นว่านั้น ผู้จัดการมรดกชอบที่จะทำการใด ๆ ในทางจัดการตามที่จำเป็นได้ เช่นฟ้องคดีหรือแก้ฟ้องในศาลและอื่น ๆ ดังนี้จะเห็นได้ว่า การกระทำในทางธรรมชาติของการจัดการมรดกโดยผู้จัดการมรดกหลายคนนั้น บางกรณีไม่อาจกระทำได้ด้วยผู้จัดการมรดกพร้อมกันทุกคน เช่น การครอบครองทรัพย์มรดก การจัดทำบัญชีทรัพย์มรดก การขอถอนผู้จัดการมรดก และไม่จำต้องกระทำการพร้อมกันทุกคน เช่น การทำนิติกรรม การรับชำระหนี้จากลูกหนี้ การชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ การฟ้องร้องและการต่อสู้คดี เป็นต้น ทั้งตามบทกฎหมายก็มิได้บัญญัติว่าการกระทำตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกหลายคนนั้นต้องร่วมกันทำหรือร่วมกันลงชื่อในนิติกรรมพร้อมกันทุกคนทุกคราวไป เพียงแต่ต้องกระทำการด้วยตนเอง เว้นแต่จะกระทำการโดยตัวแทนได้ตามอำนาจที่ให้ไว้ชัดแจ้งหรือโดยปริยายในพินัยกรรมหรือโดยคำสั่งศาล เนื่องเพราะผู้จัดการมรดกทุกคนต้องร่วมรับผิดต่อทายาทและบุคคลภายนอกดังเช่นตัวแทน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1720 และ 1723 ฉะนั้น การกระทำใดของผู้จัดการมรดกคนหนึ่งหรือหลายคนโดยมีผู้เห็นด้วยเป็นส่วนมาก หรือได้รับความยินยอมของผู้จัดการมรดกคนอื่นแล้ว ก็ต้องถือว่าเป็นการจัดการมรดกร่วมกันโดยเสียงข้างมาก หาจำต้องให้ผู้จัดการมรดกเสียงส่วนข้างน้อยเข้าร่วมจัดการด้วยไม่

หลังจากศาลมีคำสั่งตั้ง บ. ซึ่งเป็นผู้ร้อง และโจทก์ซึ่งเป็นผู้คัดค้านร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของ ว. ผู้ตายตามคำสั่งศาลแพ่งคดีหมายเลขแดงที่ พ 364/2562 แล้ว ต่อมา บ. ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งถอนโจทก์ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดก และฝ่ายโจทก์ยื่นคำคัดค้านและขอให้ศาลมีคำสั่งถอน บ. ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกเช่นกัน ศาลนัดไต่สวนคำร้อง และปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลแพ่ง ลงวันที่ 5 สิงหาคม 2562 ว่า นัดไต่สวนคำร้องวันนี้ ผู้ร้อง ป. ผู้รับมอบอำนาจผู้ร้อง ทนายผู้ร้อง ผู้คัดค้าน และทนายผู้คัดค้านมาศาล โดยได้ความตามคำร้องขอแก้ไขคำร้อง ลงวันที่ 30 สิงหาคม 2562 ของ บ. ผู้ร้องโดย อ. ทนายความผู้ร้องเป็นผู้ลงนามในคำร้องและเป็นผู้เรียงคำร้องดังกล่าว ในหน้าที่ 5 มีข้อความว่า “กรณีผู้คัดค้านกล่าวอ้างว่า มีทรัพย์สินหลายรายการอยู่ในความครอบครองของบุคคลภายนอกนั้น ซึ่งทรัพย์สินตามที่ผู้คัดค้านกล่าวอ้างเหล่านั้นไม่ปรากฏชื่อของผู้คัดค้านหรือชื่อของผู้ตายเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แต่อย่างใด ดังนั้น การใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์สินดังกล่าวคืนสู่กองมรดกนั้น ผู้คัดค้านสามารถใช้สิทธิทางกฎหมายเพื่อติดตามเอาทรัพย์สินคืนในนามส่วนของตนเองได้โดยตรง ผู้ร้องยินดีให้ความร่วมมือและไม่คัดค้านแต่ประการใด” นอกจากนี้ในคำร้องดังกล่าวในหน้าที่ 3 มีข้อความอีกว่า “…ปัจจุบันผู้ร้องและทายาทโดยธรรมของผู้ตายทุกคนพักอาศัยอยู่ที่ต่างประเทศ โดยผู้ร้องพักอาศัยอยู่ที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งในการยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกนั้น ผู้ร้องได้แต่งตั้งให้ทนายความและบุคคลอื่นให้เป็นผู้รับมอบอำนาจในการดำเนินการจัดการรวบรวมทรัพย์มรดกตามคำสั่งศาลนี้แทนผู้ร้องโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว เพื่อความสะดวกในการจัดการมรดกร่วมกันกับผู้คัดค้านแทนผู้ร้อง และผู้คัดค้านสามารถติดต่อทนายความหรือผู้รับมอบอำนาจของผู้ร้องได้ตลอดเวลา..” จากข้อความดังกล่าวจึงฟังได้ว่า บ. ได้แต่งตั้งให้ ป. เป็นผู้รับมอบอำนาจของตนในการดำเนินคดี และมีการแต่งตั้ง อ. เป็นทนายความของตนดำเนินการเกี่ยวกับการจัดการมรดกของผู้ตาย ถือได้ว่า บ. ในฐานะผู้จัดการมรดกร่วมได้แต่งตั้งให้ทนายความและบุคคลอื่นให้เป็นผู้รับมอบอำนาจในการดำเนินการจัดรวบรวมทรัพย์มรดกตามคำสั่งศาลนี้แทนตนโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ทั้งนี้ ก็เพื่อความสะดวกในการจัดการมรดกร่วมกันกับโจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกร่วมอีกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นเวลาก่อนวันที่ 14 กันยายน 2562 ที่จะมีการประชุมผู้จัดการมรดก ดังนั้น เมื่อได้ความตามบันทึกการประชุมระบุว่า “..ผู้จัดการมรดกของ ว. ตามคำสั่งศาลแพ่งคดีหมายเลขแดงที่ พ 364/2562 โดยมีผู้ร่วมประชุมคือ 1) นางสาว ร. (ซึ่งก็คือโจทก์) และ 2) อ. และ ป. ตัวแทน บ.” ซึ่งก็คือทนายความและผู้รับมอบอำนาจของ บ. ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับโจทก์ในกองมรดกของผู้ตายได้ทำหน้าที่ของตนในฐานะเป็นตัวแทนของ บ. ในการประชุมผู้จัดการมรดกดังกล่าวนั่นเอง เมื่อพิจารณาประกอบบันทึกการประชุมผู้จัดการมรดกเพื่อปรึกษาการจัดการทรัพย์มรดกของผู้ตาย กลุ่มที่ 3 ซึ่งอยู่ในชื่อตัวแทน 4 คน ที่ยังไม่สามารถเรียกคืนได้และอีกหนึ่งคนตกลงคืนแล้ว ที่ประชุมพิจารณาแล้วมีมติให้ดำเนินการฟ้องเรียกทรัพย์คืนโดยฝ่ายทายาทไม่ประสงค์จะเข้าร่วม ในท้ายรายงานการประชุมดังกล่าวได้แนบบัญชีทรัพย์สินในกลุ่มที่ 3 ระบุชื่อจำเลยจำนวน 2 รายการ คือ อันดับที่ 19 ที่ดินและบ้านพิพาท และอันดับที่ 20 เงินพิพาท จึงถือได้ว่า อ. ทนายความ และ ป. ผู้รับมอบอำนาจของ บ. เป็นตัวแทนของ บ. ในฐานะผู้จัดการมรดกร่วม ได้ร่วมประชุมจัดการมรดกและมีมติให้มีการดำเนินคดีแก่ผู้ที่ถือครองทรัพย์สินซึ่งเป็นมรดกคืนสู่กองมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1723 และเกี่ยวกับคดีนี้ก็คือการร่วมรู้เห็นและยินยอมให้โจทก์ฟ้องคดีนี้ เพื่อรวบรวมทรัพย์สินของผู้ตายเข้าสู่กองมรดกนำไปแบ่งปันให้แก่ทายาทตามกฎหมาย อันถือได้ว่าเป็นการจัดการมรดกร่วมกันโดยเสียงข้างมากตามความหมายแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1726 ข้างต้นแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกที่ดินและบ้านพร้อมเงินพิพาทส่วนของผู้ตายคืนจากจำเลยได้

(หมายเหตุ 1 โจทก์ และผู้ตาย อยู่กินฉันสามีภริยาและทำมาหากินด้วยกัน

2 เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2558 ผู้ตายและโจทก์ร่วมกันซื้อที่ดินพร้อมบ้านจากบริษัท ค. ราคา 16,100,000 บาท โดยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่จำเลยซึ่งเป็นน้องร่วมบิดาเดียวกันกับผู้ตายเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทน เนื่องจากผู้ตายถือสัญชาติมาเลเซียและยังไม่ได้รับสัญชาติไทย

3 ก่อนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาท ผู้ตายโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยไว้ก่อนเป็นเงิน 20,000,000 บาท เพื่อชำระราคาที่ดินและบ้านพิพาท เมื่อถึงวันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาท จำเลยจึงถอนเงินที่ผู้ตายโอนเข้าบัญชีดังกล่าวแล้วสั่งจ่ายเป็นเช็คเงินสด 14,520,000 บาท ให้แก่บริษัท ค. เพื่อชำระราคาส่วนที่เหลือ จึงคงเหลือเงินของโจทก์และผู้ตายอยู่ที่จำเลยอีก 5,480,000 บาท

4 วันที่ 26 สิงหาคม 2561 ผู้ตายถึงแก่ความตาย

5 วันที่ 29 มกราคม 2562 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้ง บ. ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตายร่วมกับโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย

6 โจทก์ทวงถามให้จำเลยโอนที่ดินและบ้านพร้อมเงินสดพิพาทคืนให้แก่โจทก์ในฐานะเจ้าของรวมและผู้จัดการมรดกแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย

7 วันที่ 14 กันยายน 2562 โจทก์กับตัวแทนของ บ. ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายประชุมร่วมกันและมีมติให้ดำเนินการฟ้องเรียกทรัพย์มรดกของผู้ตายคืนจากจำเลย

8 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง

9 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมบ้านกลับคืนให้แก่โจทก์และกองมรดกของผู้ตายคนละกึ่งหนึ่ง

10 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การกระทำใดของผู้จัดการมรดกคนหนึ่งหรือหลายคนโดยมีผู้เห็นด้วยเป็นส่วนมากหรือได้รับความยินยอมของผู้จัดการมรดกคนอื่นแล้ว ก็ต้องถือว่าเป็นการจัดการมรดกร่วมกันโดยเสียงข้างมาก หาจำต้องให้ผู้จัดการมรดกเสียงส่วนข้างน้อยเข้าร่วมจัดการด้วยไม่

11 และศาลฎีกามีคำวินิจฉัยข้างต้น โดยพิพากษายืน)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3538.ภริยาทำหนังสือให้ความยินยอมสามีในการกู้ยืมเงิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2794/2567 เมื่อ ป.พ.พ. มาตรา 1490 (4) มิได้ให้นิยามหรือคำจำกัดความของคำว่า “สัตยาบัน” ไว้เป็นการเฉพาะ จึงต้องพิจารณาความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ซึ่งพอสรุปได้ว่า สัตยาบัน คือ การยืนยันรับรองความตกลงหรือการรับรองนิติกรรม และเป็นที่เข้าใจกันได้ว่า บุคคลจะยืนยันรับรองความตกลงหรือรับรองนิติกรรมใดได้ ย่อมต้องมีข้อตกลงหรือนิติกรรมเช่นนั้นเกิดขึ้นเสียก่อนแล้วจึงให้สัตยาบัน การให้สัตยาบันของสามีหรือภริยาแก่หนี้ที่อีกฝ่ายก่อขึ้นตามมาตรา 1490 (4) ย่อมมีลักษณะเฉกเช่นเดียวกัน กล่าวคือ ต้องมีหนี้เกิดขึ้นเสียก่อนสามีหรือภริยาถึงจะให้สัตยาบันได้ การให้ความยินยอมในขณะที่ยังไม่มีความตกลง ไม่มีนิติกรรมหรือไม่มีหนี้เกิดขึ้นย่อมไม่ต้องด้วยความหมายของการให้สัตยาบัน โจทก์ไม่อาจถือเอาหนังสือยินยอมคู่สมรสที่จำเลยที่ 7 ทำไว้ต่อโจทก์ตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2548 มาเป็นการให้สัตยาบันแก่หนี้ที่จำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดขึ้นในภายหลังเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2558 และวันที่ 3 มิถุนายน 2558 ได้ กรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490 (4)

(นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849)

 

นายกสภาทนายความ เป็นประธานในพิธีสวดพระอภิธรรมศพของคุณแม่ ประธานสภาทนายความจังหวัดอ่างทอง

เมื่อวันจันทร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 17.30 น. ที่วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร : ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ได้เดินทางไปร่วมเป็นประธานในพิธีสวดพระอภิธรรมศพของคุณแม่สายม่าน อนันตรสุชาติ ซึ่งท่านเป็นคุณแม่ของนายธีระเกียรติ อนันตรสุชาติ ประธานสภาทนายความจังหวัดอ่างทอง โดยมี นายสุนทร พยัคฆ์ เลขาธิการสภาทนายความ นายสุชาติ ชมกุล อุปนายกฝ่ายกิจการพิเศษ นายศิริศักดิ์ อมาตยกุล ประธานสภาทนายความจังหวัดนนทบุรี นายวีรยุทธ ชูสุวรรณ ประธานสภาทนายความจังหวัดสมุทรปราการ ร่วมพิธีสวดพระอภิธรรม

ขอให้ดวงวิญญาณของคุณแม่สายม่าน อนันตรสุชาติ จงสู่สุคติในสัมปรายภพตราบนิรันดร์