ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3554.โรงพยาบาลฟ้องเรียกค่ารักษาพยาบาล อายุความ 2 ปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3376/2567 ตามใบรับผู้ป่วยใน จำเลยลงลายมือชื่อในช่องข้อมูลผู้รับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลว่า ผู้รับผิดชอบแทนผู้ป่วย หมายความว่า จำเลยยินยอมรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลแทน ก. มารดาในฐานะลูกหนี้ชั้นต้นผู้รับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลแทน ก. โดยตรง มิใช่จำเลยในฐานะบุคคลภายนอกที่ยินยอมผูกพันตนเข้าชำระหนี้ค่ารักษาพยาบาลที่ ก. มารดาจำเลยค้างชำระต่อโจทก์ โจทก์เป็นสถานพยาบาลฟ้องให้จำเลยรับผิดในมูลหนี้ค่ารักษาพยาบาลที่จำเลยทำสัญญารับผิดชอบ สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (11)

(หมายเหตุ 1 ระหว่างวันที่ 21 มิถุนายน 2556 ถึงวันที่ 22 กันยายน 2556 จำเลยซึ่งเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนาง ก. พานาง ก. เข้ารับการรักษาอาการป่วยด้วยโรคลมชักที่ศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลโจทก์ โดยจำเลยลงลายมือชื่อเป็นผู้รับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลของนาง ก.

2 โจทก์ทำการรักษาพยาบาลนาง ก. หักส่วนลดตามสิทธิของผู้ป่วยคงเหลือค่ารักษาพยาบาล 1,178,852.45 บาท จำเลยร่วมกับนาง ก. ชำระค่ารักษาพยาบาล 700,000 บาท คงค้างชำระค่ารักษาพยาบาล 478,852.45 บาท

3 วันที่ 22 กันยายน 2556 จำเลยพานาง ก. ออกจากโรงพยาบาลของโจทก์ และนาง ก. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2558

4 วันที่ 28 กันยายน 2564 โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระค่ารักษาพยาบาลที่ค้างชำระ

5 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (11) ซึ่งอายุความเริ่มนับแต่วันที่อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ คือวันที่โจทก์มีใบแจ้งหนี้ถึงจำเลยให้ชำระค่ารักษาพยาบาลวันที่ 22 กันยายน 2556 เมื่อนับถึงวันฟ้องวันที่ 28 กันยายน 2564 เป็นเวลาเกินกว่า 2 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3553.ค่าสินไหมทดแทนกรณีขาดแรงงาน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5160/2566 จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในผลแห่งละเมิดของ พ. ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของตนที่ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 5 ดังนั้น โจทก์ทั้งสามมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยเป็นไปตาม ป.พ.พ. ลักษณะ 5 ละเมิด ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าวในหมวด 2 ค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดในกรณีทำให้ถึงตายนั้น ไม่ได้กำหนดให้เรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าที่ไม่ได้รับการเยียวยาจากการถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองตามที่โจทก์ทั้งสามกล่าวอ้าง โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าสินไหมทดแทนได้

ส่วนค่าขาดไร้อุปการะ นั้น เมื่อผู้ตายถูกทำละเมิดถึงแก่ความตาย โจทก์ที่ 1 จึงย่อมมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าขาดไร้อุปการะได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคสาม โดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้ตายจะมีรายได้หรือได้อุปการะเลี้ยงดูโจทก์ที่ 1 หรือไม่

ผู้มีสิทธิเรียกค่าปลงศพได้ คือ ผู้มีอำนาจจัดการศพตามที่บัญญัติไว้ในตาม ป.พ.พ. มาตรา 1649 โจทก์ที่ 1 เป็นมารดาผู้ตาย โจทก์ที่ 3 เป็นบุตรนอกกฎหมายของผู้ตายแต่ผู้ตายได้รับรองแล้วโดยให้การอุปการะเลี้ยงดูและให้ใช้นามสกุล โจทก์ที่ 1 และที่ 3 จึงเป็นทายาทผู้มีสิทธิเรียกร้องค่าปลงศพรวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคหนึ่ง แม้จำเลยทั้งสองจะมอบเงินช่วยเหลือค่าทำศพ แต่จำเลยทั้งสองระบุมาในคำให้การว่าเป็นการช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรมเท่านั้น จึงไม่ตัดสิทธิที่โจทก์ที่ 1 และที่ 3 จะเรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าปลงศพรวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ ตามกฎหมายได้

สำหรับค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าขาดแรงงาน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 445 บัญญัติว่า “ในกรณีทำให้เขาถึงตาย… ถ้าผู้ต้องเสียหายมีความผูกพันตามกฎหมายจะต้องทำการงานให้เป็นคุณแก่บุคคลภายนอกในครัวเรือน หรืออุตสาหกรรมของบุคคลภายนอกนั้นไซร้ ท่านว่าบุคคลผู้จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อที่เขาต้องขาดแรงงานอันนั้นไปด้วย” การจะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าขาดแรงงานของบุคคลภายนอกตามบทบัญญัติดังกล่าวนี้จึงต้องเป็นกรณีที่ก่อนเกิดเหตุผู้ถูกทำละเมิดมีหน้าที่ไม่ว่าโดยสัญญาหรือโดยกฎหมายต้องทำการงานให้แก่บุคคลอื่น หากไม่มีหน้าที่หรือความผูกพันตามกฎหมายหรือตามสัญญาแล้วบุคคลภายนอกย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้ ขณะผู้ตายถึงแก่ความตาย ผู้ตายบรรลุนิติภาวะแล้ว โจทก์ที่ 1 ในฐานะมารดาของผู้ตายจึงไม่มีสิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1567 (3) ที่จะให้ผู้ตายซึ่งเป็นบุตรทำการงานตามสมควรแก่ความสามารถและฐานานุรูป โจทก์ที่ 1 จึงไม่อาจเรียกร้องค่าขาดแรงงานได้ และเมื่อผู้ตายกับโจทก์ที่ 2 ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ผู้ตายกับโจทก์ที่ 2 จึงไม่ใช่สามีภริยาที่มีหน้าที่ต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคสอง ส่วนโจทก์ที่ 3 ไม่ใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายที่ผู้ตายมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูในระหว่างที่โจทก์ที่ 3 ยังเป็นผู้เยาว์ โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าขาดแรงงานในครอบครัวจากจำเลยทั้งสองได้

(หมายเหตุ 1 โจทก์ที่ 1 เป็นมารดาของผู้ตาย โจทก์ที่ 2 กับผู้ตายอยู่กินฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส มีบุตรผู้เยาว์ 3 คน ซึ่งเป็นโจทก์ที่ 3 เด็กชาย ร. และเด็กหญิง จ.

2. ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ที่ 2 เป็นภริยาผู้ตายโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส จึงเป็นภริยาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายมิใช่ทายาทของผู้ตาย โจทก์ที่ 2 จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าปลงศพรวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคหนึ่ง

3.โจทก์ที่ 1 เรียกร้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าขาดไร้อุปการะเป็นเงิน 3,000,000 บาท โดยโจทก์ที่ 1 อ้างว่า อายุประมาณ 57 ปี ไม่ได้ประกอบอาชีพจึงไม่มีรายได้ ผู้ตายเลี้ยงดูโจทก์ที่ 1 มาโดยตลอด ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สูงเกินไปสมควรกำหนดให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าขาดไร้อุปการะให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 1,000,000 บาท

4. โจทก์ที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าปลงศพรวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ 100,000 บาท โดยมีภาพถ่ายการจัดงานศพมาแสดง ไม่มีพยานเอกสารเกี่ยวกับค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ มานำสืบสนับสนุน ศาลฎีกาวินิจฉัยกำหนดให้เป็นเงิน 30,000 บาท

5.โจทก์ทั้งสามร่วมกันเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าขาดแรงงาน 1,150,000 บาท

6. ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ขณะผู้ตายถึงแก่ความตาย ผู้ตายบรรลุนิติภาวะแล้ว โจทก์ที่ 1 ในฐานะมารดาของผู้ตาย จึงไม่มีสิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1567 (3) ที่จะให้ผู้ตายซึ่งเป็นบุตรทำการงานตามสมควรแก่ความสามารถและฐานานุรูป โจทก์ที่ 1 จึงไม่อาจเรียกร้องค่าขาดแรงงานได้

– ผู้ตายกับโจทก์ที่ 2 ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ผู้ตายกับโจทก์ที่ 2 จึงไม่ใช่สามีภริยาที่มีหน้าที่ต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคสอง

– โจทก์ที่ 3 ไม่ใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายที่ผู้ตายมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูในระหว่างที่โจทก์ที่ 3 ยังเป็นผู้เยาว์ โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าขาดแรงงานในครอบครัวจากจำเลยทั้งสอง

7. โจทก์ทั้งสามฎีกาขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินค่าสินไหมทดแทนนั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสามเพียงแต่ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยไม่ได้ขอให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยในค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวมาด้วย ศาลฎีกาจึงไม่อาจกำหนดให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งสามได้)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3552.บริษัทรับประกันภัยใช้สิทธิฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้กระทำละเมิดได้อีก แม้ศาลจะมีคำพิพากษาให้ผู้กระทำละเมิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 883/2567 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.951/2562 ของศาลจังหวัดทุ่งสง พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในข้อหาขับรถในขณะเมาสุรา ขับรถโดยประมาทหรือหวาดเสียวอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจและผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ซึ่ง ต. ผู้เอาประกันภัยยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าเสียหายในการซ่อมรถยนต์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 โจทก์คดีนี้ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ของ ต. ไม่ได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าว การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 คดีนี้ จึงมิใช่เป็นเรื่องที่ศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้วคู่ความเดียวกันมารื้อฟ้องกันอีก ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำอันจะต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ทั้งมิใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144

ในคดีอาญาดังกล่าว ต. ผู้เอาประกันภัยได้ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าซ่อมรถยนต์คันเกิดเหตุ โดยอ้างส่งหลักฐานการซ่อมเป็นรายการราคาของอะไหล่แต่ละชิ้นและภาพถ่ายรถยนต์ที่ได้รับความเสียหาย ซึ่งศาลจังหวัดทุ่งสงพิจารณาหลักฐานดังกล่าวแล้ว เห็นว่า รถยนต์ย่อมเสื่อมสภาพลงเพราะการใช้งาน การคิดคำนวนราคาซ่อมไม่อาจคิดคำนวณราคาค่าอะไหล่ทุกชิ้นเป็นเกณฑ์ในการเรียกราคา ทั้งพิจารณาจากสภาพรถยนต์ที่ได้รับความเสียหาย หากทำการซ่อมก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนอะไหล่ทั้งหมด เห็นควรกำหนดค่าเสียหายให้ 400,000 บาท อันเป็นการวินิจฉัยราคาค่าซ่อมรถยนต์จากหลักฐานรายการซ่อมและสภาพความเสียหายที่ปรากฏจากภาพถ่ายรถยนต์คันเกิดเหตุ ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องและนำสืบว่า จากการตรวจสอบสภาพความเสียหายและประเมินราคาค่าซ่อมรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัย ปรากฏว่าได้รับความเสียหาย 254,463 บาท ตามเอกสารสรุปค่าอะไหล่และใบเสนอราคาความเสียหายของอู่ ซึ่งสูงเกินกว่าจำนวนเงินเอาประกันภัยที่กำหนดไว้ 200,000 บาท โจทก์จึงชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยเต็มตามจำนวนเงินเอาประกันภัย 200,000 บาท ตามความผูกพันในสัญญาประกันภัยข้อ 2.1 การชดใช้ความเสียหายต่อรถยนต์ในกรณีรถยนต์เสียหายสิ้นเชิง ค่าเสียหายที่ ต. ได้รับจากจำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาคดีอาญาของศาลจังหวัดทุ่งสง 400,000 บาท และที่ ต. ได้รับจากโจทก์ 200,000 บาท จึงเป็นค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายต่อรถยนต์เช่นเดียวกัน การที่โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ ต. ตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 ก่อนวันที่ศาลจังหวัดทุ่งสงมีคำพิพากษาในคดีอาญาให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าซ่อมรถยนต์แก่ ต. เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 สิทธิของโจทก์ในการเข้ารับช่วงสิทธิของ ต. เรียกให้จำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิดรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายต่อรถยนต์ที่เอาประกันภัย ย่อมเกิดขึ้นแล้วตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 226 วรรคหนึ่ง และมาตรา 880 วรรคหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงในคดีอาญาของศาลจังหวัดทุ่งสง ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 รู้ว่าโจทก์ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวให้แก่ ต. และเข้ารับช่วงสิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 จาก ต. ก่อนวันที่ศาลจังหวัดทุ่งสงมีคำพิพากษาในคดีอาญา ทั้งการที่จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายสำหรับความเสียหายต่อรถยนต์ให้แก่ ต. เป็นการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดทุ่งสงที่กำหนดค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายตามคำร้องขอให้บังคับผู้กระทำความผิดชดใช้ค่าเสียหายในส่วนแพ่ง ตามพฤติการณ์จึงเป็นการชำระหนี้ซึ่งได้ทำให้แก่ผู้ครองตามปรากฏแห่งสิทธิในมูลหนี้ละเมิดโดยสุจริต การชำระหนี้ดังกล่าวย่อมสมบูรณ์ตามมาตรา 316 แม้โจทก์เข้ารับช่วงสิทธิจาก ต. ก่อนจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ดังกล่าว แต่สิทธิของโจทก์มีเท่ากับสิทธิของ ต. ผู้เอาประกันภัยที่มีอยู่โดยมูลหนี้ต่อจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 226 วรรคหนึ่ง และการชำระหนี้ในมูลละเมิดสำหรับความเสียหายต่อทรัพย์สินของ ต. ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้กระทำลงนั้นสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว มูลหนี้ส่วนนี้จึงระงับไป โจทก์ไม่อาจเรียกให้จำเลยทั้งสองรับผิดในค่าเสียหายสำหรับความเสียหายต่อรถยนต์ 200,000 บาท ได้ แต่สำหรับค่าลากรถที่โจทก์ฟ้องเรียกมา 6,400 บาท นั้น เป็นค่าเสียหายคนละส่วนกับค่าเสียหายสำหรับความเสียหายต่อรถยนต์ซึ่งจำเลยที่ 1 ชดใช้ให้แก่ ต. ไปตามคำพิพากษาคดีอาญาของศาลจังหวัดทุ่งสง เมื่อโจทก์ได้ชดให้ค่าเสียหายส่วนนี้ให้แก่ ต. ไป และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ชดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้ให้แก่ ต. แล้ว โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของ ต. เรียกให้จำเลยที่ 1 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้แก่โจทก์ได้

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3551.สัญญาประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลเป็นทั้งสัญญาประกันชีวิตและสัญญาประกันภัย

คำพิพากษาฎีกาที่ 3522-3523/2567 (เล่ม 7 หน้า 1578) ข้อตกลงตามสัญญาประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลตามฟ้องที่กำหนดการใช้เงินโดยอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของ ด. ผู้เอาประกันภัย เป็นสัญญาประกันชีวิตตาม ป.พ.พ.มาตรา 889 ส่วนข้อสัญญาที่กำหนดการใช้เงินอันเนื่องจากภัยที่เป็นอุบัติเหตุเป็นสัญญาประกันภัย ตามมาตรา 861 สัญญาประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลที่ ด.ทำกับจำเลยจึงเป็นทั้งสัญญา ประกันชีวิตและสัญญาประกันภัย ที่อยู่ในบังคับมาตรา 865

การเปิดเผยข้อความจริงต่อผู้รับประกันภัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 865 ผู้เอาประกันภัยต้องกระทำโดยสุจริต โดยไม่ต้องคำนึงว่าเหตุภัยอุบัติเหตุที่เกิดกับผู้เอาประกันภัยจะมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กับข้อความจริงที่ต้องเปิดเผยตามใบคำขอ เอาประกันภัยหรือไม่ การที่ ด. ผู้เอาประกันภัยไม่เปิดเผยข้อความจริงเกี่ยวกับการเสพสารเสพติดให้โทษร้ายแรงเป็นข้อสาระสำคัญที่ทำให้สัญญาประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลตามฟ้องเป็นโมฆียะกรรม

ประเด็นข้อพิพาทที่ว่า จำเลยบอกล้างสัญญาประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลชอบหรือไม่ จำเลยเป็นฝ่ายปฏิเสธ ความรับผิดตามสัญญาประกันภัยโดยอ้างว่า ได้ใช้สิทธิบอกล้างสัญญาประกันภัยภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่จำเลยทราบมูลอันจะบอกล้างแล้ว ภาระการพิสูจน์ตกแก่จำเลยตาม ป.วิ.พ.มาตรา 84/1 ซึ่งนำมาใช้ในคดีผู้บริโภคตาม พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7

จำเลยผู้รับประกันภัยบอกล้างสัญญาประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่จำเลยทราบมูลอันจะบอกล้างโดยชอบ คู่สัญญาต้องกลับคืนสู่ฐานะการที่เป็นอยู่แต่เดิม จำเลยต้องคืนเบี้ยประกันภัยแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ในฐานะส่วนตัวและผู้จัดการมรดกของ ส. ผู้รับประโยชน์ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยเรียกเงินที่เอาประกันภัยตามสัญญาประกันภัยตามฟ้อง

(หมายเหตุ 1 ก่อนทำสัญญาประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล นาย ด. ผู้เอาประกันภัยได้ตอบคำถามในใบคำขอ ประกันภัยอุบัติเหตุว่า ไม่เคยเสพสารเสพติดให้โทษร้ายแรง ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่นาย ด. ผู้เอาประกันภัยไม่เปิดเผย ข้อความจริงเกี่ยวกับการเสพสารเสพติดให้โทษร้ายแรง เป็นข้อสาระสำคัญที่ทำให้สัญญาประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลตามฟ้องเป็นโมฆียะกรรม

2 ส่วนที่นาย ด. ตอบคำถามว่า ไม่เคยต้องคดีเกี่ยวกับยาเสพติด นั้น ได้ความว่า นาย ด. ซึ่งต้องหาคดีเสพยาเสพติดให้โทษประเภท 1 พนักงานอัยการมีหนังสือถึงผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรให้ยุติคดี เพราะผลการฟื้นฟู สมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเป็นที่น่าพอใจ

3 ศาลฎีกาจึงวินิจฉัยว่า ฟังไม่ได้ว่า นาย ด. เคยต้องโทษคดีเกี่ยวกับยาเสพติด จึงมิใช่การปกปิดข้อความจริง)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3550.การตีความลูกหนี้ซึ่งเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ตามบันทึกข้อตกลงโครงการประกันภัยผู้ค้ำประกันประเภทเงินกู้สามัญ ของสหกรณ์ออมทรัพย์

คำพิพากษาฏีกาที่ 3323/2567 (เล่ม 7 หน้า 1525) การตีความสัญญาต้องเป็นไปตามความประสงค์ในทางสุจริต โดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วย ตาม ป.พ.พ.มาตรา 368 คือต้องถือตามความเข้าใจของคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจะถือเอาเจตนาของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้ และการตีความการแสดงเจตนายังต้องเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษร ตามมาตรา 171 และเมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับความหมายของข้อความในสัญญาตามตารางกรมธรรม์ และสำเนาบันทึกข้อตกลงโครงการประกันภัยผู้ค้ำประกันประเภทเงินกู้สามัญ ศาลต้องค้นหาเจตนารมณ์ที่แท้จริงของคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจากข้อความในสัญญาทั้งฉบับ รวมทั้งพฤติการณ์ที่คู่สัญญาปฏิบัติต่อกันทั้งก่อน ขณะและหลังจากทำสัญญานั้นด้วย

โจทก์กับจำเลยมีเจตนาให้คำว่า “ลูกหนี้ซึ่งเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้” ที่มิได้มีคำนิยามไว้ตามตารางกรมธรรม์ และสำเนาบันทึกข้อตกลงโครงการประกันภัยผู้ค้ำประกันประเภทเงินกู้สามัญ หมายถึง ลูกหนี้ที่ค้างชำระต้นเงินและ/หรือดอกเบี้ยเป็นระยะเวลาติดต่อกันเกินกว่า 3 เดือน นับแต่วันที่ครบกำหนดชำระ สอดคล้องกับหลักการตีความสัญญา ในกรณีที่มีข้อสงสัย ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 11 ให้ตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่จำเลยที่เป็นคู่กรณีฝ่ายซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสีย ในมูลหนี้นั้น ไม่ชอบที่จะตีความคำว่า “ลูกหนี้ซึ่งเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้” ว่าหมายถึง ลูกหนี้ที่ค้างชำระต้นเงินและ/หรือดอกเบี้ยเป็นระยะเวลาติดต่อกันเกินกว่า 12 เดือน นับแต่วันที่ครบกำหนดชำระ เมื่อลูกหนี้ทั้ง 40 รายเป็นลูกหนี้ ที่ค้างชำระต้นเงินและ/หรือดอกเบี้ยเป็นระยะเวลาติดต่อกันเกินกว่า 3 เดือน นับแต่วันที่ครบกำหนดชำระ จึงฟังได้ว่า โจทย์มิได้ปฏิบัติตามข้อรับรองที่ระบุไว้ในตารางกรมธรรม์และสำเนาบันทึกข้อตกลงโครงการประกันภัยผู้ค้ำประกัน ประเภทเงินกู้สามัญ ที่โจทก์ขอรับรองว่าผู้กู้แต่ละรายไม่เป็นลูกหนี้ซึ่งเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของโจทก์ ณ วันที่ทำ บันทึกข้อตกลงนี้ อันเป็นผลให้จำเลยผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับลูกหนี้ 40 รายดังกล่าวแก่โจทก์

(หมายเหตุ 1 ก่อนที่โจทก์จะนำสมาชิกเข้าโครงการประกันภัยผู้ค้ำประกันประเภทเงินกู้สามัญ สมาชิกดังกล่าวเคยมีประวัติการค้างชำระต้นเงินและหรือดอกเบี้ยเป็นระยะเวลาติดต่อกันเกินกว่า 3 เดือน มาก่อนหรือขณะที่โจทก์กับจำเลยจัดทำบันทึกข้อตกลงโครงการประกันภัยผู้ค้ำประกันประเภทเงินกู้สามัญ อันเป็นผลให้จำเลยผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย)

(นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849)

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3549.ผู้เอาประกันภัยยินยอมให้คนเมาขับรถยนต์ ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดต่อบริษัทผู้รับประกันภัย

พิพากษาศาลฎีกาที่ 1953/2567 จำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองรถที่โจทก์รับประกันภัยยินยอมให้จำเลยที่ 1 ขับรถในขณะเกิดเหตุ ทั้งที่ทราบดีว่าจำเลยที่ 1 เมาสุราซึ่งจากผลการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์จำเลยที่ 1 มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดสูงถึง 102 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเกินกว่าที่กฎหมายและกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์กำหนด เมื่อจำเลยที่ 1 มีอาการมึนเมาแล้ว แต่จำเลยที่ 2 ก็ยังรู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ 1 ขับรถโดยจำเลยที่ 2 นั่งโดยสารมาในรถที่จำเลยที่ 1 ขับด้วย จำเลยที่ 2 ย่อมทราบดีว่าการขับรถในขณะเมาสุราอาจทำให้ผู้ขับขี่หย่อนสมรรถภาพในการควบคุมบังคับรถให้อยู่ในทิศทางและช่องเดินรถของตน ทั้งไม่อาจควบคุมความเร็วของรถให้ช้าลงหรือหยุดรถเมื่อจำเป็นเพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นได้ การที่จำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ขับรถดังกล่าวย่อมเล็งเห็นว่าจะเกิดอุบัติเหตุได้ กรณีถือว่าจำเลยที่ 2 ผู้ครอบครองรถไม่ใช้ความระมัดระวังให้เพียงพอในการควบคุมดูแลรถซึ่งอยู่ในความครอบครองโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของบุคคลภายนอกที่ใช้รถใช้ถนนร่วมกันด้วย จำเลยที่ 2 จึงมีส่วนประมาทก่อให้เกิดเหตุละเมิดครั้งนี้ และต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อบุคคลภายนอกด้วย นอกจากนี้การที่จำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ขับรถที่โจทก์รับประกันภัยในขณะเมาสุราเป็นการผิดเงื่อนไขและความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ข้อ 7.6 เมื่อโจทก์ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดต่อบุคคลภายนอกและได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความรับผิดที่จำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกไปแล้ว จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยจึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ชดใช้เงินค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ได้จ่ายไปนั้นคืนให้แก่โจทก์ตามที่กำหนดในข้อ 8 ข้อสัญญาพิเศษ อันเป็นเงื่อนไขการยกเว้นความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย

(หมายเหตุ 1 คดีนี้ โจทก์ไม่ได้บรรยายคำฟ้องให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นผู้มอบหมายหรือสั่งการให้จำเลยที่ 1 ขับรถไปในขณะเกิดเหตุ การที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้มอบหมายหรือสั่งการให้จำเลยที่ 1 ขับรถกระบะที่เอาประกันภัยไว้กับโจทก์ในขณะเกิดเหตุ ถือว่าจำเลยที่ 2 กระทำผิดสัญญาประกันภัยและผิดเงื่อนไขที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย เมื่อโจทก์ได้ชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกไปแล้ว จึงมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 2 ได้ตามกฎหมายและเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย จึงเป็นการอุทธรณ์ที่เกินไปกว่าหรือนอกเหนือจากสภาพแห่งข้อหาที่โจทก์ได้บรรยายไว้ในคำฟ้อง

2 แต่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่จำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ขับรถที่โจทก์รับประกันภัยในขณะเมาสุราเป็นการผิดเงื่อนไขและความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ข้อ 7.6 เมื่อโจทก์ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดต่อบุคคลภายนอกและได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความรับผิดที่จำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกไปแล้ว จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยจึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ชดใช้เงินค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ได้จ่ายไปนั้นคืนให้แก่โจทก์ตามที่กำหนดในข้อ 8 ข้อสัญญาพิเศษ อันเป็นเงื่อนไขการยกเว้นความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย

3 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 1,708,645 บาท พร้อมดอกเบี้ย นับแต่วันฟ้อง และให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2

4 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์

5 ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 1,708,645 บาท พร้อมดอกเบี้ย

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

 

จัดอบรมเพื่อพัฒนาทักษะประสิทธิภาพในการสอบสวนคดีมรรยาททนายความ

เมื่อวันเสาร์ที่ 1 มีนาคม 2568 เวลา 08.30 – 17.00 น. ที่ ศูนย์วัฒนธรรมภาคเหนือตอนล่าง วังจันทร์ ริเวอร์วิว มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม จังหวัดพิษณุโลก (ภาค6) : ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ เป็นประธานในพิธีเปิดและปาฐกถาพิเศษในโครงการอบรมสัมมนาเพื่อพัฒนาทักษะประสิทธิภาพในการสอบสวนคดีมรรยาททนายความ และขึ้นทะเบียน โดยมี นายเดชฤทธิ์ ศรีสุพรรณ์ ประธานสภาทนายความจังหวัดพิษณุโลก และนายสาโรจน์ จันทรศิริ กรรมการบริหารสภาทนายความ ภาค 6 กล่าวต้อนรับ นายไพฑูรย์ พฤฒาสัจธรรม กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการมรรยาททนายความ กล่าวรายงานและเป็นผู้ดำเนินรายการ

ยังได้รับเกียรติจาก นางสาวใจเพชร รักมิตร ประธานสภาทนายความจังหวัดแม่สอด นายรังสรรค์ ช้างกลาง ประธานสภาทนายความจังหวัดกำแพงเพชร

นายโชคชัย ม้าทอง ประธานสภาทนายความจังหวัดพิจิตร นายรุ่งธรรม สมคิด ประธานสภาทนายความจังหวัดนครสวรรค์ นายบัณฑิต ศรีวิไล ประธานสภาทนายความจังหวัดเพชรบูรณ์ นายสุทธิกาญจน์ ชมชื่น ประธานสภาทนายความจังหวัดหล่มสัก และนายปริญญา สุระทักษะ ประธานสภาทนายความจังหวัดสวรรคโลก

นอกจากนี้ ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ให้เกียรติเป็นวิทยากรบรรยายหัวข้อ “สภาพปัญหาในการพิจารณาคดีมรรยาททนายความ” นายสุชาติ ชมกุล อุปนายกฝ่ายกิจการพิเศษ บรรยายหัวข้อ “การแก้ไขข้อบังคับสภาทนายความ ว่าด้วยการพิจารณาคดีมรรยาททนายความ พ.ศ.2546” นายคณิต วัลยะเพ็ชร์ ประธานกรรมการมรรยาททนายความ บรรยายหัวข้อ “ข้อบังคับสภาทนายความ ว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ.2529”

ต่อมาเวลา 13.00 น. นายมะโน ทองปาน รองประธานกรรมการมรรยาททนายความ บรรยายหัวข้อ “ทนายความกับสื่อสาธารณะ” นายคณิต วัลยะเพ็ชร์ ประธานกรรมการมรรยาททนายความ และนายไพฑูรย์ พฤฒาสัจธรรม กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการมรรยาททนายความ ร่วมบรรยายหัวข้อ “การพิจารณาคดีมรรยาททนายความ ข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยการพิจารณาคดีมรรยาททนายความ พ.ศ.2546” “การพัฒนาทักษะและประสิทธิภาพในการสอบสวนคดีมรรยาททนายความ” และ “การทำความเห็นคดีมรรยาททนายความ”

ซึ่งมี คณะกรรมการบริหารสภาทนายความ คณะกรรมการสอบสวนคดีมรรยาททนายความ ทนายความในจังหวัดพิษณุโลกและทนายความในภาค 6 เข้าร่วมอบรม เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นกรรมการสอบสวนมรรยาททนายความ ในครั้งนี้เป็นจำนวนมาก

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3548.ฟ้องให้บริษัทออกใบหุ้นได้ แม้ว่าบริษัทไม่ได้มีข้อตกลงตามบันทึกข้อตกลงในคดีอาญาเกี่ยวกับการโอนหุ้นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2017/2567 โจทก์ฟ้องบังคับตามบันทึกข้อตกลงโดยมีคำขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันส่งมอบหุ้น 1,260 หุ้น คืนแก่โจทก์ กับให้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น จัดทำและยื่นบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ดังนั้น การที่จะบังคับตามคำขอของโจทก์ดังกล่าวจึงต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของบริษัทจำเลยที่ 4 และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย โดย ป.พ.พ. มาตรา 1134 บัญญัติให้บริษัทออกใบหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นเมื่อมีข้อบังคับของบริษัทอนุญาตไว้ มาตรา 1138 บัญญัติให้บริษัทจำกัดต้องมีสมุดจดทะเบียนผู้ถือหุ้นมีรายการตามที่กำหนด และมาตรา 1139 วรรคสอง บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของกรรมการที่จะส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ที่ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ทั้งหมดในเวลาที่ประชุม และรายชื่อผู้ที่ขาดจากเป็นผู้ถือหุ้นนับแต่วันประชุมสามัญครั้งที่แล้วไปยังนายทะเบียนอย่างน้อยปีละครั้ง จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวจึงเป็นหน้าที่ของบริษัทจำเลยที่ 4 หรือกรรมการของจำเลยที่ 4 ซึ่งกระทำการในนามบริษัทจำเลยที่ 4 ที่จะต้องออกใบหุ้น และดำเนินการเปลี่ยนแปลงบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นให้แก่โจทก์เพื่อให้การโอนหุ้นตามบันทึกข้อตกลงมีผลสมบูรณ์ ดังนี้ แม้จำเลยที่ 4 มิได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ทำบันทึกข้อตกลงในคดีอาญา โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องบริษัทจำเลยที่ 4 ให้ร่วมดำเนินการตามคำขอของโจทก์ในส่วนนี้ได้

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849