รวมคำพิพากษาศาลฎีกา » ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

12 มีนาคม 2025
1479   0

Lawyer Council Online Share

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3559.ผู้ให้เช่าซื้อผ่อนปรนการชำระค่าเช่าซื้อเนื่องจากโควิด 19 ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2527/2567 การที่โจทก์มีหนังสือไปยังจำเลยที่ 1 ว่าโจทก์ผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ตามที่กำหนดในสัญญาเช่าซื้อรวม 6 งวด ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 บอกปัดไม่ประสงค์รับการผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ตามเงื่อนไขของโจทก์ เมื่อการพักชำระหนี้ค่าเช่าซื้อ 6 งวด ดังกล่าวเป็นผลให้กำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้องวดสุดท้ายที่กำหนดไว้เลื่อนออกไปจากเดิม พฤติการณ์ถือว่าเป็นกรณีที่โจทก์ยอมผ่อนเวลาให้แก่จำเลยที่ 1 ส่วนหนังสือธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ ธปท.ฝนส.(01) ว.380/2563 เรื่องมาตรการการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติมในช่วงสถานการณ์การระบาดของ COVID -19 ข้อ 2 (3) ระบุว่า ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ตามมาตรการที่ ธปท. กำหนดนี้เป็นเพียงมาตรการผ่อนปรนเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ระยะเร่งด่วน ซึ่งไม่จำเป็นต้องขยายระยะเวลาการชำระหนี้เสร็จสิ้นตามสัญญา อันเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบธุรกิจพึงกระทำได้ แต่หากมีการขยายระยะเวลาการชำระหนี้เสร็จสิ้นตามสัญญาออกไป ขอให้ถือปฏิบัติตาม ป.พ.พ. ที่เกี่ยวข้องกับหลักประกันและผู้ค้ำประกัน ข้อ 2 (3) นี้มีความชัดเจนอยู่ในตัวว่า หากจะขยายระยะเวลาการชำระหนี้เสร็จสิ้นตามมาตรการที่กำหนดนี้ อย่างไรเสียก็จะต้องดำเนินการภายใต้บังคับ ป.พ.พ. ลักษณะ 11 ค้ำประกัน และ พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน 2563 ภายหลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาตรการการให้ความช่วยเหลือและโจทก์มีหนังสือพักชำระหนี้แล้ว จึงฟังไม่ได้ว่าที่โจทก์พักชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นการดำเนินการตามพระราชกำหนดฉบับดังกล่าว พระราชกำหนดฉบับดังกล่าวมีเจตนารมณ์ในการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจซึ่งเป็นภาคธุรกิจที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศและเป็นแหล่งจ้างงานที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจ คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏเพียงว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันเท่านั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 อยู่ในฐานะเป็นผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมตามความหมายที่กำหนดในพระราชกำหนดแต่อย่างใด กรณีจึงไม่อาจนำบทบัญญัติแห่งพระราชกำหนดฉบับดังกล่าวมาใช้บังคับแก่ลูกหนี้รายจำเลยที่ 1 ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันตกลงด้วยในการผ่อนเวลาให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 700 วรรคหนึ่ง

โจทก์อุทธรณ์และฎีกาเฉพาะแต่ในปัญหาเรื่องความรับผิดของจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกัน คดีในชั้นอุทธรณ์และฎีกาจึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาล 200 บาทและไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาลอนาคต แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลมาตามทุนทรัพย์และค่าขึ้นศาลอนาคตมาด้วย จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาส่วนที่เกิน 200 บาท ให้แก่โจทก์

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849