รวมคำพิพากษาศาลฎีกา » ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

6 กุมภาพันธ์ 2025
1972   0

Lawyer Council Online Share

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3526.ผู้ซื้อบริการทางเพศผู้เยาว์มีความผิดฐานพรากผู้เยาว์ และไม่มีกฎหมายรับรองให้พนักงานอัยการเรียกค่าสินไหมทดแทนมารดาซึ่งเป็นผู้เสียหายในกรณีนี้ได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 2429/2567(เล่ม 4 หน้า 861) ผู้เสียหายที่ 1 อายุ 13 ปีเศษ หลบหนีออกจากบ้านและมาพักอาศัยอยู่กับ ร. โดยสมัครใจ ไม่ทำให้อำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 มารดาสิ้นสุดไป ทั้งในระหว่างนั้น ผู้เสียหายที่ 2 ก็พยายามโทรศัพท์ติดต่อผู้เสียหายที่ 1 แต่ติดต่อไม่ได้เพราะผู้เสียหายที่ 2 เปลี่ยนซิมการ์ด แสดงว่าผู้เสียหายที่ 2 ยังคงห่วงใยเอาใจใส่ผู้เสียหายที่ 1 การที่ผู้เสียหายที่ 1 ถูกชักชวนให้ไปค้าประเวณี จึงเป็นการพรากผู้เสียหายที่ 1 อายุไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้เสียหายที่ 2 มารดา การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานร่วมกันโดยทุจริตรับตัวผู้เสียหายที่ 1 อายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งถูกพรากจากมารดาเพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม

สิทธิในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเป็นสิทธิของผู้ร้องซึ่งเป็นมารดาที่ได้รับความเสียหายในมูลหนี้ละเมิดอันเกิดจากการกระทำความผิดอาญาตาม ป.อ.มาตรา 317 วรรคสาม ที่ให้ยื่นคำร้องขอค่าสินไหมทดแทนเข้ามาในคดีอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ซึ่งเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ร้องซึ่งเป็นผู้เสียหายเท่านั้น ไม่มีบทกฎหมายใดให้อำนาจพนักงานอัยการโจทก์เรียกค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวแทนผู้ร้อง เมื่อผู้ร้องไม่ฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 โจทก์ไม่อาจฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ในคดีส่วนแพ่งแทนผู้ร้องได้

(หมายเหตุ ความผิดฐานพรากเด็กหรือผู้เยาว์ไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล ถูกบัญญัติขึ้นเพื่อคุ้มครองอำนาจปกครองหรือสิทธิในการให้การศึกษา อบรม ดูแลของบิดามารดา ผู้ปกครอง ผู้ดูแล ซึ่งเป็นผู้ที่กฎหมายกำหนดให้เป็นบุคคลที่มีอำนาจ มีสิทธิ หน้าที่และความรับผิดชอบในการดูแลเด็กหรือผู้เยาว์ที่อยู่ในความปกครองดูแล เพื่อให้บุคคลเหล่านี้สามารถใช้สิทธิให้การศึกษาอบรมและดูแลเด็กได้อย่างเต็มที่ เพื่อให้เด็กหรือผู้เยาว์เจริญเติบโตทั้งด้านร่างกาย จิตใจ มีวุฒิภาวะเพียงพอที่จะดูแลตนเองได้ ซึ่งเป็นสิทธิที่เด็กหรือผู้เยาว์มีติดตัวมาตั้งแต่เกิดภายใต้หลักการตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ประเทศไทยในฐานะสมาชิกของอนุสัญญาต้องดำเนินการที่เหมาะสมทั้งด้านนิติบัญญัติ ด้านบริหารและด้านกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้เด็กได้รับการปกป้องคุ้มครองและให้เกิดการปฏิบัติตามสิทธิตามมาตรฐานของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ในด้านนิติบัญญัติ มีการรับรองสิทธิเด็กไว้ตั้งแต่กฎหมายสูงสุด รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 แม้มิได้บัญญัติรับรองสิทธิและหน้าที่ของบิดามารดาหรือผู้ปกครองตามกฎหมายที่มีต่อเด็กหรือเยาวชนโดยตรง แต่ก็ได้บัญญัติรับรองและคุ้มครองสิทธิในครอบครัวไว้ในมาตรา 32 โดยสิทธิในครอบครัว หมายถึง สิทธิในความสัมพันธ์และความเป็นอยู่ของบุคคลในครอบครัวในอันที่จะอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกันระหว่างสมาชิกในครอบครัวรวมถึงสิทธิและหน้าที่ในการเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ก็ย่อมได้รับความคุ้มครองด้วย นอกจากนี้รัฐธรรมนูญยังมีบทบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเด็กและผู้เยาว์ มาตรา 54 ที่รัฐรับรองสิทธิในด้านการศึกษาให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลา 12 ปีตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายและ มาตรา 71 บัญญัติให้รัฐได้ให้ความคุ้มครองเด็กในด้านต่างๆ รวมถึงการคุ้มครองจากการใช้ความรุนแรงและการปฏิบัติอันไม่เป็นธรรม นอกจากนี้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ยังได้กำหนดบุคคลผู้แสดงออกถึงอำนาจปกครองเด็กและผู้เยาว์ไว้ในบรรพ 5 โดยกำหนดผู้แสดงออกถึงอำนาจปกครองคือผู้แทนโดยชอบธรรมซึ่งแบ่งออกเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองกับผู้ปกครอง ป.พ.พ. มาตรา 1566 กำหนดให้ “บุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดามารดา” ดังนั้นบิดามารดาจึงเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง อำนาจปกครองของบิดามารดาเป็นอำนาจที่ผูกติดกับสถานะความเป็นบิดามารดาในความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างบิดามารดาและบุตร ซึ่งมาตรา 1567 กำหนดให้ผู้ใช้อำนาจปกครองมีสิทธิกำหนดที่อยู่ของบุตรและเรียกบุตรคืนจากบุคคลอื่นซึ่งกักบุตรไว้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งอำนาจในการกำหนดที่อยู่ย่อมก่อให้เกิดสิทธิในการระงับยับยั้งมิให้บุตรไปที่แห่งใด การที่บุคคลอื่นกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนอำนาจปกครองของบิดามารดาจะต้องรับผิดฐานละเมิดในทางแพ่งและฐานพรากผู้เยาว์ในทางอาญาด้วย)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849