รวมคำพิพากษาศาลฎีกา » ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

19 มกราคม 2025
2533   0

Lawyer Council Online Share

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3508.ผู้จัดการมรดกโอนทรัพย์มรดกมาเป็นของตนเอง ไม่เป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4887/2566 เมื่อผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ใด จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นของตนเองในฐานะทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกด้วย เป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่โดยทั่วไปของผู้จัดการมรดก ไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากทายาทและการกระทำเช่นนี้ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 และ 1722 จำเลยที่ 1 จึงมีอำนาจที่จะกระทำได้ ไม่ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 150 จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธินำที่ดินทั้ง 7 แปลงไปจดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 2 เมื่อ ช. ซึ่งเป็นเจ้ามรดกถึงแก่ความตายโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ ทรัพย์มรดกย่อมตกแก่ทายาทโดยธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1620 และ 1629 ซึ่งทายาทโดยธรรมของ ช. คือโจทก์ทั้งห้าและจำเลยที่ 1 โจทก์ทั้งห้าย่อมมีสิทธิฟ้องขอแบ่งมรดกในส่วนของตนได้

แม้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายเป็นของตนเองและนำไปจดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 2 โดยไม่นำที่ดินไปแบ่งให้แก่ทายาทโดยธรรมคนอื่นตามสิทธินั้น เป็นการโอนไปหรือจัดการมรดกโดยไม่ชอบ ทำให้โจทก์ทั้งห้าผู้เป็นทายาทและมีสิทธิได้รับมรดกที่ดินพิพาทอยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทได้อยู่ก่อนแล้วเสียเปรียบก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นธนาคาร และทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 รับจำนองโดยมีพฤติการณ์ไม่สุจริต ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้รับจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ย่อมไม่ทำให้จำนองเสียไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300

(หมายเหตุ 1 โจทก์ทั้งห้าและจำเลยที่ 1 เป็นทายาทโดยธรรมของนาย ช. ซึ่งถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2522 นาย ช. มีทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งปันให้แก่โจทก์ทั้งห้าและจำเลยที่ 1 คือที่ดินจำนวน 3 แปลง

2 วันที่ 4 กรกฎาคม 2548 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนาย ช.

3 ระหว่างวันที่ 7 และ 8 กรกฎาคม 2548 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินทรัพย์มรดกดังกล่าวมาเป็นของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนาย ช. และในวันเดียวกันจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินทั้งหมดมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัว

4 วันที่ 22 กรกฎาคม 2557 จำเลยที่ 1 นำที่ดินทั้งหมดไปจดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 2 เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ของนาย ว. และนาง น.

5 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนาย ช. ผู้โอน กับจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวผู้รับโอน ยกฟ้องจำเลยที่ 2

6 ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินทั้งหมด ระหว่างจำเลยทั้งสอง เฉพาะส่วนที่เป็นของโจทก์ทั้งห้าจำนวน 5 ใน 6 ส่วน ของที่ดินแต่ละแปลง

7 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นของตนเองในฐานะทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกด้วย เป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่โดยทั่วไปของผู้จัดการมรดก ไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากทายาทและการกระทำเช่นนี้ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 และมาตรา 1722

8 และมีคำวินิจฉัยข้างต้น โดยพิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินทั้งหมดระหว่างจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนาย ช. ผู้โอน กับจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวผู้รับโอน และให้จำเลยที่ 1 แบ่งทรัพย์มรดกให้โจทก์ทั้งห้าคนละ 1 ใน 6 ส่วน ของที่ดินแต่ละแปลง และยกฟ้องโจทก์ทั้งห้าสำหรับจำเลยที่ 2

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849