ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …
3507.ผู้จัดการมรดกหลายคน คนใดคนหนึ่งถึงแก่ความตาย ผู้จัดการมรดกที่เหลือจัดการมรดกต่อไปไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4769/2566 เมื่อผู้คัดค้านที่ 5 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกคนหนึ่งของเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ทำให้ผู้จัดการมรดกที่เหลืออยู่ 6 คน ไม่อาจจัดการมรดกต่อไปได้โดยที่ศาลยังไม่ได้มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้จัดการมรดกที่เหลืออยู่ทั้ง 6 คน เป็นผู้จัดการมรดก เพราะจะเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งศาลที่ให้ผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งหกร่วมกันจัดการมรดกของผู้ตาย ทั้งกรณีไม่อาจนำ ป.พ.พ. มาตรา 1715 วรรคสอง ที่กำหนดให้ผู้จัดการมรดกที่เหลืออยู่จัดการมรดกต่อไปได้ แต่ไม่อาจจัดการมรดกโดยลำพังมาใช้บังคับกับกรณีการตั้งผู้จัดการมรดกในคดีนี้ได้ เพราะคดีนี้ไม่ใช่การตั้งผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม การที่ผู้จัดการมรดกคนหนึ่งถึงแก่ความตายย่อมทำให้อำนาจในการจัดการมรดกของผู้จัดการมรดกที่ถึงแก่ความตายสิ้นสุดลง โดยไม่จำต้องมีคำสั่งถอนผู้จัดการมรดกที่ถึงแก่ความตายออกจากการเป็นผู้จัดการมรดก แต่จะต้องมีคำสั่งเกี่ยวกับอำนาจในการจัดการมรดกของผู้จัดการมรดกที่เหลืออยู่ต่อไป
การที่ผู้คัดค้านที่ 5 ถึงแก่ความตาย ทำให้คงเหลือผู้จัดการมรดกที่มีอำนาจในการจัดการมรดกเพียง 6 คน ซึ่งมิอาจหาเสียงชี้ขาดได้หากเกิดกรณีที่มีความเห็นแบ่งเป็นสองฝ่าย และแต่ละฝ่ายมีคะแนนเสียงเท่ากัน ดังนั้น จึงต้องใช้กระบวนการทางกฎหมายตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1726 โดยจะต้องให้ผู้มีส่วนได้เสียร้องขอต่อศาลให้เป็นผู้ชี้ขาดต่อไป ทั้งเมื่อบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1713 วรรคสอง กำหนดให้การตั้งผู้จัดการมรดกในกรณีที่ไม่มีข้อกำหนดพินัยกรรม ให้ศาลตั้งเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามพฤติการณ์และโดยคำนึงถึงเจตนาของเจ้ามรดกแล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร ซึ่งกรณีที่มีผู้จัดการมรดกหลายคนการทำหน้าที่ผู้จัดการมรดกต้องถือตามเสียงข้างมากตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1726 เมื่อคำนึงถึงเหตุขัดข้องในการจัดการมรดก การตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายด้วยย่อมทำให้การจัดการมรดกมีเสียงข้างมากซึ่งน่าจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อกองมรดกของผู้ตาย
(หมายเหตุ 1 เดิม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งหกร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของนาย ช. ผู้ตาย 2 ต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ถอนผู้คัดค้านที่ 5 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกเนื่องจากผู้คัดค้านที่ 5 ถึงแก่ความตาย และขอให้ผู้จัดการมรดกที่เหลือจัดการมรดกต่อไป
3 นาย บ. ทายาทของผู้คัดค้านที่ 5 ยื่นคำคัดค้านคำร้องขอถอนผู้คัดค้านที่ 5 จากการเป็นผู้จัดการมรดกร่วมของผู้ตาย และขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกับผู้จัดการมรดกที่เหลือ
4 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในรายงานกระบวนพิจารณาว่า เมื่อผู้คัดค้านที่ 5 ถึงแก่ความตายจึงไม่อาจทำหน้าที่ผู้จัดการมรดกได้ กรณีเป็นเหตุที่สมควรตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 จึงให้ถอนผู้คัดค้านที่ 5 จากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ในส่วนคำร้องของนาย บ. ผู้คัดค้านขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้จัดการมรดกที่เหลือ ไม่ได้ความว่ามีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดก จึงให้ยกคำร้องขอ
5 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
6 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในการยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก ผู้ร้องต้องเป็นบุคคลตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1713 และจะต้องไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1718 เมื่อผู้คัดค้านที่ 5 ซึ่งเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายและถึงแก่ความตายแล้ว ผู้คัดค้านซึ่งเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้คัดค้านที่ 5 จึงเป็นผู้เข้ารับมรดกแทนที่ผู้คัดค้านที่ 5 และอยู่ในฐานะเป็นผู้สืบสันดานอันถือเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายตาม ป.พ.พ.มาตรา 1629 (1) ผู้คัดค้านจึงเป็นทายาทผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอจัดการมรดกของผู้ตายตามความแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1713
และมีคำวินิจฉัยข้างต้น โดยพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของนาย ช. ผู้ตายร่วมกับผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ตาม ป.พ.พ. 1713
นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849