ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …
3445.พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจสอบสวนในคดีที่สมาชิกฟ้องกรรมการกลุ่มสัจจะออมทรัพย์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 404/2565 (เล่ม 12 หน้า 13) กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ว. มีวัตถุประสงค์ให้สมาชิกออมเงิน แล้วนำเงินฝากของสมาชิกไปให้สมาชิกกู้ยืมโดยคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2 บาทต่อเดือน แล้วนำดอกเบี้ยมาจ่ายเป็น สวัสดิการให้แก่สมาชิก ดอกเบี้ยดังกล่าวคิดเป็นร้อยละ 24 บาทต่อปี เกินกว่าร้อยละ 15 บาทต่อปี ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 654 และ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3 ในขณะนั้น และ พ.ร.บ. ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 ที่ใช้บังคับภายหลัง ดังนี้ วัตถุประสงค์ในการดำเนินการกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ว. จึงต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 สมาชิกทุกรายที่เข้าร่วมฝากเงินและกู้ยืม รวมทั้งชำระดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวหรือเมื่อผิดนัดยินยอมให้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ด้วยการนำต้นเงินและดอกเบี้ยค้างชำระที่ฝ่าฝืนกฎหมายรวมเข้ากันแล้วคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนต่อไป ซึ่งเกินกว่า ระเบียบข้อบังคับกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ว. ฉบับปรับปรุง 2549 ข้อ 23 รวมถึงการส่งมอบเงินฝาก รับเงินกู้ยืม เงินกำไร หรือปันผล ดอกเบี้ยของสมาชิกในทุกขั้นตอนตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวเป็นการร่วมกันกระทำการอันต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ทั้งขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนซ้ำซ้อน โจทก์ร่วมและผู้เสียหายซึ่งเป็นสมาชิก จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 20 ไม่มีสิทธิร้องทุกข์ในความผิดฐานร่วมกันยักยอกทรัพย์ดังกล่าวซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัวอันยอมความได้ ตาม ป.อ. มาตรา 356 พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจสอบสวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคสอง และพนักงานอัยการโจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225 ซึ่งศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง
(หมายเหตุ 1 กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ว. มีสมาชิก 1,897 คน มีจำเลยทั้งสิบสี่คนเป็นกรรมการ
2 ต่อมา ส.กับพวกลาออกจากสมาชิกกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ว. แต่ไม่ได้รับเงินฝากคืนจากจำเลยทั้งสิบสี่ ต่อมา ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2557 ส.ในฐานะส่วนตัวและผู้รับมอบอำนาจจากสมาชิกกลุ่มไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสิบสี่ ในข้อหาร่วมกันยักยอกทรัพย์
3 พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยทั้งสิบสี่ว่า เป็นผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่น กระทำผิดหน้าที่ของตนด้วยประการใดๆ โดยทุจริตจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของผู้นั้น
4 พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสิบสี่ตาม ป.อ. มาตรา 352 ,353 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง
5 ศาลฎีกาพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
6 ก่อนคดีนี้ โจทก์ร่วมเคยเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสิบสี่ให้ร่วมกันชำระ เงินฝากคืนพร้อมดอกเบี้ยต่อศาลชั้นต้น
7 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ และจำเลยทั้งสิบห้าไปว่ากล่าวกันต่อไปตามสิทธิ หลังจากได้มีการชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนแล้วตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 135/2559
8 ต่อมา โจทก์ร่วมกับพวกฟ้องจำเลยทั้งสิบสี่ และมีคำขอให้ศาลพิพากษาให้เลิกห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ว. คู่ความได้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลมีคำพิพากษาตามยอม มีการชำระบัญชีของกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ว. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงมาฟ้องเป็นคดีนี้)
นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849