ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …
3427.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4213/2566 พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 4 ให้คำจำกัดความของคำว่า “หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า “กระทรวง ทบวง กรม หรือ … และรัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา และ…” โจทก์จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2545 โดยมาตรา 5 บัญญัติว่า ให้จัดตั้งธนาคารขึ้นเรียกว่า “ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย” และให้ธนาคารเป็นนิติบุคคล และมาตรา 7 กำหนดทุนเรือนหุ้นของธนาคารไว้หนึ่งพันล้านบาท โดยให้ธนาคารขายหุ้นให้แก่กระทรวงการคลัง หรือบุคคลอื่น โดยให้กระทรวงการคลังซื้อหุ้นของธนาคารได้ตามจำนวนที่เห็นสมควร แต่จะต้องไม่เกินร้อยละสี่สิบเก้าของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด เห็นได้ว่า พ.ร.บ.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2545 มีจุดมุ่งหมายให้โจทก์เป็นนิติบุคคล แต่ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายให้โจทก์มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจเพราะกระทรวงการคลังซื้อหุ้นของโจทก์ได้ไม่เกินร้อยละ 49 แม้ต่อมากระทรวงการคลัง ธนาคาร ม. และธนาคาร ก. เข้าถือหุ้นของโจทก์รวมกันเกินกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดหรืออีกนัยหนึ่งโจทก์มีส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจมีทุนรวมอยู่ด้วยเกินร้อยละห้าสิบ ซึ่งส่งผลทำให้โจทก์มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจตามคำจำกัดความของคำว่า รัฐวิสาหกิจ ตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 แต่ความเป็นรัฐวิสาหกิจของโจทก์มิได้เป็นมาตั้งแต่วาระแรกที่ พ.ร.บ.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2545 ใช้บังคับ โจทก์เพิ่งเปลี่ยนสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจในภายหลังเพราะมีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนผู้ถือหุ้น โจทก์จึงไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติ จึงไม่ใช่หน่วยงานของรัฐตามความหมายของมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า การที่ลูกค้ารายบริษัท ด. ทำคำขอสินเชื่อสำหรับใช้ในโครงการวงเงิน 650,000,000 บาท ต่อคณะกรรมการบริหารของโจทก์ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ซึ่งมีหน้าที่ร่วมกันจัดทำเอกสารและเสนอข้อมูลเพื่อขออนุมัติสินเชื่อตามระเบียบปฏิบัติงานด้านสินเชื่อของโจทก์ ไม่ให้ความสำคัญต่อประเด็นที่ฝ่ายโครงการสินเชื่อแจ้งความเสี่ยงว่าที่ตั้งโครงการอยู่ในเขตที่กำหนดให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินประเภทอนุรักษ์ป่าไม้และใบอนุญาตก่อสร้างอยู่ระหว่างดำเนินการ ยังไม่แน่ชัดว่าลูกค้าจะได้รับใบอนุญาตก่อสร้างหรือไม่ และเร่งรีบเสนอขออนุมัติคณะกรรมการบริหารให้อนุมัติและเบิกใช้สินเชื่อค่าที่ดิน 430,000,000 บาท ให้ลูกค้าไปก่อน และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ยังยินยอมให้ลูกค้าเบิกถอนสินเชื่อเพื่อการก่อสร้างและสาธารณูปโภคอีก 16,695,947.66 บาท ทั้งที่ยังไม่มีข้อยุติเรื่องการได้รับใบอนุญาตก่อสร้าง เป็นการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนและระเบียบปฏิบัติของโจทก์และประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง และผิดสัญญาจ้าง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ซึ่งเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ให้ชดใช้ค่าเสียหายอันเนื่องมาจากทั้งมูลผิดสัญญาจ้างแรงงานและมูลละเมิด โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง
กรณีโจทก์โอนสินทรัพย์ของลูกค้ารายบริษัท ด. ให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ธนาคาร อ. ก่อนฟ้องคดีนี้แล้ว แม้โจทก์ขายสินทรัพย์ซึ่งรวมถึงสิทธิเรียกร้องของลูกค้ารายดังกล่าวไปก่อนฟ้องคดีนี้ก็ส่งผลทำให้โจทก์สิ้นสิทธิเรียกร้องจากลูกค้ารายดังกล่าวตามมูลหนี้ผิดสัญญาให้สินเชื่อเท่านั้น แต่โจทก์ยังคงได้รับความเสียหายจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานและละเมิดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 อยู่ แม้โจทก์มีคำขอบังคับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ชำระค่าเสียหายเท่ากับจำนวนหนี้สินเชื่อของลูกค้าหักออกด้วยจำนวนเงินที่โจทก์ขายสินทรัพย์ของลูกค้านั้นก็เป็นเรื่องการคำนวณค่าเสียหายของโจทก์ ซึ่งต้องพิจารณาในประเด็นว่าโจทก์ได้รับความเสียหายหรือไม่เพียงใด ส่วนภายหลังบริษัทบริหารสินทรัพย์ธนาคาร อ. จะได้รับชำระหนี้จากลูกค้ารายดังกล่าวหรือไม่นั้นเป็นเรื่องระหว่างบริษัทกับลูกค้ารายดังกล่าว เมื่อโจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องได้ตามสัญญาจ้างแรงงานและมูลละเมิด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5
(หมายเหตุ 1 คดีนี้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่า คำฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐฟ้องจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตามความหมายของมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 10 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 8
2 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐวิสาหกิจของโจทก์มิได้เป็นมาตั้งแต่วาระแรกที่พระราชบัญญัติธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2545 ใช้บังคับ โจทก์เพิ่งเปลี่ยนสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจในภายหลังเพราะมีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนผู้ถือหุ้น โจทก์จึงไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติ จึงไม่ใช่หน่วยงานของรัฐตามความหมายของมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539)
นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849