รวมคำพิพากษาศาลฎีกา » ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

30 กันยายน 2024
4503   0

Lawyer Council Online Share

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3398.ร้องขอเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่อาคารชุด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4469/2566 ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้เข้าร่วมประชุมนิติบุคคลอาคารชุด ส. จัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2559 และวันที่ 14 พฤษภาคม 2559 โดยเจ้าของร่วมจำนวนมากที่มอบฉันทะให้ผู้อื่นเข้าร่วมประชุมออกเสียงลงคะแนนแทนโดยใบมอบฉันทะมิได้ปิดอากรแสตมป์ ผู้รับมอบฉันทะจึงไม่มีสิทธิเข้าร่วมประชุมและออกเสียงแทนได้ นอกจากนี้ลายมือชื่อเจ้าของร่วมที่เข้าร่วมประชุมทั้งสองครั้งตามบัญชีรายชื่อนั้นไม่ปรากฏรายละเอียดว่าเกี่ยวข้องกับการประชุมอย่างไรจึงไม่สามารถใช้จดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินได้ การประชุมและการลงคะแนนตามมติที่ประชุมจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย รายงานการประชุมใหญ่เป็นเท็จ ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการประชุมใหญ่ทั้งสองครั้งและให้เพิกถอนรายงานการประชุมทั้งสองฉบับ ตามคำร้องดังกล่าวเท่ากับผู้ร้องกล่าวอ้างว่าการประชุมใหญ่สามัญดังกล่าวมีผู้มาประชุมซึ่งมีเสียงลงคะแนนรวมกันน้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนเสียงลงคะแนนทั้งหมดตามพ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 43 แต่พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 ไม่มีบทบัญญัติถึงการดำเนินการเกี่ยวกับการประชุมที่ฝ่าฝืนนั้นแต่อย่างใด จึงต้องวินิจฉัยอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 ซึ่งตามคำร้องของผู้ร้องเป็นการกล่าวอ้างว่า การลงมติของคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดมีเจ้าของร่วมร่วมประชุมไม่ครบองค์ประชุมไม่มีลักษณะเป็นการประชุมกันจริง เช่นนี้ การประชุมดังกล่าวถือไม่ได้ว่าเป็นการประชุมใหญ่สามัญของเจ้าของร่วมซึ่งเป็นเจ้าของห้องชุดในวันที่ 30 เมษายน 2559 และวันที่ 14 พฤษภาคม 2559 แต่ต้องถือว่าการประชุมใหญ่สามัญของนิติบุคคลอาคารชุดมิได้เกิดขึ้นจริงและไม่มีการประชุมกันจริง คงมีเพียงการลงมติซึ่งนำไปใช้อ้างต่อนายทะเบียนเพื่อใช้ในการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงอันเป็นการมิชอบด้วยกฎหมาย การที่ผู้ร้องขอให้เพิกถอนมติดังกล่าวจึงมิใช่การร้องขอให้เพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่ที่ผิดระเบียบตาม ป.พ.พ. มาตรา 1195 ที่ต้องขอให้เพิกถอนภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันลงมติ เมื่อวินิจฉัยว่ากรณีไม่ใช่เป็นการยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมตามมาตรา 1195 การที่บุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาลโดยยื่นคำร้องขอฝ่ายเดียวเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 และมาตรา 188 (1) จะต้องมีกฎหมายบัญญัติรับรองให้ใช้สิทธิทางศาลโดยยื่นคำร้องขอในกรณีนั้น ๆ ได้ แต่กรณีตามคำร้องของผู้ร้องไม่มีกฎหมายใดสนับสนุนรับรองให้ผู้ร้องกระทำเช่นนั้นได้ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องเป็นคดีนี้ หากผู้ร้องถูกโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ประการใด ผู้ร้องชอบที่จะเสนอคดีต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอำนาจได้โดยเป็นโจทก์ยื่นฟ้องอย่างคดีมีข้อพิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7

(หมายเหตุ 1 คดีนี้ ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการประชุมใหญ่สามัญเจ้าของร่วมทั้งสองครั้งดังกล่าวและให้เพิกถอนรายงานการประชุมทั้งสองฉบับ

2 ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า ผู้ร้องไม่ได้ยื่นคำขอให้เพิกถอนภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันลงมติ พิพากษายกฟ้อง

3 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่ผู้ร้องขอให้เพิกถอนมติดังกล่าวจึงมิใช่การร้องขอให้เพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่ที่ผิดระเบียบตาม ป.พ.พ. มาตรา 1195 ที่ต้องขอให้เพิกถอนภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันลงมติดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย แต่เป็นกรณีที่ผู้ร้องเป็นกล่าวอ้างว่า การลงมติของคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดมีเจ้าของร่วมร่วมประชุมไม่ครบองค์ประชุม ไม่มีลักษณะเป็นการประชุมกันจริง

6 ศาลฎีกาวินิจฉัยต่อไปว่า กรณีของผู้ร้องไม่มีกฎหมายใดสนับสนุนรับรองให้ผู้ร้องกระทำเช่นนั้นได้ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องเป็นคดีนี้ พิพากษายืน)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849