รวมคำพิพากษาศาลฎีกา » ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

20 กันยายน 2024
5559   0

Lawyer Council Online Share

 

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3389.อำนาจศาลในการส่งคำโต้แย้งว่ากฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3292/2566 แม้อำนาจในการสั่งรับหรือไม่รับคำโต้แย้งของคู่ความตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 212 วรรคหนึ่ง ไว้พิจารณาจะเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ แต่อำนาจในการวินิจฉัยว่าเข้าหลักเกณฑ์ที่จะต้องส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่นั้นยังคงเป็นอำนาจของศาลยุติธรรม มิใช่คู่ความมีคำโต้แย้งแล้วต้องส่งไปทุกกรณี จำเลยยื่นคำร้องว่า ป.อ. มาตรา 177 และ ป.วิ.อ. มาตรา 182, 188, 190 และมาตรา 192 ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 3, 4, 5, 25, 26, 27, 29 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสี่ และมาตรา 188 โดยไม่ปรากฏเหตุผลแห่งการโต้แย้ง จึงเป็นการกล่าวอ้างที่เลื่อนลอย เป็นการโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ในเรื่องการปรับข้อเท็จจริงเข้ากับบทกฎหมาย การวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานและการตีความกฎหมาย หาใช่โต้แย้งบทมาตราแห่งกฎหมายที่ใช้บังคับขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ส่วนข้อโต้แย้งของจำเลยว่าผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์นายหนึ่งมิได้ลงลายมือชื่อในคำพิพากษาให้ครบองค์คณะนั้น ก็มิใช่เรื่องที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญอันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญอีกเช่นกัน คำโต้แย้งของจำเลยไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 5 ประกอบมาตรา 212 ที่ศาลฎีกาจะต้องส่งคำร้องของจำเลยไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

(หมายเหตุ 1 ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยในคดีนี้ว่า สาระสำคัญของกระบวนพิจารณาในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเป็นเรื่องระหว่างศาลกับโจทก์เป็นหลัก จำเลยเพียงมีสิทธิเข้ามาในคดีได้อย่างจำกัดตามที่กฎหมายอนุญาตเท่านั้น เมื่อศาลชั้นต้นเสร็จการไต่สวนมูลฟ้องและนัดฟังคำสั่งจึงไม่จำต้องแจ้งวันนัดให้จำเลยทราบ หรือหากจำเลยทราบนัดแล้วจะมาฟังคำสั่งศาลชั้นต้นหรือไม่ก็ได้เนื่องจากยังไม่มีฐานะเป็นคู่ความ กรณีไม่อยู่ภายใต้บังคับ ป.วิ.อ. มาตรา 182 ซึ่งใช้บังคับแต่เฉพาะผู้ที่เป็นคู่ความแล้วเท่านั้น ศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะอ่านคำสั่งว่าคดีมีมูลหรือไม่ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องลับหลังจำเลยได้ และในขณะเดียวกันหากจำเลยทราบนัดฟังคำสั่งแล้วไม่มาศาล ศาลชั้นต้นก็หาอาจใช้อำนาจตามวรรคสามของ ป.วิ.อ. มาตรา 182 ในการออกหมายจับจำเลยได้เช่นกัน การอ่านคำสั่งคดีมีมูลในชั้นไต่สวนมูลฟ้องคดีนี้ของศาลชั้นต้นลับหลังจำเลยจึงชอบแล้ว มิได้เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฎหมายข้างต้นแต่ประการใด)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849