รวมคำพิพากษาศาลฎีกา » ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

2 กันยายน 2024
7242   0

Lawyer Council Online Share

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3371.ความหมายของสัญญาจ้าง ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4171/2566 กฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563 ลงวันที่ 17 เมษายน 2563 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 79/1 แห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 เป็นเรื่องให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานจากสำนักงานประกันสังคม มิใช่กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าจ้างจากนายจ้าง การที่จำเลยไม่ได้ออกหนังสือรับรองการขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยซึ่งอย่างน้อยต้องมีรายการตามหนังสือรับรองที่แนบท้ายกฎกระทรวงนี้ ไม่ได้ทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าจ้างจากจำเลยตามกฎกระทรวงดังกล่าว

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5 ให้คำจำกัดความของคำว่า สัญญาจ้าง หมายความว่า สัญญาไม่ว่าเป็นหนังสือหรือด้วยวาจาระบุชัดเจน หรือเป็นที่เข้าใจโดยปริยายซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่าลูกจ้าง ตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกบุคคลหนึ่งเรียกว่านายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้ค่าจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้ ดังนี้ สัญญาจ้างจึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนอย่างหนึ่ง กล่าวคือ ลูกจ้างมีหนี้ที่ต้องทำงานให้แก่นายจ้าง และนายจ้างมีหนี้ที่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนในการทำงานของลูกจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้แก่นายจ้าง หรืออีกนัยหนึ่งลูกจ้างมีสิทธิได้ค่าจ้างจากนายจ้างต่อเมื่อลูกจ้างทำงานให้แก่นายจ้าง จำเลยหยุดประกอบกิจการเนื่องจากจังหวัดภูเก็ตมีคำสั่งให้ปิดโรงแรมทั้งจังหวัดเพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ถือได้ว่าจำเลยหยุดประกอบกิจการชั่วคราวด้วยเหตุสุดวิสัย การที่โจทก์ไม่ได้เข้าทำงานให้แก่จำเลยมิใช่เกิดจากคำสั่งหรือความผิดของจำเลย จำเลยย่อมไม่มีหน้าที่จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ แต่หากภายหลังเมื่อพ้นระยะเวลาปิดโรงแรมตามคำสั่งดังกล่าวแล้ว โจทก์กลับเข้าทำงานให้แก่จำเลย จำเลยก็มีหน้าที่จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์

ศาลแรงงานภาค 8 ยังไม่ได้วินิจฉัยและรับฟังข้อเท็จจริงว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 ถึงวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 คำสั่งจังหวัดภูเก็ตที่ 1797/2563 ลงวันที่ 2 เมษายน 2563 ที่กำหนดให้ปิดโรงแรมมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2563 เป็นต้นไปจนกว่าจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นนั้น มีผลทำให้จำเลยปิดกิจการตั้งแต่เมื่อใดถึงเมื่อใด และจังหวัดภูเก็ตมีคำสั่งฉบับอื่นให้ปิดโรงแรมต่อไปอีกหรือไม่ เพียงใด จำเลยเปิดกิจการตั้งแต่เมื่อใดถึงเมื่อใด โจทก์เข้าทำงานให้แก่จำเลยหรือไม่ หากเข้าทำงานโจทก์ทำงานตั้งแต่เมื่อใดถึงเมื่อใด อันเป็นข้อเท็จจริงที่จะไปสู่การวินิจฉัยประเด็นว่า จำเลยต้องจ่ายค่าจ้างในช่วงเวลาดังกล่าวให้แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด ศาลฎีกาไม่อาจรับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวเองได้ จึงต้องย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานภาค 8 รับฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมแล้วพิจารณาพิพากษาใหม่ต่อไป

(หมายเหตุ 1 จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการโรงแรมใช้ชื่อในการประกอบกิจการว่า โรงแรม ส.

2 เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2561 จำเลยจ้างโจทก์ทำงานตำแหน่งผู้จัดการโรงแรมได้รับค่าจ้างเดือนละ 11,000 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าที่พักเดือนละ 40,000 บาท

3 เมื่อปลายปี 2562 ถึงปัจจุบันมีสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จังหวัดภูเก็ตมีคำสั่งปิดโรงแรมทั้งจังหวัดตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2563 มีกำหนด 2 เดือน (คำสั่งดังกล่าวกำหนดให้ปิดโรงแรม ตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2563 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849

4 ต่อมาวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 โจทก์และจำเลยตกลงทำสัญญากันตามข้อตกลงแนบท้ายสัญญาจ้างแรงงานโดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 โดยโจทก์จะได้รับค่าจ้างเดือนละ 3,300 ดอลลาร์สหรัฐ

5 ต่อมาวันที่ 23 กันยายน 2563 จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่า โจทก์ไม่ได้รายงานเหตุการณ์น้ำท่วมห้องพักให้กรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยทราบ ปล่อยปละละเลยให้สินค้าเน่าเสียและเครื่องดื่มหมดอายุ เป็นการจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย

6 โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2562 และปี 2563 จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จ่ายค่าจ้างค้างจ่าย และค่าชดเชย และให้ชำระค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

7 ศาลแรงงานภาค 8 วินิจฉัยว่า โจทก์ในฐานะผู้จัดการโรงแรมไม่ดูแลจัดการสินค้าที่ใกล้หมดอายุ เป็นการขาดประสิทธิภาพในการทำงาน ทำให้จำเลยขาดความไว้วางใจที่จะให้โจทก์ปฏิบัติงานต่อไป มีเหตุเลิกจ้างโจทก์ได้และไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องชำระค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ แต่จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ จ่ายค่าเช่าบ้านตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 จนถึงวันที่โจทก์ถูกเลิกจ้าง ส่วนค่าจ้างนั้นจำเลยต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับเดือนพฤษภาคมและเดือนมิถุนายน 2563 และจ่ายค่าจ้างสำหรับวันที่ 1 ถึงวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 ส่วนเงินค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้นจำเลยจ่ายแทนโจทก์แล้ว 8 ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่า จำเลยยังมิได้ออกหนังสือรับรองการขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยเพื่อยื่นขอรับเงินชดเชยจากประกันสังคมของโจทก์ตามข้อ 7 ของกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563 โจทก์ไม่อาจรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยจากสำนักงานประกันสังคมได้ จำเลยจึงต้องชำระค่าจ้างเดือนพฤษภาคมและเดือนมิถุนายน 2563 แก่โจทก์ แล้วพิพากษายืน

9 ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยข้างต้น โดยพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 8 และศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเฉพาะที่ให้จำเลยจ่ายค่าจ้างพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ โดยย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานภาค 8 ฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติม)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849