รวมคำพิพากษาศาลฎีกา » ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

30 สิงหาคม 2024
7564   0

Lawyer Council Online Share

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3368.ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4084 – 4085/2566 การยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินของบุคคลตกเป็นของแผ่นดินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 อันเป็นกฎหมายที่กำหนดทั้งความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงินซึ่งมีโทษทั้งอาญาและมาตรการทางแพ่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน โดยความผิดอาญาและโทษทางอาญามุ่งบังคับแก่บุคคล ส่วนมาตรการทางแพ่งมุ่งบังคับแก่ตัวทรัพย์สินซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะป้องปรามไม่ให้มีการกระทำความผิดมูลฐาน เพราะถึงอย่างไรทรัพย์สินที่ได้มาหรือเกี่ยวกับการกระทำความผิดก็ไม่เป็นของผู้กระทำความผิด ผู้เกี่ยวข้องหรือผู้ใด เพื่อตัดวงจรการกระทำความผิดมิให้นำทรัพย์สินนั้นไปใช้สนับสนุนการก่ออาชญากรรมต่อไป ดังนั้น หากเพียงปรากฏว่ามีการกระทำความผิดมูลฐานเกิดขึ้น ไม่ว่าจะจับตัวผู้กระทำความผิดได้หรือไม่ หรือผู้กระทำความผิดถูกลงโทษหรือไม่ แต่มีทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกิดขึ้น และแม้เจ้าของหรือผู้รับโอนทรัพย์ไม่ได้ร่วมกระทำความผิดและไม่ได้ถูกฟ้อง ก็สามารถดำเนินมาตรการทางแพ่งแก่ตัวทรัพย์สินนั้นได้ เพราะเป็นมาตรการส่วนแพ่งในการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินที่เชื่อได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 3 มิใช่เป็นการดำเนินการเกี่ยวกับตัวบุคคลที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ดังนั้น พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 49 ได้บัญญัติมาตรฐานการสั่งคดีของพนักงานอัยการที่จะพิจารณาว่าจะยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินหรือไม่นั้น ย่อมมีเพียงการปรากฏเป็นที่เชื่อได้ว่าทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ตามบทนิยาม “ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด” ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 3 เท่านั้น โดยไม่จำต้องพิจารณาว่าเจ้าของทรัพย์สินเป็นผู้กระทำความผิดมูลฐานหรือไม่ โดยการสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเป็นอำนาจของศาล ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 51 ศาลต้องไต่สวนพยานหลักฐานจนเชื่อว่าทรัพย์สินนั้นเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ดังนี้ แม้จะมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องผู้คัดค้านที่ 1 แต่หากผู้ร้องเห็นว่าทรัพย์สินตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ผู้ร้องก็มีอำนาจยื่นคำร้องขอต่อศาลได้

เมื่อพิจารณา พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 50 วรรคหนึ่ง มาตรา 51 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม ประกอบกันแล้ว ย่อมหมายความว่า ผู้ที่อ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดินสามารถแยกออกได้เป็น 2 กรณี คือ กรณีที่ 1 ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 50 (1) หากเป็นผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องหรือไม่เคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงินมาก่อน จะต้องแสดงให้ศาลเห็นรวม 2 ประการ คือ ประการที่หนึ่ง ต้องแสดงว่าตนเป็นเจ้าของที่แท้จริง และประการที่สอง ต้องแสดงว่าทรัพย์สินนั้นไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด หรือตามมาตรา 50 (2) เป็นผู้รับโอนโดยสุจริตหรือมีค่าตอบแทน หรือได้มาโดยสุจริตและตามสมควรในทางศีลธรรมอันดีหรือในทางกุศลสาธารณะ และกรณีที่ 2 ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 51 วรรคสาม หากเป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงินมาก่อน กฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบรรดาทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือได้รับโอนมาโดยไม่สุจริต ทั้งการให้คำจำกัดความ “ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด” ตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงทำให้คำว่า ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นทรัพย์สินในคดีที่ศาลมีคำพิพากษาว่าเจ้าของทรัพย์สินเป็นผู้กระทำความผิดและถูกลงโทษเท่านั้น เพียงแต่หากปรากฎว่ามีการกระทำความผิดมูลฐานเกิดขึ้น ไม่ว่าจะจับกุมตัวผู้กระทำความผิดได้หรือไม่ หรือผู้กระทำความผิดจะถูกลงโทษหรือไม่ แต่มีทรัพย์สินเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น หรือเป็นทรัพย์สินอื่นที่ได้มาจากการจำหน่าย จ่าย โอนทรัพย์สินจากการกระทำดังกล่าวหรือเป็นดอกผลของทรัพย์สินจากการกระทำดังกล่าว ก็ถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดแล้ว

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849