รวมคำพิพากษาศาลฎีกา » ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

28 สิงหาคม 2024
6513   0

Lawyer Council Online Share

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3366.ชักชวนให้ร่วมลงทุนโดยโฆษณาผ่านเว๊บไซด์ในประเทศไทย เป็นการกระทำความผิดในราชอาณาจักร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1172/2566 นอกจากคดีมีปัญหาวินิจฉัยในชั้นฎีกาตามฎีกาของโจทก์และจำเลยทั้งสองในข้อกฎหมายแล้ว ปัญหาตามฎีกาของของจำเลยที่ 1 ที่ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และฐานร่วมกันประกอบธุรกิจเงินทุนโดยมิได้รับอนุญาตหรือไม่ เป็นปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับปัญหาตามฎีกาของโจทก์ที่ฎีกาว่า สามารถลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และฐานร่วมกันประกอบธุรกิจเงินทุนโดยมิได้รับอนุญาตตามกฎหมายไทยได้หรือไม่ ศาลฎีกาจึงสามารถยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยได้ คดีจึงมีปัญหาวินิจฉัยในชั้นฎีกาตามฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และฐานร่วมกันประกอบธุรกิจเงินทุนโดยมิได้รับอนุญาต

การที่จำเลยที่ 1 โดย ก. โฆษณาชักชวนโจทก์ร่วมทั้งยี่สิบหกให้ร่วมลงทุนโดย ก. เดินทางไปโฆษณาชักชวนและจัดสัมมนาบรรยายแผนการลงทุนที่ประเทศญี่ปุ่น ผ่านทางโบรชัวร์โฆษณาการลงทุนและผ่านทางเว็บไซต์ managedsavings.com การโฆษณาชักชวนให้ร่วมลงทุนผ่านทางเว็บไซต์ดังกล่าวซึ่งเปลี่ยนที่อยู่จากประเทศสิงคโปร์เป็นประเทศไทยขณะเกิดเหตุ โดยใช้เว็บไชต์ซึ่งมีที่อยู่ในประเทศไทยเป็นสื่อนำเสนอข้อมูลในการโฆษณาชักชวน จึงเป็นการกระทำในราชอาณาจักร เมื่อการโฆษณาชักชวนผ่านทางเว็บไซต์ดังกล่าวที่เป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดได้กระทำในราชอาณาจักร ถือว่าความผิดนั้นได้กระทำในราชอาณาจักร จึงต้องรับโทษตามกฎหมาย ตาม ป.อ. มาตรา 4 วรรคหนึ่ง และมาตรา 5 วรรคหนึ่ง

พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 3 กำหนดความผิดมูลฐานไว้ 21 ประการ ตาม (1) ถึง (21) โดย (3) กำหนดให้ความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญาหรือความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน เป็นความผิดมูลฐานประการหนึ่ง โดยความผิดอาญาตามความผิดมูลฐานทั้งยี่สิบเอ็ดประการเป็นมูลเหตุ เป็นที่มา หรือเป็นฐานก่อให้เกิดหรือให้ได้มาซึ่งเงินหรือทรัพย์สินจากการกระทำความผิด จึงได้มีการกำหนดเป็นความผิดหลักไว้เพื่อเชื่อมโยงในการนำเอากฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินไปใช้บังคับเท่านั้น ดังจะเห็นได้จาก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ไม่ได้กำหนดให้ต้องมีการดำเนินคดีในความผิดมูลฐานหรือมีคำพิพากษาลงโทษผู้กระทำความผิดมูลฐานก่อน จึงจะดำเนินคดีฐานฟอกเงินได้ ความผิดฐานฟอกเงินจึงแยกต่างหากจากความผิดมูลฐาน แม้ความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนที่เป็นความผิดมูลฐานจะขาดอายุความ ไม่อาจลงโทษจำเลยทั้งสองได้ เมื่อความผิดฐานฟอกเงินไม่จำต้องอาศัยความผิดมูลฐานเป็นเงื่อนไขในการดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิดฐานฟอกเงิน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันฟอกเงิน

(หมายเหตุ 1 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การแจ้งข้อหา การสอบปากคำ และการทำความเห็นควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องเป็นขั้นตอนของการสอบสวน การแจ้งข้อหาและการสอบปากคำผู้ต้องหาตาม ป.วิ.อ.มาตรา 134 กำหนดให้เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะดำเนินการ แต่หาได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนทุกคนหรือผู้ที่มีหน้าที่สอบสวนทุกคนต้องอยู่ร่วมกันในขณะแจ้งข้อหาหรือสอบปากคำผู้ต้องหา การที่นาย ค. พนักงานอัยการที่อัยการสูงสุดมอบหมายให้ทำการสอบสวนร่วมกับพนักงานสอบสวนไม่ได้อยู่ร่วมในขณะแจ้งข้อหาและสอบปากคำจำเลยที่ 1 จึงไม่ทำให้การสอบสวนเสียไป)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849