รวมคำพิพากษาศาลฎีกา » ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

5 สิงหาคม 2024
8064   0

Lawyer Council Online Share

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3342.ข้อตกลงที่กำหนดวันทำงานล่วงหน้า ตกเป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 597- 602/2566 (เล่ม 8 หน้า 35) สัญญาจ้างแรงงานข้อ 2. การปฏิบัติงาน ข้อ 2.1 กำหนดไว้ว่าเวลาปฏิบัติงานปกติให้ถึงเวลาที่กำหนดโดยนายจ้าง ข้อ 2.2 ค่าจ้างล่วงเวลาให้ถือเวลาที่นอกเหนือจากการทำงานปกติ ซึ่งตามเอกสารแนบท้ายสัญญาจ้างแรงงานในข้อ 1 ค่าจ้างแรงงาน ได้ระบุไว้ว่าข้อ 1.1 เวลาทำงานปกติอัตราค่าจ้างต่อวัน (8 ชั่วโมง) วันละ…….บาท อัตราค่าจ้างล่วงเวลา (4 ชั่วโมง) วันละ………บาท จึงเท่ากับว่าจำเลยที่ 1 กำหนดให้ โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 ทำงานล่วงเวลาในวันทำงานทุกวันไว้ล่วงหน้าตั้งแต่ขณะทำสัญญาจ้างแรงงาน การกำหนดในลักษณะดังกล่าวเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ให้นายจ้างต้องขอความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเป็นคราวๆไป ก่อนเริ่มทำงานล่วงเวลาในวันทำงานตามที่ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 24 วรรคหนึ่ง กำหนดไว้ การที่จำเลยที่ 1 กำหนดให้โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 ต้องทำงานล่วงเวลาในวันทำงานไว้ล่วงหน้าวันละ 4 ชั่วโมง เป็นการขัดต่อมาตรา 24 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงตกเป็นโมฆะ ไม่มีผลใช้บังคับ ย่อมไม่อาจนำสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 กับจำเลยที่ 1 มารับฟังทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับการกำหนดเวลาการทำงานปกติและเวลาการทำงานล่วงเวลาได้ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 11/1 วรรคหนึ่ง กำหนดเวลาการทำงานปกติให้โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 ทำงานเป็นกะ กะละ 12 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งการกำหนดเวลาการทำงาน ปกติดังกล่าวนั้นเป็นการกำหนดที่สอดคล้องกับกฎกระทรวงฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติ คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และกฎกระทรวงฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 และมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 โดยกฎกระทรวงดังกล่าวได้กำหนดให้งานในกิจการปิโตรเลียมตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม รวมตลอดถึงงานซ่อมบำรุง และงานให้บริการที่เกี่ยวเนื่องกับงานดังกล่าว เฉพาะที่ทำในแปลงสำรวจและพื้นที่ผลิตให้นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน กำหนดเวลาทำงานปกติ โดยกำหนดเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดของการทำงาน แต่วันหนึ่งต้องไม่เกินสิบสองชั่วโมง และเมื่อรวมเวลาทำงานทั้งสิ้นแล้วสัปดาห์หนึ่งต้องไม่เกินสี่สิบแปดชั่วโมง การที่จำเลยที่ 2 กำหนดเวลาการทำงานปกติ ให้โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 ทำงานวันละ 12 ชั่วโมง โดยโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 ตกลงทำงานตามที่จำเลยที่ 2 กำหนดไว้แล้ว จึงต้องถือว่าโจทก์ที่ 2 ถึงโจทก์ที่ 7 มีเวลาทำงานในวันทำงานปกติวันละ 12 ชั่วโมง มิใช่มีเวลาทำงานในวันทำงานปกติวันละ 8 ชั่วโมง และทำงานล่วงเวลาในวันทำงานวันละ 4 ชั่วโมง ตามที่ระบุไว้ ในสัญญาจ้างแรงงานของโจทก์ดังกล่าวแต่อย่าง ใด ดังนั้น เงินที่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 ได้รับจากการทำงานในเวลาการทำงานปกติวันละ 12 ชั่วโมง จึงเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายวันเป็นค่าจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5 จึงต้องนำมาเป็นฐานในการคิดคำนวณสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้างโดยไม่คำนึงว่าจำเลยที่ 1 จะเรียกเงินที่จ่ายให้โจทก์ที่ 2 ถึง 7 ในช่วงระหว่างการทำงาน 4 ชั่วโมงสุดท้ายของวันว่าเป็นค่าจ้างหรือไม่ก็ตาม

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849