ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …
3339.บ้านพังเพราะการก่อสร้างไม่ดี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4196/2566 ผู้มีวิชาชีพในการก่อสร้างตามความหมายของ ป.อ. มาตรา 227 ป.อ. มิได้นิยามคำว่า ผู้มีวิชาชีพไว้ จึงต้องถือตามความหมายที่ยอมรับกันโดยทั่วไปตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ซึ่งให้ความหมายของคำว่า วิชาชีพ รวมกับคำว่า วิชา หมายถึงผู้ที่มีอาชีพที่ต้องอาศัยวิชาความรู้ ความชำนาญ หรือผู้ที่มีความรู้ซึ่งอาจได้จากการเล่าเรียนโดยตรง หรือจากการทำงานอันเป็นการฝึกฝนในการประกอบอาชีพเป็นปกติธุระก็ได้ กรณีจึงไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้ที่เล่าเรียนมาโดยตรงเพื่อเป็นสถาปนิกหรือวิศวกรเท่านั้น แต่หมายรวมถึงผู้ที่มีความรู้ ความชำนาญ ในการทำงานอันได้รับการฝึกฝนจากการประกอบอาชีพตามปกติด้วย เมื่อจำเลยประกอบอาชีพรับเหมาก่อสร้างมาเป็นเวลากว่า 10 ปี จำเลยจึงเป็นผู้มีความรู้ ความชำนาญ ในการก่อสร้างซึ่งเกิดจากการทำงานรับเหมาก่อสร้างอันเป็นการประกอบอาชีพเป็นปกติธุระ และเป็นผู้มีวิชาชีพในการก่อสร้างตามความหมายของบทบัญญัติดังกล่าว
(หมายเหตุ 1 เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2547 โจทก์ร่วมใช้แบบแปลนและรายการประกอบแบบที่โจทก์ยื่นคำขออนุญาตก่อสร้างอาคาร ในการว่าจ้างให้จำเลยก่อสร้างอาคารที่เกิดเหตุในราคา 850,000 บาท
2 จำเลยก่อสร้างจนแล้วเสร็จเมื่อประมาณปลายปี 2548 โจทก์ร่วมพร้อมครอบครัวเข้าไปอยู่อาศัยในอาคารดังกล่าว
3 วันที่ 30 เมษายน 2562 เวลาประมาณ 18 นาฬิกา อาคารที่เกิดเหตุได้วิบัติพังทลายลงมาทั้งหลังทับบุคคลในครอบครัวของโจทก์ร่วมเป็นเหตุให้สามีโจทก์ร่วมถึงแก่ความตาย โจทก์ร่วมได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายแก่กายสาหัส บุตรได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายแก่กาย อาคารที่เกิดเหตุได้รับความเสียหายทั้งหมด
4 ผลการตรวจพบว่าอาคารที่ก่อสร้างจริงไม่ตรงตามแบบแปลนที่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นหลายรายการ สาเหตุการพังทลายของอาคารเกิดจากการก่อสร้างตำแหน่งเสาตอม่อและการเสริมเหล็กไม่ตรงตามที่แบบแปลนกำหนด ทำให้การรับน้ำหนักของตัวอาคารเกิดความไม่สมดุลเป็นเหตุให้เกิดการวิบัติของโครงสร้างอาคารพังทลายลงมา
5 พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ.มาตรา 227, 238
6 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 227 ประกอบมาตรา 238 วรรคแรกและวรรคสอง จำคุก 20 ปี และให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 1,640,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
7 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อจำเลยเป็นผู้รับจ้างก่อสร้างอาคารที่เกิดเหตุ ย่อมทราบดีว่าหากจะเริ่มก่อสร้างต้องตรวจดูสภาพพื้นที่จริงและแบบแปลนที่จะใช้ก่อสร้างว่า สภาพที่ดินมีลักษณะตรงตามแบบแปลนหรือไม่ และหากยังมีเรื่องใดที่ทำให้ที่ดินยังไม่มีความสมบูรณ์ปลอดภัยพร้อมจะก่อสร้างให้ถูกต้องตรงตามแบบแปลน จำเลยต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นเสียก่อน รวมทั้งวัสดุที่จะใช้ในการก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นปูน เหล็ก และวัสดุอื่น ๆ ต้องใช้ให้ได้ขนาดตามที่แบบแปลนกำหนดไว้ เพราะโจทก์ร่วมได้รับใบอนุญาตให้ก่อสร้างตามแบบแปลนที่เจ้าพนักงานพิจารณาแล้ว ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยต่อผู้อยู่อาศัยและผู้อื่น
8 และมีคำวินิจฉัยดังกล่าวข้างต้น โดยพิพากษาแก้เป็นว่า มีเหตุบรรเทาโทษ คงจำคุก 15 ปี)
นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849