ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …
3332.ข้ออุทธรณ์คำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2987/2566 พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง บัญญัติห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ (1) การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน (2) คำสั่งหรือคำพิพากษานั้นฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน (3) คำสั่งหรือคำพิพากษานั้นไม่ตรงกับคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ (4) ผู้พิพากษาหรือตุลาการซึ่งพิจารณาคดีนั้นได้ทำความเห็นแย้งไว้ในคำพิพากษา หรือ (5) เป็นคำสั่งเกี่ยวด้วยการใช้วิธีการชั่วคราวเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของคู่พิพาทตามมาตรา 16 คดีนี้ คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยในคำชี้ขาดว่า ผู้ร้องมิได้นำสืบให้ฟังได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้ เพียงแต่นำสืบว่าผู้ร้องเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถตามคำสั่งศาลเท่านั้น และคำสั่งศาลดังกล่าวก็มีคำสั่งหลังจากผู้ตายถึงแก่ความตายถึง 1 ปีเศษ อีกทั้งเหตุแห่งการเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถก็เป็นเพราะความบกพร่องทางจิต คือเป็นคนไอคิวต่ำเท่านั้น มิใช่เหตุทุพพลภาพแต่อย่างใด นอกจากนี้ข้อเท็จจริงยังปรากฏด้วยว่า ผู้ร้องเคยมีสามีและเคยมีบุตรมาแล้ว 3 คน อันเป็นข้อสนับสนุนได้อีกข้อหนึ่งว่า ผู้ร้องมิได้เป็นผู้ทุพพลภาพ ส่วนข้อที่อ้างว่าขณะที่ผู้ตายยังมีชีวิตอยู่เคยให้การอุปการะเลี้ยงดูผู้ร้องนั้น ก็ไม่มีพยานหลักฐานใดมาแสดงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้ จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าขาดไร้อุปการะ การที่ผู้ร้องอุทธรณ์โต้แย้งว่า ทางนำสืบในชั้นอนุญาโตตุลาการผู้ร้องอ้างใบรับรองแพทย์ว่าผู้ร้องหย่อนกำลังความสามารถที่จะประกอบการงานได้ตามปกติ แพทย์ได้ให้ความเห็นว่าผู้ร้องมีความสามารถทางเชาวน์ปัญญาอยู่ระดับปัญญาอ่อน ไอคิวเท่ากับ 65 เทียบเท่ากับอายุ 9 ปี มีพยาธิทางสมอง และสภาพจิตใจในลักษณะการรับรู้ความเป็นจริงไม่เหมาะสม มีปัญหาการตัดสินใจและการปรับตัว จำเป็นต้องมีผู้ดูแลในการดำเนินชีวิต มีความบกพร่องในการวางแผนการตัดสินใจ การรับรู้ความเป็นจริง ถูกชักจูงใจได้ง่าย สามารถทำกิจวัตรประจำวันขั้นปกติได้ กิจกรรมที่มีความซับซ้อนต้องมีผู้ช่วยเหลือดูแล ความเห็นแพทย์ดังกล่าวจึงแสดงให้เห็นชัดแล้วว่าผู้ร้องเป็นผู้หย่อนความสามารถที่จะประกอบการงานตามปกติได้ จึงไม่อาจหาเลี้ยงตนเองได้ตามปกติ แต่คณะอนุญาโตตุลาการมิได้หยิบยกใบรับรองแพทย์ซึ่งเป็นสาระสำคัญในการวินิจฉัยว่าผู้ร้องเป็นผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้ขึ้นพิจารณา จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน อุทธรณ์ของผู้ร้องดังกล่าวเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นอ้างเพื่อโต้แย้งการวิเคราะห์พยานหลักฐานและดุลพินิจในการวินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานในสำนวนของคณะอนุญาโตตุลาการ เพื่อให้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าผู้ร้องเป็นผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้ โดยไม่ปรากฏว่ามีการวินิจฉัยผิดจากวิธีพิจารณาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด การที่คณะอนุญาโตตุลาการจะหยิบยกหลักฐานใดขึ้นวินิจฉัยภายในขอบเขตของกฎหมายและสัญญาที่พิพาทกัน ย่อมกระทำได้โดยชอบ อุทธรณ์ของผู้ร้องจึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ข้อยกเว้นตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง (1) ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์
(หมายเหตุ 1 ผู้คัดค้านเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการรับประกันวินาศภัยทุกประเภท
2 ผู้ร้องยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เรียกร้องให้ผู้คัดค้านชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเป็นค่าขาดไร้อุปการะ จำนวน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย จากเหตุที่นาง ร. มารดาของผู้ร้อง ถูกรถยนต์ซึ่งผู้คัดค้านรับประกันภัยไว้เฉี่ยวชน เป็นเหตุให้นาง ร. ถึงแก่ความตาย
3 ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า หลังเกิดเหตุทายาทผู้ตายได้รับเงินตามคำสั่งของนายทะเบียนไปแล้ว และผู้ร้องมิได้เป็นผู้ทุพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้ จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าขาดไร้อุปการะ
4 ต่อมาคณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดว่า ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าขาดไร้อุปการะในกรณีที่ผู้ตายถูกทำละเมิดถึงแก่ความตาย และมีคำชี้ขาดให้ยกคำเสนอข้อพิพาทของผู้ร้อง
5 ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยข้างต้น โดยพิพากษายกอุทธรณ์ของผู้ร้อง)
นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849