รวมคำพิพากษาศาลฎีกา » ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

14 กรกฎาคม 2024
9713   0

Lawyer Council Online Share

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3321.ผู้จัดการมรดกในคดีล้มละลาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4122/2565 (เล่ม 11 หน้า 75) จำเลยที่ 1 ได้รับสิทธิครอบครองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทโดยการยกให้จากนาย ส. ก่อนที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาด ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 มีอยู่ในเวลาเริ่มต้นแห่งการล้มละลาย จึงเป็นทรัพย์สินในคดีล้มละลายอันอาจแบ่งแก่เจ้าหนี้ได้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 109(1) และเป็นอำนาจของผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียวในการรวบรวมและจัดการทรัพย์สินดังกล่าว โดยจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจกระทำการใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตนอีกต่อไป ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 และมาตรา 24

จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตายภายหลังจากที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาด ซึ่งถือเป็นเหตุให้ต้องมีการจัดการทรัพย์มรดกของจำเลยที่ 1 ผู้ตายต่อไป ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 84 และศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้จัดการทรัพย์มรดกของจำเลยที่ 1 ตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว ผู้ร้องจึงยังคงมีอำนาจเก็บรวบรวมจัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ผู้ตายต่อไปจนกว่าคดีสิ้นสุด ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22(1) และ(2) แม้ว่าต่อมาศาลจังหวัดพังงามีคำสั่งตั้ง อ. เป็นผู้จัดการมรดกของจำเลยที่ 1 อ. ในฐานะผู้จัดการมรดกของจำเลยที่ 1 ก็ไม่อาจจัดการทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ที่กระทบอำนาจของผู้ร้อง ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 และมาตรา 24 ได้

อ. ในฐานะผู้จัดการมรดกของจำเลยที่ 1 ไถ่ถอนการจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากสหกรณ์ ก. และในวันเดียวกัน อ. ในฐานะผู้จัดการมรดกของจำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมจดทะเบียนโอนขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้แก่ ล.คู่สมรสของ อ. ซึ่งถือเสมือนเป็นการกระทำของจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 85 อันเป็นเวลาภายหลังจากที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาด จึงเป็นการกระทำที่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย การจดทะเบียนนิติกรรมของ อ. ดังกล่าว จึงตกเป็นโมฆะเสียเปล่ามาแต่เริ่มแรก ตาม ป.พ.พ.มาตรา 150 ซึ่งมีผลให้ ล. ไม่ใช่ผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาท และไม่อาจจดทะเบียนโอนขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง พิพาทต่อไปให้ผู้คัดค้านได้ แม้ผู้คัดค้านจะรับโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทไว้โดยสุจริต เสียค่าตอบแทน และจดทะเบียนโดยสุจริต ก็ไม่มีสิทธิดีไปกว่า ล. ซึ่งเป็นผู้โอน ผู้ร้องในฐานะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างตาม ป.พ.พ.มาตรา 172 เพื่อขอให้ศาลเพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมดังกล่าวให้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทกลับเป็นชื่อจำเลยที่ 1 ผู้ถือกรรมสิทธิ์ดังเดิมได้

การยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้าง มิใช่เป็นการก่อให้เพิกถอนนิติกรรมการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ.มาตรา 237 จึงไม่ตกอยู่ในบังคับบทบัญญัติของ ป.พ.พ.มาตรา 240 ที่บังคับให้ผู้ร้องต้องใช้สิทธิร้องขอเพิกถอนภายใน 1 ปี นับแต่เวลาที่รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน แต่เป็นการใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์สินของเจ้าของคืนจากผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีอายุความ ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลเพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรม เพื่อให้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทกลับเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ดังเดิมได้

ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้จัดการทรัพย์มรดกของจำเลยที่ 1 เนื่องจากจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 84 จึงไม่อาจปลดจำเลยที่ 1 จากการล้มละลายตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 81/1 ได้อีก

(หมายเหตุ 1 ผู้จัดการมรดกของผู้ตายซึ่งศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว ไม่มีอำนาจจัดการทรัพย์มรดกของผู้ตาย แต่เป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849