รวมคำพิพากษาศาลฎีกา » ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

12 มิถุนายน 2024
12275   0

Lawyer Council Online Share

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3289.(มรดก)โอนทรัพย์มรดกให้แก่บุคคลผู้ที่ไม่ใช่ทายาท ผู้รับโอนจะยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1023/2566 การฟ้องเรียกทรัพย์ใด ๆ เป็นของตนทั้งหมด หากพิจารณาได้ความว่าโจทก์ควรได้แต่ส่วนแบ่ง เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลจะพิพากษาให้โจทก์ได้รับแต่ส่วนแบ่งนั้นก็ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (2) เมื่อส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายมีเพียงกึ่งหนึ่งในที่ดินโฉนดเลขที่ 22874 และ 60 ศาลย่อมพิพากษาเพิกถอนเฉพาะส่วนที่ดินกึ่งหนึ่งกลับคืนสู่กองมรดกของผู้ตายได้

เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นย่อมตกทอดแก่ทายาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 จำเลยที่ 1 จัดการโอนมรดกทั้งหมดให้ตนเอง รวมทั้งจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ใช่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย แต่เป็นบุคคลภายนอก จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่อาจยกอายุความมรดกขึ้นต่อสู้ได้ โจทก์และโจทก์ร่วมฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการรับโอนมรดกของผู้ตายที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แสดงว่าโจทก์มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทรัพย์มรดกของผู้ตายกลับคืนกองมรดกเพื่อแบ่งปันระหว่างทายาท จึงเป็นคดีมรดก ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายที่ยังมิได้แบ่งปันกันโดยชอบ การที่จำเลยที่ 1 มีชื่อในโฉนดที่ดินเลขที่ 24990 ถือว่าจำเลยที่ 1 ครอบครองแทนทายาทคนอื่นด้วย จึงไม่อาจอ้างการครอบครองขึ้นต่อสู้โจทก์และโจทก์ร่วมได้ คดีของโจทก์และโจทก์ร่วมไม่ขาดอายุความ

จำเลยที่ 1 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดกผู้ตาย อยู่ในฐานะทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 วรรคสอง ประกอบมาตรา 1635 (2) ที่ดินโฉนดเลขที่ 22874 และ 60 เป็นสินสมรสระหว่างผู้ตายกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งในฐานะสินสมรสกึ่งหนึ่งและในฐานะทายาทผู้รับมรดกอีกกึ่งหนึ่งรวมเป็นสามในสี่ส่วนของที่ดินดังกล่าว สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 24990 และ 123 เป็นสินส่วนตัวของผู้ตาย จำเลยที่ 1 มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งกึ่งหนึ่งของที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์มรดกดังกล่าว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 24990 และ 123 ซึ่งเป็นสินส่วนตัวของผู้ตายทั้งแปลง และเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 22874 และ 60 ซึ่งเป็นสินสมรสของผู้ตายกับจำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่ง จึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 225 และมาตรา 252

(หมายเหตุ 1 ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ โจทก์ร่วม และผู้ตาย เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ซึ่งผู้ตายจดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 วันที่ 27 มกราคม 2520 โดยรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 มาเลี้ยงดูในฐานะบุตรและได้แจ้งเกิด

2 วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 ผู้ตายถึงความตาย จากนั้นวันที่ 30 สิงหาคม 2560 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 22874 ให้แก่จำเลยที่ 2 ทั้งยังจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 24990 ให้แก่จำเลยทั้งสามถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันทางมรดก

3 วันที่ 9 มีนาคม 2561 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 60 และ 123 พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยที่ 2 ทางมรดก

4 รายงานผลการตรวจวิเคราะห์ความสัมพันธ์ทางสายเลือดของหน่วยนิติเวชศาสตร์และพิษวิทยา ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ใช่มารดาของจำเลยที่ 2 และที่ 3

5 โจทก์ฟ้องขอบังคับให้กำจัดจำเลยที่ 1 จากการรับมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 22874, 24990, 60 และ 123 พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 4 ให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินทั้งสี่แปลงและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวโดยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสาม

6 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ยกที่ดินโฉนดเลขที่ 123 ดังกล่าวให้แก่ผู้ตายโดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทนแต่อย่างใด และโจทก์เบิกความยืนยันว่า ยกที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่ผู้ตายเพื่อตอบแทนที่ผู้ตายดูแลมารดา แม้ว่าผู้ตายจะได้ที่ดินดังกล่าวมาในระหว่างสมรส แต่ไม่ปรากฏว่าหนังสือยกให้ระบุเป็นสินสมรส จึงต้องฟังว่า ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 123 เป็นสินส่วนตัวของผู้ตาย จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งกึ่งหนึ่งของที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์มรดกดังกล่าว

7 ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 24990 ผู้ตายได้รับการให้ที่ดินมาจากบิดาเมื่อประมาณปี 2499 ก่อนสมรสกับจำเลยที่ 1 แม้ผู้ตายได้ทำสัญญาจำนองที่ดินดังกล่าวกับธนาคารกรุงเทพ จำกัด เมื่อปี 2531 จึงเป็นหนี้ที่ก่อขึ้นภายหลังจากที่ผู้ตายได้รับการให้ที่ดินดังกล่าว จึงต้องฟังว่าที่ดินตามโฉนดเลขที่ 24990 เป็นสินส่วนตัวของผู้ตาย จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งกึ่งหนึ่งของที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์มรดกดังกล่าว)

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849