ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …
3269.ขายที่ดินตามใบจอง
คำพิพากษาฎีกาที่ 5116/2566 (เล่ม 12 หน้า 2993) ที่ดินพิพาทมีหนังสือที่ทางราชการได้ยอมให้เข้าครอบครอง ที่ดินชั่วคราวหรือใบจอง (น.ส. 2) อยู่ในบังคับตาม พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 8 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า “ที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้จับจองแต่ยังไม่ได้รับคำรับรองจากนายอำเภอว่าได้ทำประโยชน์แล้ว ผู้ได้รับอนุญาตจะโอนไปไม่ได้เว้นแต่จะตกทอดโดยทางมรดก” ทั้งยังต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับ ข้อกำหนด และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดโดยครบถ้วน ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 30 การที่ ม.บิดาโจทก์ได้รับใบจอง (น.ส 2) ให้ครอบครองที่ดินพิพาท แล้วขายให้แก่ ป. โดยส่งมอบการครอบครองที่ดินและใบจอง (น.ส.2) ให้แก่ ป. ยึดถือไว้ ซึ่งเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งตามกฎหมายเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 150 (มาตรา 113 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น) ที่ดินพิพาทจึงยังเป็นของรัฐ และแสดงว่า ม. สละเจตนาครอบครองไม่ยึดถือที่ดินพิพาทอีกต่อไป ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1377 วรรคหนึ่ง ม. จึงไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทที่จะเป็นมรดกตกทอดแก่โจทก์ผู้เป็นทายาทตั้งแต่ ม.ขายที่ดินพิพาทให้แก่ ป.
ที่ดินพิพาทตามใบจอง (น.ส.2) ยังเป็นของรัฐ ผู้ซื้อที่ดินพิพาทตามใบจองไม่สามารถอ้างยันต่อรัฐได้ แต่ระหว่างราษฎรด้วยกัน เมื่อจำเลยและบริวารเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตามใบจองหลังจาก ป. ซึ่งเป็นพี่สาวร่วมบิดามารดาถึงแก่ความตาย โดย ม. บิดาโจทก์และโจทก์ไม่เคยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทหลังจากที่บิดาโจทก์ ขายให้แก่ ป. โดยส่งมอบการครอบครองที่ดินและใบจอง (น.ส. 2) ให้แก่ ป.ยึดถือไว้ จำเลยจึงมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทดีกว่าโจทก์ซึ่งสืบสิทธิในที่ดินพิพาทต่อมาจาก ม.ผู้เป็นบิดา ไม่ใช่โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทเป็นของตนเอง เมื่อ ม.ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทนับตั้งแต่ขายโดยส่งมอบที่ดินให้แก่ ป. โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย
(หมายเหตุ 1 การที่ ม.บิดาโจทก์ได้รับใบจอง (น.ส 2) ให้ครอบครองที่ดินพิพาท แล้วขายให้แก่ ป. โดยส่งมอบการครอบครองที่ดินและใบจอง (น.ส.2) ให้แก่ ป. ยึดถือไว้ แสดงว่า ม. สละเจตนาครอบครองไม่ยึดถือที่ดินพิพาทอีกต่อไป ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1377 วรรคหนึ่ง)
นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849