ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …
3257.แจ้งความร้องทุกข์ข้อหาหมิ่นประมาท
คำพิพากษาฎีกาที่ 4206/2566 (เล่ม 12 หน้า 2951) คำร้องขออนุญาตฎีกามิได้ระบุในคำร้องว่า ประสงค์ขอให้ผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาศาลต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 8 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 218 วรรคหนึ่ง เป็นคำร้องที่ไม่ชอบด้วยมาตรา 221
คดีความผิดอันยอมความได้ เมื่อผู้เสียหายไม่ได้ร้องทุกข์และใช้สิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลด้วยตนเอง ก็ต้องกระทำภายในกำหนดเวลา 3 เดือน นับแต่ผู้เสียหายทราบเรื่องหมิ่นประมาทและรู้ตัวผู้กระทำผิดตาม ป.อ.มาตรา 96 เมื่อนับระยะเวลาที่โจทก์ทราบเรื่องและรู้ตัวผู้กระทำผิดจนถึงวันที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเอง พ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว คดีโจทก์ขาดอายุความ
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ไม่ได้วินิจฉัยฟ้องโจทก์ว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ซึ่งเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ.ว่าด้วยอุทธรณ์ ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
(หมายเหตุ 1 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การร้องทุกข์ที่ชอบด้วยกฎหมายจะต้องเป็นการแจ้งความในลักษณะของการกล่าวหา โดยมีเจตนาให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีให้ได้ตัวผู้กระทำผิดรับโทษตามกฎหมาย เมื่อบันทึกการแจ้งความมีข้อความแสดงชัดว่า ในขณะที่แจ้งโจทก์ไม่มีเจตนาให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแต่จำเลยทั้งสองแต่อย่างใด ซึ่งสอดคล้องตรงกับที่โจทก์ฟ้องและบรรยายฟ้อง กับที่โจทก์เองเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องและชั้นพิจารณาว่า โจทก์ไม่ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเนื่องจากประสงค์จะดำเนินคดีเอง การแจ้งความดังกล่าวจึงไม่ใช่คำร้องทุกข์โดยชอบ ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 2(7)
นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ และกรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849