รวมคำพิพากษาศาลฎีกา » ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

9 พฤษภาคม 2024
13609   0

Lawyer Council Online Share

ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …

3255.คำให้การผู้ต้องหาในชั้นพนักงานสอบสวน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 666 – 667/2566 แม้คดีจะฟังได้ตามที่โจทก์อ้างว่า คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 6 ไม่ใช่คำซัดทอด แต่โจทก์ก็ยอมรับว่าพยานหลักฐานดังกล่าวเป็นพยานบอกเล่า ซึ่ง ป.วิ.อ. มาตรา 226/3 วรรคสอง ห้ามไม่ให้ศาลรับฟังพยานบอกเล่า เว้นแต่จะมีเหตุผลตาม (1) และ (2) จึงต้องพิจารณาว่าพยานบอกเล่านี้เข้าข่ายข้อยกเว้นดังกล่าวหรือไม่ คดีนี้เหตุเกิดในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2551 ถึงเดือนธันวาคม 2551 ภายหลังมีการตรวจสอบพบว่าเอกสารสิทธิของธนาคารดังกล่าวเป็นเอกสารปลอม โดยเจ้าหน้าที่เมืองพัทยาได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ในปี 2553 ตามคำเบิกความของพันตำรวจโท ภ. ส่วนการสอบปากคำของจำเลยที่ 6 เริ่มครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2555 ในฐานะพยานเรื่อยมา จนสอบสวนในฐานะผู้ต้องหาเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2558 จำเลยที่ 6 ให้การในฐานะผู้ต้องหาจึงไม่ได้ใกล้ชิดกับช่วงเวลาที่มีการกระทำความผิด ประกอบกับจำเลยที่ 6 ให้การเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2556 ว่า จำเลยที่ 6 หลบหนีเพราะเกรงว่าจำเลยอื่นจะโกรธแค้นและทำร้าย เหตุที่รับสารภาพเพราะคิดว่าสักวันหนึ่งจำเลยอื่นจะต้องติดตามพบจำเลยที่ 6 จึงตัดสินใจเข้าพบพนักงานสอบสวน คำให้การของจำเลยที่ 6 แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 6 มีข้อขัดแย้งกับจำเลยอื่นอยู่ คำให้การเช่นนี้ไม่แน่ว่าจะเป็นไปตามความเป็นจริง ทั้งจำเลยที่ 6 เข้าพบพนักงานสอบสวนเอง แต่โจทก์กลับไม่สามารถนำจำเลยที่ 6 มาเบิกความในชั้นพิจารณา ดังนั้น ตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานบอกเล่านี้น่าสงสัยว่าจะพิสูจน์ความจริงได้หรือไม่ และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเหตุใดโจทก์จึงไม่สามารถนำจำเลยที่ 6 มาเบิกความได้ คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 6 ย่อมไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ ถือเป็นพยานบอกเล่าที่มิให้ศาลรับฟัง

นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ กรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849