ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …
3225.แย่งที่ดินที่ก่อสร้างฮวงซุ้ย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4697/2565 (เล่ม 10 หน้า 163) ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก) ซึ่งเป็นเพียงสิทธิครอบครองและสามารถโอนแก่กันได้ด้วยการส่งมอบ ซึ่งหากถูกแย่งการครอบครอง ก็ต้องฟ้องเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองภายในหนึ่งปี มิฉะนั้น จะหมดสิทธิในที่ดิน จำเลยที่ 1 ได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งสุสานและฌาปนสถานสาธารณะโดยได้ปรับปรุงสภาพที่ดินแบ่งเป็นแปลงย่อยขนาดเล็ก เรียงรายกัน เพื่อให้บุคคลเข้ามาซื้อหรือจองสิทธิเพื่อใช้ปลูกสร้างฮวงซุ้ยสำหรับเก็บ ฝังหรือเผาศพ การที่โจทก์ จำเลยที่ 3 หรือบุคคลอื่นเข้ามาทำสัญญาซื้อหรือจองสิทธิกับจำเลยที่ 1 เพื่อใช้ที่ดินตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว แม้จะไม่ได้มีการโอนทางทะเบียนก็ถือได้ว่าได้มีการโอนสิทธิการครอบครองที่ดินให้แก่ผู้ซื้อแล้ว ทั้งผู้ซื้อสามารถโอนสิทธิครอบครองที่ดินดังกล่าวไปยังผู้อื่นได้ ส่วนการที่จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทซึ่งขายให้โจทก์ไปแล้วให้แก่จำเลยที่ 3 แม้จะเกิดจากความผิดพลาดของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 โดยการชี้ที่ดินผิดแปลงก็หาทำให้นิติกรรมตกเป็นโมฆะ เพราะไม่ใช่การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในทรัพย์สินที่เป็นวัตถุประสงค์ แห่งนิติกรรม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 เนื่องจากจำเลยที่ 3 ต้องการซื้อที่ดินแปลงพิพาทไม่ใช่ต้องการซื้อที่ดินแปลงอื่น หรือเป็นการโอนที่ดินผิดแปลง เพียงแต่ที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นที่ดินที่จำเลยที่ 1 ขายให้โจทก์ไปแล้ว ทั้งปรากฏว่า หลังจากจำเลยที่ 3 ซื้อที่ดินพิพาทแล้วได้เข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินโดยทำพิธีแซกีเสริมดวงชะตา ก่อสร้างฮวงซุ้ย และเมื่อ ว. สามีจำเลยที่ 3 ถึงแก่ความตาย ก็ได้นำศพมาฝังที่ฮวงซุ้ยที่สร้างขึ้นและทำพิธีไหว้บรรพบุรุษตามประเพณีมาตลอดทุกปี ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 3 ซื้อที่ดินพิพาทโดยสุจริต เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่มีเพียงสิทธิครอบครอง โจทก์จึงต้องฟ้องเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองภายใน 1 ปี นับแต่ถูกแย่งการครอบครอง ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1375 วรรคสอง เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ภายหลังจากที่จำเลยที่ 3 เข้าครอบครองใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยทำพิธีแซกีเสริมดวงชะตา และก่อสร้างฮวงซุ้ย เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2555 อันเป็นการแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากโจทก์ซึ่งเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปี โจทก์จึงหมดสิทธิฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 จึงมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าโจทก์
(หมายเหตุ 1 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันเคลื่อนย้ายศพออกจากที่ดินในสุสาน หรือที่ดินพิพาท และปรับพื้นดินให้คงสภาพเดิม หากจำเลยทั้งสามไม่ดำเนินการให้โจทก์กระทำการแทนจำเลยทั้งสาม โดยให้จำเลยทั้งสามเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย
2 ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
3 ศาลฎีกาการวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทซึ่งขายให้โจทก์ไปแล้วให้แก่จำเลยที่ 3 แม้จะเกิดจากความผิดพลาดของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 โดยการชี้ที่ดินผิดแปลงก็หาทำให้นิติกรรมตกเป็นโมฆะ เพราะไม่ใช่การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในทรัพย์สินที่เป็นวัตถุประสงค์ แห่งนิติกรรม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 เนื่องจากจำเลยที่ 3 ต้องการซื้อที่ดินแปลงพิพาทไม่ใช่ต้องการซื้อที่ดินแปลงอื่น หรือเป็นการโอนที่ดินผิดแปลง เพียงแต่ที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นที่ดินที่จำเลยที่ 1 ขายให้โจทก์ไปแล้ว และมีคำวินิจฉัยข้างต้น โดยพิพากษายืน)
นายผดุงศักดิ์ จันเดชชนะวงศ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ และกรรมการสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา และกรรมการสภาทนายความภาค 3 ปีบริหาร 2565-2568 โทร.081-9663849